Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ความอยุติธรรมคดีสมยศ

$
0
0

<--break->การตัดสินของศาลในคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมของศาลไทย

ทั้งนี้ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ นี้ ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาในคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ ในที่สุด ศาลพิพากษาให้สมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๑๐ ปี จากความผิด ๒ กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี ๒๕๕๒ คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๑๑ ปี

ในคำอธิบายของคำพิพากษาได้อ้างอิงถึงบทความ ๒ บทความในนิตยสารเสียงทักษิณฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ๒๕๕๓ ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘๖ ตุลาแห่งพ.ศ.๒๕๕๓’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’ว่า เป็นบทความที่ตีความได้ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่า ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ความผิดในกรณีมาตรา ๑๑๒ ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ศาลจึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้เขียนบทความก็ถูกลงโทษได้

หลังจากการอ่านคำพิพากษา องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มต่างประเทศหลายกลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินโดยระบุว่า คำตัดสินวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทยและจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต และตัวแทนสหภาพยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษครั้งนี้ โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง และกระทบต่อภาพลักษณ์สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพของประเทศไทย

คุณสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ และถูกขังคุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัว แม้ว่าต่อมา ทนายจะขอประกันตัวถึง ๑๐ ครั้ง แต่ศาลก็ไม่ยอมอนุมัติโดยอ้างเพียงแต่ว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง กลัวผู้ต้องหาหลบหนี การสืบพยานคดีของสมยศสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษามาจนถึงเดือนมกราคมนี้

เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม หลังจากการตัดสินคดี นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีที่แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ว่า การพิจารณาคดีของศาลอาญา มีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก คือพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ การละเมิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย การที่นายสมยศนำบทความดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้จะเป็นบทความของคนอื่นมาลง ก็เข้าข่ายเป็นความผิด เพราะบทความที่เผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่เป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้สถาบันได้รับความเสียหาย

ก่อนอื่นคงจะต้องขอเห็นแย้งกับคุณทวี ประจวบลาภ เพราะการตัดสินของศาลไทยกรณีของคุณสมยศครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแบบมาตรฐานสากล จะขอเริ่มอธิบายตั้งแต่การตัดสินเรื่องคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง ก็ไม่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.สพรั่งขณะนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนายทหารที่ร่วมก่อการรัฐประหาร และยังมีบทบาทเป็นผู้นำระดับสูงในกองทัพ การวิจารณ์บทบาทในทางสาธารณะย่อมเป็นสิ่งทำได้ การตัดสินลงโทษถึงขั้นติดคุกในคดีหมิ่นประมาทลักษณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว

ต่อมา การตัดสินให้คนติดคุกถึง ๑๐ ปี โดยบทความที่เขาไม่ได้เขียน จะอธิบายด้วยมาตรฐานอะไร ในต่างประเทศ การเขียนบทความใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเขาก็เขียนบทความมาตอบโต้ ให้ประชาชนพิจารณา ไม่มีใครเขาเอาคนเขียนบทความที่ตนไม่เห็นด้วยไปติดคุกเช่นในประเทศไทย แต่ปัญหาที่ยิ่งกว่านั้นคือ คนติดคุกไม่ได้เขียน และตามกฎหมายการพิมพ์ บรรณาธิการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ การที่ศาลอธิบายว่า แม้จะไม่ผิดกฎหมายการพิมพ์แต่ยังผิดตามาตรา ๑๑๒ นั้น ศาลได้ทำการเขียนกฎหมายขึ้นเอง เพราะถ้าหากกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เป็นข้อยกเว้น ตามหลักการทางด้านนิติศาสตร์ เขาต้องระบุข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายการพิมพ์ด้วย เมื่อไม่มีระบุข้อยกเว้นเช่นนี้ โดยทั่วไปต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ บทความที่ศาลอ้างทั้ง  ๒ บท ไม่ได้เข้าข่ายการหมิ่นตามมาตรา ๑๑๒ เพราะตามกฎหมายมาตรานี้ ได้ระบุการคุ้มครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แต่บทความทั้งสองที่อ้าง ล้วนเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ และไม่มีข้อความหมิ่นบุคคลคนใดตามมาตรา ๑๑๒ เลย ไม่ได้เอ่ยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเลยเสียด้วยซ้ำ เช่น ในส่วนที่ศาลตัดสินจากข้อความจากบทความที่อ้างถึง”โคตรตระกูล”ว่า “พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ” อธิบายไม่ได้เลยว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะอ้างตามนัยคำตัดสินของศาล คือ ตีความว่า เป็นเรื่องสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กรณีนี้ก็มีปัญหาในการตีความ เพราะจิตร พลจันทร์ อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”ตั้งสองร้อยกว่าปีมาแล้ว” บทความนี้ เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ สองร้อยปี คือ ปี พ.ศ.๒๓๕๓ ล่วงพ้นจากสมัยรัชกาลที่ ๑ มาแล้วเป็นต้นรัชกาลที่ ๒ จึงอาจจะตีความได้ด้วยซ้ำว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ยิ่งกว่านั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ ผู้ที่ถูก”จับลงถุงแดง”จึงไม่น่าจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กระนั้น สมมตว่า เรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง มาตรา ๑๑๒ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแต่อย่างใด การอ้างเอาความผิดแก่คุณสมยศจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

กรณีต่อมา การกล่าวถึงหลวงนฤบาลแห่งโรงแรมผี ที่ออกกฎหมายตั้งทรัพย์สินส่วนตัว พ.ศ.๒๔๙๑ หนุนอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นรัฐบาลถนอม-ประภาส และอยู่เบื้องหลังการสังหารฝ่ายซ้าย การมีส่วนในการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นต้น ก็ไม่สามารถตีความตามที่คำพิพากษาของศาลได้เลยว่า หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างน้อยที่สุด การเอ่ยถึงการออกกฎหมาย พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น เรื่องหลวงนฤบาลจึงเป็นการตีความโดยความไม่รู้ข้อมูลประวัติศาสตร์ของศาลเอง อาจจะพิจารณาได้ด้วยซ้ำว่า คำพิพากษาของศาลที่ตีความเช่นนี้ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กรณีจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการมุ่งตีความเพื่อหาเรื่องเอาผิดแก่คุณสมยศให้จงได้

สรุปแล้ว การดำเนินการของศาล เช่น การห้ามประกันตัว และการตัดสินคดีในลักษณะตีความเอาเองเช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสื่อมเสียในเชิงภาพลักษณ์ของศาลเอง และยังเป็นการชี้ให้เห็นด้วยว่า กฎหมายมาตรา ๑๑๒ นั้น ขัดกับหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม ทั้งยังเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเสรีภาพในด้านความคิด ที่มุ่งจะบังคับให้คนคิดและเชื่อในแบบเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๓๙๗  วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟุตบอลประเพณีกับบทเพลงของผู้ทุกข์ทน

$
0
0

"the highest form of ignorance is you reject something you don't know anything about"

Wayne Dyer

 

วลีนี้อาจเป็นข้อสรุปของปฏิกิริยาคนส่วนหนึ่งที่เห็นสิ่งที่เราทำนอกเหนือจากคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ทราบจริงๆ

วันนี้มีอะไรมากมายเกิดขึ้นกับผมและทุกคนที่มีส่วนทำกิจกรรมนี้จนจบลง เป็นวันหนึ่งที่จะจดจำกับใครหลายคนแม้มีหลายคนพยายามลบจากใจพวกเรา รวมถึงลบการมีอยู่ของพวกเราที่ได้สิ่งนี้ในวันนี้ หากเราจำกันได้ หลังจากคำพิพากษาของชายผู้หนึ่งคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ต้องโทษถึง 11 ปีจากสิ่งที่เขาไม่ได้ทำเลยนั้น กลายเป็นความเงียบงันในหมู่คนส่วนใหญ่จากนั้นไม่นาน แต่มีคนทำให้ความเงียบงันมีเสียงออกมา นิติม่อนได้ทำสำเร็จอย่างงดงามที่เชียงใหม่ ถึงคราวของเราแล้วที่จะพยายามส่งเสียงไปถึงคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ๆเรื่องที่เราพยายามส่งเสียง ถูกกีดกัน ถูกบิดเบือน ถูกใส่ร้ายโดยไม่มีโอกาสให้คำพูดเรายืนอยู่ได้ แม้ต้องเกิดขึ้น เราจะทำและไม่มีอะไรต้องกลัวอีก

ผมลืมตาตื่นเช้ามา รีบพุ่งเปิดคอมพ์แล้วอาบน้ำระหว่างรอคอมพ์บู๊ตจนเสร็จ หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ผมรีบเสิร์จหาเพลงที่จะใช้กิจกรรมคือ one day more และ Do you hear the people sing?แต่เพลงที่สองมันโดนใจผมจนเรียนรู้เพลงนี้อย่างรวดเร็ว จนจำทำนอง การเปล่งคำในแต่ละท่วงทำนองได้ และทำการเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนในเพลงให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะทำอีกด้วย

ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องความเป็นธรรมของคุณสมยศ ในหัวข้อ "เสียดายที่คุณสมยศไม่ได้ไปงานบอลฯ" หลังจากเสร็จธุระ โดยสารเข้าเมือง ระหว่างทางก็เปิดเพลงฝึกจับจังหวะทำนองไปด้วย ผมยังเอาขนมที่เป็นธุรกิจครอบครัวไปสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเฉพาะกิจนี้ด้วย ซึ่งเกือบทุกคนผมรู้จักมาก่อน พวกเราคือผลิตผลด้านกลับจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตที่ไม่ยอมทนกับการเข่นฆ่าเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคีได้อีก จนผมมาถึงจุฬาฯตอนแปดโมงครึ่ง

มีบางส่วนที่มาถึงก่อนผมแล้ว หนึ่งในนั้นคือน้องไท ลูกชายของลุงสมยศและรุ่นน้องโรงเรียนมัธยมที่เดียวกับผม หลายคนทึ่งกับเพลงที่จะใช้ร้องระหว่างเดินรณรงค์ เราหวังอย่างดีว่า จะได้ร้องระหว่างเดินไม่ให้ดูเงียบเกินไป เวลาผ่านไป เพื่อนร่วมงานทยอยมาจนเกือบครบทีม เป็นทีมเสี่ยงตายเลยก็ว่าได้ เพราะเราเลือกเดินรณรงค์กับกิจกรรมที่ได้กลายเป็นอำนาจประเพณีสถาปนาที่มองว่ายิ่งใหญ่ แต่หลังๆผมและน้องๆหัวก้าวหน้าหลายคนมองมันราวกับเป็นของที่ค่อยๆหมดราคาลงเรื่อยๆ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 69 และเราอยู่ในดงฝ่ายขวาจัดรุ่นใหม่ที่เป็นผลิตผลของระบบการศึกษาแบบจารีตนิยม ถึงอย่างนั้นก็เถอะในท่ามกลางขวาจัดที่เป็นส่วนใหญ่ ยังมีหัวก้าวหน้าอย่างเพื่อนๆจุฬาฯของเรา กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน ร่วมงานในฐานะกลุ่มพันธมิตรเฉพาะกิจกับเรากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมาร่วมงานกันครั้งนี้ด้วย แม้รู้ว่าจะต้องเจออะไร แต่เรายังหัวเราะได้ ถกเถียง เสียดสีเรื่องการเมืองในประเด็นที่คนส่วนใหญ่ไม่พูดกันอย่างไม่กลัวอะไร จนเวลาใกล้เข้ามา

ตามแผนของเรา กิจกรรมรอบเช้าคือร่วมเดินไปกับขบวนพาเหรดทางจุฬาฯ และเรายืนอยู่หน้าตึกคณะสถาปัตย์ฯ เรามองพวกเขาที่กำลังเดิน ขณะที่พวกเขาฟังคำพูดของน้องดิน ที่กำลังแผดเสียงบอกสิ่งที่เราทำในวันนี้ และมองที่พวกเรา มองป้ายที่เราเขียน ที่เต็มไปด้วยคำถาม คำเสียดสีต่อประเด็นกฎหมายมาตรา 112 นักโทษการเมือง คดีลุงสมยศ จากนั้นเราเดิน รวมความกล้าความใจเด็ด เดินร่วมกับขบวนพาเหรดจุฬาฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น บอกได้ว่าเหนือกว่าที่เราประเมินไว้ คือเราประเมินแล้วว่าต้องเกิด แต่มากกว่าที่เราวัดไว้ กลุ่มสต๊าฟคุมพาเหรดที่ขึงเชือกฟางล้อมขบวนพาเหรด ตลกนะ เดินพาเหรดที่ไหนเอาเชือกฟางมาล้อมด้วย ประสาท! แต่เราก็เดินแทรกเข้าไปในกลุ่ม แต่ก็ถูกกลุ่มสต๊าฟกันเราออกจากพาเหรด แต่เราไม่แคร์ เราไม่ได้หมายก่อกวน แต่เราต้องการส่งเสียงบอกถึงสิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้ หรือรู้แบบผิดๆนั้นได้รู้จากเรา ที่หลายคนเป็นสักขีพยานในห้องพิจารณาคดีวันนั้น และผมก็อยู่ที่นั้นด้วย

เราดันกับสต๊าฟ แม้เราไม่สามารถเดินร่วมกับขบวนพาเหรดได้ เราก็เดินบนฟุตบาทขนาบข้างไปกับพวกเขา ปฏิกิริยาของพวกเขาที่ผมเห็น มีทั้งงุนงง สงสัย รวมถึงแอบไม่พอใจลึกๆ หรือไม่พอใจ จะอ้างว่าไม่ได้ไม่พอใจก็ไม่อาจพูดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น จะกีดกันพวกเราตั้งแต่ประตูหลักจุฬาฯจนถึงหน้าทางเข้าสนามกีฬาฯทำไมล่ะ? แต่ในกลุ่มขบวนพาเหรดที่เดิน เราก็ทราบความคิดของบางคนในนั้น ต้องขอบคุณฝ้ายที่ช่วยทำให้เราได้ยินความคิดของพวกเขา มีบางคนทราบเรื่องลุงสมยศ แต่ไม่ทราบรายละเอียดอะไร ฝ้ายนอกจากทำข่าวพวกเราแล้วยังได้รวมความคิดของคนในขบวนพาเหรด สำหรับกลุ่มสต๊าฟคุมพาเหรด แม้มีหลายคนพยายามกีดกันเรา แต่ในหมู่พวกเขา มีบางคนกลับช่วยเราเวลาเราต้องไปงัดข้อกับ รปภ.และตำรวจ ผมบอกได้ว่า เราไม่อาจรู้อย่างลึกซึ้งจากสิ่งที่ได้ยินหรือได้เห็นไกลๆเท่ากับการเห็น ได้ยินและทำอย่างใกล้ชิดจนได้รับผลของมันเอง ในภาวะกดดัน ดินและไท เป็นสองคนที่ออกแรงมากที่สุด ผมสารภาพว่า แม้อายุมากกว่าพวกเขา แต่ใจไม่อาจสู้เท่าสองคนนั้นได้เลย เรียกว่าใจเด็ดกว่าผมอีก น่าอิจฉาจริงๆ

จนมาถึงหน้าประตูสนามกีฬาฯด้านหลัง เราส่งเสียงบอกผู้คน แต่มีเสียงของกองเชียร์เดวิลจุฬาฯส่งเสียงแทรกกลบเสียงพวกเรา หนำซ้ำยังร้องเพลงทำนองจิกกัดพวกเราว่าเกรงใจกันหน่อย ให้ตาย ถ้าพวกเขารับรู้เรื่องราวเท่าพวกเรา พวกเขาก็คงไม่ทำแบบนั้นหรอก

จากนั้นพวกเราหลบจนขบวนเข้าเขตสนามกีฬาฯไปหมดแล้ว ถือว่าผ่านไปด้วยดีโดยไม่มีการกระทบกระทั่งถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่สงครามจิตวิทยาระหว่างเรากับเขา ดุเดือดตลอดเส้นทาง

พวกเราสรุปงานกันที่มาบุญครอง ซึ่งเป็นไปตามที่ผมเขียน เราดีใจและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ระหว่างนั้นผมขอแยกตัวจากน้องๆไปทำธุระที่พญาไทก่อนที่จะกลับมาที่สยามอีกครั้ง และไปพบกับพวกเขาตอนบ่าย มีอะไรหลากอารมณ์เยอะ

ผมตัดมาช่วงบ่ายที่สนามศุภชลาศัยเลยดีกว่า พวกเราแบ่งออกเป็นสองทีม ผมกับน้องส่วนหนึ่งจัดการผ้าใบสีดำขนาดใหญ่ ต้องขอบคุณพี่ๆ จาก Try arm สำหรับผ้าใบและกลุ่ม 24 มิถุนาฯสำหรับเสื้อกิจกรรมที่เราใส่ อีกกลุ่มหนึ่ง เดินถือป้ายรณรงค์รอบภายนอกสนามกีฬาฯ จนใกล้ช่วงพาเหรดเข้าสนาม เราทุกคนมาประจำที่สแตนด์บริเวณตรงกลางที่อัฒจันทร์ในร่มเห็น แต่ติดที่กองสันฯมธ.มาทับซ้อนพื้นที่กิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกไม่ได้อยู่แล้ว เราจะใช้คนที่นั่งอัฒจันทร์ช่วยถือผ้าใบให้สั้นๆ จนผ่านขบวนการล้อการเมืองมธ.สุดแสนเบาบาง จนไม่น่าเรียกว่าล้อการเมืองเลย จนได้เวลา ไทและกั๊กร้องขอกับกองสันฯประกาศสิ่งที่จะทำคือการคลี่ผ้าใบ อย่างที่เห็นในภาพข่าวไปแล้วน่ะครับ เราคลี่ผ้าใบเป็นเวลา 1 นาที มันยาวนานสำหรับผมมาก


เรากางจนกระทั่งมีชายสูงวัยท่านหนึ่งรี่เดินเข้ามา พร้อมกับดึงผ้าเพื่อปลดจากมือน้องในมุมผ้าอีกด้าน น้องที่ช่วยผมถือพูดถึงขนาดว่า นี่แหละที่ผมกลัวพี่ ความคลั่งที่ทำโดยปราศจากการคุยด้วยเหตุผล แบบนี้อยู่กันยากเกินกว่าจะเป็นไปได้แล้ว เมื่อเห็นว่ามีคนพยายามขัดขวางและเสียงที่ไม่สนใจใยดีจากผู้ประกาศฝั่งอัฒจันทร์ในร่ม พวกเรารีบเก็บ ขอบคุณและขอโทษทั้งกองสันฯและผู้ชมในสแตนด์ด้านที่เรายืน กิจกรรมภาคบ่ายผ่านไปได้ และภาพข่าววันนี้กลายเป็นแรงสะเทือนที่จะเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ฟุตบอลประเพณี แน่นอนว่าคงมีหลายคนจะไม่พูดถึง ผมบอกได้เลยว่า ไม่มีทางหรอก!! เราสรุปงานและดูผลตอบรับจากภาพข่าวนี้ด้วย มีทั้งบวกและทั้งลบ และด่าสาปแช่ง ด้วยประโยคสุดล้าหลังที่ไม่คิดสรรหาคำที่ก้าวหน้ากว่านี้พูดบ้างเลยเหรอไง

เป็นกิจกรรมที่เราทำได้ และเราต้องทำให้ได้ดีมากยิ่งขึ้น มันเพิ่งเริ่มต้น สังคมไทยอันคับแคบเอย เราเห็นความพยายามของคนที่ไม่ต้องการให้ใครเห็น คนที่ไม่รู้แล้วได้เห็น คนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นยังไง พวกเราทำเพราะเรามีเจตจำนงร่วมกันไงล่ะ ขอบคุณตัวเอง และน้องๆผองเพื่อนกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชมและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยที่ตัดสินใจอย่างหาญกล้าฝ่าฟันจนผ่านวันนี้ไปได้

ร่วมกันสู่ชัยชนะ!!

 



 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: นักกิจกรรมจุฬา-ธรรมศาสตร์ สวมหน้ากาก “สมยศ” โผล่พาเหรดร่วมงานบอลประเพณี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

$
0
0

"ฝ่ายปฏิวัติที่เข้มขรึมจนไม่รู้จักอารมณ์ขัน มักพ่ายแพ้ ฝ่ายปฏิวัติที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ก็ไม่แน่ว่าจะชนะ ความขันไม่มีฝักฝ่าย"

3 ก.พ.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก

นิรโทษกรรม

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: เมื่อฝรั่งเศสจะลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญ

$
0
0

 

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ฟรองซัวส์ ออลลองด์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสได้หาเสียงไว้ว่า “มันไม่มีพื้นที่ในประเทศฝรั่งเศสให้กับคำว่าเชื้อชาติ (race)และนี้เป็นสาเหตุที่เมื่อผมได้เป็นประธานาธิบดีแล้วผมจะเรียกร้องต่อรัฐสภาให้ลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญ”[1]ซึ่งสถานการณ์การเหยียดผิวและเชื้อชาติในฝรั่งเศสเป็นภัยเงียบในปัจจุบันที่เริ่มขยายวงกว้าง ถึงแม้ฝรั่งเศสจะมีคติประจำชาติ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาคก็ตาม ในสังคมก็สามารถพบเห็นความไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องจากความแตกต่างของเชื้อชาติได้เป็นปกติ การเหยียดผิวแสดงออกมาทั้งอย่างโจ่งแจ้งและแอบซ่อน

และดังที่ทราบ ออลลองด์ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี โชคดีที่ประเทศฝรั่งเศสนักการเมืองเมื่อได้ตำแหน่งแล้วยังจำคำพูดตนเองสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้บ้างและเคารพทุกคะแนนเสียงที่ช่วยให้เขามีโอกาสได้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุด เมื่อวันพฤหัสที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศสได้ประกาศว่าก่อนหน้าร้อนปีนี้เขาจะผลักดันให้สภาผ่านการแก้รัฐธรรมนูญโดยจะลบคำว่าเชื้อชาติ (race) ออกจากรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส[2]ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ประเทศฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐอันแบ่งแยกไม่ได้ เป็นรัฐฆราวาส ประชาธิปไตยและสังคมนิยม ประเทศฝรั่งเศสรับประกันความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติด้านต้นกำเนิด เชื้อชาติ หรือ ศาสนา ประเทศฝรั่งเศสเคารพในความเชื่อของทุกคน”

อย่างไรก็ตามความคิดเรื่องการลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญนั้น ออลลองด์มิได้เป็นผู้ริเริ่มคิดคนแรก จุดเริ่มต้นเกิดมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปี 1992ได้มีการจัดสัมมนา ณ Palais du Luxembourg และ Sorbonne โดยมหาวิทยาลัยปารีส 12 ภายใต้หัวข้อว่า “คำว่าเชื้อชาติมันมากเกินไปหรือเปล่าในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส”[3]ในการสัมมนาได้มีการผลิตบทความและการโต้วาทีตามมา ซึ่งบทความของ ศาสตราจารย์ Simone Bonnafous ชื่อ “การพูดคำว่าเชื้อชาติโดยสันนิษฐานว่ามันมีจริงๆใช่ไหม” (Est-ce que dire la race en présuppose l’existance)[4]มีผลกระทบต่อความคิดมาก เนื้อหาสำคัญของบทความคือ ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสคณะปฏิวัติได้อนุญาตให้ระบบกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคือเกิดการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งรวมถึงการต่อสู้ทางด้านภาษาด้วย ได้มีการต่อสู้เพื่อลบภาษาที่เป็นมรดกของระบอบเก่า เช่น คำว่า เจ้าชาย ระบอบสมบูรณาญา แล้วแทนด้วยคำใหม่ เช่น ประชาชน พลเมือง สินค้าสาธารณะ การเมืองเรื่องภาษาจึงเริ่มเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง อย่างไรก็ตามคำว่าเชื้อชาติกับการกดขี่เรื่องเชื้อชาติก็ไม่เป็นประเด็นจวบจน หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และมีการยกย่องชาติอารยันเพื่อกดขี่ชาติพันธุ์อื่นๆ ประเด็นเชื้อชาติและการกดขี่จึงเป็นปัญหาสำคัญ และคำว่าเชื้อชาติ(race)เริ่มมีประเด็นเชิงลบ สหประชาชาติและสมาชิกเริ่มมีการประกาศห้ามการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และพัฒนาเป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็มีประเด็นการเมืองทางภาษามาพิจารณา ซึ่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสบัญญัติว่า ปราศจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (sans discrimination de race ; without discrimination of race) โดยการบัญญัติแบบนี้แสดงว่า เรายอมรับว่ามีเชื้อชาติอยู่จริง (race) และมีการห้ามการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ ปัญหาที่ตามมาคือถ้าเรายอมรับว่ามีคำว่า เชื้อชาติ (race) อยู่ในโลกนี้แล้ว คำว่าrace มีความหมายกำกวมและขัดแย้งกันเองในพจนานุกรม race มีความหมายทั้งในเชิงชีววิทยา หมายถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติและควรรักษาไว้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และ ในเชิงสังคมวิทยาที่เป็นเชิงลบเช่นอาจหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันและการเหยียดผิว แต่เมื่อตรากฎหมายไปแล้วเราไม่สามารถบังคับให้ผู้รับสารเลือกที่จะใช้ความหมายทางใดทางหนึ่งตามที่เราต้องการ ผู้รับสารอาจพิจารณาเลือกความหมายคำว่าเชื้อชาติในความหมายเชิงสังคมที่เป็นเชิงลบก็ได้ จากประโยคที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมีการใช้คำปฏิเสธซ้อนปฏิเสธคือ without และ discrimination ซึ่งส่งผลต่อการตีความทางกฎหมายว่า ประโยค sans discrimination de race ต้องตีความทางกฎหมายได้อย่างเดียวว่า มีเชื้อชาติดำรงอยู่จริงๆ อยู่ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญใส่คำว่า ปราศจากการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ ศาสนา และต้นกำเนิด (sans discrimination de race, origine et religion) ร่วมไปด้วยซึ่งทำให้การตีความรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเองสูง คำว่า ต้นกำเนิด (origine) กับ ศาสนา (Religion) มีความหมายไม่กำกวมต่อการตีความทางกฎหมายหรือความหมายเชิงลบ เช่น origine อาจแบ่งตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมันมีอยู่จริงและมีเขตแดน ประเทศ เป็นต้น และไม่ได้มีความหมายลบจนเอ่ยไม่ได้ ผิดกับคำว่า Race ซึ่งมีความหมายเชิงลบจนอยากจะลบออกในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ Race กินความรวมถึง Origine และ Religion ด้วย เมื่อเขียนสามคำนี้รวมกันแล้วก็เป็นการซ้ำความหมายโดยไม่จำเป็น และ สามารถตัดคำว่า Race ออกจากประโยคข้างต้นในรัฐธรรมนูฐได้ กล่าวโดยสรุปในมุมมองของนักภาษาศาสตร์แล้ว การปรากฏคำว่า เชื้อชาติในรัฐธรรมนูญเป็นการยอมรับว่ามีเชื้อชาติอยู่ในสังคมซึ่งเป็นความหมายเชิงลบและฟุ่มเฟือยและควรตัดออกไปได้

อย่างไรก็ตามความพยายามของออลลองด์ครั้งนี้ก็มิได้มีผู้เห็นพ้องด้วยทุกคน หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาเช่น Figaro ได้ให้ความเห็นว่า การลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญก็ไม่ช่วยให้ปฏิเสธได้ว่ามีเชื้อชาติอยู่จริงทางด้านมนุษยวิทยา ไม่ได้ช่วยให้เกิดการลดพวกเหยียดเชื้อชาติไปได้[5] Patrick Lozès ผู้ก่อตั้งสมาคมตัวแทนให้คำปรึกษาคนผิวดำกลับเห็นว่าการปรากฏคำว่าเชื้อชาติในรัฐธรรมนูญไม่มีความกำกวมใดๆ[6]นอกจากนี้ความเห็นอื่นๆทางกฎหมายเห็นว่าการตัดคำว่าเชื้อชาติออกจะส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปที่สมาชิกอื่นๆต่างมีคำว่าชาติพันธุ์อยู่ในรัฐธรรมนูญ และมีการเคลื่อนย้ายเสรีของประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในสหภาพยุโรป[7]




[1] http://www.lemonde.fr/election-presidentielle-2012/article/2012/03/11/hollande-propose-de-supprimer-le-mot-race-dans-la-constitution_1656110_1471069.html

[2] http://www.lexpress.fr/actualite/politique/le-mot-race-supprime-de-la-constitution-avant-l-ete_1215398.html

[3] http://www.ciepfc.fr/spip.php?article279

[4] http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/mots_0243-6450_1992_num_33_1_1734

[5] http://blog.lefigaro.fr/rioufol/2012/03/francois-hollande-a-trouve-la.html

[6] http://www.agoravox.fr/actualites/politique/article/polemique-sur-la-suppression-du-113368

[7] http://www.ciepfc.fr/spip.php?article279

 

เหตุแบนภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม' ในรัฐทมิฬ กับความขัดแย้งเรื่องเสรีภาพในวงการบันเทิงอินเดีย

$
0
0

ผู้กำกับโอดครวญเมื่อภาพยนตร์เรื่อง 'วิศวรูปภัม' ถูกสั่งห้ามฉายในรัฐทมิฬหลังมีองค์กรมุสลิมประท้วงเพราะในเนื้อหามีตัวละครผู้ก่อการร้ายอัลเคด้า ขณะที่นักวิจารณ์ทั้งหลายมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนเรื่องของพรรคการเมืองกลัวคะแนนเสียงตกต่ำ ทำให้ข้ออ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของศาสนา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เว็บไซต์อัลจาซีร่าได้นำเสนอกรณีภาพยนตร์เรื่อง "วิศวรูปภัม" (Vishwaroopam) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอกชั่น-ทริลเลอร์ ของทมิฬ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประท้วงและถูกสั่งห้ามฉายในรัฐตนเองด้วยเหตุผลเรื่องเนื้อหา จนทำให้ผู้กำกับเรียกร้องให้ยกเลิกแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

วิศวรูปภัม เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย กามาล ฮาซัน กล่าวถึงแผนการของกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้าจากอัฟกานิสถานพยายามวางแผนก่อการร้ายในนิวยอร์ก ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พระเอกนางเอกของเรื่องต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เงินทุนสร้างพันล้านรูปีอินเดีย (ราวห้าร้อยล้านบาท) และเดิมทีมีแผนออกฉายทั่วประเทศอินเดียในภาษาทมิฬ, ภาษาเตลูกู และภาษาฮินดี ในวันที่ 25 ม.ค.

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกองค์กรมุสลิมออกมาประท้วงทำให้รัฐบาลของรัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายโดยอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "ทำร้ายจิตใจ" ชาวมุสลิมและมี "ผู้ก่อการร้าย" ในเรื่องเป็นชาวมุสลิม เอ็ม.เอช. จาวาฮิรูลาห์ จากองค์กรมุสลิมและผู้ดำรงตำแหน่งสนช.ในรัฐทมิฬกล่าวว่า "การฉายภาพยนตร์เรื่องนี้จะกระทบต่อความสงบสุขในสังคม"

 

กามาล ฮาซัน

กามาล ฮาซัน ผู้กำกับและนักแสดงนำของเรื่องโอดครวญว่าความทะเยอทะยานทางศิลปะของเขาถูกกีดกันและถูกทำลายไปแล้ว ตัวเขาร้องอุทธรณ์ต่อศาลขอให้ยกเลิกการแบน และหวังว่าผลการตัดสินของศาลในวันที่ 6 ก.พ. จะออกมาตรงตามที่เขาคาด

เจ. ชยาลาฤทธา มุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู ให้เหตุผลกรณีที่รัฐสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้กำลังตำรวจของรัฐออกไปวางกำลังตามโรงภาพยนตร์ 500 แห่งเพื่อคุ้มกันขณะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยอ้างว่าความรับผิดชอบเรื่องกฏระเบียบต้องมาก่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายกล่าววิจารณ์ว่า หน้าที่การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและกฏระเบียบเป็นของรัฐบาล แต่การสั่งห้ามฉายภาพยนตร์โดยสิ้นเชิงไม่ใช่คำตอบ

มุขมนตรีแห่งทมิฬนาฑูกล่าวอีกว่าเธอไม่ได้มีความแค้นเคืองใดๆ ต่อผู้กำกับกามาล ฮาซัน และอยากให้เขาจัดการปัญหากับกลุ่มมุสลิมที่รู้สึกแย่กับภาพยนตร์ของเขาด้วยตนเอง


เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าศาสนา?

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเรื่องการแบนภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องศาสนา

ซามานธ์ สุบรามาเนียน นักเขียนและนักวิจารณ์กล่าวว่า "ตัวร้ายหลักๆ ในเรื่องนี้คือรัฐ ซึ่งเอนเอียงถอยหลังลงคลองตามกลุ่มที่รู้สึกขุ่นเคือง และสั่งห้ามตามที่กลุ่มนั้นต้องการด้วยเหตุผลเพราะต้องการปกป้องฐานคะแนนเสียงของตัวเอง"

ทางด้าน คณะกรรมการกลางตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดีย ซึ่งเป็นหน่วยงานท้ายสุดที่คอยกรองภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนปล่อยออกสู่โรงภาพยนตร์เปิดเผยว่าเรื่อง "วิศวรูปภัม" เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมทุกคน

ลีลา แซมซัน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่าการที่รัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเป็นการขับไล่ศิลปินผู้เป็นตัวแทนที่มีชื่อเสียงของทมิฬนาฑู

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ฉบับภาษาฮินดีในชื่อ "วิศวรูป" ก็ได้ออกฉายในอินเดียเหนือ แต่ก็มีชาวมุสลิมบางคนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการหยามน้ำใจชาวมุสลิม นักวิชาการมุสลิมหลายคนเช่น เมาลานา คาลิด ราชีด มาเฮลี จากรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดียก็เรียกร้องให้มีการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

ราฮูล โบส นักแสดงผู้รับบทเป็นโอมาร์ "ผู้ก่อการร้าย" ในภาพยนตร์กล่าวต่อผู้ชมทางโทรทัศน์ว่าตัวละครที่เขาแสดงไม่ได้มีส่วนคล้ายคลึงกับ มูลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลีบานในอัฟกานิสถาน

นักวิจารณ์หลายคนมองว่าการสั่งห้ามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสอันไม่น่าพึงประสงค์ในเรื่องการกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และกล่าวหาพรรคการเมืองพยายามประจบสอพลอกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ


ชีวิตของกามาล ฮาซัน ผู้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยมีศาสนาเป็นข้ออ้าง

กามาล ฮาซัน ปัจจุบันอายุ 58 ปี เป็นนักแสดงที่ได้รับรางวัลมากมาย เขาเคยได้รับรางวัลระดับชาติของอินเดียด้านการแสดงและการสร้างภาพยนตร์มาแล้วมากกว่า 4 ครั้ง ฮาซันมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์มากกว่า 200 เรื่อง ในหลายภาษาของประเทศอินเดีย อีกทั้งยังเป้นผู้กำกับ นักร้อง นักแต่งเพลง และกวี

ฮาซัน เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ที่ออกมากล่าวต่อต้านความรุนแรงที่มาจากแรงจูงใจทางความเชื่อศาสนา ก่อนหน้านี้เขาเคยทำภาพยนตร์ชื่อ "เฮ ราม" ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มชาวฮินดูเคร่งศาสนา และภาพยนตร์เรื่อง "อันเป ศิวาม" ที่สื่อว่าความเมตตากรุณาเป็นสิ่งจำเป็น

หลังจากเหตุการณ์บุกทำลายมัสยิดบาบุรีในปี 1992 ฮาซันก็ช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทน "พี่น้องมุสลิม"  อย่างไรก็ตามฮาซันสนับสนุนผู้นำที่เป็นฆราวาสนิยมอย่าง เอช.เอช. โมฮัมเม็ด อับดุล อาลี เจ้าชายแห่งอารคอตในเมืองเจนไน ผู้ก่อตั้ง 'ฮาร์โมนี อินเดีย' ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องสันติภาพและความกลมเกลียวระหว่างกลุ่มความเชื่อหลายกลุ่ม

กามาลเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายพระวิษณุ แต่ตัวเขาเองประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา เป็นศิลปินเอียงซ้ายที่ปฏิเสธการแบ่งชนชั้นวรรณะและศาสนา เน้นวิธีการทางเหตุผลและวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจโลก

ฮาซันกล่าวปกป้องภาพยนตร์เรื่องวิศวรูปภัมไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาต้องการวิจารณ์การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการกระทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเท่านั้น


อ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ฮาซันไม่ใช่คนแรกที่มีเรื่องบาดหมางกับผู้นำทางการเมืองและทางศาสนาในยุคปัจจุบัน รูเชีย โจฉิ นักเขียนและนักวิจารณ์จากเดอะ เทเลกราฟ และอินเดียทูเดย์ กล่าวว่า "เริ่มมีผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับเล็ก กลาง ใหญ่ นำข้ออ้างการสร้างความขุ่นเคือง ไม่ว่าจะเป็นทางศาสนาหรือทางการชาติพันธุ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนอำนาจของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน เขียนบทความลงในนิตยสาร Outlook แล้วถูกตีความว่าเขามีความยากลำบากในการพยายามใช้ชีวิตเป็นชาวมุสลิมในอินเดีย จนกระทั่ง รมต.ปากีสถานถึงขั้นเขิญข่านไปใช้ชีวิตในปากีสถานหากเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งข่านได้ออกมาปฏิเสธว่าจริงๆแล้วบทความของเขาต้องการสื่อให้เห็นถึงการที่ตนไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจากฝ่ายใด และยืนยันในแนวคิดแบบฆราวาสนิยม ซึ่งทำให้เกิดเสียงฮือฮาแสดงความไม่พอใจตามมา

 

ซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน

"ทุกคนถูกกระตุ้นให้รู้สึกขุ่นเคืองใจได้ง่ายเกินไป และต้องหัดทำใจให้สงบกันบ้าง" สุบรามาเนียนกล่าว

ผู้กำกับ คาราน โจฮาร์ ขาใหญ่ของวงการบอลลิวูดออกมาปกป้องข่าน บอกว่าความเห็นของข่านถูกบิดเบือนออกนอกบริบทโดยผู้ที่ต้องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง


กรณีของซัลมาล รัชดี

นอกจากวงการภาพยนตร์แล้ว ในวงการวรรณกรรมก็มีเรื่องราวการสั่งห้ามและความกลัวการสร้างความขุ่นเคืองอยู่ เช่นเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา นักเขียนซัลมาน รัชดี ก็ถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมงานเทศกาลหนังสือ 'โกลกาตา บุ๊คแฟร์' หลังจากที่มีภาพยนตร์เรื่อง "ทารกเที่ยงคืน" (Midnight Children) ที่สร้างจากนิยายของเขาออกฉายเมื่อปีที่แล้ว โดยที่รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกถูกกล่าวหาว่าพวกเขาสั่งห้ามรัชดีเพราะเกรงว่ารัชดีจะกล่าวสิ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมขุ่นเคือง

 

"สิ่งที่น่าเศร้าคือ พรรคการเมืองทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพรรคเหมาอิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (CPM) ไปจนถึงพรรคการเมืองท้องถิ่นและพรรคฝ่ายขวา แทบทุกพรรคต่างก็ใช้สิ่งนี้ (การอ้างเรื่องการสร้างความขุ่นเคือง) เป็นเครื่องมือ หรือไม่ก็กลัวว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้มันเป็นเครื่องมือ" โจฉิกล่าว

โจฉิหวังว่าวัฒนธรรม 'ถอยหลังลงคลอง' ที่มาจากการสร้างความขัดแย้งโดยกลุ่มทางการเมืองหรือทางศาสนาเช่นนี้จะหมดไปเมื่อประชาชนมองเห็นความเสื่อมทรามและการหลอกใช้ศาสนาหรือประเพณีเป็นเครื่องมือโดยพรรคการเมือง

จนกว่าจะถึงวันนั้น กามาล ฮาซัน และศิลปินรายอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเขา ก็ต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นกันต่อไป

เรียบเรียงจาก

Artists condemn Indian state for banning film, Sudha G Tilak, Aljazeera, 01-02-2013
ฐานข้อมูลภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม'


ข้อมูลเพิ่มเติม

http://en.wikipedia.org/wiki/Vishwaroopam

http://en.wikipedia.org/wiki/Kamal_Haasan

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานสากลตีข่าวสหภาพแรงงาน Electrolux ต่อสู้กับการเลิกจ้าง

$
0
0

IndustriALL Global Union ยังคงเกาะติดกรณีบริษัท Electrolux เลิกจ้างคนงานในประเทศไทย ด้าน เลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ IF Metall สวีเดนระบุว่าการที่ผู้บริหารบริษัทฯ จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานนั้น เป็นไปไม่ได้จนกว่าจะรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน

 
 
บริษัทสวีเดนผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเล่นตลกโดยการกล่าวอ้างว่าบริษัทรักษาหลักการมาตรฐานสิทธิแรงงานในโรงงานอีเล็คโทรลักซ์ทั่วโลกรวมถึงคำประกาศที่ให้ไว้ในข้อตกลงสากล (Global Framework Agreement) ที่บริษัทลงนามกับ IndustriALL Global Union
 
นับจากวันที่ IndustriALL รายงานเรื่องการกักขังและเลิกจ้างสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานมากกว่า 100 คนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ที่โรงงานผลิตเครื่องซักผ้า Electrolux ที่ระยองประเทศไทย คนงานได้ชุมนุมค้างคืนอย่างต่อเนื่องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสำนักงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  สหภาพแรงงานได้ทำการรณรงค์สื่อมวลชนเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน
 
ในจดหมายที่ Electrolux เขียนถึงเลขาธิการ IndustriALLเยอกี้ ไรน่า บริษัท Electrolux กล่าวอ้างอย่างไร้สาระโดยการโยนความผิดให้กับคนงาน และยังอ้างอีกว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานและสหภาพแรงงาน ซึ่งขัดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงาน
 
วันที่ 25 มกราคม 2556 สหภาพแรงงาน Electrolux พร้อมกับสมาชิก IndustriALL TEAM เดินทางไปที่สำนักงานของบริษัท Electrolux ที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน  มีการประชุมกับผู้บริหารสำนักงานกรุงเทพฯ ซึ่งอ้างว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งที่โรงงานระยองและอ้างว่าพวกเขาดูแลด้านการขาย
 
วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2556 สหภาพแรงงานสวีเดน IF Metall และผู้แทนสหภาพแรงงาน Electrolux สวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัท Electrolux (Union Representative on the Electrolux Board of Directors) จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ประเทศไทยและผู้บริหารในประเทศ  เนื่องจากสหภาพแรงงานสวีเดนเป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบบริษัทในด้านการปฏิบัติตามข้อตกลงสากลที่ Electrolux ลงนามร่วมกับ IndustriALL Global Union   
 
Erik Andersson เลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ IF Metall สวีเดนกล่าวว่า “ผู้บริหารบริษัทบอกว่าพวกเขาต้องการฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน  ซึ่งเป็นไปไม่ได้จนกว่าคนงานและสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดจะกลับเข้าทำงาน”     
 
นับตั้งแต่วันที่สหภาพแรงงานก่อตั้งสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2554  ผู้บริหารที่ระยองไม่เคารพสิทธิสหภาพแรงงานตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลในทุกด้าน  และในปี 2555 บริษัท Electrolux ยังยื่นใบสมัครและได้รับรางวัลจากรัฐบาลไทยในด้าน  “สถานประกอบดีเด่นประเภทไม่มีสหภาพแรงงาน”
 
โรงงานระยองมีกำลังการผลิตเครื่องซักผ้าปีละกว่า 1 ล้านเครื่อง
 
ประธานสหภาพแรงงาน ไพวัลย์ เมธา กล่าวในการชุมนุมวันที่ 31 มกราคม ที่กรุงเทพฯ ว่า “Electrolux ควรที่จะเคารพสิทธิสหภาพแรงงานของพวกเราเหมือนกับที่บริษัทปฏิบัติในประเทศสวีเดน”  
 
IndustriALL Global Union ส่งข้อความสมานฉันท์ไปยังสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ประเทศไทย 
 
ที่มา:http://www.industriall-union.org/dismissed-thai-electrolux-workers-fight-against-dismissal

ชมวิถีชนเผ่าม้ง ผ่านงานปีใหม่ม้ง ที่เชียงดาว

$
0
0

 

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ

หากใครมาเยือนเชียงดาวในหน้าหนาว นอกจากจะได้สัมผัสความงามของธรรมชาติของผืนป่าอันอุดม ของดอยหลวงเชียงดาว และต้นกำเนิดของแม่น้ำปิงกันแล้ว วิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่า ก็ถือเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ในแต่ละปี 

ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงดาวได้เป็นอย่างดีและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของพี่น้องชาวม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย ว่ากันว่า เป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง ดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย  

แต่เดิมนั้น จะมีการจัดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลา ที่สะดวกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยน มีการรวมพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายๆ หมู่บ้าน โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละหมู่บ้านที่มีความพร้อม   

เมื่อวันที่ 14 -16 ธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดงานประเพณีปีใหม่ม้ง ขึ้นที่บ้านม้งแม่มะกู้ ตั้งอยู่บริเวณถนนสายปิงโค้ง-พร้าว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่งนับพันคน ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่แต่งกายชุดประจำเผ่ากันอย่างงดงาม      

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม         

ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง เป็นต้น    

การเล่นลูกช่วง หรือที่คนม้ง เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” นั้นถือว่าเป็นการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ม้งโดยเฉพาะ  เลยทีเดียว ลูกช่วง นั้นจะมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย โดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้  

“เขาโยนลูกช่วงกันไปมาทำไมเหรอ” นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นแอบตั้งคำถาม   

“ก็เพื่อความสนุกสนาน แล้วหนุ่มสาวยังจะได้มีเวลาคุยกัน จีบกันไป” หนุ่มม้งเจ้าถิ่นกระซิบบอกอย่างนั้น

ว่ากันว่า การเล่นลูกช่วง นั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหนุ่มสาวชาวม้ง เพราะนี่เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวม้งได้รู้จักกัน เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน และที่สำคัญ ถ้าหนุ่มสาวพึงใจชอบพอกันแล้ว ก็นำไปสู่การแต่งงานกันในอนาคตได้          

“แล้วแม่หญิงม้ง ที่แต่งงานแล้ว สามารถเล่นลูกช่วงได้มั้ย” นักท่องเที่ยวเอ่ยถาม  

“หญิงที่แต่งงานแล้ว เขาจะห้ามไม่ให้เล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมของม้ง แต่ฝ่ายชาย สามารถเล่นได้นะ แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงสาวคนนั้น” หนุ่มม้ง บอกเล่าให้ฟัง           

จุดเด่นของชนเผ่าม้ง ที่เราพบเห็น ทั้งหญิงและชาย ต่างพากันสวมชุดประจำเผ่ากันทุกคน ด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงาม ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนเสื้อจะมีการปักลวดลายอย่างสวยงาม ขอบแขนเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยผ้าที่ต่างสีจากตัวเสื้อ นั้นคือจะเป็นผ้าสีฟ้า ขาว เหลือง เป็นต้น ส่วนด้านหน้าของตัวเสื้อ จะมีการปล่อยสาบเสื้อปักเป็นลวดลายอย่างสวยงาม ด้านหลังเสื้อจะมีปกเสื้อที่ปักเป็นสีสันลวดลาย ต่างๆไว้ด้านหลัง นิยมโชว์ด้านที่ปักไว้ด้านนอก ผู้หญิงม้งดำไม่นิยมใส่กางเกง ส่วนมากแล้วนิยมใส่กระโปรงมากกว่า พร้อมกับใช้ผ้าพันน่องขาไว้ด้วย          

แต่ภายในงานปีใหม่ม้ง ที่ผ่านมา เราจะมองเห็นว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหญิงม้งนั้นเริ่มมีหลากหลายสีสัน ทั้งเสื้อ กระโปรง เต็มไปด้วยสีที่ฉูดฉาด สดใส มีทั้งสีแดง ชมพู แสด เขียว ฟ้า ม่วง เหมือนกับการเป็นงานแฟชั่นของชนเผ่าไปเลยก็ว่าได้          

นั่นทำให้ผู้ศึกษาวิถีชนเผ่าหลายคนเริ่มสับสนและมึนงง เพราะแต่เดิม ชุดแต่งกายชนเผ่าม้ง นั้นสามารถบ่งบอกและแยกกลุ่มระหว่างม้งขาวกับม้งดำได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนี้เราจึงแยกไม่ออกกันแล้ว นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ปีใหม่ม้งครั้งนี้ เราจึงมองเห็นสาวชาวม้งสวมใส่ชุดแต่งกายหลากสี ใส่รองเท้าหุ้มส้นสูง สวมแว่นตาดำ กางร่มกันแสงแดดจ้า บางคนถือไอแพดเดินถ่ายรูปกันไปมาบนลานดินกว้าง  ทำให้เราสัมผัสได้ว่า งานนี้มีทั้งความงามและความเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจริงๆ       

ถัดไปบนลานดินใกล้ๆ กัน เรามองเห็นหนุ่มม้งหลายสิบคน กำลังยืนล้อมรอบกันเป็นวง ข้างในลาน กำลังมีการแข่งขันเล่นลูกข่าง หรือที่ชาวม้ง เรียกกันว่า “เดาต้อลุ๊” เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก การละเล่นชนิดนี้ ก็เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน   

เมื่อหันไปมองข้างบนเวทีนั้น หญิงสาวม้งจากหลายหมู่บ้าน กำลังสับเปลี่ยนกันขึ้นไปเต้นรำประจำเผ่า ซึ่งการแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง จะมีหลายรูปแบบและเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าม้ง เช่น การรำกระด้ง ว่ากันว่าเป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฟัดข้าว หรือยังใช้กระด้งเป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้งอีกด้วย ซึ่งถือว่า กระด้งนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก   

นอกจากนั้น ยังมีการรำเก็บใบชา ซึ่งจะมีการแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ม้ง และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้ง ซึ่งอดีตม้งนิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชา เป็นต้น         

แต่ก็มีหญิงสาวชาวม้งหลายคน สวมใส่ชุดม้งอันงดงามตระการตา ขึ้นไปเต้นเพลงฝรั่งประกอบท่วงทำนองท่าเต้นแนวฮิบฮอป ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาหยุดมองกันด้วยความตื่นใจและแปลกใจ   

ในงานประเพณีปีใหม่ม้ง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ‘การเป่าขลุ่ยม้ง’ จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้งเลยทีเดียว ว่ากันว่า ในอดีตนั้น ชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้นจึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว 

อีกมุมหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับงานปีใหม่ม้ง นั่นคือ ‘การนั่งรถสามล้อไม้’  การแข่งขันรถสามล้อไม้จะมีเฉพาะในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น เป็นการเล่นของเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งว่ากันว่า สมัยก่อนม้งไม่มีรถ หรือยวดยานพาหนะใช้ในการเดินทาง และไม่มีของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาก ดังนั้นไม่สามารถที่จะหาซื้อของเล่นให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงได้คิดค้นทำสามล้อไม้ ขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นกัน ต่อมา จึงได้มีการนำมาประดิษฐ์ทำเป็นรถสามล้อไม้ ไว้นั่งขี่แข่งขันกัน และได้มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถที่จะเล่นได้ จนกระทั่งมีการประกวดแข่งขันกันว่า รถสามล้อไม้คันไหนแล่นลงดอยไปไกลที่สุด และรถคันไหนตกแต่งได้สวยงามที่สุด จะเป็นผู้ชนะ    

จะเห็นได้ว่า ประเพณีใหม่ม้ง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น ได้ช่วยสร้างสีสัน มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเชียงดาวให้คึกคักอีกครั้ง ซึ่งนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานนั้น นอกจากจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินใจแล้ว ยังได้เรียนรู้ในวิถีชนเผ่าไปพร้อมๆ กันอีกด้วย    

และแน่นอน  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้  เป็นสิ่งที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหันมาสนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อลงทุนอะไรมากมายเลย  เพราะทุกอย่างล้วนฝังอยู่ในรากเหง้า วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนเผ่าอยู่แล้วนั่นเอง.

ข้อมูลประกอบ : พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ทิศทางทีดีอาร์ไอกับบทบาทฝ่ายค้าน (นโยบาย)

$
0
0

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รับตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ทิศทางที่พอจะเห็นได้คือ การที่ทีดีอาร์ไอกำลังปรับตัวสู่การเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ และงานวิจัยเชิงนโยบายซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ผ่านการปรับปรุงเว็บไซต์และการพยายามสร้างสื่อเพื่อสื่อสารประเด็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของทีดีอาร์ไอในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของสังคมแล้ว ก็ถูกจับตาไม่น้อยว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย-อดีตนายกทักษิณ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ล่าสุดคือการออกมาท้วงติงนโยบายจำนำข้าว นี่น่าจะเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อยต่อการนำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะ

 


 

ประชาไทคุยกับดร.สมเกียรติในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ ทั้งประเด็นภาพลักษณ์และบทบาทของทีดีอาร์ไอ ซึ่งประธานทีดีอาร์ไอก็ไม่ได้ปฏิเสธการเป็นฝ่ายค้าน เพียงแต่มีคำจำกัดความเพิ่มเติมคือ เขาค้านนโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลัง หาใช่ค้านรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง

 

ที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอ หรือตัวอาจารย์เองวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายสาธารณะบ่อย จะถูกตั้งข้อเกตว่าเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลชุดนี้

ยืนยันว่าไม่ได้เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลชุดไหนซักชุด เพราะการวิเคราะห์นโยบาย เสนอแนะทางนโยบายนั้นไม่ใช่ไปวิจารณ์รัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องรัฐบาลไหน และไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายค้าน บางเรื่องก็ชมและสนับสนุน บางเรื่องชมแต่มีเงื่อนไขว่าเป็นอย่างนู้นอย่างนี้จะดีกว่า

ทำไมถึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายค้านได้ ก็งงๆ อยู่

 

อาจเป็นเพราะช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ คนไม่เห็นทีดีอาร์ไอออกมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนัก

ก็มีนะ มีออกมาทุกยุคทุกช่วง มากบ้างน้อยบ้าง ในสายตาผมที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์เยอะเป็นพิเศษคือ เรื่องทุจริตคอรัปชั่นและเรื่องนโยบายที่ไม่มีวินัยทางการคลัง เรื่องหลังนี้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปจะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจตรงนี้เยอะ

การมีวินัยทางการคลัง แปลว่า ในระยะกลางและระยะยาวคุณต้องไม่ขาดดุลการคลัง คือ รัฐบาลไม่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ส่วนระยะสั้นนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังเชื่อว่า ถ้าในช่วงเศรษฐกิจขาลงถ้ารัฐบาลไม่ยอมจ่ายเงินเข้าไปในระบบในระยะสั้นอาจจะฟื้นไม่ได้ เพราะคนจะตกงานมากขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายเงินค่าสวัสดิการมากขึ้น ภาษีก็เก็บได้น้อยลง จึงทำให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องขาดดุล แต่ไม่ใช่ไปขาดดุลยาวๆ ต่อเนื่องกัน 5 ปี 15 ปี อย่างนั้นเรียกขาดวินัยทางการคลัง

 

ทำให้ต้องจับตานโยบายของเพื่อไทย ที่มีลักษณะประชานิยมมากกว่า

หลายนโยบายมีลักษณะที่มีความรับผิดชอบทางการคลังไม่สูงเท่าไร แต่ผมยังคิดว่า แม้นโยบายไม่รับผิดชอบทางการคลัง หรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” จะริเริ่มแบบขนานใหญ่โดยคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยตอนนั้นก็ตาม แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นมรดกของพรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยอีกต่อไปแล้ว มันเป็นของปกติในระบบการเมืองไทยแล้ว มันอาจกำเนิดโดยพรรคไทยรักไทยแต่มันเป็นสูตรที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะได้รับเลือกตั้ง  จึงกลายเป็นสมบัติของการเมืองไทย

พอเป็นสมบัติของการเมืองไทยมันยิ่งน่ากลัว เพราะแทนที่จะมีพรรคไหนไปกระตุกขาพรรคอื่นว่าอย่าทำแบบไม่รับผิดชอบทางการคลังมาก ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ทุกคนต่างแข่งกันลดแลกแจกแถม เรื่องอย่างนี้ยิ่งน่ากลัวกว่าอยู่ในกำมือของพรรคๆ เดียวอีก

 

“ประชานิยมมีข้อดีของมันโดยธรรมชาติ
และต้องสะท้อนการเมืองในระบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตย
ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องสนองความต้องการของประชาชน
มันจึงเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย
แต่ถ้าจะให้สังคมเศรษฐกิจไปได้ยาวๆ ด้วยก็ต้องมีวินัยการคลังด้วย”

 

เรื่องนโยบายประชานิยมมีมุมบวกไหม เช่น การตลาดทางการเมืองแบบนี้ที่อาจจะหวือหวา ไม่มีวินัยทางการคลัง แต่เมื่อได้รับแรงสนับสนุนมากจากประชาชนก็ส่งผลให้นโยบายที่สัญญาไว้นั้นทำได้จริงมากขึ้น

ผมถึงไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยม  เพราะประชานิยมมีข้อดีของมันโดยธรรมชาติและต้องสะท้อนการเมืองในระบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องสนองความต้องการของประชาชน มันจึงเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย แต่ถ้าจะให้สังคมเศรษฐกิจไปได้ยาวๆ ด้วยก็ต้องมีวินัยการคลังด้วย วินัยการคลังจะเป็นตัวที่สำคัญ ถ้าแข่งขันก็ต้องแข่งขันในกรอบที่มีวินัยการคลังพอสมควร

ผมจึงเน้นว่าไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยม แต่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ไม่ค่อยรับผิดชอบทางการคลัง

 

ดูเหมือนแวดวงนักวิชาการก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน เมื่อก่อนนักวิชาการจะวิจารณ์ความเป็น “ประชานิยม” โดยยกตัวอย่างหายนะในประเทศแถบละตินอเมริกา แต่ตอนนี้มันเคลื่อนตัวไป อย่างน้อยอาจารย์ก็บอกว่าประชานิยมไม่ใช่สิ่งเลวร้าย

ไม่ใช่ ถึงต้องแยกไง นโยบายพรรคการเมืองที่ต้องทำตามความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับอยู่แล้วในระบบประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นจะให้พรรคการเมืองแข่งอะไรกัน รัฐธรรมนูญก็ไปจำกัดอีกว่าแนวนโยบายแห่งรัฐต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นการจำกัดช่องที่จะแข่งขันกันว่าอย่างน้อยต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้เห็นด้วยตรงนี้ ไม่น่าจะดี ยกเว้นว่านโยบายต้องสอดคล้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชน ถ้าในมุมอย่างนี้คิดว่าโอเค เพราะรัฐธรรมนูญต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าไปล้วงลึกขนาดว่ารัฐบาลต้องมีแนวนโยบายยังไง ผมคิดว่าอันนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไร

ฉะนั้น ส่วนตัวผมเองไม่ได้มีปัญหากับประชานิยมแต่ไหนแต่ไร ถ้าจะมีปัญหาก็คือ นโยบายที่สนองความต้องการของประชาชนแต่ไม่คำนึงถึงวินัยการคลัง ที่เรียกว่านโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลังถึงเป็นปัญหา นโยบายอื่นก็วิจารณ์ได้ในแง่ดีหรือไม่ดี ผลประโยชน์ตกกับประชาชนมากหรือน้อย คงดูไล่ที่ละนโยบายได้ แต่ถ้าเป็นนโยบายที่ใช้เงินเยอะๆ มองสั้นๆ เอาเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะหน้า ผลักภาระทางการคลังไประยะยาว อย่างนี้คิดว่าเป็นปัญหา

ในฐานะทีดีอาร์ไอ หลายคนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ตัวผมเองไม่ใช่แต่ก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ เรื่องไม่มีวินัยทางการคลัง มันเป็นไปไม่ได้ที่อะไรที่เราใช้จ่ายเกินตัวไปได้ยาวๆ ลองคิดถึงตัวเรา ถ้าเรากู้ทุกวัน เราจับจ่ายใช้สอยมากกว่ารายได้ทุกวี่ทุกวัน มันจะอยู่รอดในระยะยาวได้อย่างไร ประเทศก็แบบเดียวกัน

 

เวลานักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง มีการหยิบยกบริบทอื่นๆ มาช่วยวิเคราะห์ด้วยไหม เช่น บริบททางการเมือง หรืออย่างเรื่องกองทุนหมู่บ้านที่โดนวิจารณ์เหมือนกัน แต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็ไม่เลวร้ายอย่างที่คาด

เรื่องกองทุนหมู่บ้านเป็นโครงการที่หย่อนเงินตุบลงในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท 70,000 กว่าแห่ง เงินนี้หย่อนครั้งเดียว ไม่ใช่ของต่อเนื่อง ที่เหลือก็เป็นการกู้ ปล่อยกู้แล้วเอามาคืน ในมุมนี้ความน่าเป็นห่วงทางการคลังมันเทียบไม่ได้เลยกับนโยบายอย่างจำนำข้าว เพราะจำนำข้าวถ้าขาดทุนปีหนึ่งเป็นแสนล้าน แล้วสะสมไปหลายๆ ปี มันเหมือนมีกองทุนหมู่บ้านหย่อนไปปีละกองแล้วใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญนโยบายจำนำข้าวมันไปทำลายกลไกตลาดด้วย

ผมเองไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์กองทุนหมู่บ้านมากมาย แต่ว่ามีเพื่อนร่วมงานในทีดีอาร์ไอเคยวิจารณ์ แต่ถ้าไปดูก็จะเห็นว่าไม่ได้วิจารณ์รุนแรง แต่เป็นการตั้งคำถามมากกว่าว่ามันจะก่อให้เกิดประโยชน์ไหม จะเกิดความเสี่ยงกับคนกู้เงินไหม เพราะกองทุนหมู่บ้านมี assumption (สมมติฐาน)ว่า การที่ประชาชนยกฐานะไม่ได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินทุน ฉะนั้น จึงให้มีเงินทุนเข้าไป มันจึงมีคำถามว่าประชาชนทุกคนมีความพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการหรือ และไม่ใช่เป็นโจทย์ว่าคนไทยเก่งไม่เก่ง ทุกประเทศจะเจอปัญหาเดียวกัน มีนโยบาย micro finance ในหลายประเทศและจะเจอข้อวิพากษ์วิจารณ์คล้ายๆ กัน  แต่ของเมืองไทยคือ กองทุนหมู่บ้าน เป็นกองที่ใหญ่ที่สุดและเกิดโดยรัฐ จึงเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามกันเยอะหน่อย เพราะถ้าเสียหายก็คือภาษีประชาชน

คำถามว่าจริงหรือที่ทุกคนพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ เพราะการประกอบการต้องมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้มีทุกคน ผมเองก็อาจไม่มี คนที่ไปกู้ไปทำธุรกิจก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะเจ๊ง แง่มุมเหล่านี้คิดกันครบแล้วหรือยัง เราท้วงติงแบบนี้ ไม่ได้วิจารณ์ว่านี่เป็นประชานิยมแบบที่จะทำให้ล่มจม

ถ้าจะดูผลก็ต้องดูว่ามันยกระดับความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า ซึ่งของพวกนี้เป็นประเด็นในเชิงประจักษ์ คือ ก่อนทำนโยบายมีข้อสังเกตได้ หลังทำนโยบายไปแล้ว ถ้ามีการศึกษาอะไรมาเราก็ดูได้ว่ามันสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ทีแรกหรือเปล่า

 

“ผมมี position ยังไง (เรื่องโทรคมนาคม) ก่อนรัฐประหารในเรื่องนี้

ผมก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว

ผมคิดว่าใครเปลี่ยน position นั่นเป็นปัญหามากกว่า

เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่นิ่งแล้วถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นปัญหา

แล้วจู่ๆ คุณคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพียงเพราะว่ามันมีปัญหาที่มันใหญ่กว่า ที่

คุณเรียกว่าปัญหาเผด็จการหรืออะไรก็แล้วแต่

ผมงงกับท่าทีแบบนี้”

 

ภาพทีดีอาร์ไอ พูดง่ายๆ ก่อนหน้านี้ 5-6 ปี สมัยทักษิณมีนโยบายออกมาเยอะ ทีดีอาร์ไอก็จับตาประเด็นเหล่านี้ แต่เมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วมันผลักทีดีอาร์ไอให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลด้วย

ถูกมองว่าเป็นอย่างนั้น ผมยังคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นธรรมชาติของนักการเมือง เขาแข่งขันเพื่อได้อำนาจรัฐ มันก็มี concept ว่าเป็นพวกเขาหรือไม่ใช่พวกเขา เขาอยู่ในโลกแบบนั้น วัฒนธรรมทางวิชาการมันเป็นอีกแบบ การต่อสู้กันก็คือสู้กันในทางความคิด งานที่เราทำคืองานวิจารณ์นโยบาย คือ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายออกมา เราวิจารณ์ว่ามันไม่ดี แล้วคุณเปลี่ยนเป็นนโยบายที่ดี เราก็จะมาชม มาเชียร์นโยบายได้ เพราะเราไม่ได้ยึดติดว่าเป็นรัฐบาลของพวกไหน ถ้าเรายึดพวกก็แปลว่าถ้ารัฐบาลนี้ไม่ว่าอะไรออกมาเราต้องตี รัฐบาลอีกชุดอะไรออกมาต้องชม

ความแตกต่างสำคัญของคนวิจารณ์นโยบายจึงแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับการเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองหรือรัฐบาลไหน

 

อาจารย์ขึ้นมาเป็นผู้บริหารของทีดีอีไอร์ แต่ขณะเดียวกันอาจารย์เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นฝ่ายต้านทักษิณ

อาจเป็นเพราะว่าผมห่วง 2 เรื่องใหญ่คือ เรื่องความไม่โปร่งใสและนโยบายที่ไม่รับผิดชอบทางการคลัง เรื่องกรณีคุณทักษิณ ถ้าผมจะแรงเป็นพิเศษ เพราะว่าผมทำวิจัยเรื่องโทรคมนาคมมา และผมเห็นว่ามันมีความพยายามแสวงหาผลประโยชน์ภายใต้สัมปทาน อะไรต่างๆ จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลคุณทักษิณที่มีปัญหาเรื่องนี้ หลังรัฐบาลคุณทักษิณก็มี ถ้าจำได้ รัฐบาลประชาธิปัตย์มีสัมปทานพิสดารขึ้นมา ผมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่สมัยรัฐบาลทักษิณ อำนาจรัฐกับธุรกิจ อย่างน้อยในช่วงต้นมันคือกลุ่มเดียวกันเลย  การแสวงหาผลประโยชน์มันเกิดขึ้นค่อนข้างกว้างขวางกว่า อย่างน้อยในเรื่องโทรคมนาคม รัฐบาลก่อนทักษิณหรือหลังทักษิณ รัฐบาลเป็นพวกหนึ่ง ทุนโทรคมนาคมเป็นพวกหนึ่ง แม้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากทุนโทรคมนาคม แต่ก็เรียกว่าได้กันเป็นครั้งๆ แต่รัฐบาลทักษิณอาจเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้น ตัวเนื้อของนโยบายที่ออกมาจึงเป็นปัญหามากๆ

แล้วช่วงนั้นถ้าไปไล่ดูใครต่อใคร ไม่ใช่เฉพาะผม ก็คิดคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น การออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต เป็นปัญหา  กลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตั้งชื่อเป็นนิติราษฎร์ด้วยซ้ำก็เห็นว่าเป็นปัญหา แล้วผมก็จัดสัมมนา มีการพูดคุยกันกับอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) อาจารย์จันทจิรา (เอี่ยมมยุรา) แล้วก็อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นคนละพวกกับอาจารย์วรเจตน์ อย่างอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติ ด้วย ก็เห็นร่วมกันว่า พ.ร.ก.นั้นเป็นปัญหามาก

ผมเห็นว่าข้อเท็จจริงที่มันเป็นปัญหาก็ยังคงอยู่นะ มันไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นหรือไม่เกิด เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการมีรัฐประหาร ฉะนั้น ผมมี position ยังไงก่อนรัฐประหารในเรื่องนี้ ผมก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ผมคิดว่าใครเปลี่ยน position นั่นเป็นปัญหามากกว่า เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่นิ่งแล้วถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นปัญหา แล้วจู่ๆ คุณคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพียงเพราะว่ามันมีปัญหาที่มันใหญ่กว่า ที่คุณเรียกว่าปัญหาเผด็จการหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมงงกับท่าทีแบบนี้

 

“ผมก็คิดอยู่ว่า ผมควรไปให้การกับศาลฎีกาหรือเปล่า
ผมอยากเห็นคนที่ทำความผิดในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้
ต้องได้รับการตรวจสอบแล้วก็ลงโทษถ้ามีความผิดจริง
เป็นกระบวนการโดยศาลฎีกา
มันเป็นเส้นบางๆ นะ ผมก็ไม่รู้ผมตัดสินใจถูกหรือผิด
แต่ผมเลือกที่จะไม่ไปให้การกับ คตส. แต่ผมเลือกไปเป็นพยานของศาลฎีกา”

 

ถ้ามีรัฐประหารเฉยๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมต่างๆ มันเดินต่อปกติคงไม่เท่าไหร่ แต่พอหลังจากนั้นมี คตส.ขึ้นมา ที่กระบวนการตรวจสอบที่มาจากรัฐประหารซึ่งฝั่งหนึ่งเห็นว่าไม่ชอบธรรม และกระบวนการจากคตส. ก็ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองซึ่งอาจารย์ไปเป็นพยาน จึงเกิดคำถามถึงหลักประชาธิปไตยของอาจารย์ขึ้นมา

ผมไม่ได้ไปหา คตส. หรือให้ข้อมูลคตส.นะครับ ผมไม่เคยให้การกับ คตส.ผมไปเป็นพยานในศาลฎีกา

ซึ่งตอนที่ผมไปให้การกับศาลฎีกา ผมเองก็คิด ตอนนั้นผมก็คิด หนึ่ง เรื่องของประชาธิปไตย เรื่องของนิติธรรม แล้วก็เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมีอยู่จริง คนที่ปัจจุบันอาจเห็นไม่ตรงกันในสมัยนู้นก็ยังเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง ผมก็คิดอยู่ว่า ผมควรไปให้การกับศาลฎีกาหรือเปล่า ผมอยากเห็นคนที่ทำความผิดในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ต้องได้รับการตรวจสอบแล้วก็ลงโทษถ้ามีความผิดจริง เป็นกระบวนการโดยศาลฎีกา

มันเป็นเส้นบางๆ นะ ผมก็ไม่รู้ผมตัดสินใจถูกหรือผิด แต่ผมเลือกที่จะไม่ไปให้การกับ คตส. แต่ผมเลือกไปเป็นพยานของศาลฎีกา เพราะเป็นพยานนั้น ไม่ได้เป็นพยานในฐานะพยาน คตส. แต่เป็นพยานที่ศาลฎีกาเรียกไปเอง ไม่ใช่คู่กรณี และการไปเป็นพยานนั้นก็ถูกซักค้านได้โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในกรณีนี้ก็คือฝ่ายของจำเลย  ทนายความของคุณทักษิณก็ซักค้านผมเยอะมากในศาลฎีกา ซึ่งคุณทักษิณก็ยอมรับในกระบวนการศาลฎีกา ในแง่นี้ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่ชอบธรรม ส่วนหักล้างกันได้หรือไม่ได้ นักข่าวที่อยู่ในสถานที่นั้นก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

มันมีทางเลือกอื่นไหม ถ้าผมอยากจะเห็นความยุติธรรมมันเกิดขึ้น แล้วผมเป็นคนที่มีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ แล้วผมไม่ไปให้การกับศาล มันมีทางเลือกอื่นให้ผมไหม ทำไมเมืองไทยต้องพยายามขีดเส้นอยู่ตลอดเวลาว่า คุณต้องเลือกเอาระหว่างประชาธิปไตยหรือนิติรัฐ เอาสองอย่างไม่ได้ ถ้าคุณจะเลือกเอาประชาธิปไตยก็ต้องลืมนิติรัฐว่ามันเกิดอะไรขึ้น อะไรถูก อะไรผิด ผมก็ยอมรับจริงๆ ว่ามันเป็นเส้นบางอยู่เหมือนกัน สำหรับคนบางกลุ่มอาจคิดว่าไม่ค่อยต่างกัน ระหว่าง คตส.กับศาลฎีกา แต่สำหรับผมนั้นคิดว่าต่างกันอยู่ในแง่ที่ว่าอย่างน้อยผมเลือกไม่ให้การ คตส.

 

เขาเรียกไปให้การไหม (คตส.)

เรียก เรียกเป็นทางการหรือเปล่าจำไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาติดต่อมา แล้วผมก็ปฏิเสธว่าผมไม่ไป

 

ช่วงที่ผ่านมา อาจารย์บอกว่าวิจารณ์อย่างเสมอหน้า แต่จะเน้นอันที่มีปัญหามาก ซึ่งส่วนใหญ่มันมักมาจากรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งมีนวัตกรรมแปลกใหม่ทางนโยบาย

ถ้าภาพมันจะออกมาว่าวิพากษ์วิจารณ์เพื่อไทยหรือไทยรักไทยมาก อาจจะสะท้อนว่าพรรคอื่นมันไม่มีนวัตกรรมทางนโยบายเลยก็ได้ มันเป็นพรรคที่น่าเบื่อมาก (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งผมก็คิดอย่างนั้น ไม่มีสีสันเลย

 

สื่อเป็นปัจจัยไหมที่ทำให้ภาพของอาจารย์ออกมาเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลเพื่อไทยโดยเฉพาะ หรือเป็นเพราะคนในสังคมเลือกรับข้อมูลตามที่ตัวเองเชื่อ

คือผมก็คิดประเด็นนี้ไม่แตกเท่ากับคนในสื่อ ประชาไทก็บอกผมเองว่าสื่อเขาอาจมี agenda ของเขาที่จะปั้นใครไปสู้กับใคร ฉะนั้น ประเด็นนี้ ผมเข้าใจย้อนหลังมากกว่าจากการพูดคุย เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ จริงๆ ไม่ถึงกับไม่รู้ทีเดียว แต่ไม่ได้ตระหนักว่ามันไปไกลขนาดนั้น จนกระทั่งได้ยินคนในสื่อวิเคราะห์เอง

 

อาจารย์เชื่อแบบนั้นไหม เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา

ก็อาจจะใช่นะ คือ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีสื่อสิ่งพิมพ์บางกลุ่มที่ take side ชัดว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้

 

อาจารย์ให้ความสำคัญกับประเด็นคอรัปชั่น ตอนนี้อาจารย์น่าจะหนักใจพอสมควร ก่อนหน้ารัฐประหาร ประเด็นคอรัปชั่นของทักษิณถูกหยิบมาอ้างสูงมากและเป็นส่วนสำคัญเลยที่ทำให้คนออกมาหนุนให้โค่นรัฐบาลของเขาลงไป แต่....

ผมไม่เคยคิดว่าผมสนับสนุนรัฐประหารนะ

 

ทีนี้ หลังรัฐประหารมันเลยเกิดภาวะ swing ว่าถ้าเราพูดเรื่องประชาธิปไตย อาจต้องพักเรื่องคอรัปชั่นไว้ก่อน สังคมไทยกำลังเป็นอย่างนั้น

น่าเป็นห่วง ผมคิดว่าสังคมไทย extreme ไปทั้งสองด้าน กระแสหลังรัฐประหารก็อ้างว่า นักการเมืองคอรัปชั่นเป็นคนไม่ดี ดังนั้นต้องเลือกคนดี แล้วฝั่งที่ต้านกระแสนี้ก็บอกว่า คำว่า “คนดี” ไม่มีความหมาย ดูสิ ออกมาก็เละเหมือนกัน  ผมคิดว่านี่ก็ extreme ไปเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราจะสอนเด็กยังไง คนดีไม่มีความหมาย ไม่ต้องไปเป็นคนดีก็ได้ เพียงเพราะเราไม่ชอบการยกอ้าง “ความดี” ที่ใช้กันในทางการเมือง

ความดีนั้นมีอยู่แต่อย่าไปใช้อ้างในทางการเมือง เพราะทุกคนต้องถูกตรวจสอบเหมือนกันหมด ไม่ว่าคนดี ไม่ดีก็แล้วแต่ แต่ถ้าไปไกลขนาดที่ว่าไม่ต้องไปเป็นคนดี แบบนี้มันไปกันใหญ่

 

มันเป็นปัญหาเรื่อง การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาหรือเปล่า บางคนอาจจะบอกว่า หลังรัฐประหารการตรวจสอบคอรัปชั่นอยู่ภายใต้โครงสร้างที่บิดเบี้ยว ซึ่งเขาเห็นว่านั่นสำคัญกว่า เช่น ผู้ที่จะมาตรวจสอบก็มาอย่างมีคำถาม

เพราะมันมีความชอบธรรมน้อย มันจึงต้องอ้างเรื่องความดีส่วนบุคคลขึ้นว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นปัญหาจริง ก็ตรวจสอบกันไปตรงนั้น แต่อย่าลากไปไกลขนาดว่า แม้จะมีการส่งเสริมคนดีนอกบริบทการเมืองก็จะลากไปว่าเป็นสิ่งไม่สมควรทำ ถ้าสังคมไม่พยายามส่งเสริมให้คนเป็นคนดีแม้ว่านอกบริบทการเมืองอีก สังคมคงจะอยู่ไม่ได้แล้ว

ผมเข้าใจประเด็นฝั่งที่ตั้งข้อสังเกตนะ มันก็เป็นการมองแบบ post modern เพราะก็รู้ว่ามีฝั่งที่ใช้วาทกรรมบางเรื่องมาสร้างความชอบธรรม ก็สมควรต้องหักล้างวาทกรรมนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบ ใครบอกว่าคนที่คณะรัฐประหารตั้งมาเป็นคนดี ก็ไปตรวจสอบแล้วในที่สุดมันก็ออกมาอย่างที่พบว่ามีคนถูกตรวจสอบแล้วบุบไปเบี้ยวไป คนก็หูตาสว่างขึ้น แต่อย่าไปทำลายคุณค่าของค่านิยมในสังคมโดยรวมไปหมด เพราะผมว่ามันน่าเป็นห่วง

 

ประเด็นคอรัปชั่นก็เหมือนกัน เวลาพูดว่าคนนี้คอรัปท์ ก็จะมีการโต้ตอบว่าฝั่งนี้ไม่คอรัปท์เหรอ

จึงไม่เป็นปัญหาเลยในมุมนี้ เพราะเรา treat คอรัปชั่นในประเด็นนโยบายสาธารณะ เราไม่ใช่หน่วยงานที่ไปไล่จับคนคอรัปชั่นแบบ ป.ป.ช.เราจึงไม่ได้มีปัญหาในการเล่นกับตัวบุคคล คนนี้เล่น คนนี้ไม่เล่น แต่เราเล่นกับปัญหาในนโยบายสาธารณะจะวางระบบว่าทำอย่างไร ให้ระบบที่เกิดขึ้นเอื้อต่อการคอรัปชั่นได้ยากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ตรวจสอบได้มากขึ้น แต่บางส่วนก็ต้องมองย้อนกรณีศึกษา การมองย้อนกรณีศึกษาผมก็รู้ว่ามันมีความอ่อนไหว จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง วิธีที่ทำให้ง่ายที่สุดคือ เจอมันทุกรัฐบาลนั่นแหละ

 

ทีดีอาร์ไอ จับเฉพาะประเด็นของรัฐบาล

ประเด็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นมาเยอะที่สุดจากรัฐบาล ก็คือครม. เกิดจากนิติบัญญัติคือกฎหมาย และบางครั้งนโยบายสาธารณะก็เกิดจากฝ่ายตุลาการด้วย การตีความกฎหมายบางครั้งก็เป็นการกำหนดนโยบายสาธารณะได้แบบหนึ่ง แต่ไม่ชัดเจนเท่านิติบัญญัติกับบริหาร

 

คิดว่าอาจไม่ใช่หน้าที่ที่อาจารย์จะตอบ แต่มันเป็นวาทกรมที่ว่า การมุ่งตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองมันอาจไปสนับสนุนวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลว

ราชการก็ด้วย เป็น agent ที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นที่สำคัญ และแทบทุกคอรัปชั่นละเว้นไม่ได้เลยคือ ภาคธุรกิจ ที่ข้าราชการอมเงินรัฐเฉยๆ ก็มีแต่ไม่เยอะ ที่เยอะก็คือ การสมคบกันระหว่างราชการ นักการเมืองและธุรกิจ

 

นโยบายเริ่มเหมือนกันไปทุกที ระหว่างสองพรรคใหญ่ในเรื่องประชานิยม ในฐานะทีดีอาร์ไอที่กังวลมากเรื่องความรับผิดชอบทางการคลัง มองอนาคตอย่างไร เพราะแนวโน้มเป็นแบบนี้และไม่น่าจะมีทางเป็นอย่างอื่นเพราะต้องตัดสินกันที่การเลือกตั้ง

ใช่ และการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็คือคนลงคะแนนเสียง ฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำคือ เราจะให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียง เราจะมีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียงเท่าพรรคการเมืองหรือเปล่านั้นช่วยไม่ได้ แต่วิธีการในระบบประชาธิปไตยก็คือ ไม่ใช่ไปเอากฎกติกาที่บิดเบี้ยวเข้าไปแล้วไปล้มนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน

เช่น ไปใช้อำนาจองค์กรอิสระไปล้มนโยบายที่ไม่ว่าจะรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ ประชานิยมหรือไม่ประชานิยมก็แล้วแต่ของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เว้นแต่มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เกินกว่าขอบเขตที่พรรคการเมืองจะสามารถทำได้ แต่ถ้าสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่มีอยู่ วิธีการตรวจสอบที่เหมาะสมที่สุดคือ การตรวจสอบกันทางการเมือง ไม่ใช่การตรวจสอบทางกฎหมาย ไม่ใช่เอาองค์กรอิสระ เอาศาล เอาใครต่อใครเป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลฝ่ายบริหารเพื่อระงับนโยบายที่ตัวเองไม่ชอบ การตรวจสอบที่ควรต้องทำคือการตรวจสอบทางการเมือง พรรคฝ่ายค้านไปถล่มกันเองในสภา แต่บทบาทพวกนี้เราไม่เกี่ยว บทบาทของเราคือ การให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียง

มันอาจต้องใช้เวลานานมากก็ได้กว่าที่ประชาชนจะเข้าใจและรู้ว่าเดินอย่างนี้เดินต่อไม่ได้ มันอาจต้องเกิดวิกฤตขึ้นก่อนก็ได้ อย่างหลายประเทศในละตินอเมริกาเท่าที่ผมทราบ นโยบายแบบนี้หยุดได้เมื่อเกิดวิกฤตและคนรู้ว่ามันไปต่อไม่ได้ ในภาวะปกติที่เศรษฐกิจมันโตอยู่ คนมองไม่เห็น เพราะหนี้สินที่สร้างขึ้นมาแม้มันจะงอกแต่เศรษฐกิจโตขึ้นเร็วกว่า มันดูเหมือนไปได้ แต่เมื่อใดที่เกิดวิกฤต เศรษฐกิจโตไม่ได้ พวกนี้สินและภาระการคลังที่เป็นปัญหาก็จะปูดออกมา มันอาจใช้เวลานานขนาดนั้นก็ได้ แต่ผมหวังว่า สังคมที่ฉลาด นอกจากเรียนรู้จากปัญหาหรือความล้มเหลวของคัวเองแล้ว ควรจะเรียนรู้จากปัญหาของชาวบ้านเขาด้วย เราไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดก่อน เพราะมันจะมีต้นทุนสูงมาก ถ้าเราเรียนรู้จากความล้มเหลวคนอื่นจะลดต้นทุนเราไปได้เยอะ

 

ถามหยาบๆ พรรคการเมืองที่อาจมีความเสี่ยงทางการคลังน้อย แต่มี innovation ทางนโยบายต่ำด้วย ขณะที่พวกมี innovation คิดนโยบายเยอะก็สร้างภาระเยอะ

จะพูดว่า Low Risk, Low Return High Risk, High Return

 

ประมาณนั้น ในเมื่อในความเป็นจริง สภาพมันเป็นแบบนี้ คนลงคะแนนเสียงเขาก็มีวิธีคิด มีมุมแบบหนึ่ง แต่สำหรับนักนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์จะเลือกอะไร?

สิ่งที่เราอยากจะทำ และพยายามสื่อสารกับประชาชน กับสังคมคือ เราอยากจะเห็น ดุลยภาพใหม่ ที่ไม่ใช่มีแค่สองตัวเลือก พวกไม่ทำอะไร กับพวกขยันทำอะไรแต่มีความเสี่ยงสูง จริงๆ การบริหารประเทศมันต้องมองไกลๆ มองยาวๆ แปลว่ามันต้องช่วยกันสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้ยาวๆ มันไม่มีประเทศที่โตได้จากรัฐบาลอัดฉีกเงินไปเรื่อยๆ เพราะเงินมันก็ต้องมาจากที่ใดที่หนึ่งอยู่ดี ไม่จากภาษีก็จากพิมพ์แบงก์ ซึ่งพิมพ์แบงก์ก็ยากแล้วเพราะธนาคารกลางก็เป็นอิสระแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลจะแทรกแซงโดยตรงง่ายๆ ไม่ได้แล้ว เขาไม่พิมพ์แบงก์ให้รัฐบาลใช้หรอก ทางเลือกของรัฐบาลก็มีแค่สร้างหนี้ เอาเงินในอนาคตมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างหนี้เพื่อสร้างการเติบโตไปเรื่อยๆ ในระยะยาว มันจำเป็นบ้างในช่วงขาลง ติดหนี้ติดสินบ้างเพื่อให้มันกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้หนี้สินแล้วสร้างให้เศรษฐกิจโตเป็นไปไม่ได้ ใครๆ ก็รู้ กู้ทุกวี่ทุกวันแล้วไม่มีรายได้กลับมาพอ มันจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างไร

วิธีเป็นไปได้คือสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้แข็ง ถ้าเป็นคนคือไปเรียนหนังสือ ฝึกทักษะ เรียนรู้จากการผิดพลาดของการประกอบกิจการแล้วแก้ไข แต่ไม่ใช่กู้หนี้ยืมสินไปเรื่อยๆ

 

รายได้จากภาษี และจากการเพิ่มผลิตภาพ

การเพิ่มผลิตภาพก็จะทำให้ได้ภาษีเพิ่มขึ้นนั่นแหละ

 

การปรับฐานภาษี คงเป็นไปได้ยาก

เพิ่มภาษีคือเอาเงินจากระบบที่มีอยู่มาเป็นเงินรัฐบาล ไม่ได้ทำให้อะไรใหญ่ขึ้นเลย ภาษีเพียงแต่มีผลทำให้เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้น แค่นั้นเอง ถ้าเก็บภาษีทรัพย์สินก็เอาเงินจากคนรวยไปให้คนที่รวยน้อยกว่า เช่น ใช้จ่ายทำนู่นนี่ แต่เค้กก้อนใหญ่เท่าเดิม หรือเล็กลงด้วยซ้ำ แต่บางครั้งก็ต้องทำเพื่อความเป็นธรรม แต่วิธีที่ให้เค้กใหญ่ขึ้นต้องสร้างผลิตภาพอย่างเดียวเลย ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีสูตรรัด

 

อาจารย์มองนโยบายเรื่องการเพิ่มผลิตภาพของรัฐบาลนี้อย่างไร

คิดว่าเขาเริ่มไปประเด็นที่เห็นชัดว่าจับจุดที่ตรงกับพวกเรา และพูดภาษาเดียวกัน “ไปให้พ้นรายได้ปานกลาง” แต่ของเราไม่ได้ตั้งเป้าหวือหวาแบบนายกฯ นายกฯ ตั้งเป้า 2 เท่า 3 เท่า ภายใน 15 ปี ซึ่งเป็นธรรมชาติของฝ่ายการเมืองที่ต้องทำ marketing แต่นักวิชาการไม่มีความจำเป็นต้องทำ marketing เราบอกว่าถ้าเพิ่ม 3 เท่าใน 15 ปี คุณต้องโตปีละ 8% แปลว่า productivity ของคนไทยต้องกระฉูด แต่ไม่มีมาตรการชัดๆ ในการทำเรื่องนี้เลยแล้วจะโตขนาดนั้นได้ยังไง เป็นเรื่องยากมากๆ ถ้าไม่ใช่ยุคเศรษฐกิจไทยซัก 20 ปีก่อน จะโตต่อเนื่อง 8% ยาวๆ 15 ปียากมาก แล้วตอนนี้คู่แข่งเราก็เยอะขึ้นมา ขณะที่เศรษฐกิจโลก อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปขาลงหมด แล้วจะโต 8% ได้ยังไง มองไม่เห็น แต่ถ้าบอก โต 2 เท่าใน 15 ปี เท่ากับต้องโต 5% กว่าๆ ต่อปี ตรงนี้มีศักยภาพอยู่ แต่ต้องรักษาอัตราการโตให้คงเส้นคงวา อย่าหวือหวา ถ้าร้อนแรงเกินไป มีเศรษฐกิจฟองสบู่ เก็งกำไรกันเยอะๆ ก็จะมีขาลงเหมือนปี 2540

นโยบายที่ต้องการจะพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง คิดว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะมองไกลๆ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากรักษาการเติบโตให้สม่ำเสมอ ซึ่งก็จะพบเองว่าไม่มีวิธีอื่นนอกจากเพิ่ม productivity การเพิ่ม productivity ก็คือ input ไม่ว่าเครื่องจักร แรงงาน พลังงานของคุณมีเท่าเดิม แต่ output ของคุณโตขึ้นกว่าเดิมได้ แปลว่าแรงงานคุณต้องเก่งขึ้น เครื่องจักต้องเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ วิธีการบริหารก็ต้องดีขึ้น ของเสียน้อยลง ประหยัดพลังงานมากขึ้น

ถ้ามองไกลๆ แล้วตั้งเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล คุณก็จะรู้สิ่งที่คุณจะต้องทำ

รัฐบาลมองไกล 15 ปี ดีกว่ารัฐบาลที่มองแค่ชนะการเลือกตั้งสมัยหน้าเท่านั้น วิธีที่มองสั้นกับมองยาว ผลจะต่างกันเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"พล.อ.ประยุทธ์" เตรียมเสนอฝึก นศท. ต้องเกณฑ์ทหาร

$
0
0

ผบ.ทบ. ระบุต้องการนำ นศท. ไปสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ เรียนรู้เรื่องภัยคุกคามประเทศมากมาย และกำลังพิจารณาให้ผู้เรียน นศท. มาเกณฑ์ทหาร เพราะปัจจุบันมีคนเรียน นศท. มากกว่าสัดส่วนเกณฑ์ทหารถึง 3 เท่า เกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรม และต้องขอชมผู้หญิงที่มาเรียน นศท. เพราะไม่ได้สิทธิอะไรทั้งสิ้น

สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ว่า ต้องปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ และให้ทันต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยให้ช่วยเหลือการปฏิบัติการทางทหารเป็นหลัก ดังนั้น ต้องปลูกฝังให้เยาวชน โดยเฉพาะ นศท. ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องให้เรียนรู้ถึงภัยคุกคามที่มีมากมายในทุกประเทศ ทั้งปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว เพื่อทำให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็ง ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้มีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลประเทศชาติให้มากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต่อไปอาจจะเสนอให้ผู้ที่เรียน นศท. เมื่อถึงเวลาตรวจเลือกทหาร จะต้องมาตรวจเลือกด้วย เพราะขณะนี้มีปัญหาว่า ในแต่ละปีมีคนเข้ามาสมัครเรียน นศท. มากกว่า 3 เท่าของสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร ที่กองทัพต้องการทหาร 80,000 นาย และเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ให้เพิ่มอัตรา นศท. ในแต่ละปี ต่อไปหากมีคนเรียน นศท. มากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้สัดส่วนคนเข้ามาเกณฑ์มีจำนวนลดลง และอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ต้องชมเชย นศท. หญิงที่สมัครเข้ามาเรียน ทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิอะไรทั้งสิ้น ผู้หญิงไทยเก่งและเข้มแข็งดี

“ส่วนกฎหมายที่ห้ามเยาวชนต่ำว่า 18 ปีถืออาวุธนั้น เราแก้ปัญหาโดยให้เรียนแค่อาวุธศึกษา ไม่ต้องฝึกยิงปืน เราจะไม่ขัดกฎหมายอื่น ส่วนเรื่องทรงผมนักเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ในส่วนของนักศึกษาวิชาทหารต้องมีกติกา ดังนั้น ผมขอว่าเมื่อทุกคนแต่งเครื่องแบบทหาร ควรจะไว้ผมสั้น มิเช่นนั้นจะแยกแยะไม่ออก ระหว่างทหารกับพลเรือน ถ้าผมและหนวดยาว จะดูไม่เรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาลาลา ยูซาฟไซ เผยความฝันอยากให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ

$
0
0

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่ถูกกลุ่มตอลิบานยิงและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในอังกฤษ ได้ออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ว่าเธอต้องการให้เด็กทุกคนในโลกได้เรียนหนังสือ และมีองค์กรนานาชาติตั้งองค์กรมาลาลาขึ้นตามแนวคิดของเธอ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มตอลิบานมีอาการดีขึ้นจากการเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่

มาลาลา ถูกยิงเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2012 บนรถโรงเรียนหลังจากการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่อังกฤษ โดยล่าสุดมาลาลาได้เข้ารับการผ่าตัดส่วนกระโหลกศรีษะและหู ซึ่งแพทย์เปิดเผยว่าการผ่าตัดครั้งล่าสุดประสบความสำเร็จด้วยดีและมาลาลากำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว

มาลาลาได้กล่าวให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าการผ่าตัดครั้งล่าสุดว่า เธอต้องการทำงานช่วยเหลือผู้คน โดยมีการตั้งกองทุนมาลาลาเพื่อช่วยเหลือให้เด็กทั่วโลกได้รับการศึกษา

"คุณเห็นแล้วว่าในวันนี้ฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันพูดได้ ฉันเห็นคุณ ฉันเห็นทุกคน และฉันก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ" มาลาลากล่าว

"และเป็นเพราะทุกคนที่สวดภาวนาให้กับฉัน พระเจ้าได้ให้ชีวิตใหม่ ชีวิตที่สองกับฉัน และฉันต้องการช่วยเหลือผู้คน ฉันอยากให้เด็กผู้หญิงรวมถึงเด็กทุกคนได้รับการศึกษา และด้วยเหตุผลนี้พวกเราถึงจัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น" มาลาลากล่าว

กองทุนมาลาลาถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์กร Vital Voices ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ช่วยเหลือให้สตรีมีสิทธิมีเสียงในการส่งเสริมสันติภาพและความอุดมสมบูรณ์ในชุมชน ทางองค์กรเปิดเผยว่าพวกเขาจัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้นในนามของมาลาลาและครอบครัวเธอ เนื่องจากเล็งเห็นเรื่องที่มาลาลาต้องการให้เด็กผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษา

โดยเงินทุนก้อนแรกของกองทุนมาลาลาจะมอบให้กับองค์กรในสวัต วาเลย์ พื้นที่บ้านเกิดของมาลาลา เพื่อส่งเสริมให้เด็กหญิงไปโรงเรียนแทนที่จะถูกใช้ไปทำงาน


เรียบเรียงจาก

Malala Yousafzai fund 'to boost education', BBC, 04-02-2013
Malala Yousufzai says she's 'getting better day by day' in recorded message, The Independent, 04-02-2013


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทศกาลวรรณกรรมอิระวดี ครั้งแรกของเทศกาลวรรณกรรมในพม่า

$
0
0

ในประเทศพม่ามีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดีโดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์ มีการเสวนาและเวิร์กช็อป อ่านบทกวี ฉายภาพยนตร์ รวมถึงการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น เป็นครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลวรรณกรรมในพม่า แม้ว่านักเขียนยังคงกลัวว่าการเซนเซอร์ของรัฐบาลจะยังคงอยู่

เมื่อวันที่ 1-3 ก.พ. ที่ผ่านมา ประเทศพม่าได้มีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดี ขึ้นที่โรงแรมอินยาเลค โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากมายทั้งนักเขียน, กวี, อดีตนักโทษการเมือง ทั้งจากในพม่าและจากต่างประเทศ โดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์งานในครั้งนี้

งานเทศกาลวรรณกรรมในพม่าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ในงานมีการจัดเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพม่า มีทั้งการเวิร์กช็อปฝึกปฏิบัติเรื่องการเป็นช่างภาพข่าว การเสวนาเรื่องการเซนเซอร์และการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการอ่านบทกวีและการฉายภาพยนตร์

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่ามีเทศกาลวรรณกรรม ผู้ร่วมงานชาวพม่าหลายคนไม่รู้จักผู้มีชื่อเสียงที่มีรายชื่ออยู่ในงาน และมีนักเขียนบางคนที่ยังแสดงความกังวลเรื่องการเซนเซอร์งานของพวกเขา

มีผู้เข้าร่วมหลายคนลุกขึ้นเล่าเรื่องราวการตกเป็นนักโทษการเมืองภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารตลอด 50 ปีที่ผ่านมา บ้างก็ถามว่าจะทำอย่างไรให้วรรณกรรมส่งอิทธิพลต่อประเทศ ในงานยังมีการวางเต็นท์ขายหนังสือมือสองอยู่รอบๆ ลานจัดงานและมีกวีกับนักเขียนรวมกลุ่มกันอยู่ที่โต๊ะปิคนิคเสวนากันเรื่องศิลปะและวรรณกรรม

ในการเสวนามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมถึงอองซานซูจีผู้อุปถัมภ์ของงานนี้เข้าร่วมเสวนาด้วย โดยซูจีกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากว่าหนังสือเป็นเครื่องคลายเหงาในเวลาที่เธอถูกสั่งกักขังในบ้านของตัวเองเกือบ 20 ปี ซูจียังได้กล่าวติดตลกอีกว่าแม้ว่าจะมีคนมองว่าเธอกล้าหาญเช่นใดก็ตาม เธอก็ไม่กล้าหาญมากพอจะทำแบบแฮรี่ พอตเตอร์

"การอ่านทำให้คุณเข้าใจว่าคนอื่นๆ คิดอย่างไรและพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง" ซูจีกล่าว "นอกจากนี้มันยังช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาในชีวิตคุณเองได้ด้วย"

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าสำหรับชาวพม่าแล้ว การจัดงานเทศกาลในครั้งนี้เป็นเหมือนเรื่องเหนือจริง (surreal) ที่เปิดหนทางให้พวกเขาได้พบวิถีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดหลายสิบปีในประเทศของพวกเขา

ชเวกู เม ฮิน นักเขียนเรื่องการเมืองในพม่าซึ่งเคยติดคุกในช่วงต้น 1990s กล่าวว่าเทศกาลนี้เป็นงานที่ดีสำหรับพวกเขา พวกเขาได้พบกับนักเขียนจากต่างประเทศ ได้พูดแสดงความรู้สึกและแลกเปลี่ยนความรู้

แต่นักเขียนจากต่างประเทศก็มีหลายคนที่ชาวพม่าไม่รู้จักเนื่องจากประเทศพม่าถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก โดยที่วรรณกรรมคลาสสิกยิ่งใหญ่หลายเรื่องจะถูกเซนเซอร์ก่อนที่จะถูกนำเข้ามาในโรงเรียน

เจน เฮียน ผู้อำนวยการจัดงานเทศการและภรรยาเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวว่า ประเทศพม่าชื่นชอบวรรณกรรมมาก แต่พม่าก็ขาดการเข้าถึงวรรณกรรมมาก่อน

นอกจากนี้แล้วในงานนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างชาติมีโอกาสได้อ่านหรือได้ฟังวรรณกรรมและบทกวีของพม่าอีกด้วย


รางวัลวรรณกรรม ของเด็ก 17 ที่เขียนเรื่องสงคราม

ผู้ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นอันดับหนึ่งในเทศกาลนี้คือนักเรียนอายุ 17 ปี ชื่อ อองซินเปียวเทียน ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการค้าประเวณี, การติดสุรา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และได้สะท้อนมุมมองสงครามชนกลุ่มน้อยในคะฉิ่น

อองซินกล่าวว่าเขาได้เห็นเรื่องราวความโหดร้ายต่างๆ จากข่าวรายวัน "ปกติแล้วเวลาพวกเราได้ยินเรื่องสงคราม พวกเรามักจะนึกถึงอิรักหรืออัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้มันใกล้ตัวพวกเรามาก มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วฉันก็ก็หันมาสนใจเรื่องนี้เพราะในสงครามจะมีสองฝ่ายสู้กันแต่บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องจะตาย"


ความหวังทางวรรณกรรมต่อคนหนุ่มสาว

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าในขณะที่พม่าค่อยๆ เปิดประเทศอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โลกภายนอกก็ค่อยๆ รับรู้เรื่องราวของประเทศนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยล่าสุดมีการรวบรวมบทกวีร่วมสมัยของพม่าในชื่อ 'Bones Will Crow' ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ขณะที่ทางการม่าก็ปิดตัวกองเซนเซอร์ไปเมื่อปีที่แล้ว (2012) และยอมผ่อนผันการควบคุมเนื้อหาซึ่งเคยทำให้นักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุกมาแล้ว

แต่นักเขียนหลายคนก็ยังกลัวรัฐบาล และเกรงว่าเสรีภาพที่เพิ่งได้รับมาใหม่นี้จะถูกช่วงชิงเอาไปเมื่อใดก็ได้

ซาว ไว กวีพม่ากล่าวว่าเขาไม่กลัวที่จะเขียนสิ่งที่เขาอยากเขียน แต่บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ยังคงกลัวไม่ยอมพิมพ์บทกวีของเขา โดยก่อนหน้านี้ในปี 2008 ซาว ไว เคยถูกรัฐบาลจับกุมกลังเขียนบทหวีวันวาเลนไทน์ที่ซ่อนรหัสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอาไว้

"ประธานาธิบดีบอกเราว่าพวกเราควรจะมีสิทธิในการแสดงความเห็น แต่การนำมาปฏิบัติจริงยังคงอ่อนอยู่ พูดตามตรงเลยคือผมยังคงรู้สึกว่าเรื่องราวในอดีตยังคงหลอกหลอน" ซาว ไว กล่าว

ดังนั้นความหวังจึงไปตกอยู่กับเยาวชนหนุ่มสาวของพม่า ผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน

อองซิน กล่าวว่า เขาเป็นคนแกที่ชนะรางวัลวรรณกรรมเทศกาลอิระวดี และต้องการให้สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวรายอื่นๆ หันมาเขียนหนังสือ

"ลงมือเขียนเลย อย่าได้กลัว" อองซินกล่าว


เรียบเรียงจาก

Burma literary festival flourishes under patron Aung San Suu Kyi, The Guardian, 03-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: เมื่อมหาลัยลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการ ตัดเน็ต-ไล่ออก

$
0
0

สัปดาห์นี้ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ที่ออกรายงานความโปร่งใส, รายได้ของเฟซบุ๊กที่สูงเกินคาด, ยูทูปเปิดช่องให้บริการแบบเสียเงินเป็นครั้งแรก และห้องสมุดฝรั่งเศสที่ให้เอกชนแปลงไฟล์เป็นทรัพย์สินดิจิตอลสาธารณะ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

30-01-2013

มหาวิทยาลัยลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักศึกษาด้วยการ "ตัดเน็ต" และของบุคลากรด้วยการเชิญให้ออก

ทางมหาวิทยาลัยมีบทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยของนักศึกษาด้วยการตัดเน็ตชั่วคราวและเรียกมาอบรมตักเตือน แต่ถ้าหากถูกเตือนครบ 3 ครั้งทางมหาวิทยาลัยจะตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจองนักศึกษาผู้นั้นอย่างถาวร ทั้งนี้ก็มีบุคคลากรผู้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยถูกเชิญให้ออกเช่นกัน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเดียวที่มีนโยบายแบบนี้ รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้บรรดาสถาบันอุดมศึกษาระงับยับยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2010 แล้ว และสถาบันที่ไม่ทำตามก็ต้องเสี่ยงกับการโดนตัดงบประมาณจากรัฐ

News Source: http://torrentfreak.com/university-of-illinois-disconnects-pirating-students-staffer-asked-to-leave-130129/

 

ผู้จัดการวง Metallica บอกว่าถ้ามีผู้ลงทะเบียนจ่ายค่าใช้บริการฟังเพลงออนไลน์ครบ 20 ล้านคนทั่วโลก บริการเหล่านี้จะให้ค่าตอบแทนกับนักดนตรีได้ดีกว่าการขายเพลงออนไลน์

ทั้งนี้ยอดผู้ลงทะเบียนบริการฟังเพลงออนไลน์ต่างๆ ทั่วโลกขณะนี้เกิน 10 ล้านคนไปแล้วและกำลังเข้าใกล้ 15 ล้านคนไปเรื่อยๆ

News Source:  http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130129metallica    

 

Twitter ออกรายงานความโปร่งใสแล้ว รายงานชี้ว่ารัฐบาลทั่วโลกเรียกร้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับ Google

นอกจากนี้รัฐบาลหลายยังเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาจำนวนหนึ่งอีกด้วย ซึ่งทาง Twitter ก็มีนโยบายว่าจะทำการเซ็นเซอร์เมื่อมีหมายศาลเท่านั้น และจะโพสต์เนื้อหาที่ถูกเซ็นเซอร์ลงในเว็บ www.chillingeffects.org ด้วยเพื่อให้สาธารณะชนรับรู้ถึงการเซ็นเซอร์

News Source:  https://www.eff.org/deeplinks/2013/01/google-twitters-new-transparency-report-shows-increase-government-demands-sheds

 

YouTube จะเริ่มมีบริการช่องพิเศษแบบเก็บค่าสมาชิกแล้ว

ทั้งนี้ YouTube มีแผนที่จะเปิดช่อง "เสียเงิน" 25 ช่องก่อน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเก็บค่าบริการเป็นการดูต่อครั้งหรือจะเก็บค่าบริการเป็นก้อนใหญ่ๆ แบบเหมาจ่าย

News Source:  http://paidcontent.org/2013/01/29/report-youtube-will-start-charging-for-premium-content/

 

Washington Post รับทุนจาก Knight Foundation มาสร้างโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำปราศรัยทางการเมืองแบบทันทีที่พูด

ทั้งนี้โปรแกรมนี้ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนคำพูดเป็นตัวอักษร และขณะนี้ยังเป็นแค่ตัวต้นแบบเท่านั้น

News Source:  http://paidcontent.org/2013/01/29/can-you-automate-political-fact-checking-in-real-time-truth-teller-is-going-to-try/

 

ยอดขายอีบุ๊คของ Amazon เพิ่มขึ้นราว 70% จากปี 2011 ในปี 2012

ทั้งนี้อเมซอนก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขของยอดขาย Kindle แต่กล่าวเพียงว่า Kindle Fire HD เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดของบริษัท

News Source:  http://gigaom.com/2013/01/29/amazon-reports-increased-profits-and-ebook-sales-up-70-in-2012/

 

คดี "แชร์ไฟล์" คดีแรกของนิวซีแลนด์จบลงแล้วที่การตัดสินของศาลลิขสิทธิ์ให้จำเลยจ่ายกว่า 15,000 บาท สำหรับการดาวน์โหลดและแชร์เพลง 3 เพลง

รายละเอียดของสิ่งที่จำเลยต้องจ่ายคือ

1.ราคาขายของ 3 เพลงที่ดาวน์โหลดไปคือ 6.57 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

2.ค่าส่งหมายแจ้งเตือนการละเมิด 50 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

3.ค่าการดำเนินคดีของโจทก์ 200 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

4.ค่าความเสียหายของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อตลาด 360 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (120 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่อเพลง)

รวมแล้วต้องเสีย 616.57 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 15,414.25 บาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่านิวซีแลนด์ต่อ 25 บาท)

แน่นอนว่านี่เป็นเงินที่ต้องจ่ายน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับอเมริกาที่การละเมิดเพลงหนึ่งเพลงนั้นอาจทำให้จำเลยต้องเสียเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,500,000 บาทอันเป็นค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้

News Source:  http://torrentfreak.com/first-kiwi-file-sharer-guilty-but-lack-of-evidence-kills-large-fines-130130/, http://www.techdirt.com/articles/20130130/01323721822/nz-copyright-tribunal-accusations-are-presumed-infringement-despite-denials.shtml

 

31-01-2013

Facebook ทำรายได้ได้เกินเป้านักวิเคราะห์ในไตรมาสที่ 4

ทางเว็บทำรายได้ได้สูงถึง 1,580 ล้านดอลลาร์ซึ่งเหนือกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ที่ 1,530 ล้านดอลลาร์ และรายได้ในปี 2012 รวมก็อยู่ที่ 5,090 ล้านซึ่งสูงกว่าปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 3,710 พันล้าน

ทั้งนี้รายได้จากโฆษณาทางมือถือก็เพิ่มขึ้นมามาก และระบบ Graph Search ใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำมาซึ่งรายได้ของ Facebook ต่อไป

News Source:  http://gigaom.com/2013/01/30/facebook-beats-analyst-expectations-reports-1-58-billion-in-q4-revenue/

 

01-02-2013

หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสให้บริษัทเอกชนแปลงงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเป็นแบบดิจิทัลครั้งใหญ่

โดยสิ่งที่ถูกแปลงมีหนังสือเก่ากว่า 70,000 เล่มและงานบันทึกเสียงเก่ากว่า 200,000 ชิ้น ซึ่งทางบริษัทเอกชนก็ได้อภิสิทธิ์ในการผูกขาดในการแสดงกำไรกับงานทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะนี้ในรูปแบบดิจิทัล 10 ปีก่อนงานดิจิทัลเหล่านี้จะกลายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะร่วมกับบรรดาเอกสารต้นฉบับ

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130130/07141521824/french-national-library-privatizes-public-domain-materials.shtml

 

กระทรวงวัฒนธรรมรัสเซียออกร่างแก้กฎหมายลิขสิทธิ์บังคับให้ทั้งเว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ลงจากระบบภายใน 24 ชม. หลังมีการแจ้งเตือน

โทษของการไม่ปฏิบัติตามคือการปรับ 3,000 รูเบิล (ประมาณ 3,000 บาท) สำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคล และปรับ 500,000 รูเบิล (ประมาณ 500,000 บาท) สำหรับผู้กระทำเป็นที่เป็นบริษัท และอาจถูกระงับธุรกิจ 90 วันหรือกระทั่งยึดเซิร์ฟเวอร์ด้วย

ทั้งนี้คาดว่าการเคลื่อนไหวแก้กฎหมายลิขสิทธิ์นี้เกิดจากความพยายามจะเข้าร่วม WTO ของรัสเซียนั่นเอง

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130129/07442821814/russian-ministry-culture-publishes-draft-anti-piracy-law-requires-takedowns-within-24-hours.shtml, http://torrentfreak.com/russia-wants-to-fine-websites-for-poor-copyright-takedowns-130131/

 

02-02-2013

จีนพิจารณาจะเลิกแบน "เครื่องเกม" แล้ว

ทั้งนี้ จีนได้ทำการแบนห้ามขายและนำเข้า "เครื่องเกม" มาเป็นสิบปีแล้ว แต่สิ่งที่มีอยู่เต็มตลาดคือเครื่องเกมเถื่อนไปจนถึงสินค้าถูกกฎหมายที่เล่นเกมได้แต่ไม่ได้เรียกว่า "เครื่องเกม" ซึ่งการยกเลิกการแบนเครื่องเกมนี้ก็ว่ากันว่าจะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหญ่ของอุตสาหกรรมเกมทีเดียว

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130128/06500121808/report-suggests-china-may-lift-console-gaming-ban.shtml

 

Kim Dotcom ท้าให้ปลดการเข้ารหัสของเว็บ MEGA ได้ โดยมีเงินรางวัล 10,000 ยูโรให้สำหรับผู้ทำสำเร็จ

News Source:  http://arstechnica.com/security/2013/02/kim-dotcom-promises-13600-to-anyone-who-breaks-mega-encryption/  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

$
0
0

"..ผมอยากได้ทางจักรยาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางจากการจราจรอันติดขัด ไม่ใช่ขี่ไปเที่ยวโชว์ตัวเหมือนผู้สมัครผู้ว่าทุกคน ผมอยากบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของรถยนต์เท่านั้น รถจักรยานก็มีสิทธิ์ใช้ถนนด้วย.."

3 ก.พ.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก

บันทึกคำบอกเล่าจำเลย: 'พินิจ จันทร์ณรงค์' จากแรงงานต่างประเทศ สู่ นักโทษคดีเผา CTW

$
0
0

 

พินิจ จันทร์ณรงค์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (Central World – CTW) เหตุเกิดเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เขาถูกจับกุมตัวที่ลานจอดรถของห้าง ทุกวันนี้เขาอยู่ที่เรือนจำพิเศษหลักสี่ร่วมกับผู้ต้องขังเสื้อแดงในคดีเกี่ยวเนื่องทางการเมืองคดีอื่นๆ

คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์นี้มีผู้ต้องหาร่วมกันอีกคนหนึ่งคือ สายชล แพบัวรวมถึงเยาวชนอีก 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวและต่อมาศาลเยาวชนได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 12 ธันวาคม 2555  (อ่านที่ศาลยกฟ้อง 2 เยาวชน จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าตัววอนเยียวยา "เรียนและงาน") เยาวชนทั้งสองยังโดนข้อหาปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ด้วย แต่ภายหลังศาลก็สั่งยกฟ้องเช่นกัน (อ่านที่ยกฟ้อง 2 เยาวชน คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 53-ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอกำหนดโทษ 1 ปี) ขณะที่คดีปล้น จำเลยที่เป็นผู้ใหญ่อีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 คนถูกขังยาว 1 ปีครึ่งก่อนศาลจะพิพากษายกฟ้อง (อ่านที่ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง)

วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้คดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้น ก่อนนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

เราคุยกับสายชลผู้ต้องหาร่วมในคดีนี้ไปแล้ว (อ่านที่ บันทึกคำบอกเล่าจำเลย: สายชล แพบัว ) และครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับพินิจ ทั้งหมดเป็นเพียงคำบอกเล่าของเขา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้พูดกับสังคม ส่วนที่เหลือนั้นคงขึ้นกับวิจารณญาณผู้อ่าน

 

พินิจ จันทร์ณรงค์ เป็นชาว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2527 ฐานะทางบ้านแม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ยากจน เขาชอบที่จะทำงานหารายได้มากกว่าเรียนหนังสือ หลังจากที่เขาจบการศึกษาชั้น ม.3 จาก ร.ร.หนองบัวแดงวิทยาคม เขาจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพโดยอาศัยอยู่กับน้าและทำงานเป็นพนักงานในโรงงานขนาดเล็กผลิตภาชนะพลาสติกแห่งหนึ่งแถวหนองแขม ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำงานของน้าโดยมีได้รายได้เพียงวันละ160 บาท

1 ปีผ่านไปรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายเขาจึงลาออก และกลับไปเรียนต่อปวช.สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิจนสำเร็จการศึกษาเขาเดินทางไป จ.อยุธยาเพื่อทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งใน อ.วังน้อยโดยทำหน้าที่ Quality Assurance (QA) เขาเช่าห้องอยู่คนเดียวโดยมีได้รายได้เพียงวันละ180 บาท

8 เดือนผ่านไปรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายเขาจึงลาออกอีกครั้ง ครั้งนี้บิดาของเขาแนะนำให้เขาเรียนเรียนวิชาชีพช่างไม้เพื่อที่จะได้ไปขุดทองที่ต่างประเทศ เขาจึงเรียนวิชาชีพช่างไม้ในโรงเรียนฝึกอาชีพแห่งหนึ่งแถวดอนเมือง แม้จะใช้เวลาเรียนเพียง3 เดือนแต่ค่าเล่าเรียนสูงถึง 100,000 บาททางบ้านยอมกู้เงินเพื่อให้เขาเรียนเพราะหวังให้เขาไปขุดทองที่ต่างประเทศ(โรงเรียนแห่งนี้รับรองผลผู้ที่จบการศึกษาจะได้ไปทำงานต่างประเทศ)

หลังจบการศึกษาเขาเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อทำงานในโรงงานผลิตท่อสแตนเลสสำหรับใช้ในโรงกลั่นน้ำมันโดยทำสัญญาการจ้างงานเป็นเวลา1 ปี เขามีรายได้วันละ 35 ดอลล่าสิงคโปร์(ประมาณกว่า800 บาท) และได้ค่าล่วงเวลา(OT) อีกชั่วโมงละ 5 ดอลล่าสิงคโปร์ (ประมาณกว่า100 บาท) ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่นี่เขาอาศัยอยู่ในย่านชุมชนชาวไทยในสิงคโปร์ทุกเดือนเขาจะส่งเงินกลับบ้านประมาณ 10,000 บาท

ที่แห่งนี้แม้จะมีรายได้สูงกว่าประเทศไทยมากแต่เขาก็ทนคิดถึงบ้านไม่ไหว หลังครบสัญญา 1 ปีแม้โรงงานจะให้เขาต่อสัญญาอีกแต่เขาก็ปฏิเสธ และเลือกที่จะกลับประเทศไทย แต่ก่อนที่จะกลับประเทศไทยเขาได้จดรายละเอียดการรับสมัครงานของบริษัทหลายแห่งของที่นี่ (ป้ายรับสมัครงานคนไทยมีติดตามร้านค้าย่านชุมชนชาวไทยในสิงคโปร์) เผื่อว่าในอนาคตเขาจะกลับมาทำงานที่นี่อีกครั้งเขากลับประเทศไทยพร้อมกับเงินเก็บกว่า 100,000 บาท

หลังจากที่เขากลับมาอยู่จ.ชัยภูมิเขาทำงานที่ Index Living Mall ในอ.เมืองโดยมีได้รายได้เพียงวันละ 200 บาทระยะทางที่ห่างไกลเขาจึงต้องอาศัยอยู่ในอ.เมือง โดยเช่าห้องอยู่คนเดียวหลายเดือนผ่านไป เขาคิดที่จะกลับไปทำงานที่สิงคโปร์อีกครั้งการสมัครงานครั้งนี้ง่ายกว่าครั้งก่อน เพราะไม่ต้องเสียค่านายหน้าเขาเขียนจดหมายสมัครงานโดยตรงกับบริษัทที่รับสมัครงานในสิงคโปร์

เดือนเม.ย. 53 มีการชุมนุมที่หน้าศาลากลาง จ.ชัยภูมิเป็นการชุมนุมหลังการสลายการชุมนุม10 เม.ย. 53 เขารู้สึกไม่พอใจที่ทหารใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมดังนั้นเขาและพี่ชายจึงเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมด้วยหลายวันโดยร่วมชุมนุมหลังจากเลิกงานมีแกนนำท้องถิ่นหลายคนระดมคนเข้าไปในกรุงเทพ เขาและพี่ชายจึงเดินทางเข้ากรุงเทพด้วยโดยเสียค่าเดินทาง 400 บาท พวกเขาต้องเช่ารถแท็กซี่เพราะขึ้นรถที่แกนนำฯจัดไว้ไม่ทัน

เมื่อเดินทางมาถึงสี่แยกราชประสงค์เขาและพี่ชายอาศัยอยู่กับเต็นท์ของจ.ชัยภูมิ เขาและพี่ชายชอบเดินไปทั่วบริเวณทั้งใน-นอกสี่แยกราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุม เขาและพี่ชายปักหลักอยู่ที่นี่ตลอดจนถึงวันที่19 พ.ค. 53 แม้รัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่พวกเขาก็ไม่ยอมออก เขาและพี่ชายอยู่ร่วมในเหตุการณ์โดยตลอดและยืนยันว่าเหตุการณ์การยิงเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 53 แล้ว

ในวันที่19 พ.ค. 53 หลัง ศอฉ. สลายการชุมนุมและแกนนำ นปช. มอบตัวแล้วตอนนั้นเขาอยู่ที่ศาลาแดง (ถ.สีลม) ส่วนพี่ชายของเขาอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ หลังจากที่เขาทราบข่าวแกนนำนปช. มอบตัวจากเครื่องกระจายเสียงเขาก็รีบเดินทางกลับมาที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อตามหาพี่ชายที่วัดปทุมวนาราม เพราะตอนนั้นแกนนำ นปช. ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม

เขาเดินเท้ามาถึงวัดปทุมวนารามเวลาประมาณ 12.00 น. เขาพยายามตามหาพี่ชายในวัดปทุมวนารามเป็นเวลากว่า1 ชม. แต่ก็ไม่พบเขาพยายามโทรศัพท์หาพี่ชายหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีสัญญาณเขาได้ยินเสียงปืนตลอดเวลาบริเวณถนนด้านหน้าวัดปทุมวนาราม

ผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาในวัดปทุมวนารามมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายในวัดแน่นขนัด ผู้ชุมนุมบางคนบอกกับเขาว่าผู้ชุมนุมหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวไป รพ.ตำรวจ (ฝั่งตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์) เขาจึงตัดสินใจที่จะเข้าไปในรพ.ตำรวจเพื่อตามหาพี่ชายตอนนั้นเสียงปืนดังลั่นไปทั่วผู้ชุมนุมจำนวนมากพยายามหลบเข้าไปในรพ.ตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจปิดประตู เขาพยายามปีนรั้วเข้าไปแต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงมา

เสียงปืนยังคงดังสนั่น เขาก้มหมอบลงกับพื้นและคลานไปหลบหลังเสาของรถไฟฟ้าBTS ด้วยความกลัวเขาจึงพยายามหาที่หลบภัยแห่งใหม่ที่ปลอดภัยกว่า จึงคลานเลาะมาทางเซ็นทรัลเวิลด์ (ด้านทางออกจากลานจอดรถข้างวัดปทุมวนาราม) ตอนนั้นเขาคิดจะกลับเข้าวัดปทุมวนารามอีกครั้ง แต่เห็นคนเสื้อแดงหลายคนตะโกนบอกว่าไม่ต้องเข้ามา ดังนั้นเขาจึงต้องเดินเข้าไปหลบในช่องที่รถออกจากลานจอดรถของเซ็นทรัลเวิลด์ เขายืนยันว่าเวลานั้นเซ็นทรัลเวิลด์ยังไม่เกิดเพลิงไหม้

เมื่อเดินเข้าไปในลานจอดรถชั้นใต้ดินของเซ็นทรัลเวิลด์ เขาก็ต้องรู้สึกแปลกใจเพราะไม่เห็นใครอยู่ในนี้เลยแม้แต่คนเดียว ทางเดินมืดมาก เขาเดินเข้าไปที่บันไดด้านข้าง ทันใดนั้นมีตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขา

ตำรวจถามว่าเขามาทำอะไรที่นี่เขาตอบว่า “มาซ่อนตัว” ตำรวจสั่งให้เขาหมอบลงกับพื้นเขาปฏิบัติตาม หลังจากนั้นตำรวจค้นตัวของเขาโดยละเอียดแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด จากนั้นตำรวจบอกว่าให้ตามมาเพราะเดี๋ยวจะมีรถมารอรับที่ชั้น 3

เขาเดินตามตำรวจขึ้นบันไดลานจอดรถเมื่อถึงชั้น 3 ตำรวจหันหน้ามาบอกกับเขาว่า"เดี๋ยวรัดสายข้อมือนะ"

ตำรวจเอาสายรัดข้อมือพลาสติกมารัดข้อมือทั้งสองข้างของเขาไพล่หลังตำรวจพาเขาเดินลึกเข้าไปด้านในของลานจอดรถเขาเห็น รปภ.เซ็นทรัลเวิลด์กว่า300 คนอยู่ด้านในเมื่อเขาเดินผ่านกลุ่ม รปภ. เหล่านั้นรปภ. หลายคนถ่ายรูปของเขาไว้

 

พินิจ (เสื้อเขียว)ขณะถูกจับกุม (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

 

ตำรวจพาเขาเดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง เป็นห้องขนาดเล็กมีประตูกระจก เขาเห็นตำรวจ 4-5 คนกำลังยืนรออยู่ตำรวจที่พาเขามาเดินจากไปส่วนตำรวจที่รออยู่สั่งให้เขาหมอบลงกับพื้น แต่ครั้งนี้เขารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลจึงไม่ยอมหมอบ ตำรวจจึงแตะขาพับของเขาจนเขาต้องทรุดเข่าลง แต่ยังไม่หมอบลงกับพื้น ตำรวจคนหนึ่งจึงเหยียบที่หลังของเขาจนเขาต้องหมอบลงกับพื้นตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าเงินของเขา

ตำรวจสั่งให้เขาถอดเสื้อออกแต่เขาถอดไม่ได้ เพราะมือถูกมัดอยู่ตำรวจคนหนึ่งใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าช็อตที่เอวด้านซ้ายของเขา 1 ทีเขารู้สึกชาไปทั้งตัวจนไม่สามารถขยับตัวได้ หลังจากนั้นตำรวจคนดังกล่าวหยิบมีดคัทเตอร์ออกมาแล้วใช้มีดคัทเตอร์กรีดเสื้อยืดของเขาที่ตรงกลางเสื้อด้านหลังเสื้อจากหลังคอลงไปถึงเอว เขาไม่สามารถถอดเสื้อได้เพราะติดมือที่ถูกสายรัดอยู่เสื้อจึงต้องห้อยอยู่อย่างนั้น รปภ. คนหนึ่งเทน้ำจากขวดน้ำดื่มรดตั้งแต่หัวของเขาลงไปถึงเอว

 

พินิจ ขณะถูกจับและมีดคัทเตอร์กรีดเสื้อยืด (ภาพจาก ศปช.)

 

ตำรวจสั่งให้ลุกขึ้นแต่เขาลุกไม่ไหว เนื่องจากยังชาจากการถูกช็อตไฟฟ้า รปภ. ช่วยพยุงเขาลุกขึ้นมาและพาออกจากห้องเพื่อไปรวมกับกลุ่มคน 4-5 คนที่นั่งรออยู่ด้านนอกทั้งหมดถูกหมัดมือไพล่หลังเช่นเดียวกับเขาโดยผู้ชาย3 คนไม่สวมเสื้ออีก2 คนแต่งกายเป็นผู้หญิงจึงไม่ได้ถอดเสื้อ(เขามาทราบภายหลังว่าผู้ชาย3 คนที่ไม่สวมเสื้อคือคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม, พรชัย โลหิตดีและ ยุทธชัย สีน้อย ส่วน 2 คนที่แต่งกายเป็นหญิงคือเจียมทองมา และ อาทิตย์ เบ้าสุวรรณ) เขาเป็นเพียงคนเดียวที่สวมเสื้อที่ขาดด้านหลังเขาสังเกตเห็นตำรวจถือกระสุนปืน1 พวงด้วย

 

ตำรวจถือกระสุนปืน 1 พวง (ภาพจาก ศปช.)

 

ระหว่างนั้นมีผู้ชายอีก3 คนถูกมัดมือไพล่หลังไม่สวมเสื้อทยอยเข้ามา(เขามาทราบภายหลังว่าผู้ชาย3 คนคือวิศิษฐ์ แก้วหล้า, ภาสกร ไชยสีทา และ อัตพล วรรณโต) พวกเขานั่งรออยู่ไม่นานมีรถปิคอัพมารับพวกเขาทั้งหมดออกจากลานจอดรถ เขาสังเกตเห็นคราบเลือดแห้งกรังอยู่บนพื้นของรถปิคอัพคันนั้น

ทั้ง 9 คนถูกพาตัวออกมาจากเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อไปยังทางรถออกจากลานจอดรถของห้างสยามพารากอนรถจอดอยู่ที่ข้างน้ำตกพวกเขาถูกนำตัวลงจากรถเพื่อไปนั่งอยู่ใกล้ๆกับกลุ่มผู้ชาย 4-5 คนที่นั่งรออยู่ก่อนหน้านี้ พวกเขาถูกมัดมือไพล่เช่นเดียวกันเขาสังเกตเห็นทหารจำนวนมากยืนอยู่เต็มพื้นที่เขายืนยันว่าเวลานั้นเซ็นทรัลเวิลด์ยังไม่เกิดเพลิงไหม้

ตำรวจสอบถามรายชื่อของพวกเขาทุกคนรวมทั้งผู้ถูกจับกุมที่นั่งรออยู่ริมน้ำตกห้างสยามพารากอนเพื่อทำประวัติ หลังจากนั้นเขาและผู้ถูกจับกุมทั้งหมดประมาณ 13-14 คนถูกพาขึ้นรถคุมขังของตำรวจรถคุมขังของตำรวจขับผ่านด่านทหารที่กำลังดูแลพื้นที่ทหารตรวจสอบใบผ่านทางอย่างละเอียด ก่อนที่จะปล่อยให้รถคุมขังของตำรวจผ่านไปรถคุมขังของตำรวจนำพวกเขาทั้งหมดไปสน.ปทุมวัน

เมื่อถึงสน.ปทุมวันพวกเขาลงจากรถ และถูกแยกสอบสวนเป็น2 ห้อง(ห้องแรกคือเขาและผู้ถูกจับกุมที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์รวม9 คนห้องที่2 คือกลุ่มผู้ถูกจับกุม4-5 คนที่นั่งรออยู่ริมน้ำตกห้างสยามพารากอน) ตำรวจสน.ปทุมวันตัดสายรัดข้อมือของพวกเขา คืนโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าเงินให้กับพวกเขา หลังจากสอบสวน และทำประวัติเสร็จตำรวจคืนเสื้อผ้าที่ยึดไปจากพวกเขาก่อนหน้านี้ให้กับพวกเขา

ตำรวจหาเสื้อตัวหนึ่งมาให้เขาเปลี่ยนเขาได้ยินตำรวจคุยกันว่าจะแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับพวกเขาทั้งหมดหลังจากนั้นพวกเขาถูกพาตัวไปถ่ายรูปและพิมพ์ลายนิ้วมือเมื่อผ่านไปถึงคนที่7 ตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามา

"คุมตัวพวกเขาไว้ก่อน"

"ทำไม"

"รองไก่สั่งมา"

ตำรวจที่กำลังทำประวัติเดินออกไปประชุมกับตำรวจที่เพิ่งเข้ามาในห้องข้างๆ ทิ้งให้พวกเขาทั้งหมดรออยู่ในห้อง หลังจากนั้นไม่นานมีตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมถือกระสุนปืน 1 พวงที่เขาเห็นที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์ก่อนหน้านี้เข้ามาในห้องสอบสวนแล้วถามว่า"ของใครวะ"

พวกเขาทั้งหมดเงียบกริบไม่มีใครรับ

"งั้นก็รับหมดทั้ง 9 คนก็แล้วกัน" ตำรวจว่า

ตำรวจเดินออกไปจากห้องสอบสวนพร้อมกระสุนปืน สักพักตำรวจอีกคนเดินเข้ามาพร้อมกระสุนปืนพวงเดิมและถามหาเจ้าของอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครรับเหมือนเดิม ตำรวจรายเดิมบอกว่าดูหน้าผู้ต้องหาแล้วไม่น่ามีใครมีปืน แต่เขาก็ยังคงแจ้งข้อกล่าวหา "งั้นตามเวรตามกรรมแล้วกัน มีแค่กระสุนปืนจะทำอะไรได้ เป็นไพร่ก็แบบนี้แหละ"

ตำรวจแนะนำให้พวกเขาไม่ต้องพูดอะไรรอให้การในศาลเท่านั้น และให้พวกเขาลงลายมือชื่อปฏิเสธ พวกเขาทั้งหมดนั่งรออยู่ในห้องสอบสวนเขาโทรศัพท์หาพี่ชายอีกครั้ง ครั้งนี้พี่ชายเขารับสายและบอกว่ายังติดค้างอยู่ที่วัดปทุมวนารามซึ่งยังมีเสียงปืนไม่หยุดหย่อน ขณะที่เขาแจ้งพี่ชายไปว่าเขาอยู่โรงพักจากนั้นเขายื่นโทรศัพท์มือถือให้กับตำรวจตำรวจแนะนำให้พี่ชายของเขาหาที่หลบกระสุนในวัดปทุมวนาราม

เวลาเกือบ 1 ทุ่มพวกเขาถูกส่งตัวเข้าห้องขังในห้องขังมีผู้ถูกคุมขังกว่า 20 คนรวมทั้งผู้ถูกจับกุม 4-5 คนที่เขาเห็นที่น้ำตกห้างสยามพารากอนหลังจากนั้นก็มีผู้ถูกจับกุมทยอยเข้าห้องมาเรื่อยๆ คืนนั้นมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในห้องกว่า 40 คนระหว่างนั้นตำรวจเรียกผู้ถูกคุมขังออกมาจากห้องทีละคนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เขาและผู้ถูกจับกุมที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์ถูกแจ้งของข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ, ขัดขวางเจ้าหน้าที่และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เช้าวันรุ่งขึ้นมีผู้หญิงคนหนึ่งมาเยี่ยมที่ห้องขัง เธอบอกกับพวกเขาว่าจะช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวทั้งหมดกว่า 40 คน หลังจากนั้นพวกเขาทั้งหมดถูกส่งฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง

หลังจากที่เขาอยู่ในแดน 6 ประมาณ 1 เดือน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีคนหนึ่งมาเยี่ยมเขาที่เรือนจำ ตำรวจคนนี้บอกว่า มาช่วยราชการที่ สน.ปทุมวันตำรวจนำรูปถ่ายของคน 9 คนมาให้เขาดูและถามเขาว่ารู้จักใครหรือไม่แต่เขาปฏิเสธ

ตำรวจนำรูปถ่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการวางเพลิงที่ตำรวจยึดได้จากเซ็นทรัลเวิลด์มาให้เขาดูและถามว่า ใช่ของเขาหรือไม่เขาก็ปฏิเสธเช่นเดิมหลังจากนั้นตำรวจจึงให้เขาลงลายมือชื่อในเอกสารเพื่อปฏิเสธ

ผ่านไปประมาณ 3 เดือนเจ้าหน้าที่จาก DSI มาพบเขาที่เรือนจำเขาเดินออกมาแดน 6 เพื่อไปยังห้องสอบสวนซึ่งอยู่ด้านข้างห้องเยี่ยมผู้ต้องหาวันนั้นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นหน้าของสายชล แพบัว ซึ่งอยู่แดน 4 เจ้าหน้าที่จากDSI แจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์เพิ่มเติมกับเขา เขาและพินิจจึงต้องกลายเป็นผู้ต้องหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ร่วมกับเยาวชนอีก 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเมื่อถึงวันนัดพร้อมครั้งที่ 1 (คดีร่วมกันปล้นทรัพย์) พวกเขาทั้ง 7 คน (2 เยาวชนถูกแยะตัวไปพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) ถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลถามพวกเขา

"จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ"

พวกเขาปรึกษาหารือกันและปฏิเสธ เมื่อศาลถามว่ามีทนายหรือยัง พวกเขาก็ตอบว่ายังไม่มี อย่างไรก็ตาม ศาลนัดพร้อมครั้งที่ 2 ในอีกประมาณ 1 เดือนถัดไป

1 เดือนผ่านไปพวกเขาทั้ง 7 คนถูกนำตัวมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าหน้าที่พาพวกเขาเข้าไปในห้องสมานฉันท์ในห้องมีผู้พิพากษานั่งอยู่

"รับสารภาพเถอะโทษหนักจะได้เป็นเบา"

พวกเขาปรึกษาหารือกันและตอบปฏิเสธ แต่ศาลแนะนำให้พวกเขารับสารภาพในส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พวกเขาปรึกษาหารืออีกครั้งและยอมลงลายมือชื่อรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังจากลงลายมือชื่อเสร็จพวกเขาถูกนำตัวไปยังห้องพิจารณาคดี ในห้องมี อาคม ศิริพจนารถ ทนายความเสื้อแดงนั่งรออยู่ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้พบทนายความ พวกเขาเล่าให้อาคมทราบว่าพวกเขาเพิ่งลงลายมือชื่อรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้อาคมไม่พอใจอย่างมาก อาคมบอกให้พวกเขาทำคำร้องใหม่ปฏิเสธการรับสารภาพก่อนหน้านี้ศาลจึงนัดพร้อมครั้งที่ 3

เมื่อถึงนัดพร้อมครั้งที่ 3 อาคมยังคงยืนยันปฏิเสธการรับสารภาพ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนหน้านี้ อาคมโต้เถียงกับศาลนานหลายนาทีแต่สุดท้ายก็ยอมอ่อนข้อยอมรับการรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

1 ธ.ค. 54 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา"ยกฟ้อง" คดีร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและขัดขวางเจ้าหน้าที่แต่ให้ลงโทษจำคุก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเวลา 6 เดือนยกเว้น คมสันต์ สุดจันทร์ฮามซึ่งศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานลักทรัพย์รวมโทษจำคุกเป็น 3 ปี6 เดือนจำเลยทั้ง 5 จึงได้รับการปล่อยตัวในวันนั้นเนื่องจากพวกเขาถูกจำคุกมากว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว

พวกเขากลับมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางพวกเขาดีใจที่จะได้ออกจากเรือนจำ ยกเว้นเขาและคมสันต์ที่รู้ชะตากรรมของตนเองว่าจะยังคงต้องอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ต่อไป

วันรุ่งขึ้นแกนนำ นปช. หลายคนและทนายความจากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเดินทางมาเยี่ยมนักโทษการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นพ.เหวง โตจิราการ รับปากที่จะช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวให้กับเขาและคมสันต์ หลายวันต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวเขาก่อนคมสันต์แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะคมสันต์เท่านั้น

ต่อมาเขาและผู้ต้องหาทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 ถูกย้ายไปอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ที่แห่งนี้เขาอยู่อย่างสุขสบายกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีคนเสื้อแดงมาเยี่ยมเขามากกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่เขาก็ยังอยากได้รับการประกันตัว

เขาบอกว่าเขาไม่มั่นใจในคดีนี้เพราะเชื่อว่ายังไงคดีนี้จะต้องมี "แพะ" เช่นเดียวกับคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ที่คมสันต์ต้องรับโทษจำคุก3 ปี 6 เดือน เขาจึงคาดหวังจากการนิรโทษกรรมโดยเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของใครก็ตาม แต่หากคดีนี้ศาลยกฟ้องเขาเขาก็จะกลับบ้านที่ จ.ชัยภูมิ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดง จี้อธิบดีศาลฯ ขอโทษ-ลาออก หลังขู่เอาผิดผู้วิจารณ์คำตัดสิน “สมยศ”

$
0
0

แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชนและแดงอิสระ 26 จังหวัด ยื่น จม.เปิดผนึก จี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอโทษ-ลาออก กรณีขู่เอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผู้วิจารณ์ผลการตัดสินคดี “สมยศ” ชี้เป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางความคิดในการตรวจสอบฝ่ายตุลาการ ยันประชาชนทุกคนต้องวิจารณ์ศาลได้ เสนอปฏิรูปศาลเป็นระบบลูกขุน

ภาพผู้ชุมนุมชูป้ายบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

4 ก.พ.56 เวลา 11.00 น. เสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป.)และเสื้อแดงอิสระ 26 จังหวัด ประมาณ 150 คน จัดกิจกรรมในชื่อ “ยุทธการ  ยกพลเข้าเมืองหลวง ทวงคืนอำนาจอธิปไตย(ทางศาล)”  รวมตัวกันที่หน้าห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว  ริมถนนพหลโยธิน จากนั้นเวลา 13.10 น. ได้เดินทางมาที่หน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเรียกร้องให้ออกมาแถลงขอโทษหรือลาออกจากการที่ออกมาโต้และขู่เอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผู้ที่วิจารณ์ผลการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกลุ่มดังกล่าวชี้ว่าพฤติกรรมของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางความคิดในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายตุลาการ

หลังจากยื่นจดหมายกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้ว กลุ่มดังกล่าวได้เคลื่อนมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และยุติการชุมนุมในเวลา 16.10 น.

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ตัวแทนแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป)

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ตัวแทนแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้อธิบดีศาลอาญาขอโทษต่อประชาชนหรือไม่ก็ลาออก กรณีจากบทคำสัมภาษณ์ของท่านที่กล่าวต่อสื่อมวลชน ถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการวิจารณ์การทำงานของฝ่ายตุลาการ เช่น ที่ออกมากล่าวว่าคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้นั้นต้องไม่มีอคติ นั่นหมายความว่าจะยอมรับการวิจารณ์ในทางที่เห็นด้วยอย่างเดียว เท่ากับปิดปากประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

“คำที่ท่านอ้างว่าถ้าแสดงความเห็นในทางวิชาการจะไม่เอาความนี้ ก็เท่ากับว่าการใช้เสรีภาพนั้นไม่เท่าเทียม ประชาชนทั่วไปย่อมจะมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ และการใช้อำนาจในศาลนั้นก็ล่วงแล้ว หมายความว่ามีผลการพิจารณ์คดีออกมาสิ้นสุดแล้ว ดังนั้นการใช้เสรีภาพเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ท่านออกมาพูดว่าคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์จะต้องเป็นนักวิชาการเท่านั้น  เท่ากับไปปิดปากชาวบ้าน คนไม่รู้หนังสือ หรือคนที่มีการศึกษาที่แตกต่างออกไป จึงไม่มีสิทธิจะมาพูดถึงศาล เรื่องนี้ผมว่ามันขัดต่อหลักอธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมและผู้ที่สัญจรผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ด้วยว่า “ถ้าประชาชนไม่ออกมายันการรุกคืบของการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ ประชาชนเราก็จะเสียพื้นที่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมายันกับอำนาจตุลาการนี้”

ภาพผู้ชุมนุมชูป้ายบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

นายนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องนำวงไฟเย็น ผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวปราศรัยด้วยว่า จากคำพิพากษา สมยศ พฤกษาเกษมสุข มันบ่งบอกอะไรบางอย่างได้ชัดเจน มันไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ขังคนคิดต่างเป็นสิบๆ ปี คดีค้ายา คดีฉ้อโกง  ได้ประกันทันที แต่ สมยศ เป็นบรรณาธิการ เอาบทความมาลง โดนตัดสินจำคุก 11 ปี องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างประณามคำพิพากษานี้ แต่ฟรีทีวีสื่อไทยไม่มีออก มีพี่น้องคนไหนได้เห็นข่าว

นายนิธิวัต ได้เสนอการปฏิรูประบบศาลให้เป็นแบบระบบลูกขุน โดยเขามองว่า อำนาจของตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งระบบลูกขุนมันเป็นการที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้ทำหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นและก็เรื่องหลักกฎหมาย ประชาชนมีโอกาสเลือกก็ดีกว่าประชาชนไม่มีโอกาสเลือก

“โดยทั่วไปสังคมจะไปตีความว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ แต่ว่าโดยหลักเริ่มต้นที่การมีพระราชอำนาจ คือการใช้พระราชอำนาจแทนประชาชนทั้งประเทศ แต่ในเมื่อปัจจุบันประชาชนเริ่มออกมา เริ่มรู้สึกว่า ศาลทำหน้าที่แปลกไป หรือไม่อย่างไร หรือว่าไม่ยึดโยงในหลักการ ที่นี้เราก็ตั้งคำถามว่า ควรจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นไหม คือในเมื่ออำนาจมาจากประชาชน ก็ให้ประชาชนมีสิทธิได้ร่วมใช้อำนาจอธิปไตยนี้โดยตรงดีกว่าคือเอาอะไรมาบอกว่าจากการที่เราไม่มีโอกาสได้เลือก ดีกว่า ประชาชนมีโอกาสได้เลือก” นายนิธิวัต กล่าว

สำหรับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมานายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ออกมาแสดงว่าเห็นกรณีมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทยและคณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงกว้างในเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับผลการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลย อดีต บก.นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ คดีหมิ่นเบื้องสูง โดยนายทวี  ได้กล่าวว่า "การจะวิจารณ์องค์กรตุลาการของไทยสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ และเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็น ธรรมศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวนเพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏทางเว็บไซต์ ซึ่งการที่ศาลตัดสินลงโทษนายสมยศ กระทงละ 5 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้วอยู่ระหว่างอัตราโทษต่ำสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ปี และสูงสุดคือ 15 ปี"

จดหมายเปิดผนึกถึงนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา :

ภาพบรรยากาศกิจกรรม :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เทศกาลโบกธงพรรค’ รับเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย ครั้งที่ 13 (PRU 13)

$
0
0

เริ่ม ‘เทศกาลโบกธงพรรค’ รับเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย ครั้งที่ 13 (PRU 13) เปิดขุมพลัง 2 กลุ่มคู่ต่อสู่ทางการเมือง ระหว่าง “แนวร่วมแห่งชาติหรือ Barisan National (BN)” กับ “Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน”

ในช่วงนี้หลายคนที่มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียคงรูสึกตื่นตาตื่นใจกับภาพธงหลากหลายสีสันที่ถูกประดับประดาตามท้องถนนเกือบทุกหนแห่ง รวมทั้งตึกรามบ้านช่องและคงอดสงสัยไม่ได้เลยว่า มันคือธงอะไรกันน่ะ แล้วช่วงนี้มาเลเซียเขามีเทศกาลอะไรกันหรือ?

ธงที่ถูกประดับประดาตามท้องถนนนั้น มันคือสัญญาณบ่งบอกว่า การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะแข่งกันติดธงของพรรคเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งให้ดูคึกคัก และยังช่วยโปรโมทพรรคของตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย และนี่ยังเป็นตัวชี้วัดองศาความร้อนแรงทางเมืองในประเทศมาเลเซียได้อย่างดี

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 13 แล้ว มีชื่อย่อสั้นๆว่า PRU 13 ซึ่งย่อมาจาก Pilihan Raya Umum Ke13 (การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายในกลางปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เพราะ ตามกฎหมายของมาเลเซียกำหนดว่า จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในทุกๆ 5 ปี หรือไม่ก็รัฐบาลประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ และหลังจากนั้นภายใน 60 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น

นั่นหมายความว่า วันที่ 8 มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของมาเลเซีย คือครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551 นั่นเท่ากับว่าอย่างช้าที่สุด การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียก็จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศมาเลเซีย

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ที่จะถึงนี้ มีกลุ่มพรรคการเมือง 2 กลุ่มใหญ่ที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คือ

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan National (BN)
กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติหรือ Barisan National (BN) ประกอบด้วย พรรค United Malays National Organization (UMNO) หรือพรรคอัมโน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ

พรรคอัมโนก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1946 ถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอด ปัจจุบันพรรคนี้มี ดาโต๊ะซือรี นาจิบ ตุนราซัค (Datuk Seri Najib Tun Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เป็นหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ยังมีพรรค Malaysian Chinese Association (MCA) หรือพรรคเอ็มซีเอ ก่อตั้งเมื่อ ปี ค.ศ.1949 สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ปัจจุบันมี ดาโต๊ะซือรี ดร.ชัว ซอย เล๊ก (Dato' Seri Dr.Chua Soi Lek) เป็นหัวหน้าพรรค พรรคเอ็มซีเอ ถือเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญต่อกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ รองลงมาจากพรรคอัมโน

พรรค Malaysian Indian Congress (MIC) หรือพรรคเอ็มไอซี ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1946 สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ปัจจุบันมี ดาโต๊ะซือรี จี พารานีเวล (Datuk Seri G. Palanivel) เป็นหัวหน้าพรรค พรรคเอ็มไอซี ถือว่าเป็นอีกพรรคหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ ยังมีพรรคขนาดรองลงมาที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอีกหลายพรรค ได้แก่ พรรค Malaysian People's Movement Party (GERAKAN) พรรค People's Progressive Party (PPP) พรรค United Bumiputera Heritage Party (PBB) พรรค Sarawak United People's Party (SUPP) พรรค Sabah United Party  (PBS) พรรค Liberal Democratic Party (LDP) พรรค United Sabah People's Party (PBRS) พรรค United Pasokmomogun Kadazandusun Murut Organisation (UPKO) พรรค Sarawak Progressive Democratic Party (SPDP) และพรรค Sarawak People's Party (PRS)

กลุ่ม Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน
กลุ่ม Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่จะลงท้าชิงตำแหน่งรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ กลุ่มพีเคอาร์ประกอบด้วย 3 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรค Keadilan Rakyat (KEADILAN) หรือพรรคกืออาดีลัน เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1990 สมาชิกในพรรคกืออาดีลันส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายมลายู รองลงมาคือชาวมาเลย์เชื้อสายจีน โดยมี ดาโต๊ะ ซือรีอันวาร์ อิบราฮิม (Dato' Seri Anwar Ibrahim) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากกลุ่มพีเคอาร์ได้รับชัยชนะ นายอันวาร์ อิบราฮิม อาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป

พรรค Democratic Action Party (DAP) หรือ พรรดดีเอพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1966 สมาชิกพรรคดีเอพี ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีนและอินเดีย โดยรัฐปีนังถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคดีเอพี ปัจจุบันพรรคดีเอพีมี นายการ์ปาล ซิงห์ (Karpal Singh) เป็นหัวหน้าพรรค

พรรค Parti Islam Semalaysia (PAS) หรือพรรคปาส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1956 เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดจัดตั้งมาเลเซียให้เป็นรัฐอิสลาม ใช้กฎหมายชารีอะฮฺหรือหลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ สมาชิกพรรคปาสทั้งหมดจึงเป็นชาวมุสลิม และแกนนำพรรคส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นำศาสนาหรือไม่ก็ครูสอนศาสนาอิสลาม

รัฐกลันตันถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรคปาส รองลงมาคือรัฐเคดาห์ พรรคปาสมี ดาโต๊ะซือรี ตวนฆูรู ฮัจยีอับดุลฮาดี อาวัง (DATO' SERI TUAN GURU HAJI ABDUL HADI AWANG) เป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันและมีต่วนฆูรูดาโต๊ะ ฮัจยีนิคอาซิส นิคมัต (Tuan Guru Dato' Bentara Setia Haji Nik Abdul Aziz Bin Nik Mat) เป็นผู้นำจิตวิญญานสูงสุด 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชายแดนใต้ตายวันละคน เฉลี่ย 3 เหตุต่อวัน ยิงครูชาวนา-พ่อค้า-นายอำเภอ

$
0
0

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปสถิติความไม่สงบ เผยในรอบ 5 วันมี 7 เหตุ ตาย 11 เจ็บ 11 ล่าสุดคนร้ายบุกจับมัดมือจ่อยิงพ่อค้าผลไม้ชาวระยองที่กรงปินัง  ดับ 4 ศพ

ในรอบ 5 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากถึง 2 เหตุการณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4สน.) ระบุว่าในช่วงดงกล่าวมีทั้งหมด 7 เหตุการณ์ รวมผู้เสียชีวิตถึง 11 คน บาดเจ็บ 11 คน

โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เมื่อคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามและอาวุธปืนพก ยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้เสียชีวิต 4 ราย เหตุเกิดที่สามแยกทางเข้าอำเภอกรงปินัง หมู่ที่ 7 ต.กรงปินังอ.กรงปินังจ.ยะลา

ผู้เสียชีวิต ได้แก่ 1.นายถาวร สุวรรณโชติ อายุ 35 ปี 2.นายสุทัศน์ สมรูป อายุ 38 ปี 3.นายน้องไม่ทราบนามสกุล อายุ 37 ปี 4.นางปุ้ย ไม่ทราบนามสกุล อายุ 25 ปี ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ระยอง เข้ามารับซื้อผลไม้ในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มาตั้งแต่รุ่นบิดา

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี ระบุว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียชีวิตทั้งหมดกำลังนอนพักผ่อนภายในเพิงพัก ซึ่งเป็นที่รับซื้อผลไม้ จากนั้นมีคนร้ายเข้ามาจี้บังคับมัดมือไขว้หลังผู้เสียชีวิตทั้งหมด จากนั้นคนร้ายได้ถามที่เก็บเงิน นายถาวรจึงบอกที่เก็บเงิน แก่คนร้าย ซึ่งก่อนเกิดเหตุนายถาวรเพิ่งเบิกเงินสดจากธนาคารมา 100,000 บาท

“ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่เป็นคนในพื้นที่ คนร้ายสั่งให้ให้นอนคว่ำหน้าโดยไม่ทำร้าย จากนั้นคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนพก , ปืน M-16 และ AK-47 ยิงผู้เสียชีวิตดังกล่าว” กอ.รมน.ระบุ

ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 17.00 น.ของวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 คนร้าย 4-6 คน ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ตอนครึ่ง สีบรอนซ์เงิน ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่รถยนต์กระบะของนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จ.ปัตตานี ขณะเดินทางไปยัง อ.ยะรัง ทำให้รถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย แต่นายพิศาล พร้อมกับเจ้าหน้าที่ อส.ที่นั่งมาด้วยกันอีก 3 คน ไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากเป็นรถกันกระสุน

นอกจากนี้ กระสุนของคนร้ายยังพลาดไปถูก น.ส.ดารุณี บาเอะ อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 4 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เฉี่ยวบริเวณเข่าซ้าย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุเกิดบนถนนสาย 4061 บ้านจาแบปะ หมู่ที่ 4 ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ส่วนกรณีคนร้ายกราดยิงครูชาวนาจากจังหวัดสุพรรณบุรี และสิงห์บุรี เกิดเหตุถนนในหมู่บ้านโต๊ะตีแต หมู่ที่ 2 ต.บาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 11 คน นั้น ขณะนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 ราย โดยอยู่ในห้องไอซียู 2 ราย และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย คือนายถนอม ขำเกื้อ อายุ 25 ปี เนื่องจากบาดเจ็บสาหัส ร่างกายท่อนล่างยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากกระดูกสันหลังแตกจากการถูกกระสุนปืน

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันดังกล่าว โดยคนร้าย 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน 2 คันใช้อาวุธปืน M-16 และอาวุธปืนพก ขนาด 9 มม. กราดยิง โดยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเดินทางในพื้นที่ตามโครงการเพิ่มศักยภาพนาร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีเป็นผู้รับผิดชอบนำครูฝึกชุดดังกล่าวมาติดตามมาเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านใน อ.ยะหริ่งไปศึกษาดูงานการทำเกษตรกรรมที่ จ.สุพรรณบุรี โดยขณะเกิดเหตุครูชาวนาชุดนี้ จำนวน 13 ราย กำลังเดินทางกลับจากการไถนาในพื้นที่ ด้วยรถยนต์กระบะ 2 คัน เพื่อกลับที่พัก ณ วัดปิยาราม ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง

โดยผู้เสียชีวิต ได้แก่ นายเสน่ห์ ขุนเณร อายุ 55 ปี ชาวต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี และนายเอกรินทร์ หอมเชย อายุ 22 ปี ชาว ต.บ้านเจ้า อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ส่วนผู้บาดเจ็บ ได้แก่ นายสุริยา ปลีแย้ม อายุ 25 ปี นายณรงค์ ปลีแย้ม อายุ 26 ปี นายจรัล กันภัย อายุ 27 ปี นายนิรุต กันภัย อายุ 26 ปี ชาว ต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี นายกำพล ขุนเณร อายุ 32 ปี ชาวจ.สิงห์บุรีนายจักรกฤษ อ่าจีน อายุ 23 ปี นายประเสริฐ์ วงษ์สนอง อายุ 29 ปี ชาว ต.วังลึก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นายถนอม ขำเครือ อายุ 27 ปี ชาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นายสุภการ ไชยจูมภา อายุ 15 ปี นางยุพิน คงเดิน อายุ 30 ปี ชาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

จับมือวางระเบิดโรงแรมลีการ์เดนส์ หาดใหญ่
ช่วงบ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ตำรวจสามารถจับกุมนายเจะหมะ วานิ หรือมาค่อม หรือไคโร ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีลอบวางระเบิดโรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้ในพื้นที่ หมู่ที่5 บ้านป่ากอ ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา โดยนายเจะหมะ เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่รับผิดชอบก่อเหตุในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนสงขลา และมีหมายจับติดตัว 9 คดี ซึ่งคดีนี้มีผู้ถูกออกหมายจับ 3 คน คือ นายเจะหมะ วานิ นายรุสลัน ใบมะ และนายเสรี แวมามุ

เหตุรุนแรงเดือนมกราฯเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง
ด้านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ.2556 พบว่า เดือนนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นค่อนข้างสูงถึง 117 ครั้ง เฉลี่ยวันละกว่า 3 ครั้ง โดยเป็นการวางเพลิงมากที่สุดถึง 58 ครั้ง ยิง 35 ครั้ง และวางระเบิด 10 ครั้ง ในเดือนนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย เป็นราษฎรมากที่สุด 16 คน และเป็นมุสลิมถึง 19 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 47 ราย เป็นทหารมากที่สุด 27 ราย

 

สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ.2556
โดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
(Deep South Watch)
ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 เวลา 12.00 น.

สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำแนกตามศาสนา

เสียชีวิต 32

บาดเจ็บ 47

พุทธ

มุสลิม

พุทธ

มุสลิม

13

19

31

16

 

ข้อมูลสถิติจำแนกตามประเภทเหตุการณ์

ประเภทเหตุการณ์

จำนวนเหตุการณ์

ก่อกวน

1

ก่อกวนสร้างสถานการณ์

2

จักรยานยนต์บอมบ์

1

โจมตี

1

โจมตีฐาน

3

ซุ่มยิง

1

ปิดล้อมและปะทะ

1

พบวัตถุระเบิด

2

พบศพ

1

ยิง

35

ลักทรัพย์

1

วางเพลิง

58

วางระเบิด

10

รวม

117

 

ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำแนกตามภูมิหลัง

ภูมิหลัง

เสียชีวิต

บาดเจ็บ

รวม

ราษฎร

16

13

29

ตำรวจ/ตชด./นปพ.

2

0

2

ทหาร

4

27

31

ครู/บุคลากรทางการศึกษา

1

0

1

อบต/อบจ

1

2

3

กำนัน/ผญบ/ผชบ

2

1

3

ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

1

0

1

ลูกจ้างของรัฐ

3

2

5

เยาวชนไม่เกิด 15 ปี

1

2

3

คนร้าย

1

0

1

รวม

32

47

79

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน

$
0
0

Thailand Mirror เก็บความจากงานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อ ไอดา อรุณวงศ์ สนพ.อ่าน และ ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์ พูดถึงชีวิตวรรณกรรมของ คำสิงห์ ศรีนอก เจ้าของนามปากกา ลาว คำหอม เจ้าของวรรณกรรมเรื่อง ฟ้าบ่กั้น ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล

งานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 เริ่มต้นด้วยการเสวนาหัวข้อ "ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน" โดย อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้เขียนคำวิจารณ์หนังสือฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม และไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อ่าน ผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นเล่มล่าสุด

 

ไอดา อรุณวงศ์  เริ่มต้นการเสวนาด้วยการแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานวันครบรอบวันเกิดลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก โดยจะพูดในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้น และในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน

"สำนักพิมพ์อ่านโชคดีที่ได้รับมอบต้นฉบับด้วยความเต็มใจจาก ลุงคำสิงห์ ตอนที่ได้มาก็ตื่นเต้น ก็ตื้นตันเหมือนกัน ที่อยู่ดีๆ สำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่ได้รับเกียรตินี้ โดยลุงคำสิงห์บอกว่าอยากให้ อยู่ในมือของสำนักพิมพ์อ่าน และบอกเพิ่มเติมว่าให้นำบทวิจารณ์ของ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เคยตีพิมพ์ ในวารสารอ่านมาตีพิมพ์รวมไปด้วย มันมีความสำคัญในแง่ที่ว่าไม่เคยเห็นนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีฝีมือขนาดนี้ ที่บอกว่ายินดีที่จะให้ผลงานตัวเองได้รับการตีพิมพ์ควบคู่ไปกับคำวิจารณ์ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นสปิริต ที่หาได้ยาก และก็ได้เขียนไว้ในคำนำว่าย่อมมีแต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไม่เพียงไม่ปิดกั้น แต่ยังให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนต่อคำวิจารณ์เช่นนี้

เพราะฉะนั้นการไว้วางใจให้สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นในรูปแบบที่นำคำวิจารณ์ มารวมไว้ด้วย ไม่ได้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ เท่ากับสะท้อนความยิ่งใหญ่ในใจของผู้ใหญ่ ที่ใหญ่จริง ในท่ามกลางสังคมนี้ที่ถูกปลูกฝังให้เข้าใจผิดตลอดมาว่าการปกปักความยิ่งใหญ่คือการไม่ยอมให้ถูก วิจารณ์ และบังคับให้ประจบสอพลอ หรือไม่แล้วก็ให้อยู่ในความเงียบงัน ให้สำเหนียกในความต่างและห่างไกล เช่นนั้น เฉกเช่นมีแผ่นฟ้ากางกั้น เฉกเช่นนั้นตลอดมา นั่นก็คือที่เล่าไว้ในคำนำสำนักพิมพ์"

ไอดา อรุณวงศ์ ได้เล่าเกร็ดเพิ่มเติมจากการที่ได้เดินทางมาไร่ธารเกษมเพื่อมอบหนังสือฟ้าบ่กั้นให้กับ ลาว คำหอม หลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว รู้สึกประทับใจที่ได้ฟังหลายอย่างที่ลุงคำสิงห์ เล่าด้วยภาษาและความทรงจำที่แจ่มชัด และทำให้ปะติดปะต่อเรื่องราวที่ลุงคำสิงห์เล่าว่าสะท้อนอะไรบ้างผ่านมุมมองของตัวเอง

 "หลักๆ ที่ฟังลุงคำสิงห์เล่าจะรู้สึกเหมือนได้เห็นภาพคู่ขนานของสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนุ่มอินถา ในเรื่องไพร่ฟ้า นั่นคือภาพของคนหนุ่มผู้ที่กำลังมีความรักอันแรงกล้า ที่สด มีพลัง และก็น่าจะได้มีการพัฒนาต่อ เป็นความรักที่มั่นคงต่อเนื่องอย่างยาวนาน อย่างที่เขาได้วาดฝันไว้ แต่กลับถูกอำนาจล้นฟ้าอันไร้สาระอย่างหาที่สุด มิได้ มาทำให้พลังสร้างสรรค์แห่งความรักนั้นถูกกดทับให้จมหาย ลุงคำสิงห์ในวัยหนุ่มที่ยังอยู่ขอบ ๆ ของโลก วรรณกรรม ก็มีอาการเหมือนหนุ่มน้อยที่เพิ่งจะเริ่มจีบสาว คือกลัวๆ กล้าๆ กระมิดกระเมี้ยนเขินอาย  แต่ก็อยาก จะยืนยันให้สาวได้เห็นถึงความรักนั้น"

"วันหนึ่งเมื่อลุงคำสิงห์กับเพื่อน คือคุณดำเนินการเด่นไปหาคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากที่ได้อ่าน เรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก จบแล้ว ก็ไปถามว่าควรจะอ่านเล่มไหนต่อไป ลุงคำสิงห์ บรรยายฉากของการไปหา ครั้งนั้นให้ฟังว่า ผมก็คิดว่าช่างกล้า เรานี้ยืนตัวลีบ คือเป็นภาพที่ชวนเอ็นดูมาก ลองนึกว่าทุกวันนี้เราเห็นแต่ลุงคำสิงห์ ที่เป็น ลาว คำหอม นักเขียนที่เป็นตำนานของยุคนี้ แต่ในตอนนั้นลุงคำสิงห์ คือเด็กหนุ่มที่เดินตัวลีบเข้าไปหานักเขียน ที่เป็นตำนานของยุคนั้นอย่างคุณกุหลาบ ลุงคำสิงห์เล่าว่าคุณกุหลาบก็มีเมตตามาก หันไปบอกภรรยาคือคุณชนิด สายประดิษฐ์ ว่า นิดช่วยจัดหนังสือให้เราชุดหนึ่งให้มิตรของเราด้วย ลุงคำสิงห์ จำรายละเอียดของวันประวัติศาสตร์ วันนั้นได้ ถึงขั้นที่บอกว่าเขานัดให้ไปรับหนังสือตอนสิบโมง ในเวลานั้นคุณชนิด หรือนามปากกาจูเลียต กำลังแปลนิยายเรื่องเหยื่ออธรรม ขณะที่คุณดำเนินการเด่นเพื่อนของลุงคำสิงห์ก็เป็นฝรั่งที่ฝึกภาษาไทย และต่อมา ก็แปลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ"

"จากที่ลุงคำสิงห์เล่า เห็นภาพลุงคำสิงห์กับคุณดำเนินการเด่น ในช่วงนั้นเหมือนกับเป็นคนหนุ่ม ที่กำลังหัวหกก้นขวิดอยู่ด้วยกัน ลุงคำสิงห์เล่าว่าตอนนั้นกำลังเขียนเรื่องสั้นชื่อคนพันธุ์ โดยใช้พิมพ์ดีดของ คุณดำเนินการเด่น แล้วคุณดำเนินการเด่น ก็ถือวิสาสะเอาเรื่องที่ค้างอยู่ในพิมพ์ดีดนั้นไปให้ป้าชนิด แล้วป้าชนิด ก็เอาไปให้คุณกุหลาบ ซึ่งตอนนั้นกำลังทำนิตยสารปิยมิตรอยู่ สิ่งที่ลุงคำสิงห์รับรู้ต่อมาก็คือคุณดำเนินการเด่น ส่งโทรเลขไปตามตัวลุงคำสิงห์ ซึ่งตอนนั้นกำลังตระเวนอยู่ที่ขอนแก่นบอกว่าอาทิตย์หน้าให้มากรุงเทพฯ หากอยากเห็นเรื่องของตัวเองได้ตีพิมพ์ และนี่ก็คือที่มาของเรื่องสั้นเรื่องแรกของลุงคำสิงห์คือ คนพันธุ์ ที่ได้รับ การตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรเมื่อปี 2501 หนังสือปิยมิตรออกทุกวันพุธ และในปีนั้นลุงคำสิงห์ก็มีกำลังใจ ขยันเขียน ทุกเดือนอย่างตั้งใจ ซึ่งถ้าดูจากประวัติการตีพิมพ์ก็จะเห็นว่าปี 2501 ปีเดียว ลาว คำหอม สามารถมีเรื่องสั้นที่ชั้นเลิศ สมบูรณ์แบบออกมาได้ถึง 8 เรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง ไพร่ฟ้า ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ"

"ลุงคำสิงห์แทรกเพิ่มก็คือ คุณชนิดแปลเรื่องเหยื่ออธรรมเสร็จแล้ว ก็เร่งแปลเรื่องกำแพงเงินต่อ  เพื่อจะลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ และจะรีบตามไปอยู่กับคุณกุหลาบที่เมืองจีน คุณชนิดหรือที่ลุงคำสิงห์เรียกว่า ป้าชนิด ก็ได้มอบหมายให้ลุงคำสิงห์เป็นคนไปตามเก็บผลงาน ในขณะที่คุณชนิดแอบนำเอางานของลุงคำสิงห์ ไปตีรวม เป็นเล่ม โดยร่วมมือกับคุณดำเนินการเด่น และคุณชุมพล สุรินทราบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาปี 2 เป็นคนทำปก และก็ร่วมกันรวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นได้ปรากฏโฉมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2501 ในนามสำนักพิมพ์เกวียนทอง ของลุงคำสิงห์และคุณดำเนินการเด่น"

"กลับมาที่จุดพลิกผันก็คือ ลุงคำสิงห์เล่าว่า ช่วงนั้นเร่ร่อนอยู่ขอนแก่น ชอบไปนอนศาลาวัด แอบไปฟังชาวบ้านคุยกัน เขาเล่านิทาน ตรงนี้ลุงคำสิงห์เล่าเพิ่มเติมว่า อาจจะเพราะเคยทำงานเป็นผู้ช่วย นักมานุษยวิทยา ก็เลยมีความสนใจแบบนี้ และบอกอีกว่าติดใจรสชาติของนิทาน ผมกลัวว่าละครวิทยุ ละครทีวี จะทำให้นิทานมันหายไป ตอนนั้นมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีศูนย์วิจัยอยู่ที่บางชัน เพิ่งจะปิดศูนย์และย้ายไปที่ อินโดนีเซีย ซึ่งจากที่เคยอ่านประวัติลุงคำสิงห์เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับนักวิชาการที่ศูนย์วิจัยของคอร์แนลมาก่อน ลุงคำสิงห์บอกว่าตอนที่ทำอยู่ที่คอร์แนล เห็นว่าคอร์แนลมีเครื่องอัดเสียง ผมซึ่งอยากไปฟังนิทานก็อยากมีเครื่อง อัดเสียงก็กลับไปถามที่ศูนย์ ศูนย์ก็บอกว่ายกให้สยามสมาคมไปแล้วพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ผมก็ไปคุยกับสยามสมาคม สยามสมาคมบอกว่าจะจัดอุปกรณ์ให้และจะเป็นสปอนเซอร์ให้ไปเก็บนิทาน ผมเสนอว่าจะไปเก็บที่อีสาน เพราะคอร์แนลเก็บแต่เฉพาะภาคกลาง สยามสมาคมก็ตกลงและให้เงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท แต่ให้แบ่ง copy ให้กับสมาคมด้วย"

ไอดา อรุณวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่าความรักในเรื่องเล่า และการนำเรื่องเล่ามาเล่าใหม่ น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของ
การเขียนของลุงคำสิงห์ การตระเวนไปนอนฟังชาวบ้ายคุยกันเป็นวัตถุดิบชั้นดี คือปากคำของผู้ที่มีชีวิตอยู่จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่ค่อยจะได้มีปากเสียงอย่างเช่นภาคอีสาน

"สำหรับจุดพลิกผันเริ่มมาจากมีกรรมการคนหนึ่งของสยามสมาคมทักท้วงว่าลุงคำสิงห์ มีคุณสมบัติ เหมาะสมกับงานนี้จริงหรือ ลุงคำสิงห์ทำยังไง ตอนนั้นรวมหนังสือฟ้าบ่กั้นออกมาพอดี ลุงคำสิงห์เล่าว่า ผมยกหนังสือ ไปให้ดูด้วยความกร่างว่าฉันก็มีหนังสือของฉันเองนะ" ฝรั่งฟังแล้วก็ว่าดีบอกว่าปีหน้าจะเพิ่มเงินเดือนให้  ทีนี้พอลุงคำสิงห์ กลับไปที่สมาคมอีกครั้งเพื่อเอาเครื่องเสียงเจอแต่เก้าอี้ว่าง กลับมาอีกทีเขาบอกว่าเกิดเรื่องใหญ่แล้ว กรรมการสมาคมเอาหนังสือฟ้าบ่กั้นไปให้สันติบาล พอลุงคำสิงห์กลับไปที่สมาคม ทุกคนหลบหนี กลัว คอมมิวนิสต์ มาแล้ว พอกลับไปที่ขอนแก่นคนก็แตกตื่น บอกว่าตำรวจมาตามหาลุงคำสิงห์"

"เรื่องก็กลายเป็นเรื่องตลกแบบขันขื่นว่า อะไรหรือในฟ้าบ่กั้นที่ทำให้ทุกคนกลัวจนเสียสติขนาดนั้น เรื่องเล่าที่มาจากประสบการณ์ในการเล่านิทานและปากคำของชาวบ้านธรรมดานี้ จะว่าเป็นเรื่องผีเรื่องสยองขวัญ ก็ไม่ใช่  แค่มันเป็นเพราะเรื่องของสามัญชนคนยากในภาคอีสาน เรื่องของชาวนา หรือเรื่องของขมุหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไปหลงรักหญิงสาวและสูญเสียความรักนั้นไปเพราะหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งอย่างนั้นหรือ ดิฉันฟังลุงคำสิงห์เล่าแล้ว ก็นึกถึงอาการประสาทอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ไม่ว่าใครจะเขียนอะไรหรือพูดอะไรในบริบทหนึ่งก็จะถูก อาการโรคจิตหวาดระแวงที่กำลังเป็นกันทั้งสังคมอันเป็นผล มาจากการโหมประโคมความรักที่อ้างว่ายิ่งใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วดูจะใจเสาะและขาดความมั่นคงทางจิตใจถึงขนาด หวาดระแวงไปทั่วว่าใครไม่รักจะประหาร เสียให้สิ้น และก็เอาอาการประสาทเสียนั้นมาตีความงานเขียนให้กลายเป็นอัปลักษณ์ ทั้งที่ถ้ามันจะอัปลักษณ์ มันก็อัปลักษณ์เพราะมันเป็นภาพสะท้อนอย่างซื่อ ๆ ของความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ ที่คนสติดีที่ไหนก็พอจะมองเห็น ได้ตำตาอยู่แล้ว กรณีฟ้าบ่กั้นก็วุ่นวายแบบนั้น คนที่สติยังดีอยู่ ก็มีแต่ต้องงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น"

"ลุงคำสิงห์เล่าถึง คุณรสสุคนธ์ อันนี้เป็นนามปากกาซึ่งเป็นเพื่อนคุณกุหลาบ ที่เคยมาช่วย ปรู๊ฟหนังสือฟ้าบ่กั้นให้ตอนที่คุณชนิด ต้องการจะตีพิมพ์ แล้วคุณรสสุคนธ์ก็บอกว่าชอบมาก ยกย่องว่าเทียบชั้นหลู่ซิ่น และอยากจะเขียนคำนำให้ แต่พอเกิดเรื่องที่สยามสมาคมข่าวก็แพร่ไปว่าคำสิงห์ เป็นคอมมิวนิสต์ พอคุณรสสุคนธ์ รู้เรื่องก็ไม่สบายใจ ก็ไปหาคุณมาลัย ชูพินิจ ที่อยู่บ้านตรงข้าม บอกว่าเด็กถูกรังแก คุณมาลัยที่ลุงคำสิงห์เล่าว่า ตอนนั้นถูกลากไปเป็น ส.ส.สภานิติบัญญัติ ขอเอามาอ่าน พออ่านแล้วก็บอกว่า "เฮ้ย ถ้าเป็นผม ผมอัดหนักกว่านี้ อีกนะ คำสิงห์ถอยเข้ามุมไปหน่อย ตอนผมเขียนชั่วฟ้าดินสลาย ผมเต็มที่เลย" หรืออะไรทำนองนี้ ดิฉันไม่แน่ใจว่า คำว่า "อัดหนัก" ของคุณมาลัยหมายถึงอะไร แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของลีลา ความเข้มข้นทางอารมณ์ หรือปมความขัดแย้งของตัวละครที่คุณมาลัยนึกว่าถ้าเป็นเขาอาจจะผลักไปมากกว่านี้ แต่คงไม่ใช่เรื่องอัดเจ้าอัดฟ้า ที่ไหน เพราะคุณมาลัยซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ก็คงอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างคนที่สติดี เขาอ่านกันทั่วไปว่ามันเป็นงาน สร้างสรรค์ชิ้นหนึ่ง ถ้าจะมีความคิดเห็นต่างไปบ้างก็เป็นเทคนิควิธีการของการสร้าง งานเท่านั้น แต่สัจธรรมก็มีอยู่ว่า คนที่มีอำนาจบาตรใหญ่มักจะเป็นคนที่ขวัญอ่อนและเสียสติได้ง่ายกว่า และก็พาให้สังคมเข้าสู่บรรยากาศของ ความกลัวถึงขั้นเสียสติไปด้วย หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีตราพอ ๆ กับที่คนเขียนก็ถูกไล่ล่า เพื่อจะปิดปาก"

"เกร็ดขำขื่นอันหนึ่งที่ลุงคำสิงห์เล่าก็คือว่าสันติบาลสมัยนั้นมีการศึกษาจบอักษรศาสตร์ เมื่อเจ้านาย สั่งให้จัดการกับการอ่านหนังสือเล่มนี้แต่พอเขาได้อ่านแล้วเขาชอบ ก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ก็ไปหาผู้รู้ให้มาช่วย เลยไปหา เจ้าคุณอนุมานราชธน ลุงคำสิงห์เล่าว่าถ้าจะมีใครเป็นเหมือนศาลฎีกาในวงวรรณกรรมก็เจ้าคุณนี่แหละ ตำรวจ สันติบาลขีดเส้นใต้ตรงบทสนทนาช่วงหนึ่งในเรื่องไพร่ฟ้าแล้วขอให้พระยาอนุมานวินิจฉัยว่า ตรงนี้ชักจูงให้เกลียดเจ้า หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่าบทสนทนาที่ถูกขีดเส้นใต้นั้นคือตรงไหนแน่ ดิฉันอยากจะอ่านบทสนทนาช่วงหนึ่งของเรื่องสั้น เรื่องนั้นให้ทุกท่านที่ยังมีสติดีในที่นี้ได้ลองวินิจฉัย แต่ดิฉันคิดว่าหลายคนคงได้อ่านแล้ว แต่ขออ่านให้ชัดๆ แบบไม่ต้อง กระมิดกระเมี้ยนให้สมศักดิ์ศรีสักนิด เรื่องสั้นเรื่องไพร่ฟ้าเป็นบทสนทนาระหว่างตัวเอกที่เล่าเรื่องกับขมุที่ชื่ออินถา ตัวเอกซึ่งใช้คำแทนตัวแทนว่าข้าพเจ้า บอกว่า"

                        "ท่านเป็นเจ้าเราจะเรียนท่านอย่างคนสามัญไม่ได้" ข้าพเจ้าพยายามตอบช้า ๆ
                        "เจ้าจะใด" เสียงแหบแห้งชวนให้สมเพช
                        ข้าพเจ้านิ่งคิดอึดอัดใจ ความจริงนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้ามีความรู้พอจะตอบคำถามได้ไม่ยากนัก แต่ก็อดจะรู้สึกอึดอัดใจไม่ได้ เพราะตระหนักสิ่งที่อินถาได้ถามนั้นมันอยู่ห่างจากความคิดของเขามากเหลือเกิน ข้าพเจ้าอยู่กับอินถามานานและทราบว่าเขาซาบซึ้งและศรัทธาต่อเจ้าอย่างสุดหัวใจ แต่เจ้าที่เขารู้จักนั้นเป็นเจ้าป่า เจ้าเขา ผีสางนางไม้ แต่ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพูดกับเขาด้วยเรื่องเจ้าที่เป็นคนเขาจะเข้าใจหรือ แม้เช่นนั้นข้าพเจ้าก็ พยายามอธิบายอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเขาก็อธิบายว่า
                        "เขาเป็นเชื้อเจ้า เป็นญาติห่างๆ กับเจ้าชีวิตของเรา คือเจ้าแผ่นดินของอินถา" เขาเงียบด้วยความ ครุ่นคิด แต่แล้วกลับโคลงศีรษะไปมาในความมืด
                        "นาย ผมบ่ฮู้ แผ่นดินตี้ไหน"
                        "ทั่วทั้งหมดแหละอินถา"
                        "นี่แม่นก่ นั่นแม่ก่" เขาชี้ไปข้างหน้าและเทือกเขาข้าง ๆ
                        "ใช่ เราสมมติว่าเป็นของท่าน แต่ความจริงก็ไม่ใช่ทีเดียว แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญญาบารมีมาก เราจึงเทิดทูนให้ท่านเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้คนธรรมดาสามัญอย่างฉัน อย่างอินถา ก็เหมือนเป็นสมบัติ ของท่าน เรียกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน"
                        "ฟ้านี้กะนาย" อินถาเงยหน้าขึ้นมองความเวิ้งว้างเหนือศีรษะ
                        "ใช่ อินถา ฟ้านี้แหละ แต่ความจริงท่านขึ้นไปอยู่จริงๆ ไม่ได้หรอก แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญ เราจึงสมมติให้ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน"
                        หม่องที่นั่งกลางเขาซักถามด้วยเสียงหวาดหวั่น
                        "เปล่าหรอก หม่อมท่านนั้นเป็นเพียงญาติ คือพี่น้องลูกหลานห่าง ๆ แต่เราก็นับว่าเป็นเจ้าด้วย องค์หนึ่ง"
                        และอินถาก็บอกว่า "เอ นายนี่ อู้สะปะ เจ้าตี้ไหน คนแต๊ๆ ผมเห็นกินข้าวหยับๆ ตึงวัน"

"คือจะเป็นย่อหน้านี้หรือเปล่าที่สันติบาลชี้ ดิฉันก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ พระยาอนุมานผู้มีเมตตา ก็ตัดสินใจตอบว่าขอไม่ยุ่งด้วยแล้วกัน ขอไม่วินิจฉัย แต่มันก็มีเกร็ดเล่าต่อมาอีกว่า ตอนนั้นลุงคำสิงห์เป็นเพื่อน ที่สนิทสนมกับลูกศิษย์ 2 คน ของพระยาอนุมาน ที่เคยช่วยกันทำงานวิจัยที่ศูนย์บางชันมาด้วยกัน พระยาอนุมาน ซึ่งเป็นกรรมการของสยามสมาคมด้วยก็คงเป็นห่วงลูกศิษย์เพราะเห็นว่าสนิทกัน เห็นมารับไปดูหนัง ไปไหนต่อไหน พระยาอนุมานก็เรียกสองสาวไปหา ตอนนั้นที่จุฬา ก็กำลังร้อนมากเพราะว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่งโดนโยนบก เจ้าคุณจึงเตือนลูกศิษย์ว่า นายคำสิงห์ที่เธอเดินตามไปกันนั่นน่ะ เขาเป็นแดงนะ แต่ฉันเป็นครูบาอาจารย์ เธออย่าเอาไปพูดนะ แต่สองคนนั้นก็ตาเขียวตาแดงมาหาลุงคำสิงห์ถามว่า เป็นแดงเหรอ ลุงคำสิงห์จบท้ายเกร็ดเล่า สั้น ๆ นี้ให้ดิฉันฟังว่า และแล้วโลกก็กำลังจะแตกอีกครั้งหนึ่ง"

"ดิฉันไม่อยากไปละลาบละล้วงถามว่าในช่วงเวลาในมรสุมนั้น ลึกๆ ในหัวใจแล้วลุงคำสิงห์รู้สึก อย่างไร แต่จากเรื่องราวต่อจากนั้นที่ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟังก็สรุปเป็นภาพเดียวกันได้ว่าในตอนนั้นไม่ว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะไปหาใคร คนก็หวาดกลัว หลบเลี่ยง เขาก็ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลุงคำสิงห์เคยยอมรับอย่างกล้าหาญกับดิฉันว่า ผมเป็นคนอ่อนแอเกินไป พอถูกขู่อะไรผมก็หยุด การที่ฉันอยากจะคิดว่าการถูกโบยตี ป้ายสี รังเกียจเดียดฉันท์ ไล่ล่า ด้วยข้อหาไร้สติต่าง ๆ นานา จากการงานที่ลงแรงด้วยความรักอันบริสุทธิ์นั้น มันมีหรือที่จะไม่ทำให้ไฟแห่งการ สร้างสรรค์ของศิลปินต้องอ่อนแรงล้า ประเทศนี้จะสามารถเป็นเนื้อดินชั้นดีสำหรับงานสร้างสรรค์ได้อย่างไร หากว่ามี ฟ้ามากางกั้นต่อความรักในงานสร้างสรรค์นั้น ในบทความของ อ.ชูศักดิ์ ที่ได้นำมาตีพิมพ์ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ อ.ชูศักดิ์ ยกข้อความจากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของลุงคำสิงห์มาทิ้งท้ายไว้ว่า ลุงคำสิงห์บอกว่าผมไม่ใช่นักวรรณกรรม บริสุทธิ์ที่จรรโลงโลกหรือสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อเพิ่มพูนมรดกทางวรรณกรรม แต่ผมรู้สึกว่าผมกำลังทำงาน ทางสังคมชนิดหนึ่ง แต่ตอนนี้ที่ตัวเองไม่รู้สึกอาลัย หมดความไยดี เหมือนรักผู้หญิงคนหนึ่ง เขียนจดหมายถึงกันบ่อยๆ  แต่ตอนนี้ไม่รักกันแล้ว มันไม่อยากเขียนจดหมายถึงเขา"

"อันที่จริงเมื่อคิดอีกแง่หนึ่งถึงการดำรงอยู่ของภาวะแบบนี้คืออาการวิปริตทางสังคมแบบนี้ไม่ใช่หรือ ที่อีกทางหนึ่งก็คือเงื่อนไขอันกดดันที่อาจส่งเสริมให้เกิดวรรณกรรมชั้นดีขึ้นได้ แล้วมันก็ได้ทำให้ฟ้าบ่กั้นกลายเป็น ตำนานทรงพลังที่คอยหลอกหลอนสังคมไทยไปแล้ว แน่นอนว่าในช่วงเวลาหลายปีหลังจากนั้นที่แม้ว่าจะได้รับการ ตีพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้ง แต่มันก็ถูกลดทอนให้เป็นตำนานของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในความหมายที่กว้างและ คลุมเครือ ที่ไม่มีใครกล้าไปสะกิดถึงคำสาปที่อยู่ในนั้น แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่มีการจัดพิมพ์ครั้งไหนที่จะช่วยยืนยัน ความจริงของคำสาปอันเป็นตำนานนี้ได้เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าสำนักพิมพ์อ่านทำได้ดีกว่าสำนักพิมพ์อื่น แต่เป็น เพราะว่าผู้อ่านเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ฟ้าไม่อาจกั้นความจริงได้อีกต่อไปแล้ว การนำมา พิมพ์ใหม่ในที่นี้โดยสำนักพิมพ์อ่านใน พ.ศ.นี้ เป็นการยืนยันพื้นที่ของมัน ว่ามันเป็นตำนานที่มีโครงมาจากเรื่องจริง จากความจริงของสังคมไทยและต้องการให้เราพิมพ์ในรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Critical Edition ในครั้งนี้ คือรวมเอา บทวิจารณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เข้ามาไว้ด้วย ก็คือการยืนยันฐานะของมันที่เป็นมากกว่านิยายที่ไร้ พิษสงสำหรับการอ่านนอกเวลา แต่มันคือการได้บอกว่ามันได้หยั่งรากลึกและมีสถานะที่เอื้อต่อการผลักดันขอบฟ้า ของการวิจารณ์ในสังคมไทย ขอบฟ้าที่ไม่ควรมีใครมีสิทธิ์มาปิดกั้น"

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เริ่มบทเสวนาต่อจากไอดา อรุณวงศ์ ในมุมมองของผู้อ่านฟ้าบ่กั้นมาตั้งแต่เด็ก กับความรู้สึก ที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่ได้อ่าน และมองว่าฟ้าบ่กั้นทำหน้าที่อ่านคนที่กำลังอ่านมันอยู่

"รวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นโดยประสบการณ์ของการอ่านหนังสือเล่มนี้ของผมมันเริ่มมาตั้งแต่สมัยเด็ก มัธยมต้น อายุประมาณ 13 ปี พี่ชายเป็นคนซื้อ เป็นฉบับก่อนที่จะมีสำนักพิมพ์อ่านก็ถือว่าเป็นฉบับที่คลาสสิคมาก ขนาดนักเลงหนังสือด้วยกันคือที่ ส.ศิวรักษ์ สนับสนุนให้ตีพิมพ์และมี อ.เทพศิริ เป็นผู้วาดภาพประกอบ ขนาดก็แตกต่างจากพ็อกเก็ต บุ๊ค ช่วงนั้น และพิมพ์ด้วยกระดาษดีมาก ผมก็อ่านคู่กับปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะขณะนั้นอายุแค่ 13 ปี บางทีผมก็อ่านหนังสือ แต่บางทีหนังสือมันก็อ่านผม แต่ก็จำได้แม่นว่าเรื่องเขียดขาคำ จะติดในความรู้สึกของตัวเองเพราะไม่รู้จักโลกแบบนั้น นั่นเป็นประสบการณ์ การอ่าน"

"หลังจากนั้นก็ได้อ่านอีกหลายครั้ง เคยเอาเรื่องสั้นบางเรื่องของพี่คำสิงห์ไปตีพิมพ์ในวารสาร ของโรงเรียน วารสารใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง ก็แล้วแต่ โดยไม่ได้ขออนุญาตลุงคำสิงห์ หลัง 6 ตุลา มาได้อ่านอีกครั้ง ก็มีการมารวมพิมพ์ใหม่ประมาณปี 2524-2525 ผมได้เขียนบทวิจารณ์ไว้ชิ้นหนึ่งประมาณปี 2530 ความเงียบ ในฟ้าบ่กั้น และก็มาอ่านใหม่อีกเมื่อไม่นานมานี้เขียนลงในวารสารอ่าน เล่าประสบการณ์ส่วนตัว เพราะเป็นประเด็น ที่อยากจะชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับเรื่องการอ่านวรรณกรรม บางครั้งวรรณกรรมเป็นฝ่ายอ่านเรา เราไม่ได้เป็นฝ่ายอ่าน อย่างเดียว หนังสืออย่างฟ้าบ่กั้นคนอ่านเยอะมาก บางครั้งคิดว่าคนอ่านถูกหนังสือเล่มนี้อ่านอย่างไรบ้าง"

"คำนำที่ค่อนข้างจะเจียมตนของลุงคำสิงห์ที่พูดในหนังสือฟ้าบ่กั้นที่เป็นภาษาสวีเดน ที่ว่า "ถ้าจะมีความพยายามจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ก็จะมีฐานะที่เป็นได้เพียงวรรณกรรม แห่งฤดูกาลความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย"

ชูศักดิ์ กล่าวว่าประทับใจคำนิยามหนังสือของลาว คำหอม ที่บอกว่าเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล และได้นำไปขบคิดในหลายแง่มุม รวมทั้งมุมมองของตนเองที่ว่าคำนำของลาว คำหอม เป็นคำนำที่เจียมตน และยังบอกว่าวรรณกรรมฟ้าบ่กั้นไม่น่าจะมีอายุยาวนาน และไม่ใช่วรรณกรรมอมตะ

"ถ้าเรียกให้เข้ากับคำนิยามที่ลุงคำสิงห์ก็น่าจะเรียกว่าวรรณกรรมสามฤดู วรรณกรรมทุกฤดู ก็เหมือนเป็นวรรณกรรมที่สูงส่งมีค่าอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย แต่ลุงคำสิงห์กลับมองฟ้าบ่กั้นในฐานะที่เป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาล ก็คือมีหน้าที่เฉพาะในช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง สังคมหนึ่ง การที่จะทำหน้าที่เป็นตัวบอกของสังคมนั้น โดยหวังว่าเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนี้ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไป เป็นการเจียมตัว ที่ไม่น่าเชื่อว่านักเขียนคนหนึ่งจะพูดไม่เพียงเฉพาะว่างานของตัวเองมีความหมายแค่เฉพาะกิจ แต่นึกให้ดี ตัววรรณกรรมนั้นมีหน้าที่ที่จะทำลายตัวมันเอง เพราะวรรณกรรมนั้นต้องการจะพูดถึงสังคมนั้นโดยหวังว่าสังคมนั้น จะหมดไป คือพูดถึงความยากไร้ของชาวบ้านโดยหวังว่าตัวหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ความยากไร้นั้นหมดสิ้นไป ซึ่งก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มนี้ก็ต้องหมดสถานะไปด้วย ถ้าเราเทียบกับนักเขียนบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะเจียมตน ขนาดนี้ มันจะมีลักษณะอหังการของกวีประเภทไหลหลั่งกวีไว้ชั่วฟ้าดินสมัย คือหวังว่าเขียนงานชิ้นหนึ่ง มันจะอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย คือหวังว่าเมื่องานของตัวเองตายไปก็หวังว่าชื่อบทกวีก็จะเป็นหลักฐานหรือประจานตนเอง หรือเชิดชูตนเองต่อไป แต่ลุงคำสิงห์มาอีกสำนักหนึ่ง มาจากสำนักที่เจียมตัวมากถึงขนาดหวังว่าวรรณกรรมของ ตัวเองมันจะทำลายชื่อเสียงของตนเองในแง่ที่ว่า ขอให้สังคมเปลี่ยนไปและก็ให้หนังสือมันหมดไปจากสังคมนั้น ไปด้วย ซึ่งมันเหลือเชื่อว่าจะมีคนที่จะถ่อมตัวได้ขนาดนี้ ผมยังทำไม่ได้เลย แล้วกวีเราทุกวันนี้มันตรงข้ามกับ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง"

"ผมอยากจะคิดต่อไปว่าความเป็นอมตะของวรรณกรรม มันอยู่ที่มันเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล เวลาเราพูดถึงงานอมตะ งานชิ้นเอก มันพูดถึงความจริงชุดหนึ่งที่สามารถจะเป็นสัจธรรมที่จะอยู่ไปกับมนุษยชาติ ทุกยุคทุกสมัย สำหรับผมวรรณกรรมอมตะคือวรรณกรรมที่จะสามารถอ่านได้ทุกยุคทุกสมัย คนในแต่ละยุคสมัย มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่สามารถมองเห็นคุณค่าและเข้าถึงความสำคัญบางอย่างของวรรณกรรมชิ้นนั้นได้ มันไม่ได้ ประกาศสัจธรรมที่พ้นยุคพ้นสมัยแต่ตัวมันเองต่างหากที่สามารถจะบอกหรือทำให้คนแต่ละยุคสมัยที่ไม่เหมือนกันเข้าใจได้ สามารถอ่านและเอาไปเทียบกับยุคสมัยของเขาเองได้ว่ามันกำลังพูดกับตัวเขา นี่แหละคือวรรณกรรม แห่งฤดูกาล อ่านแล้วกระตุ้น ลากโยง ให้เราเปรียบเทียบกับยุคสมัย ทำให้เข้าใจสังคมในแต่ละยุคที่ต่างกันเพราะ หนังสือเล่มนี้ ที่ช่วยให้มองสังคมแต่ละยุคสมัยด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป"

"ความหมายของหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกต่อไปว่ามันบอกอะไรหลาย ๆ อย่าง อ่านตอน 14 ตุลา 16 ทำให้รู้สึกเข้าใจคนยากคนจนในภาคอีสาน และรู้สึกว่าตัวเองเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำให้รู้สึกเห็นใจ คนในยุคสมัยนั้นก็น่า จะอ่านด้วยความรู้สึกแบบนั้น รู้สึกว่ามันเป็นคำร้องทุกข์ของคนยากจนในภาคอีสาน แต่พอผมกลับมาอ่านอีกครั้ง ก่อนเหตุการณ์พฤษภา 35 หนังสือฟ้าบ่กั้นบอกผมต่างไปจากเดิม มันไม่ได้บอกแค่ทำให้ผมรู้สึกเห็นใจ แต่ทำให้เกิด ความคิดความรู้สึก วัฒนธรรมของตัวละครในเรื่อง ซึ่งกำลังต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่มาจากส่วนกลาง และทำให้คิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้มีลักษณะพิเศษในสายตาผมคือมันไม่ได้มีไว้ให้เราอ่านอย่างเดียว แต่มันกำลังอ่านสังคม และกำลังอ่านคนที่อ่านมันด้วย

ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา คนอ่านฟ้าบ่กั้นเขาอ่านอะไร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคนที่อ่านหนังสือนี้ถูกหนังสือ อ่านอย่างไร คำนำเชิงวิจารณ์ของ วิทยากร เชียงกูล ปี 2517 บอกว่า งานของลาว คำหอม มีลักษณะเด่นร่วมกัน อย่างหนึ่งคือ สะท้อนภาพชาวบ้านที่ยากไร้ ขมขื่น งมงาย อย่างตรงไปตรงมา และมีอารมณ์ขัน ภาพพจน์ของ  ลาว คำหอม ที่มองชาวชนบทนั้นไม่ใช่แบบชาวเมืองมองชาวชนบท หากแต่เป็นภาพพจน์แบบเห็นอกเห็นใจ เย้ยหยัน ตนเอง"

"นักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่า ลาว คำหอม นำเสนอภาพชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยระบบความเชื่อ แบบชาวบ้าน มีความเชื่อถือ ศรัทธา ในผี เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บาป บุญ นรก สวรรค์ ชาตินี้ ชาติหน้า ชาวชนบท จึงยอมจำนนต่อปัญหาชีวิต ไม่ท้าทาย ไม่ทบทวน ตนเอง เพราะมีคำตอบอยู่แล้วในทุกเหตุการณ์"

"นักมานุษยวิทยา และเป็นนักวรรณคดี ค่ายเทวาลัย พูดในทำนองเดียวกันว่าหนังสือเล่มนี้สื่อสภาพ ชนบทให้คนเมืองวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนกลับไปให้คนในชนบทได้เห็นความเป็นตัวของตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็น อย่างนี้ ทำไมถึงช่วยตัวเองไม่ได้"

"ที่ผมเขียนไว้ในบทวิจารณ์ของผมคือ ปฏิกิริยาในการอ่านแบบนี้มาได้ยังไง ทำไมหนังสือเล่มหนึ่ง ทำให้คนอ่านแล้วมองภาพอย่างนี้ออกมา เรามักจะเชื่อว่าวรรณคดี หนังสือ หรือวรรณกรรม เราอ่านหนังสือก็เพื่อ เปิดขอบฟ้า เปิดโลกทัศน์ ให้กว้างขึ้น เราอ่านเรื่องนู้นเรื่องนี้ทำให้เรารู้จักโลกมากขึ้น บ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือ ไม่ได้มีหน้าที่มาเปิดขอบฟ้าหรือเปิดใจให้กว้างขึ้น เราอ่านหนังสือเพื่อยืนยันความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วมากกว่า และเราก็มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ต่างไปจากความเชื่อที่เรามีอยู่ การอ่านทำให้เรามองเห็นโลกได้กว้างขึ้น แต่บ่อยครั้ง เป็นการอ่านเพื่อจะยืนยันความเชื่อเดิมเรามากกว่า ซึ่งวิธีอ่านแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น มันเป็น วิธีการอ่านที่เลือกจะอ่านหรือเลือกที่จะเข้าใจในบางเรื่องที่เราเชื่ออยู่แล้ว และคิดว่าการที่อ่านฟ้าบ่กั้น ในฐานะที่ วาดภาพว่าคนอีสานเป็นคนโง่ จน เจ็บ มันไม่ใช่เพราะตัวหนังสือมันบอกอย่างนั้น แต่เป็นเพราะผู้อ่านต่างหาก ที่เชื่อว่าคนอีสานเป็นเช่นนั้น  คนจำนวนมากยังอยู่ที่เดิมกับการอ่านหนังสือเล่มนี้"

"ผมกลับมาอ่านอีกครั้งปี 2550 คิดต่างไปจากเดิม ถ้าละวางความเชื่อที่ได้จากการอ่านหนังสือ เล่มนี้ว่า คนอีสานโง่ จน เจ็บ ที่ถูกกล่อมหู กล่อมประสาทอยู่ทุกวัน ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ใหม่ด้วยสายตาแบบชาวบ้าน ที่พยายามมองผ่านสายตาตัวละครชาวบ้านในเรื่อง เราจะเห็นมุมที่น่าสนใจมากและเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่ชวนให้ ขบคิดว่าวิธีอ่านที่เราอ่านมา เผลอ ๆ มันเกิดจากอคติของเรามากกว่า และหนังสือเล่มนี้จะเป็นตัวที่มาช่วยตรวจสอบ ตรวจทานอคติของเราเองว่าคนชาวบ้านอย่างนี้มาจากอะไร ซึ่งผมคิดว่าตัวหนังสือได้ทำหน้าที่อ่านเรา เราไม่ได้อ่าน หนังสืออย่างเดียว ถ้าเราถามตัวเองทุกครั้งว่า เอ๊ะ! ทำไมเราได้ข้อสรุปแบบนี้ ทำไมคนอย่างวิทยากร เชียงกูล นักวิชาการจำนวนมาก ถึงได้ข้อสรุปว่าหนังสือเล่มนี้มันพูดถึงคนอีสานที่โง่งมงาย น่าหัวร่อ ถึงแม้จะมีลักษณะ ประชดประชัน ล้อตัวเอง ถ้าไปอ่านใหม่เราจะเห็นมุมที่ตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งสติและพยายามอ่านหนังสือ และโดยที่ ให้หนังสือมันอ่าน และระแวดระวังว่าหนังสือกำลังอ่านเราอยู่ด้วย ถ้าทำตัวโง่หน่อยหนังสือมันก็จะบอกมาเองว่า ความโง่คุณอยู่ตรงไหน ปกติเราจะเห็นมุมที่แปลกใหม่ไม่เยอะมาก ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้มันเป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาลในความหมายที่อยากให้ใหม่และสามารถอ่านได้ใหม่เรื่อย ๆ และหวังไว้อีกว่า10-20 ปี ผ่านไป คนรุ่นหลัง มาอ่านใหม่ก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้ในความหมายที่ต่างออกไปอีก และก็อ่านมันให้ไปสอดคล้องกับสังคมและยุคสมัย ของเขา ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลานั้นประเด็นเรื่อง เจ้า ฟ้า ก็คงจะหมดไปแล้ว

 

มุมมองของผู้เสวนาทั้งสองข้างต้นได้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่แห่งคุณค่างานวรรณกรรม ผ่านงานเขียนที่มีความ อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยหวังให้ผลงานของตนเป็นเพียงวรรณกรรมแห่งฤดูกาล ฤดูกาลแห่งความยากไร้และคับแค้น มีหน้าที่เป็นเพียงตัวบอกสังคมนั้น ๆ เฉพาะช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง และเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนั้น ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไปด้วยเช่นกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลจีนสั่งตัดสินเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผิดฐานกักขังประชาชนใน 'คุกมืด'

$
0
0

สื่อจีนรายงานเรื่องการตัดสินลงโทษหวัง เกาเหว่ย และพรรคพวกอีก 9 คน ในข้อหานำตัวผู้เดินทางมาร้องทุกข์ไปกักขังอย่างผิดกฏหมายหลังจากที่พวกเขาเดินทางมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกไล่ที่


เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2013 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่าศาลทางการจีนได้สั่งตัดสินจำคุกบุคคล 10 คน จากเหตุการณ์กักขังผู้ร้องทุกข์ 11 คนอย่างผิดกฏหมายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางสำนักข่าวอัลจาซีร่าบอกว่าเป็นการที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณการควบคุมเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย. 2012 มีผู้ร้องทุกข์ 11 คนจากมณฑลเหอหนานเดินทางมาร้องทุกข์ที่เขตชาวหยาง กรุงปักกิ่ง แต่ถูกบุคคลประกอบด้วยหวัง เกาเหว่ย และพรรคพวกอีก 9 คน จับตัวไปกักขังอย่างผิดกฏหมายในวันที่ 2 พ.ค.

ศาลได้แถลงคำตัดสินเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.พ. ให้หวังและพรรคพวกที่ร่วมกระทำการมีความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฏหมาย โดยให้ลงโทษจำคุก 6-10 เดือน และมีการจ่ายเงินชดเชยแก่โจทก์เป็นวงเงิน 1,300 ถึง 2,400 หยวน (ราว 6,200 ถึง 11,000 บาท)

ผู้ร้องเรียนทั้ง 11 ราย ได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นในเหอหนานจ่ายค่าชดเชยหลังถูกบังคับให้รื้อถอนที่พักอาศัย โดยประชาชนจีนที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลท้องถิ่นบางครั้งก็จะนำเรื่องไปร้องเรียนต่อรัฐบาลในระดับสูงกว่าที่ปักกิ่ง ซึ่งระบบการร้องทุกข์เช่นนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่จักรพรรดิ์ของจีนมีหน้าที่รับฟังคำร้องจากสามัญชน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดหลายอย่างของเจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่น


'คุกมืด' ในจีน

รายงานข่าวของอัลจาซีร่ากล่าวว่าการกักขังอย่างผิดกฏหมายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในจีน ผู้ร้องทุกข์มักจะถูกเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นสกัดกั้นและนำตัวไปขังไว้ในห้องพักที่เรียกว่า 'คุกมืด' นอกจากนี้แล้วในอดีตยังมีการใช้ 'คุกมืด' กักขังผู้ต่อต้านทางการเมืองและกลุ่มเรียกร้องทางศาสนาอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าประจำมาร์กา ออร์ติกัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางการจีนไม่เคยประกาศเรื่องการตัดสินคดีแบบนี้ต่อสาธารณะ และการประกาศผ่านสื่อจีนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางของจีนเริ่มส่งสัญญาณหรืออย่างน้อยก็เล็งเห็นการมีอยู่จริงของ 'คุกมืด' และจะไม่มีการทนต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกต่อไป


เรียบเรียงจาก

China 'jails 10 for detaining petitioners', Aljazeera, 05-02-2013


10 jailed over false imprisonment of petitioners, Xinhua, 05-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images