Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

‘เจ้าของรางวัลแมกไซไซ’ หายตัวกลางกรุงเวียงจันทน์ เอ็นจีโอไทย-เทศร้องรัฐบาลลาวสืบหาตัว

$
0
0

เอ็นจีโอไทยและระหว่างประเทศกว่า 60 องค์กร ร่วมลงนามในจดหมายส่งถึงรัฐบาลลาว พร้อมสำเนาถึงเลขาธิการอาเซียน สถานกงสุลและสถานทูตนานาชาติ ร้องตามหา‘นายสมบัด สมพอน’ นักพัฒนาอาวุโสของลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ หายตัวลึกลับ

 
วันนี้ (18 ธ.ค.55) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยและระหว่างประเทศกว่า 60 องค์กร ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกส่งถึง รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายใน รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง เจ้าแขวงกำแพงนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กรณีการหายตัวไปของ นายสมบัด สมพอน (Sombath Somphone) นักพัฒนาอาวุโสของลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี พ.ศ.2548

อีกทั้งมีการสำเนาถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน สถานกงสุล และสถานทูต ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดเนเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไทย และสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
 
จากเหตุการณ์ที่ นายสมบัด หายตัวไป ระหว่างการขับรถกลับบ้านพักในกรุงเวียงจันทน์ ในช่วงระหว่าง 17.00-18.00 น.ของวันเสาร์ที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากมีการติดตามสถานการณ์แล้วไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใดๆ ภาคประชาสังคมจึงมีการจัดทำจดหมายเปิดผนึก เพื่อสนับสนุนให้มีการสืบค้นหาตัวนายสมบัดโดยเร็วที่สุด
 
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ได้มีการประสานไปทางภรรยาของนายสมบัด ทราบว่าเธอได้ยื่นหนังสือสอบถามไปยังผู้ใหญ่ในรัฐบาลลาวแล้ว และได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมบัด เมื่อรัฐบาลลาวได้ยืนยันแล้วเช่นนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมสืบค้นหาตัวนายสมบัดให้ได้โดยเร็ว
 
นอกจากนั้น การจัดทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแจ้งให้รัฐบาลลาวได้รู้ว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคนี้ให้ความสนใจจับตามองและต้องการเห็นความคืบหน้า ซึ่งนอกจากจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยแล้ว ขณะนี้ยังมีการจัดทำจดหมายในกรณีเดียวกันนี้ซึ่งเป็นการล่ารายชื่อจากองค์กรประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอีกฉบับหนึ่งด้วย
 
นางสุนทรี กล่าวด้วยว่าการหายตัวไปของนายสมบัดได้สร้างความหวั่นวิตกให้เกิดขึ้นต่อองค์กรภาคประชาสังคมในวงกว้าง เนื่องจากนายสมบัดถือเป็นนักพัฒนาอาวุโสซึ่งเป็นที่รู้จักของหลายองค์กรทั้งในไทยและภูมิภาค เคยร่วมงานกับหลายๆ องค์กร และที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมของภาคประชาชนใน สปป.ลาวก็มีนายสมบัดช่วยเหลือเป็นผู้อำนวยการให้ เช่นล่าสุดในการจัดประชุมของภาคประชาชน (Asia-Europe Peoples Forum: AEPF) คู่ขนานกับการประชุม ASEM หรือ Asia-Europe Meeting ครั้งที่ 9 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาก็มีนายสมบัติเป็นกำลังสำคัญในการจัดงาน
 
ส่วนประเด็นที่อาจเป็นมูลเหตุการหายตัวไปของนายสมบัดนั้น นางสุนทรีกล่าวว่าในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีการตั้งคำถามกันในหลายประเด็น เช่นแนวคิดต่อการพัฒนาเป็นต้น ทั้งนี้ โดยในส่วนภรรยาของนายสมบัดเองก็ยืนยันว่าสามีไม่มีความขัดแย้งในประเด็นส่วนตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาคประชาสังคมไทยจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมด้วย
 
ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวดำเนินมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการหายตัวไปของ นายสมบัด โดยองค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการซึ่งร่วมลงชื่อจะรอรับข้อมูลความพยายามในการเร่งรัดสืบค้นติดตามการหายตัวไป เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
 
“พวกเราหวังว่าท่านสมบัดยังคงปลอดภัยและสามารถกลับมาสานต่อภารกิจที่ยังคั่งค้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ร่วมทำงานในภารกิจเดียวกันนี้เท่านั้น แต่เพื่อผู้คนที่ต้องการสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน” เนื้อความในจดหมายตอนหนึ่งระบุ
 
 
นอกจากนั้น การหายตัวไปของนายสมบัดยังได้สร้างกระแสความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยมีการเผยแพร่และส่งต่อภาพของเขารวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาษาลาว ผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.55 โดยบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Xaysomphone Phaypadith ซึ่งล่าสุด (เวลา 19.30 น.วันที่ 18 ธ.ค.55) มีการแชร์ดังกล่าว1,647 ครั้ง
 
ทั้งนี้ นายสมบัด เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Participatory Development Training Centre (PADECT) และเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้บุกเบิกและอุทิศตนให้กับงานพัฒนาสังคมในประเทศลาว โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา มาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษจนได้รับรางวัล “รามอนแมกไซไซ” ปี 2005 (พ.ศ.2548) ด้านบริการชุมชน ปีเดียวกับ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับรางวัลในด้านบริการภาครัฐด้วย
 
ผู้สื่อข่ายรายงานว่าจนถึงขณะนี้การหายตัวของนายสมบัด ยังไม่ทราบถึงสาเหตุและผู้ที่กระทำการอย่างแน่ชัด
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
 
 
18 ธันวาคม 2555
 
เรียน:
 
รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานสภาแห่งชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายใน
รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง
เจ้าแขวงกำแพงนครเวียงจันทน์
กำแพงนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
สำเนาถึง:
 
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน
สถานกงศุล และสถานทูต ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมันนี อินเดีย อินโดเนเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไทย และสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเวียงจันทน์
 
 
เรื่อง ขอให้สืบสวนเรื่องการหายตัวไปของ ท่านสมบัด สมพอน โดยด่วนที่สุด
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เราได้รับแจ้งถึงการหายตัวไปของท่านสมบัด สมพอน ผู้ก่อตั้ง ‘ศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา’ (Participatory Development Training Centre [PADECT]) ผู้เป็นเจ้าของรางวัล ‘รามอนแมกไซไซ’ ปี 2548 ซึ่งเป็นนักคิดอาวุโสที่ได้รับความเคารพอย่างยิ่งในฐานะผู้ทำงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาสังคมมาโดยตลอด การหายตัวไปของท่านสมบัด สมพอน เกิดขึ้นเมื่อตอนเย็นของวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม กลางนครเวียงจันทน์ ขณะกำลังขับรถจากที่ทำงานเพื่อกลับบ้าน ผู้คนที่รู้จักท่านสมบัด ที่อยู่ในประเทศไทยต่างตกใจและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของท่านสมบัดในทันทีที่ได้รับทราบข่าว
 
ประชาชนในสังคมไทย อาเซียน และนานาประเทศ ต่างตระหนักรับรู้ถึงบทบาทของท่านสมบัด ในฐานะผู้บุกเบิกและอุทิศตนให้กับงานพัฒนาสังคมในประเทศลาว ความมุมานะที่ทุ่มเทให้กับการยกระดับด้านการศึกษาเพื่อผู้คนมานับทศวรรษ ซึ่งเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงกับประชาชนมากมายในประเทศของท่าน รางวัลรามอนแมกไซไซด้านบริการชุมชนที่ท่านได้รับนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าและอิทธิพลอันสำคัญถึงผลงานของท่านที่มีต่อประชาชนในประเทศผู้ต้องการโอกาสทางการพัฒนาและการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น ความตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศของท่านเอง เป็นสิ่งที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนในนอกประเทศเช่นพวกเรา
 
ดังนั้น พวกเรา องค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการในประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาวดำเนินมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการหายตัวไปของท่านสมบัด พวกเรารอรับฟังความถึงความพยายามในการเร่งรัดสืบค้นติดตามการหายตัวไป เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
 
ท้ายที่สุดนี้ พวกเราหวังว่าท่านสมบัดยังคงปลอดภัยและสามารถกลับมาสานต่อภารกิจที่ยังคั่งค้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ร่วมทำงานในภารกิจเดียวกันนี้เท่านั้น แต่เพื่อผู้คนที่ต้องการสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน
 
ด้วยความนับถือ
 
กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
กลุ่มรักษ์เชียงคาน
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
กลุ่มศึกษาปัญหายา
กลุ่มศึกษาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน (ISAN voice)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMove)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคเหนือ
เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชัวมวล อุบลราชธานี
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น อุบลราชธานี
เครือข่ายสลัมชุมชน
โครงการทามมูล
โครงการทามมูล
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
พรศิริ ชีวะวัฒนานุวงศ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
มูลนิธิเกษตรยั่งยืน
มูลนิธิชีววิถี (Biothai)
มูลนิธิชุมชนอีสาน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
มูลนิธิพัฒนาภาคชุมชน
มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
มูลนิธิพัฒนาอีสาน (NET)
มูลนิธิพัฒนาอีสาน/งานพลังงานและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน จ.เพชรบูรณ์
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ทดินทำกิน จ.เพชรบูรณ์
ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
สถาบันการจัดการทางสังคม
สถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคม
สภาการศึกษาทางเลือกไทย
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
สำนักข่าวประชาธรรม
โฮงเฮียนสืบสาน
ASEAN WATCH- Thailand
International Network of Engaged Buddhists (INEB)
School for Wellbeing Studies and Research
ThaiDhhra
Thai-Water Partnership
The Collaboration for the Young Generation in Mekong Region
The Creative Youth Group
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชวนประกวดสปอตโทรทัศน์ชิงเงินแสน

$
0
0

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประกวดสปอตโทรทัศน์ หัวข้อ “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” หวังให้ข้อมูลกับผู้บริโภคได้รู้สิทธิ์และผลักดัน กม.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

โดยการประกวดครั้งนี้นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ขอชวนนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ร่วมประกวดสปอตโทรทัศน์ ความยาว 30 วินาที และ 60 วินาที

“การจัดประกวดครั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป ตื่นตัวการใช้สิทธิผู้บริโภค เพราะปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงาน และกฎหมายในการดูแลสิทธิผู้บริโภคหลายฉบับ แต่ปัญหาเดิมๆ ทั้งถูกหลอกถูกโกง  ซื้อของใช้บริการแล้วไม่ได้ดั่งโฆษณา ถูกหลอกถูกต้มจนเปื่อย การออกมาใช้สิทธิแต่ละครั้งก็ต้องไปหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้

รัฐธรรมนูญเห็นช่องโหว่ตรงนี้ จึงกำหนดไว้ในมาตรา 61 ว่าให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เป็นความหวังของผู้บริโภคไทย ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ แต่ก็ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับด้วย ที่ผ่านมาประชาชนมากกว่า 1 หมื่นคนได้ช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา  ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.นักการเมือง  เสียงส่วนใหญ่ยังไม่ยอมยกขึ้นมาพิจารณา และบางส่วนต้องการรื้อกฎหมายทั้งฉบับและไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจเอกชน   ไม่ให้เปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค   โดยอ้างว่าหากไม่แก้ไขตามความเห็นกฎหมายอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา  การจัดประกวดสปอตโทรทัศน์น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปได้เห็นความสำคัญถึงการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

สำหรับขึ้นตอนการจัดประกวดครั้งนี้ มีเงือนไขการส่งประกวดดังนี้
- พบปะ พูดคุยเพื่อเตรียมเนื้อหา วันที่ 12 มกราคม 2556 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ส่งเค้าโครง และ Story board ภายในวันที่ 21 มกราคม 2556 (คัดเลือก 20 ทีม พร้อมเงินรางวัลในการจัดทำสปอตโฆษณา จำนวน 5,000 บาท)
- ส่งสปอตโฆษณา ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวน 2 ชิ้น ความยาวไม่เกิน 30 วินาทีและ 60 วินาที
- ประกาศรางวัลสปอตยอดเยี่ยมวันที่ 15 มีนาคม 2556 วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumers’ Right Day)
- หมดเขตรับสมัคร 5 มกราคม 2556

รางวัลสำหรับผู้เข้าประกวด  เงินรางวัลที่ 1 :50,000 บาท  เงินรางวัลที่ 2 : 30,000 บาท  และเงินรางวัลที่ 3 : 10,000 บาท 

การสมัครนั้น  Download ใบสมัครทาง www.consumerthai.org   ส่งใบสมัครมาทางไปรษณีย์ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ประกวดสปอตโทรทัศน์) เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 หรือแฟกซ์ใบสมัครมาที่ 02-2483733  หรือสมัครผ่านอีเมล์ supatra.nuch@gmail.com

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม นางสาวสุพัตรา  จันทร์เรือง  โทรศัทพ์ สอบถามรายละเอียด โทร. 08-7554-6730 Email -supatra.nuch@gmail.com , www.facebook.com/fconsumerthai และ www.consumerthai.org

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัจฉิมบท: สันติภาพที่ปลายอุโมงค์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

$
0
0
DSJ ได้นำเสนอรายงานความยาว 6 ตอนเพื่ออธิบายที่มาที่ไป ความคิดและการปฏิบัติการของขบวนการเอกราชปาตานี รวมถึงได้สะท้อนสิ่งที่ภาคส่วนอื่นๆ มองขบวนการ โดยมุ่งหวังว่าความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้จะนำไปสู่การวางนโยบายต่อการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีทิศทาง มีเอกภาพและตรงประเด็นมากขึ้น  
 
ในบทสรุป  ทาง DSJ ทดลองประมวลข้อเสนอทางนโยบาย 6 เรื่องฝากให้ผู้กำหนดนโยบายได้พิจารณา
 
ประการแรก ความเห็นของหลายฝ่ายที่ DSJ ไปสัมภาษณ์มองตรงกันว่าเรื่องการพูดคุยกับขบวนการเอกราชปาตานีเป็นเรื่องสำคัญในการยุติความรุนแรง ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามจากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศในการเชื่อมประสานการพูดคุยระหว่างรัฐกับขบวนการ  แต่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทยได้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องสะดุดอยู่ตลอดเวลา  เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปด้วย 
 
เอกภาพระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการดำเนินการเรื่องการพูดคุยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ในขณะนี้ดูเหมือนจะมีพัฒนาการไปในทิศทางบวกมากขึ้น  หลังจากที่สมช. ได้จัดทำ “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557”  ตามพรบ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555  ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หนึ่งในนโยบายนี้ระบุว่ารัฐมีหน้าที่ “สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”  ซึ่งต่อมาทางกอ.รมน. และศอ.บต. ได้นำนโยบายนี้ไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายการทำงานในระดับปฏิบัติการ
 
ประการที่สอง การส่งเสริมในเรื่องการดำรงรักษาอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของคนมลายูมุสลิมจะช่วยลดเงื่อนไขในการต่อสู้กับรัฐ  และเป็นการลดความรู้สึกหวาดระแวงและเกลียดชังรัฐ  สิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับวิธีคิดของรัฐต่อเรื่องนี้ให้สามารถยอมรับได้ว่าการอนุญาตให้คนกลุ่มน้อยดำรงรักษาภาษา วัฒนธรรมและศาสนาของตนเองซึ่งแม้แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในชาติ ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด  รัฐสามารถดำเนินการผ่านโครงการที่เป็นรูปธรรม  เช่น ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ   การอนุญาตให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานในพื้นที่  
 
ประการที่สาม ทุกฝ่ายควรจะร่วมกันสร้างพื้นที่การถกเถียงทางการเมืองอย่างสันติวิธีให้เป็นเวทีการต่อรองทางอำนาจที่มีความหมาย   หากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้ก็จะส่งผลให้ความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยอาวุธลดลง    พื้นที่นี้ควรเปิดกว้างให้มีการอภิปรายถกเถียงได้ในทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเอกราช  ตราบใดที่ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี
 
ประการที่สี่  รัฐควรจะให้ผู้นำศาสนาในปอเนาะและสถาบันศาสนาในท้องถิ่นเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้  ควรเปิดให้มีการพูดคุยในประเด็นที่อึดอัดคับข้องใจของชาวมลายูมุสลิม  รวมถึงให้มีการถกเถียงถึงการตีความหลักการศาสนาอิสลามในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน  
 
ประการที่ห้า รัฐควรจะให้น้ำหนักในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ ทั้งภาครัฐและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยมุ่งทำให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานและทำให้เกิดสมดุลระหว่างการศึกษาวิชาสามัญและศาสนาซึ่งเป็นความต้องการของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่  กระทรวงศึกษาธิการควรมีบทบาทนำอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยอาจจะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อยกร่างโมเดลการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยในกระบวนการนี้ควรจะพยายามให้ผู้นำและประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด  และไม่ควรเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากข้าราชการจากส่วนกลาง
 
ประการที่หก  รัฐควรจะส่งเสริมการการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม  ข้อมูลในการทำรายงานพิเศษชุดนี้ชี้ให้เห็นว่าคนที่เข้าร่วมขบวนการจำนวนหนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและคนต่างศาสนาน้อย  ความไม่รู้จักทำให้เกิดความหวาดระแวง  กระทั่งความเกลียดชัง สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างศาสนาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในชายแดนภาคใต้  
 
สุดท้าย  DSJ อยากจะฝากคำถามบางประการไปยังขบวนการเอกราชปาตานี  เราอยากจะเห็นขบวนการทบทวนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้   เราตั้งคำถามว่าข้อเรียกร้องเรื่องเอกราชจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใดต่อคนปาตานีในบริบทโลกยุคโลกาภิวัตน์และขบวนการจะเดินไปสู่เป้าหมายทางการเมืองนั้นด้วยวิถีทางใด  การเลือกใช้วิถีความรุนแรงในการต่อสู้ ที่แม้จะมีความพยายามเลือกและกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสูญเสียในความขัดแย้งนี้จำนวนมาก  การใช้ยุทธวิธีทางการทหารเช่นนี้ต่อไป จะเป็นการลดความชอบธรรมในสายตาของผู้ที่เห็นด้วยหรือเห็นอกเห็นใจต่อเป้าหมายทางการเมืองของขบวนการหรือไม่ การเดินหน้าด้วยการทหาร โดยไม่ปรากฏถึงความก้าวหน้าในทางการเมืองอย่างชัดเจนและท่ามกลางความสูญเสียที่ไม่จบสิ้น  ทำให้เกิดคำถามว่าในที่สุดขบวนการต้องการจะสร้างสังคมประเภทใดในพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรปาตานีแห่งนี้ การพูดคุยกับรัฐไทยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งนี้ร่วมกัน
 
 
 
หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group    ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
 
อ่านย้อนหลังรายงานพิเศษชุด “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เยอรมนีสั่ง 'เฟซบุ๊ค' ยกเลิกนโยบายระบุชื่อจริง

$
0
0

หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ ประเทศเยอรมนี ออกคำสั่งเรียกร้องให้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก 'เฟซบุ๊ค' ยกเลิกนโยบายให้ผู้ใช้ระบุชื่อจริง เนื่องจากขัดกับกฏหมายการคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนี

18 ธ.ค. 2012 - หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของประเทศเยอรมนีสั่งให้เฟซบุ๊คยกเลิกนโยบายที่ต้องให้ผู้ใช้ระบุชื่อจริง โดยให้เหตุผลว่านโยบายดังกล่าวละเมิดกฏหมายของเยอรมนีที่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการใช้นามแฝงในอินเตอร์เน็ต

ทางหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนีได้ออกคำสั่งเรียกร้องให้เฟซบุ๊คอนุญาตให้มีการใช้ชื่อปลอมโดยทันที

ธีโล ไวเชิร์ท ประธานหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลประจำรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า มันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ที่ผู้ให้บริการช่องทางข้อมูลอย่างเฟซบุ๊คละเมิดกฏหมายการคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนีอย่างไม่มีการท้วงติงใดๆ และไม่มีท่าทีว่าจะจบสิ้น

ไวเชิร์ท บอกอีกว่าการใช้นามแฝงในเฟซบุ๊คเป็นสิ่งที่มีเหตุผลสมควร และทำให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการได้โดยไม่ค้องเกรงกลัวต่อผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ เขาบอกอีกว่าเฟซบุ๊คมีนโยบายให้คนใช้ชื่อจริงมายาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรซึ่งเป็นการปกป้องผู้ใช้จากการกล่าวล่วงเกินหรือช่วยยับยั้งการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวบุคคล

หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลประจำรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ กล่าวว่าหากการเรียกร้องต่อเฟซบุ๊คเป็นผลสำเร็จ หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลในส่วนอื่นๆ ของประเทศเยอรมนีก็อาจจะนำแนวทางนี้ไปใช้ โดยที่เฟซบุ๊คมีเวลาอีกสองสัปดาห์ในการคัดค้านคำประกาศในศาลของเยอรมนี

ทางด้านโฆษกของเฟซบุ๊คบอกว่า คำสั่งของหน่วยงานของเยอรมนีเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ สิ้นเปลืองภาษีของยาวเยอรมัน และพวกเขาจะต่อสู้อย่างแข็งขัน นอกจากนี้ยังยืนยันว่านโยบายระบุชื่อจริงเป็นไปตามกฏการคุ้มครองข้อมูลของยุโรป


เรียบเรียงจาก

Germany orders changes to Facebook real name policy, BBC, 18-12-2012


German privacy regulator orders Facebook to end its real name policy, ITworld, 17-12-2012
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: แด่ ว.วชิรเมธี ‘ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชนดีเด่น’

$
0
0

 

ภาพจาก http://www.facebook.com/prachatai

 

ภาพข้างบน คืออีกหนึ่งในปฏิกิริยาต่อข่าวที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติมอบรางวัล ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ แก่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ภาพดังกล่าวสะท้อนความแจ่มชัดในการรับรู้ของสาธารณะว่า ผู้คนรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า ว.วชิรเมธี คือเจ้าของวาทกรรม ‘ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน’ แต่แทบจะไม่ได้รับรู้กันเลยว่า ว.วชิเรเมธีได้ทำอะไรบ้างที่เป็นการ ‘ปกป้องสิทธิมนุษยชน’

หรือหาก ว.วชิรเมธี เคยทำอะไรบ้างเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่การที่ท่านทวิตเตอร์ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ในคืนวันที่ 9 เมษายน 2553 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดที่สี่แยกคอกวัวเพียง 1 วัน ข้อความนี้ที่ออกสู่สาธารณะในสถานการณ์เช่นนั้น ย่อมเป็น ‘ตราประทับ’ ว่า ว.วชิรเมธีไม่คู่ควรกับรางวัล ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ เพราะท่านไม่เคยออกมาขอโทษประชาชนในความผิดพลาดนี้เลยด้วยซ้ำ อีกทั้งในช่วงการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เพิ่งผ่านพ้น ท่านยังออกมาตอกย้ำว่า “กฎหมายบ้านเมืองต้องศักดิ์สิทธิ์” อันเป็นการสอดรับกับแนวทางของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ต้องสลายการชุมนุมด้วย ‘กระสุนจริง’ เพื่อรักษากฎหมาย

ที่สำคัญชื่อ ‘ว.วชิรเมธี’ ก็ได้ถูกจดจำในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนไปแล้วว่า ท่านไม่ใช่ผู้ปกป้องสิทธิของประชาชนที่สละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้กับเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ท่านจึงไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับกิตติวุฑฺโฒ ภิกขุ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19

คำแก้ตัวของกิตติวุฑฺโฒ ภิกขุ ที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หมายถึงฆ่าลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ฆ่าคนที่เป็นคอมมิวนิสต์” นั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะนี่เป็นคำแก้ตัวในภายหลังจากที่ก่อนหน้านั้นตนเคยพูดต่อสาธารณะไปแล้วว่า “ฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้บุญมากกว่าบาปเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรถวายพระ”

เช่นเดียวกันคำแก้ตัวของ ว.วชิรเมธี ทำนองว่าที่พูดประโยค “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนความรุนแรง แต่ต้องการกระตุกผู้คนให้รู้คุณค่าของเวลา” ก็ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะท่านพูดคำนี้ออกมาในสถานการณ์ความขัดแย้งที่สื่อเสื้อเหลืองและสื่อหลักกำลังโหมประโคมภาพความรุนแรงของเสื้อแดง และรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังเตรียมสรรพกำลังเพื่อจัดการกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง ปี 2553

แม้สมมติว่า ว.วชิเมธี ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนความรุนแรงดังที่กล่าวจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโดยเจตนาเช่นนั้นจะทำให้การกระทำนั้นไม่ใช่เป็นความผิดพลาดและไม่ควรขอโทษประชาชน เพราะ ‘เจตนา’ ของท่านไม่สามารถควบคุม ‘ความหมาย’ ของวาทกรรทประดิษฐ์ที่ตนเองเสนอออกไปในท่ามกลางสถานการณ์ที่พระควรจะเตือนสติมากกว่าจะไปพูดอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงกว่าเดิม

ปัญหาของ ว.วชิรเมธี (หรือพระสงฆ์และชาวพุทธส่วนมาก) คือการคิดว่าที่ตนเองออกมาแสดงทัศนะทางการเมือง วิจารณ์การเมือง หรือกระทั่งออกมาชุมนุมทางการเมืองล้วนแต่เป็นการกระทำจาก ‘เจตนาดี’ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือเพื่อชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น ทว่าเจตนาดีดังกล่าวย่อมไม่อาจถือเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมในการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไปได้

ความผิดพลาดของ ว.วชิรเมธี ที่เห็นได้ชัดในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เช่น

1) การแสดงออกชัดแจ้งถึงความเป็นผู้มี ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ โดย ว.วชิรเมธี แสดงความเห็นผ่านข้อเขียน ผ่านสื่ออย่างสม่ำเสมอว่า นักการเมืองไร้จริยธรรม ทุจริตคอรัปชัน แม้ว่านี่จะเป็นความเห็นที่พระแสดงออกได้เพื่อเตือนสตินักการเมือง

แต่หากพระเห็นว่า ‘ความไร้จริยธรรม’ หรือการทุจริตของชนชั้นปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พระก็ต้องรู้ว่าชนชั้นปกครองไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้น การที่พระตำหนิเฉพาะคนระดับนักการเมืองลงมาว่าไร้จริยธรรม หรือ ‘ทุนนักการเมือง’ เป็นทุนสามานย์ แต่ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยวิจารณ์ ‘ทุนอำมาตย์’ ว่าไร้จริยธรรม ทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ ซ้ำยังยกย่องความสูงส่งทางศีลธรรมของฝ่ายอำมาตย์ และพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า การทำรัฐประหารของฝ่ายอำมาตย์เป็นความชอบธรรม เพราะต้นเหตุมาจากนักการเมืองโกง มันจึงเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่ง ‘กฎอิทัปปัจจยตา’ เป็นต้น

นี่คือ ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ ของ ว.วชิรเมธี และยังแสดงออกถึงการขาด ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’ อย่างที่ตนเองชอบสอนชาวบ้านอีกด้วย

2) บทบาทการวิจารณ์นักการเมืองว่าไร้จริยธรรมแต่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาจริยธรรมของระบบอำมาตย์ และซ้ำยังการอวยอำมาตย์ว่าสูงส่งสมบูรณ์พร้อมทางจริยธรรมอย่างไร้ที่ติ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึง ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ ดังกล่าว ยังเป็นการสนับความเข้มแข็งของโครงสร้างอำนาจที่กดทับ และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยอีกด้วย

อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าว (ในการเสวนาที่ The Reading Room เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.นี้) ว่า “ประชาธิปไตยมันต้องสร้างกติกากลางที่ free and fair กับทุกคนให้ได้ก่อน จากนั้นประชาธิปไตยมันจะนำไปสู่ทุนนิยม รัฐสวัสดิการ หรือสังคมนิยมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่”

บทบาทของ ว.วชิรเมธี (พระสงฆ์ส่วนมากและสันติอโศก) ที่มี ‘สองมาตรฐานทางจริยธรรม’ และทำตัวเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อทางจริยธรรมแก่ระบบอำมาตย์ คือบทบาทที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง ‘กติกากลางที่ free and fair กับทุกคน’ จึงเป็นบทบาทที่ขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยในระดับรากฐาน

เมื่อประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนเป็นเนื้อเดียวกัน บทบาททั้ง 1) และ 2) ของ ว.วชิรเมธี จึงไม่ใช่บทบาทของ ‘ผู้อุทิศตนด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น’ แต่อย่างใด

แต่ผมก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมกรรมการสิทธิฯชุดนี้จึงมีมติมอบรางวัลดังกล่าว แก่ ว.วชิรเมธี เพราะอย่างที่สังคมประจักษ์กันชัดแจ้งว่า กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ก็ไม่สนับสนุนหรือ ‘เคารพ’ การต่อสู้ของประชาชนเพื่อสร้าง ‘กติกากลางที่ free and fair กับทุกคน’ หรือสร้างกติกาประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศนี้อย่างจริงจังอยู่แล้ว!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสนธิ: แรงเงาในแรงเงา

$
0
0

1

ผมนึกทบทวนหลายครั้งว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ เพราะว่ามีคนออกมาแสดงความคิดความเห็นอย่างหลากหลายแล้วในมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง และด้วยวิสัย “นักเรียนประวัติศาสตร์” ที่รอให้ฝุ่นผงจางหายแล้วค่อยกลับมาครุ่นคิด (แม้อาจได้คำตอบที่ไม่ดีนัก) และน่าจะเป็นละครแห่งปีก็ว่าได้แม้ว่าผมจะดูบ้างไม่ดูบ้าง เพราะเย็นมามักนั่งคลุกอยู่ไหนสักที่โดยไม่แจ้งก็ตาม (ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงเรื่องย่อ หรือบุคลิกของตัวละครใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอนุมานว่าผู้อ่านทราบดีกว่าผู้เขียน)  แต่โลกผ่าน FB ก็คลาคล่ำไปด้วยวลีเด็ดของ “แรงเงา” เช่น “นกไนติ่งเกว” “ผอ. ย่อมาจากอะไร ผัวธัญญา ผัวคนอื่น...” “นานแค่ไหนผมก็รอได้ครับ เพราะ....ผมวางมัดจำไว้แล้ว” “สิ่งที่เห็น...และสิ่งที่เป็น...อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน...” “ความรักที่แท้จริงคือการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” “ผมเป็นคนแรกของคุณ....ฉันขอโทษทีนะคะชั้นไม่ได้นับว่าคนเป็นคนที่เท่าไหร่” (คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555)

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

2

เอาละครับทั้งหมดทั้งมวลที่ผมยกออกมาข้างต้นเพื่อจะบอกว่า ละครเรื่องนี้มันอัศจรรย์ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับผมความน่าอัศจรรย์ คือ ทำไมละครเรื่องนี้ถึงเข้าไปอยู่ในหัวจิตหัวใจคนไทย ได้อย่างล้นเหลือขนาดนั้น ในฐานะคนดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง ขอลองตอบสัก 6 ประการ

ประการแรก ผมคิดว่าแรงเงานี้ มันคือ “เงา” ของสังคมไทย (1) ที่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ลักลั่น ที่แต่ละคนมีอำนาจไม่เท่ากัน  ผ่านตัวแสดงหญิง/ชาย ชาย/หญิง/เกย์/กระเทย ผู้มีศีลธรรม(ดวงตาเห็นธรรม)/ผู้อยู่ในโลกีย  นายทุน/ขุนนางเก่า มาเฟีย/ข้าราชการ ซึ่งมันซับซ้อนในแง่ที่มันเลื่อนไหลถ่ายเทได้  (2) แต่โครงสร้างฐานะทำให้คนเข้าถึงทรัพยากร และอำนาจแตกต่างกัน เช่น ความเป็นเพศที่ 3 ที่ถูกขับเน้นในละครเรื่องนี้ กลับมีสถานะของ “ชายขอบ” ที่เป็น “ตัวตลก” (Joker) หรือคนที่ถูกลดถอนให้เหลือแต่ความหมกมุ่นแต่ในเรื่อง “เพศ” และ “เรื่องของชาวบ้าน” หรือแม้แต่ผู้หญิงก็ถูกทำให้เป็น “เครื่องเล่น”(มุนิน) และสยบยอม เป็นต้น

 (3) ความเป็น “พหุลักษณ์” นี้มันเป็น “สมัยใหม่” ที่ “อัตลักษณ์” ของคน กลุ่ม มีความแปรเปลี่ยน บิดพลิ้ว เลื่อนไหลได้ตามบริบท เอาอย่างบางครั้งก็เป็นสามี วันดีคืนดีเป็นภรรยา อย่าง ผ.อ. เจนภพ บางที่ก็เป็นสามีของมุตา บางทีก็เป็นสามีของนพนภา เป็นเชื้อสายขุนนาง มีภรรยาเป็นแม่ค้า (นายทุน) มีลูกที่เป็นทั้งเกย์ และผู้หญิงที่รักหมดใจ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ผมว่าตัว ผ.อ. เจนภพ นี้มีความหลากหลายโลดแล่นที่สุดในแง่ที่ความเป็น “พหุลักษณ์” (4) “เงา” ของสังคมชายเป็นใหญ่ที่อย่างไร สังคมไทยก็ยังสลัดไม่หลุดพ้น ดังวลีที่ว่า “ผู้ชายมีหลายเมียเรียก “เมียน้อย” ผู้หญิงมีหลายชายเรียก “มีชู้”” แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีการศึกษา หน้าที่การงาน และเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่สถานะของผู้หญิงไทยก็เสมือนว่าจะ “ด้อย” กว่าชายในหลายมิติ

ประการที่สอง โครงเรื่องหรือตัวละครในตอนกลาง ถึงปลาย เป็นการ “กลับหัวกลับหาง” หรือ “ปฏิวัติ” เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่ “สยบยอม” ต่ออำนาจของมุนิน ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทของสังคมไทย ที่มีการลุกขึ้นมาของ “ไพร่”  รวมถึงการ “เปลี่ยน” อำนาจหญิง/ชาย ที่สร้าง “อำนาจ” ของผู้หญิงผ่าน “ความงาม” “มายา” และ “การทำงาน”  เช่น มุนินเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีการศึกษาสูง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ทำให้มี “อำนาจ” และ “อิสระ” ในตัวเองสูง ไม่ต้องอยู่ในมายาภาพชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย และที่สำคัญคือ การสร้าง “จริต” ข้างต้นไปกันได้อย่างพอดิบพอดีกับ “บริบท” ของคนไทยที่ลุกขึ้นต่อต้าน ขัดขืนในสังคมไทย

ประการที่สาม “ความลักลั่น” “พร่ามัว” ของละครแรงเงา (1) ที่เสมือนว่าต่อต้าน ขัดขืน ยืนทรนง ต่อวัฒนธรรมไทยอย่างถึงรากถึงโคน อย่างที่ไม่ค่อยมีหนัง หรือละครไทยก่อนหน้านี้กล้าทำ (ผมเห็นมี 2 เรื่องก่อนหน้านี้ คือ แผ่นดินของเรา และดอกส้มสีทอง) แต่ในท้ายที่สุด (2) “วัฒนธรรมไทย” และ “วัฒนธรรมพุทธ” นี้ช่างมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างน่าพิศวง มุนินอโหสิกรรมให้นพนภา ผ.อ. และ ฯลฯ นพนภา  ผ.อ. ได้รับผลแห่งกรรมที่ก่อไว้ ครอบครัวคืนดี จบแบบมีสกุลมาก (3) แม้ว่าคนทำผิดกฎหมายอย่างนพนภา ก็ไม่ต้องชดใช้กรรม ผู้มีอิทธิพล นายทุน ต่างหลุดพ้น หลุดรอดกฎหมาย อย่างดาดเดื่อนในสังคมไทย ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับสังคมไทย ที่ “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” อาทิ “มุนินทร์เอาพวงหรีดไปเยี่ยมนพนภา แต่เมื่อเห็นสภาพนพนภาก็เปลี่ยนใจเอาพวงหรีดทิ้งไป แต่เนตรนภิศเห็นเข้ารีบเอาพวงหรีดมาวางใหม่ นพนภาเห็นเข้าอาการยิ่งทรุดลงไปอีก มุนินทร์มีธุระเข้าโรงแรมกับเจ้านาย วีกิจสะกดรอยตามไปและยิ่งเข้าใจผิด จากนั้นก็เห็นมุนินทร์กับอินทีเรียดีไซน์เนอร์เก๊กแมนจึงยิ่งเข้าใจผิดอีก และเข้าไปต่อว่า มุนินทร์โกรธแต่กลับรับสมอ้าง วีกิจเข้าลวนลามเธอ เกิดการตบจูบ ด้วยความรักที่ทั้งคู่มีต่อกัน ทำให้ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กัน” (เรื่องย่อละครแรงเงา 2555) “...เจนภพเสียใจมาก เขาไปบอกนพนภาเล่าเรื่องทั้งหมด เรื่องมุตตาท้อง ฆ่าตัวตาย การแก้แค้นของมุนินทร์ นพนภาได้สติขออโหสิกรรม ทุกคนเดินทางไปงานศพ ขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน วีกิจบอกรักมุนินทร์ขอคืนดี แต่มุนินทร์คิดว่าเป็นแค่ความรับผิดชอบเธอปฏิเสธ มุนินทร์เจอจดหมายขออโหสิกรรมของมุตตาต่อเธอ มุนินทร์ร้องไห้ เพราะมุตตาผู้โง่เขลากลับรู้จักคำนี้ก่อนเธอนานนัก” (เรื่องย่อละครแรงเงา 2555)

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

ประการที่สี่  “อำนาจ” มันกระจายไปตามที่ต่างๆ ไม่มีใครกำหนดทิศทางของอำนาจได้ (ดูเพิ่มใน อานันท์  กาญจนพันธุ์ 2552; รัตนา โตสกุล 2548)ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าตัวละครต่างสร้างอำนาจ หรือบุคลิกของอำนาจได้อย่างหลากหลาย เช่น ผ.อ.เจนภพ สร้างอำนาจจากการเป็นข้าราชการ และผู้บังคับบัญชา สามี พ่อ   มุตา/มุนิน/นก สร้างอำนาจของความเป็นผู้หญิงผ่านมายาสาไถ (ที่มีทั้งดีและไม่ดี) นพนภา (ในความคิดผมถือว่าเป็นตัวละครที่มีสีสันที่สุดอีกตัวหนึ่ง) ที่สร้างอำนาจผ่านความเป็นผู้หญิง เมีย ทุน(เงิน) อำนาจเถื่อน อาทิใช้นักเลงทำร้ายทำลายคู่แข่ง เส้น (นามสกุล/และความเป็นข้าราชการของสามี/การรู้จักเส้นสาย) ในการกำจัด ทำลายคู่แข่ง (มุนิน/มุตา/นก ฯลฯ) “อำนาจ” จึงกระจายไปตาพื้นที่ต่างๆ แล้วแต่ใครจะฉวยใช้ และสร้างพื้นที่ของอำนาจได้มากกว่ากัน

ซึ่งที่สำคัญคือ ในปัจจุบันใครที่คิดว่าผูกขาด “อำนาจ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผูกขาดการนิยาม หรือให้ความหมาย “ความจริง” แบบคนมา “อวย” อย่างมืดฟ้ามัวดินอาจจะคิดผิดแล้วละครับ เพราะ “โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

ประการที่ห้า ละครไทยมิได้สะท้อนชีวิตจริงของตัวละคร แต่สะท้อนให้เห็นอุดมคติบางอย่างที่เป็นความคาดหวัง ความใฝ่ฝันร่วมกันของคนในสังคมไทย (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2551) (1) สุดท้าย “ศีลธรรม” “จรรยา” “ความสงบสุข” จะกลับสู่สังคมไทยถ้าเรา “อภัย” “อโหสิกรรม” (2) ความแค้น ให้เก็บไว้และปล่อยมันไปกับสายลม (3)  ความผิดอย่าได้ขุดคุ้ย ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม กาลเวลาจะลงทัณฑ์เขาเหล่านั้น “สิ่งที่เห็น...และสิ่งที่เป็น...อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน...” “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” “ความรักที่แท้จริงคือการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” “ฉันรู้แล้วว่าเวรต้องจบด้วยการไม่จองเวร” “กฎข้อแรกของการที่เราจะไม่ทุกข์เลยก็คือ กรรมอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดทุกข์ เราก็ไม่ทำ” (คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555) เหมือนท่าน ว. วชิรเมธี กำลังโลดแล่นในละครอยู่เลยครับ (4) ผมคิดว่าตัวละครหลายตัวเป็นบุคลาธิษฐานของสังคมไทย เช่น เจนภพที่เป็นผู้ชายเจ้าเสน่ห์ มากเล่ห์หลายเหลี่ยม เจ้าชู้ มีอำนาจ มีเงิน ซึ่งผมคิดว่าผู้ชายไทยหลายๆ คนก็อยากเป็นเหมือน ผ.อ. หรือตัวของของวีกิจ ก็เป็นผู้ชายในฝันของสาวไทย ที่ทั้งหล่อ รวย ดี (แบบซื่อๆ) มุนิน เองก็ถอนรากถอนโคนความเป็นหญิงไทย (แม้ท้ายที่สุดจะจบแบบเซื่องๆ แบบไทยๆ ก็ตาม)

ประการสุดท้าย ผู้เขียนบท/ ผู้กำกับ/ เข้าใจ “เมืองไทยนี้ดี” อย่างถึงรากเพราะสามารถลดทอนปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือพูดง่ายคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้เหลือเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม  คือ ปัญหาที่เกิดจากคนบางคนขาดศีลธรรม ไม่มีคุณธรรมเป็นปัญหาของปัจเจก เป็นความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมักได้ ตะกละของตัวบุคคล เศรษฐกิจ สังคมไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการกระทำ หรือพูดง่ายๆ ว่า “ดี/เลวโดยกำเนิด” “เมืองไทยนี้จึงดี” และสงบ (ดู สายชล สัตยานุรักษ์ 2550)

ละเลยเงื่อนไขที่ผลักให้ “เขา” ทำนั้นว่าเกิดจากอะไร นำมาสู่การ “ตีตราทางศีลธรรม” แต่ว่าศีลธรรมอันนั้นใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดด้วยวัตถุประสงค์ใด เมืองไทยนี้ดีมักละทิ้ง ลดทอน มองข้าม ซึ่งบางครั้งได้กลายเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง นำมาสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ในปัจจุบัน และเราก็สามารถโยนอะไรต่อมิอะไรให้นักการเมืองเป็น “แพะ” ได้อย่างสบายอารมณ์

ท้ายที่สุดผมไม่สรุปว่า “อะไรเป็นอะไร” แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วและไม่มีทางหวนคืน มุตาอาจมีตัวตน แต่คนอย่างนก/มุนิน/ต่อ/ก้อง “...เป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ไดบ้างสิ่งบางอย่างชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป” (ฟ้าเดียวกัน 2555) “ปีศาจ” ตัวนี้ได้ “ตื่น” และจะเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และไม่จบแบบ “แรงเงา” อย่างแน่แท้ (แต่ผมก็เดาไม่ออกว่าจะเป็นแบบไหน อาจเหมือนพฤษภาคม 2553 หรือ 2535 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นได้ ฯลฯ) 

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา.  [ออนไลน์].  https://www.facebook.com/pages/สืบค้นวันที่ 12/12/2012

ชัยพงษ์ สำเนียง.  วัฒนธรรมเกาหลีแบบไทยๆ. [ออนไลน์].   http://prachatai.com/m/journal/31884สืบค้นวันที่ 12/12/2012

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  อุดมคติในละครทีวีไทย. มติชนรายสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 กันยายน 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1568, หน้า 25-26. สืบค้นจาก http://serichon.org/board/index.php?topic=35948.0 สืบค้นวันที่ 12/12/2012

ฟ้าเดียวกัน.  [ออนไลน์].  ปีศาจแห่งกาลเวลา (บทบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม –ธันวาคม 2555).  http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44081.  สืบค้นวันที่    12/12/2012

รัตนา โตสกุล.  (2548).  มโนทัศน์เรื่องอำนาจ = The concept of power.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

เรื่องย่อละครแรงเงา.  [ออนไลน์].  http://drama.kapook.com/view47325.html.  สืบค้นวันที่    12/12/2012

สายชล  สัตยานุรักษ์.  (2550).  คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย เล่ม 1, 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

อานันท์ กาญจนพันธุ์.  คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์ : จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา.  เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2552.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูทูบ สรุป 10 คลิปแห่งปีที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด

$
0
0

เว็บยูทูบทำคลิปลิปซิงก์เพลงกังนัมสไตล์และ Call Me Maybe สรุปเทรนด์คลิปวิดีโอปี 2012 ที่กำลังจะผ่านไป โดยมีนักร้องเกาหลีใต้ ไซ ซึ่งเพลงของเขา มีคนดูมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในยูทูบ พร้อมบรรดาคนดังในยูทูบร่วมแสดงด้วย

 

 

โดยคลิปวิดีโอที่มีผู้ชมมากที่สุดในปี 2012 จำนวน 10 อันดับแรกได้แก่

อันดับหนึ่ง เป็นเพลงกังนัมสไตล์ของไซ (Psy) นักร้องชาวเกาหลีใต้ ซึ่งมียอดผู้ชมสูงถึง 971,518,818 ครั้ง และกลายเป็นวิดีโอที่มีคนดูมากที่สุดตลอดกาลในเวลาเพียง 6 เดือน

อันดับสองได้แก่ วิดีโอคัฟเวอร์เพลง Somebody That I Used To Know ของโกทีเย (Gotye) โดยวง Walk off the Earth จากแคนาดา โดยมีการใช้นักดนตรี 5 คนในการเล่นกีต้าร์ 1 ตัว

อันดับสาม ได้แก่ Kony 2012 สารคดีขนาดยาว 30 นาทีที่มีคนแชร์ต่อมากที่สุดในโลก วิดีโอนี้จัดทำโดยกลุ่ม Invisible Children ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงและมีผู้ให้ความสนใจชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

อันดับสี่ ได้แก่ คลิปลิปซิงก์เพลง Call Me Maybe ของคาร์ลี เรย์ เจพเซ่น โดยจัสติน บีเบอร์ เซเลนา โกเมซ และเพื่อนๆ ซึ่งทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา

อันดับห้า ได้แก่ คลิปเพลงแร็พล้อเลียนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2012 ระหว่างบารัก โอบามาและมิต รอมนีย์

อันดับหก ได้แก่ คลิปโฆษณาจาก TNT ช่องทีวีของเบลเยียม โดยทีมงานวางปุ่มแดงกลางจัตุรัสเมืองเฟลมิช รอให้คนมากดและเกิดฉากแอคชั่นขึ้นมากมาย

อันดับเจ็ด ได้แก่ คลิปของเอ็มมานูเอล ฮัดสัน ร่วมกับ Spoken Reasons คนดังบนยูทูบ ร้องเพลงแร๊พบ่นเรื่องที่แฟนสาวมักจะถามอยู่ตลอด เช่นว่า ไปไหน กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ จริงเหรอ?

อันดับแปด คลิปของ ลินเซย์ สเตอริง นักไวโอลินชาวอเมริกัน ซึ่งแสดงไวโอลิน บวกกับการเต้น dubstep ท่ามกลางภูเขาน้ำแข็ง

อันดับเก้า คลิปที่พ่อคนหนึ่งนั่งอ่านข้อความของลูกสาววัย 15 ปี ซึ่งโพสต์บ่นเรื่องงานบ้านที่เธอต้องทำและความยุ่งยากที่พ่อแม่สร้างให้กับชีวิตของเธอบนเฟซบุ๊ก แต่บล็อคไม่ให้พ่อของเธอเห็น โดยหลังอ่านข้อความจบ ชายคนดังกล่าวแก้แค้นลูกสาวด้วยการยิงแล็ปท็อปของเธอด้วย ปืน .45

อันดับสิบ คลิปที่เครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดงส่งฟิลิกซ์ บามการ์ทเนอร์ ดิ่งมาจากชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ที่สูงกว่า 39,045 เมตร

 




ที่มา: http://www.youtube.com/user/theyearinreview

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คีตาภิวันท์-ปรัชญัญชลี : รำลึกการจากไปของ"ราวีร์ ชังการ์"

$
0
0

 
พริบเนตรสงบนิ่ง สรรพสิ่งสงัดงัน
 

คีตาภิวันท์สรรค์ ปรัชญัญชลีสรวม

 

เบิกเนตรมนัสวาง สว่างหมายมโนรวม

สายกลางมิตึงหลวม เชลงกล่อมนรากร

 

อ้าองค์อติเทพ ประทับแท่นปรรจถรณ์

เชิญไท้นรินทร ทุกอัมพรสดับฟัง

 

เสียงพิณสวรรค์แว่ว ผสานแผ่วพลังหวัง

ร่ายเวทยาวัง- เวงนิมิตฤทธิยา

 

ดั่งสายชลาสินธุ์ ชโลมสุทธคงคา

ร่ำดื่มมุรธา อมตารสาหวาน

 

มาแต่มัธยม- ประเทศพรหมชมพูพนานต์

แดนโพ้นหิมพานต์ ผิขับขานคีตาญชลี

 

พิณซ่านสะท้านสรวง สะท้อนทรวงสะเทือนศรี

โหมโรงมโหรี กวีกลั่นกมลกรอง

 

ดับร้อน ณ โลกเข็ญ วยุเย็นยะเยือกครอง

กรีดสายและกรายสอง กรกสานติ์กำราบกลี

 

สงครามกระหน่ำยุทธ์ ก็พลันหยุดเพราะดนตรี

ราวี-ระวีวีร์ คุรุเทพแห่งคีตา.

 

 

เขียนเมื่อได้ชมคอนเสิร์ต “ราวี ชังการ์” ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /มกราคม 2540

เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเป็น “ภารตะ” จึงเลือกใช้กาพย์ยานี 11 ในลีลากระตุกแบบอินทรวิเชียรฉันท์

 

พิมพ์ครั้งแรก “ฐานสัปดาหวิจารณ์” 2540

 

รวมเล่มในหนังสือกวีนิพนธ์ "เหนือฝั่งมหานที" โดย "เพ็ญ ภัคตะ" ปี 2544 สนพ.มติชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมานฉันท์แรงงานไทย ค้านขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี

$
0
0

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ชี้ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเมื่อใด ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทจะหมดความหมายทันที แนะ รบ.ทบทวนการแบ่งสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจีใหม่


(19 ธ.ค.55) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง “ค่าก๊าซแพง ค่าแรงขึ้น แรงงานตายผ่อนส่ง” เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี โดยให้เหตุผล 3 ข้อ ได้แก่

(1) จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานโดยตรง ระบุว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งประเทศรวมจำนวน 6.9 ล้านตัน ใน 4 กลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน (ก๊าซหุงต้ม) เป็นภาคที่ใช้มากที่สุดคือ 2.6 ล้านตัน (39%) รองมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 2.4 ล้านตัน (35%) ภาคยานยนต์ (เชื้อเพลิงรถยนต์) 0.9 ล้านตัน (13%) และภาคอุตสาหกรรม (เชื้อเพลิงอุตสาหกรรม) 0.7 ล้านตัน (10%) ทั้งนี้พบว่าราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 มีราคาเท่ากันคือ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม แต่กระทรวงพลังงานกลับมีการขายก๊าซให้กับกลุ่มผู้ใช้ในราคาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคครัวเรือน 18.13 บาท ภาคยานยนต์ 21.38 บาท และภาคอุตสาหกรรม (ที่ไม่รวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 30.13 บาท แต่ภาคปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนการใช้ค่อนข้างสูงเป็นลำดับ 2 กลับได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกมาก คือ 16.20 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่ากลุ่มผู้ใช้กลุ่มอื่นๆ ทั้งสิ้น

คำถามที่สำคัญ คือ กระทรวงพลังงานใช้หลักการและเหตุผลใดในการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่สัดส่วนการใช้มีความใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นถึง 34% ต่อปี ในขณะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 9% เท่านั้น จากข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์และภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ต้นเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพราะต้นเหตุที่แท้จริงมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

(2) ประเทศไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้โดยตรงจำนวน 5.5 ล้านตัน และมีการนำเข้าอีก 1.4 ล้านตัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยใช้ก๊าซแอลพีจี ถึง 2.1 ล้านตัน/ปี ดังนั้นจนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 (มาบตาพุด จ.ระยอง) ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่มีการขายก๊าซที่แหล่งผลิตแห่งนี้ให้กับภาคครัวเรือน/ยานยนต์/อุตสาหกรรม แต่เป็นการขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ภาคการผลิตอื่นๆ ต้องซื้อก๊าซที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแทน มีข้อมูลแสดงชัดเจนว่า ในช่วงปี 2551-2554 ผู้ใช้น้ำมันต้องแบกรับภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประมาณ 23,300 ล้านบาท ในขณะที่ประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิต (หุงหาอาหารและขนส่ง) แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการของตัวเอง

(3) นโยบายนี้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน แต่กลับไปช่วยเหลือกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรม
ปิโตรเคมีแทน ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มแรงงาน คือ แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ แต่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะไร้ความหมายทันที เพราะการขึ้นราคาก๊าซอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (ปกติก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 280-290 บาทต่อถัง) เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน  โดยในปี 2556 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกถังละ 100 บาท และในปี 2557 ก็เพิ่มขึ้นอีกถังละ 200 บาท นั้นแปลว่า ก๊าซหุงต้มถังละ 15 กิโลกรัม จะมีราคาสูงถึงถังละ 400-500 บาท ในอนาคตอย่างแน่นอน นี้ยังไม่รวมค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือค่าครองชีพอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นติดตามมา จนทำให้ค่าแรง 300 บาทไร้มูลค่าตามจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น

เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน โดยรัฐบาลต้องยุติการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคยานยนต์ในปี 2556 และรวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนการแบ่งสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะในกลุ่มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ที่ควรต้องได้รับการจัดสรรจากแหล่งผลิตภายในประเทศไทยเป็นลำดับแรก ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว จึงควรเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ก๊าซนำเข้าแทน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึง 55% หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเพียงพออยู่แล้วต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ใช้ก๊าซ ปีละ 2.6 ล้านตัน และ 9 แสนตัน ตามลำดับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห้าปีแห่งการต่อสู้: แบเดาะ สะมาแอ

$
0
0

 

เรื่องราวของนางแบเดาะ สะมาแอ หญิงวัย 54 ปี ฐานะยากจน อยู่ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีอาชีพกรีดยาง ซึ่งเปลี่ยนตัวเองจากผู้หญิงที่แทบไม่เคยออกจากหมู่บ้าน ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการตายของลูกชาย

วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ณ มุมอับ ชายแดนใต้ สังคมชายขอบของประเทศไทย ชีวิตอีกชีวิตหนึ่งต้องจากไปก่อนเวลาอันควร  

“ผู้ตายคือนายอัสฮารี สะมาแอ ตายขณะอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เหตุที่ตายเนื่องจากสมองช้ำ พฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บ ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แล้วถึงแก่ความตาย”

คำสั่งศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555  ปิดฉากห้าปีของการต่อสู้เรียกร้องเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ว่า อัสฮารี สะมาแอ เสียชีวิตเพราะอะไร

อัสฮารี  สะมาแอ ถูกควบคุมตัว วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ที่บ้านจาเราะซือโปะ อำเภอกรงปีนัง  จังหวัดยะลา  พร้อมกับบุคคลอีกเก้าคน  โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่  การเข้าปิดล้อมแบบจู่โจมของเจ้าหน้าที่  เพราะมีคนแจ้งเบาะแสว่าที่กระท่อมหลังนั้นมีการซุกซ่อนอาวุธปืนและระเบิด

ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นคนหนึ่ง เล่าเหตุการณ์ที่ถูกจับกุมตอนนั้นว่า

“ประมาณสิบเอ็ดโมง เห็นรถตำรวจมาจอดอยู่หน้ากระท่อม แล้วก็ได้ยินเสียงปืน ผมก็วิ่งหนี แล้วก็โดนจับ เขาเอามือผมไขว้หลัง ใส่กุญแจมือ แล้วพามานั่งที่กระท่อม ถามว่าปืนทิ้งที่ไหน ผมก็บอกว่าไม่รู้ ไม่มี  พอไม่รู้นั่นแหละ กระทืบเลย ประมาณสามชั่วโมงได้”

คนอื่น ๆ ที่เหลือก็ระบมเหมือนกันรวมทั้งอัสฮารีที่ถูกจับเป็นคนสุดท้าย

“ผมได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังจะตาย หายใจแรง ผมนึกว่าเค้าตายแล้ว ”

หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ทั้งหมด ก็พาไปที่สถานีตำรวจกรงปีนัง จากปากคำของเจ้าหน้าที่ที่ให้การกับศาลและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน อัสฮารีมีอาการสลึมสะลือไม่รู้สึกตัวตั้งแต่นั้น อัสฮารีและกลุ่มคนที่ถูกจับถูกนำส่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ด้วยสภาพร่างกายที่บอบช้ำและไม่รู้สึกตัว เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งรักษาไม่ไหวต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี  โรงพยาบาลปัตตานีส่งตัวไปเอกซเรย์สมองที่โรงพยาบาลสิโรรสก่อนจะถูกส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อัสฮารีเสียชีวิตลงที่นั่นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550

"สภาพเหมือนศพที่ถูกซ้อมทรมาน ถูกต่อย ถูกเหยียบ ศพมีรอยแผลช้ำเป็นสีน้ำเงิน"

นางแบเดาะ สะมาแอ  มารดาอัสฮารี เล่าว่า “วันนั้นมีคนโทรมาบอกว่า ลูกเสียชีวิต ให้ไปรับศพที่โรงพยาบาลปัตตานี ไปหาที่โรงพยาบาลปัตตานีก็ไม่พบ ถามหมอที่โรงพยาบาลเขาบอกว่า ลูกไปอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ไปถึงโรงพยาบาลศูนย์ยะลา พบลูกอยู่ที่ห้องเย็นแล้ว สภาพเหมือนศพที่ถูกซ้อมทรมาน ถูกต่อย ถูกเหยียบ ศพมีรอยแผลช้ำเป็นสีน้ำเงิน รู้สึกเศร้าใจทั้งครอบครัว เพราะอะไรถึงได้ตายแบบนี้ ทำให้ทุกข์ใจ เศร้าใจ”

การตายที่ไม่ปกติ บวกกับการที่ช่วงเวลานั้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานสูง ทำให้มีนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับหลายๆกรณีในพื้นที่ยื่นมือเข้าช่วยนางแบเดาะด้วย ในจำนวนนี้มีอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยที่เป็นคนแรก ๆ ที่ได้เห็นสภาพศพ  “พอเห็นศพ เราสงสัยทันทีเลยว่าคงโดยซ้อมจนสมองบวม หลังจากฝังศพอัสฮารี เราบอกแม่เขาถึงขั้นตอนต่างๆ  ว่าหากถูกซ้อมทรมานจนตายต้องทำอย่างไร เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดอย่างไร เรื่องหน่วยทหารหน่วยไหนเราก็ต้องทำเรื่องราว”  อับดุลอาซิสเป็นคนหนึ่งที่เข้าช่วยเหลือครอบครัวอัสฮารีในเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรม

หลังจากนั้นครอบครัวของอัสฮารี จึงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของลูกชาย ควบคู่กันไปกับการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ว่าทำร้ายร่างกายอัสฮารีขณะเข้าจับกุมจนเป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตต่อมา  โดยมีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลาและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายจากกรุงเทพมหานคร  ดูแลช่วยเหลือในของคดี และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องการเรียกร้องการเยียวยา แต่กว่าจะได้มาซึ่งคำสั่งศาลที่ว่า การตายของอัสฮารีเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องใช้เวลาในการต่อสู้เรียกร้องนานห้าปี  

นางแบเดาะ สะมาแอ หญิงวัย 54 ปี ฐานะลำบากยากจน อยู่ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีอาชีพกรีดยาง มีลูกทั้งหมด 9 คน อัสฮารีลูกชายคนโต เรียนอยู่ที่สถาบันราชภัฏยะลา และเป็นความหวังของครอบครัว ว่าจะได้ช่วยกันดูแลส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือสูงๆ แต่ช่วงเกิดเหตุไปทำงานรับจ้างที่หาดใหญ่

นางแบเดาะ เล่าถึงลูกชายว่า  “เขาเป็นเด็กดี อยู่บ้านก็อัธยาศัยดี โรงเรียนปิดเสาร์-อาทิตย์ ก็กลับมาช่วยแม่กรีดยาง อยู่บ้านก็ไม่เคยไปมีเรื่องทะเลาะกับใคร ถึงเวลาละหมาดก็ไปมัสยิด ชอบอ่านอัลกุรอาน ไม่ไปเที่ยวเตร่”

“อัสฮารี เคยบอกแม่ว่า  ถ้าเขาเรียนจบ เขาจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะได้เงินเดือนเยอะ เขาจะทำบ้านให้แม่ และจะช่วยส่งน้องๆ เรียนให้จบ”

จากสภาพชุมชนที่นางแบเดาะอาศัยอยู่ มีเด็กวัยรุ่นหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ หลายคนไม่มีงานทำ หลายคนติดยาเสพติด ทำให้นางแบเดาะคิดเสมอว่า ลูกต้องเรียนหนังสือ เพื่อให้พ้นจากสภาพเหล่านั้น

“พยายามให้ลูกเรียน บอกว่าลูกต้องเป็นคนดี ไม่ต้องเกเร ไม่มีเงินก็ต้องเรียน”

ด้วยความที่เชื่ออย่างสนิทใจว่า อัสฮารีลูกชายของตัวเองเป็นคนดี ไม่ทำผิดคิดร้ายใคร

“ก็แค่อยากจะรู้ความจริงเท่านั้นเอง เราทำอะไรไม่ได้  พระเจ้าเท่านั้นเป็นคนตัดสินใจ ก็แค่อยากจะรู้จริง ๆ ความจริงไปที่ศาลเค้าก็บอกแบบโน้นแบบนี้ ลูกนี้ลื่นแบบนั้น น้ำตาก็เต็มตา  แต่ก็ไม่ออกมา มันอยู่ในตา ก็รู้หมดว่าตำรวจ ทหารเป็นคนจับตัวไป แล้วก็ไปซ้อมแบบนั้น แบบนั้น”

นางแบเดาะเดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจนแทบจะทุกหน่วยงานเท่าที่นึกกันได้ ทั้งที่ไปเอง และที่มีคนพาไป

“ก๊ะ พยายามไปที่โน่นที่นี่ แล้วแต่เขาบอก เพื่ออยากให้ความจริงมันปรากฏ ว่าคดีของลูกไปถึงไหนแล้ว ออกจากบ้านไปคนเดียว ในเรื่องความกลัวนั้น มันหมดแล้ว มันกลายเป็นความกล้า พอเกิดเรื่องมันต้องพยายาม ไปกับรถโดยสารบ้าง บางทีขับมอเตอร์ไซด์ไปยะลาคนเดียว คิดว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว มีพระเจ้าคอยคุ้มครองเราอยู่”

อิสมาแอ สาและ  ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นอีกคนหนึ่งที่รับรู้เรื่องราวของครอบครัวนี้และเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นด้วยการพาไปยังสถานที่ต่างๆ

 “ก็ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ไปขอเยียวยา เขาก็บอกว่าไม่ได้ คุณไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ เราก็ต้องใช้วิธีการอื่น เช่น ไปพบผู้ว่าฯ บ้าง พาไปเจอกับกระทรวงยุติธรรมที่กรุงเทพก็หลายครั้ง ไปเจอกรรมการสิทธิ์ก็หลายครั้ง  กว่าจะมาถึงวันนี้ได้มันหนักมาก ช่วงแรก ๆ ทำเรื่องขอความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ละเรื่องแทบจะไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความก้าวหน้าเลย”

จากผู้หญิงที่แทบไม่เคยออกจากหมู่บ้าน ต้องออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ แม้แต่ในตัวจังหวัดยะลา สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เดินทางเข้าตัวจังหวัดอย่างแบเดาะ การไปติดตามความคืบหน้าเรื่องการตายของลูกชายกับทนายอาดิลัน อาลีฮิสเฮาะ ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ก็นับว่าต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

“ในตัวเมืองยะลา ก๊ะไม่รู้เลยว่าสถานที่ อยู่ตรงไหน บอกว่าให้รอที่โน่นที่นี่ ก๊ะไม่รู้จักชื่อ ไปไม่ถูก ทางก็ไม่รู้ว่าจะไปยังไง แรก ๆ ทนายอาดิลันโทรให้ไปหา ก็ไปหาที่ศูนย์ ก๊ะก็ไป ไปหาจนเจอ แบลันก็โทรถามว่าอยู่ไหนตอนนี้  ก็ไปจนเจอ  ก็ไปจนได้ไปตามประสาก๊ะ  แต่ไม่ใช่ก๊ะคนเดียว เพราะมีพระเจ้าคอยคุ้มครองก๊ะอยู่  คอยช่วยเหลือก๊ะ ให้เจอคนนั้น คนนี้ ก๊ะยึดตรงนั้นแหละ”

นี่คือกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือแบเดาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ช่วงแรกๆ และเธอก็ไว้วางใจจนกลายเป็นความผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอิสมาแอ ที่แบเดาะเห็นเป็นตัวแทนของลูกชาย

"โทรไปหาตลอด โทรถามเรื่องคดีของลูก ที่ไปขอความเป็นธรรมที่ศาลากลาง ก๊ะไม่รู้ว่าเค้าช่วยได้หรือไม่ได้  แบแอก็บอกว่าพวกนั้นช่วยไม่ได้เพราะไม่เข้าในหลักเกณฑ์ จากนั้นก็เงียบ แล้วก็โทรไปใหม่ โทรไปบ่อย อยากให้สบายใจ ได้ระบายออกไป  ถ้าเงียบมันจะลำบาก คิดอยู่คนเดียว  คิดถึงลูก คิดถึงมาก ๆ ไม่ได้คิดน้อย ๆ คิดถึงจริง ๆ  เวลาผ่านไปสองปีถึงได้ทำงานได้"

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา อิสมาแอจึงต้องรับโทรศัพท์เพื่อตอบคำถามเรื่องความคืบหน้าหรือไม่คืบหน้าของคดีนี้โดยตลอด

หนึ่งปีผ่านไป ไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งเรื่องคดีและการเยียวยา  

“ก๊ะก็ท้อเหมือนกัน ไม่อยากจะไปแล้ว เค้าชวนไปที่ไหน ที่ไหนก็รู้สึกว่าขี้เกียจ เบื่อจะไปแล้ว  แล้วพวกเค้าชวนอีก  แล้วก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ได้ต้องไป ก๊ะต้องสู้”

ที่สำคัญคือการต่อสู้กับตัวเอง จากคนที่พูด ฟัง ภาษาไทยแทบไม่ได้ เพราะใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นหลัก ก็ต้องฝึกพูดภาษาไทยให้คล่อง  ต้องหัดขี่มอเตอร์ไซค์ หัดขับรถยนต์  เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางไปหาความจริงเรื่องลูก  อิสมาแอเป็นผู้หนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความพยายามที่เกิดขึ้น

"ก็ยอมรับว่าก๊ะ จากการที่พูดภาษาไทยไม่ได้  ณ วันนี้สามารถเข้าใจภาษาไทย  จากการไม่รู้จักคนเลย เป็นชาวบ้านโดด ๆ ทำอยู่แต่ในบ้าน ดูแลลูก แต่ ณ เวลานี้ ก๊ะเองต้องเปลี่ยนบทบาท จากคนทำงานอยู่ในบ้านอย่างเดียวต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งตามหาความยุติธรรมให้กับลูก  นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นชัด "

“ให้แม่ติดตามเรื่อง เพราะปลอดภัยมากกว่า”

ขณะที่แบเดาะออกนอกบ้าน เดินหน้าเรียกร้องหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ อับดุลวาฮับ พ่อของอัสฮารีรับหน้าที่ดูแลบ้านและลูกๆ เขาไม่ออกไปเดินเรื่องกับภรรยาแต่อย่างใด

“ ผู้หญิงปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย ที่เค้าจะสงสัยอะไรมันก็มีน้อยหน่อย ในส่วนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ให้แม่เค้าเป็นคนทำ เพราะจะปลอดภัยมากกว่าผม ปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย เพราะว่าผู้ชายถ้าเค้าทำอะไร คนก็มองแล้ว และแม่เขาทำอะไรจะรอบคอบกว่า ถ้าผู้ชายรู้บ้างไม่รู้บ้างไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องรู้ให้หมด อย่างนี้แหละที่ส่งแม่ไปตามเรื่องคดีของอัสฮารี แม่เขาไปพบใคร ไปแบบไหน เขาก็จะกลับมาเล่าให้ฟัง”

การเดินทางออกไปติดตามความคืบหน้าของคดี ทำให้นางแบเดาะ รู้จักคนมากขึ้น โดยเฉพาะทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มาจากกรุงเทพ   นางแบเดาะ เล่าว่า ตอนแรกก็กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเดินหน้าเรื่องคดี

"ทนายที่กรุงเทพก็มาเอาชื่อของก๊ะ ว่าจะช่วยเหลือในเรื่องของลูก เค้าถามว่า ก๊ะจะแจ้งความ จะฟ้องศาลไหม ก๊ะบอกว่าก๊ะไม่เอา ก๊ะกลัว ก๊ะไม่รู้อะไร  ทนายก็บอกไม่เป็นไร เราแค่อยากจะรู้ความจริง จากนั้นก๊ะก็บอกไม่เอา ๆ ก๊ะกลัว แล้วก๊ะก็ถามเค้าว่าถ้าเราฟ้องศาลขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้ว เค้าเอาความกับก๊ะไหม ทนายบอกว่าไม่เป็นไร ไปเหอะ เราฟ้องเพื่อจะเรียกร้องค่าเสียหาย ก๊ะก็ฟ้องตามที่ทนายบอก "

คดีนี้ มีทีมทนายเข้ามามีบทบาทหลายคน  ทั้งทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  คุณพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ์ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจส่งทีมทนายความมาดูแลคดีนี้    

"เป็นที่ชัดเจนเรื่องว่ามันเป็นความต้องการของญาติ แล้วเราก็อยากให้เป็นคดีตัวอย่างด้วย เพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรม"

อติวัณณ์  ชูช่วย ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นอีกคนหนึ่ง ที่แบเดาะให้ความไว้วางใจปรึกษาหารือทั้งในเรื่องคดีและความเป็นอยู่ส่วนตัวตลอดจนระบายความกลัดกลุ้มบ้างในยามที่ต้องการจนกลายเป็นคนสนิทไปในช่วงนั้น

"แกไปที่ไหน แกก็ผิดหวัง แกก็กลัวว่า แกจะไม่ได้รับอะไรอีกเลย เหมือนแกหมดอะไรแล้วประมาณนั้น จริงๆ ม๊ะ  มีอาการถึงขนาดแกเคยโทรมา ตี 4 แกตื่นมาละหมาดแล้วแกเกิดภาวะที่แกรู้สึกว่า กระบวนการทุกอย่างทำร้ายแกซ้ำซาก แกโทร แกบอกว่าม๊ะไม่ไหวแล้ว”

“เราก็พยายามช่วย แม้ไม่ใช่หน้าที่ของทนายหรอก แต่ว่าถ้าช่วยได้ก็ช่วย คือภาษาก็ไม่ค่อยถนัดกัน แกก็พูดมลายู ในขณะที่เราพูดไม่ได้เลย ฟังไม่ได้เลย ศาสนาก็ไม่เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าในทางศาสนาของเค้า คือศาสนาอิสลาม เค้ามีคำว่าสมาธิมั๊ย ในขณะที่เราเป็นพุทธ เราก็รู้จักแต่คำว่าสมาธินั่นแหละ ที่จะดึงภาวะบางอย่างของมนุษย์ที่กำลังร้อนรน ให้มันเย็นลง แล้วก็อยู่กับตัวเองให้ได้ แล้วก็คลี่คลาย  ถ้าผู้หญิงแก่ๆ คนนี้ ไม่มีสติสตัง ที่จะมาอยู่กระบวนการยุติธรรมได้ เรื่องนี้ก็จบ คนที่ทำผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องรับอะไร เพราะว่าจะไปหวังเอากับใคร"

3 ปีของการต่อสู้กันในชั้นศาลเรื่องไต่สวนการตาย ในที่สุดวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งจากผลการพิจารณาออกมาว่า อัสฮารี สะมาแอ ตายเนื่องจากสมองช้ำ พฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บแล้วถึงแก่ความตาย

ความรู้สึกของนางแบเดาะ ณ เวลานั้น

“ก็ได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ลูกตายจากการทำของเจ้าหน้าที่ พอตัดสินแบบนั้น ก๊ะก็รู้สึกเบาอกหน่อย โล่งอก ที่พวกเค้าทำลูกเราแล้วไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ดูสภาพลูกเรา ก๊ะก็จะบอกว่าเค้าล้มธรรมดาเป็นไปไม่ได้”

ทนายอาดิลัน ที่ทำคดีด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดหลายปี และร่วมช่วยในคดีนี้ให้ความเห็นว่า

“คดีของลูกชายก๊ะแบเดาะนั้น ไม่ได้มีผลเฉพาะตัวของลูกชายก๊ะแบเดาะคนเดียว เป็นผลต่อคนอื่นอีกมากมายใน 3 จังหวัดนี้”

สำหรับทีมทนายความ เส้นทางของแบเดาะจึงไม่ใช่การต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือตัวอย่างของการต่อสู้ของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อความโชคร้าย และน่าจะเป็นแบบอย่างให้กับคนอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาคล้ายกัน พวกเขาหวังว่าเรื่องราวของเธอจะบอกให้สังคมได้รับรู้ว่า การจะให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้นั้น คนที่ต้องการความยุติธรรมจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้ และสู้อย่างถูกหนทางดังในกรณีของแบเดาะ สะมาแอนั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: ผู้ประกาศข่าวชื่อดังกับการแสดงทัศนะผ่านเฟซบุ๊ก

$
0
0

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วัฒนธรรมการเล่าข่าวทางทีวีได้รับความนิยม นักข่าวทางหน้าจอทีวีได้เปลี่ยนสถานะจากผู้อ่านข่าว คอยรายงานสถานการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น มาสู่ผู้แสดงความคิดเห็น ผสมผสานระหว่างการรายงานและวิเคราะห์วิจารณ์ไปในตัว

เดิมทีสื่อมวลชนสายทีวีไม่ได้มีพื้นที่สื่อมากมายให้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ด้วยเหตุผลเรื่องเวลาในสื่อทีวีที่มีอยู่อย่างจำกัดประกอบกับรูปแบบในการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นการรายงานข่าว ซึ่งตามหลักการต้องห้ามแสดงความคิดเห็นลงไป ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่นักข่าวสามารถวิเคราะห์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านบทความซึ่งถูกกำหนดพื้นที่ไว้เผื่อไว้อยู่แล้ว

เมื่อผู้ประกาศทางทีวีสามารถแสดงความคิดเห็นในข่าวได้ ผู้ชมจำนวนไม่น้อยจึงรับชมไปพร้อมๆ กับซึมซับเอาความคิด ทัศนคติ ต่อประเด็นๆ ต่างของผู้ประกาศเหล่านั้นไปด้วย ทุกวันนี้เราเห็นได้หลายปรากฏการณ์ที่รายการเล่าข่าวและตัวผู้ประกาศมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระความสำคัญของสังคม และที่สำคัญคือผู้ชมไม่น้อยคิดว่าความคิดทัศนคติที่ถูกพูดถ่ายสื่อออกมานั้นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ว่ากันกลายๆ ผู้ประกาศทางทีวีมีสถานะเป็น Opinion Leader ที่ผู้ชมพร้อมเงี่ยหูรับฟังความคิดเห็น

พอมีเฟซบุ๊กด้วยแล้ว ผู้ประกาศข่าวหลายคนสร้างเว็บแฟนเพจขึ้นมาเพื่อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวโดยเฉพาะ แต่ละเพจนั้นมีผู้เข้าไปติดตามเป็นจำนวนมาก มีสเตตัสใหม่ๆ เมื่อใด มียอดกดไลค์หลักพัน คนร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นร้อยๆ

หลายครั้งการพูดในทีวีไม่สามารถพูดได้เต็มปาก ต่างจากการพิมพ์ผ่านเฟซบุ๊กที่เป็นอิสระ ถึงไหนถึงกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายๆ ครั้งการแสดงความคิดเห็นมักไม่ได้ไตร่ตรองตรรกะให้ถ้วนถี่ คิดอยากจะโพสต์อะไรก็โพสต์ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ตามมาในแง่ความไม่สมเหตุสมผลไม่น้อย

ล่าสุด ผู้ประกาศชื่อดังท่านหนึ่งโพสต์ถึงที่มาของแสลงคำว่า “จุงเบย” ว่าเกิดจากตัวอักษรในมือถือใกล้กัน เลยกดพลาดไปโดน พร้อมกับบอกว่าการพิมพ์ผิดได้รับความนิยม เลยเข้าใจได้ว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญให้นักโทษพ้นผิด

(ข้อความเต็มๆ ว่าดังนี้ "เพิ่งรู้นะ คำว่า "จุงเบย" ที่มาจาก "จังเลย" มาจากแป้นพิมพ์สระอุ อยู่ใกล้กับไม้หันอากาศ และ บ อยู่ใกล้กับ ล แค่เนี้ย?? การพิมพ์ผิดกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม สามารถใช้ได้ มิน่าล่ะ..นักโทษที่ยังไม่ได้ชดใช้ความผิด..แล้วพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ล้มกฎหมายแม่มันซะเลย ตัวเองจะได้กลายเป็นคนบริสุทธิ์..สบายจุงเบยเนอะ")

หากมาดูกันที่เนื้อสาร อะไรคือตรรกะของสเตตัสนี้ เชื่อมโยงกันได้อย่างไร การเอาเรื่องการพิมพ์ผิดมาเกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญมันคือเรื่องเดียวกันหรือ แม้โลกนี้จะมีทฤษฎี chaos ที่กล่าวว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งบนโลกล้วนเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ทว่าลำพังเรื่องพิมพ์ บ. กับ ล. ลิงแล้วคิดอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร แถมคำว่า “มิน่าล่ะ” นี่ช่างน่าสงสัยว่าทำหน้าที่สื่อความใดในประโยค

แน่นอนว่าเฟซบุ๊กเป็นที่ที่ใครก็สามารถโพสต์อะไรก็ได้ (และก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลตรรกะใดๆ ด้วย) ทว่าในฐานะที่ผู้ประกาศข่าวได้ยกสถานะตัวเองกลายเป็นบุคคลสาธารณะที่มีผู้ติดตามความคิดเห็นอยู่เสมอ การโพสต์อะไรย่อมต้องครุ่นคิดให้ดี มิฉะนั้นแล้วอารมณ์อยากเพียงแค่กระแนะกระแหนจะกลายเป็นหนามแหลมคมย้อนกลับมาทิ่มแทงให้เจ็บช้ำในภายหลัง

ลำพังกระแนะกระแหนด้วยแค่ต้องการให้แฟนคลับมากดไลค์และพิมพ์ด่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ต่อยอดไปเรื่อยๆ โดยไม่สนว่าเรื่องที่พิมพ์จะจริงจะเท็จ จะใช้ตรรกะเหตุผลดีอย่างไร ท้ายที่สุดก็ได้แค่ความสะใจชั่วครั้งชั่วคราว สวนทางกับเครดิตที่เคยมีก็เริ่มจางหายเพราะคนสงสัยในความคิดและการใช้เหตุผล (ซึ่งสำคัญมากๆ สำหรับผู้ที่เป็น Opinion Leader)

แต่ก็เอาเถอะ จะใช้อย่างไรก็สิทธิ์ของแต่ละคน วันข้างหน้าที่เครดิตหาย พูดอะไรไม่มีใครเชื่อ บทบาทของความเป็นสื่อมวลชนเริ่มสั่นคลอน ก็น่าคิดว่าจะยังทำงานในวงการสื่อต่อไปได้อีกหรือเปล่าหนอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี'สมยศ' - 23 ม.ค.พิพากษา

$
0
0

ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน. ระบุม. 112 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญด้านการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและหลักนิติธรรม เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่เคารพสักการะ ระบุโทษ 3-15 ปีเหมาะสมแล้วตามกฎหมาย

19 ธ.ค. 55 - ที่ศาลอาญารัชดา ห้อง 701 ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยจากกรณีการยื่นคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานและแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย และนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) ในฐานะจำเลยกม.อาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยื่นคำโต้แย้งแก่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าม. 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้่มประเสริฐ ปิยบุตร แสงกนกกุล เดินทางเข้าร่วมรับฟัง รวมกว่า 100 คน ทำให้ต่อมาต้องย้ายไปห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น


ผู้สังเกตการณ์ที่เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี


โดยศาลได้อ่านคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ม.112 มิได้ขัดกับหลักการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกตามมาตรา 29 และ 45 วรรคหนึ่ง และสอง ตามรัฐธรรมนูญไทย ตามที่ยื่นร้องโดยจำเลย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นศูนย์รวมจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน มีพระมหากรุณาธิคุณกับประชาชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐจึงต้องให้การคุ้มครองเป็นพิเศษ และชี้ว่า บทลงโทษที่มีอยู่ระหว่าง 3-15 ปี เพราะอยู่ในสถานะหลักของรัฐ และเป็นองค์ประมุขของรัฐ จึงนับว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และระบุว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย

จากคำร้องที่จำเลยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ม.112 ขัดต่อ มาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งระบุเรื่องหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยดังกล่าวระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ "ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ และรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ" ศาลระบุว่า การกำหนดบทลงโทษ จึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ม.112 จึงสอดล้องกับหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง

ผู้พิพากษา กล่าวต่อว่า ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของสำนวนคดี เนื่องจากมีการโยกย้ายคณะผู้พิพากษาชุดเก่าไปยังต่างจังหวัด เจ้าของสำนวนคดีจึงเปลี่ยนเป็นรองอธิบดีศาลอาญา 2 คนแทน และเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมาก ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกพอสมควร จึงได้นัดวันอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 23 ม.ค. 56  

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับคำวินิจฉัยที่ออกมาเท่าใดนัก และเสริมว่าศาลก็ไม่ได้พิจารณาในหลายประเด็นที่ยื่นให้วินิจฉัย เช่น เรื่องม.112 กับหลักสิทธิมนุษยชนสากล หรือเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และกล่าวว่า ตนสมควรได้รับความยุติธรรมและถูกยกฟ้อง เนื่องจากอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคดีนี้อยู่ในความสนใจของต่างชาติ

"คำวินิจฉัยนี้ยืนยันว่ารัฐไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์" สมยศกล่าว


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขเดินทางกลับพร้อมเจ้าหน้าที่ศาล หลังศาลอ่านคำวินิฉัย


คารม พลกลาง ทนายความของนายสมยศ กล่าวภายหลังจากการอ่านคำวินิจฉัยว่า การอ่านคำวินิจฉัยวันนี้เป็นไปเพื่อพิจารณาว่าม. 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อไม่ขัด ศาลจึงมีกำหนดอ่านคำพิพากษา โดยมองว่าไม่น่าจะเลื่อนวันดังกล่าวออกไป และกล่าวว่า ไม่น่าจะได้รับการประกันตัวอีก ทั้งนี้ นายสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 และ ถูกปฏิเสธการประกันตัวทั้งหมดแล้ว 10 ครั้ง



 

หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดเอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ที่ด้านล่าง

 

 

ประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา 112ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
 
รัฐธรรมนูญ
 
มาตรา 3อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
 
     การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม  
 
มาตรา 8องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
 
มาตรา 29การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
 
     กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
 
     บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม
 
มาตรา 45บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
 
     การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิ ในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

 

AttachmentSize
มาตรา ๑๑๒ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ.pdf776.43 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐชี้ ลูกจ้างรายได้ต่ำติดหนี้นอกระบบบาน

$
0
0

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เป็นหนี้นอกระบบอื้อ เงินไม่พอใช้แถมต้องส่งเสียครอบครัว ยอมจ่ายดอกโหด 8-10% ต่อเดือน เสนอรัฐขายพันธบัตรหนุนธนาคารออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้กู้รายย่อย

กรุงเทพธุรกิจ รายงานการเสวนา เรื่อง "วิกฤติหนี้นอกระบบ - ทางออกของสังคมไทย?" จัดโดยกระทรวงยุติธรรม โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐอาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรบรรยายว่า ปัจจุบันปัญหาหนี้นอกระบบเปลี่ยนจากปัญหาที่เคยแพร่หลายในชนบทและในภาคเกษตรกรรมมาเป็นปัญหาของผู้ที่มีรายได้ประจำในสังคมเมืองโดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากตัวเลขของผู้ที่รับค่าจ้างในรูปแบบเงินเดือนประมาณ 17 ล้านคนในปัจจุบัน มีจำนวน 14 ล้านคนที่ทำงานกับภาคเอกชน และมีกว่า 8-9 ล้านคน ที่มีรายได้ประจำเพียง 8,000-9,000 บาทต่อเดือน รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวดังนั้นหากในเดือนใดที่ไม่มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (เงินโอที) คนกลุ่มนี้ก็จะต้องกู้เงินนอกระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้จากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8-10 ต่อเดือน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า หนี้นอกระบบที่กำลังคุกคามภาคแรงงาน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 88-90 % ของจีดีพี ขณะที่การผลิตในภาคเกษตรคิดเป็น 10 -12 % ของจีดีพีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในภาคชนบท โดยใช้วิธีให้เงินสินเชื่อผ่านกองทุนต่างๆเพื่อให้เป็นสินเชื่อภายในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กองทุนเอสเอ็มแอล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 15 กองทุน ที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรเพียง 8 ล้านคน ทำให้ภาคเกษตรมีปัญหาหนี้นอกระบบลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามหนี้นอกระบบในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว

"ขณะนี้ต้องเข้าใจว่าหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เข้ามาคุกคามสังคมเมืองมากขึ้น หากไปแถวโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปราจีนบุรี จะเห็นโฆษณา ใบปลิวเรื่องเงินด่วนเป็นจำนวนมาก ขณะที่แรงงานเหล่านี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือสินเชื่อให้กับนายจ้างและผู้ประกอบการเท่านั้นแต่ลืมเรื่องการให้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน"รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

เขากล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ตนเสนอว่ารัฐบาลควรจะมีการออกพันธบัตรวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินปล่อยกู้รายย่อยตามความจำเป็นให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขว่าคนที่จะกู้จะต้องฝากประจำ 10% ของมูลค่าเงินที่กู้ โดยอาจให้เจ้าของกิจการเป็นผู้หักเงิน ณ ที่จ่ายคืนธนาคารพร้อมเงินฝากประจำ จากนั้นภายใน 3 ปี จะมีเงินทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากเงินฝากประจำของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเงินทุนจำนวนนั้นจะสามารถนำมาจัดตั้งธนาคารเพื่อแรงงานซึ่งเป็นธนาคารที่จะเข้ามาดูแลเรื่องการปล่อยเงิน

 

 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน: มองการประท้วงเรียกร้องของ ‘กำนันผู้-ใหญ่บ้าน’ ในมุมมอง ‘สวัสดิการ’ คนทำงานภาครัฐ

$
0
0

ลองมามองเรื่องการประท้วงของกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านในมิติเรื่องเศรษฐกิจ ค่าตอบแทนและความมั่นคงของคนทำงานภาครัฐ นอกเหนือจากเรื่อง “อำนาจการเมือง?” แบบ “หนังหรือละครไทย” ที่ยึดติดกับภาพ “ผู้มีบารมี” มากเกินไป

 

ภาพการชุมนุมของกำนันผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (แฟ้มภาพประชาไท)

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากำนันผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศนับหมื่นคนจากทั่วประเทศ ได้ออกมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฉบับใหม่ ที่มีการกำหนดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและดำรงตำแหน่ง วาระ 5 ปี จากเดิมให้อยู่จนถึงเกษียณอายุ 60 ปี

ซึ่งหากเราตามข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องกำนันผู้ใหญ่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าไม่ใช่แค่เรื่องการปรับเปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งเท่านั้น ที่พวกเขาออกมาเรียกร้อง โดยในปีที่แล้ว (พ.ศ.2554) มีการผลักดันเรื่องการเพิ่มเงินเดือนตอบแทน ต่อเนื่องมาจากหลังจากปี พ.ศ.2551 ที่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งได้ถึง 60 ปี อีกครั้งหนึ่ง

วันนี้เราลองมามองเรื่องการประท้วงของกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านในมิติเรื่องเศรษฐกิจ ค่าตอบแทนและความมั่นคงของคนทำงานภาครัฐกันดู …

 

ประวัติศาสตร์ "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน"

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 นั้นถูกประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2440 อันเป็นต้นฉบับแรกที่ว่าด้วยการจัดการเรื่องผู้ใหญ่บ้านและกำนันครั้งแรกในสังคมไทย ซึ่งเป็นระยะเวลา 115 ปีมาแล้ว ทั้งนี้เราต้องเข้าใจช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนั้น นั่นก็คือความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจของรัชกาลที่ 5 คือจำกัดอำนาจเจ้าเมืองและขุนนางแบบเดิมออกไป หลังจากความสำเร็จของการปฏิรูปการปกครอง (Governance Reform) ในส่วนกลางเมื่อปี พ.ศ. 2435 

จากนั้นกลไกของส่วนกลางเองก็ได้คืบคลานเข้าไปสู่ต่างจังหวัด โดยมีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ผ่านเข้าไปจัดตั้งระบบอำนาจใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าเมืองที่สืบทอดอำนาจกันแบบในสมัยโบราณ ถูกแทนที่ด้วยคนจากส่วนกลางเพื่อสร้างความภักดีให้กับกรุงเทพฯ และองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขส่วนกลาง

โดยในกลไกระดับหมู่บ้านนั้น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ต่อยอดมาจากการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2435 (ออกมาหลังการปฏิรูปการปกครองเป็นระยะเวลา 5 ปี) โดยกฎหมายฉบับนี้ได้เข้าไปจัดการถึงระดับรากของหมู่บ้าน คือเปลี่ยนตัวผู้นำชุมชน ให้ภักดีต่อกรุงเทพฯ มากที่สุด โดยการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นผู้นำชุมชนทั้งในทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือจารีตต่างๆ ในหลายท้องที่ที่มีอำนาจบารมีในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ อิสาน หรือใต้ ต่างก็มีการเรียกชื่อที่ต่างกันไป แต่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ได้เข้ามาจัดระบบใหม่ ให้เรียกว่า 'ผู้ใหญ่บ้าน' และ 'กำนัน' โดยกฎหมายฉบับนี้ให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน ให้ชาวบ้านเข้ามาชุมนุมกันเพื่อเลือกผู้ใหญ่บ้าน ที่น่าสนใจคืออายุของคนที่สามารถเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นมีเพียง 21 ปี ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตุคร่าวๆ ตรงนี้ได้ว่า คนที่มีอายุมากๆ นั้นมักจะติดอยู่กับโลเก่า ส่วนคนที่มีอายุน้อยนั้นอาจจะมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกใหม่ได้

ซึ่งการเลือกผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ให้นายอำเภอเป็นประธาน และวิธีการลงคะแนนสามารถใช้ทั้งวิธีเปิดเผย หรือใช้วิะกระซิบเพื่อลงคะแนนลับได้ทั้งสองวิธี ทั้งนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์มองว่ารัชกาลที่ 5 ได้ใช้วิธีการเลือกตั้งเข้ามากระชับอำนาจ คือยอมให้มีการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ยอมเพียงในระดับท้องถิ่นแบบนี้เท่านั้น และใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ฉบับนี้ก็ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเข้าใจได้ว่าอาจจะให้อยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ

ทั้งนี้ในร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เราใช้ฐานของ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ตลอดมา และใน พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ก็ใช้ฐานคำต่างๆ ของ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 เพียงแต่ปรับปรุงให้ดูรัดกุมขึ้น ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ก็กลายเป็นฐานสืบต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้จะมีการแก้ไขต่างๆ (12 ครั้ง) ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการแก้ไขเรื่องวรรค หรือถ้อยคำตามกาลเวลา โดยการแก้ไข พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ครั้งที่สำคัญๆ ได้แก่

พ.ศ. 2510 การเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในยุคสงครามเย็นและการอ้างภัยเรื่องคอมมิวนิสต์เหตุผลในการแก้ไขครั้งนี้ คือ กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายภายในเขตหมู่บ้าน เป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ใหญ่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในด้านอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีตามกฎหมายอย่างกว้างขวางและผู้ใหญ่บ้านก็มีแต่เพียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในกิจการต่าง ๆ ตามที่ผู้ใหญ่บ้านจะมอบหมายให้ ผู้ใหญ่บ้านยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายโดยตรง จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรกำหนดให้มี “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้าย และเพื่อให้เห็นความแตกต่างกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบัน จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองโดยให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านร่วมกันพิจารณาคัดเลือกได้ไม่เกิน 5 คน

พ.ศ. 2535 กำหนดวาระกำนันผู้ใหญ่บ้าน เหตุผลในการแก้ไขครั้งนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไว้ว่า ต้องมีอายุตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนานที่สุด ถึงสามสิบห้าปี ประกอบกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านเป็นวาระ คราวละห้าปี และกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยการแก้ไขครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การแก้ไขครั้งนั้นได้กำหนดให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระ 5 ปี จากที่เป็นได้ถึงอายุ 60 ปี (ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ได้มีแนวคิดที่จะลดทอนอำนาจของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน)

พ.ศ. 2542 กำหนดวาระผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเหตุผลในการแก้ไขครั้งนี้ คือ เนื่องจากการใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่แทนราษฎรควรมีหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๕ บัญญัติให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว สมควรแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วย และโดยที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการออกจากตำแหน่งของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิยังบัญญัติไว้ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับตำแหน่งใหม่สามารถคัดเลือกตัวบุคคลมาร่วมปฏิบัติงานในท้องที่ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ตามความต้องการแก่การบริหารและการปกครองท้องที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พ.ศ.2551 ย้อนกลับไปให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งได้ถึง 60 ปีเหตุผลในการแก้ไขครั้งนี้ คือ เนื่องด้วยปัจจุบันได้มีการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปโดยรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ แต่โดยที่กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ยังมิได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมทำให้การปฏิบัติงานของกำนันและผู้ใหญ่บ้านไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับอำนาจหน้าที่ยังมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมควรที่จะได้มีการปรับปรุงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อนึ่งการแก้ไขครั้งนี้มีผลสืบเนื่องจากเหตุการทางการเมืองก็คือการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 โดยการแก้ไขเริ่มในช่วงปี พ.ศ. 2550 ที่รัฐบาลจากคณะรัฐประหารมีความพยายามดึงอำนาจต่างๆ กลับมาสู่มือข้าราชการประจำเพื่อสนับสนุนพลังอนุรักษ์นิยมอีกครั้ง

พ.ศ. 2552 'ห้ามมิให้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน' เหตุผลในการแก้ไขครั้งนี้ คือ โดยที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นบุคคลในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับราษฎรในการปฏิบัติงานตามกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐ เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนภูมิภาคมีบทบาทอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในการเป็นผู้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมและจัดการระงับปัญหาความขัดแย้งในท้องที่ และยังมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ ตัวแทนของราษฎรเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ ความเดือดร้อนของราษฎรเพื่อนำเสนอต่อส่วนราชการ เพื่อให้คงมีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในทุกตำบล หมู่บ้านต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อนึ่งในการแก้ไขครั้งนี้ เกิดในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552 เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีการแก้มาตราสั้นๆ อันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการระบุไว้ว่า 'ห้ามมิให้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน' ซึ่งถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในปีกของการที่จะลดทอนอำนาจของกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่การขึ้นมาเป็นรัฐบาลครั้งล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์นั้นอยุ่ภายใต้พลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงต้องเติมท่อนนี้เข้าไป

 

ลักษณะงาน-ค่าตอบแทน

ลักษณะงาน (อำนาจและหน้าที่) ของกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้น มีลักษณะ “ครอบจักรวาล” ทั้งนี้มีการมองว่าบางงานของกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้นซ้อนทับกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศ ระบบการใช้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ยังคงเป็น ‘ฟันเฟือง’ พื้นฐานในการบริการด้านสาธารณะภายในท้องที่ มากกว่าสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ที่มีความเป็นนักการเมืองมากกว่าพนักงานของรัฐ) หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ก็มักจะมีการแปรผันไปเรื่องจำนวนและประสิทธิภาพตาม “ขนาด” และ “การจัดเก็บรายได้” ของท้องที่นั้นๆ

 

 

กำนัน มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
 
1.อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่
กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดเป็นหลักไว้ ได้แก่ การตรวจตรา รักษาความสงบเรียบร้อยในตำบล ให้ราษฎรปฏิบัติตามกฎหมายการป้องกันภัยอันตราย ส่งเสริมความสุขของราษฎรรับเรื่องความเดือดร้อนของราษฎรแจ้งทางราชการและรับข้อราชการ ประกาศแก่ราษฎรหรือที่จะดำเนิน การให้ตามกฎหมาย เช่น การตรวจและเก็บภาษีอากร รวมทั้งการปกครองผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน
 
2. อำนาจหน้าที่ทุกอย่างเช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน
 
3. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับความอาญา และรักษาความสงบเรียบร้อย
 
(1) มีการกระทำผิดอาญาหรือสงสัยจะเกิด แจ้งนายอำเภอ หรือถ้าเกิดในตำบลข้างเคียงแจ้งกำนันตำบลข้างเคียงนั้นทราบ (2) พบคนกำลังกระทำผิดกฎหมาย หรือเหตุควรสงสัย หรือมีหมาย หรือคำสั่งให้จับผู้ใดในตำบลให้จับผู้นั้นส่งอำเภอ (3) ค้นหรือยึดตามหมายที่ออกโดยกฎหมาย (4) อายัดตัวคนหรือสิ่งของที่ได้มาด้วยการกระทำผิดกฎหมายแล้วนำส่งอำเภอ (5) เหตุการณ์ร้ายหรือแปลกประหลาด รายงานต่อนายอำเภอ (6) เกิดจราจล ปล้นฆ่า ชิงทรัพย์ ไฟไหม้หรือเหตุร้าย ฯลฯ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ (7) เมื่อทราบว่ามีคนอาฆาตมาดร้าย คนจรจัด อาจเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านปรึกษาสืบสวนถ้ามีหลักฐานเอาตัวส่งอำเภอ (8) คนจรแปลกหน้านอกทะเบียนราษฎร หารือกับผู้ใหญ่บ้าน ขับไล่ออกจากท้องทีตำบลได้ (9) ผู้ใดตั้งทับ กระท่อม หรือโรงเรือนโดดเดี่ยว อันอาจเป็นอันตรายอาจบังคับให้เข้ามาอยู่เสียในหมู่บ้านได้ และนำความแจ้งนายอำเภอ (10) ผู้ใดปล่อยละทิ้งบ้านให้ชำรุดรุงรัง โสโครก อันอาจเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น หรืออาจเกิดอัคคีภัย ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล บังคับให้ผู้อยู่ในที่นั้นแก้ไข ถ้าไม่ปฏิบัติตามนำความร้องเรียนนายอำเภอ (11) เวลาเกิดอันตรายแก่การทำมาหากินของราษฎร ให้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หาทางป้องกันแก้ไป ถ้า เหลือกำลังแจ้งนายอำเภอ
 
4. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคนเดินทางมาในตำบล
 
กำนันมีหน้าที่จัดดูแลให้คนเดินทาง ซึ่งไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้ร้าย ให้มีที่พักตาม สมควรและถ้าเป็นผู้เดินทางมาในราชการก็ต้องช่วยเหลือหาคนนำทาง หาเสบียงอาหารให้ ตามที่ร้องขอโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้นั้นตามธรรมดาได้
 
5. อำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์
 
กำนันมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ ที่มีไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สระน้ำ ศาลาอาศัย ที่เลี้ยงปศุสัตว์ มิให้ผู้ใด รุกล้ำยึดถือครอบครองผู้เดียว หรือทำให้ทรัพย์เสียหาย
 
6. อำนาจเกี่ยวกับการทะเบียนต่าง ๆ ในตำบล
 
กำนันมีส่วนรับผิดชอบงานทะเบียนราษฎรเกี่ยวกับการแจ้งคน เกิด คนย้าย คนตาย และทะเบียนลูกคอกสัตว์พาหนะ และมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนสมรส เพื่อนำส่งนายอำเภอให้จดทะเบียนสมรสให้ โดยคู่สมรสไม่ต้องไปที่ว่าการอำเภอ ในกรณีเป็นท้องที่ตำบลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศไว้ ตลอดจนทำบัญชีทะเบียนสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่อยู่ใน ตำบลนั้น
 
7. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร
 
ช่วยเหลือในการจัดเก็บภาษีอากร ในการสำรวจและประเมิน ราคาเพื่อเสียภาษีอากร โดย ทำบัญชีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากรยื่นต่อนายอำเภอ เพื่อนำไปเสียภาษี ตามกฎหมายภาษีอากร
 
8. อำนาจหน้าที่เรียกประชุมและให้ช่วยงานตามหน้าที่
 
กำนันมีอำนาจหน้าที่เรียกประชุมประชาชน คณะกรรมการสภา ตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหารือร่วมกัน และเรียกบุคคลใดมาหารือให้ช่วยเหลืองานตามหน้าที่ได้
 
9. หน้าที่ทั่ว ๆ ไป
 
หน้าที่ทั่วไป เป็นอำนาจหน้าที่ที่ปรากฎในกฎหมายอื่นๆ ที่ กระทรวงทบวงกรมอื่นให้ช่วยเหลือและเป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงทบวงกรมอื่นส่วนใหญ่มัก กำหนดให้กำนันมีแต่หน้าที่ ส่วนอำนาจนั้นมักไม่มอบให้ จึงทำให้การปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ผลเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับการงานในหน้าที่ของฝ่านปกครอง
 
ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
 
ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ปกครองราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน และมีหน้าที่ 2 ประการคือ
 
1. อำนาจหน้าที่ในทางปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย สรุปได้ดังนี้ คือ
- รักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน
- เมื่อเกิดทุกข์ภัยแก่ลูกบ้าน ให้แจ้งกำนันเพื่อหาทางป้องกัน
- นำประกาศ คำสั่งของรัฐบาลแจ้งลูกบ้าน
- ทำบัญชีทะเบียนราษฎรในหมู่บ้าน
- มีเหตุการณ์ประหลาดให้แจ้งกำนัน
- พบคนแปลกหน้าให้นำตัวส่งกำนัน
- เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ให้เรียกลูกบ้านช่วยกันป้องกันและระงับได้ และแจ้งกำนัน
- ควบคุมลูกบ้านให้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
- สั่งสอนลูกบ้านมิให้อาฆาตมาดร้ายกัน
- ฝึกอบรมลูกบ้านให้รู้จักหน้าที่และการทำการในเวลารบ
- ประชุมลูกบ้านเป็นครั้งคราวเพื่อแจ้งข้อราชการ
- ส่งเสริมอาชีพ
- ป้องกันโรคติดต่อ
- ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี
- ตรวจตรารักษาประโยชน์ในการอาชีพราษฎร
- จัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
- ประชุมกรรมการหมู่บ้าน
- ปฎิบัติตามคำสั่งของกำนัน
- ให้ราษฎรช่วยเหลือสาธารณประโยชน์
 
2.อำนาจในทางอาญา สรุปได้ดังนี้
 
-เมื่อทราบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย หรือสงสัยเกิดในหมู่บ้านให้แจ้งกำนัน
-เมื่อทราบว่ามีการทำผิดกฏหมายหรือสงสัยว่าเกิดในหมู่บ้านใกล้เคียง ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านนั้นทราบ
-พบของกลางทำผิดให้ส่งกำนัน
-เมื่อสงสัยผู้ใดว่าทำผิด หรือกำลังทำผิด ให้จับกุมส่งอำเภอหรือกำนัน
-เมื่อมีหมายสั่งจับผู้ใดหรือคำสั่งราชการให้จับผู้นั้นส่งกำนัน หรืออำเภอตามสมควร
-เจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึดผู้ใหญ่บ้าน ต้องจัดการให้
 
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
 
(1) ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเท่าที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้ใหญ่บ้านให้กระทำ (2) เสนอข้อแนะนำให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านในกิจการที่ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่
 
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
 
(1) ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน (2) ถ้ารู้เห็นหรือทราบว่าเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเหตุการณ์ตามวรรคหนึ่งเกิดในหมู่บ้านใกล้เคียงให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านท้องที่นั้น และรายงานให้ผู้ใหญ่บ้านของตนทราบ (3) ถ้ามีคนจรเข้ามาในหมู่บ้านและสงสัยว่าไม่ได้มาโดยสุจริตให้นำตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน (4) เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ต้องระงับเหตุปราบปรามตามจับผู้ร้ายโดยเต็มกำลัง
 
(5) เมื่อตรวจพบหรือตามจับได้สิ่งของใดที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดให้รีบนำส่งผู้ใหญ่บ้าน (6) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดได้กระทำความผิด และกำลังจะหลบหนีให้ควบคุมตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน (7) ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่บ้านซึ่งสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

 

 

 

ว่าด้วยตัวเลขเงินเดือน “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน”
 
ฐานเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ. 2539
 
กำนัน 4,300 - 5,100 บาท (เทียบเท่าบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการ ระดับ 1 ขั้น 5 - 9)
ผู้ใหญ่บ้าน 3,500 - 4,300 บาท (เทียบเท่าบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการ ระดับ 1 ขั้น 1 - 5)
แพทย์ประจำตำบล 2,100 - 2,700 บาท (คิดอัตราร้อยละ 60 ของอัตราเงินตอบแทนผู้ใหญ่บ้าน)
สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 1,600 - 2,200 บาท (คิดอัตราร้อยละ 45 ของอัตราเงินตอบแทนผู้ใหญ่บ้าน)
 
การขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ. 2552
 
กำนันได้เพิ่มจากเดิม (5,000 บาท) เพิ่มขึ้น 2,500 บาท เป็น 7,500 บาท
ผู้ใหญ่บ้านจากเดิม (4,000 บาท) เพิ่มขึ้น 2,000 บาท เป็น 6,000 บาท
แพทย์ประจำตำบลและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (2,500) เพิ่มขึ้น 1,250 บาท เป็น 3,750 บาท
 
การขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ. 2553
 
กำนันได้เพิ่มจากเดิม (7,500 บาท) เพิ่มขึ้น 2,500 บาท เป็น 10,000 บาท
ผู้ใหญ่บ้านจากเดิม (6,000 บาท) เพิ่มขึ้น 2,000 บาท เป็น 8,000 บาท
แพทย์ประจำตำบลและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (3,750) เพิ่มขึ้น 1,250 บาท เป็น 5,000 บาท

 

 

รวมถึงเรื่องรายได้ที่ปัจจุบัน กำนันมีเงินเดือน 10,000 บาท ต่อเดือน ผู้ใหญ่บ้าน 8,000 บาท ต่อเดือน แพทย์ประจำตำบลและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 5,000 บาท ต่อเดือน โดยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมานี้พึ่งมีการปรับฐานเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือในปี พ.ศ. 2539, พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553

ดังที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่ากระแสการขอเพิ่มค่าแรงนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังจากที่ในปี พ.ศ.2551 ที่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งได้ถึง 60 ปี อีกครั้งหนึ่ง และมีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงครั้งล่าสุดคือในปี พ.ศ. 2554 โดยเรียกร้องให้ขยับค่าแรงกำนันจาก 10,000 บาท เป็น 15,000 บาท และผู้ใหญ่บ้านจาก 8,000 บาท เป็น 10,000 บาท

แน่นอนว่าภาพของ “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” อาจจะติดเรื่องของ “ผู้มีอิทธิพล” ในสังคมไทย แต่กระนั้นเมื่อเราพิจารณาถึงเรื่องการเป็นตัวจักรหนึ่งของงานด้านบริการประชาชนแล้ว ความมั่นคงและรายได้ในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน (รวมถึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) สามารถปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาได้อย่างเต็มกำลัง มากกว่าการมุ่งสู่การเป็น “ผู้มีอิทธิพล” เพื่อหารายได้จาก “บารมี” ดั่งเช่นในอดีต

และที่สำคัญ สังคมไทยก็ไม่ได้เป็น “หนังหรือละครไทย” ที่ “ผู้มีบารมี” ไม่กี่คนในชุมชน จะสามารถชี้เป็นชี้ตายใครได้ เราก้าวข้ามยุคมืดแบบนั้นมาแล้ว.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญญา สุรกำจรโรจน์

$
0
0

"ถึงแม้จะเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ก็มีความสำคัญต่อฟันเฟืองทั้งระบบ ตัวจักรน้อยๆ อย่างเราถึงไม่มีใครเห็น แต่เราเชื่อว่าเรา "ยังมีประโยชน์" และไม่ยอมเป็นขยะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม"

สื่อพลเมือง ผู้ถ่ายทอดสดงานเสวนา, โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

นักข่าวตะวันออกกลาง NBC หนีจากการถูกจับเป็นตัวประกันในซีเรีย

$
0
0

 ริชาร์ด เองเกล และผู้ร่วมงานหลายสิบคนลักลอบเข้าไปทำข่าวความขัดแย้งในซีเรีย แต่ก็ถูกจับเป็นตัวประกันโดยทหารฝ่ายรัฐบาลเป็นเวลา 5 วัน ก่อนจะสามารถหลบหนีออกมาได้โดยความช่วยเหลือของฝ่ายกบฏ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังปะทะกัน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ริชาร์ด เองเกล ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวต่างประเทศของ NBC ที่ได้เข้าไปทำข่าวความขัดแย้งในซีเรีย สามารถหลบหนีจากการถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มทหารของรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ออกมาได้พร้อมกับผู้ร่วมงานอีกหลายคน หลังถูกจับตัวไปเป็นเวลา 5 วัน

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 13 ธ.ค. ริชาร์ด และผู้ร่วมงานถูกกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคนจับตัวไว้ได้จากการที่พวกเขาเข้าไปทำข่าวความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งปกติแล้วรัฐบาลซีเรียห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไป หรือบางส่วนที่ได้รับอนุญาตจะถูกทางการซีเรียควบคุมอย่างเข้มงวด แต่มีผู้สื่อข่าวหลายคนลักลอบเข้าไปโดยมีคนจากกลุ่มกบฏคอยนำทาง

ริชาร์ดเล่าว่า ในขณะที่เขาถูกจับกุมตัวมีกบฏที่นำทางให้เขาอย่างน้อยหนึ่งรายถูกสังหารโดยทันที ส่วนตัวเขาและผู้ร่วมงานถูกจับมัดข้อมือและผูกตาไม่ให้มองเห็น ริชาร์ดบอกอีกว่าฝ่ายทหารที่จับตัวเขาไม่ได้ทำการทุบตีหรือทรมาน แต่มีการใช้วิธีการทรมานทางจิตวิทยา เช่นการขู่ฆ่า การใช้ปืนจี้อยู่ตลอดเวลา การให้เลือกว่าจะให้ฆ่าใครก่อน และเมื่อปฏิเสธก็มีการแกล้งยิงหลอกๆ

ทหารที่จับตัวพวกเขาไปเล่าว่าพวกเขาต้องการแลกเปลี่ยนตัวประกันคือพวกเขากับชาวอิหร่าน 4 คน และชาวเลบานอน 2 คนที่ถูกกลุ่มกบฏจับตัวไป

ริชาร์ดเล่าถึงการหลบหนีว่า ในขณะที่กลุ่มผู้จับพวกเขาเป็นตัวประกันกำลังลำเลียงพวกเขามาในรถตู้ขนาดเล็กก็ได้ขับไปเจอกับด่านตรวจของฝ่ายกบฏ จากนั้นจึงมีการยิงต่อสู้กัน หลังจากนั้นฝ่ายกบฏก็ได้ตัวพวกเขาขณะที่กำลังพยายามหลบหนีออกจากรถ และช่วยนำตัวพวกเขาข้ามฝั่งไปยังตุรกี

ก่อนหน้าที่จะถูกจับกุม ริชาร์ด เองเกล ได้รายงานข่าวสถานการณ์จากเมืองอเล็ปโปผ่านเทปบันทึกโทรทัศน์ซึ่งแพร่ภาพเมื่อวันพฤหัสฯ (13) ที่ผ่านมา ริชาร์ดเล่าว่าพวกเขาใช้วิธีการรายงานข่าวโดยการข้ามแดนไปมาระหว่างตุรกีกับซีเรียด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ถูกจับเป็นตัวประกันขณะกำลังพยายามข้ามแดนไปยังตุรกีในวันที่ 13 ธ.ค.

ในช่วงที่พวกเขาถูกจับกุม ทางสำนักข่าว NBC ได้เรียกร้องไม่ให้สื่ออื่นๆ นำเสนอในเรื่องนี้เนื่องจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของนักข่าวที่หายตัวไป NBC บอกอีกว่าหลังจากที่พวกเขาจาดการติดต่อไปก็ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ ไม่มีการติดต่อจากผู้จับเป็นตัวประกัน หรือการอ้างข้อเรียกร้องในการจับเป็นตัวประกันใดๆ

ริชาร์ดเคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอิสระในช่วงสงครามอิรักปี 2003 เขามีความสามารถในการพูดและอ่านภาษาอาหรับ ก่อนที่จะเข้าไปเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศฝ่ายตะวันออกกลางของ NBC News

เรียบเรียงจาก
Journalist and crew escape captors in Syria, Aljazeera, 18-12-2012
Richard Engel of NBC Is Freed in Syria, New York Times, 18-12-2012

https://en.wikipedia.org/wiki/Richard_Engel (เข้าดูเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2012)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(บอกว่า) ซิมฟรี แต่....แถม ค่าบริการ

$
0
0

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค จำนวนหลายรายอย่างต่อเนื่อง กรณีประสบปัญหาได้รับซิมการ์ดแจกฟรีจากตัวแทนจำหน่ายของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า สะพานลอย ป้ายรถเมล์  โดยจะเชิญชวนให้รับซิมการ์ดฟรี หากไม่เปิดใช้งานก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย และขอถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้เพื่อเป็นหลักฐานการรับซิมการ์ด ผู้ร้องเรียนเชื่อในข้อมูลดังกล่าว จึงยอมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อจะรับซิมการ์ดที่แจกฟรี โดยมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทแต่อย่างใด ต่อมา บริษัทผู้ให้บริการมีการเรียกเก็บค่าใช้บริการจากผู้ที่ได้รับซิมการ์ดแจกฟรี เนื่องจากเป็นโทรศัพท์ที่เคลื่อนที่แบบจดทะเบียนรายเดือน ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนมิได้มีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวแต่อย่างใด

ปัญหาดังกล่าว “แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว” ด้วยตัวของคุณเอง ทางศูนย์ฯ จึงได้นำเคล็ดลับดีๆ มาฝากผู้บริโภคที่ยึดคติ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าพร่ำบ่นพันครั้ง” รับรองว่าได้ผลแน่นอน...

เทคนิค ปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการจากซิมฟรี
1. ตาม ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ข้อ ๖ กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ อัตราค่าบริการและวิธีการเรียกเก็บค่าบริการ ข้อจำกัดตลอดจนเงื่อนไขในการให้บริการ ดังนั้น การที่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทให้ข้อมูลว่าซิมการ์ดแจกฟรีนั้น หากไม่ใช้จะไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และการไม่แจ้งว่าซิมการ์ดที่แจกฟรีนั้น เป็นโทรศัพท์แบบจดทะเบียนรายเดือน จึงเป็นการปิดบังข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้ผู้ร้องเข้ารับซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัท

2. สัญญาใช้บริการโทรคมนาคมระหว่างผู้ใช้บริการกับกับผู้บริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอ สนองถูกต้องตรงกัน แต่จากข้อเท็จจริงผู้ร้องเรียนมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทแต่อย่างใด การมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทนั้นก็เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานประกอบการรับซิมการ์ดแจกฟรี ตามที่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทแจ้งแก่ผู้ร้องเรียน ดังนั้น จึงไม่เกิดสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนขึ้นระหว่าง บริษัทผู้ให้บริการและผู้ร้องเรียน

3. หากผู้ร้องเรียนไม่เคยนำซิมการ์ดมาใช้งาน (Call Detail)  ต้องให้บริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบหากพบว่า ผู้ร้องเรียนไม่มีประวัติการใช้งาน (Call Detail) โทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ สามารถยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมิได้มีเจตนาที่จะเข้าทำสัญญาใช้บริการโทรคมนาคมกับบริษัทผู้ให้บริการ

แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
1. ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้   โดยส่งหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการของบริษัทเจ้าของซิม เพื่อขอให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการ พร้อมระบุเหตุผล เช่น ยังไม่ได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้มา หรือ การให้บริการไม่ตรงกับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ไม่ผิดไปจากความต้องการของผู้บริโภค โดยการส่งจดหมาย ต้องส่งแบบลงทะเบียนตอบรับ ไปยังบริษัทของซิมฟรีที่เราไปรับมาเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงิน และยกเลิกการใช้บริการ

2. โทรศัพท์แจ้งยกเลิกบริการ  ที่ศูนย์บริการของซิมฟรีนั้น หรือส่งอีเมลล์ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของซิมนั้น เช่น voc@truecorp.co.th // complain@dtac.co.th //complaint_center@ais.co.th

3. โทรศัพท์ร้องเรียน ไปที่ 1200 สายด่วน กสทช. หรือร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737 หรือ อีเมลล์ complaint@consumerthai.org

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
แม้ปัญหาของผู้ร้องเรียนจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พอใจแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีผู้บริโภคประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงควรมีมาตรการในเชิงป้องกัน โดยแจ้งบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายให้ใช้ความระมัดระวังในการทำการตลาด โดยกำชับตัวแทนจำหน่ายให้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนแก่ผู้บริโภค และสำนักงาน กสทช. ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการ วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวให้ผู้บริโภคทราบอย่างทั่วถึง และควรมีมาตรการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ซ้ำซาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาดูหนังโป๊กัน

$
0
0

หลายวันมานี้ มักนั่งครุ่นคิดอยู่ตลอดว่า ในโลกนี้มักมีอะไรที่แปลกๆอยู่เสมอ ในสังคมนี้บางครั้งแล้วก็มีอะไรให้เราชวนคิดมากทีเดียว ระเบียบ กฎเกณฑ์  อุดมคติ มักจะเดินมาด้วยกันเสมอ สรุปรวมความคิดจึงกล่าวได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วเราอยู่ในโลกของความจริงหรือเพียงว่า อยู่ในโลกของอุดมคติกันแน่ ซึ่งคำตอบที่มีต่อตัวเองก็น่าจะบอกได้ว่า “มันอยู่ในโลกของอุดมคติชัดๆ”

มีบางอย่างที่ทำให้ครุ่นคิดตลอดว่า ครั้นกล่าวว่า “มนุษย์นั้นไซร้มักละเมิดอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา” ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนมานั่งคิดมากกว่าเดิมว่าแล้วอะไรจะเป็นตัวอย่างได้ดีต่อกรอบคิดเหล่านี้ คิดไปคิดมาก็นึกถึงตัวเองนี่แหละที่อะไรเล่าที่เรามักจะละเมิดอยู่ตลอดเวลาเวลาเด็ก ทันใดนั้นความคิดก็หยุดลงตรงที่ “หนังโป๊”

หนังโป๊ หนังเอ็กซ์ การ์ตูนผู้ใหญ่ และอื่นๆ หลากหลายคำที่ใช้เรียกกัน ผู้เขียนลองนึกภาพว่าตั้งแต่เกิดมาสิ่งเหล่านี้มันอยู่คู่กับมนุษย์มานานแสนนาน ไม่ต้องอะไรมากดูขนาดผู้เขียนเองหากมองย้อนแล้วไม่ว่านานแค่ไหนคนก็ยังนิยมหนังโป๊ มากกว่า นิยมการใส่กางเกงขาม้าเป็นแน่ เพราะอย่างน้อยหนังโป๊ก็ไม่มีวันตกยุคเฉกเช่นเดียวกับ กางเกงขาม้าเป็นแน่ ไม่เชื่อคุณลองถามตัวเองดูซิ ?

จากความรู้อันน้อยนิดของผู้เขียนก็อยากจะลองเปิดมุมมองดูซิว่า เหตุใดเราจึงนิยมหนังโป๊ เพราะทั้งที่ความเป็นจริงมันคือ การแสดง และเหตุใดเล่าในสังคมไทยหนังโป๊จึงมีการถ่ายทำที่ห่วยแตกมาก ทั้งด้านเทคนิค และเนื้อหา เมื่อเทียบกับ ต่างประเทศ เหตุใดเล่า ดาราหนังโป๊ไทย จึงมีสถานะทางสังคมที่ต่างจากดาราหนังโป๊ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา เป็นต้น

ประเด็นแรก ขอกล่าวถึงว่าเพราะเหตุใดคนเราจึงสนใจที่จะดูหนังโป๊มาก ทั้งที่ในความเป็นจริงมันคือการแสดงเท่านั้น ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นการแสดงแต่เราก็ยังสนใจมัน ผมขอยกแนวความคิดของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ในหนังสือเรื่อง “มายาคติ” มาอธิบายความซึ่งอาจจะมีบางอย่างที่สามารถนำมาอธิบายได้

โรล็องด์ บาร์ตส์ ได้กล่าวถึงมายาคติที่เกี่ยวกับมวยปล้ำไว้อย่างน่าสนใจก็คือ เกี่ยวกับเรื่อง ความลับของมนุษย์ มนุษย์นั้นมักจะเป็นผู้ที่มีอะไรในใจอยู่ตลอดเวลาดังคำกล่าวที่ว่า รู้หน้าไม่รู้ใจ ตามภาษาคนไทย ดังนั้นสิ่งที่มวยปล้ำแสดงก็คือ การตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์นั่นเองที่มักจะอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เป็นความลับอยู่เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “โชคดีที่มีบุญได้เห็น” ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันก็คงไม่ต่างอะไรกับ “การดีใจที่ได้เห็นสิ่งที่เป็นความลับ” นั่นเอง

สิ่งที่ โรล็องด์ บาร์ตส์ กล่าวก็คือ บนเวทีมวยปล้ำเราจะรู้ถึงความเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างของทุกคนบนเวที ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม กรรมการ เป็นต้น ดังนั้นสิ่งนี้มันจึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองได้ดีต่อมนุษย์ เพราะอย่างน้อยคุณก็ได้เห็นว่า ใครจะทำอะไรใคร ฝ่ายอธรรมบนเวทีกำลังจะทำอะไร ซึ่งเอาเข้าจริงก็เหมือนกับว่า อย่างน้อยที่สุดคุณก็เห็นซึ่งๆหน้าต่อการกระทำของทุกคนบนเวที มากกว่าที่คุณเจอในชีวิตจริงคือ “การแทงข้างหลัง” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มันไม่มีความลับบนเวทีมวยปล้ำ

ในการนี้ผู้เขียนขอกล่าวย้อนมาถึง หนังโป๊ ซึ่งการอธิบายก็คงใช้หลักเดียวกับเรื่องมวยปล้ำก็คงได้ กล่าวคือ ในสังคมมักบอกเสมอว่า การร่วมเพศ เป็นสิ่งที่เป็นส่วนตัวมากการกระทำก็ต้องอยู่ในที่ที่มิดชิด เช่น คุณคงไม่กล้าที่จะร่วมเพศกันกลางถนนเป็นแน่ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเรื่องเหล่านี้เป็นความลับ สิ่งที่มันสอดรับกับมนุษย์ก็คือว่า กูอยากรู้  ดังนั้นการแอบดูจึงเป็นสิ่งที่ตามมา เช่นเดียวกับการละเมิดของสองคนผู้เป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ตามความคิดทางคริสต์ศาสนา หนังโป๊ก็เช่นเดียวกันในเมื่อความเป็นจริงการร่วมเพศเป็นสิ่งที่เป็นความลับ หนังโป๊ก็จึงเกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความอยากรู้ของผู้คนทั่วไป อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เรารู้ว่าในความลับของการร่วมเพศในชีวิตจริงเป็นอย่างไร และมันจึงถูกแสดงให้เราเห็นในหนังโป๊นั่นเอง

จากที่กล่าวไปนั่นคือองค์รวมของการมองหนังโป๊ในสายตาผู้เขียน หากมองถึงรายละเอียดมาอีกนิดก็อาจกล่าวได้ว่า ครั้นเราสนองความอยากรู้อยากเห็นด้วยการดูหนังโป๊แล้วเราสนองต่อเรื่องอะไรบ้างในรายละเอียด ดังจะยกตัวอย่างคร่าวๆดังนี้ เช่น สนองต่อท่วงท่า เป็นสิ่งที่มนุษย์อยากรู้ว่าในความเป็นจริงแล้วการร่วมเพศนั้นมันมีท่วงท่าเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน นางเอกสวยๆจะมีท่าทางเป็นเยี่ยงไร เพราะในความเป็นจริงเมื่อผู้ชายส่วนมากเห็นผู้หญิงสวยๆก็มักจะเกิดการจินตนาการ คงไม่ต้องบอกนะว่าเรื่องอะไร ดังนั้นก็จึงสนองต่อประเด็นต่อมาว่า เอาเข้าจริงแล้วคนส่วนมาก (ขอย้ำว่าคนส่วนมาก) ทำไมจึงชอบดูหนังโป๊ที่นางเอกสวยๆ เพราะในชีวิตจริงคุณก็ชอบที่จะมองผู้หญิงสวยๆอยู่แล้ว เช่น ดารา เป็นต้น (ขอย้ำว่าสิ่งที่กล่าวไปขอเน้นในเรื่องของหนังโป๊ชายหญิง ที่ส่วนใหญ่ผู้ชายเกินร้อยละ 90 เคยดู)

ประการต่อมา เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินจากอาจารย์ของผู้เขียนท่านหนึ่งไม่ขอเอ่ยนาม อาจารย์ท่านกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผู้ชายชอบดูหนังโป๊เพราะคุณรู้ว่าภรรยาที่บ้านคุณไม่สามารถทำเช่นเดียวกับหนังโป๊ได้เป็นแน่ ก็จริงของแกนะ เพราะถ้าทำได้เฉกเช่นเดียวกันก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องดูมัน เพราะมันคงเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นเพราะว่าไม่สามารถทำแบบหนังโป๊ได้ก็จึงต้องดูเพราะอย่างน้อยมันก็เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ

จากที่กล่าวไปเป็นมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อหนังโป๊ ว่ามีเหตุผลอะไรที่เราต้องดูกัน ในประการต่อมาก็มีคนถามผู้เขียนมาอีกว่า แล้วทำไมในบ้านเราหนังโป้เมื่อเทียบคุณภาพกับต่างประเทศจึงด้อยกว่ามาก ทั้งในเรื่องของ นางเอก เรื่องของบท เรื่องของเทคนิคการถ่ายทำ ซึ่งผู้เขียนใช้เวลาคิดอยู่นานจนกระทั่งไปสะดุดอยู่สองสามเรื่องนั่นก็คือ เรื่องเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เรื่องชนชั้นทางสังคม และหนังการ์ตูนโป๊เล่มละบาท

เมื่อกล่าวว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธดังนั้น จารีตประเพณี ศีลธรรม เป็นคำที่ตามมา ดังนั้นเมื่อคุณอยู่ในสังคมที่มีศีลธรรมการกระทำอะไรที่เป็นการบัดสีบัดเถลิงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นใครผู้ใดที่จะเข้ามาสู่วงการนี้ก็จะกลายเป็นผู้เสื่อมทรามทันทีไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาก็คือ แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะชอบหนังโป๊มากแค่ไหนก็ตามก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจแห่งศีลธรรมไปได้เป็นแน่ ไม่เชื่อคุณลองตะโกนว่า “กูชอบดูหนังโป๊” ต่อหน้าเพื่อนๆในที่ทำงานดูซิแล้วคุณก็จะรู้ ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนั้นการที่จะสร้างอุตสาหกรรมหนังโป๊ให้มีความก้าวหน้าจึงถูกขัดไว้ด้วยระบบศีลธรรมอันฝังรากลึก การเข้ามาของดารา ผู้กำกับ ผู้จัดและอื่นๆ จึงมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้เขาต้องเข้ามามากกว่าการที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพของหนัง เงื่อนไขที่ว่าก็คือ ความยากจน เป็นต้น การเข้ามาสู่วงการในสังคมไทยมันจึงเกิดจากความยากจนของคนแสดงมากกว่าเรื่องอื่นๆ

สิ่งที่ผู้เขียนมองในประการต่อมา คือ เรื่องชนชั้นทางสังคม และหนังการ์ตูนโป๊เล่มละบาท หากย้อนไปในยุคหนึ่ง หนังสือแนวบันทึกรัก (จากผู้อ่าน) เป็นที่นิยมมาก ควบคู่ไปกับ หนังสือการ์ตูนโป๊เรื่องละบาท ถามว่าผู้เขียนได้อะไรจากสิ่งที่เห็น หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของการ์ตูนเหล่านี้จะเป็นไปในแนวของ “กระท่อมในชนบท” มากกว่าในแนว “คนในเมือง” หากอยากให้เห็นภาพก็ให้นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่เน้นเรื่องของโรงเรียน ที่ทำงาน และอื่นๆ โดยไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้จะจำกัดอยู่ที่ใครชนชั้นใด ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างกันอย่างมาก ผู้เขียนคิดว่าก็อาจเกิดจากปัญหาด้านศีลธรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกประการหนึ่งผู้เขียนมองว่า สังคมพยายามโยนเรื่องเหล่านี้ให้กับอีกชนชั้นหนึ่งในสังคมมากกว่า สังคมเมืองหรือชนชั้นกลางพยายามมองว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของคนชนชั้นที่ต่ำกว่าไม่ใช่วิสัยของชนชั้นกลาง ปัญญาชนคนเมือง ซึ่งมักผูกติดความคิดตนเองอยู่กับศีลธรรมอันดีเสมอ ดังนั้นภาพที่ออกมาจึงเป็นไปในลักษณะของ “กระท่อมในชนบท” เป็นส่วนมาก

หากเปรียบก็เช่นเดียวกับดาราหนังโป๊ผู้โด่งดังของไทยคนหนึ่ง คือ คุณ น. แม้ว่าคุณจะโด่งดังมากเพียงใดแต่สังคมก็ไม่ได้วางคุณในตำแหน่งที่เป็นซุปเปอร์สตาร์เฉกเช่นเดียวกับ โซระ อาโออิ หรือ มิยาบิ เป็นแน่ แต่สถานะของคุณก็เป็นได้แค่นางเอกหนังโป๊คนหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าคุณจะพยายามทำอะไรที่เข้าสู่ศีลธรรมมากขึ้นแต่เชื่อเถอะสังคมได้ตัดสินคุณไปแล้วว่า “คุณก็เป็นนางเองหนังโป๊” วันยังค่ำ ดังนั้นเอาเข้าจริงสังคมของหนังโป๊ได้ถูกกีดกันออกจากสังคมของคนชั้นกลางไปสู่สังคมของชนชั้นล่าง แม้ในความเป็นจริงเชื่อเถอะว่า คนที่เรียกตนเองว่าชนชั้นกลางก็ต้องดูสิ่งเหล่านี้เป็นอาจิณ และก็เป็นเช่นเดียวกันว่า เมื่อหนังโป๊ไทยมันเป็นของชนชั้นล่าง ดังนั้น “กูก็ต้องหาสิ่งที่เป็นของชนชั้นกู” นั่นก็คือ ดูของต่างชาติดีมีคลาสกว่าเยอะ ในที่นี้ผมกำลังจะพูดถึง สุนทรียะ นั่นเอง

เมื่อหนังโป๊ถูกผลักสู่ชนชั้นล่าง อะไรเล่าจะทำให้ชนชั้นกลางต่างไปจากพวกอื่น ผู้เขียนได้ข้อคิดเห็นเรื่องนี้มาจากเพื่อนนักเขียนท่านหนึ่ง โดยเขากล่าวว่า ชนชั้นกลางก็มักจะหาข้อต่างที่ทำให้เขาเหนือกว่าโดยเขาบอกว่า ชนชั้นกลางมักใช้คำว่า “ศิลปะ” เข้ามาช่วยเพื่อแสดงถึงคลาสของตนเองที่เหนือกว่าผู้อื่น

ดังเช่นเราจะเห็นว่า การเดินไปดูหนัง เรื่อง น้ำตาลแดง ผู้หญิงห้าบาป จันดารา เป็นต้น เหล่านี้ไม่ต้องแอบไปดู ไม่ต้องไปหาดีวีดีตามแถวคลองถมมาดู คุณสามารถเดินไปที่โรงภาพยนตร์ได้อย่างสง่าผ่าเผย มากกว่าการเดินไปโรงหนังอมรพันธ์แถวเกษตรเป็นไหนๆ เพราะคุณต้องเข้าใจว่าสังคมเรามองศิลปะเป็นสิ่งซึ่งสูงกว่าปกติ คำว่า “ศิลปะ” ได้บดบัง “ศีลธรรม” ไปทั้งหมดและนั่นเองทำให้ชนชั้นกลางเองเลือกที่จะบอกว่าตนเองมีศิลปะมากกว่าชนชั้นอื่นนั่นเอง การดูหนังโป๊ของชนชั้นกลางจึงเป็นการสถาปนาศิลปะมาเป็นของตนเอง ซึ่งหากมองลึกๆไม่ว่าจะเป็นการดูหนังเรื่อง น้ำตาลแดง ผู้หญิงห้าบาป จันดารา หรือ คนกินผัว ของน้อง น. สุดท้ายแล้วสิ่งที่คุณอยากดูก็คงหนีไม่พ้นฉากวาบหวิวหรือการร่วมเพศเป็นแน่

อย่างที่บอกว่า นี่เป็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนจากความรู้ที่ผู้เขียนพึงจะมีเท่านั้น สิ่งที่เขียนเป็นการชอบส่วนตัวของผู้เขียนต่อการตั้งคำถามต่อเรื่องต่างๆ ของสังคมก็เท่านั้น แต่แน่ล่ะว่าสิ่งหนึ่งที่ผมไม่ได้โกหกหรือคิดไปเองก็คือ “คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยละเมิดศีลธรรมโดยการแอบดูหนังโป๊” เป็นแน่ ไม่เชื่อลองถามตัวเองดูซิ คุณว่ามั๊ย?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: แลกเปลี่ยนกับเกษียร เตชะพีระ ต่อบทบาทของทีดีอาร์ไอ

$
0
0

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนบทความเรื่อง “ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน” ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 7 ธันวาคม 2555 และเรื่อง “กระบวนการกำหนดนโยบายของไทย - ที่มา ที่เป็นและที่ไป”ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 14 ธันวาคม 2555 บทความทั้งสองมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันมากจนคล้ายการตีพิมพ์ซ้ำ โดยส่วนที่คล้ายกันดังกล่าวมีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ใน 2 ประเด็นคือ

หนึ่ง ทีดีอาร์ไอเป็นพวกที่เชื่อในตลาดเสรี แม้ว่าอาจารย์เกษียรไม่ได้เขียนตรงๆ ในบทความทั้งสองว่า ทีดีอาร์ไอเป็น  “ฝ่ายขวา” แต่การนำเอาทีดีอาร์ไอไปกล่าวรวมกับกลุ่มคนที่อาจารย์เรียกว่า “ฝ่ายขวา” ทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งก็เกิดความรู้สึกว่า อาจารย์เหมารวมเอาทีดีอาร์ไอเป็น “ฝ่ายขวา” ไปด้วย   

สอง ทีดีอาร์ไอ ขยายบทบาทเชิงผลักดันหรือต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จนทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว เพราะ “สถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ” และเสนอว่า “สถาบันวิจัยก็ (ควร) จะได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยข้อมูลทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆ แทนที่จะแปรบทบาทตนเองเป็นกลุ่มรณรงค์กดดันต่อต้านนโยบาย”

ในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ  ผมใคร่ขอแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เกษียรและผู้อ่านใน 2 ประเด็น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะดังนี้    

ประการที่หนึ่ง  ผมเห็นว่า การเอาฉลาก “ขวา” หรือ “ซ้าย” ไปแปะใส่บุคคลหรือองค์กรหนึ่งๆ แทนที่จะถกเถียงกันเรื่องประเด็นด้านนโยบายแต่ละเรื่อง น่าจะไม่มีประโยชน์นัก เพราะการเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเป็นเพียงการสะท้อนจุดยืนของตัวผู้แปะฉลาก ซึ่งในที่นี้คือตัวอาจารย์เกษียรเอง เปรียบเทียบกับผู้ถูกแปะฉลากมากกว่าที่จะสะท้อนคุณภาพหรือคุณค่าอะไรที่มากไปกว่านั้น

ในความเห็นของผม การเหมาเอาว่าทีดีอาร์ไอเป็น “ฝ่ายขวา” เป็นเรื่องที่ออกจะแปลกอยู่ เพราะในฐานะองค์กรทางวิชาการ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของอาจารย์เกษียร เราไม่เคยกำหนดว่า นักวิจัยแต่ละคนจะต้องมีความเชื่ออย่างไร   ตราบเท่าที่การวิเคราะห์และข้อเสนอทางนโยบายของเขามีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลรองรับ

อันที่จริง ที่ผ่านมา นักวิจัยของเราหลายคนได้พยายามผลักดันให้เกิด การปฏิรูปภาษีและการใช้จ่ายของรัฐเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม   สนับสนุนให้ใช้ระบบสวัสดิการสังคมในการแก้ไขปัญหาคนจน ไม่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดตลาด และมีท่าทีอย่างระมัดระวังต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ    ในด้านเกษตร เราไม่ได้ปฏิเสธการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ แต่เสนอให้ใช้แนวทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยลงและให้ประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรกลุ่มที่ยากจนจริงๆ มากขึ้น ท่าทีดังกล่าวน่าจะสะท้อนถึงความเชื่อของนักวิจัยหลายคนในทีดีอาร์ไอที่ว่า รัฐและตลาดต่างมีข้อจำกัดในตัวเอง ไม่สามารถเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในทุกๆ เรื่องได้  แต่ต้องผสมผสานกันและในหลายกรณีก็ต้องใช้กลไกอื่น เช่น ชุมชนและกลไกทางสังคมประกอบด้วย ผมคิดว่า ท่าทีเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พวก “ฝ่ายขวา” ชื่นชอบนัก    

ผมเชื่อว่า การถกเถียงทางวิชาการอย่างมีคุณภาพในแบบที่อาจารย์อยากเห็น น่าจะเกิดขึ้นจากการศึกษาความคิดของกันและกันอย่างจริงจัง โดยวิเคราะห์ว่า ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายในแต่ละเรื่อง จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร และจะสามารถตรวจสอบข้ออ้างของแต่ละฝ่ายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์กันได้อย่างไร  มากกว่าการติดฉลากว่าใครเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” แบบเหมาเข่ง

ประการที่สอง ผมไม่เห็นว่า การวิจัยและการดำเนินการต่างๆ ของทีดีอาร์ไอในปัจจุบัน จะทำให้ระบบในการกำหนดนโยบายปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว หรือทำให้เรากลายเป็น policy lobbyist ตามความหมายที่ใช้กันทั่วไปในประเทศไทยแต่อย่างใด   เพราะทีดีอาร์ไอไม่มีนโยบายที่จะโน้มน้าวนักการเมืองหรือข้าราชการให้กำหนดนโยบายเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ใด ถ้าจะมีสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ล็อบบี้” มากที่สุดก็คือ การให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะพลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและติดตามการทำงานของรัฐบาล   

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอไม่มีแนวทางที่จะฟ้องร้องหน่วยงานใดเพื่อกดดันทางนโยบาย และไม่คิดที่จะล้มรัฐบาลไหนๆ เราตระหนักดีว่า เราเป็นสถาบันทางวิชาการที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถโน้มน้าวรัฐบาล สื่อมวลชนและประชาชนให้เห็นคล้อยตามแนวคิดของพวกเราได้ นอกจากพลังแห่งเหตุผลทางวิชาการ ที่มีข้อมูลจากการวิจัยรองรับ ตลอดจนความเชื่อถือที่สังคมมอบให้แก่เราว่า เรานำเสนอข้อเสนอทางนโยบายต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา: บนความเพิกเฉยของสหประชาชาติ (7)

$
0
0

วิกฤตซ้ำซากในการกลับมาของผู้ลี้ภัย
เมื่อกลางปี 1995 สถานการณ์ผู้ลี้ภัยยังคงเป็นปัญหาที่ตึงเครียดที่สุด UNHCR และ คณะกรรมการของสหรัฐอเมริกาเพื่อผู้ลี้ภัย (USCR) ได้เสนอว่าขั้นตอนแรกที่จะอพยพผู้ลี้ภัยกลับมาคือการจับกุมชาวฮูตูหัวรุนแรงเพราะกลุ่มดังกล่าวนี้กีดกันไม่ให้ประชาชนผู้ลี้ภัยอพยพกลับบ้าน ทั้งได้ประโคมข่าวโคมลอยหมุนเวียนกระจายไปทั่วในแคมป์ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการอพยพกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยในแคมป์ไม่รู้ว่าข่าวของใครที่ควรจะเชื่อและข้อมูลไหนที่ถูกต้องกันแน่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับฟังข่าวสารในทางบวก และมีความเชื่อว่าข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่จะอพยพกลับรวันดาได้โดยไม่ได้รับอันตรายนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกับดักหรือกลลวงของรัฐบาลใหม่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะล่อลวงให้ประชาชนชาวฮูตูกลับเข้าประเทศแล้วรวมหมู่สังหาร ซึ่งหลายคนก็ยังเชื่อว่าตนและคนอื่นๆจะถูกสังหารหากกลับไปรวันดา

ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดความหวาดกลัวเหล่านี้และเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกปลอดภัยขึ้น การสร้างสถานีวิทยุแห่งใหม่ จึงจำเป็นเพื่อการกระจายเสียงบอกข้อมูลข่าวสารปัจจุบันที่ถูกต้องและเป็นไปในทางบวก รายงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ได้รับการต้อนรับให้กลับบ้านโดยไม่ได้รับอันตราย ซึ่งการรายงานข่าวเหล่านี้ไดนำเสนอข่าวเกี่ยวกับระบบยุติธรรมของรวันดา สิทธิมนุษยชน และโครงการทั้งหลายที่กำลังพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้อพยพว่าจะได้รับความปลอดภัย นอกจากนั้นยังเสนอแนวทางในการอ้างสิทธิและการคืนสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ถูกยึดครองไปกลับคืนหากกลับไป เป็นต้น

พนักงานขององค์กรเอกชน (NGO) หลายคนในโกมาขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของรวันดา หลงเชื่อไปกับข่าวโคมลอยด้วย จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมากในการนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา ดังนั้นเมื่อเดือนตุลาคม 1995 UNHCR ในโกมาได้ร่วมงานกับสถานีวิทยุอกาทาเชีย ( Agatashya) ในแซร์ที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อกระจายเสียงส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นไปของการแก้ไขปัญหาในรวันดา USCR ก็ได้จัดหาข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่องค์กรเอกชนเหล่านี้เพื่อที่ว่าบุคคลากรเหล่านั้นสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือและขจัดเรื่องร้ายและข่าวโคมลอยที่สร้างขึ้นมาให้หมดไป

สหประชาชาติได้ใช้ยุทธการหลายอย่างในการโน้มน้าวผู้ลี้ภัยให้กลับบ้าน และเพื่อที่จะกระตุ้นให้มีการอพยพ UNHCR พยายามที่จะทำให้ความเป็นอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยย่ำแย่ลง โดยปิดกั้นสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น ร้านอาหารและบาร์ เพื่อที่จะซ่อมแซมแคมป์ พร้อมทั้งยังขอร้องให้องค์กรเอกชนหยุดสร้างห้องน้ำ โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นด้วย UNHCR ยังห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยสร้างบ้านและทำธุรกิจนอกแคมป์และขัดขวางไม่ให้ได้รับงานในโกมา สกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เมือง เป็นต้น แต่ยังไม่เป็นผลมากนัก

ประธานาธิบดีคนใหม่ของรวันดา พาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu) กล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 1995 โดยกล่าวว่ารัฐบาลจะต้อนรับผู้ลี้ภัยกลับบ้าน และรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา ความพยายามทั้งหลายจะไม่ถูกปิดกั้นและเพื่อทำให้แน่ใจว่าชาวรวันดาทุกคนจะพบกับความสุข รื่นรมย์กับสิทธิของการเป็นพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน และทุกคนจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลรวันดาอย่างเสมอภาคกัน

อย่างไรก็ตามการอพยพของผู้ลี้ภัยนั้นรวันดาไม่อาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียว และเป็นที่แน่ชัดว่ารวันดานั้นต้องการความช่วยเหลือจากผู้นำในภูมิภาคเดียวกันเพื่อเร่งรัดกระบวนการอพยพผู้ลี้ภัย อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จิมมี คาร์เตอร์ ( Jimmy Carter ) ได้พบผู้นำจากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่19 พฤศจิกายน 1995 สถานที่พวกเขาได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเพื่ออพยพชาวรันดาจากแคมป์ในแซร์และแทนเซเนีย แต่หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายค้นพบก็คือการที่ทั้งชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่ เคืองแค้น เหินห่างต่อกันมานานจนไม่อาจไว้วางใจกัน เกรงว่าต่างฝ่ายต่างถูกจัดการด้วยความรุนแรงดั่งที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงการอพยพจึงไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก ทำให้ผู้นำทั้งหลายเห็นร่วมกันว่าการทำให้ผู้ลี้ภัยอพยพกลับนั้นทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันหาช่องทางให้ผู้ลี้ภัยเชื่อมั่นในความปลอดภัย และต้องนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านให้เรียบร้อยโดยไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก

ในข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลรวันดาทำให้ทุกฝ่ายแน่ใจว่าจะไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดได้รับอันตรายระหว่างที่อพยพกลับเข้าประเทศ รัฐบาลยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้คืนสิทธิในทรัพย์สินกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกยึดและถูกครอบครองไปโดยชาวตุ๊ดซี่ในรวันดาและผู้ลี้ภัยชาวรวันดาที่กลับเข้ามาในประเทศก่อนแล้ว ข้อตกลงยังให้ความสำคัญกับแผนการให้อพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากคือตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1 หมื่นคนต่อวัน

การตัดสินใจที่จะนำผู้ลี้ภัยกลับ เกิดขึ้นก่อนแผนการอพยพที่แซร์ เพียง 1 เดือน ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko ) ของแซร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1995 ว่าเขาจะเริ่มปิดแคมป์และจะบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์กลับรวันดาโดยเร็ว องค์กรเอกชน (NGO) เกรงว่าการกดดันโดยกองกำลังแซร์จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การสังหารและความวุ่นวายตามมาอีก และเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านคือด้วยการช่วยเหลือและจัดการของรัฐบาลแอฟริกันตะวันออกร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN)

ปัญหาและอุปสรรคในการอพยพผู้ลี้ภัย
ความพยายามในการอพยพได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1996 แม้รัฐบาลรวันดาจะได้รับการสนับสนุนให้อพยพผู้ลี้ภัย แต่ความคิดเห็นต่างๆก็ยังไม่ลงตัว ความคิดแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เกรงว่าจะรับมือกับสภาพปัญหาและสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเป็นที่ทราบกันว่าชาวตุ๊ดซี่หัวรุนแรงในกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ยังคงต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวฮูตูอยู่ในระยะห่างจากประเทศเพื่อชาวตุ๊ดซี่จะสร้างประเทศของชาวตุ๊ดซี่ขึ้น แต่สมาชิกที่ประนีประนอมในรัฐบาลมีความเห็นว่าผู้ลี้ภัยควรได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศ และสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าแคมป์ทั้งหลายต้องปิดตัวลงเพื่อขับไล่กองกำลังชาวฮูตูออกไป กระนั้นก็ตามหลายฝ่ายยังเกรงว่าการอพยพกลับของผู้ลี้ภัยจะนำมาซึ่งการกลับมาของกองกำลังชาวฮูตูอีกอีกครั้ง

กองกำลังชาวฮูตูยังคงขู่ขวัญอย่างต่อเนื่องและทำร้ายชาวตุ๊ดซี่และผู้สนับสนุนรัฐบาลรวันดาจากกองทัพของตนภายในแคมป์ผู้ลี้ภัย โดยเชื่อว่าชาวฮูจะสามารถกลับเข้ามาในประเทศได้จากการโค่นล้มรัฐบาลชาวตุ๊ดซี่ และกลับเข้ามามีอำนาจเพื่อกำจัดชาวตุ๊ดซี่ออกไปอีก จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าพันเอก เธโอเนสเต้ บากาซอรา (Theoneste BaGasora ) นายทหารของรัฐบาลรวันดาที่ถูกขับไล่ออกไปอ้างว่ากลุ่มคนของเขาวางแผนจะเข้าร่วมสงครามกับชาวฮูตูด้วย ซึ่งสงครามคงจะยืดเยื้อยาวนานและอาจเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนกว่าชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่จะหมดสิ้นและถูกขับไล่ออกจากประเทศรวันดา

อย่างไรก็ตามทัศนคตินี้เพียงแต่สะท้อนความเห็นของประชาชนและผู้นำชาวฮูตูบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ว่าผู้นำชาวฮูตูหรือพลเมืองคนอื่นจะเห็นเช่นนี้ด้วยเพราะคนอื่นๆยังเชื่อว่าชาวฮูตูคงจะพ่ายแพ้ในการรบครั้งอื่นๆ และหลายคนต้องการกลับมาอย่างสงบเพื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสนับสนุนรัฐบาลที่แบ่งปันอำนาจกันซึ่งเป็นรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็คือชาวฮูตูเป็นผู้ปกครอง

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ยังคงมีอยู่ก็คือความหวาดกลัวของผู้ลี้ภัยที่จะกลับเข้าประเทศ เพื่อที่ทำให้แน่ใจและปกป้องผู้ลี้ภัย ระหว่างการอพยพ จิมมี คาร์เตอร์ และผู้นำแอฟริกันอีกสี่คน จากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดา ได้เรียกร้องให้กองกำลัง UNAMIRII ยังคงอยู่ในรวันดาต่อไป และสหประชาชาติยังให้องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกว่า 100 องค์กรเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะได้แน่ใจว่ามีความสงบสุขเกิดขึ้นในหมู่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ จริงๆนอกจากนั้นองค์กรเหล่านี้ยังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรวันดาในปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ประเทศและองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ก็ได้ส่งองค์กรสิทธิมนุษยชนมาตรวจสอบรวันดาเช่นเดียวกัน

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยผู้ที่กลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัย เห็นว่าผู้ลี้ภัยทั้งหมดควรอพยพกลับเข้ามา หลังจากนั้นจึงมีเรื่องเล่าหลายอย่างเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยซึ่งกลับมาโดยไม่ได้รับอันตราย และได้รับการต้อนรับจากชุมชนทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นอย่างดี แต่การอพยพกลับประเทศได้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานใหม่ และเพื่อที่จะทำให้ปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการอพยพบรรเทาลง USCR แนะนำว่ารัฐบาลรวันดาควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวรวันดาใหม่เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองอื่นๆที่กำลังกลับเข้าประเทศไปพร้อมๆกัน

ผู้ลี้ภัยชาวรวันดานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแซร์
การปรากฏขึ้นของผู้ลี้ภัยชาวรวันดาจำนวนมากได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแซร์โดยเฉพาะเมืองโกมา ในขณะที่ผู้ลี้ภัยบางส่วนปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแซร์ พวกเขาก็ยังได้แย่งงานและที่ดินซึ่งชาวแซร์อ้างว่าเป็นของพลเมืองในประเทศ ส่วนในโกมานั้นผู้ลี้ภัยลอบตัดไม้เป็นเชื้อเพลิงและสร้างบ้าน นอกจากนั้นภายในแคมป์ขาดแคลนระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล ที่ ดินและน้ำในพื้นที่นั้นก็เริ่มจะเน่าเสีย การปรากฏตัวของผู้ลี้ภัยยังนำไปสู่ภาวะประชาชนล้นหลาม องค์กรช่วยเหลือจึงได้ก่อตั้งแคมป์อีก 4 แคมป์ ห่างจากตัวเมือง 10 -14 ไมล์

ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์ผู้ลี้ภัยก็ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในบางกรณีแก่เจ้าหน้าที่และทหารของแซร์ ผู้ซึ่งได้เงินจากการที่มีผู้ลี้ภัยและมีองค์กรช่วยเหลือในประเทศ รวมทั้งการเรียกรับสินบน บางครั้งเจ้าหน้าที่ของแซร์ ได้ยึดรถยนต์ขององค์กรเอกชนอยู่เนืองๆโดยเหตุผลเพียงเล็กน้อยหรือบางครั้งก็ไม่มีเหตุผล หลังจากที่สินบนได้จ่ายไปแล้ว เจ้าหน้าที่สนามบินแซร์ก็ยังเรียกเก็บภาษีจากการที่เครื่องบินที่เข้าออกเพื่อขนยารักษาโรคและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหลาย

ผู้ลี้ภัยรวันดา กับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในแซร์
การลุกฮือของแซร์เมื่อปี 1996 เกิดขึ้นจากปัญหาทางด้านชาติพันธุ์ในทางตะวันออกของแซร์ ชาวบานยามูเลงจี ( Banyamulenge ) เป็นชาวแซร์ชาติพันธุ์ ตุ๊ดซี่ซึ่งอาศัยในดินแดนแถบนั้นมาเกือบสองร้อยปี คนเหล่านี้หลายคนที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนเผ่าอื่นทางตะวันออกของแซร์ เมื่อกลางปี 1996 ผู้นำชาวแซร์และสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาศัยความไม่พอใจนี้เพื่อที่จะเป็นเหตุให้ก่อความรุนแรงต่อชาวบานยามูเลงจี ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 1996 เจ้าหน้าที่ชาวแซร์ได้ออกคำสั่งขับไล่ให้ชาวบานยามูเลงจีจำนวน 4 แสนคนออกไปจากพื้นที่นั้น

กองทหารรวันดา กังวลเกี่ยวกับชาวฮูตูหัวรุนแรงสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่ได้ระดมพลติดอาวุธ และฝึกซ้อมอย่างลับๆ กองทหารรวันดาจึงได้ส่งกองกำลังข้ามดินแดนเข้าไปในแคมป์ผู้ลี้ภัยในแซร์เพื่อที่จะขับไล่เคลื่อนย้ายสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูออกไป ความขัดแย้งครั้งนี้อีกครั้งที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติของยึดอำนาจในแซร์

เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งเน้นย้ำถึงผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ในแอฟริกากลาง ด้วยการที่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่อาศัยอยู่ในเบอรันดี แซร์ แทนเซเนีย และอูกันดา อย่างหลากหลายการต่อสู้ในพื้นที่หนึ่งมีผลกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งแม้อยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งก็ยิ่งเป็นเชื้อให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ขยายผลยาวนานขึ้นไปอีก

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในแซร์เริ่มย่ำแย่มากขึ้น เมื่อลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) ของแซร์เริ่มก่อกบฏขึ้นในเดือนตุลาคม 1996 โดยมีจุดมุ่งหมายเริ่มต้นเพื่อกำจัดผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์ ให้หมดไป คาลิบาได้ก่อตั้งกองทัพขึ้นมา ที่เรียกว่า “พันธมิตรกองกำลังประชาธิปไตยเพื่ออิสรภาพแห่งคองโก-แซร์” (The Alliance of Democratic Forces for the Liberation of Congo-Zaire) ซึ่งเป็นศูนย์รวมชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่ไว้จำนวนมาก รัฐบาลรวันดาปฏิเสธการเกี่ยวข้องใดๆต่อการกระทำของกลุ่มดังกล่าว แต่ต่อมาปรากฏว่ากองกำลังชาวแซร์ได้รับการสนับสนุนทางทหารและเสบียงจากรวันดา เพราะหลังจากการเกิดกบฏเพียง 9 เดือน รองประธานาธิบดีรวันดาและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พอล คากาเม ( Paul Kagame ) ยอมรับว่ารัฐบาลรวันดาได้วางแผนและมุ่งก่อให้เกิดการกบฏในแซร์ โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของปัญหาผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วการก่อกบฏ ของลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) นี้ได้ขยายตัวเติบโตขึ้นจนกลายเป็นกบฏเพื่อชาติ ต้องการจะโค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko ) ตามมา

ลอว์เรน คาลิบา (Laurent Kabila ) ต้องการขับไล่ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาออกจากแซร์ เพระเชื่อว่ากองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาวุธจากรัฐบาลแซร์ เพื่อช่วยประธานาธิบดีโมบูทู (Mobutu) ให้คงอำนาจต่อไป นอกจากนั้นกองกำลังก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำร้ายชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่อีกด้วย ความขัดแย้งขยายตัวกลายเป็นการสู้รบกันระหว่างผู้สนับสนุนลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) กับผู้สนับสนุนโมบูทู (Mobutu) ซึ่งรวมถึงกองกำลังชาวฮูตูด้วย คาบิลา กล่าวว่าหากผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไม่ออกไปจากแซร์ เขาจะใช้กองกำลังบังคับให้ออกไป

เมื่อเดือนตุลาคม 1996 กองกำลังคาบิลาโดยการช่วยเหลือจากประชนในหมู่บ้านของแซร์ซึ่งต้องการกำจัดผู้ลี้ภัยได้โจมตีแคมป์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแซร์ ระหว่างที่มีการโจมตี มีผู้ลี้ภัยชาวฮูตูไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนได้หลบหนีไปอยู่ในป่าของแซร์และเทือกเขาเพราะไม่ต้องการถูกส่งตัวกลับประเทศ กองกำลังของคาบิลาตามผู้ลี้ภัยเข้าไปทั้งในป่าและเทือกเขา และได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไปหลายพันคน ประชาชนเกือบ 1 แสนคนสูญหายไปอย่างไร้ร่องลอยไม่สามารถมีใครตอบได้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน คาบิลาสั่งให้หยุดยิงและยอมให้ผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ แต่ขณะที่ผู้ลี้ภัยเริ่มจะอพยพกลับกองกำลังของคาบิลาได้ยกขบวนไปที่ แคมป์มูกันกา (Mugunga) ที่โกมา (Goma) เพื่อสังหารสมาชิกกองกำลังชาวฮูตู การกระทำดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความโกลาหลและเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาของผู้ลี้ภัยในรวันดาอย่างมหาศาล โดยเมื่อ 17 พฤศจิกายน ชาวรวันดาเกือบ 2 แสน 5 หมื่นคนอพยพกลับเข้ารวันดาโดยใช้เวลาเพียง 4 วัน นับเป็นการอพยพที่มีผู้อพยพมากที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด ผู้ลี้ภัยบางคนถูกกองกำลังของแซร์ใช้ปืนจ่อหัวบังคับให้กลับบ้าน แต่บางคนก็มีความสุขดีที่ได้กลับบ้านเพื่อจะได้พ้นจากเงื้อมมือของกองกำลังชาวฮูตู ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน

อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ลี้ภัยก็กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้แซร์เปลี่ยนผู้ปกครองเพราะหลังจากนั้น ในที่สุดลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) ก็โค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู (Mobutu) ได้สำเร็จและตั้งชื่อแซร์ใหม่เป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก” (Democratic Republic of the Congo, DRC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 1997

ประธานาธิบดีพาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาที่ชายแดนรวันดาและกล่าวประกาศผ่านทางโทรโข่งขนาดใหญ่ต้อนรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการปิดแคมป์และการกลับมาของผู้ลี้ภัย นั่นหมายถึงกองกำลังชาวฮูตูจะไม่สามารถใช้แคมป์เป็นฐานที่มั่นเพื่อที่จะเตรียมการสู้รบกับรัฐบาลอีกต่อไป หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมาผู้ลี้ภัยอีกจำนวน 5 แสนคนจากแทนเซเนียได้เดินทางกลับเข้ามาในรวันดา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกบังคับโดยรัฐบาลแทนเซเนียเช่นกัน จนเมื่อถึงต้นปี 1997 ผู้ลี้ภัยจำนวน 1ล้าน 3 แสนคนได้กลับเข้าประเทศรวันดา

ความรุนแรงที่มากขึ้น
แม้ว่ารัฐบาลรวันดาจะเชื่อว่าการกลับมาจำนวนมากของผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนจากแซร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) และแทนเซเนีย จะช่วยให้ประเทศกลับฟื้นคืนได้ แต่ความรุนแรงในรวันดาก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่การปะทะเกิดขึ้นระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นระยะ การต่อสู้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) กับ กองกำลังชาวฮูตู ที่เหลืออยู่ ซึ่งก็ยังคงมีกองกำลังในทางเหนือของรวันดา พลเมืองหลายพันคนติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบ คาดกันว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปี 1997 พลเรือนมากกว่า 2 พัน 3 ร้อยคนทั้งบุรุษ สตรีและเด็ก ถูกสังหารในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา และเมื่อเดือนกันยายน ปี 1997 พลเมืองมากกว่า 6 พันคนถูกสังหารจากการใช้ความรุนแรง

กบฏชาวฮูตูมักจะโจมตีและฆ่ากองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) พลเมืองชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูที่พวกเขากลัวว่าจะให้เห็นใจรัฐบาลรวันดา ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม 1997 กองกำลังชาวฮูตูได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ 3 ร้อยคนในแคมป์มูเดนดี (Mudende) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา การโจมตีส่วนใหญ่ไม่มีมูลเหตุจูงใจทางการทหาร แต่เป็นการกระทำอันเนื่องมาจากความเคียดแค้นต่อเนื่องจากการใช้ความรุนแรงเมื่อปี 1994 ที่มีสาเหตุจากชาติพันธุ์ ส่งผลให้กบฏชาวฮูตูและกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) ยังพยายามที่จะสร้างความขัดแย้งกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดมา

นอกจากนั้นกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) เองยังไม่ลดละเรื่องความรุนแรง เพราะได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์และยังก่อความรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ทั้งได้สังหารประชาชนชาวฮูตูจำนวนมาก ตลอดปี 1997 ทั้งได้ลักพาตัว ทรมาน และ สังหารพลเมืองที่ไม่มีอาวุธหลายพันคนในปี 1998 ซึ่งจากข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมสากล พบว่าพลเมืองถูกสังหารโดยกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) เมื่อปี 1997 จำนวนมากกว่าจำนวนที่ถูกฆ่าโดยกบฏชาวฮูตู ซึ่งความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการลาดตระเวนตรวจสอบความปลอดภัยของกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) ส่วนในช่วงเวลาอื่นการสังหารได้กระทำลงเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ก็มาจากความแค้น การทำร้าย การสังหาร หลายครั้งที่ถูกปกปิดไม่ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งถูกปิดบังซ่อนเร้นโดยกองกำลังของรัฐบาล.....

 

 

หมายเหตุ: บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart . Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
รวันดา: สภาพปัญหาและความขัดแย้ง (1)
รวันดา: อำนาจทางการเมืองกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม (2)
รวันดา รากเหง้าของความขัดแย้ง: บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย (3)
รวันดา: ภายใต้อาณานิคม : บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย (4)
รวันดา: ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของสองชาติพันธุ์ (5)
รวันดา: ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การแสวงหาอำนาจทางการเมือง (6)
รวันดา : บนความเพิกเฉยของสหประชาชาติ (7)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images