Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50848 articles
Browse latest View live

สรุป 7 วันอันตรายตาย 322 ศพ บาดเจ็บ 3,225 คน

$
0
0
เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง เพิ่มขึ้น 164 ครั้ง ร้อยละ 5.80 ผู้เสียชีวิตรวม 322 ราย ลดลง 1 ราย ร้อยละ 0.31 ผู้บาดเจ็บรวม 3,225 คน เพิ่มขึ้น 185 คน ร้อยละ 6.09 โคราชครองแชมป์ 14 ศพ เมาซิ่งและสิงห์มอเตอร์ไซค์ยังเป็นต้นเหตุอันดับแรก 

 
19 เม.ย. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 เม.ย.ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย แถลงปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 17 เม.ย.วันสุดท้ายของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 238 ครั้ง เสียชีวิต 43 ราย และบาดเจ็บ 299 คน ส่วนตัวเลขของอุบัติเหตุรวม 7 วันตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง เพิ่มขึ้น 164 ครั้ง ร้อยละ 5.80 ผู้เสียชีวิตรวม 322 ราย ลดลง 1 ราย ร้อยละ 0.31 ผู้บาดเจ็บรวม 3,225 คน เพิ่มขึ้น 185 คน ร้อยละ 6.09
 
รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 36.76 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.47 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 รถปิกอัพ ร้อยละ 11.39 พฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.99 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 116 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 144 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เพชรบุรี อ่างทอง พังงา และยะลา อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 664 อำเภอ พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 44 เขต
 
“ภาพรวมการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ด้วยการผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว ควบคู่กับการจัดอาสาสมัครปฏิบัติงาน เร่งสร้างความรู้ปลูกจิตสำนึก เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน” นายจารุพงศ์กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

$
0
0

"การออกแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลข่าวสารของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการหรือเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ.."

18 เม.ย. 57 แถลงกรณี ศอ.รส.เรียกร้องให้ ศาล รธน. วินิจฉัย นายกฯ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกินเลย

สาระ+ภาพ: สถิตินักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมถูกสังหารในรอบ 10 ปี เผยไทยสูงสุดอันดับสองในเอเชีย

$
0
0

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กร Global Witness องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน เปิดเผยรายงานชื่อว่า Deadly Environmentซึ่งบันทึกการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของ 35 ประเทศในโลก ตั้งแต่ปี 2002-2013 พบว่ามีอย่างน้อย 908 รายที่ถูกสังหารโดยวิธีการนอกกฎหมาย ทั้งโดยรัฐบาล การจ้างวานของบริษัท รวมถึงกองกำลังทหารและตำรวจ และจากกรณีทั้งหมด มีกระทำผิด 10 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
 
บราซิล เป็นประเทศที่มีนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมถูกสังหารมากที่สุดคือ 448 ราย ตามมาด้วยฮอนดูรัส 109 ราย และฟิลิปปินส์ 67 ราย ส่วนประเทศไทยคือ 16 ราย นับว่าสูงที่สุดอันดับสองในเอเชียรองจากฟิลิปปินส์
 
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า จำนวนการสังหารจริงอาจจะสูงกว่านี้ แต่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีการบันทึก หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลในชนบทต่อกลุ่มประชากรพื้นเมือง เป็นต้น  
 
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การสังหารนอกกฎหมายต่อนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2012 เพียงปีเดียว มีนักเคลื่อนไหวที่ถูกฆ่าสูงเป็นสามเท่าของจำนวนคนถูกฆ่าใน 10 ปีก่อนหน้ารวมกัน เนื่องจากแรงกดดันและความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากรัฐและเอกชน ทำให้นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการไล่ที่ การยึดที่ดิน การทำเหมืองแร่ การตัดป่าไม้ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องเผชิญกับการคุกคามที่รุนแรงขึ้น  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สุดา รังกุพันธ์ุ’ ชี้จุฬาฯ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม หวั่นถูกกดดันจากการเมือง

$
0
0

สืบเนื่องจากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธ์ุ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล โดยให้เหตุผลว่า น.ส. สุดา ไม่สามารถทำงานให้กับภาควิชาตามความรับผิดชอบที่คาดหวัง และไม่ได้คุมวิทยานิพนธ์นศ. หลายปีติดต่อกัน คณะกรรมการประเมินผลการทำงาน จึงไม่ต่อสัญญาการทำงานนั้น
 
สุดา ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การตัดสินดังกล่าวของภาควิชาถือว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากตามที่ระบุไว้ใน พรบ.จุฬาฯ นั้น หลังจากการสิ้นสุดสัญญาในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยสามารถต่อสัญญาให้แก่พนักงานได้อีก 3 ปี 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็น 6 ปี ทั้งนี้ สัญญาการจ้างในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ของสุดาหมดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2557 แต่คณะกรรมการฯ กลับไม่ให้โอกาสต่อสัญญาตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย การเร่งรีบในการเลิกจ้างเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีการกดดันทางการเมืองมายังผู้บริหารระดับต้นหรือไม่
 
ต่อเรื่องการคุมวิทยานิพนธ์ที่จุฬาฯ อ้างว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่ต่อสัญญาจ้างนั้น เธอกล่าวว่า ปัญหาการคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และปริญญาเอก นั้น มีความซับซ้อน และเกี่ยวพันกับการหาทุนของอาจารย์ ที่ในปัจจุบัน มีความเป็นอิสระได้ยาก หากอาจารย์คนใดไม่ได้เข้าไปอยู่ใน "เครือข่าย" ก็อาจส่งผลต่อการได้ทุนการศึกษาของนิสิต ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจของนิสิตในการเลือกแนวทางการทำวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้ สุดายืนยันว่าพร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ หรือที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จากกรรมการบริหารหลักสูตร การอ้างเหตุผลการไม่มีวิทยานิพนธ์ในการไม่ต่อสัญญา จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
 
น.ส. สุดายืนยันว่า ตนทำตามหน้าที่ของตนเองตามความรับผิดชอบที่กำหนดอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยอมรับว่าบทความทางวิชาการที่กำลังดำเนินการเพื่อตีพิมพ์ มีความล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากกิจกรรมอาสาเรื่องการปลดปล่อยนักโทษการเมือง ที่เป็นผู้ด้อยโอกาส และเหยื่อทางการเมือง แต่ในประเด็นนี้ คณะอักษรฯ ก็ได้ให้บทลงโทษด้วยการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่ต่ำมากในปีที่งานล่าช้าอยู่แล้ว การนำผลการประเมินเพียง 1-2 ปี มาตัดสินผลงานและศักยภาพของตนทั้งหมดที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 14 ปี ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะนี่เป็นการประเมินการต่อสัญญา ไม่ใช่การประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือน ผู้บริหารควรมองภาพรวมของบุคคลากรมากกว่าใช้ผลการประเมินเพียงครั้ง หรือสองครั้ง ทั้งนี้ เธอกล่าวว่าจะอุทธรณ์มติดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานของจุฬาฯ ต่อไป
 
โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ได้อ้างแหล่งข่าวอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ว่าการไม่ต่อสัญญาสุดา ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องการทำงานที่ไม่รับผิดชอบได้ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังระบุว่า การที่สุดาไปจัดรายการประจำทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งซึ่งได้รับค่าตอบแทน และไม่เข้าประชุมภาควิชา รวมทั้งเข้ามหาวิทยาลัยน้อยมาก เป็นการไม่ยุติธรรมต่อจุฬาฯ 
 
ด้านน.ส. สุดากล่าวต่อประเด็นนี้ว่า การที่ตนเองไปจัดรายการในสื่อภาคประชาชน เป็นการทำแบบอาสาสมัครและไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังใช้เวลานอกราชการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในบางครั้งที่เป็นเวลาราชการ ก็ได้พยายามยื่นใบลา แต่มักถูกปฏิเสธไม่ให้ยื่น เนื่องจากผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เนื่องจากอาจารย์ท่านอื่นก็มีภารกิจนอกสถานที่เช่นกัน แต่ไม่ยื่นใบลา ประเด็นนี้จึงเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงตามความจริงและไม่เป็นธรรม
 
เธอยังกล่าวด้วยว่า ได้รับแจ้งจากผู้บริหารว่าอธิการบดี ถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาที่พิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีกรรมการภายนอกหลายคน เช่น นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เรียกไปให้ปากคำเนื่องจากที่น.ส. สุดาได้ไปเล่นงิ้วธรรมศาสตร์ในงานรำลึก 6 ตุลาปีที่แล้ว จึงสงสัยว่ามีการกดดันให้เร่งรัดไม่ต่อสัญญาจ้างของตนเองหรือไม่ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Divergent- สังคมอุดมคติของผู้ปกครอง

$
0
0



“ฉันคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์คือศัตรู” Jeanine Matthews  ผู้นำกลุ่มผู้ทรงปัญญา (Erudite)


ในรอบปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์ Blockbuster (ในแง่เจตนาไม่ใช่รายได้) ที่พูดถึงการต่อสู้กับระบบควบคุมทางสังคมหรือระบอบการปกครองมาฉายหลายเรื่องเช่น Elysium, Snowpiecer, และล่าสุดคือ Divergent แกนเรื่องของภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องคือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อระบบที่ดำรงอยู่/ชนชั้นปกครองพยายามกำกับควบคุมพลวัตของประชาชน

ความกลัวของชนชั้นปกครอง

Jeanine มองว่าธรรมชาติของมนุษย์คือศัตรูของระบบสังคมที่ดี ซึ่งระบบที่ดีมักเป็นระบบที่ชนชั้นปกครองเดิมกุมอำนาจ คำถามคืออะไรบ้างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ใน Elysium ถูกแบ่งเป็น 2 ชนชั้น คือ มนุษย์บนโลกที่ต้องทำงานในโรงงาน อาศัยในแหล่งเสื่อมโทรม ไร้สวัสดิการกับมนุษย์บนสถานีลอยฟ้าที่เป็นมหาเศรษฐีมีทุกอย่างที่มนุษย์บนโลกต้องการแต่ไม่เคยเอื้อมถึง มนุษย์ใน Snowpiecer อาศัยอยู่ในรถไฟและถูกจัดเป็นส่วน ระหว่างมนุษย์หัวขบวนทำหน้าที่ควบคุมรถจักรและมนุษย์ท้ายขบวนทำหน้าที่เป็นแรงงานและอะไหล่ขับเคลื่อนจักรกล มนุษย์ใน Divergent ถูกแยกประเภทเป็น 5 กลุ่ม คือ ปัญญา กล้าหาญ เสียสละ สัตย์ซื่อ สันติ แต่ละกลุ่มแยกตาม “การเลือก” และ “ธรรมชาติ” ของเจ้าตัว เมื่อถูกแยกกลุ่มแล้วการย้ายกลุ่มเกือบเป็นไปไม่ได้ แต่ละกลุ่มมีความรับผิดชอบและหน้าที่กำหนดชัดเจน ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกลุ่มจะถูกตัดทิ้งเป็นคนชายขอบ ผู้ที่มี “ธรรมชาติ” ขัดแย้งกับการแยกประเภทของผู้ปกครองจะถูกไล่ล่ากำจัด สังคมมีความสงบเรียบร้อยเมื่อ ชั้น, ส่วน, หรือกลุ่มต่าง ๆ อยู่ในที่ทางของตน อย่างไรก็ตามความสงบเรียบร้อยไม่เท่ากับการมีสันติสุขเพราะภายใต้ความสงบเรียบร้อยนี้มีคนกลุ่มใหญ่กำลังถูกกระทำความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาอยู่ในโรงงาน พวกเขาอยู่ท้ายขบวน พวกเขาถูกกันไปเป็นกลุ่มคนชายขอบ พวกเขาคือราคาและต้นทุนความสงบเรียบร้อยของสังคม

มนุษย์เหล่านี้อาจยอมอยู่ในระบบสังคมและระบอบการปกครองที่จำกัดขอบเขตและศักยภาพของพวกเขาไว้ในระยะเวลาหนึ่งแต่เมื่อถึงขีดจำกัดพวกเขาก็จะต่อสู้เพราะพวกเขาคิดได้และรู้ความต้องการของตนเอง เมื่อมนุษย์ถูกกดขี่บังคับต่อเนื่องยาวนานจนเกินทน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

มนุษย์จึงมีธรรมชาติในการแสวงหาเสรีภาพและความเป็นธรรมแม้จะตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ทั้งกล่อมเกลา บังคับและลงโทษเพื่อไม่ให้มนุษย์คิดสิ่งเหล่านี้

ในแง่นี้ Divergent สรุปสิ่งที่ชนชั้นปกครองหวาดกลัวและเห็นว่าเป็นภัยได้อย่างแหลมคมนั่นคือ กลัวการคิดด้วยตนเองได้อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

การคิดได้เองเป็นคุณสมบัติเด่นที่สุดของพวก Divergent จนเป็นเหตุให้ถูกตามล่าและกำจัด การคิดได้เอง มีวินิจฉัย ไม่รับคำสั่งโดยปราศจากเงื่อนไขนี่เองเป็นภัยอันร้ายแรงต่อชนชั้นปกครองเพราะมักจะนำไปสู่การตั้งคำถาม ปลายทางของคำถามมักเป็นความเสื่อมของอำนาจเก่า ในทางกลับกันความเก่งกาจเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ มิได้เป็นภัยคุกคามตราบใดที่ยังเชื่อฟัง อำนาจจึงนิยมความรู้เพราะทำให้เชื่องได้
ในแง่นี้ “ความรู้” จึงไม่เท่ากับและไม่ใช่ “ความคิด” และการคิดได้เองนั้นไม่จำเป็นต้องมี “ความรู้” เสมอไป

วิธีวิทยาของชนชั้นปกครอง 1-อ้างความรู้ ชวนให้เชื่อ ขู่ให้กลัว

วิธีที่ชนชั้นปกครองนิยมใช้กันคือ อ้างความรู้-ชวนให้เชื่อ-ขู่ให้กลัว

ชนชั้นปกครองในภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องอ้างการถือ “ความรู้”-ความรู้บนฐานเทคโนโลยี, ความรู้บนฐานการบริหารจัดการ, ความรู้บนฐานจริยธรรม สนับสนุนความชอบ “ทำ” ของตนเองในการระบุว่าสังคมจะเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปได้อย่างไร อะไรดีอะไรชั่ว ใครควรอยู่ตำแหน่งใดและต้องทำอะไร นอกจากการอ้าง “ความรู้” แล้วพวกเขายังต้องใช้การโฆษณาชวนเชื่อกล่อมพลเมืองให้รับความเชื่อของชนชั้นนำเป็นความสมเหตุสมผลที่พลเมืองควรรับไปปฏิบัติ กระนั้นหากมีคนกล้าคิดไม่เชื่อฟัง พวกเขาก็จะต้องกำราบด้วยความกลัว ด้วยการสร้างความกลัวผู้ปกครอง กลัวความวุ่นวาย กลัวศัตรูภายนอก ก่อนจะถึงมาตรการสุดท้ายในการสร้างสังคมที่สงบเรียบร้อยของผู้ปกครองคือการใช้ความรุนแรง-การกดดันทางสังคม เศรษฐกิจ กฎหมายและกำลัง

ดังนั้น กำเนิดของ “รั้ว” ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอกเสมอไป แต่มีไว้เพื่อกั้น-ล้อมกรอบความคิดพลเมืองให้อยู่ในขอบเขตรัฐและบ่อยครั้งที่ “รั้วของชาติ” มีไว้เพื่อปราบปรามคนในชาติ

วิธีวิทยาของชนชั้นปกครอง 2-จัดประเภท รับไว้และคัดออก

ชนชั้นปกครองมักทำเหมือน ๆ กันในทุกที่คือการจัดแบ่งประชาชน แยกประเภท รับ-ใช้-บริการบางส่วน คัดออก-สละทิ้งบางส่วน ประชาชนใน Elysium ส่วนหนึ่งถูกส่งไปโรงงานผลิตหุ่นยนต์ที่จะมาบังคับควบคุมและปราบปรามพวกเขาเองในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งอยู่สุขสบายบนสถานีอวกาศ ประชาชนท้ายขบวนใน Snowpiecer ถูกเก็บไว้เพื่อเป็นอะไหล่สำหรับจักรกลขับเคลื่อนขบวนรถในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งอยู่หัวขบวนใช้ชีวิตเพื่อบริโภค-บันเทิง-บริหาร ประชาชนใน Divergent เสมือนว่าจะได้รับเสรีภาพในการเลือก แต่การเลือกตั้งเป็นการเลือกอย่างจำกัด และมีการคัดทิ้งประชาชนที่เลือกไม่ตรงกับความต้องการของผู้ปกครองกับประชาชนที่ไม่ผ่านมาตรฐานกลุ่ม

ดูราวกับว่าพลเมืองของรัฐเหล่านี้ถูกจัด แบ่ง แยกประเภทตามความสามารถ ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ธรรมชาติ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “อำนาจ” ต่างหากที่จัดวางพวกเขาไว้ในที่ทางที่แตกต่างกัน ความสามารถ ฐานะ สถานะ ธรรมชาติ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ “อำนาจ” สร้างและกำหนดขึ้นในภายหลังเพื่อกำกับความลื่นไหลและพลวัตของประชาชน เพราะในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ในโรงงานก็ขึ้นไปบนฟ้าได้ มนุษย์ท้ายขบวนก็ขับรถไฟได้ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ต่างก็มี “ธรรมชาติ-ธาตุ” ในตัวมากกว่าหนึ่งชนิดและสามารถจะเป็นอะไรได้หลากหลายหากมีอิสรภาพและเสรีภาพ

ชนชั้นและสังคมอุดมคติ

ด้วยเหตุที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าหนึ่ง การถูกจัดประเภทให้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างหากคือสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ หากพิจารณาการถูกจัดประเภทของมนุษย์ด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ ด้วยฐานคิดที่เชื่อในพลังของสภาพแวดล้อมที่รายรอบมนุษย์อันเป็นโครงสร้างหลักในการกำหนดสิ่งที่มนุษย์เป็น มนุษย์ในภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องถูกแบ่งเป็นชั้นหรือส่วนด้วยเงื่อนไขแตกต่างกัน 3 รูปแบบ นั่นคือ ชนชั้นของมนุษย์ใน Elysium เกิดจากตำแหน่งของพวกเขาในวิถีการผลิต ไม่มีโอกาสเลื่อนชั้น เว้นเสียแต่ปฏิวัติ ชนชั้นของมนุษย์ใน Snowpiecer เกิดจากตำแหน่งของพวกเขาในระบบตลาด สามารถเลื่อนชั้นได้ด้วยการต่อสู้แข่งขันเพื่อไปสู่หัวขบวน ชนชั้นของมนุษย์ใน Divergent เกิดจากคุณลักษณะส่วนบุคคลที่มีมาโดยกำเนิด-หรือได้มาในภายหลัง ผู้ที่เกิดมาในตระกูลเกษตร-ทำนาทำไร่ เกิดในตระกูลผู้ปกครอง-ปกครอง ฯลฯ

สังคมในอุดมคติของ Elysium คือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการผลิตอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดประโยชน์ส่วนเกินที่มากเสียจนกระทั่งล้น-กระฉอกไปสู่ชนชั้นลำดับรองลงไป สังคมในอุดมคติของ Snowpiecer คือ การแข่งขันอย่างเสรีภายใต้การควบคุมและกำกับของ “พระเจ้า” ผู้อยู่หัวขบวนจะทำให้ได้ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดต่อไปและสร้างความเจริญให้แก่สังคม ตราบเท่าที่ไม่คิดล้ม “พระเจ้า” การประหัตประหารกันเพื่อความเจริญก็เป็นสิ่งที่รับได้ ในขณะที่สังคมในอุดมคติของ Divergent คือ การที่พลเมืองทำตามหน้าที่ของตน ตามสถานะที่ถูกกำหนดไว้ ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่ตั้งคำถาม ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยและความเจริญ

Dystopian-Utopia

อะไรคือสิ่งที่หายไปในสังคมอุดมคติดังข้างต้น? สังคมแบบ Elysium และ Snowpiecer คือสังคมที่ปราศจากชุมชน สังคมใน Elysium ขาดชุมชนข้ามชนชั้น มองเห็นและปฏิบัติต่อคนไม่เท่ากัน ผู้ที่พัฒนาไปก่อนมองผู้ที่มาตามหลังว่าเป็นภาระการดูแลทุกข์สุขของคนเหล่านี้คือความสิ้นเปลืองที่ไม่คุ้มค่า มนุษย์ในสังคมนี้เกิด มีชีวิตอยู่และตายเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมใน Snowpiecer ขาดสายสัมพันธ์ระหว่างคนร่วมชุมชน ชุมชนถูกบดแตกเป็นมนุษย์ปัจเจกชน คนรอบข้างคือคู่แข่งที่ต้องเอาชนะมิใช่มิตรร่วมโลกที่ต้องเอื้ออาทรกันและกัน มนุษย์ในสังคมนี้เกิด มีชีวิตอยู่และตายเพื่อจรรโลงกลไก-(ตลาด) สังคมแบบ Divergent ปราศจากความหลากหลาย กักขังจิตวิญญาณของมนุษย์ ลดทอนคนเป็นมนุษย์มิติเดียว สังคมเช่นนี้ทำให้มนุษย์เกิด มีชีวิตและตายเพื่อรัฐ-ผู้ปกครอง

โลกแห่งความเป็นจริงกับสังคมอุดมคติของผู้ปกครอง

สังคมอุดมคติเหล่านี้จึงมิใช่อะไรอื่นนอกจากสังคมพร่องความเป็นจริง แม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ความตายมักมาเยือนผู้พูด “ความจริง” ผู้ที่คิดเองได้ คิดต่าง ไม่ยอมอยู่ในที่ทางที่ผู้ปกครองจัดไว้ให้จึงกลายเป็น “ผู้ไม่หวังดีต่อชาติ” และเป็นภัยต่อสังคมที่สมควรถูกกำจัด

กาลเทศะของการปกครอง

สังคมโลกผ่านยุคมืด ยุคเรืองปัญญา เข้าสู่ยุคสมัยใหม่และ (ว่ากันว่า) ยุคหลังสมัยใหม่ แม้ว่าอันที่จริงนั้นความใหม่และความเก่าอาจจะปะปนทับซ้อนอยู่ ณ กาลเวลาและสถานที่ปัจจุบันได้ แต่สิ่งที่เป็นความเก่าอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่ผ่านกาลเวลาโดยรักษาความเก่าของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นน่าจะเป็นวิธีคิดเรื่องการสร้างสังคมของมนุษย์นี่เอง วิธีคิดแบบองค์รวม กลไก องคาพยพ เฝ้าฝันหาราชาปราชญ์ ระบบที่ดีเลิศเพียงหนึ่งเดียวที่จะนำพาสังคมมนุษย์ไปสู่สังคมอุดมคติ ทั้งหมดนี้ถูกคิดขึ้นมากว่าสองพันปีแต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันสมัยอย่างสม่ำเสมอ

ในเมื่อสังคมในอุดมคติของผู้ปกครองเป็นสังคมของคนที่พร่องความเป็นมนุษย์ สังคมเช่นนั้นย่อมบรรลุได้เมื่อมวลมหาประชาชนวิกลจริตพอที่จะยอมรับและร่วมสร้าง หากประชาชนมีสติกว่าชนชั้นปกครอง สังคมเช่นนั้นย่อมได้มาด้วยกำลังบังคับ และหนทางเบื้องหน้าของสังคมเช่นนี้คือโศกนาฏกรรมที่ไม่จำเป็นต้องเกิด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนดีกับพลเมืองดี

$
0
0



เรื่องพื้นๆที่มีการกล่าวถึงและโต้แย้งกันมายาวนานสามารถสืบสาวลงไปถึงสมัยกรีกโบราณ คือ เรื่องความเป็นพลเมือง (citizenship) ซึ่งถือเป็นการเริ่มคำว่า “สิทธิและหน้าที่”ก่อนนำไปสู่คำว่า “ยุติธรรม” ในเวลาต่อมา

ความเป็นพลเมืองเกิดจาก “สังคม” ที่หมายถึงการอยู่ร่วมกัน คือ เมื่อคนในสังคมอยู่ร่วมกันมากเข้าโอกาสที่ปัญหา ซึ่งก็คือความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย ดังนั้น จึงเกิดการจำกัดความของคำว่าพลเมืองโดยปราชญ์หลายท่านในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และประวัติศาสตร์ที่ว่าก็น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ตะวันตกเสียเป็นส่วนมาก

สังคมกรีกและโรมัน ที่ถือเป็นต้นแบบระบอบประชาธิปไตยและมีพัฒนาการทางการเมืองเชิงการเรียนรู้ตามกาลเวลา ปราชญ์หรือนักคิดต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจสภาพการณ์ทางสังคมกว้างขวางมากขึ้น เป็นผลมาจากพลวัตทางสังคม ส่วนหนึ่งเนื่องจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของผู้คนในสังคม จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้าน เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง  รวมถึงด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ จึงมีการหยิบยกเอา “ความเป็นพลเมือง” เป็นเครื่องมือพัฒนาระบบการเมืองการปกครองจนก้าวสู่การอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมในรูปแบบประชาธิปไตย 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ ประชาชนต้องมีคุณลักษณะการสำเหนียกถึงของความเป็น พลเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิและหน้าที่  ขณะที่ในส่วนของประชาชนเองมีความแตกต่างหลากหลายภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค โดยความคิดดังกล่าวนี้ถูกพัฒนามาในโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่  เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือในอเมริกาก็ตาม

สิ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองว่าด้วยความเป็นพลเมือง คือ “การกล้าตั้งคำถาม” ต่อกระบวนการและความเป็นไปด้านการเมืองการปกครองในขณะนั้นๆ จากฐานเดิมศักดินา จนกลายเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ผูกโยงไปที่หลักความยุติธรรมหรือหลักความเสมอภาค  และก่อนที่จะเกิดความเสมอภาคขึ้นนั้น ประชาชนในสังคมก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นพลเมืองของตนเองเสียก่อนแทบทั้งสิ้น

Thomas Humphrey Marshall กล่าวถึงสิทธิพลเมืองไว้ 3 ประการ คือ (1) Civil rights หมายถึงสิทธิบุคคลในกฎหมาย เสรีภาพบุคคลที่จะเลือกดำรงอยู่ ความเสมอภาคความเป็นธรรม (2) political rights หมายถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครอง และ (3) social rights หมายถึงสิทธิเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สวัสดิการ ความมั่นคง การดูแลด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลหากเกิดการเลิกจ้างงาน หรือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรัฐต้องให้การคุ้มครอง แต่นี่ก็เป็นการผูกนิยามของคำว่าสิทธิของความเป็นพลเมืองขึ้นมาภายหลัง

ดูเหมือนโลกตะวันตก จะก้าวหน้าไปมากกว่าโลกตะวันออก กับเรื่อง“ของกลาง”ของสังคมมนุษย์ คือ ความเป็นพลเมือง ขณะที่โลกตะวันออกยังคงถกเถียงหรืออภิปรายกันถึงการรู้แจ้งหรือการแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการมองในแง่ของปัญหาการอยู่ร่วมกันของสังคม  พูดง่ายๆ คือ โลกตะวันออกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากปัจเจกบุคคล ส่วนโลกตะวันตกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากการกระทำร่วมของคนหลายคนในสังคม  โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนในสังคมขนาดต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับรัฐ ซึ่งในประเด็นหลังหมายถึง ผู้ปกครอง

ในแง่ของพัฒนาการ ก็คือ ตะวันตกแยกสกัดประเด็นด้านศีลธรรมซึ่งว่าด้วยการวัตรปฏิบัติเชิงปัจเจกออกจากการเมืองการปกครอง หลังจากผ่านยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) มาแล้ว จนเกิดสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองขึ้นมา ซึ่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว “เป็นของกลาง” ที่อยู่นอกเหนือไปจากวัตรปฏิบัติทางด้านศีลธรรมเชิงปัจเจก
วัตรปฏิบัติส่วนตนทางด้านศีลธรรมอาจมีความสัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแบบคนละเรื่องเดียวกันมากกว่า เป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างความดีกับการเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีไม่ได้หมายถึงคนดี (เชิงศีลธรรม)และคนดี (เชิงศีลธรรม) ก็ไม่ได้หมายถึงพลเมืองดี

พลเมืองจึงหมายถึง “ของกลางที่ทุกคนพึงเข้าถึงด้วยความเสมอภาค” นั่นคือ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ขณะที่ “คนดี” เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติส่วนตน ใครจะเข้าถึงความเชื่อของตนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ในยุคศาสนาของยุโรปหรือยุคกลาง (Middle Ages) เป็นของการเรียนรู้(บทเรียน)และเป็นช่วงของการแยกตัวออกมาระหว่าง “ศีลธรรมเชิงปัจเจก”กับ “ความเป็นพลเมือง” หลังจากยุโรปได้รับบทเรียนการตีความคำสอนหรือหลักศาสนาที่แผ่ขยายอิทธิพลคลุมไปถึงความเป็นพลเมือง จนท้ายที่สุดกลายเป็นการจองจำพลเมืองให้ปราศจากเสรีภาพไปโดยปริยาย จึงมีการกบฏด้วยการถอดสลักการควบคุมของศาสนาที่เกิดจากการตีความเข้าข้างตัวเองของบุคคลในทางศาสนา แต่แล้วก็มาติดกับดักศักดินาอีกจนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง เรียกว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรง ได้แก่การปฏิวัติฝรั่งเศสในระหว่างปีค.ศ. 1789  ถึง 1799 จนกลายเป็นโมเดลสำคัญของการปฏิวัติประชาชนของโลกไป

การปฏิวัติประชาชน เริ่มต้นจากการสำเหนียกในความเป็นพลเมืองของประชาชนจำนวนหนึ่ง ในสมัยที่มีการให้ค่ากับสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ด้วยพื้นฐานการมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องการเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม จนแม้เมื่อความเป็นทุนนิยมเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในอเมริกาแต่ความเชื่อเรื่องความเป็นพลเมืองก็กลับเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน โดยถึงกับกลายเป็นหนึ่งในความหมายของลัทธิอเมริกัน (Americanism) คือ ความหมายที่ว่า สิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ซึ่งอย่างน้อยในส่วนของรัฐธรรมนูญอเมริกันในทางปรัชญา ได้กำหนดถึงการปกป้องคุ้มครองความมีเสรีภาพของพลเมืองอเมริกันไว้ด้วยแล้ว ทำให้สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองอเมริกันถูกขับให้โดดเด่น จนกลายเป็นโมเดลหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับฝรั่งเศส

ความสำเหนียกในความเป็นพลเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ของความเป็นพลเมืองอีกด้วย อย่างน้อยหน้าที่ในขั้นพื้นฐานคือ การเคารพต่อสัญญาประชาคม หรือกฎของการอยู่ร่วมกัน หมายความว่านอกเหนือไปจากความเคารพต่อความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกันแล้ว พลเมืองยังต้องมีหน้าที่ต่อกันด้วย ซึ่งการมีหน้าที่ต่อกันดังกล่าว โยงไปที่ศูนย์กลางคือ รัฐ ดังนั้นหน้าที่ต่อรัฐ ก็มีคือหน้าที่ต่อเพื่อนพลเมืองด้วยกัน ในการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันบนโลกแห่งความเป็นจริงและสามัญด้วยสันติภาพ  และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ถ้าพลเมืองสำเหนียกถึงสิทธิและหน้าที่ของตน

ความจริงกรอบการสำเหนียกแบบคนดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมหรือในรัฐ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด หากแต่ “ความดีเชิงปัจเจก” มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (เช่น การตีความ) อยู่เนืองๆตลอดมา ความดีเชิงปัจเจกหรือเชิงศาสนา ในแง่ของความเป็นพลเมืองดีจึงอธิบายโดยการสกัดออกมาเป็นหลักธรรมต่างๆเท่านั้น ซึ่งเท่ากับต้องนำหลักธรรมไปสู่กระบวนการตีความ “ความเป็นพลเมือง” เสียใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสประชาธิปไตย เช่น ในเรื่องของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะของความเป็นมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขชนชั้นวรรณะ รวมถึงความยุติธรรมเชิงประชาธิปไตยตามพลวัตของโลก ซึ่งหากเป็นในกรณีของพุทธศาสนา ดร.อัมเบดการ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียงฉบับเดียวของอินเดียที่ไม่เคยมีประวัติการฉีกทิ้งเลย ได้แสดงให้เห็นว่าพลังในการตีความคำสอนทางศาสนาจำเป็นและยิ่งใหญ่เพียงใด 

แต่กระนั้นก็ยังดูเหมือนเป็นปัญหาว่าคนดีในรูปแบบศาสนาเป็นได้แค่ “ขบวนการ” หนึ่งที่ออกมาขับเคลื่อนสังคมเท่านั้น ยังไม่ใช่สำนึกโดยรวมของความเป็นพลเมือง

สังคมตะวันตกอย่างเช่นอเมริกา มีการแยกพลเมืองออกจากคนดี เพื่อให้เกิดสำนึกร่วมของความพลเมืองที่มีต่อรัฐหรือประเทศ ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ในทางโลก ซึ่งส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่เกิดจากความใจกว้าง

ความใจกว้างที่แม้แต่คนไม่ดีในเชิงศีลธรรมซึ่งไม่เลยเถิดไปถึงขึ้นละเมิดความเป็นพลเมืองของบุคคลอื่นของรัฐยังสามารถดำรงสิทธิของความเป็นพลเมืองอยู่ได้

เพราะหากมีการนำความเป็นคนดีเชิงศีลธรรมมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นพลเมืองดีของรัฐ เมื่อนั้นปัญหาเรื่อง “การประเมินค่าของคน”ก็จะเกิดขึ้นทันที ลามไปจนถึงความยุติธรรม และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรนัลด์ เรแกนผู้พังทลายอาณาจักรปีศาจ

$
0
0

 

มีภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งอื้อฉาวมากในอินเทอร์เน็ตคือภาพของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาโรนัลด์ เรแกนขณะเยือนกรุงมอสโคว์เมื่อปี 1988  ในขณะนั้นเขากำลังเอื้อมลงไปจับมือกับเด็กชายผู้หนึ่งกลางจตุรัสแดง ประกอบกับการบอกเล่าต่อๆ กันมาสำหรับบรรดาผู้ท่องเน็ตว่าผู้ชายที่ยืนอยู่ข้างหลังเด็กชายคนนั้นและมีกล้องถ่ายรูปห้อยคอคือวลาดิเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบันแหล่งที่มาของการเล่าลือคือคนที่ถ่ายภาพนี้หรือช่างภาพประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงทำงานจนถึงปัจจุบันคือพีท ซัวซ่า ได้เล่าให้ฟังว่าบรรดาชาวรัสเซียในฐานะนักท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ตัวเรแกนล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่เคจีบีที่ปลอมตัวมาและตั้งข้อสังเกตว่าผู้ชายคนนั้นเหมือนกับปูติน อย่างไรก็ตามก็มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อข้ออ้างเช่นนี้เพราะปูตินนั้นเมื่อตอนยังหนุ่มๆ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่เคจีบีที่ประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดน เยอรมันตะวันออกในปีดังกล่าวและไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรที่จะมาทำงานใหญ่เช่นนี้ นอกจากนี้ทรงผมและรูปร่างลักษณะยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก

บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะพิสูจน์ว่าปูตินแอบลูบคมเรแกนหรือไม่แต่จะกล่าวถึงอัตชีวประวัติของเรแกนเป็นหลักว่ามีบุคลิกลักษณะที่ผู้เขียนเห็นว่าคล้ายคลึงกับปูตินหลายอย่างโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ซับซ้อนคือดุดันสลับกับอ่อนโยน เน้นการทหารสลับกับการทูต แม้ว่าปูตินจะเป็นคนรัสเซียแต่ว่าไม่น่าจะประทับใจกับมิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตเท่าไรนักเพราะกอร์บาชอฟเป็นมักถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ผู้เขียนเลยเดาเล่นๆ ว่าในฐานะที่ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองซึ่งควรรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกเสรีดี นโยบายต่างประเทศของเขาน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากเรแกนมาไม่มากก็น้อย (เช่นเดียวกับมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมเช่นยกย่องคุณค่าทางศาสนา)  การเข้าใจว่าปูตินยืนอยู่ไม่ไกลจากเรแกนเป็นการยอมรับแบบกลายๆ ถึงแนวคิดดังกล่าว

บทความนี้ต่อไปนี้บางส่วนเป็นการกล่าวถึงและวิจารณ์หนังสือ Reagan's War: The Epic Story of His Forty-Year Struggle and Final Triumph Over Communism (สงครามของเรแกน : มหากาพย์การต่อสู้กว่าสี่สิบปีและชัยชนะครั้งสุดท้ายเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์)สลับกับความคิดเห็นของผู้เขียนเอง  หนังสือเล่มนี้เขียนโดยปีเตอร์ ชไวเซอร์ นักวิจัยของ Hoover Institution on War ,revolution and Peace แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนังสือเล่มนี้สามารถอธิบายให้เราได้เห็นถึงชีวิตและบทบาทของประธานาธิบดีคนที่สี่สิบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ เจ้าแห่งค่ายโลกเสรีและสหภาพโซเวียตในช่วงท้ายของสงครามเย็น

โรนัลด์  วิลสัน เรแกน (1911-2004) ถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผู้เขียนรู้จักดีที่สุดอาจเพราะได้เติบโตในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งคือช่วง 1980-1988 ลักษณะที่โดดเด่นของเรแกนได้ทำให้ตัวเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาในทศวรรษที่แปดสิบ  มีการสำรวจความคิดเห็นจากหลายแหล่งพบว่าคนอเมริกันยกย่องว่าเรแกนคือประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่าแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์หรือจอห์น เอฟ เคนนาดีเสียด้วยซ้ำ  อดีตดาราหนังที่กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่สิบนี้เองยังเป็นขวัญใจของพวกนวอนุรักษ์นิยม(Neo-Conservative)หรือกลุ่มนักคิดทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู  บุชประธานาธิบดีคนที่สี่สิบสาม และเป็นบุชผู้ลูกนี้เองที่มักจะประกาศว่าเรแกนเป็น "วีรบุรุษ" ของเขา คนที่เกลียดบุชไม่น้อยต่างโจมตีว่า บุชไม่อาจมาเทียบได้กับเรแกน แต่เขาเป็นผู้ทรยศมรดกของเรแกนต่างหาก ผลงานชิ้นโบว์แดงของเรแกนคือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็นได้อย่างปราดเปรื่องจนคนอเมริกันจำนวนมากมีความเชื่อว่าเขาได้นำสหรัฐฯและโลกเสรีในการเอาชนะโลกค่ายคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด

สำหรับหนังสือของชไวเซอร์ไม่ได้ตั้งใจเขียนถึงชีวประวัติของเรแกนตั้งแต่ยังเยาว์วัยเท่าไรนัก แต่เขาจะเริ่มต้นการเล่าเรื่องชีวิตของเรแกนในช่วงเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เริ่มเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองเช่นเรแกนต้องพบกับปัญหาชีวิตการเป็นดาราในช่วงฮอลลีวูดเพราะถูกแทรกแซงจากพรรคอมมิวนิสต์ในปลายทศวรรษที่สี่สิบ และเรแกนก็เลือกข้างที่จะเป็นฝ่ายของทางการจนกลายเป็นพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวฉกาจ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าในช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเผชิญกับลัทธิล่าแม่มด (Witch hunt)เรแกนจะกลายเป็นดาราส่วนน้อยที่ไม่ลังเลใจที่ไปให้ปากคำกับคณะกรรมการตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน (House Committee on Un-American Activities หรือ HUAC)ส่วนเพื่อนร่วมอาชีพของเขาจำนวนมากไม่ยอมให้ความร่วมมือด้วยเลยจึงต้องติดคุกกันแต่แล้วตัวของเรแกนเองก็ต้องหย่าร้างกับเจน ไวน์แมนภรรยาคนแรกเพราะความทะเยอทะยานทางการเมือง และได้มาพบรักกับดาราสาวนามว่าแนนซี เดวิด หรือเป็นที่รู้จักดีในนามของแนนซี เรแกนและได้กลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสามีในช่วงดำรงตำแหน่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ถึงแม้อาชีพการเป็นดาราหนังเกรดบีของเรแกนจะไม่รุ่งเรืองและไม่น่าพูดถึงนัก เขาก็เจริญเติบโตในอาชีพทางการเมืองอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยสำคัญคือการผสมผสานหน้าตาและการแสดงท่าทางหรือวาทศิลป์ลงไปในการดำเนินกิจการทางการเมือง    เรแกนนั้นเคยอุทิศตนให้กับเดโมแครตและเป็นหนึ่งในดาราฮอลลีวูดที่สนับสนุนประธานาธิบดี เฮนรี ทรูแมนแต่แล้วเขาก็หันมาสนับสนุนพรรครีพับลิกันในภายหลังเพราะเห็นว่าเดโมแครตอ่อนข้อให้กับพวกคอมมิวนิสต์มากเกินไป  เรแกนก้าวจากตำแหน่งประธานสหภาพภาพยนตร์ของฮอลลีวูดหรือ Screen Actors Guild มาเป็นผู้ว่าการรัฐแคริฟอร์เนียในปี 1966 (จึงไม่ต้องน่าสงสัยว่าเขาจะเป็นแบบอย่างให้แก่ดารารุ่นน้องอย่างเช่นอาโนลด์ ชวาเซเนเกอร์) ในช่วงที่อเมริกากำลังวุ่นวายอยู่กับสงครามเวียดนาม เรแกนได้หันมาวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าอ่อนข้อกับพวกคอมมิวนิสต์เกินไปและยังเสนอว่าควรจะทำการบุกเวียดนามเหนือครั้งใหญ่ อันเป็นที่แน่ชัดว่าเขาไม่หวาดเกรงสหภาพโซเวียตซึ่งหนุนหลังเวียดนามอยู่ จนในปี 1976 เรแกนได้พยายามแข่งขันกับประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดเพื่อเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแม้จะไม่สำเร็จแต่ในปี 1980 เขาก็สามารถเอาชนะจิมมี คาร์เตอร์จนได้เป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาคืออายุถึง 69 ปี(1)

ในปี 1981 เรแกนถูกลอบยิงจากมือปืนโรคจิตแต่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงไว้ชีวิตของเขาเพื่อที่จะปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ที่ไร้ศาสนา ความเชื่อเช่นนี้เองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาดำเนินนโยบายการต่างประเทศจากเดิมแบบอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์คือเน้นการอยู่ร่วมกันแบบสันติภาพ (Detente)กับสหภาพโซเวียต มาเป็นก้าวร้าวมากขึ้น ชไวเซอร์ได้ยกย่องนโยบาย"ข้ามาคนเดียว"ของเรแกนนั่นคือเขามีความมุ่งมั่นอย่างมากในการปราบคอมมิวนิสต์จนไม่สนใจเสียงคัดค้านของลูกน้องหรือเสียงของประชาชนที่ต่อต้านการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ จนยอมเสี่ยงที่ไม่ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สอง เรแกนยังหาญกล้ายิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนไหนในช่วงสงครามเย็นที่กล้าเรียกสหภาพโซเวียตว่า "อาณาจักรปีศาจ" หรือ Evil Empire และเรียกร้องให้ผู้นำของโซเวียตทำลายกำแพงเบอร์ลินเสีย คำนี้ไม่ต้องสงสัยว่าจะส่งอิทธิพลต่อนโยบายของบุชในการขนานนามรัฐอันธพาลอย่างเช่นอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือว่าอักษะแห่งปีศาจหรือAxis of Evilในปี 2002

ชไวเซอร์นั้นยังได้นำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงความเป็นไปของประเทศที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ นั้นคือสหภาพโซเวียต โดยการลงทุนไปค้นคว้าจากเอกสารของ ประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์รวมไปถึงหน่วยสืบราชการลับเคจีบีของโซเวียตเกี่ยวกับตัวของเรแกนเองแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวของชนชั้นปกครองในมอสโคว์ต่อความเป็นคนจริงของเรแกน หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตนั้นเปรียบไดัดังยักษ์ป่วยนั้นคือมีความยิ่งใหญ่ภายนอกแต่ภายในเต็มไปด้วยความอ่อนแอเปราะบาง การทุ่มเงินเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯในเรื่องการทหาร การสำรวจอวกาศและการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโซเวียตมีปัญหา ในปี 1983 เรแกนได้เสนอแผนที่เรียกว่า SDI (Strategic Defense Initiative) อันมีชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า  Star Wars นั้นคือการสร้างสถานีอวกาศที่ใช้แสงเลเซอร์ทำลายหัวรบนิวเคลียร์ของศัตรูนอกอวกาศ  ถึงแม้โครงการนี้จะยังไม่บรรลุผลเพราะต้องใช้งบประมาณมากและยังต้องใช้เวลาในการวิจัยอีกยาวนานว่าจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ แต่แผนนี้ก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้นำของโซเวียตได้อย่างมากมายและพบว่าแท้ที่จริงขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและการทหารของโซเวียตไม่อาจเทียบกับสหรัฐฯได้เลย

อย่างไรก็ตามเรแกนก็ยังต้องการบรรเทาหวาดหวั่นของสาธารณชนในเรื่องอันตรายจากหัวนิวเคลียร์โดยการเปลี่ยนนโยบายจากแข็งกร้าวเพียงอย่างเดียวเป็นการหันมาเจรจากับสหภาพโซเวียตในการลดการสะสมหัวรบนิวเคลียร์และประสบความสำเร็จในปี 1987 โดยเฉพาะขีปนาวุธพิสัยกลาง (INF)  อันเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดระหว่างเรแกนกับกอร์บาฟชอฟที่เมืองเรยก์ยาวิค  ไอซ์แลนด์เมื่อ  1  ปีก่อนหน้านี้  เรแกนยังประสบความสำเร็จในการเจรจากับกอร์บาชอฟอันส่งผลให้มีการลงนามสนธิสัญญา START  (Strategic Arms Reduction Treaty) ในช่วงจอร์จ เฮช ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 1991  อันนำไปสู่การลดหัวรบนิวเคลียร์ของทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตเหลือฝ่ายละ6,000 ลูก  แต่เราก็ไม่สามารถยกย่อง เรแกนได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะก่อนหน้าปี 1985 ที่กอร์บาชอฟจะขึ้นมามีอำนาจ การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

(เรแกนขณะกล่าวคำปราศรัยหน้าประตูแบรนเดนเบิร์กในปี 1987 เพื่อท้าทายให้กอร์บาชอฟรื้อกำแพงเบอร์ลินเสีย อันถือได้ว่าเป็นคำปราศรัยที่โด่งดังที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์)

ชไวเซอร์ยังชี้ให้เห็นว่าถึงแม้หลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลของเรแกนจะทำท่าปรองดองกับสหภาพโซเวียต แต่เรแกนก็วางแผนแบบเหนือเมฆไม่ว่าการการสนับสนุนแบบลับ ๆ ต่อพวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่สามไม่ว่ากลุ่มกองโจรมูจาเฮดดินในอัฟกานิสถานเมื่อโซเวียตส่งกองกำลังเข้าไปในประเทศแห่งนี้เพื่อช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปี 1979 ก็ไม่สามารถรบเอาชนะได้ในอีกกว่าทศวรรษต่อมา จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตนอกจากจะสูญเสียงบประมาณมหาศาลแล้วยังเสียความน่าเชื่อถือในฐานะกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบริวารของโซเวียตกล้าประกาศนโยบายแยกตัวออกจากโซเวียตได้ในปลายทศวรรษที่แปดสิบ

นอกจากนี้เรแกนยังมุ่งเน้นปลุกระดมให้ประชาชนในยุโรปตะวันออกเช่นโปแลนด์ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ว่าการส่งสัญญาณวิทยุด้วยคลื่นแรงสูงหรือเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับลัทธิประชาธิปไตย เรแกนยังเข้าเฝ้าสันตะปะปาจอห์น พอลที่สองอยู่บ่อยครั้งจนสนิทสนมกันอย่างดีอันเป็นการตอกย้ำความเป็นหัวอนุรักษ์นิยมของเรแกนที่เน้นจารีตและคุณค่าแบบเก่าๆ รวมไปถึงการเคร่งครัดในศาสนา  นอกจากนี้สันตะปะปาจอห์น พอลยังทรงเป็นชาวโปแลนด์และต้องการให้ประเทศของพระองค์เปิดเสรีภาพต่อการนับถือศาสนาทำให้คนโปแลนด์พลอยชื่นชอบเรแกนไปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกต้องล่มสลายในปี 1989   นอกจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายถูกสหภาพโซเวียตงดให้การช่วยเหลือในทุกด้าน (ดังที่เรียกกันว่า "ลัทธิทางใครทางมัน " หรือ Sinatra doctrine)เพราะขาดเงินจากปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เกินกว่าจะเยียวยาได้นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจทดถอยในทศวรรษที่ 70แม้ผู้นำคนใหม่ของโซเวียตคือ มิกเคล กอร์บาชอฟจะพยายามกอบกู้โซเวียตโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม

ชไวเซอร์ยังชี้ให้เห็นว่าการพบกันหรือการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสองคือเรแกนและกอร์บาชอฟนั้น  เรแกนล้วนเอาชนะทางวาทะและครอบงำกอร์บาชอฟซึ่งอ่อนวัยกว่าและมีหัวเสรีนิยมได้เสมอ เรแกนยังสนับสนุนให้กอร์บาชอฟทำการปฏิรูปสหภาพโซเวียตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายกลาสนอสต์หรือการเปิดให้ประชาชนชาวโซเวียตมีเสรีภาพในการแสดงออก และกอร์บาชอฟยังเปิดให้มีการเลือกตั้งเสรีในปี 1989 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคบอลเชวิกยึดอำนาจได้ในปี 1917  (ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมหากเราไม่ยกย่องตัวกอร์บาชอฟด้วย)  แต่ในที่สุดแล้วกอร์บาชอฟก็ไม่สามารถช่วยสหภาพโซเวียตจากการล่มสลายแตกเป็น 15 ประเทศ ในปี 1991 สามปีหลังจากที่เรแกนพ้นจากตำแหน่ง 
เรแกนถึงแก่อสัญกรรมด้วยสาเหตุสำคัญคือโรคอัลไซเมอร์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2004 สิริรวมอายุได้ 93 ปี  ท่ามกลางพิธีศพอันยิ่งใหญ่ของเขาที่จัดโดยรัฐบาลหนึ่งในแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานศพของเขาคืออดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ชื่อกอร์บาชอฟนั้นเอง

เป็นที่แน่ชัดว่าหนังสือเล่มนี้ของชไวเซอร์จะเปรียบเหมือนกับโฆษณาชวนเชื่อของพวกแนวอนุรักษ์นิยมที่แนบเนียนเพราะมีหลักฐานมากมายมาสนับสนุนเพื่อบทสุดท้ายที่ถือได้ว่าเป็นการเทิดทูนเรแกนอย่างสุดจิตสุดใจและยังเป็นความพยายามตอบโต้พวกที่เห็นว่าเรแกนนั้นไม่ต่างอะไรกับตลกทางการเมืองที่ไร้ซึ่งความสามารถนอกจากการขายหน้าตา มุมมองของชไวเซอร์สามารถสะท้อนถึงแนวคิดของคนอเมริกันหัวอนุรักษ์นิยมดังเช่นพรรครีพับลิกันที่เน้นนโยบายการต่างประเทศแบบเชิงรุก และสามารถทำนายได้ว่าหากรัสเซียภายใต้อำนาจของปูตินยังคงแพร่ขยายอำนาจไปเรื่อยๆ  และสหรัฐฯ ได้ถือว่ารัสเซียเป็นศัตรูตัวฉกาจเช่นเดียวกับช่วงสงครามเย็นแล้ว ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบารัก โอบามาในปี 2017  น่าจะมีบุคลิกและนโยบายการต่างประเทศเช่นเดียวกับเรแกน อันเป็นการหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับ เพียงแต่เปลี่ยนศัตรูจากคอมมิวนิสต์มาเป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยม

 

เรแกนและกอร์บาชอฟในการประชุมสุดยอดที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ปี 1985

ด้วยการพยายามโฆษณาชวนเชื่อตัวเรแกนนี้เอง ทำให้ชไวเซอร์มองข้ามประธานาธิบดีก่อนคนอื่นๆ อย่างเช่นริชาร์ด นิกสัน ว่าควรจะได้รับคำยกย่องเหมือนกันในการมีส่วนต่อความสัมพันธ์กับสหภาพ         โซเวียต นอกจากนี้ชไวเซอร์ยังละเลยความบกพร่องในการบริหารแผ่นดินของเรแกนเช่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างเชื่องช้าเพราะความเกลียดชังพวกรักร่วมเพศหรือข่าวอื้อฉาวหลายเรื่อง ๆ เช่นกรณีอิหร่านคอนทรา (Iran-Contra affair) (2)  ที่เกือบทำให้เขาต้องพบกับชะตากรรมเดียวกับนิกสันมาแล้ว  ที่สำคัญนโยบายของเรแกนในการสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับคอมมิวนิสต์ไม่ว่ารัฐบาลหรือกองโจรได้ทำให้มีการฆ่าฟันกันอย่างโหดเหี้ยมและมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่โด่งดังที่สุดคือประเทศในอเมริกากลางอย่างเช่นนิการากัวและกัวเตมาลา  อันสะท้อนให้เห็นว่าที่เรแกนขนานนามสหภาพโซเวียตว่าอาณาจักรปีศาจนั้นบางทีเขาอาจจะต้องหันมามองประเทศของตัวเองบ้าง

 

เชิงอรรถ

(1) เป็นข้อกล่าวหาที่ยังพิสูจน์ไม่ได้นอกจากทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวหาว่า เรแกนขณะรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับจิมมี คาร์เตอร์ในปี 1980 ได้แอบตกลงกับทางการอิหร่านเพื่อไม่ให้การเจรจาของคาร์เตอร์ที่จะปล่อยตัวประกันจากสถานทูตสหรัฐฯ ภายใต้การควบคุมของทางการอิหร่านประสบความสำเร็จอันเป็นผลให้คาร์เตอร์สูญเสียคะแนนเสียงไปเป็นจำนวนมาก  ข้อกล่าวหานี้ยิ่งทำให้คนเชื่อมากขึ้น เมื่อทางการอิหร่านได้ปล่อยตัวประกันไปเพียง 20 นาทีภายหลังจากที่เรแกนได้กล่าวคำสุนทรพจน์เพื่อรับตำแหน่ง

(2)  กรณีอิหร่าน คอนทราคือการที่รัฐบาลของเรแกนได้แอบขายอาวุธให้กับทางการอิหร่านและนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนพวกขบถคอนทราในนิการากัวที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนายดาเนียล ออร์เตกา การที่รัฐบาลของเรแกนทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะเป็นการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อิหร่านในเลบานอน แต่เป็นการขัดกับสภาคองเกรสที่ต้องการคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนอเมริกันในปี 1986 ถึงแม้การไตร่ส่วนจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรแกนมีส่วนรับรู้หรือเกี่ยวข้องจริง แต่คะแนนความนิยมของเขาก็ตกกราวรูด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อำลา 'การ์เซีย มาเกซ' ผู้เขียนหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว-รักเมื่อคราวห่าลง

$
0
0

สิ้นนักเขียนจากละตินอเมริกา กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ผู้บุกเบิกวรรณกรรม “สัจนิยมมหัศจรรย์" ย้อนพินิจเส้นทางวรรณกรรม จากผู้สื่อข่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลจนต้องลี้ภัย ก่อนใช้เวลา 18 เดือน-แถมค้างจ่ายค่าเช่าบ้าน เพื่อเขียนนิยายสำคัญ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ยอดขายทะลุ 30 ล้านเล่ม - โดยจะมีพิธีไว้อาลัยสำหรับสาธารณชน ที่เม็กซิโก ซิตี้วันจันทร์นี้

กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ในปี 2527 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ปกหนังสือ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ผลงานสร้างชื่อเสียงในปี 2510 ของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ต่อมา มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2511 และมีการแปลเป็นภาษาไทยในปี 2529 โดยปณิธาน – ร.จันเสน ล่าสุดสำนักพิมพ์สามัญชนได้นำมาพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

หมายเหตุฆาตกรรม(Chronicle of a Death Foretold) ผลงานในปี 2524 ของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ภาพปกดังกล่าวเป็นฉบับแปลภาษาไทยโดยพัชรินทร์”พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตะเกียงลานในปี2529 (ที่มา: khunmaebook)

รักเมื่อคราวห่าลง(Love in the Time of Cholera) ผลงานในปี2528 ของกาเบรียล การ์เซียมาเกซภาพปกดังกล่าวเป็นฉบับแปลภาษาไทยโดยรัชยาเรืองศรีโดยสำนักพิมพ์บทจรในปี2556 (ที่มา: เว็บไซต์สำนักพิมพ์บทจร)

 

อาลัยกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ผู้บุกเบิกสัจนิยมมหัศจรรย์

19 เม.ย. 2557 - นักเขียนชาวโคลัมเบีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบล กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ (Gabriel Garcia Marquez) หรือที่คนในภูมิภาคละตินอเมริกาเรียกเขาว่า “กาโบ” (Gabo) เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านของเขาในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก รวมอายุ 87 ปี ทั้งนี้จากการเปิดเผยของเฟอร์นานดา ฟามิลลาร์ โฆษกประจำครอบครัวทางทวิตเตอร์โดยฟามิลลาร์กล่าวด้วยว่าภรรยาและลูกของเขาเป็นผู้อนุญาตให้เธอเผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตดังกล่าว นับเป็นความเสียใจอย่างสุดซึ่ง

การ์เซีย มาเกซ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magic realism) ซึ่งเป็นการผสมผสานความแปลกประหลาดกับเรื่องทางโลกเข้าด้วยกันจนทำให้เหตุผิดธรรมดากลายเป็นปกติชีวิต และด้วยหนังสือของเขาได้นำเสน่ห์ของภูมิภาคละตินอเมริกาและข้อขัดแย้งในชีวิตมาอยู่ในหัวจิตหัวใจของผู้คนนับล้าน

ทั้งนี้สาเหตุการเสียชีวิตของเขานั้นยังไม่ทราบแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้เขามีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ในระยะหลัง เขาพบปะกับสาธารณชนได้ไม่บ่อยครั้งนัก ขณะที่ไม่นานก่อนเสียชีวิตเขาเพิ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เนื่องมาจากติดเชื้อในปอดและทางเดินปัสสาวะ และเมื่อสัปดาห์ก่อนเขาถูกส่งกลับมารักษาตัวที่บ้าน และสุขภาพของเขานั้น “เปราะบางอย่างมาก” เนื่องมาจากอายุของเขา

 

 

ข้อความทวีตไว้อาลัยการจากไปของกาเบรียลการ์เซียมาเกซของประธานาธิบดีฆวนมานูเอลซานโตสแห่งโคลัมเบีย

 

โดยภายหลังการเสียชีวิต ในบีบีซีรายงานว่า ประธานธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ของโคลัมเบียทวีตข้อความไว้อาลัยมรณกรรมของการ์เซีย มาเกซ ว่า "หนึ่งพันปีของความโดดเดียวและความเสียใจต่อมรณกรรมชาวโคลัมเบียผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ขอแสดงความสมานฉันท์และไว้อาลัยแด่ภรรยาของเขาและครอบครัว"

ขณะที่นักเขียนและผู้เขียนบทภาพยนตร์ ชาวอังกฤษ เอียน แมคอีวาน (Ian McEwan) กล่าวว่า “เขาเป็นหนึ่งในหล้าอย่างแท้จริง”

ด้านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัก โอบามา (Barack Obama) กล่าวว่าโลกได้สูญเสียหนึ่งในนักเขียนผู้มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในนักเขียนผู้เป็นที่โปรดปรานในวัยเด็กของเขา

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บิล คลินตัน กล่าวว่า “ผมรู้สึกทึ่งเสมอกับของขวัญอันมีลักษณะเฉพาะของเขาที่มีทั้งจินตนาการ ความคิดที่ชัดแจ้ง และอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเพื่อนกับเขา ได้รู้จักหัวใจอันยิ่งใหญ่และจิตใจที่งดงามของเขามาเป็นเวลากว่า 20 ปี”

ผู้สื่อข่าวบีบีซี วิล แกรนท์ ประจำกรุงเม็กซิโก ซิตี้ กล่าวด้วยว่า การจากไปของเขานอกจากเป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวโคลัมเบียแล้ว ยังเป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวเม็กซิโก ซึ่งเป็นสถานที่ลงหลักปักฐานของเขามาเป็นเวลากว่า 30 ปีด้วย

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเม็กซิโก เอ็นริ เปญา นีเอโต (Enrique Pena Nieto) ได้ทวีตข้อความว่า “ในนามของเม็กซิโก ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของพวกเรา”

ขณะที่นักเขียนชาวเปรู ผู้ได้รับรางวัลโนเบล มาริโอ วาร์กาส โลซา (Mario Vargas Llosa) กล่าวว่า เขาเป็น “นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่” “งานของเขาทำให้วรรณกรรมทรงอิทธิพลและมีเกียรติอย่างยิ่ง นวนิยายของเขาจะอยู่ต่อไป และจะเกิดผู้อ่านหน้าใหม่ทุกหนแห่ง” เขากล่าวตอนหนึ่งกับสื่อมวลชนในเปรู

ส่วนกวีชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ปาบโล เนรูดา (Pablo Neruda) กล่าวถึงการ์เซีย มาเกซว่า “เปรียบดังบทพระวิวรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาษาสเปนนับจาก “ดอน กิโฆเต้” (Don Quixote)” ผลงานในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของมีเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes)

 

ชีวิตวัยเยาว์ และผู้สื่อข่าวที่ผันตัวมาเขียนนิยา

กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนผู้ใช้ภาษาสเปน ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งและเป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 2471 ที่อาราคาตาคา ตอนเหนือของประเทศโคลัมเบีย ได้รับการเลี้ยงดูมาโดยตากับยาย โดยตาของเขาผู้เป็นอดีตนายทหารฝ่ายเสรีนิยม สมัยสงครามกลางเมืองของโคลัมเบีย แต่เดิมเคยกีดกันไม่ให้บิดาและมารดาของการ์เซีย มาเกซแต่งงานกัน โดยก่อนที่จะได้แต่งงานกัน ฝ่ายบิดาพยายามเอาชนะใจมารดาด้วยไวโอลิน เพลงยาว กลอนรัก จดหมายนับไม่ถ้วน หรือแม้แต่โทรเลข กระทั่งฝ่ายครอบครัวของมารดายอมตกลงให้ทั้งคู่แต่งงานกัน โดยชีวิตของบิดาและมารดาช่วงนี้นั้น การ์เซีย มาเกซ ได้นำมาเขียนไว้ใน "รักเมื่อคราวห่าลง" (Love in the Time of Cholera) ด้วย

ทั้งนี้ตาของการ์เซีย มาเกซ มีอิทธิพลทางความคิดต่อเขาเป็นอย่างมาก เช่น แทนที่จะเล่านิทานเขากลับเล่าเหตุการณ์ช่วงสงครามกลางเมืองของโคลัมเบียให้หลานฟังเป็นต้น ส่วนยายของการ์เซีย มาเกซ มักจะเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องเวทย์มนต์คาถา สิ่งเหนือธรรมชาติ

ด้านชีวิตการศึกษาของการ์เซีย มาเกซนั้น ในระหว่างที่เขาศึกษานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโคลัมเบีย ในปี 2491-2492 เขาเริ่มเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ "El Universal" ต่อมาในปี 2493 - 2495 เขาใช้นามปากกาเขียนเรื่องแปลกประหลาดให้กับหนังสือพิมพ์ "El Heraldo" ต่อมาเขายังทำงานให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นอกจากนี้เขายังอยู่ในกลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในชื่อ " Barranquilla Group" ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับงานวรรณกรรมของเขาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงมุมมองอันเป็นพิเศษต่อวัฒนธรรมแถบแคริบเบียน นอกจากนี้ในปี 2497-2498 ซึ่งเขาอยู่ที่กรุงโบโกตา เขายังเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับหนังสือพิมพ์ "El Espectador"

ในปี 2500 เขาย้ายมาอยู่ที่กรุงคารากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา และทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ "El Momento" เขามีส่วนร่วมในการรัฐประหารโค่นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี 2501 ด้วย และเขาได้เขียนบทความ "The participation of the clergy in the struggle" อธิบายการมีส่วนร่วมของคริสจักรในเวเนเซุเอลาในการโค่นประธานาธิบดีมาร์กอส เปเรส จิมเมเนซ (Marcos Pérez Jiménez)

หลังกลับมาอยู่ที่โคลัมเบียสั้นๆ ในปี 2501 เขาแต่งงานกับเมอเซเดส บาชา (Mercedes Barcha) อย่างไรก็ตามมีเรื่องทำให้เขาต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากผลงานข่าวของเขาซึ่งตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ "El Espectator" ซึ่งเขาได้สัมภาษณ์ลูกเรือพิฆาตของโคลัมเบีย ซึ่งเป็นผู้เดียวที่รอดชีวิตจากเหตุเรือพิฆาตอัปปาง และได้เปิดโปงว่าสาเหตุที่เรืออัปปางไม่ได้เป็นเพราะคลื่นลมในทะเล แต่เกิดจากเรือลำดังกล่าวขนของหนีภาษีจนเต็มลำเรือ โดยหลังตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวทำให้หนังสือพิมพ์ส่งเขาไปอยู่ที่ยุโรป และต่อมาไม่นานหนังสือพิมพ์เล่มนี้ก็ถูกรัฐบาลทหารในสมัยนั้นของโคลัมเบียสั่งปิด

ทั้งนี้ช่วงหนึ่งที่เขาพาครอบครัวมาอยู่ที่เมืองอะคาพูลโก (Acapulco) ในเม็กซิโก เขาเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (ภาษาสเปน Cien años de soledad/ภาษาอังกฤษ One Hundred Years of Solitude) อย่างจริงจังโดยอิงพื้นเพจากบ้านของคุณตาคุณยายในวัยเยาว์ของเขา ในช่วงที่กำลังเขียนนิยายเขาขายรถยนต์และทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อให้ครอบครัวมีเงินใช้ อย่างไรก็ตามเขาพบว่าต้องใช้เวลาในการเขียนมากกว่าที่คาดไว้ เขาลงมือเขียนนวนิยายทุกวันเป็นเวลากว่า 18 เดือน ขณะที่ภรรยาของเขาจำเป็นต้องขอลงบัญชีกับร้านขายเนื้อและขนมปังในระหว่างที่เขาเขียนนิยายไม่เสร็จ รวมไปถึงขอติดค่าเช่าบ้านถึง 9 เดือน อย่างไรก็ตามโชคดีที่เขาเขียนนวนิยายเสร็จและได้ตีพิมพ์ในปี 2510 กลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเขาในเวลาต่อมา โดยปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ถึง 30 ล้านฉบับและถูกแปลออกไปกว่า 30 ภาษา ผลงานเล่มนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2525 นอกจากนี้ในปี 2529 “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ปณิธาน-ร.จันเสน

สำหรับผลงานอื่นๆ ของการ์เซีย มาเกซ ที่ได้รับความนิยม เช่น“รักเมื่อคราวห่าลง” (ภาษาสเปน El amor en los tiempos del cólera/ ภาษาอังกฤษ Love in the Time of Cholera) นวนิยายดังกล่าว ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนเมื่อปี 2528 ต่อมา อีดิท กรอสแมน (Edith Grossman) แปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2531 และมีการทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2550 นอกจากนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี 2556 โดย รัชยา เรืองศรี สำนักพิมพ์ บทจร

ขณะที่ “หมายเหตุฆาตกรรม” (ภาษาสเปน Crónica de una muerte anunciada/ภาษาอังกฤษChronicle of a Death Foretold) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 เป็นเรื่องราวของ “บายาร์โด ซาน โรมัน” ชายชาวโคลัมเบียผู้มั่งคั่ง แต่งงานกับหญิงท้องถิ่นผู้งดงาม แต่ก็ส่งตัวเธอกลับคืนให้ครอบครัวเธอไปอย่างเสียเกียรติหลังจากพบว่าเธอไม่บริสุทธิ์แล้ว ครอบครัวฝ่ายหญิงรู้สึกโกรธที่ลูกสาวถูกปฏิเสธ จึงบังคับให้เธอเอ่ยชื่อชายที่ชิงความบริสุทธิ์ของเธอไป แต่ฝ่ายหญิงกลับเอ่ยชื่อชายอีกคนหนึ่ง ทำให้ต่อมาพี่ชายของฝ่ายหญิงตามไปสังหารชายอีกคนแทน

โดยนิยายเรื่องนี้เขาผูกขึ้นระหว่างจินตนาการของเขากับเค้าโครงเรื่องจริงในปี 2494 ทำให้ในปี 2537 เขาถูก “มิเกล เรเยส พาเลนเซีย” ฟ้องร้องว่านำเรื่องราวชีวิตจริงของเขามาสร้างเป็นตัวละคร “บายาร์โด ซาน โรมัน” โดยเขาเรียกร้องเงินค่าลิขสิทธิ์จากหนังสือคิดเป็นร้อยละ 50 และขอเป็นผู้เขียนร่วม อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายนปี 2554 ศาลตัดสินยกฟ้องโดยระบุว่า “มีงานวรรณกรรม งานศิลปะและงานภาพยนตร์จำนวนมากที่นำโครงเรื่องหลักมาจากชีวิตจริง โดยดัดแปลงให้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิเหนือผลงานในทางมูลค่าอันจะเป็นการขัดต่อสิทธิของผู้สร้างได้” และยังยกฟ้องกรณีที่พาเลนเซียต้องการมีชื่อเป็นผู้เขียนร่วม โดยศาลให้เหตุผลว่าเพราะเขาไม่สามารถเล่าเรื่องอย่างที่กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ทำได้ และไม่สามารถใช้ภาษาทางวรรณกรรมในการเล่าเรื่องนี้ งานชิ้นนี้จึงมีสถานะความเป็นต้นแบบของมันเอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับวรรณกรรมดังกล่าวมีการแปลเป็นภาษาไทยในปี 2529 โดย “พัชรินทร์” พิมพ์กับสำนักพิมพ์ตะเกียงลาน

นอกจากผลงานวรรณกรรมแล้ว เขายังได้รวมผลงานข่าวของเขาในชื่อ “ข่าวการลักพาตัว” (News of a Kidnapping) สารคดีเล่าเรื่องราวของเครือธุรกิจยาเสพติดในเมืองเมเดลิน (Medellin) ที่มีปาบโล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) นักค้ายาเสพติดชาวโคลัมเบียชื่อดัง ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2536

การ์เซีย มาเกซ ยังเป็นบุคคลทางการเมืองอีกด้วย นอกจากเป็นเพื่อนกับบิล คลินตันแล้ว การผูกมิตรของเขากับอดีตประธานาธิบดีคิวบา ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ยังทำให้เกิดข้อโต้เถียงขึ้นในแวดวงด้านวรรณกรรมและการเมืองในภูมิภาคละตินอเมริกาด้วย อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่ามิตรภาพของเขานั้นอยู่บนพื้นฐานของหนังสือ “ฟิเดลเป็นคนมีวัฒนธรรม” เขากล่าวในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง “เมื่อเราอยู่ด้วยกันเราพูดคุยกันในเรื่องวรรณกรรม”

สำหรับพิธีไว้อาลัยกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ นั้น จากรายงานของ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ มาเรีย คริสตินา การ์เซีย เคเปดา ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชาติของเม็กซิโก ซึ่งแถลงข่าวในนามของครอบครัวการ์เซีย มาเกซ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ระบุว่าจะมีการทำพิธีฌาปนกิจเป็นการภายในครอบครัว ขณะที่สาธารณชนจะสามารถร่วมพิธีไว้อาลัยในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย. นี้ ที่ the Palacio de Bellas Artes กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Author Gabriel Garcia Marquez dies, BBC, 17 April 2014 Last updated at 23:30
http://www.bbc.com/news/world-latin-america-27073911

Gabriel García Márquez, Wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/Gabriel_Garc%C3%ADa_M%C3%A1rquez

One Hundred Years of Solitude, Wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/One_Hundred_Years_of_Solitude

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยยุคปลุกระดม :ความขัดสนทางภาษา

$
0
0


 

เกริ่นนำ

ฤาสมมติฐานที่ว่า “เหตุผลใช้ไม่ได้กับเมืองไทยจะเป็นจริง?”  จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินไปอย่างไร้รูปแบบ สะเปะสะปะ และหาความเอาแน่เอานอนทางตรรกะไม่ได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยทางทฤษฎีมากมาย ที่ตลกไปกว่านั้น ขณะที่บรรดานักวิชาการพร้อมทั้งผู้สันทัดกรณีทั้งหลายกำลังพร่ำพูดกันเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ต่างๆนานาพลันกลับมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เรื่องแบบนี้ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลและไม่มีที่มาที่ไป  น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อาจอธิบายอะไรให้สวยหรูได้ นอกจากสบถแช่งฟ้าแช่งฝนไปตามอารมณ์ของผู้ที่ร่วมสูญเสีย กล่าวคือ "เมื่อเกลียดใครแล้ว ก็จะจงเกลียดจงชังอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุผล"คำถามมีว่า ปัญหาสำคัญเช่นนี้ควรจะมีการอภิปรายอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจรากฐานแท้จริงของปัญหา จะมีแนวทางใดบ้างที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตายกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้  แล้วเครื่องมือทางสังคมศาสตร์ในยุคปัจจุบันมีเพียงพอหรือไม่ที่จะรื้อถอนปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งการรื้อถอนเช่นนี้จะช่วยให้เราค้นพบชิ้นส่วนอันเป็นลักษณะเฉพาะของปัญหาในประเทศไทย อาจกล่าวแบบติดตลกได้ว่า ปัญหานั้นเราอาจพบ แต่เราคงต้องชั่งใจด้วยว่าจะพูดได้หรือไม่?

เนื้อหา 

ข้อสมมติฐานหนึ่งจากการถอดรื้อที่น่าสนใจ คือ “ความเป็นไปของภาษา”

(1) สงครามน้ำลายไพร่ไซเบอร์

การต่อสู้ด้วยคีย์บอร์ดในที่ลับเป็นความเชี่ยวชาญที่คนไทยหมกมุ่นเป็นพิเศษ ที่สำคัญเป็นบ่อเกิดแห่งความวิปริตผิดปกติในระดับที่ซับซ้อนด้วย ซึ่งการปลุกระดมคนให้เคียดแค้นและโหมกระพือไฟแห่งความเกลียดชังกลายเป็น  Target หรือ เป้าหมาย ที่ต้องบรรลุผลให้ได้เชิงการตลาด ความที่โลกออนไลน์มีธรรมชาติเป็นโลกแห่งการผลิตซ้ำอยู่แล้วจึงทำให้ข่าวลือ ข่าวลวง เกิดง่ายเหมือนไฟลามทุ่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร คนไทยสรุปเป็นว่ามีกลิ่นคาวก็พร้อมส่งต่อข้อมูลทันที ข้อนี้เป็นพฤติกรรมทางจิตวิทยาที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ เพราะสะท้อนกลับไปถึงระบบทาสในอดีตที่วรรณกรรมไทยมักวางตัวละครประเภทบ่าวไพร่ให้มีกลุ่มหนึ่งต้องเป็นไพร่สอพลอขี้นินทา และเมื่อถูกดัดแปลงเป็นละครจอแก้ว ตัวละครแบบนี้ก็จะปรากฏให้เห็นในทุกเรื่องไปไม่ว่าจะน้ำดีหรือน้ำเน่า ถึงแม้จะกลายเป็นละครยุคใหม่แล้วก็ตาม บ่าวไพร่เหล่านั้นราวกับกลับชาติมาเกิดเพื่อต่อยอดพฤติกรรมผิดปกติที่ถอดแบบมาจากสมัยทาส คือ“ช่างนินทาเจ้านาย และข่มเหงผู้อื่นในนามเจ้านาย” การปรากฏซ้ำของตัวละครเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทางวรรณกรรม แน่นอนมันเป็นแรงบันดาลใจในยุคที่ใครๆ สามารถพิมพ์อะไรก็ได้ หลายต่อหลายคนเสพติดดราม่าออนไลน์ไม่ต่างจากติดละครน้ำเน่า ความหมกมุ่นดังกล่าวทำให้โลกออนไลน์มีอิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางไทย จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นทุกทีว่า ใครก็ตามที่อยู่กับดราม่าออนไลน์ชนิดที่เรียกว่าเสพติด มักจะห่างเหินจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปทุกที หลายต่อหลายคนกล้าแสดงความไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย (ทั้งที่ในชีวิตจริงเขาไม่เคยแสดงออกอย่างนั้นเลยก็ตาม) keyword สำคัญที่เราอาจสรุปแนวโน้มของคนไทยกลุ่มนี้ คือ หน้าไหว้หลังหลอก ลิงหลอกเจ้า ดีแต่ปาก ฯลฯ แต่ซับซ้อนกว่านั้น Keyword ดังกล่าวถูกทำให้ความหมายเดิมของสำนวนพร่าเลือนไป เพราะข้อจำกัดบางอย่าง

(2)ดราม่าที่เต็มไปด้วยความขัดสนทางภาษา

ความขัดสนทางภาษาความจำกัดจำเขี่ยของคลังคำทำให้เกิดปัญหาอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ เพราะอารมณ์ที่พลุ่งพล่านเก็บกดควรจะควบคู่กับช่องทางระบายออกที่ได้สัดส่วนกัน แต่ชนชั้นกลางบางส่วนรักที่จะใช้ภาษาเป็นช่องทางระบายออก ทั้งที่มีทักษะการใช้ภาษาน้อยเหลือเกิน (แม้ว่าจะได้รับการศึกษามา)ในขณะที่ชาวบ้านแต่เดิมอาจใช้ช่องทางอื่นอย่าง การร้องรำทำเพลง(ซึ่งปรากฏว่ารุ่มรวยทางภาษามากกว่า) หรือไม่เช่นนั้น ก็ไปลงกับเหล้า หรือ เข้ามุ้ง ให้มันจบความเก็บกดไปจึงความผิดปกติดังกล่าวได้กลายเป็นการซ้ำคำ ซ้ำความ ซ้ำซาก ที่สุดเป็นการทำลายความหมายของสำนวนเดิมให้พร่าเลือนไปทั้งสิ้น เป็นต้น คุณจะกล่าวหาว่าคนนี้ดีแต่ปาก ที่จริงแล้วคุณอาจจะแค่หาคำอื่นมาด่าไม่ได้ด้วยเพราะจนปัญญาในถ้อยคำ สุดท้ายแล้วสมมติว่าจะใช้ตัวนับทางคอมพิวเตอร์ เช่นโปรแกรมนับคำซ้ำ คุณอาจพบก็ได้ว่า คำที่คุณพิมพ์ในโลกออนไลน์บ่อยที่สุด หรือคำพูดที่ปรากฎในการปราศรัยบ่อยที่สุด อาจเป็นคำที่คุณร่วมกันกับชาวดราม่าทั้งปวงทำลายความหมายให้พร่าเลือนไปเสียเองก็ได้ จากนั้นพอคุณใช้คำนี้อีก ความหมายของมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และผู้ที่รับสารเข้าไปก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจตรงกันกับคุณอีกต่อไป เพราะธรรมชาติของภาษาย่อมเลื่อนไหล โชคร้ายตรงที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ผลร้ายเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงนั่นคือ “จะไม่มีวันเจรจากันได้อีก”เมื่อคู่ขัดแย้งผู้ยากจนทางภาษาใช้คำเดียวกันแต่ในความหมายและบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นต้น คำว่า “ความเท่าเทียม”, “ไพร่”, “ประชาธิปไตย” ซึ่งเราไม่เรียกความจำกัดจำเขี่ยนี้ว่า “วัฒนธรรมหรืออารยธรรม” แต่เราจะเรียกมันว่า “อนารยะ” เพราะไม่ว่ามันเป็นประโยคเหน็บแหนมที่เรียกเสียงโห่ฮาเพียงใด รากฐานของมันคือการซ้ำคำ ซ้ำความที่มีข้อจำกัดในตัวเองทั้งสิ้น ขณะที่ ชนชั้นล่างกลับรุ่มรวยทางภาษาอย่างน่าแปลก ไม่ใช่เพราะการศึกษา แต่เพราะภาษามีธรรมชาติรุ่มรวยในตัวมันเอง ใครที่ใช้มันตามธรรมชาติย่อมพบวิธีการที่จะใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างน่าสนใจ สังเกตได้จากบทกวีข้างถนน บทเพลงของชาวบ้านแต่โบราณมา เราสรุปแบบนี้ก็ไม่ผิดว่า ภาษาที่รุ่มรวยมักแฝงด้วยหนทางแก้ปัญหาไว้ด้วยธรรมชาติแห่งการเชื่อมโยงของคำแต่ละคำ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า ภาษาคือเครื่องมือแห่งความแตกแยก เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงให้คำและความลงรอยกันได้เลย ซึ่งความไม่ลงรอยนี้เอง คือ ความขัดสนทางภาษา

(3)ระบอบทุนสมบูรณ์กับเหยื่อที่ไม่รู้ตัว

ศาสนาพุทธถูกอ้างว่าเป็นศาสนาประจำชาติ มีคำสอนที่โดดเด่นว่าด้วย “สติสัมปชัญญะ” แต่กลายกลับเป็นว่า คนไทยผู้เปิดรับกระแสวัฒนธรรมที่พร่างพรมเข้ามาอย่างไม่มีประมาณผ่านบรรษัททุน มีพ่อค้าคนกลาง ครอบครัวของพ่อค้าคนกลาง ผู้ถือหุ้นและจัดสรรดั่งพรหมอำนวยให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยพลอยเป็นหนี้กันถ้วนหน้า โดยคนไทยไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลยว่า ตนเองเป็นเหยื่อของระบอบทุนสมบูรณ์อยู่ก่อนแล้ว ก็คนไทยทั้งหลายเป็นผู้ถูกกระทำโดยชนชั้นปกครองทั้งนั้น เมื่อชนชั้นปกครองรับอะไรเข้ามาก็เป็นว่าชนชั้นที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจกว่าเป็นอันน้อมรับเข้าไปด้วย เพราะแรงจูงใจที่อยากจะก้าวขึ้นเป็นเจ้าคนนายคนกับเขาบ้าง ดังนั้น มันไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งคนโกง หรือหนึ่งครอบครัวโกง แต่มันคือ “ผังคนโกง” ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งความสมประโยชน์กันอย่างขูดรีดบนพื้นฐานที่ฉาบทาด้วยการป่าวประกาศว่าตนเองดำรงความดีงามตามคติพุทธศาสนา ดังนั้น หากเราคิดว่า เราตื่นรู้อยู่อย่างอารยะจริง ความกล้าที่จะออกแบบ “ผังล้มคนโกง”ต่างหากจึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันความศิวิไลซ์ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะกระทำเช่นนั้น ดังนั้น เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะสืบสาวแก่นรากแห่งความคดโกงที่ว่า เพราะว่ามันได้แทรกซึมอยู่ใน Products และ Packages ต่างๆของชีวิตไปเสียแล้ว สิ่งที่อาจทำได้และง่ายกว่าคือ การลดจำนวนพวกที่โกงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และการลดจำนวนพวกที่โกงแล้วแสร้งทำเป็นคนดีประเสริฐ ให้เหลือแต่พวกที่ตรงไปตรงมา พอยอมรับได้ และแฟร์พอที่จะเข้าไปต่อรองหรือขอแบ่งปันทรัพยากรให้แก่ผู้ที่ยังขัดสน
แต่ปมเขื่องที่ทำให้เกิดภาพมายาคติทั้งหมดนั่น คือ “ภาษา”  พูดโดยง่าย คือ เพราะรู้ภาษาไม่รอบคอบก็เลยโดนคนมีวาทศิลป์หลอกเอาได้ ก็พลอยเคลิบเคลิ้มหมดเนื้อหมดตัวไปกับลัทธิเอกบุรุษ ลัทธิสถาบัน ร่างทรง องค์อวตารต่างๆ เพราะคำพูดสวยๆ หรูๆ แต่ขาดความรุ่มรวยทางภาษาแบบนี้เอง มันสะกดจิต ! และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะมันซ้ำ

ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้มีคนตายและติดคุก
ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้คนจนยังถูกกดหัวอยู่ทุกวันนี้
ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่เบียดเบียนความเป็นไปของพลวัตในสังคม
ลองย้อนกลับไปเมื่อวัยเยาว์ อะไรเล่าคือประโยคความซับซ้อน (สังกรประโยค)?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชป.ยันไม่ขวางการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคจะลงหรือไม่

$
0
0

‘องอาจ’ รอง หน.ปชป. ชี้ต้องทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน นำ 2 ก.พ.มาเป็นบทเรียน ยันไม่ขวางการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคจะลงหรือไม่ อัด ‘เพื่อไทย’ ดิสเครดิตองค์กรอิสระ หวังซื้อเวลายื้ออำนาจ 

20 เม.ย.2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เชิญพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมหารือถึงการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ว่า สังคมไม่อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกครั้ง ดังนั้นการหารือจึงไม่ควรเป็นการหารือว่าจะต้องเลือกตั้งภายใน 45 หรือ 60 วัน หรือภายในวันที่15มิ.ย.นี้ ตามที่มีการออกมาระบุ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดปัญหา ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ต้องทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน หากยังไม่ได้รับการยอมรับไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครหรือไม่ลงสมัครก็ไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองเพราะเชื่อว่า หนังม้วนเก่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.จะย้อนกลับมาคือมีคนคัดค้านจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีก และอาจเป็นการเลือกตั้งที่วิกฤตมากกว่าวันที่ 2 ก.พ.อีก

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการเลือกตั้งจะต้องอยู่บนพื้นฐาน 5 ประการคือ 1. ทุกฝ่ายมีความจริงจัง และจริงใจ 2. แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักไม่มีประโยชน์แอบแฝง 3.นำผลการเลือกตั้ง 2ก.พ. 57 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า เป็นโมฆะมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะอีก 4. ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเสียสละจากของหลายฝ่าย และ 5. รัฐบาลและ กกต.ต้องให้ความมั่นใจว่า การเลือกตั้งบริสุทธิ์เที่ยงธรรม ไม่มีความรุนแรง โดยพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับแม้ว่า การหารือในวันที่ 22 เม.ย.นี้จะไม่ใช่บทสรุปแต่ถ้าเริ่มต้นได้ก็จะเป็นโอกาสดี แต่ถ้ายังคิดใช้การเลือกตั้งนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้ตนเองการพูดคุยในวันดังกล่าวก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

นายองอาจ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศตลอดว่าพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและหาทางออกให้วิกฤตของประเทศได้เพราะคงไม่สามารถยอมรับการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพรรคจึงยืนยันว่าไม่ขัดขวางการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคจะลงสมัครหรือไม่ก็ตามเมื่อถามว่า เหตุใดมองว่า การเลือกตั้งยังส่อเค้าลางว่า ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น นายองอาจ กล่าวว่า ขณะนี้ กปปส.ยังคงคัดค้านการเลือกตั้งโดยต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนดังนั้นข้อหารือจะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุก ๆ ฝ่าย และกกต.จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาด้วยส่วนจะหารือกับกปปส.หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่กกต.จะพิจารณา

 

ชี้ ‘เพื่อไทย’ ดิสเครดิตองค์กรอิสระ หวังซื้อเวลายื้ออำนาจ 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเห็นของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการที่ออกมาสนับสนุนแถลงการณ์ ศอ.รส.และตอบโต้แถลงการณ์ชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญสับสนบทบาทตัวเองว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้สับสนในบทบาทตัวเอง แต่พรรคเพื่อไทยพยายามทำให้สังคมสับสนด้วยการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญแทนที่จะชี้แจงข้อกล่าวหา อีกทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการพยายามซื้อเวลาออกไปให้นานที่สุดเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนที่โจมตีว่าไม่ดำเนินการกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขา กปปส.ที่พูดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ แต่กลับมีปฏิกิริยากับแถลงการณ์ของ ศอ.รส.ว่า สองกรณีนี้มีความแตกต่างกันไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะ กปปส.เป็นภาคประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตัวเอง หากผิดกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ศอ.รส.เป็นหน่วยงานรักษาความสงบที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น จึงไม่สมควรที่จะออกมาสร้างความไม่สงบในบ้านเมือง

 

เรียบเรียงจากเว็บพรรคประชาธิปัตย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรต้านเหยียดผิวเผย เหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังเกี่ยวข้องกับเว็บบอร์ดขวาจัด

$
0
0

จากอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) หลายเหตุการณ์รวมถึงกรณีชาวนอร์เวย์สังหารหมู่เยาวชน 77 คน องค์กรเซาธ์เทิร์นโพเวอตีลอว์เซนเตอร์ ได้เผยแพร่รายงานระบุว่ามีฆาตกร 10 คน มาจากกระดานข่าวชื่อ Stormfront ซึ่งมีผู้ก่อตั้งเป็นอดีตขบวนการคู คลักซ์ แคลน


ภาพหน้าจอจากเว็บ Stormfront.org

19 เม.ย. 2557 องค์กรเซาธ์เทิร์นโพเวอตีลอว์เซนเตอร์ (SPLC) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิพลเมืองที่ต่อสู้กับลัทธิเหยียดผิวจัดทำรายงานกรณีศึกษาพบว่าเหตุสังหารผู้อื่นด้วยเรื่องเชื้อชาติหรือสีผิวหลายเหตุการณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์กระดานข่าวของกลุ่มขวาจัดเว็บหนึ่ง

เว็บไซต์ที่องค์กรนี้กล่าวถึงคือเว็บกระดานข่าวของกลุ่มเหยียดผิวที่ชื่อ Stormfront.org ซึ่งระบุเป้าหมายของเว็บว่าเพื่อส่งเสริม "การเตรียมพร้อมต่อสู้ของคนผิวขาวจำนวนน้อย" ผู้เข้าใช้เว็บไซต์นี้รายหนึ่งคือ แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ผู้ที่เคยก่อเหตุสังหารนักกิจกรรม 77 คนในนอร์เวย์เมื่อปี 2554 ผู้ใช้อีกรายหนึ่งคือเวด ไมเคิล เพจ ผู้สังหารคนในศาสนสถานของศาสนาซิกข์ 6 คนในรัฐวิสคอนซิน ปี 2555

รายงานของ SPLC ระบุว่า Stormfront กลายเป็นเว็บไซต์ปลุกปั่นความเกลียดชังเว็บไซต์แรกของโลกโดยถือกำเนิดในปี 2538 มีผู้ใช้หลายคนในนั้นเป็นผู้ต้องหาก่อการฆาตกรรม เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ฟราเซียร์ เกลน มิลเลอร์ ผู้มีอีกชื่อว่าฟราเซียร์ เกลน ครอส ถูกกล่าวหาว่าสังหารคน 3 คนที่ศูนย์ชาวยิวในแคนซัสซิตี้

เฮดิ เบริช ผู้เขียนรายงานและประธานฝ่ายข้อมูลของ SPLC กล่าวว่า Stormfront เป็น "เว็บปลุกระดมความเกลียดชังที่ใหญ่ที่สุดในโลก" และเป็นแหล่งดึงดูดคนที่อันตรายและพร้อมจะใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งมีโอกาสก่ออาชญากรรมแบบเดียวกับมิลเลอร์

รายงานของ SPLC ระบุว่า เว็บไซต์ Stormfront มีผู้ใช้มากกว่า 286,000 คน แต่มีเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่ปฏิบัติกิจกรรมในเว็บบ่อยๆ มีคนล็อกอินเข้าไปใช้น้อยกว่า 1,800 คนต่อวัน แม้ SPLC จะพบว่าในจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดจะมีคนที่เป็นฆาตกร 10 คนเท่านั้น แต่ผู้วิจัยก็มองว่าความเกี่ยวข้องนี้มีความสำคัญและน่าให้ความสนใจว่าเว็บไซต์นี้ให้โอกาสคนได้ก่ออาชญากรรมได้อย่างไร

เบริช บอกว่าคนที่เข้าเว็บไซต์อย่าง Stormfront มีความไม่พอใจในชีวิตบางอย่างและหวังว่าเว็บนี้จะช่วยเขาได้ โดย Stormfront จะเป็นผู้ชี้ว่าอะไรคือศัตรูที่ยืนขวางทางพวกเขาอยู่ และอ้างว่าศัตรูเหล่านั้นคือคนเชื้อชาติอื่นหรือสีผิวอื่นๆ เช่นคนแอฟริกัน-อเมริกัน ชาวยิว ผู้อพยพ เป็นต้น

"เป็นเรื่องโชคไม่ดีแต่ก็เป็นเรื่องที่เดาได้ว่าคนที่อยู่กับการหล่อหลอมเหยียดชาติพันธุ์ด้วยความรุนแรงเหล่านี้ ในที่สุดก็จะจับปืนขึ้นมากระทำการบางอย่าง" เบริชกล่าว

"ข้อเท็จจริงคือมีคนที่ถูกสังหารโดยกลุ่มฝ่ายขวาจัดหัวรุนแรงมากกว่ากลุ่มหัวรุนแรงศาสนาอิสลามนับตั้งแต่หลังเกิดเหตุ 9/11 และมีอาชญากรหลายคนมาจากเว็บนี้" เบริชกล่าว

เว็บไซต์ Stormfront ก่อตั้งโดยผู้ที่เรียกตัวเองว่าดอน แบล็ก อดีตผู้นำระดับสูงของกลุ่มคู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan หรือ KKK) ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการเหยียดผิว อย่างไรก็ตามดูเหมือนแบล็กจะไม่พอใจมิลเลอร์ผู้ต้องหาก่อเหตุรายล่าสุดโดยบอกว่าการก่อเหตุของมิลเลอร์ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาซึ่งดูไม่ดีอยู่แล้วดูแย่ลงไปอีก เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บเดอะเดลี่บีสต์ ว่า หลังจากมิลเลอร์ถูกแบนจากเว็บ Stormfront เขาก็ยังไปโพสต์ข้อความมากกว่า 12,000 ครั้งในเว็บที่คล้ายๆ กันคือ แวนการ์ดนิวส์เน็ตเวิร์ก ที่มีคำขวัญว่าต่อต้านชาวยิว

SPLC ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาชญากรรมจากความเกลียดชังโดยฝ่ายขวามีเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่บารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

มาร์ก โปท็อก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SPLC บอกว่าเว็บไซต์ที่ปลุกระดมความเกลียดชังเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ อย่างไรก็ตามโปท็อกก็บอกอีกว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งคาดว่าคงจับตาสอดส่องเว็บไซต์เหล่านี้อยู่แต่กลับวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยับยั้งอาชญากรรมได้ไม่ดีพอ


ผู้นำกระดานข่าวโต้ตอบรายงานของ SPLC

ดอน แบล็ก ยังได้ตอบโต้รายงานของ SPLC ไว้ในกระดานข่าวระบุว่างานวิจัยของพวกเขาเป็นแค่การ 'โฆษณาชวนเชื่อ' ที่นำเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียว โดยยกตัวอย่างกรณีที่รายงานกล่าวถึงเบรวิก ฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นอร์เวย์บอกว่าเขาเป็น "ผู้ใช้กระดานข่าวที่มีความกระตือรือร้น" แต่แบล็กบอกว่ามีบัญชีผู้ใช้รายหนึ่งที่น่าจะเป็นเบรวิคโพสต์ข้อความเพียง 4 ครั้งก่อนจะถูกสั่งแบนแล้วถึงตกเป็นข่าวอีก 3 ปีให้หลังในเหตุฆาตกรรม

แบล็กกล่าวถึงกรณีสังหารหมู่ในนอร์เวย์อีกว่ากลุ่มยุวชนที่ถูกสังหารเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ 'ต่อต้านชาวยิวไซออนิสต์' โดยอ้างภาพที่มีคนถือป้ายผ้าข้อความให้บอยคอตต์อิสราเอล ขณะที่การสังหารหมู่ของเบรวิกมีแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดไซออนิสต์หัวรุนแรง

แบล็กอ้างอีกว่ากระดานข่าวของพวกเขามีกติกาห้ามไม่ให้ผู้ใช้ส่งเสริมหรือเสนอกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของสหรัฐฯ และขอให้ตระหนักว่าแต่ละคำพูดมีผลกระทบตามมาเสมอ

แจ็ก บู๊ต ผู้ให้ตำแหน่งตนเองเป็น 'บรรณาธิการ' และ 'ผู้นำเหล่าทัพ' ของกระดานข่าว Stormfront ระบุในกระดานข่าวหน้าคำถามที่ถามบ่อยๆ ว่า กลุ่มชาตินิยมผิวขาวเป็นกลุ่มคนผิวขาวที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกป้องตนเองแต่ไม่ได้คิดว่าพวกเขาเป็นเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่าหรือด้อยกว่าชาติอื่น
 


เรียบเรียงจาก

More than 100 hate-crime murders linked to single website, report finds, The Guardian, 18-04-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/apr/18/hate-crime-murders-website-stormfront-report

Exposing SPLC Lies About Stormfront and Don Black, Don Black, Stormfront, 17-04-2014
http://www.stormfront.org/forum/t1036143/#post12038498

White Nationalism FAQ - Yggdrasil, Jack Boot, Stormfront, 21-10-2013
http://www.stormfront.org/forum/t1001939/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวลึกลับ หวั่นป่าไม้อุ้ม แม่-เมีย ยื่นหนังสือร้องผู้ว่า ตำรวจ

$
0
0

ผู้ใหญ่บ้านยื่นหนังสือ กสม.สภาทนายฯ ร้องแกนนำกะเหรี่ยงหายตัวลึกลับหลังถูก จนท.อุทยานควบคุมตัว นักสิทธิตั้งข้อสังเกตุ ไม่มีการโยกย้าย หน.อุทยาน แม้เกิดเหตุสังหารแกนนำในกรณีพิพาทไปแล้วหนึ่งคนเมื่อปี 54 เอ็นจีโอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง ขอให้ จนท.พิจารณาคดีการหายตัวอย่างโปร่งใส

กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) แกนนำกะเหรี่ยงชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดินทางจากหมู่บ้านลงมาที่ อ.แก่งกระจาน เพื่อพบกับญาติที่ได้นัดหมายกันไว้

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายกระทง จีบ้ง ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย หมู่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง พร้อมชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อให้ช่วยตามหานายพอละจี เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต เพราะเป็นแกนนำในการต่อสู้เรื่องคดีความให้ชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน-เผายุ้งข้าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ชาวบ้านร้องเรียน เพราะว่านายพอละจีเป็นพยานในคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหาเผาบ้าน ยุ้งฉางของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ซึ่งนอกจากจะเป็นพยานในคดีดังกล่าวแล้วนายพอละจียังเป็นคนประสานงานกับพยานในพื้นที่ โดยในต้นเดือน พ.ค. ศาลปกครองกำลังเรียกนายพอละจีมาให้ข้อมูลกับศาล

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังรับเรื่องร้องเรียนจะตั้งคณะทำงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ ซึ่งอาจเป็นคณะทำงานชุดเดิมที่ทำคดีเรื่องเผาบ้าน และเผายุ้งฉางชาวบ้านอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีการหายตัวไปของนายพอละจีอาจทำให้พยานคนอื่นและชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากมีข้อมูลว่าคนที่พบกับนายพอละจีคนสุดท้าย อาจเป็นนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน อีกทั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยง พยานในคดีนี้ถูกยิงเสียชีวิตมาแล้ว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาจ้างวานฆ่าต่อ นายชัยวัฒน์ ซึ่งคดีกำลังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล โดยที่นายชัยวัฒน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามระเบียบที่เคยปฏิบัติในกรณีที่ข้าราชการถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรง

ด้านนายกระทง กล่าวว่า นายพอละจี จะลงมาพบตนเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่บ้านพักใน อ.แก่งกระจาน แต่รอทั้งวันก็ยังไม่มาหา จึงสอบถามไปที่พี่ชายของนายพอละจี ทราบว่าลงมาจากบ้านบางกลอยบนตั้งแต่เวลา 13.00 น.แล้ว  โดยขับรถจักรยานยนต์ออกมาพร้อมกับน้ำผึ้ง 6 ขวด จึงสอบถามไปที่ภรรยาและคนรู้จักของนายพอละจีแต่ก็ไม่มีคนพบตัวนายพอละจี จึงไปแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา และพยายามตามหาแต่ก็ยังไม่พบตัว ทั้งนี้ได้ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสอบถามไปยังนายชัยวัฒน์ โดยนายชัยวัฒน์ยอมรับว่าได้ให้ลูกน้องรับตัวนายพอละจีมาจริง เพื่อตักเตือนเรื่องน้ำผึ้งก่อนปล่อยตัวไปแล้ว

ขณะที่นายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมสวนผึ้ง ราชบุรี เปิดเผยว่า นายพอละจี ได้เขียนคำถวายและเตรียมถวายฎีกา ในเรื่องของความทุกข์ยากเดือดร้อนของกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขอ ให้พวกมีสิทธิ์ อยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน โดยที่เจ้าหน้าที่อุทยานต้องไม่ไปรังแก ขับไล่ จับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ทำลายพิธีกรรมทางความเชื่อ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และไม่ทำลายทรัพย์สิน โดยพวกเขาจะได้อยู่กันเป็นหลักแหล่ง และขอให้กันเขตพื้นที่ทำกินให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องอดอยาก ทนทุกข์ทรมาน อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ และกระจัดกระจายอยู่ในป่าใช้ชีวิตเหมือนคนป่า และเพื่อป้องกันปัญหา การบุกรุกป่าพื้นที่อุทยาน จึงขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยด่วน เพราะตอนนี้พวกเราเดือดร้อนมาก

ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี” ใจความว่า ขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บังคับบัญชา ชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยทันที รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวนายบิลลี่ อย่างโปร่งใส เป็นอิสระ และนำตัวกลับมาโดยเร็วที่สุด

รัฐต้องไม่ยินยอมต่อการกระทำอันเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย และต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบ และช่วยเหลือเหยื่อ และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหายจริง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้น พึงถูกพักจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างเวลาที่มีการสอบสวนด้วย ตามที่ระบุในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลให้พ้นจากการถูกใช้กำลังบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 เม.ย. ภรรยาและแม่ของนายพอละจี จะเข้ายื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และบก.ภ.จว.เพชรบุรี เพื่อให้ช่วยตามหาตัวนายพอละจีด้วย

ทั้งนี้นายบิลลี่หายตัวไปขณะเดินทางมาเพื่อเตรียมข้อมูล และเตรียมการนำชาวบ้านไปร่วมการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยบน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งปรากฎผลการศึกษายืนยันต่อมาว่า ชาวบ้านกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นชนพื้นเมืองดังเดิม ที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มานับแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปี ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

๐๐๐๐

 

แถลงการณ์
ขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

สืบเนื่องจากกรณีมีรายงานข่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 เม.ย. 57 นายบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ได้หายตัวไปขณะเดินทางจากหมู่บ้านลงมายังตัวอำเภอแก่งกระจาน ต่อมานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมายอมรับว่าได้ควบคุมตัวนายบิลลี่ไปเพื่อสอบสวน โดยอ้างความผิดซึ่งหน้าว่าค้นตัวนายบิลลี่เจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 6 ขวด แต่ได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว โดยไม่มีหลักฐานพยานถึงข้อกล่าวหาและการปล่อยตัวแต่อย่างใด และขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่านายบิลลี่อยู่ที่ใด ไม่มีใครพบเห็นนายบิลลี่ และไม่ได้รับการติดต่อกลับผิดวิสัยนักกิจกรรม ขณะนี้ชาวบ้านมีความห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมากจึงได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ไว้แล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557

ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นายบิลลี่หายตัวไปขณะเดินทางมาเพื่อเตรียมข้อมูลและเตรียมการนำชาวบ้านไปร่วมการพิจารณาคดีของศาลปกครองในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งปรากฎผลการศึกษายืนยันต่อมาว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นชนพื้นเมืองดังเดิมที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบนมานับแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปี ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวบ้านชนเผ่าพื้นเมืองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีในชั้นศาล รวมทั้งการลอบสังหารนายทัศน์กมล โอบอ้อม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกรายหนึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 และการตั้งข้อกล่าวหาจ้างวานฆ่าต่อนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ซึ่งขณะนี้คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลหากแต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามระเบียบที่เคยปฏิบัติในกรณีที่ข้าราชการถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรง

เหตุการณ์หายตัวไปของนายบิลลี่ สร้างความวิตกกังวลว่าอาจน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งนายบิลลี่และชาวบ้านต้องร่วมเป็นพยานในคดีดังกล่าวด้วย การหายตัวไปของนายบิลลี่จึงอาจส่งผลต่อคดีและการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมของกลุ่มชาวบ้านด้วย
การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ การอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ร้ายแรงที่สุดเป็นการละเมิดสิทธิต่อชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องให้การเคารพและคุ้มครองสิทธิดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้บังคับบัญชาชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยทันที รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวนายบิลลี่ อย่างโปร่งใส เป็นอิสระและนำตัวกลับมาโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้รัฐจะต้องไม่ยินยอมต่อการกระทำอันเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายและต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบและช่วยเหลือเหยื่อและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หากมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหายจริง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้นพึงถูกพักจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างเวลาที่มีการสอบสวนด้วย ตามที่ระบุในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลให้พ้นจากการถูกใช้กำลังบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535


หมายเหตุ:ข้อมูลจากรายงานคู่ขนานและข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ประเทศไทย เผยแพร่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555

 

ที่มา:http://www.khaosod.co.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดเต็ม! สัมภาษณ์พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล กรณีองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน

$
0
0

จากประเด็นร้อน "องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน" ที่ถูกก่อตั้งโดย พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกฎวัฒนะ โดยมีวัตถุประสงคฺเป็น"องค์กรปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้กระทำการหมิ่นสถาบันฯ"

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจาก ม.สยาม ได้ให้ทัศนะต่อปรากฎการณ์ข้างต้นแบบเต็มๆในฐานะนักนิติศาสตร์

๐๐๐๐

Q.มุมมองของนักกฎหมายต่อ โปรเจคท์ องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน

A.กิจกรรมในลักษณะนี้ มีลักษณะบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่อสถาบันกษัตริย์แตกต่างไปจากคณะตน คือต้องเข้าใจว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์นั้น คือความคิดเห็นทางการเมือง เพราะกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งในบรรดาสถาบันทางการเมืองทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น การที่ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ นิยามบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากคณะตนให้มีสถานะเป็น ‘ขยะแผ่นดิน’ ที่จะต้องถูกกำจัดทิ้ง หรือถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมาย มาตรา 112 โดยให้พลเมืองแปลงสภาพเป็น ‘ตำรวจความคิด’ คอยสอดส่องพฤติกรรมและความนึกคิดของพลเมืองคนอื่น ๆ ในสังคม ขจัดพื้นที่ในการสื่อสารเกี่ยวกับองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจสาธารณะและมุ่งดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์กรของรัฐเช่นนี้ตลอดเวลา  การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่งในรัฐที่ประกาศตนเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนการลดทอน ‘มนุษย์’ ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กลายเป็น ‘ขยะ’ หรือวัตถุที่สามารถทำลายได้นั้นเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพผู้อื่นและมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของผู้อื่น

Q.การอ้างเอาใช้ ม.8 และโครงสร้างองค์กรดังกล่าว ตามที่ พล.ต.เหรียญทอง เสนอ ชอบธรรม หรือ ยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมายหรือไม่

A. ประเด็นที่ 1.บทบัญญัติมาตรา 8 รัฐธรรมนูญฯ มีสองวรรค ทั้งสองวรรค มีความหมายว่า กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ (วรรคหนึ่ง) ฉะนั้นผู้ใดจะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้ (วรรคสอง) ในทางคำอธิบายตามหลักวิชาเป็นแบบนี้ แต่เดิมมีวรรคแรกวรรคเดียว แต่ภายหลังเหตุการณ์คดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2492 ได้เพิ่มข้อความในวรรคสองขึ้นมา ก็เพื่ออธิบายความในวรรคแรก ครับ ในประเด็นนี้บิดาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็คือ พันโท พโยม จุลานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ได้อภิปรายในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2492) ไว้อย่างแหลมคมว่า

“ได้มีการอภิปรายกันมากแล้วในเรื่องว่าผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ อันนี้ข้าพเจ้าใคร่จะชี้ให้เห็นว่ามันขัดกับหมวด 3 มาตรา 27 ที่บอกว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ข้าพเจ้าข้องใจว่าก็เมื่อเช่นนี้แล้วทำไมพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ชาวไทยอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นก็เอาแบบญี่ปุ่นซิ พระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ยอมว่าไม่ใช่คนธรรมดา และความจริงมาตรา 5 ก็บัญญัติอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ก็ไม่ได้เคยบัญญัติ ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอีกอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับแต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อนแต่คดียังไม่มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดกก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เราได้รับเราพูดไปอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าตำหนิว่าการที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไว้ให้สิทธิว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประชาชนเชื่อว่าต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด 2 ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์ อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบางทีเราพูดกับทำไม่ตรงกัน” (ดู รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 15 วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2492. ใน เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. 'รายงานการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2492 เล่ม 1 และ รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พ.ศ.2492 – 2494'. พระนคร : สำนักงาน. หน้า 144.)

ฉะนั้น เวลาเราไปศาลใดก็ตาม หากเราระบุชื่อจำเลย คือ กษัตริย์ เช่นนี้ ศาลก็จะไม่รับคำฟ้องครับ สถานะของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 เป็นแบบนี้ในระบบกฎหมาย แต่สำหรับนัยทางการเมืองนั้น มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีลักษณะเป็นกลไกครอบงำอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่เราเห็นผลลัพธ์ในปัจจุบันนี้ด้วย ธรรมดากฎหมายนั้นจะบังคับเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์เท่านั้น ธรรมดากฎหมายจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปในจิตใจของบุคคล และมีสภาพบังคับโดยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา การที่  พล.ต.เหรียญทอง นำรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 มาบังคับใช้ควบคู่กับมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นผลผลิตโดยตรงที่บ่มเพาะมาจากการครอบงำอุดมการณ์ทางการเมือง สร้างสถานะศักดิ์สิทธิ์ให้แก่กษัตริย์ ด้วยการปฏิเสธพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็ยอพระเกียรติถ่ายเดียวเช่นนี้ ใครที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากกระแสก็จะถูกจับด้วยมาตรา 112 บ่มเพาะเช่นนี้กว่า 70 ปี การครอบงำอุดมการณ์ทางการเมืองแบบกษัตริย์นิยมจึงมีลักษณะเข้มแข็งมากจนกลืนไปอยู่ใน ‘จิตไร้สำนึก’ (Unconscious mind) พลเมืองถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่รู้สึกว่าตนกำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และพร้อมเป็น ‘นักล่า’ บรรดาผู้ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยอุดมการณ์ชุดเดียวกับตน อย่างที่เราเห็น ‘องค์กรกำจัดขยะ’ กำลังจะทำกัน ก็เป็นผลมาจากเหตุนี้ทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2. หากถามว่า การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีความยุติธรรมตามกฎหมายหรือไม่? ในเรื่องนี้ผมขอเรียนอธิบายอย่างนี้ก่อนครับว่า เป็นความเข้าใจผิดนะครับที่นิยมกล่าวกันว่า ‘กฎหมายที่อยุติธรรมอย่างรุนแรง’ ถ้ายังไม่ถูกยกเลิก ก็ต้องบังคับใช้ จึงจะได้เป็นนิติรัฐ

‘นิติรัฐ’ นั้นจะดำรงอยู่ควบคู่กับกฎหมายที่ยุติธรรมครับ หากกฎหมายใดขัดต่อนิติรัฐอย่างรุนแรง (ตลอดจนวัฒนธรรมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของกระบวนการยุติธรรมในรัฐนั้น) การบังคับใช้กฎหมายนั้น ในกระแสนิติศาสตร์หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่า การบังคับใช้กฎหมายที่อยุติธรรมอย่างรุนแรง มีค่าเป็น ‘การก่ออาชญากรรม’ ครับ ไม่ใช่ ‘นิติรัฐ’

คนไทยจำนวนไม่น้อยยังติดกับ ‘นิติรัฐ’ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ไม่สนใจในคุณค่าหรือเนื้อหาของบทบัญญัติกฎหมาย (ในทำนองว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย) โดยไม่ต้องใช้สมองตรึกตรองความรุนแรงโดยสภาพของการบังคับใช้กฎหมายนั้น เช่น มาตรา 112 ในกระแสนิติศาสตร์ยุคใหม่ย่อมถือว่า มาตรา 112 คือ เครื่องมือในการก่ออาชญากรรมครับ ใครบังคับใช้มาตรานี้ ก็คือ อาชญากร และใครสนับสนุนมาตรานี้ก็คือ ผู้สนับสนุนให้เกิดอาชญากรรม ในประเด็นนี้มีบทความหนึ่ง “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law”  ของ Gustav Radbruch นักนิติศาสตร์เยอรมันที่มีบทบาทสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ดู Gustav Radbruch, “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law” Oxford Journal of Legal Studies, vol.26, No.1 (2006), pp. 1-11. http://goo.gl/fHCchJ ) หากท่านอ่านบทความดังกล่าว จะพบตัวอย่างคดีหนึ่งครับ ขออนุญาตเล่าโดยย่อ เรื่องมีอยู่ว่า ในรัฐนาซีเยอรมัน มีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ทีนี้ นาย ก. ก็ไปแจ้งความจับ นาย ข. ว่าหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ศาลพิพากษาประหารชีวิตนาย ข. ต่อมาหลังสงครามโลก ทายาทนาย ข. ฟ้องนาย ก. และผู้พิพากษาในองค์คณะที่ตัดสินประหารชีวิตนาย ข. ว่าร่วมกันฆ่านาย ข. ด้วยอิทธิพลของกระแสนิติศาสตร์ยุคใหม่ ศาลสูงพิพากษาว่ากฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ขัดต่อความยุติธรรมถึงระดับที่ไม่อาจทนรับได้อีกต่อไป (intolerable level) จนถือได้ว่าเป็น ‘กฎหมายปลอม’ หรือ ‘กฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมาย’ (Unrichtiges Recht) ตลอดจนความคาดหมายได้อยู่แล้วของนาย ก.ว่า การดำเนินคดีต่อ นาย ข. ภายใต้วัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายของศาลนาซีที่ไม่อาจนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ และเล็งเห็นผลได้ว่าถึงอย่างไร นาย ข.ก็ต้องถูกพิพากษาลงโทษสูงสุด ศาลสูงพิพากษาว่า ผู้พิพากษาองค์คณะดังกล่าวและนาย ก.ที่ไปแจ้งความนั้น มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ครับ

จะเห็นได้ว่า เช่นกันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ มีค่าเท่ากับ ‘การทรมานจำเลย’ (ในคุก แม้ศาลจะยังไม่พิพากษาก็ตาม – ศาลจะปฏิเสธการประกันตัวทุกกรณี) และวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ของศาลยุติธรรม ก็ปฏิเสธหลักยกเว้นความผิด หลักยกเว้นโทษ ที่โดยธรรมดาของกฎหมายหมิ่นประมาทจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ ล้วนมีรากฐานมาจากการยินยอมให้จำเลยพิสูจน์ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการยอมรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งหลักสุจริตเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมาย แต่เมื่อหลักสุจริตเผชิญหน้ากับมาตรา 112 รากฐานหรือคุณค่าพื้นฐานของระบบกฎหมายก็จำต้องศิโรราปลง นี่คือ ความไร้ศีลธรรมขั้นมูลฐานทางกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ครับ เราไม่อาจเรียกเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมว่า ‘ความยุติธรรม’ ได้หรอกครับ

Q.ภายหลังข้อเสนอดังกล่าว อันอาจนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หรือ ทำลายความสงบสุขของสังคม สามารถเอาผิดตามกฎหมายได้หรือไม่

A.ดังที่ผมได้เรียนอธิบายไปในสักครู่นี้ว่า การรณรงค์ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมโดยรัฐ และผู้บังคับใช้มาตรา 112 ในสายตาของความยุติธรรมถือเป็น ‘อาชญากร’ เช่นนี้ แต่ในราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กฎหมายที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรงเป็นกฎหมายบ้านเมือง และใช้ ‘เครื่องมือก่ออาชญากรรม’ ปกครองบ้านเมืองแล้ว ทำลายความสงบสุขตลอดเวลานับแต่เราคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกจนกระทั่งเติบโตขึ้น เพียงแต่เราถูกทำให้เคยชินกับสภาพบรรยากาศปิดกั้นสิทธิเสรีภาพนี้เท่านั้นเอง ภายใต้ระบบกฎหมายของราชอาณาจักรไทยย่อมไม่สามารถเอาผิดอะไรพวกเขาได้ครับ แต่เมื่อใดที่ระบบกฎหมายภายใต้โครงสร้างอุดมการณ์นี้พังทลายลง การดำเนินคดีเอาผิดดังเช่นคดีที่ Gustav Radbruch ยกตัวอย่างนั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ใช่ในเร็ววันนี้

แต่ในแง่การถูกละเมิดสิทธิก็อาจเป็นเหตุให้ดำเนินคดีแพ่ง ฐานละเมิดได้ เพราะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนให้กลายเป็นวัตถุนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ และสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ผูกพันการใช้และการตีความกฎหมายทั้งปวงขององค์กรรัฐ ฉะนั้น การตีความมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า “สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด” นั้น ศาลยุติธรรมก็ต้องผูกพันตนตีความให้ครอบคลุมถึง สิทธิทางรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกัน แต่นั่นก็หมายถึงคุณกำลังถูกคุกคามด้วยภยันตรายที่รุนแรงกว่า และภยันตรายนั้นก็คือกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ด้วยมาตรา 112 นั่นเอง.

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์บางส่วนเผยแพร่ในมติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : สงกรานต์ และวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบ

$
0
0

 

พบกับรายการ ‘หมายเหตุประเพทไทย’ รายการใหม่ของประชาไท กับ 2 ผู้ดำเนินรายการ ‘คำ ผกา’ และ ‘อรรถ บุนนาค’ ที่จะมาสนทนาชวนวิเคราะห์ ขบคิด ตั้งคำถามกับเรื่องราวรอบตัวในประเด็นการเมือง วัฒนธรรมมวลชน และเพศวิถี

เทปนี้นำเสนอเป็นตอนที่ 2 คุยกันว่าด้วยเรื่องเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งคล้อยผ่านไป เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีร่วมของหลายชนชาติในแถบเอเชียอาคเนย์ที่นำเข้ามาจากภารตะประเทศตั้งแต่ครั้งอดีตกาล เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ในดินแดนแถบนี้ จนถึงยุคปัจจุบันวัฒนธรรมและประเพณีนำเข้าหลายอย่างในไทยถูกมาแปรรูปเป็นสินค้าการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ แต่ความรู้สึกแข่งขัน ความภาคภูมิใจในความเก่า ความเป็นต้นตำรับ และความรู้สึกผูกขาดความเป็นที่หนึ่งในประเพณี-วัฒนธรรมเหล่านั้นก็ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทย และเป็นแง่มุมที่น่าพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะความไม่สามารถยอมรับอย่างตรงไปตรงมาถึงการแปรรูปวัฒนธรรมประเพณีเป็นสินค้าเพื่อการขาย การเกิดคู่แข่งขันในการจัดเทศกาลสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่อย่างที่สิงคโปร์ได้ประกาศไว้เมื่อช่วงต้นเมษายน หรือกระทั่งการยอมรับว่าประเพณี-วัฒนธรรมที่นำเข้ามาตั้งแต่อดีตกาลก็ไม่ได้ดีงามอย่างที่เชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วินติน นักข่าว-นักโทษการเมืองผู้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่า เสียชีวิตเช้านี้

$
0
0

บรรณาธิการข่าวผู้เป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับเผด็จการทหารในพม่า และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD รวมถึงเป็นนักโทษการเมืองทีติดคุกยาวเกือบ 20 ปี เสียชีวิตเช้านี้

วิน ติน ขณะกล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่ทำการพรรคสันนิบาตแห่งชาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2554 (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

21 เม.ย. 2557 - วอล สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า วินติน เป็นนักโทษการเมืองที่ติดคุกยาวนานที่สุด เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการหายใจ และเสียชีวิตในช่วงเช้าของวันนี้ (จันทร์ที่ 21 เม.ย.)

วินติน เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ในปี 1988 (พ.ศ. 2531)  ซึ่งต่อมาปี 1989 (พ.ศ. 2532)  อองซานซูจี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนสำคัญก็ถูกกักขังไว้ในบ้าน ขณะที่เขาถูกจำคุกและได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี พ.ศ. 2551 รวมเวลาอยู่ในคุก 19 ปี

แม้จะอยู่ภายใต้การจองจำ แต่เขาก็ยังเขียนบทกวีบนกำแพงคุก โดยฝนผงจากก้อนอิฐผสมน้ำ หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาสวมเสื้อสีน้ำเงินตลอดเวลาเพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับระบอบทหาร

วินติน เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2473 ที่กโยปินเกาก์ เมืองธาราวดี ภาคพะโค โดยเขาเสียชีวิตในวัย 84 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุยิงระเบิดใส่บ้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขกลางดึก ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

$
0
0

เครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสาออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงดังกล่าว ในขณะที่เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจี้รัฐบาลยุบศอ.รศ. หากยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงต่อประชาชนได้ 

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน เวลาประมาณ 00.35 น. เกิดเหตุยิงระเบิดใส่บ้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในซอยแจ้งวัฒนะ 14 ที่เกิดเหตุบริเวณริมรั้วบ้าน พบสะเก็ดระเบิด สร้างความเสียหายให้กับตัวรั้วบ้านเล็กน้อย และยังมีรถยนต์ที่จอดอยู่ด้านในได้รับความเสียหายเล็กน้อย 1 คัน แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากขณะที่นายแพทย์ณรงค์ไปงานราชการ ไม่ได้อยู่ที่บ้าน
 
ร.ต.ท.ชนินวิทย์ แสงสุวรรณ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เปิดเผยว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ อีโอดี ระบุว่าเป็นลูกระเบิดขนาด 40 มิลลิเมตร ชนิดยิงเอ็ม 79 คาดยิงมาจากทางทิศเหนือ ห่างจากบ้านประมาณ 15 เมตร และต้องตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้าราชการระดับปลัดกระทรวงที่เปิดห้องประชุมต้อนรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. รวมทั้งรับมอบนกหวีดทองคำ ที่กระทรวงสาธารณสุข และเป็นปลัดที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับศอ.รส. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ด้านนพ.สวรรค์ กาญจนะ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา กล่าวประณามความรุนแรงดังกล่าว โดยระบุว่า เนื่องจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาคัดค้าน พรบ. นิรโทษกรรม ทำให้เกิดการคุกคามบุคลากรทางการแพทย์โดยการใช้อาวุธสงคราม 
 
“ทางเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสาขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับ ยับยั้ง คุ้มครอง ป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเครือข่ายแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขพร้อมที่จะยืนเคียงข้าง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อยู่ข้างความถูกต้อง และไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ชาวสาธารณสุขพร้อมที่จะดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่า เท่าเทียมกัน”
 
“การข่มขู่ คุกคาม บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งดูแลประชาชนทุกคน นอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งให้มีการแสดงออกแล้ว กลับทำให้มีการรวมตัวกันเข้มแข็งขึ้น ทุกคนมีความกลัว แต่ขอต่อสู้ยืนยันเจตนาไม่เอาความรุนแรง ไม่เอาทุกรัฐบาลที่โกงประชาชน” นพ. สวรรค์ระบุในแถลงการณ์ 
 
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ทางด้านเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ประกอบด้วย  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 8 สถาบัน คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ 6 สถาบัน คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ 13 สถาบัน คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ 4 สถาบัน นายกสภาวิชาชีพ 7 วิชาชีพข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุขและประชาคมสาธารณสุข ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้ยุบศอ.รศ. เนื่องจากมองว่าไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อประชาชนได้ และปล่อยให้ความรุนแรงระดับการใช้อาวุธสงครามเกิดขึ้นต่อประชาชน
 
"การที่รัฐบาลปล่อยให้มีการข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง โดยไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ ทำให้อันธพาลที่มีอาวุธสงครามอยู่ในมือเหล่านี้ ก่อเหตุรุนแรงได้อย่างต่อเนื่อง  บ่งบอกให้เห็นว่าสังคมไทยในขณะนี้ ไร้ความปลอดภัย สะท้อนให้เห็นความสามารถของรัฐบาลในการรักษาความสงบภายในประเทศ กระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิ เสรีภาพและการดำเนินชีวิตภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของประชาชน" แถลงการณ์เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ระบุ
 
"เป็นที่น่าสังเกตว่า การแสดงความคิดเห็นของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะที่ดูแลศอ.รส.จะสัมพันธ์กับการก่อความรุนแรงต่อบุคคลและหน่วยงานที่ถูกมองว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลประกอบกับการที่มีการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ศอ.รส.แล้ว แต่กลับไม่สามารถจัดการกับอาชญากรรมในลักษณะนี้ได้แม้แต่รายเดียว การคงอยู่ของศอ.รส.จึงไม่เป็นประโยชน์อันใดต่อการรักษาความสงบสุขในบ้านเมือง รัฐบาลควรพิจารณายุบศอ.รส.และให้ฝ่ายความมั่นคงและสามารถรักษากฎหมายได้ อย่าง กอ.รมน.ทำงานตามกลไกปกติจะเหมาะสมกว่า"
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานอินโดนีเซียเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 30% ภายในปี 2015

$
0
0
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2014 ที่ผ่านมา ANTARA Newsรายงานว่าสมาพันธ์แรงงานอินโดนีเซีย (KSPI) ออกมาเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอีก 30% ภายในปี 2015
 
ซาอิด อิกบัล ประธานของสมาพันธ์แรงงานอินโดนีเซียระบุว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นมากสำหรับอินโดนีเซีย เพราะอาเซียนกำลังจะก้าวสู่ระบบตลาดเดียวในปี 2015 แต่ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ผลผลิตจากฝีมือแรงงานของอินโดนีเซียก็มีคุณภาพเทียบเคียงได้กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นอกจากนี้อิกบัลระบุว่าสมาชิกรัฐสภาของอินโดนีเซียก็แทบที่จะไม่นำปัญหาเรื่องค่าแรงนี้ไปอภิปรายบ้างเลย
 
อนึ่งเมื่อต้นปีที่แล้ว (2013) เมืองหลวงอย่างจาการ์ต้าได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 44% อยู่ที่ 2.2 ล้านรูเปียะห์ (ประมาณ 228 ดอลลาร์สหรัฐ) เช่นเดียวกับหลายจังหวัดก็มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นกฎหมายแรงงานของอินโดนีเซียเปิดช่องให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถอนุมัติยกเว้นให้กับบางโรงงานได้ และมีโรงงานจำนวนหนึ่งที่เป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไนกี้ได้อนุมัติยกเว้นการเพิ่มค่าแรงด้วย
 
ประเด็นนี้ได้ทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกดดันโรงงานซัพพลายเออร์เหล่านี้ด้วยการเรียกร้องไปยังไนกี้ส่วนกลุ่มนายจ้างก็ออกมาขู่ว่าการขึ้นค่าแรงเช่นนี้จะทำให้โรงงานต่างชาติต้องย้ายฐานการผลิตออกจากอินโดนีเซีย โดยปล่อยตัวเลขข่มขู่มาว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะทำให้คนงานอินโดนีเซียตกงานถึง 900,000 คน
 
จากนั้นในเดือนตุลาคม 2013 กลุ่มสหภาพแรงงานนำโดยสมาพันธ์แรงงานอินโดนีเซียก็ได้ทำการผละงานประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกระลอกหนึ่ง โดยระบุว่าค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนงานจำนวนมากสู้ราคาค่าเช่าบ้านไม่ไหว จนต้องไปอาศัยอยู่ตามใต้สะพานและท่อระบายน้ำ พร้อมกับต้องอาศัยการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนข้าวในการประทังชีวิต ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้วเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันค่าครองชีพให้สูงขึ้นตาม 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นพดลปฏิเสธข่าวทักษิณพูดเรื่องรัฐประหารหากศาล รธน.มีคำพิพากษา

$
0
0

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายยืนยัน 'ทักษิณ ชินวัตร' พร้อมเสียสละให้คนตระกูลชินวัตรยุติบทบาทการเมือง โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่สันติ-ยุติธรรม แต่ไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะ 'บูรพาพยัคฆ์' จะทำรัฐประหารหลังศาล รธน.ตัดสินคดีนายกรัฐมนตรี

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

21 เม.ย. 2557 - นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าววันนี้ (21 เม.ย.) ปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่อ้างว่าอดีตนายกรัฐมนตรีได้ประเมินว่าจะเกิดการปฏิวัติโดยนายพลสายบูรพาพยัคฆ์ ภายหลังการตัดสินคดีนายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าอดีตนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือพูดคุยกับบุคคลใดในประเด็นนี้ เพราะส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าทหารจะยึดกติกาและประชาธิปไตย จึงไม่เชื่อว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทักษิณ ชินวัตร ตั้งใจจะเก็บตัวอยู่เงียบๆ ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนเป็นประเด็นการเมือง จนส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้จากรายงานของสำนักข่าวแห่งชาติ

นายนพดล ปัทมะ กล่าวยอมรับว่า อดีตนายกรัฐมนตรี มีความพร้อมที่จะเสียสละให้คนในตระกูลชินวัตรยุติบทบาททางการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องเสียสละและยึดมั่นในกติกาเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การตั้งเงื่อนไข และไม่จำเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องลงเลือกตั้งหรือไม่ แต่เห็นว่าปัญหาต่างๆ จะยุติลงได้ต้องเกิดจากความร่วมมือของสองฝ่าย อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกทางเดียวที่สันติและยุติธรรมที่สุด ซึ่งเห็นว่าปัญหาการเมืองต้องแก้ไขกันในสภา ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรอิสระ

อนึ่ง มีรายงานในสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก เช่น หนังสือพิมพ์ข่าวสดระบุว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย รัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี รวมทั้งคนใกล้ชิด เดินทางจากประเทศไทยไปพบและหารือสถานการณ์การเมือง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น และคิดว่ามีแนวโน้มเกิดความรุนแรง จึงส่งสัญญาณมายังคนเสื้อแดงให้หลีกเลี่ยงการปะทะ เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ให้แสดงพลังเต็มที่ เพราะเชื่อว่าสังคมเริ่มเห็นแล้วอะไรเป็นอะไร การตัดสินคดีความต่างๆ ขององค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญ หากตั้งธงเอาไว้จะเสื่อมไปเอง คนจะไม่ยอมรับ

ในรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า ทักษิณประเมินว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดการปฏิวัติภายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่จะไม่ได้ดำเนินการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แต่มีความพยายามจากอดีตนายพลผู้ทรงอิทธิพลจากบูรพาพยัคฆ์ และเครือข่ายกำลังหาคนมาปฏิวัติแทน อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความรู้สึกสงสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่โดนกดดันอย่างหนัก  นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังพูดกับคนใกล้ชิดที่ไปพบว่า ถ้าทุกฝ่ายคืนความยุติธรรมให้ประเทศ แล้วขอให้จบ ทำให้ประเทศสงบ ขอให้คนตระกูลชินวัตรเลิกเล่นการเมืองก็พร้อม

อย่างไรก็ตามนายนพดล ออกมาแถลงปฏิเสธข่าวเรื่องที่อดีตนายกรัฐมนตรีประเมินถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการรัฐประหารดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก. แนะชะลอร่างฯ จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในที่ทำงาน

$
0
0

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย-นักวิชาการ วอนชะลอร่างฯจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ชี้ช่องโหว่กม.ขาดอิสระ-การมีส่วนร่วม ไม่ตอบโจทย์แรงงาน

21 เม.ย. 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานจัดการประชุมหารือและติดตามความคืบหน้าร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... ณ ห้องประชุมชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการและแรงงานร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

นางสุนี ไชยรสรองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยในสมัชชาคนจน ที่ขอให้ระงับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของแรงงาน คปก.จึงมีความเป็นห่วงว่าหากออกร่างฯดังกล่าวมาอาจไม่เป็นผลดีนัก เนื่องจากเห็นชัดว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทุกฝ่ายนั้นเริ่มจากเจตนาที่ดี แต่หลายประเด็นในร่างฯยังมีปัญหาและมีความสลับซับซ้อน กระทรวงแรงงานจึงควรชะลอร่างฯ ดังกล่าวไว้เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง โดยคปก.พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ร่างฯ ดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
“ต้องทบทวนให้ดีทั้งในเรื่องความเป็นมาและสาระสำคัญ ไม่อยากให้จำนนกับกรอบของการเขียนกฎหมาย การมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามีเพื่ออะไร ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปเพื่อช่วยงานของกรมฯ เท่านั้น กระทรวงแรงงานควรจะนำเรื่องนี้ไปทบทวนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นางสุนี กล่าว 
  
นางจุฑาพนิต  บุญดีกุลผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างฯว่า  ได้รับการจัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2556  จึงได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน โดยที่ผ่านมาหลายๆเรื่องได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมหารือล่าสุดกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆไปให้ความเห็นอีกครั้งและขณะนี้กฤษฎีกาอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขร่างฯ  ในส่วนของภาคเอกชนเห็นด้วยกับการตั้งเป็นองค์การมหาชน ส่วนจะชะลอหรือทบทวนร่างฯนี้หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า เริ่มมีการพัฒนาด้วยกรอบและด้วยกติกา เราต้องหาวิธีการที่เห็นการพัฒนาไม่อยากให้เกิดการติดขัด
 
นางจุฑาพนิต  กล่าวด้วยว่า ไม่อยากมองว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง แม้กระทั่งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นไปตามตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน เราเน้นการทำงานเชิงรุกตามกรอบอำนาจหน้าที่ โดยผ่านช่องทางต่างๆที่คล่องตัว ภาครัฐจึงเห็นว่าสถาบันนี้จะทำให้ภาครัฐทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนการรับเรื่องราวร้องทุกข์อาจจะไม่สามารถระบุไว้ในร่างฯ แต่ได้จัดเตรียมแนวทางอื่นๆไว้แล้ว
 
นางสมบุญ ศรีคำดอกแคประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคราชการยังหวงอำนาจเอาไว้ สะท้อนจากตัวแทนแรงงานมีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งรู้สึกผิดหวังมากกับกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของภาคประชาชนอย่างแท้จริง จึงอยากขอกระทรวงแรงงานชะลอร่างฯนี้ออกไปก่อนโดยให้มีการรับฟังความและข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมให้รอบด้าน และเพื่อบรรจุเนื้อหาเป้าหมายหลักเข้าไปในสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ดังกล่าว
 
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ควรชะลอกฎหมายนี้ไว้ก่อนเพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ และรณรงค์ให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติอย่างน้อยให้เป็นกฎหมายที่ผ่านมาสภาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านความปลอดภัยของแรงงาน ส่วนตัวเห็นว่าหลักการทำงานอย่างเป็นอิสระของสถาบัน นั้นไม่สามารถบรรลุในความเป็นจริงได้เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณและความมั่นคงทางการเงิน สะท้อนจากงบประมาณของสถาบันที่มาจาก 3 แหล่งใหญ่ๆคือ เงินอุดหนุนจากรัฐ เงินในส่วนที่กองทุนความปลอดภัยฯจัดสรรให้ตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ และการขอเงินสนับสนุนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะต้องทำเป็นโครงการเสนอไปแต่ละปี ตนมีความเห็นว่า สถาบันจะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน การจัดสรรงบประมาณเป็นมิติสำคัญที่จะทำให้สถาบันทำงานได้อย่างอิสระ โดยตนเห็นว่า รัฐจะต้องจัดเงินสนับสนุนให้เป็นรายปี ประกอบกับกองทุนเงินทดแทนจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสถาบัน 15-20%ของดอกผลที่เกิดจากดอกเบี้ยฝาก เพราะการมีสถาบันที่ทำงานเชิงป้องกันจะช่วยลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและการจ่ายเงินทดแทน
 
นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ภาคราชการต้องการให้สถาบันนี้เป็นเพียงสถาบันส่งเสริมความรู้ และเป็นเรื่องของหน่วยราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างภาคราชการกับภาคแรงงาน และนอกจากจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดแล้วยังไม่นำไปสู่ความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่ากระทรวงแรงงานคงจะต่อสู้จนถึงที่สุด ภาคประชาสังคมเองก็คงต้องต่อสู้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดนี้เช่นกัน ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เห็นว่าจะมีข้อยุติได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
 
นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์นักวิชาการด้านแรงงานและกรรมการมูลนิธิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า มีข้อสังเกต 3 ประเด็นคือ 1.องค์กรที่จะจัดตั้งโดยใช้ชื่อว่าสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน นั้นเกิดข้อสงสัยว่า องค์กรดังกล่าวจะเป็นอิสระได้จริงหรือไม่ 2.ดูเหมือนเป็นความต้องการที่จะตอบสนองเรื่องกฎเกณฑ์มากกว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในเรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  3.หากพิจารณาในส่วนของโครงสร้างพบว่า หัวใจของความปลอดภัยอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแต่เหตุใดจึงมีภาคราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ฉะนั้นอยากให้ศึกษาอนุสัญญาต่างๆให้ถ้วนถี่ และที่สำคัญที่สุดคือ ควรเน้นในเรื่องการป้องกันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่น่าเศร้าคือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงการป้องกัน และไม่ได้ระบุถึงความร่วมมือระหว่างลูกจ้างและนายจ้างอีกทั้งไม่ได้เอาผู้มีส่วนได้เสียทั้งนายจ้างกับลูกจ้างเข้ามาจึงประสบความล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า  เห็นควรให้ยับยั้งร่างฯดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากยังมีปัญหาหลายเรื่อง อีกทั้งหากมีองค์กรดังกล่าวจริงจะต้องมีการทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่เหตุเกิดแล้วจึงเข้าไปตรวจสอบ ขณะเดียวกันจะต้องให้สัดส่วนคณะกรรมการฯที่มาจากตัวแทนของลูกจ้างเพิ่มขึ้นแต่กลับเพิ่มสัดส่วนกรรมการที่มาจากฝ่ายราชการ ตนจึงค่อนข้างเห็นขัดแย้งกับโครงสร้างที่ออกมาตามร่างฯนี้  ดังนั้นจึงอยากให้มีการระงับเอาไว้ก่อนและควรปรับปรุงโครงสร้างรวมถึงปรับปรุงบทบาทให้เป็นการทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มนักศึกษามช. ปิดปาก-ชูป้ายถามหา “บิลลี่” แกนนำกระเหรี่ยงผู้หายตัวลึกลับ

$
0
0
กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราว 10 คน ชูป้ายตั้งคำถามกรณีนาย พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงในอำเภอแก่งกระจาน หายตัวลึกลับ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาข้อเท็จจริง

 
21 เม.ย. 2557 เวลา 12.30 บริเวณโรงอาหาร อมช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมแสดงออกตั้งคำถามถึงกรณีการหายตัวของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำนักเคลื่อนไหวกะเหรี่ยงชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
 
นาย พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง และเป็นพยานในคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหาเผาบ้าน และยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดินทางจากหมู่บ้านลงมาที่ อ.แก่งกระจาน เพื่อพบกับญาติที่ได้นัดหมายกันไว้ โดยก่อนการหายตัวไปได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวเพื่อสอบสวน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้วด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวลึกลับ หวั่นป่าไม้อุ้ม แม่-เมีย ยื่นหนังสือร้องผู้ว่า ตำรวจ)
 
 
จากกรณีดังกล่าว กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราว 10 คน ในชุดปิดปากปิดหน้า ได้ร่วมกันเขียนป้ายที่มีข้อความตั้งคำถามถึงกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ มีใจความเช่น “บิลลี่หายไปไหน???” “บิลลี่หายไป ใครรับผิดชอบ” “ลูกเมียพี่บิลลี่จะอยู่ยังไง?” “กะเหรี่ยง = คน?” “หยุด! ละเมิดสิทธิมนุษยชน” “Please Return Billy Safety” 
 
กลุ่มนักศึกษาได้ถือป้ายออกมายืนอยู่โดยรอบโรงอาหารอมช.ราว 5 นาที ในช่วงที่มีนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยมารับประทานอาหารกลางวันค่อนข้างมาก ก่อนเดินวนโดยรอบ และหยุดยืนที่ด้านหน้าโรงอาหาร แล้วตะโกนขานรับพร้อมกันว่า “บิลลี่หายไปไหน” - “ไม่รู้” 3-4 ครั้ง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป 
 
 
กนกวรรณ มีพรหม นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่าในฐานะนักศึกษาที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน รู้สึกว่าการที่คนๆ หนึ่งหายไปโดยที่เขากำลังทำอะไรเพื่อสังคมอยู่ โดยเท่าที่ทราบมีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปกว่า 28 คนแล้ว ไม่ว่าจะถูกฆ่าหรือถูกอุ้มก็ตาม จึงไม่อยากให้กรณีบิลลี่เป็นคนที่ 29 และเห็นว่านักศึกษาน่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวบ้าง โดยในกรณีนี้สื่อกระแสหลักก็ค่อนข้างเงียบ เห็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก 
 
กนกวรรณกล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการปิดปากแสดงถึงว่าการหายตัวอย่างลึกลับ แล้วสังคมก็ต้องการคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่าพี่บิลลี่หายไปไหน และต้องการให้กระบวนการสืบสวน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยกันรีบค้นหาความจริงในกรณีนี้ และให้คำตอบต่อสังคม รวมไปถึงให้คำตอบต่อลูกและเมียของบิลลี่ ที่ควรจะได้รับความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เป็นข่าวขึ้นมา แล้วก็ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไป
 
ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเร่งหาตัวบิลลี่อย่างรอบด้านและรวดเร็วที่สุด 
 
“การสูญหายของบุคคล ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในหลายกรณีผู้เสียหายไม่เพียงถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหา หรือไม่ได้รับการไต่สวน และมักเสี่ยงที่จะถูกทรมานหรือถูกสังหารในระหว่างการควบคุมตัว” นางสาวปริญญา บุญฤทธ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว
 
"ทั้งนี้ การสูญหายของบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐไม่ควรยินยอมให้เกิดขึ้น และต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้การคุ้มครองอย่างเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย ผู้แจ้งความ พยาน และครอบครัวของพวกเขาในระหว่างที่มีการดำเนินคดีด้วย"
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50848 articles
Browse latest View live




Latest Images