Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

มองจำนำข้าวด้วยสามัญสำนึกชาวนา

$
0
0
 
การอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในประเด็นจำนำข้าวโดยฝ่ายค้าน และวิวาทะของนักวิชาการอาวุโส อาจารย์นิธิ vs อาจารย์อัมมาร/นิพนธ์” เรื่องโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังร้อนแรง มีหลายประเด็นที่อยากจะลองคิดต่อด้วยท่าทีที่ไม่ได้คิดว่าจะมีสติปัญญาร่วมวิวาทะกับผู้หลักผู้ใหญ่
 
เหตุที่เลือกมองจำนำข้าวด้วยสามัญสำนึกแบบชาวนาเพราะเห็นว่า การมองโครงการรับจำนำข้าวว่าดี-เลว ชอบ-ไม่ชอบ มักขึ้นอยู่กับทัศนะ ท่าที และจุดยืนบางอย่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะในจุดยืนที่ว่า พี่น้องถูกกดถูกรีดด้วยรูปแบบสารพัดมายาวนาน เมื่อมีนโยบายที่ลืมตาอ้าปากบ้างก็ต้องชื่นชอบ
 
ที่สำคัญคือ การพูดจากแง่มุมชาวนาก็อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบด้านความมีเหตุมีผลมากนัก เพราะชาวนามักจะถูกดูถูกอยู่แล้วว่าเป็นพวกโง่งก เหยื่อประชานิยม เป็นผู้คนที่มักถูกมองว่าใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก ไม่มองการณ์ไกลเหมือนคนชั้นกลาง
 
 
ข้อถกเถียงเรื่องชาวนายากจน vs ปานกลาง-รวย
 
การมองว่าการอุดหนุนควรให้คนเล็กๆ ได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกหรือในสัดส่วนที่มากมากกว่า หรือคนรวยไม่ควรได้รับการอุดหนุนเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ข้อถกเถียงในประเด็นว่า ชาวนารายเล็กได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่น้อยกว่าชาวนาปานกลางและชาวนารวย หรือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงกับมีข้อสรุปทำนองว่าชาวนารายเล็กไม่ได้ประโยชน์ การพิจารณาประเด็นนี้ต้องแยกแยะเพราะบางส่วนจริง เช่น คนที่ทำนาไว้กินหรือสีข้าวขายเอง แต่ก็มีข้อควรพิจารณาอื่น
 
นิยามชาวนาขนาดเล็กที่ใช้กันอยู่คือ ขายข้าวได้ไม่เกิน 200,000 บาท ในจำนวนราว 14 เกวียนหรือตัน มีข้อน่าสังเกตคือ ชาวนารายเล็กที่เก็บข้าวไว้กินไม่ได้ประโยชน์จากการรับจำนำแน่ๆ แต่การเก็บข้าวไว้กินในหนึ่งปีเพียงเกวียนเดียวเพื่อสีข้าวสารในครอบครัวก็กินแทบไม่หมดแล้ว
 
ส่วนพี่น้องชาวนาแถบภาคกลางหรือในเขตชลประทานได้รับการส่งเสริมให้ปลูกข้าว กข.มายาวนานแล้ว พวกเขาจึงปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ เพราะสีข้าวสารกินไม่ได้สักเม็ดหนึ่ง เป็นข้าวคุณภาพต่ำเข็นส่งโรงทำแป้งอย่างเดียว ปลูกข้าวเท่าไรก็เข็นเข้าขายให้แก่โรงสีทั้งหมด
 
จึงเชื่อได้ว่า คนปลูกข้าวไว้กินจะเหลือน้อยมากในภาคกลาง และอาจจะมีมากในภาคเหนือ ใต้ ที่มีพื้นที่เล็กๆ รวมทั้งในภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปีก็สามารถเก็บไว้บริโภคเองแน่ๆ แต่ปริมาณชาวนาและจำนวนข้าวเปลือกโดยรวมที่ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวเพราะเป็นการปลูกข้าวไว้กินจึงไม่น่าจะมากมายนัก
 
อีกประการหนึ่งสำหรับคนปลูกข้าวไว้กินนั้นหากมองการอุดหนุนนับชาวนาในฐานะ “อาชีพ” ที่ควรได้รับการอุดหนุน ก็น่าพิจารณาเหมือนกันการทำนาไว้กินในครัวเรือนจะนับเป็นอาชีพที่ควรจะเข้าไปดูแลอุดหนุนหรือไม่
 
สิ่งที่พบเห็นบ่อยๆ คือ คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้สนใจที่อยากจะเข้าสู่การรับเงินอุดหนุนในช่วงประกันรายได้มากนัก เพราะไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปตั้งแต่ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียน เข้าร่วมจัดประชาคม ไปติดต่อ ธกส.เพื่อเบิกเงิน ฯลฯ ได้ส่วนต่างแค่ราวๆ เกวียนละ 1,000 กว่าบาท และยังไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่เนื่องจากราคาข้าวอาจจะสูงใกล้ 12,000 บาท โดยรัฐบาลไปต้องจ่ายเงินส่วนต่าง
 
ส่วนประเด็นชาวนาปานกลาง-รวย ที่นิยามว่า ชาวนาที่รายได้มากกว่า 2 แสนบาท ขายข้าวเปลือกได้ 14 เกวียน/ตัน ไม่เรียกชาวนารายเล็ก เรื่องนี้ทำให้นึกถึงพี่น้องในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงที่มีพื้นที่ทำนากันราว 20 ไร่ต่อครัวเรือน และทำนาได้ข้าวเปลือกไร่ละ 100 ถังหรือหนึ่งตันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวนาภาคกลางที่ทำนาตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไปก็กลายเป็นกลุ่มชาวนาปานกลาง-รวยไปหมดแล้ว
 
แต่พี่น้องที่กล่าวมานี้คงจะไม่นับตนเองว่าอยู่ในกลุ่มชาวนาที่พอมีฐานะ และที่ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือ ในครัวเรือนที่ทำนา 20 ไร่ หรืออาจจะเป็น 30-40 ไร่ ก็แล้วแต่ การทำนาแปลงใหญ่ๆ ที่เห็นและนับจากใบประทวน/ใบเสร็จรับเงินจะเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะรายได้ดังกล่าวอาจจะเป็นรายได้ของครอบครัวใหญ่ และก็สามารถพบได้โดยทั่วไปเนื่องจากการทำนาเดี๋ยวนี้สามารถบริหารจัดการด้วยจำนวนคนไม่มาก
 
ที่ดินจำนวน 20 ไร่ หรือแม้แต่ 30-40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของครัวเรือนจนถึงคนรุ่นนี้แล้วหากแบ่งกันตามเจ้าของซึ่งเป็นสมาชิกในครัวเรือนอาจจะเหลือคนละไม่กี่ไร่ รายได้จากการขายข้าวก็ต้องนำมาเฉลี่ยกัน ลุงผมซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ที่ดินคลองโยงฯ มายาวนานมาก ตอนนี้อายุ 92 ปีแล้ว มีลูก 12 คน นี่ไม่ต้องนับหลาน เหลน โหลน แบ่งนา 20 ไร่ที่ได้รับมอบจากสหกรณ์เมื่อปี 2519 จะเหลือกันคนละกี่ตารางวา
 
ยังมีเพื่อนๆ ที่ไล่ล่าหาเช่าที่ดินจากนายทุนซึ่งซื้อเก็บเอาไว้ เขายอมจ่ายค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,500 บาทต่อรอบ ดังนั้น การมีนาเช่า 40-50 ไร่ก็ใช่ว่าเขาจะสามารถลืมตาอ้าปากได้แบบรุ่งโรจน์ โดยไม่สมควรจะต้องได้รับการอุดหนุน ผมไม่มีตัวเลขภาพรวมที่จะโต้แย้งว่าคนสองสามกลุ่มเหล่านี้ว่ามีจำนวนเท่าไร เพียงแต่เห็นว่าการนิยามน่าจะมีปัญหาและควรจะตรวจสอบกันอีกมาก
 
 
ข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพข้าว
 
แน่นอนว่า การอุดหนุนรายได้แก่ผู้ปลูกข้าวจะทำให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วที่สุด ชาวนาที่เคยปลูกข้าวนาปีจะแห่กันมาปลูกข้านาปรังเพราะข้าวพันธุ์ห่าเหวอะไรก็จำนำได้ 15,000 บาทเหมือนกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าชาวนาในเขตชลประทานแห่มาปลูกข้าว กข.และซื้อข้าวกินกันมานานแล้ว
 
โรงสีชุมชนตั้งแต่สมัยโครงการลงทุนเพื่อสังคม (SIF) โครงการที่อาจมีชื่อแตกต่างไปในจุดประสงค์เดียวกัน ที่มุ่งให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพดีและสีกินสีขายส่วนใหญ่จึงล้มเหลวและกลายเป็นอนุสาวรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคกลาง โรงสีบางแห่งสีข้าวบ้างแต่เป็นการสีข้าวเปลือกคุณภาพต่ำเพื่อเอาไปหุงให้หมากิน
 
อย่างไรก็ดี นโยบายจำนำได้เปิดรับข้าวคุณภาพต่ำลงไปอีก กล่าวคือ ช่วงนโยบายประกันราคาเคยกำหนดว่าไม่รับข้าวคุณภาพต่ำที่ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 100 วัน แต่นโยบายจำนำข้าวไม่ได้จำกัดเอาไว้ชาวนาจึงแห่กันหาข้าวอายุ 90 วันหรือน้อยกว่า จนกระทั่งพันธุ์ข้าวเช่นนี้ขาดท้องตลาด ไม่พอความต้องการของชาวนา
 
ความกังวลเรื่องผลจากนโยบายจำนำที่จะนำไปสู่คุณภาพข้าวที่ต่ำ อาจจะเป็นจริงอีกในพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวนาปี ดังเช่นในภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะข้าวหอมมะลิเป็นข้าวนาปีที่ต้องใช้เวลาปลูกราว 6 เดือน แต่การปรับระบบการผลิตจากข้าวนาปีมาเป็นข้าวนาปรังก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะหากมีข้อจำกัดเรื่องระบบชลประทานก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น
 
ส่วนข้าวนาปรังที่มีคุณภาพดีในระดับที่บริโภคได้ เช่น พันธุ์ปทุมธานีหรือหอมปทุม (อายุการผลิตราว 4 เดือนหรือ 120 วัน) รวมทั้งข้าวพันธ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์ดีที่มีการพัฒนาใหม่ (เช่น ข้าวนิล สินเหล็ก ปิ่นเกษตร ไรซ์เบอร์รี (Rice Berry) ฯลฯ) ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่ปลูกอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบใด จะมีก็แต่โรงสีชุมชนเล็กๆ หรือกิจการวิสาหกิจชุมชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่น่าจะมากนัก
 
การผลิตดังกล่าวนี้ได้รับประโยชน์จากการประกันราคามากกว่าจำนำแน่ๆ เพราะแม้จะสีข้าวขายสีกินเองก็ได้รับส่วนต่างจากการอุดหนุนอยู่ดี แต่กรณีการรับจำนำจะไม่ได้ประโยชน์หากไม่นำข้าวไปขาย ในช่วงโครงการรับจำนำจึงทำให้โรงสีเหล่านี้อยู่ในสภาพแทบจะร้างไปเหมือนกัน
 
นี่อาจจะต้องเป็นสิ่งที่โครงการรับจำนำข้าวควรพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบาย เช่น ใช้นโยบายการประกันราคาสำหรับพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวไว้กินหรือสีขายในลักษณะโรงสีชุมชน เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ข้าวที่สีขายมีส่วนต่างระหว่างการขายข้าวเปลือกกับสีเป็นข้าวสารขายไม่มากนัก เพราะโรงสีขนาดเล็กมีประสิทธิภาพต่ำ มีต้นทุนต่อหน่วยสูงอยู่แล้ว
 
ตัวอย่างเช่น หากปลูกข้าวหอมปทุมซึ่งรัฐบาลรับจำนำราคาตันละ 16,000 บาท ถ้าสีเป็นข้าวกล้อง (โดยประมาณข้าวเปลือกหนึ่งตันได้ข้าวสารราว 500 ก.ก.) และขายที่ราคา ก.ก.ละ 32 บาท ราคาก็จะเท่ากับขายข้าวเปลือกโดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายใดๆ เลย แต่หากขาย 40 บาทซึ่งคนกินก็ร้องว่าแพงแล้ว ก็อาจจะไม่ได้กำไรเลย
 
เพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการสี (โรงสีชุมชนส่วนใหญ่รับสีโดยหักเอาข้าวสารไว้ 12% หรือราว 480 บาท) ค่าบรรจุภัณฑ์อีก รวมทั้งค่าขนส่งไปยังผู้บริโภคซึ่งมักมีต้นทุนแพงเนื่องจากทำในขนาดการผลิตที่น้อย รายได้กลับมาก็มีลักษณะเบี้ยหัวแตก สุดท้ายแล้วถ้าเป็นชาวนาที่สมเหตุสมผลเขาจะไม่ทำธุรกิจเช่นนี้ เพราะเข็นข้าวเข้าโรงสีคุ้มกว่า ง่ายกว่า จะมีที่ยังทำอยู่ก็แต่พวกชาวนาดัดจริตหรือกรณีที่มีการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เท่านั้น
 
กล่าวโดยสรุป นโยบายประกันราคาส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีอยู่บ้างเล็กน้อย เรื่องกำหนดเกณฑ์ชนิดข้าวที่ไม่ให้มีอายุสั้นจนเกินไป และทำให้การปลูกข้าวคุณภาพดีที่เป็นข้าวนาปีและข้าวพันธุ์ดีโดยเฉพาะการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ผลิตเพื่อบริโภคหรือสีขายได้ประโยชน์จากส่วนต่างเงินอุดหนุน ทำให้ต้นทุนต่ำลง
 
แต่ทิศทางหลักของนโยบายทั้งสองมุ่งส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพต่ำเหมือนกัน หากมุ่งที่จะให้เกิดการส่งเสริมข้าวคุณภาพดีสำหรับการบริโภค ข้าวอินทรีย์ ฯลฯ จึงยังต้องการความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องระบบตลาดรองรับ การสนับสนุนเชิงนโยบายอื่นๆ ที่มากไปกว่าการย้ายจากโครงการรับจำนำมาสู่การประกันราคา ดังจะพิจารณาต่อไป
 
 
ทำไมชาวนาจึงชอบจำนำข้าว
 
ถ้าคิดแบบสามัญสำนึกคำตอบง่ายนิดเดียวคือ ชาวนาที่ไหนต้องชอบการขายข้าวได้แพง ข่าวทีวีตอนเช้าเมื่อสองสามวันก่อนรายงานว่า ราคาข้าวเปลือกทั่วไปตันละ 8,500 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมะลิตันละ 13,500 บาท ราคาจำนำเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ นั่นหมายความว่า รัฐช่วยอุดหนุนชาวนาเกวียนละ 6,500 บาท
 
ในขณะที่นโยบายประกันราคาข้าวเปลือกทั่วไปกำหนดไว้เพียง 12,000 บาท ได้ซึ่งหมายความว่า ชาวนาจะได้ส่วนต่างเพียง 3,500 บาทเท่านั้น คิดง่ายๆ ว่า เมื่อรัฐบาลรับซื้อข่าวเปลือกในราคาจำนำเช่นในปัจจุบัน ทำให้ชาวนาขายข้าวได้แพงกว่าเกวียนละ 3,000 บาท เข้าใจง่ายจะตายไป
 
อาจมีข้อถกเถียงว่า ในการจำนำข้าวนั้นชาวนาได้ไม่เต็ม 15,000 บาทต่อเกวียน โดยเฉพาะการถูกตัดความชื้น คำตอบง่ายนิดเดียวอีกเหมือนกันคือ การประกันราคาก็ถูกตัดความชื้นเหมือนกัน กรณีประกันราคาที่ 12,000 บาท หากโรงสีรับซื้อที่ราคา 9,000 บาท จะได้ส่วนต่างที่รัฐบาลอุดหนุน 3,000 บาท แต่ราคา 9,000 บาท ต้องมีความชื้นปกติที่ 15% แต่การเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวมักมีความชื้นราว 30% จึงถูกหักราว 15 จุดๆ ละ 150 บาท และการรับจำนำก็ถูกหักในตรรกะเดียวกันเมื่อเป็นดังนี้เงินจึงหายไปเหมือนๆ กัน
 
นี่อาจจะต้องรวมการหักราคาเรื่องสิ่งเจือปนอีก เพราะข้าวที่เกี่ยวโดยรถเกี่ยวและเข้าโรงสีเลยมักจะมีสิ่งเจือปนสูง และไม่มีชาวนาที่ไหนดัดจริตเอาข้าวมาตากและทำความสะอาดด้วยสีฝัดหรือสีโบกเหมือนยุคโบร่ำโบราณ เพราะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มกัน (กล่าวคือ ต้องมีลานตาก ยุ้งฉางเก็บ ฯลฯ แต่กรณีเช่นนี้ยังพบในภาคอีสานและภาคเหนืออยู่พอสมควร) แต่ก็ตรรกะเดียวกันคือ ทั้งจำนำหรือประกันก็ถูกหักเหมือนกัน
 
นอกจากนี้ การประกันราคาภายใต้รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ยังคิดผลผลิตที่ไม่ค่อยเป็นจริง เช่น ในภาคกลางคิดให้เพียงราวไร่ละราว 75 ถัง ทั้งๆ ที่ชาวนามักปลูกข้าวได้ไร่ละ 100 ถัง (เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาชาวนาอินทรีย์ดัดจริตแบบผมเองขนาดเกี่ยวข้าวเขียวๆ สดๆ หนีพายุแกมีทำให้ได้ข้าวแบบไม่เต็มเต็มหน่วย แต่ยังได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละราว 80 ถัง) เมื่อรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดจะมีใครไม่ชอบบ้าง
 
เมื่อเป็นดังนี้ สำหรับกลุ่มชาวนาที่ขายข้าวจึงชอบนโยบายจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ จะมีชาวนาบ้าที่ไหนไม่ชอบการขายข้าวได้ราแพงและออกมาร้องเรียนรัฐบาลว่า นโยบายรับจำนำให้เงินอุดหนุนชาวนามากเกินไปเดี๋ยวประเทศชาติจะล่มจม เป็นการทำลายกลไกตลาด ทำลายประสิทธิภาพในการผลิตข้าว ฯลฯ (เช่นเดียวกับที่เราก็ไม่เคยเห็นเจ้าของธุรกิจรถยนต์ออกมาบอกว่า อย่าลดภาษีรถยนต์เลย เดี๋ยวจะทำให้มีคนมาซื้อรถใหม่กันมากแล้วธุรกิจของเขาจะรวยไม่หยุด)
 
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุยกับชาวนาหลายรายเขาเห็นว่าหากนโยบายการประกันราคาข้าวของประชาธิปัตย์ยกระดับราคาให้สูงเท่ากับหรือมากกว่า 15,000 บาท ก็เชื่อได้ว่าชาวนาจะแห่มาชอบด้วยสามัญสำนึกอีกเช่นกัน เพราะเขาก็รู้ว่าการรับจำนำข้าวเปิดโอกาสให้เกิดการโกงได้มากหลายทาง ใครๆ ก็เห็นได้ว่า การประกันรายได้รั่วไหลน้อยกว่าแต่ชาวนาได้น้อยกว่าถ้าเพดานยังอยู่ที่ 12,000 บาท (รวมทั้งการผลผลิตเพียง 75 ถังต่อไร่ดังกล่าว)
 
ดังนั้น หากประชาธิปัตย์และฝ่ายที่คัดค้านนโยบายจำนำข้าวจะสามารถชักจูงชาวนาให้ไม่ชอบ ก็มีเพียงสองทางเลือกคือ ด้านหนึ่งทำให้นโยบายนี้เป็นเรื่องถาวรและยกระดับการต่อสู้ด้วยเพดานการอุดหนุนให้สูงกว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์
 
หรืออีกด้านหนึ่งคือ พูดเหตุผลให้ชาวนาเห็นว่าการอุดหนุนราวเกวียนละ 6,500 บาท มันมากเกินไปและจะทำให้ชาวนารวยมากเกินไป แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา (หรือแม้แต่ในบทความของ อ.อัมมาร/นิพนธ์) ฝ่ายค้านก็ไม่กล้าที่จะหยิบยกประเด็นว่าการตั้งราคาที่ 15,000 บาทไม่สมเหตุสมผล ไม่เหมือนการประกันรายได้ที่มีการคำนวณเอาไว้อย่างดีว่าให้กำไรชาวนาพอลืมตาอ้าปากได้แล้ว
 
เราจึงเห็นแต่ประเด็นอภิปรายมุ่งไปยังปัญหาการได้ส่วนแบ่งของโรงสี ชาวนาระดับกลาง-รวย และ การทุจริตในกระบวนการการค้าข้าวของรัฐบาล และเลือกกล่าวแต่เพียงว่า หากใช้เงินมากเกินไปเราจะไม่มีใช้ในโครงการสวัสดิการ สังคมต่างๆ
 
ถึงวันนี้น่าจะเป็นเรื่องดีเมื่อนโยบายการอุดหนุนชาวนาเป็นสิ่งที่ลงรากปักฐานในสังคมแล้ว ที่เหลือจึงเป็นการถกเถียงในกรอบว่าจะช่วยอุดหนุนชาวนาเท่าไร-อย่างไร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่แข่งขันเชิงนโยบายที่จะต้องตอบคำถามกับสังคมว่าจะเอาเงินมาจากไหนและบริหารจัดการอย่างไร ถ้าจะบริหารจัดการด้วยการดัดจริตเป็นแม่ค้าข้าวเสียเองแล้วเจ๊งก็ต้องรับผิดชอบ
 
ส่วนพรรคการเมืองไหนที่คิดว่า นโยบายของตน (เช่น การประกันรายได้) สมเหตุสมผลกว่าก็ไม่ต้องอมพะนำ ว่ากันออกมาให้ชาวนาได้ฟังกันตรงๆ เลยว่าดีกว่าอย่างไร ในเมื่อชาวนาได้ประโยชน์จากรายได้ที่น้อยกว่าถึงราวเกวียนละ 3,000 บาท ถ้าอยากจะซื้อใจชาวนาหรือสร้างความนิยมก็ขอให้กล้าๆ กันหน่อย
 
 
การปรับเชิงนโยบาย
 
เราจะปรับทางเลือกเชิงนโยบายได้อย่างไร อาจมีหลายคำถาม บางคำถามเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่มีความรู้ก็ขอให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตอบ เช่น ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการข้าวค้างสต็อกและการขายข้าวที่รับซื้อราคาแพงมาเก็บไว้ ที่ผ่านมา เราไม่เห็นรัฐบาลจะตอบคำถามได้ชัดเจนว่า ขายให้ใครได้เท่าใดและที่สำคัญคือ ในราคาเท่าไรด้วย เรื่องแบบนี้ก็เดาได้ว่าถ้าขายได้มากแล้วได้กำไรรัฐบาลที่ไหนก็คงรีบเอาตัวเลขมาเปิดเผย
 
ประการแรก รัฐบาลควรเข้าไปดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจำนำ กลุ่มแรกคือ บรรดาโรงสีชุมชนทั้งหลาย โดยเฉพาะที่มุ่งผลิตข้าวอินทรีย์/ปลอดสาร หรือข้าวที่มีคุณภาพดี โรงสีชุมชนหลายแห่งที่สามารถพัฒนาตลาดเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศในระบบการค้าที่เป็นธรรม แต่กำลังจะล้มละลายเพราะชาวนาเข็นข้าวเข้าโครงการรับจำนำหมด
 
ดังกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวจังหวัดสุรินทร์ที่มีการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดในยุโรปประสบปัญหามากเพราะเมื่อช่วงก่อนนโยบายจำนำการรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากชาวบ้านได้ในราคา 20 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกในตลาดราคาเพียง ก.ก.ละ 16 บาท ช่วงนโยบายจำนำทำให้ต้องซื้อข้าวจากชาวบ้านในราคาที่สูงแต่ก็ทำได้เพียงก.ก.ละ 21.50 บาท เพราะยิ่งซื้อแพงสีข้าวไปขายก็ไม่คุ้ม ผู้บริโภคต่างประเทศก็สามารถหันไปหาตลาดที่อื่น
 
ทางออกจึงควรจะมีนโยบายที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนกลุ่มชาวนาที่รักษาหรือหันมาปลูกข้าวคุณภาพดีและเชื่อมโยงกับโรงสีชุมชนและตลาดข้าวทางเลือก กล่าวคือ อาจจะเป็นการอุดหนุนเงินส่วนต่างโดยใช้นโยบายประกันราคาแต่เพิ่มเพดานเงินให้สูงเท่ากับการรับจำนำคือ 15,000 บาท หรือถ้าแสลงหัวใจไม่อยากเรียกประกันรายได้ก็อาจเรียกเงินอุดหนุนก็ได้ เพราะจะเรียกอย่างไรก็คือเงินที่รัฐเข้าไปอุดหนุนเหมือนกัน และเป็นการอุดหนุนที่ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นแม่ค้าเอาข้าวไปหาที่ขายเองอีกด้วย
 
ยิ่งถ้าเป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ก็ยิ่งควรสนับสนุนให้มากขึ้นด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิต แต่สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ภายใต้นโยบายทั้งจำนำและประกันรายได้ ก็ปล่อยให้ธุรกิจข้าวสารเพื่อการบริโภคถูกผูกขาดโดยบริษัทค้าข้าวถุงไม่กี่แห่งเท่านั้น ไม่มีรัฐบาลไหนๆ สนใจส่งเสริมข้าวคุณภาพดีดังกล่าวนี้เหมือนกัน
 
ประการที่สอง ถ้าเห็นว่าประเด็นเรื่องการปลูกข้าวหรือเก็บข้าวไว้กินเป็นเรื่องใหญ่ก็น่าจะมีนโยบายอุดหนุนเฉพาะลงไปอีกเช่นนี้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นการผสมผสานด้านดีของนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามา ชาวนารายเล็กๆ จะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
 
ประการที่สาม รัฐบาลอาจพิจารณาจำกัดการช่วยเหลือชาวนารวยโดยมุ่งให้ชาวนารายเล็กก็ได้ แต่ต้องดูจากสภาพความเป็นจริงดังที่ได้พิจารณามาแล้ว ผู้คนคงจะเห็นร่วมกันว่า เจ้าที่ดินรายใหญ่ไม่ควรได้รับประโยชน์จากนโยบายอุดหนุน ส่วนเกณฑ์ชาวรวยจะเป็นแค้ไหน อย่างไรก็ว่ากันในรายละเอียดต่อไป
 
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1071 และฉบับที่ 1072

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนอดีต ‘ใบตองแห้ง’ สัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

$
0
0

บันทึกใบตองแห้ง

ผมสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ ในช่วงที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จรอบแรก แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็น

ต้นฉบับนี้น่าเสียดายเพราะ 1-2 ปีต่อมา เว็บไซต์ไทยโพสต์โดนแฮกเกอร์เสื้อแดง (?) ถล่ม จนพังพินาศ ข้อมูลเก่า บทสัมภาษณ์เก่าๆ ที่อยู่ในเว็บพังหมด เหลือแต่ฉบับตีพิมพ์ ซึ่งต้องไปค้นหาในห้องสมุด แต่บังเอิญผมมีเก็บไว้

ยังจำได้ว่าครั้งนั้นสัมภาษณ์ที่รามาการ์เดน ชวนไม่เลี้ยงกาแฟ แต่อภิสิทธิ์เลี้ยงอาหารจีน ฮิฮิ คุยเสร็จพนักงานเสิร์ฟยังมาขอถ่ายภาพกับหัวหน้าพรรคสุดหล่อ พูดแล้วก็เสียดาย สัมภาษณ์กันตั้งหลายครั้ง ไม่เคยถ่ายภาพคู่กับอภิสิทธิ์ไปฝากเมียซักครั้ง

ต้นฉบับที่เอามาลงให้ดูครั้งนี้ ไม่ได้แก้ไข ตัดทอน เปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งพาดหัว การตั้งหัวข้อ หรือเนื้อหาที่หยิบมาโปรย เพียงวงเล็บให้เข้าใจว่า มาตราที่พูดถึงกันตอนนั้น ปัจจุบันคือมาตราอะไร

ทบทวนปูมหลังหน่อยว่าในขณะนั้น ร่างแรกของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีมาตรา 68 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง ให้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว” มาตราดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกคัดค้านจนต้องตัดออก โดยอภิสิทธิ์ก็ไม่เห็นด้วย

ร่างแรกของรัฐธรรมนูญ ตัวมาตราไม่ตรงกับฉบับที่ผ่านประชามติ มาตรา 309 ตอนนั้นคือมาตรา 299 ซึ่งอภิสิทธิ์ก็แสดงความเห็นไว้ว่า “ไม่จำเป็นต้องมี”

บทสัมภาษณ์นี้ถ้าลบชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกไป คนอ่านอาจเข้าใจว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรายใดรายหนึ่ง เพราะไม่เห็นด้วยทั้ง ม.309 ทั้งวุฒิสรรหา การสรรหาองค์กรอิสระ แถมเสนอหลัก “ถ่วงดุล” ไม่ให้องค์กรอิสระมีอำนาจมาก ที่ใดมีอำนาจที่นั่นย่อมมีการแทรกแซง (ซึ่งผมยืมขี้ปากมาพูดบ่อยๆ)

เปล่า-ผมไม่ได้ยกมาบลัฟฟ์อภิสิทธิ์ หรือยกมาด่าว่าโกหก พลิกลิ้น ตลบแตลง ฯลฯ

ในฐานะคนที่นั่งคุยกันต่อหน้า ถามว่าอภิสิทธิ์พูดด้วยความจริงใจไหม ผมว่ามีความจริงใจเยอะทีเดียว อภิสิทธิ์มีความเป็นนักประชาธิปไตยอยู่ในตัวมาตั้งแต่ต้น แต่นั่นไม่ใช่อภิสิทธิ์ที่เป็นนายกฯ ใน 2 ปีต่อมา ซึ่งไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ในวัฒนธรรมประชาธิปัตย์ที่ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะทางการเมือง

การยกบทสัมภาษณ์นี้ขึ้นมาทบทวน ไม่ใช่แค่การ “ตอกหน้า” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนกรานไม่แก้ไม่แตะ แต่ลึกลงไปคือบทเรียนน่าเศร้า ของนักการเมืองที่ “เล่นการเมือง” แล้วไม่สามารถยืนหยัดความคิดเห็นของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไม่เข้าใจเลยว่าอภิสิทธิ์เอาคดีความที่ตัวเองต้องข้อหา มาปลุกล้มประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไง คนละเรื่องกันเลย

0 0 0 0 0

รัฐธรรมนูญแห่งความ 'หวาดระแวง'

ไทยโพสต์แทบลอยด์ 29 เมษายน 2550

 

“คิดการเมืองแบบ 20 ปีที่แล้วไม่ได้ 
ในสูตรที่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือคนอื่น
มันหมดยุคไปแล้ว และมันอันตราย
เพราะประชาชนจะไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ
การหยั่งรากของประชาธิปไตยลงไปมันหยั่งลงไปในใจคนพอสมควร
ถึงแม้เขาอาจจะไม่สามารถออกมาพูดว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตย
แต่มันเป็นสิ่งที่หยั่งรากเข้าไปแล้ว"

 

ความไม่ไว้ใจ ความหวาดระแวง ในตัวนักการเมือง เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขาดการมีส่วนร่วมของภาคนี้ แต่ถึงใครจะมองว่านักการเมืองคือพวกฉวยโอกาส ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่อาจขาดส่วนนี้ไปได้ แม้ไม่ให้มีส่วนร่วม แต่การแสดงความคิดเห็นคงห้ามกันไม่ได้

หากวางหมวก 'หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์' ลงแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คือนักการเมืองคนหนึ่งภายใต้ระบอบการปกครองที่ต้อง 'เชื่อใจประชาชน'

เส้นแบ่งความเป็นประชาธิปไตย

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มองในภาพใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ปัญหาพื้นฐานของการร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือการเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

"ทุกครั้งพอเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารมันจะมีความหวาดระแวงนักการเมือง พรรคการเมือง อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นว่า ส.ส.ร.เขาไม่ให้คนที่มีความเกี่ยวข้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองย้อนหลังไป 2 ปี เข้ามามีส่วนร่วมเลย ก็ไม่เป็นไร ถ้าดูว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไม่ว่ากัน แต่จะเห็นว่าแม้แต่ขั้นตอนที่ไปขอความเห็น 12 องค์กร ก็ไม่มีพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นมันอาจจะขาดมุมมองของนักปฏิบัติไปบ้าง อันตรายกว่านั้นก็คือ ไม่มีส่วนร่วมไม่เท่าไหร่ พอเริ่มมองพรรคการเมือง นักการเมือง ในสายตาของความหวาดระแวงหรือเป็นกลุ่มคนที่ไม่ดี หลักคิดหลายอย่างก็เลยขยายไปถึงว่า เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรไม่ให้นักการเมือง พรรคการเมืองมีอำนาจ พอไปถึงตรงนั้นปั๊บ เส้นแบ่งที่บอกว่าตรงไหนเป็นประชาธิปไตยไม่เป็นประชาธิปไตยมันเริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะถ้าคุณเชื่อประชาธิปไตยคุณก็ยังต้องกลับไปเชื่อประชาชน เชื่อการเลือกตั้ง เชื่อนักการเมืองที่เข้ามาจากการเลือกตั้ง นี่คือปัญหาที่ผมเห็นข้อแรก"

ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ การทำงานที่ผ่านมาแม้มีการกำหนดกรอบกว้างๆ แต่ยังไม่เคยมีการสรุปเจตนารมณ์ภาพรวมว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อะไรคือหลักที่ชัดเจน

"ต้องมาถกกันให้ได้ก่อนว่ามันจะต่างจากเป้าหมายปี 2540 ไหม เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง รัฐบาลควรจะเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งไหม หรือปัญหาองค์กรอิสระ เราไม่ค่อยได้ยินการมากำหนดจุดร่วมตรงนี้ เราได้ยินว่ามีกรอบ กรอบเริ่มต้นมาก็ไปตั้ง 30 กว่าประเด็น ซึ่งผมคิดว่าเราไม่สามารถทำกฎหมายสูงสุดโดยการได้คำตอบข้อย่อยแล้วเอามารวมกันได้ เราต้องตอบโจทย์ข้อใหญ่ก่อน และโจทย์ข้อใหญ่บางข้อเรายังไม่มีคำตอบเลย เช่น ปัญหาเงินในระบบการเมือง การซื้อเสียง การทุจริตคอรัปชั่น การที่นักการเมืองมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การที่เงินในการเมืองยังเป็นตัวหล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์ เราไม่ได้ยินการเผชิญกับปัญหาพวกนี้ว่าทุกฉบับที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ฉบับนี้จะมีอะไร บางปัญหาเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในยุคทักษิณก็ต้องมีการมาตีโจทย์ให้ชัดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งผมคิดว่าเขาก็ไม่ค่อยแยกแยะ"

"สำหรับผมปัญหายุคทักษิณไม่ใช่เพราะว่าไทยรักไทยใหญ่มาก ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ไม่มีขอบเขต ไม่ได้เข้าไปทำนโยบายอย่างเดียวแล้ว รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ กับกลไกของสังคม ซึ่งเกินเลยสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยควรจะทำ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เช่น ทำไมองค์กรอิสระไม่ทำงาน ระบบราชการเป็นง่อย ทำไมสื่อสารมวลชนถูกปิดปาก มันไม่ได้มีการตั้งโจทย์เหล่านี้ แต่มันกลับกลายเป็นหวาดระแวงนักการเมืองส่วนหนึ่ง กังวลว่าประชาชนจะดูแลตัวเองไม่ได้ส่วนหนึ่ง และก็ไปคิดว่าทักษิณ ทุกอย่างเลวหมด เพราะฉะนั้นอะไรที่เคยเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณก็ทำให้มันเหมือนซะ ทำนองนี้ ผมคิดว่านี่คือปัญหาเชิงภาพใหญ่ในกรอบความคิด"

ที่สำคัญเขามองว่าตัวกระบวนการเองก็ถูกปฏิเสธโดยนักประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง และกลุ่มอำนาจเก่าส่วนหนึ่งเป็นทุนอยู่แล้ว

"นักประชาธิปไตยที่เขามีความเชื่อว่ายังไงเขาไม่มีวันยอมรับผลผลิตจากการรัฐประหาร เขาก็ไม่ยอมรับอยู่แล้ว กลุ่มอำาจเก่าเขาก็ต้องหาทุกช่องทางอยู่แล้วในการที่จะคัดค้านสร้างเงื่อนไขกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นอันนี้มันคือปัญหาหลักๆ ของกระบวนการ"

ประชามติ-ความชอบธรรมที่กลายเป็นปัญหา

การลงประชามติคือประเด็นที่กำลังคาดการณ์กันว่าอาจจะเดินไปถึงจุดนั้น

"สิ่งเดียวที่เขาเคยคิดว่ามันจะสร้างความชอบธรรมให้ก็คือประชามติ แต่มันก็กลายเป็นกระบวนการซึ่งวันนี้ย้อนกลับมาเป็นปัญหากับตัวเขา เนื่องจากการบริหารการเมืองไม่สามารถทำให้มันอยู่ในภาวะที่คนเกิดความมั่นใจได้ เวทีประชามติจะกลายเป็นเวทีประลองกำลังของคนกลุ่มต่างๆ และรวมไปถึงประเด็นที่สอดแทรกเข้ามา เช่น เรื่องศาสนา เรื่องอะไรต่างๆ มันเป็นตัวแปร ขณะเดียวกันกติกาของการประชามติครั้งนี้ถึงวันนี้ผมก็ยังว่าอยู่ในจุดเดิม คือมันยังไม่ใช่ประชามติที่มีความหมาย เพราะประชาชนไม่ได้รู้ทางเลือกที่ชัดเจน มีแต่ ส.ส.ร.มาบอกว่า ถ้าคุณไม่เอาของผมคุณได้ของ คมช. และคุณก็ไม่รู้ด้วยว่าของ คมช.เป็นยังไง แล้วมาบอกว่าผมว่าอยากได้อันนี้ไหม แต่ไม่บอกผมว่าถ้าผมไม่เอาอันนี้จะได้อะไร มันไม่ใช่เป็นการไปตัดสินใจที่มีความหมาย อันนี้ก็เป็นปมที่ผมเรียกร้องว่ารัฐบาลและ คมช.อย่างน้อยต้องมีจุดยืนว่า ถ้ามันไม่ผ่าน นายกฯ มาจากการเลือกตั้งไหม มีอะไรที่ไม่เหมือน 2540 บ้าง อย่างนี้ต้องให้เป็นภาพคร่าวๆ"

กระนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างในแง่ของสิทธิเสรีภาพ

"เขาพยายามทำมากขึ้น และก็พยายามสร้างหลักที่ดีกว่า ประเภทที่บอกว่าไปรอกฎหมายลูกบัญญัติ ไม่ต้องรอแล้ว สามารถไปใช้วิธีทางศาลได้ ก็ดูไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงเราจะไปคาดหวังให้ฝ่ายตุลาการมาตีความกฎหมายจนถึงขั้นเหมือนกับเขียนกฎหมายเองไม่ได้ ทางตุลาการเองก็คงไม่สบายใจเท่าไหร่ นี่ยังไม่ได้ไปพูดถึงตุลาการภิวัตน์นะ เพราะฉะนั้นในที่สุดยังไงเราก็ต้องพึ่งพากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องการมีสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมอยู่ดี ปัญหาก็คือว่ากฎหมายเหล่านี้มันทำไม่ทัน พอรัฐธรรมนูญผ่านขั้นตอนประกาศใช้ปั๊บ คนก็เตรียมเลือกตั้ง อาจจะมีเวลา 30 วัน 60 วัน คุณก็ทำเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ถ้าจะแก้ไข และก็กฎหมาย กกต. แต่ถามว่าคุ้มครองสิทธิ จะทันเหรอ กฎหมายคุ้มครองข้าราชการ จะทันเหรอ”

“ผมถึงบอกว่างานนี้มันจะไปบอกให้อยู่ที่ ส.ส.ร. รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ งานนี้รัฐบาลต้องทำ ทำตั้งแต่วันนี้ และถ้าทำไปในทิศทางนี้ยังไงก็ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรอก แต่มันเป็นเชื้ออยู่ แต่ถ้าคุณไปฝันว่ารัฐบาลเลือกตั้งจะทำ มันไม่แน่ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบางคนพอเข้ามาเขากลัวเรื่องพวกนี้ ผมไม่กลัว แต่ผมไม่สามารถไปบอกแทนนักการเมืองคนอื่น พรรคการเมืองอื่น ได้ว่าเขาจะไม่กลัว ผมไม่กลัวการตรวจสอบ แต่ถ้าเจอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่กลัวการตรวจสอบ กฎหมายเรื่องสิทธิเสรีภาพพวกนี้ก็จะเข้าสู่สภาพเดิม ถูกสกัดกั้นโดยกลไกของรัฐ กลไกของราชการ ฉะนั้นอันนี้ตรงนี้ ส.ส.ร.โอเคเขาทำดี แต่เขาน่าจะขอความร่วมมือรัฐบาลให้นำร่องไปก่อนในการแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพ"

ในส่วนของการตรวจสอบ อภิสิทธิ์มองว่ายังไม่สามารถทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

"การแก้กฎหมายเพียงแค่ว่า (จำนวน ส.ส.ที่ต้องใช้ในการยื่นญัตติ)อภิปรายไม่ไว้วางใจถดถอยลงมาหน่อย ที่จริงมันก็ไม่มีหลักประกันว่าวันข้างหน้าเขาจะไม่ตั้งรัฐบาลใหญ่ขึ้นไปอีก ใจผมถ้าเราบอกว่าการตรวจสอบมันต้องมี จะกลัวอะไร ฝ่ายค้านมีคนเดียวก็ต้องให้เขาอภิปรายได้ ปีละครั้งนี่ที่เราทำกันมา มันจะหนักหนาสาหัสอะไร คุณก็มีสิทธิในการชี้แจง ของอย่างนี้ไม่ควรไปกลัว องค์กรอิสระก็ยังไม่ได้มีการยกเครื่อง ความแตกต่างกับปี 2540 น้อยมาก แค่ไปเปลี่ยนองค์ประกอบกรรมการสรรหาบางส่วน และก็วุฒิฯ แทนที่จะเลือกก็ให้ความเห็นชอบ แต่จริงๆ ผมว่าแค่มีกรรมการสรรหาก็ยังเจอการแทรกแซงอย่างเดิม เพราะว่าเป็นคนกลุ่มน้อย และวุฒิสภาซึ่งเดี๋ยวจะเป็นประเด็นใหญ่ เวลานี้ก็ขาดฐานของการยึดโยงกับประชาชน กกต. ศาลเลือกตั้งก็ยังไม่ลงตัว จะแก้ปัญหา ป.ป.ช. อย่างไร ทำไมไม่ให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลการเมืองเลยล่ะ หรือหลักประกันในเรื่องความเป็นอิสระ มันไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน"

ลดทอนอำนาจวุฒิฯ

"เรื่องของสถาบันการเมือง หนึ่ง วุฒิสภา ผมคิดว่าถ้าวุฒิฯ ยังมีอำนาจในการถอดถอนอยู่ หรือมีอำนาจมาก เราจะหนีปัญหาเดิมไม่พ้น คือถ้าไปเลือกตั้งก็จะเจอสภาพพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่เลือกตั้งก็เกิดคำถามความชอบธรรมขึ้นมา ว่าไม่ได้มาจากประชาชนแล้วคุณมีอำนาจอะไรมาถอดถอนผู้ที่เขามาจากประชาชน ผมว่าเราต้องเปลี่ยนโจทย์วุฒิสภาใหม่ คือเปลี่ยนวุฒิสภาว่าอย่ามายุ่งเลยเรื่องถอดถอน ปล่อยเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ อำนาจหน้าที่ประชาชน มีการตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภามันควรถึงเวลามาสร้างให้เป็นสภาของนักการเมืองภาคประชาชน นักการเมืองที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองจริงๆ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราไม่ไปให้อำนาจวุฒิฯ ในการถอดถอนนักการเมืองคงไม่ไปวุ่นวายมาก"

"ผมยังอยากเห็นนักการเมืองที่เหมือนกับ ส.ว.เลือกตั้ง ที่เราวิจารณ์ว่าไม่ดีๆ แต่เราก็เห็น ส.ว.กลุ่มอิสระ 30-40 คน ผมว่าเราต้องการนักการเมืองแบบนั้น เขามีความทุ่มเท มีประเด็นทางสังคมที่เขาอยากเคลื่อนไหว เช่น ประเด็นเด็กเยาวชน ปัญหาผู้หญิง ผมอยากให้เราออกแบบระบบเลือกตั้งของวุฒิสภาให้เป็นการเมืองของภาคประชาชน ไม่สังกัดพรรคการเมือง และใครอยากเล่นการเมืองแบบพรรคการเมืองก็ไปอยู่สภาผู้แทน ถึงจะถูกต้อง แต่ถ้าเป็นวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง การสรรหา ถามว่ามีหลักประกันอะไรว่าคุณภาพดี หลักประกันอะไรว่าไม่ถูกแทรกแซง มิหนำซ้ำขาดความชอบธรรมว่าที่มามันไม่ได้ยึดโยง ถ้าอย่างนี้อาจจะไม่ต้องมีสภาที่สอง ก็อาจจะดีกว่า"

ถ้าเช่นนั้นอำนาจเลือกองค์กรอิสระจะยังมีอยู่ไหม

"ผมก็คิดว่าไม่ต้องแล้ว วิธีได้องค์กรอิสระ ให้บางองค์กรที่มีขนาดใหญ่พอสมควรเขาเลือกไปเถอะ เช่นในองค์กรอิสระที่อยากได้ผู้พิพากษาก็เอาที่ประชุมใหญ่ศาลเลือก อยากได้ผู้เชี่ยวชาญนิติศาสตร์ ให้อาจารย์นิติศาสตร์ทั่วประเทศเป็นผู้เลือกก็ได้ อย่างนี้ผมว่ามันแทรกแซงยาก แต่พอมีกรรมการสรรหาตายตัว กี่คนล่ะคนก็ไปแทรกตรงนั้น ผมว่าแต่งตั้งองค์กรอิสระไประบบนี้เลย องค์กรต่างๆ ว่ากันไป แต่วุฒิฯ ผมยังอยากให้เสนอกฎหมายได้ เพราะอะไร กฎหมายบางกฎหมายพรรคการเมืองจะลังเลที่จะเสนอ อาจจะเป็นเพราะความละเอียดในแง่ประเด็นทางการเมือง สมมติปัญหาเรื่องการทดลองเกี่ยวกับมนุษย์ ปัญหาเรื่องการทำแท้ง ปัญหาเรื่องโทษประหารชีวิต ถ้าเรามีวุฒิสภาภาคประชาชนมันจะเริ่มมีการเสนอกฎหมาย อาจจะไม่ผ่าน แต่มันจะกระตุ้นสังคมให้คิดเรื่องพวกนี้มากขึ้น ผมคิดว่ามันเสียโอกาส วุฒิสภามีปัญหา แทนที่เราจะมองไปข้างหน้าเรากลับถอยหลัง เสียโอกาสมาก"

"อันที่สองที่เป็นปัญหาตอนนี้ชัดๆ คือเรื่องกรรมการฉุกเฉิน ซึ่งผมเห็นว่ามันปฏิบัติก็ไม่ได้ ความชอบธรรมก็ไม่มี ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรามีกรรมการนี้ ถ้าเป็นยุคคุณทักษิณกรรมการชุดนี้จะฟอกคุณทักษิณให้เรียบร้อยเลย ดีไม่ดีสร้างวิกฤติใหม่ขึ้นมาอีก ฉะนั้นก็คิดว่าไม่ควรมี”

(หมายเหตุใบตองแห้ง: ช่วงที่สัมภาษณ์ สสร.เพิ่งทำร่างแรกของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีมาตรา 68 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เรียกกันง่ายๆ ในตอนนั้นว่า คณะกรรมการฉุกเฉิน ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก จนต้องยกออกไป)

“ส่วนประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งสำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นรายละเอียด ตราบเท่าที่การเลือกตั้งยังสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ ผมรับได้ แต่บางระบบผมจะรับไม่ได้ เช่นบอกว่าเขตละ 3 คน แล้วประชาชนเลือกได้คนเดียว เพราะนั่นคือการจงใจให้เจตนารมณ์ของประชาชนสับสน สะท้อนออกมาไม่ได้"

"ในส่วนนี้เขาบอกให้ไปทำในกฎหมายลูก ซึ่งผมคิดว่าเป็นความผิดพลาด ผมคิดว่าอะไรก็ตามซึ่งเป็นกติกาไม่พึงเป็นกฎหมายลูก เพราะไม่อย่างนั้นวันข้างหน้าเสียงข้างมากมันแก้ไขได้ ใจผมถ้าสมมติอยากจะกลับไประบบเขตเลือกตั้งใหญ่เรียงเบอร์ สำหรับผมผมว่าใช้ได้ ไม่ได้มีปัญหา แต่ว่าต้องคิดวิธีส่งเสริมให้ประชาชนเลือกพรรค และผมคิดว่าโดยธรรมชาติเขาจะเลือกเป็นพรรคมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าในยุคคุณทักษิณที่เกิดขึ้นและมันดีก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายกับการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าค่านิยมนี้ยังอยู่ และเรารณรงค์ให้ประชาชนเลือกพรรคมันก็ไม่เป็นปัญหาไม่ว่าระบบการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน ส่วนบัญชีรายชื่อมีไม่มีผมก็ไม่ติดใจ"

แม้ว่าระบบบัญชีรายชื่อจะส่งเสริมการเลือกนโยบายพรรค

"แต่ถ้าเรามีวิธีอื่นส่งเสริมก็ไม่เป็นไร เพราะบัญชีรายชื่อก็มีปัญหาของมันเหมือนกัน ในแง่ว่าเป็นช่องทางนักลงทุนเข้ามาอะไรต่างๆ"

ไม่ปฏิเสธว่าในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มี

"ทุกพรรคมันจะต้องมีแรงกดดัน พรรคประชาธิปัตย์อาจจะยากหน่อยเพราะความเป็นระบบของพรรค สมมติว่าใครอยากจะมาขออยู่ปาร์ตี้ลิสต์ 10 อันดับแรก มันไม่มีทางสำหรับประชาธิปัตย์ เพราะระบบเรามันค่อนข้างแข็งว่า หัวหน้า รองหัวหน้า ซึ่งได้รับเสียงมาจากทั่วประเทศเขามีสถานะอยู่ แต่ว่าพรรคอื่นเขาไม่มีอย่างนี้"

หมายความว่าถ้า 20-30 อันดับได้ใช่ไหม

"ก็มีแรงกดดันทุกพรรค แต่หมายความว่าสำหรับผม ผมคิดว่าบัญชีรายชื่อมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มันมีข้อดีคือคะแนนมันไม่สูญเปล่า แต่ผมอยากให้หาทางว่าทำอย่างไรที่ยังทำให้นักการเมืองในระบบบัญชีรายชื่อได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าในอดีต เราอยู่ในสภาฯ เราจะเห็นว่าคนที่ไม่ผ่านประสบการณ์เลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งเลย จะทำงานการเมืองในอีกลักษณะหนึ่ง อาจจะยังยึดโยงกับวงการเก่าๆ ของตัวเอง ซึ่งมันทำให้ขาดความครบถ้วนในฐานะของการเป็นผู้แทนของประชาชน และก็พอมันมีระบบเขตใหญ่ หรือมันมี ส.ว.ที่ไม่สังกัดพรรค เราจะได้นักการเมืองที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ผมไม่ติดใจ มีก็ได้ แต่ไปช่วยลดปัญหาลง ปัญหามันลดลงไประดับหนึ่งแล้วจากการที่ไม่ได้ห้าม ส.ส.ไปเป็นรัฐมนตรี"

บนพื้นฐานความกลัวทักษิณ

ถามว่าทำไมติดใจกรรมการฉุกเฉินว่าจะฟอกทักษิณ

"หลักง่ายๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีคนจำนวนน้อยมีอำนาจมาก จุดนั้นจะเป็นจุดที่จะถูกกดดันแทรกแซงมากที่สุด ทำไมองค์กรอิสระปี 2540 ล้มเหลว ก็เข้าข่ายนี้ไง กกต.5 คนอำนาจล้นฟ้า เขาต้องยึดให้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญกี่คนเขาต้องพยายามยึดให้ได้ กรรมการสิทธิมนุษยชนเขาไม่ยึดเพราะอะไร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมฯ เขาไม่ยึดเพราะอะไร ไม่มีอำนาจ ป.ป.ช.มีอำนาจไหม มี ต้องยึดให้ได้ เพราะฉะนั้นพอมันมีกลไกนี้ตายตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญปั๊บ คนที่คิดไม่ดีเขารู้เลยว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นยังไงต้องล็อกตัวนี้ไว้ก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสมัยคุณทักษิณเขาก็ต้องล็อกชุดนี้ไว้ก่อน อาจจะล็อกก่อนตัวอื่นด้วยซ้ำ คือเราไปคิดแต่ว่า เฮ้ยเมื่อก่อนมันไม่มี มีอันนี้แล้วมันจะดี คิดอย่างนั้นไม่ได้ มันจะต้องคิดว่าถ้าสมัยนั้นมันมีอะไร อะไรมันจะเกิดขึ้น เพราะหลักมันง่ายมาก เหมือนกับการสรรหาองค์กรอิสระที่ผมคิดว่ายังแก้ไม่ได้ตามแนวคิดของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มันยังมีกรรมการสรรหาอยู่ไม่กี่คน ซึ่งก็ยึดได้อีก ถ้าคนมันอยากจะยึด"

เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะไม่ใช่คุณทักษิณยึดแต่อาจจะเป็นฝ่ายอื่นก็ได้

"แล้วรู้ได้ยังไงว่าคุณทักษิณจะไม่กลับมา"

บางคนสงสัยว่านี่คือการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม มีระบบราชการ ระบบผู้หลักผู้ใหญ่ และอำนาจเก่าก็แทรกแซงผ่านช่องทางนี้

"ก็ไม่รู้ว่ากติกามันจะเป็นอย่างไร คือเราไม่พยายามทำบางสิ่งบางอย่างให้ระบบมันเดิน พยายามไปปะผุตอนที่มันพังแล้ว เราไม่อยากให้เกิดวิกฤติแบบสมัยคุณทักษิณ มันไม่ใช่มาหยุดยั้งตอนที่ประชาชนจะฆ่ากันเองแล้ว มันต้องหยุดยั้งตั้งแต่ตอนแรกว่าทำอย่างไรไม่ให้ฆ่าตัดตอน ทำอย่างไรไม่ให้ไปยึดครองสื่อ ไปรังแกข่มขู่คุกคามคนที่คิดไม่เหมือนกันทางการเมือง ต้องทำตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใช่มาคิดจนคนเดินออกมาท้องถนนมาฟาดกันแล้ว แล้วมาบอกว่า เฮ้ยมีกรรมการห้ามมวยชุดหนึ่ง ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้"

อภิสิทธิ์เห็นว่ามาตรา 68 ไม่จำเป็นต้องมี

"กรรมการชุดนี้ไม่ต้องมี มีก็ไม่มีประโยชน์ รวมไปถึงกรรมการสรรหาวุฒิฯ กรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ต้องเลิก ผมว่าประสบการณ์มันบอกเราชัดว่าพอมีกรรมการจำนวนน้อยๆ อำนาจมากๆ เสร็จ"

หากมองอีกมุม คิดไหมว่าคราวนี้คนแทรกแซงอาจจะไม่ใช่ทักษิณ แต่คณะรัฐประหาร

"เราพูดถึงใครก็ตามที่มีอำนาจ ประชาธิปไตยหลักหนึ่งคือคุณได้อำนาจมาจากประชาชน กับสอง อันนี้ซึ่งเราไม่ค่อยพูดกัน คุณต้องมีอำนาจจำกัด ประชาชนให้อำนาจมาเพียงที่คุณบอกว่าจะผลักดันนโยบายให้ประชาชน แต่ไม่ใช่ว่ามาสร้างอาณาจักรของตัวเอง เข้าไปแทรกแซงทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นหลักอันนี้สำคัญกว่า ต้องไปเพิ่มอำนาจของกลไกต่างๆ ที่มาถ่วงดุล และเราอย่าไปให้อำนาจกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง กระจายๆ ให้องค์กรภาคประชาชนสามารถที่จะเป็นตัวคานได้ ดีที่สุดคือเราสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้ประชาชนไม่ยอมรับความไม่ถูกต้อง มีการลงโทษทางสังคม แต่ว่าเราไม่ได้คิดไปในกรอบนั้นเลย เราก็ยังพยายาม ไอ้นี่มีปัญหาก็ตั้งขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ขอปรับกรรมการสรรหาเล็กน้อย มันไม่ได้หลุดไปจากกรอบเดิม"

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นไม่ต่างจากหลายฝ่ายที่มองว่า กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ควรจะลดอำนาจลง

"ต้องคานกันมากขึ้น ที่เขาไปในแนวศาลเลือกตั้งใช้ได้เพราะเป็นการถ่วงดุล กกต. ถ้าเราให้ประชาชนเริ่มฟ้องคดีทุจริตได้โดยตรงก็ดีขึ้น เพราะมันลดปัญหา ป.ป.ช.อาจจะเก็บเรื่องผู้มีอำนาจมาดองไว้ ของอย่างนี้มันจะช่วย ศาลรัฐธรรมนูญถ้าเป็นคดีที่มีผลทางการเมือง แทนที่เราจะมีองค์กรถาวร ทำไมเราไม่คิดว่าให้เลือกองค์คณะมาเฉพาะกิจ ตัวนักการเมืองมันไม่รู้ล่วงหน้า ไม่ใช่พอรู้ว่ามี 9 คนนี้อยู่ 9 ปี ในสังคมไทยก็ไปสร้างบุญคุณสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา แต่ถ้าบอกว่าเฮ้ย กว่าจะเกิดคดีขึ้นมาคุณไม่รู้เลยนะว่าใครจะมา"

เขาเสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องมีถาวร มีในคดีบางเรื่อง

"มีในคดีบางเรื่อง เช่นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญไหม แต่พอมาเรื่องที่มีผลกระทบทางการเมืองน่าจะใช้ระบบเดียวกับศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาจากหลายฝ่าย ที่จริงที่เขาทำคดียุบพรรคตอนนี้อยู่ก็ไปได้ มาจากศาลปกครองส่วนหนึ่ง ศาลฎีกาส่วนหนึ่ง ไม่ได้รู้ตัวกันล่วงหน้า"

ถามถึงมาตรา 299 ว่าเห็นด้วยไหมที่ถือเป็นการให้ยอมรับประกาศ คปค.ที่ขัดกับหลักกฎหมาย (หมายเหตุใบตองแห้ง : มาตรา 299 ในร่างแรก คือมาตรา 309 ในปัจจุบัน)

"ก็นิรโทษไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ผมไม่เห็นความจำเป็นเพราะว่าตามประเพณีของเราอะไรที่นิรโทษไปแล้วก็จบ เมื่อก่อนนี้มีพระราชกำหนดนิรโทษ พ.ร.ก.เข้าสภาฯ สภาคว่ำเขาก็บอกว่าไม่มีผลอะไรเพราะนิรโทษไปแล้ว เรามีประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศคณะปฏิรูปตั้งกี่สมัย นี่ยังใช้อยู่เลย เรื่องสัมปทานเรื่องอะไรต่ออะไร ทำไมจะต้องมาตระหนกตกใจว่า คมช. คปค. เดี๋ยวมีปัญหา ผมไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องมี มีแล้วเป็นปัญหาการเมืองเปล่าๆ ถ้าไปบอกว่า คปค.ทำไม่ชอบ อย่างนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ชอบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ชอบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ชอบ เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามในบ้านเราก็ตีความมาตลอดว่าพอใครปฏิวัติก็เป็นองค์อธิปัตย์ ยอมรับกันไป ก็จบไปแล้ว ไปเขียนไว้ให้ตำตาตำใจคนทำไมให้ทะเลาะกันอีก"

ตุลาการภิวัตน์ ภูมิคุ้มกันไม่ 100%

เป็นไปได้ไหมที่จะฝากความหวังในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระที่ตุลาการเป็นหลัก

"ตุลาการเองท่านก็ออกมาพูดแล้วนี่ว่าท่านไม่สบายใจเท่าไหร่ เพราะอย่าลืมว่าอำนาจมันทำให้คนเสื่อมได้เสมอ ผู้พิพากษาอาจจะภูมิคุ้มกันดีกว่าคนอื่น แต่ก็คงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าภูมิคุ้มกัน 100 เปอร์เซ็นต์ และพอศูนย์อำนาจมันเคลื่อนไปที่ใดคนที่จะต้องการไปแทรกแซง มันก็จะเคลื่อนตามไปที่นั่น"

มีการพูดถึงสูตรการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกตั้ง ให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล สนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ โดยมีองค์กรอิสระทั้งหลายเป็นพี่เลี้ยง

"ผมคิดว่าเขาไม่ได้มองอย่างนั้นหรอก ทำไมถึงต้องสร้างภูมิคุ้มกัน คนมาเป็นนี่นะอย่าไปสร้างภูมิคุ้มกันให้ คนมาเป็นต้องถูกตรวจสอบ แต่คนจะมาเป็นยังไงให้ประชาชนเขาเลือก แต่เลือกมาแล้วทำงานในขอบเขต มันต้องคิดอย่างนั้น มันต้องลบตัวตนของคนทั้งหมด อย่าคิดถึงทักษิณ อย่าคิดถึงอภิสิทธิ์ อย่าคิดถึงประชาธิปัตย์ อย่าคิดถึงไทยรักไทย อย่าคิดถึงคุณเสนาะ คุณบรรหาร ต้องคิดหลักก่อนว่าใครก็ตามเข้ามา มาแล้วเป็นยังไง มนุษย์ทุกคนมีอำนาจมีโอกาสเสื่อมถ้าอำนาจมันไม่มีการตรวจสอบ ต้องคิดอย่างนี้ ถ้าไปเริ่มคิดที่ตัวคนก็เอาแล้ว เดี๋ยวเลวไปหมด เดี๋ยวดีไปหมด"

แต่ถ้าเป็นไปตามนั้นจริงๆ

"เขาต้องไม่คิดว่าเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ เขาต้องคิดว่าเขาต้องสนับสนุนให้คนที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกฯ"

เพราะนี่คือวิธีป้องกันทักษิณกลับมา

"ไปคิดอย่างนั้นไม่ได้หรอก ผมยกตัวอย่างนะ ตอนแรกนี่พูดกัน แต่ดีที่ตอนนี้จบไปแล้ว เรื่องนายกฯ คนนอก ผมบอกให้นะ ถ้าเป็นนายกฯ คนนอก ดีไม่ดีได้คุณทักษิณนะ เอ้า นอมินีเต็มสภาฯ เลย ตัวเองไม่ลงเลือกตั้งไง มาจากนอกเลยด้วย นี่ไงผมถึงบอกว่าการเมืองไปคิดอยู่ในกรอบอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องดูว่าสถานการณ์มันเคลื่อนหรือเปล่า ประเด็นก็คือเวลานี้ถ้าบอกว่ากลัวคุณทักษิณก็ต้องตอบคำถามก่อนว่า คุณทักษิณน่ากลัวสำหรับประเทศเพราะอะไร ถ้าตอบว่าเพราะคุณทักษิณได้ทำผิดต่อความเสียหายของประเทศ ประเด็นก็คือ ทำไมคุณไม่สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมจัดการคุณทักษิณได้ ถ้าบอกว่าคุณทักษิณมีความอันตรายเพราะว่า เหมือนกับไปโฆษณาชวนเชื่อประชาชนไว้มาก และคำถามคือว่า ทำไมคุณไม่เอาความจริงมาให้ประชาชนรู้ ว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำมันไม่ยั่งยืน สิ่งที่คุณทักษิณทำมันเอื้อประโยชน์ใคร ตรงนั้นต่างหากคือสิ่งที่คุณจะต้องไปต่อสู้กับคุณทักษิณ ผมถึงบอกว่าผมไม่มีความกลัวเลยต่อคุณทักษิณ จะแข่งกันผมไม่เคยกลัว แต่ผมขออย่างเดียวว่าให้มันแข่งขันเท่าเทียมกัน มีโอกาสสื่อสารกับประชาชนเท่าเทียมกัน เอาเหตุเอาผลเอาข้อเท็จจริงมาโต้มาเถียงกัน ผมไม่กลัว อันนี้เราอย่าไปมองว่าโห ใหญ่โตน่ากลัวอะไรขนาดนั้น"

ก็เพราะอย่างนั้นถึงต้องพยายามวางระบบแทรกแซงไว้ป้องกันระบบทักษิณ

"พอคุณเริ่มไปคิดสร้างอะไรที่มันพิสดารเจาะจงกับสถานการณ์ ถ้าสถานการณ์มันเปลี่ยน กลไกเหล่านั้นมันจะกลายเป็นปัญหา ไม่ใช่เป็นตัวแก้ปัญหา การไปตั้งตัวบุคคลเอาไว้ ถ้าคุณไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถ้าคุณทักษิณผิด คุณไม่มีสิทธิไปตัดสิทธิเขาเลย และถ้าคุณไม่สามารถแม้แต่อธิบายได้ว่า สิ่งที่คุณทักษิณทำไม่ดีสำหรับประเทศอย่างไร ไม่มีสิทธิไปห้ามคุณทักษิณที่จะมาบอกประชาชนเลยว่า เขาดียังไง ไปคิดการเมืองแบบ 20 ปีที่แล้วไม่ได้ ในสูตรที่ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือคนอื่น มันหมดยุคแล้ว และมันก็จะอันตราย เพราะประชาชนเขาจะไม่เข้าใจและจะไม่ยอมรับ"

เรายังคงถามย้ำว่าหากใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกตั้ง และสนับสนุนเขาเป็นนายกฯ จริงๆ

"ถ้าผมชนะเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็จบ ไม่เห็นต้องมามีอะไรเลย"

"ผมยึดอย่างเดียวว่า ประชาชนเขาจะบอกตอนเลือกตั้งว่าเขาจะให้ใครเป็นนายกฯ ใครจะชนะเลือกตั้ง คมช. รัฐบาลมีหน้าที่ว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เท่านั้นเอง และคนที่ขาดคุณสมบัติเพราะทำผิดกฎหมายอาญา เพราะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิจะลง ก็เท่านั้น แต่ว่ากฎหมายอาญาก็ดี การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็ดี ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่ไปกลั่นแกล้งเขา"

แต่ก็ยังติดใจประเด็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ

"เป็นผมผมก็ไม่แทรกแซง ปล่อยเขาไป แต่ว่าผมก็คิดจะปรับปรุงระบบ มันไม่ใช่แค่คิดว่าผมไม่แทรกแซง ทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นแทรกแซงได้ เพราะฉะนั้นบางเรื่องถ้าสมมติรัฐธรรมนูญผ่านแบบนี้ วันข้างหน้ามันต้องถูกแก้อยู่แล้ว อย่างวุฒิสภาผมไม่เชื่อหรอกว่าจะสามารถอยู่ในรูปแบบนี้ยั่งยืนได้ วันข้างหน้าไม่ถูกแก้ให้กลับไปเป็นเลือกตั้งก็ถูกยกเลิก"

ถามว่าเห็นด้วยกับประกาศ คปค.ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลังไหม ส่วนยุบพรรคหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามหลักฐาน

"ผมว่าประเด็นหลังนี่สำคัญกว่า ตอนนี้เวลาคนวิเคราะห์พูดคุยข่าวยุบไม่ยุบ ไม่เห็นพูดเนื้อหาคดีเลย แต่เอาปัจจัยการเมืองมา อันนี้ผมคิดว่าอันตรายมาก ต่อไปสังคมจะไม่มีหลักถ้าคิดกันแบบนี้ ผมก็เพียงแต่ดูว่าก็ดีใจที่เวลาสืบพยานตุลาการเขาให้ความสำคัญกับรายละเอียดข้อเท็จจริงในเรื่องของเหตุการณ์มาก แต่ว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์คุยกันทั่วไป ไม่มีใครพูดเรื่องข้อเท็จจริงคดีเลยนะ คิดแต่ว่าเออคงต้องยุบ จะได้กวาดออกไปเลย ต้องยุบตรงนี้ด้วยจะได้แฟร์ดี คือถ้าสังคมคิดอย่างนี้หมดแล้วระบบกฎหมายก็ไม่มีความหมายแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องตามใจชอบ รับใช้ความต้องการความรู้สึก"

ซึ่งดูเหมือนสังคมในเวลานี้เป็นเรื่องของอารมณ์

"ซึ่งยังไม่มีบทเรียนอีกเหรอ ที่มาอยู่วันนี้ก็เพราะคิดอย่างนี้ตอนคดีซุกหุ้นใช่ไหมล่ะ ตอนนั้นโอ้ย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ เขาทำผิดก็จริงแต่ว่าคนชอบเขา ให้เขาทำไปก่อน และเห็นไหมว่าความคิดเรื่องซุกหุ้นคือสิ่งที่มาหลอกหลอนตอนขายหุ้นชินฯ สังคมมันต้องเข้มแข็งกว่านั้นแล้วที่จะบอกว่าไม่ได้ หลักสำคัญก่อน พื้นฐานประชาธิปไตย นิติรัฐ กฎหมายคือกฎหมาย ผิดคือผิด ไม่ผิดคือไม่ผิด นี่สำคัญมาก"

เรายกกรณีคดีทักษิณหมิ่นฯ ซึ่งอัยการมีสิทธิสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่กระแสก็ต้องการให้ฟ้องให้ได้

"ความเห็นของคนมันอาจจะไม่ตรงกัน และบางกรณีก็อาจจะก้ำกึ่ง แต่มันก็น่าคิดไหมว่าขนาดคนที่สั่งไม่ฟ้องยังไม่กล้าพูดเลยในสิ่งที่คุณทักษิณพูด บอกด้วยนะไม่กล้าพูดว่าคุณทักษิณพูดว่าอย่างไร เพราะว่าหมิ่นเหม่"

แล้วทิศทางสังคมจะเป็นอย่างไร ในเมื่อกฎหมายถูกมองเป็นกระแสหมด

"เรื่องอย่างนี้มันไม่ได้ ที่พังพินาศอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะคิดอย่างนี้ ตอนนั้นก็บอกว่าเด็ดขาด ปราบยาเสพติด โจรใต้ ที่ตายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมาจากผลพวงอันนี้ ทำไมเราไม่เรียนรู้ ทำไมรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ออกมาย้ำเรื่องนี้"

"แม้แต่กรณีคุณทักษิณก็มีหลายคนไม่ต้องการเดินตามกฎหมาย ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ผมยืนอยู่ตรงข้ามคุณทักษิณยังไง ถ้าเรื่องไหนคุณทักษิณไม่ผิดต้องไม่ยุ่งไม่ไปเกี่ยวข้อง เรื่องตั้งเยอะแยะ ผมว่าบางเรื่องมันง่ายจะตาย CTX ก็ง่าย เรื่องภาษีก็ง่าย ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย บางเรื่องพวกผมพูดมาตั้งแต่ปี 2545 หลายกรณีผิดชัดๆ แต่ตอนนั้นทุกคนก็ไม่มีใครอยากฟัง เพราะว่ารัฐบาลกระแสดีก็ว่าไป สำหรับพวกเราบางเรื่องนี้ไม่ได้มีเรื่องยากเลย ข้อมูลก็พร้อมอยู่ ข้าราชการให้ความร่วมมือก็จบ แต่เวลานี้เราก็เห็น คตส.โอดครวญตลอดว่าไม่ได้รับความร่วมมือ"

'รับ'เพื่อเลือกตั้งเฉพาะหน้า

เรายังคงอยากฟังความเห็นของประชาธิปัตย์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

"หลักคือว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงพอที่จะทำให้บ้านเมืองกลับสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ไม่หวังสมบูรณ์ ไม่หวังว่าถูกใจในระบบเลือกตั้งอย่างนั้นอย่างนี้ เอาว่าหลักคือทำให้บ้านเมืองกลับไปเป็นประชาธิปไตยได้ ผ่านการเลือกตั้งไปก่อน แล้วไปแก้ไขปรับปรุงให้มันสมบูรณ์แบบ แต่ถ้ามีหลักการบางอย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยชัดเจน ก็ต้องว่ากันไป ซึ่งผมก็ยังมองว่าขณะนี้พอไปผ่าน 12 องค์กรคงจะแก้ไข"

อภิสิทธิ์อธิบายถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ชัดเจนว่า อย่างกรณีนายกฯ ไม่มาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่กรรมการสรรหาวุฒิฯ ยังพอให้ผ่านไปก่อน

"มันยังขัดกับหลักประชาธิปไตย ก็อาจจะมีประเด็นวุฒิฯ นิดหน่อย แต่มันเป็นปัญหาในเชิงที่เรามองว่ามันไม่แก้ปัญหาอย่างควรที่จะแก้ แต่ผมยังไม่ถึงขั้นที่จะไปบอกว่าเพราะกรรมการสรรหาเป็นอย่างนี้ก็เลยไม่เป็นประชาธิปไตย"

แสดงว่าโดยภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาธิปัตย์ก็รับได้

"อยากให้ดีกว่านี้"

หากเขายังยืนในจุดเดิม

"อย่าฝืนเลย ผมเอาหลักใหญ่ เพราะถ้าบอกว่ารับเขาก็บอกก็ดีแล้วนี่ มันควรจะดีกว่านี้ ระบบเลือกตั้งก็ยังไม่ชัดเจน"

นั่นหมายถึงว่าจุดยืนของประชาธิปัตย์คือให้มีเลือกตั้งไปก่อน

"คือเราไม่รู้เลยว่าถ้าไปเดินไปสู่ตรงนั้นมันจะยื้อกันในรูปแบบไหน อะไรจะเกิดขึ้น และอันตราย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยก็อย่าไปดึงดันให้มันใช้เลือกตั้งและคิดว่ามันแก้ได้ เพราะเราก็มีบทเรียนจากปี 2535 แล้ว ที่มาของพฤษภาทมิฬก็แบบนี้ เฮ้ยไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร เอาไปก่อน แล้วไปเสียเลือดเสียเนื้อกันทีหลัง ก็ไม่ดี เอาว่าหลักประชาธิปไตยอยู่ กลับไปเลือกตั้ง นั่นคือทางออกของประเทศขณะนี้"

เท่าที่ฟังคือรับไปก่อนนั่นเอง

"ยังอยากให้เอากรรมการฉุกเฉินออกไปก่อน ทบทวนวุฒิสภาก่อน องค์กรอิสระก็อยากให้ดีกว่านี้ แต่ว่ามันก็ไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องไปคิดกันอีกที แต่ถ้าถามว่ารัฐธรรมนูญนี้ปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไหม ก็ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ แต่เวลานี้ความคาดหวังของคนลดลงไปเยอะแล้ว คนไม่ได้คาดหวังปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว คาดหวังแค่ว่าเอาพอไปวัดไปวาได้ แต่ผมเชื่อว่าคงมีการแก้อีก เพราะที่เป็นอยู่โอกาสไม่ผ่านประชามติมีสูง ความรู้สึกของคนทั่วไปต่อรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้อยู่”

 

(ล้อมกรอบ)

มองความจริง-ชนะใจตัวเอง

มองจากจุดนี้อย่าว่าแต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่เลย ความวุ่นวายที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่มีใครการันตีได้ วิกฤติการเมืองรอบใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก

"สิ่งสำคัญคือ คมช.กับรัฐบาลชนะใจตัวเอง และมองสังคมอย่างที่เป็นอยู่ ชนะใจตัวเองก็คือ ให้มั่นใจก่อนว่าถ้าทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองแล้วไม่มีอะไรต้องห่วง ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะมีวิธีการสืบทอดอำนาจอย่างไร หมดอำนาจเกษียณอายุไปแล้วจะมีปัญหาหรือไม่ ถ้าชนะใจตัวเองตรงนี้มันขจัดเงื่อนไขไปเยอะ เวลานี้คนก็ยังหวาดระแวง มีคนสามารถไปปลุกกระแสได้ง่ายว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ เพราะรัฐบาล คมช.ไม่ชัดเจนที่จะบอกว่ายังไงผมก็ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ มันต้องชนะใจตัวเอง อันที่ 2 คือ คมช.กับรัฐบาลมาจากแวดวงซึ่งคุ้นเคยกับยุคที่ราชการเป็นใหญ่ และก็ไปคิดว่าหมุนนาฬิกากลับไปอย่างนั้นได้ มันไม่ได้แล้ว”

“การหยั่งรากของประชาธิปไตยลงไปมันหยั่งลงไปในใจคนพอสมควร ถึงแม้เขาอาจจะไม่สามารถออกมาพูดว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตย แต่มันเป็นสิ่งที่หยั่งเข้าไปแล้ว เห็นง่ายๆ จากความนิยมของรัฐบาล ซึ่งไม่มาจากการเลือกตั้ง ยากมากแล้วเดี๋ยวนี้ ทั้งๆ ที่คนมองว่าคุณสุรยุทธ์เป็นดีมีคุณธรรม มีความตั้งใจดี ขยัน แต่รูปแบบของรัฐบาล ซึ่งมันไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่ตอบสนอง ห่างเหิน เกาไม่ถูกที่คัน ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ มันจะมีอย่างนี้ตลอด ถามว่านี่คือเป็นเรื่องตัวบุคคล คุณสุรยุทธ์หรือเปล่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ๆ นั่นคืออาการของคนที่เคยได้ประชาธิปไตย เขาเคยได้ประชาธิปไตยและเห็นว่าขณะนี้มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ถ้าบอกว่าวุฒิสภาเลือกตั้งไม่ได้ เพราะไม่ไว้ใจว่าจะเลือกได้คนดี มันก็เริ่มพูดกันยากในแง่ของยุคสมัยปัจจุบัน"

แต่ฝ่ายอำนาจเก่าก็กลัวทักษิณที่ความนิยมดูเหมือนจะไม่ลดลงสักเท่าใด

"จะจัดการคุณทักษิณต้องไปจัดการตามกฎหมาย จัดการด้วยการบริหารให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ปรากฏ"

ถึงขั้นคิดกันว่าการเลือกตั้งก็ต้องหาพรรคนอมินี ที่พอจะประนีประนอมรับข้อตกลงกันได้

"คนที่มายอมเป็นนอมินีให้ คมช.ได้ ผมถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มนี้จะไม่ยอมเป็นนอมินีให้ทักษิณ เพราะยังไงๆ คุณทักษิณก็มีเงินเยอะกว่า คมช. หรือถ้า คมช.มีเงินเท่าคุณทักษิณ คมช.ก็อยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าอย่าไปคิดแบบนั้น เวลานี้ต้องสนับสนุนให้การเมืองโปร่งใส"

โปร่งใสแล้วพรรคไทยรักไทยที่กลายพันธุ์เป็นพรรคนอมินีแล้วชนะ

"แล้วคุณเอาอำนาจอะไรไปปฏิเสธประชาชน'

แสดงว่าในส่วนประชาธิปัตย์รับได้

"ถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมผมรับได้"

มองไปถึงขนาดที่ว่าอาจจะสกัดฝ่ายทักษิณด้วยซ้ำ แต่เขายังเข้ามาได้

"ผมคิดว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก คุณทักษิณสิ่งที่ประชาชนชอบอาจจะเป็นเรื่องความรวดเร็ว การพูดคุยปัญหากับประชาชน การให้ความหวัง ที่สำคัญก็คือมองว่าเมื่อพูดแล้วเขาเข้าไปทำ ดีไม่ดี สำเร็จไม่สำเร็จไม่เท่าไหร่นะ ถามว่าวันนี้คนไทยหายจนไหมจากนโยบายคุณทักษิณ ไม่ใช่ ดีไม่ดีหนี้กองเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ว่าคนเขาชอบเพราะได้ทำ และก็ทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเขาด้วย และคนไม่ได้รับรู้ด้านลบเท่าที่ควร มันมาจากการบริหารข่าวสารข้อมูลของคุณทักษิณสร้างค่านิยม พูดทุกวันว่าสภาฯ เป็นเรื่องเหลวไหล ฝ่ายค้านมีแต่ขัดขวาง ไม่มีประโยชน์ จนคนก็คล้อยไปเยอะ แต่ถึงจุดหนึ่งคนก็รู้แล้วว่าพอมันไม่มีตัวคานเหมือนรถไม่มีเบรกมันก็ชนแหลก แล้ววันนี้แม้แต่คนที่ชอบคุณทักษิณก็ตั้งคำถามว่าคุณทักษิณยังอยู่ในฐานะที่จะมาสิ่งที่เคยทำได้อีกหรือเปล่า เขาก็รู้แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่คุณทักษิณได้ทำได้ก่อให้เกิดความแตกแยก ทำให้เกิดการต่อต้าน ถามว่าปีสุดท้ายที่คุณทักษิณอยู่ทำอะไรได้บ้าง คนก็เริ่มคิดนะ ไม่ใช่ไม่คิด เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวครับ"

อาการกลัวทักษิณกลับมาถูกจับตามองว่า อาจจะมีการเจรจาหาทางออกด้วยการหาพรรคการเมืองใหม่ ปูทางให้เลือกตั้งเข้ามาประนีประนอมกับ คมช.ได้ โดยที่ทักษิณก็อยู่ต่างประเทศไปสักช่วงหนึ่ง นี่อาจจะเป็นวิธีแก้วิกฤติบ้านเมือง

"เลื่อนวิกฤติไป แต่ว่าความเสียหายหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามันลึกมาก ความแตกแยก ความกระทบกระเทือนต่อสถาบันหลักของชาติ ลึกมาก ใครที่ยังฝันว่าจะไปทำอย่างนั้นได้ แล้ววิกฤติจะหายไป คิดผิด และจะสร้างปัญหาให้กับอนาคตอย่างรุนแรง"

แล้วถ้านายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ จะแก้ปัญหาความแตกแยกได้ไหม

"ผมว่าได้ เพราะผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำคือผมให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่สามารถทำให้คนทุกคนเห็นด้วยกันได้ แต่ว่าทุกคนมีที่ยืนมีสิทธิมีเสียง ผู้มีอำนาจต้องรับฟัง"

แม้จะยังมีคนรักทักษิณอยู่อีกเยอะ

"เขาก็มีสิทธิจะรักคุณทักษิณ อะไรที่เป็นสิ่งที่เขารักคุณทักษิณ และสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ก็อย่าไปรังเกียจว่าเกี่ยวกับคุณทักษิณ กลัวอะไร สมมติเราพูดปัญหาประชานิยม มันผสมผสานกันอยู่ระหว่างสิ่งที่ไม่ดี คือความไม่ยั่งยืน ความไม่มีวินัย แต่มันต้องมีสิ่งดีๆ อยู่ มันตรงใจประชาชน ก็ต้องหยิบออกมาสิ 30 บาทจะเป็นรักษาฟรีหรืออะไรก็ตาม หลักก็คือคุณต้องสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนให้ได้ ก็เก็บเอาไว้ไม่เห็นแปลก ถ้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จไม่สำเร็จก็แล้วแต่คนจะประเมิน แต่ความรู้สึกว่ามีการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนคุณก็เดินต่อไปสิ ไม่เห็นต้องกลัวอะไร จะใช้ชื่อโอท็อปก็ใช้ไปสิ แล้วบางเรื่องไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อหรอก ทำไปสักพักแล้วทำให้ดีกว่าคุณทักษิณนะ ชาวบ้านเห็นเองว่าที่จริงไม่ใช่ของคุณทักษิณหรอก ใครก็ทำได้หรือคนอื่นทำยังดีกว่าอีก ไปกลัวทำไม คนมีแต่เงินไปกลัวอะไร"

ถึงอย่างไรทัศนะที่สะท้อนจากรัฐบาลนี้ก็คือ เป็นการกลับเข้าไปสู่ 'วงจรอุบาทว์' ของนักการเมือง

"แล้วทำไมไม่คิดว่าวันหนึ่งประชาชนเขาบอกว่า การมีรัฐประหารจะเป็นการกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ คืออย่าไปคิดอย่างนั้น การเมืองก็มีดีมีเลวเป็นธรรมดา ประชาธิปไตยไม่มีที่ไหนในโลกที่รับประกันได้ว่าเลือกแล้วได้คนดี แต่ประชาธิปไตยต้องมีหลักประกันว่าถ้าคนชั่วเข้ามาก็ทำชั่วได้ไม่มาก ชั่วได้ไม่นาน ต้องคิดอย่างนั้น และรัฐบาลเผด็จการก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเลวเสมอไป มีรัฐบาลที่ดีหลังการรัฐประหารก็มี แต่โดยธรรมชาติของการเมืองของมนุษย์มันไม่ใช่ระบบที่จะยั่งยืน มันอยู่ได้ชั่วคราว".

 

 

(ล้อมกรอบ 2)

จุดยืนพรรคการเมือง

ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งนักการเมืองถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเสมอ วิกฤติหนนี้นักการเมืองได้เรียนรู้อะไรกันบ้างไหม

"ผมคิดว่าภาพที่ไม่ดีของนักการเมือง เราจะไปโทษคนอื่นมากก็ไม่ได้ นักการเมืองก็มีส่วนสำคัญทำให้ภาพมันเกิดขึ้น แต่ว่าปัญหาหลายอย่างที่ผมพูด ที่มันยังไม่มีใครมาเผชิญ เช่น ปัญหาเรื่องเงินกับการเมือง จัดระบบการใช้จ่ายเงินของนักการเมืองอย่างไร ป้องกันระบบอุปถัมภ์ไม่ให้เข้าไปแทรกซึมทั้งหมดอย่างไร มันต้องทำตรงนั้นให้ได้ แล้วการเมืองจะดีขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันไว้เยอะๆ สำหรับองค์กรที่ต้องเป็นหลักในการตรวจสอบของสังคม เช่น สื่อ ข้าราชการสนองนโยบายแต่เป็นนโยบายการบริหาร ไม่ใช่สนองการเมือง สิทธิเสรีภาพในการเสนอความคิดที่แตกต่าง ถ้าตัวนี้มันอยู่ถึงคนมันเลวมันก็มีผลไม่มาก และพอเกิดสภาพอย่างนั้นขึ้นการเมืองจะค่อยๆ ดีขึ้น แล้วคนดีๆ ก็อยากจะเข้ามามากขึ้น คือมันต้องกลับวงจรให้ได้"

ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่ได้แก้อะไรตรงนี้ นักการเมืองก็คงต้องใช้เงินในการเลือกตั้งเช่นเดิม

"ไม่ได้แก้เลย ผมยังไม่เห็นมีมาตรการอะไรเลย ถามว่าทำไมเราไม่ไปดูบางประเทศเขาล่ะ ตอนหลังเขาเขียนเลยห้ามนักการเมืองบริจาค หรือว่าค่าใช้จ่ายใดที่มีผลในทางการเมือง ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย ก็เอาสิ"

เราบอกว่าดูเหมือนนักการเมืองจะชอบด้วยซ้ำ เมื่อครั้งที่ กกต.ห้ามจัดงานสังสรรค์

"ถามว่าชาวบ้านรับได้ไหม ถ้าเป็นกฎหมายชาวบ้านก็รับได้ แค่นั้นเองไม่เห็นมีอะไรเลย มันก็แสดงให้เห็นว่ามีพื้นฐานการเคารพกติกาอยู่ สมมติว่าตอนที่มี กกต.ชาวบ้านมาขออันนี้ได้ไหม เราบอกผิดกฎหมาย เขาก็เข้าใจ จบ อย่าง 2 เม.ย.พอเลือกตั้งโมฆะปั๊บมาเลย ไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วนะ (หัวเราะ) เขาก็ว่าตามกติกา"

ในฐานะที่ถูกยกให้เป็นสถาบันการเมืองแต่เวลานี้แม้ไทยรักไทยจะขาลงอย่างไร คะแนนความนิยมประชาธิปัตย์ก็ยังไม่กระเตื้อง แถมผลโพลล์บางสำนักยังต่ำกว่าทักษิณอีก

"ผมดูการตั้งคำถาม ผมดูตัวเลขแล้วผมไม่ได้มีความกังวลใจ ธรรมชาติมากๆ อย่างโพลล์ที่ผมเห็นเขาทำ ที่บอกไทยรักไทยนำประชาธิปัตย์ เท่าไหร่ครับ 20:18 รวมกันแล้ว 38 ไม่ค่อยบอกอะไรเท่าไหร่ และสังคมก็ไม่ได้อยู่ในอารมณ์มาคิดเรื่องนี้ตอนนี้ ขณะนี้สังคมกังวลอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า และตัวเปรียบเทียบเขาก็มีแค่คุณสุรยุทธ์กับคุณทักษิณ พรรคการเมืองก็ดำเนินกิจกรรมไม่ได้ มันไม่เห็นน่าแปลกใจ หนังสือพิมพ์บางฉบับไม่ดูด้วยซ้ำว่าเวลาโพลล์ถามเขาถามแค่คุณสุรยุทธ์กับคุณทักษิณ คำถามมีอยู่ 2 ชื่อ ต่อให้เทวดาก็ไม่ชนะ เพราะมันต้องตอบว่าสุรยุทธ์หรือทักษิณ"

แต่เปรียบเทียบหลายชื่อก็มี

"และผมก็ชนะคุณทักษิณด้วย รามคำแหงมีอันเดียวที่เทียบ ผมก็ชนะคุณทักษิณ"

แต่ก็เป็นช่วงที่ความนิยมทักษิณตกต่ำมากที่สุด

"เวลานี้เราต้องเข้าใจว่า ประสบการณ์ของคนที่ผ่านมาตอนนี้ คนรักคุณทักษิณ คนไม่รักคุณทักษิณ ก็ยังเอาคุณทักษิณเป็นตัวตั้ง และเราก็มีปฏิวัติ เราก็มาเทียบรัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้ว มันต้องรอเวลาแข่งขันของการเสนอตัว ของการพูดถึงนโยบาย การมีโอกาสได้เริ่มสัมผัสกับประชาชน ผมถึงได้บอกว่าผมอยากให้ยกเลิกคำสั่ง คปค.ไม่ใช่เพราะว่าผมจะต้องเตรียมเลือกตั้ง แต่ว่าพรรคการเมืองจะได้เป็นพรรคการเมือง วันนี้พรรคการเมืองต้องมานั่งคิดและก็พูดว่าปีหน้าเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี สังคมก็ยังแตกแยก ปัญหาพื้นฐานตรงนี้แต่ละคนคิดจะแก้ไขอย่างไร ภาคใต้จะว่าอย่างไร อันนี้คือหน้าที่พรรคการเมือง แต่เรากลับไป เฮ้ยไม่ต้อง พรรคการเมืองมีหน้าที่ไปแข่งเลือกตั้งอย่างเดียว รอก่อนยังไม่เลือกตั้ง ผิดหมด" 

"ผมก็ตั้งใจว่า ที่จริงก็เริ่มทำมาแล้ว ตอนนี้ก็ใช้วิธีเข้าหาวงการต่างๆ เพื่อประเมินปัญหา และก็หาคำตอบให้กับสังคม นี่คือหน้าที่หลักของนักการเมือง ก็ตั้งใจทำอันนี้ไป จะเห็นชัดขึ้นๆ แต่ว่าก็ยังทำได้ในวงจำกัดเพราะมีคำสั่งห้าม ยังทำเป็นระบบไม่ได้"

หากมองข้ามช็อตไปเลยว่าประชาธิปัตย์อาจจะเป็นรัฐบาลปีเดียวหรือสองปี เพราะปัญหาที่จำเป็นต้องเผชิญวิกฤติเกินเยียวยา

"เอาเป็นว่าใครมาเป็นก็แล้วแต่ ปัญหาเยอะ สิ่งที่เราควรจะคาดหวังก็คือว่าเราไม่สร้างวิกฤติใหม่ แต่เราจะปลด จะคลาย จะบริหารได้ถูกใจคน เดินไปข้างหน้าแค่ไหน มันก็ตอบไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราสามารถจัดทุกอย่างเข้าสู่ระบบ ให้มันเดินต่อไปได้ ไม่มีวิกฤติ มันไม่สำคัญหรอกว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ปีเดียว สองปี หรือสี่ปี ถ้าประเทศเดินได้ก็พอ บางทีมันอาจจะเป็นว่าอยู่ได้ปีเดียว แต่ว่าถ้าเลือกตั้งอีกครั้งมันลงตัวมากขึ้นก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าย้อนกลับไป เพราะคุณทักษิณตั้งเอาไว้ว่าอยู่ 20 ปี เสียงข้างมากเด็ดขาด แล้วเป็นไง 377 เสียงอยู่แค่ปีเดียว ไม่แน่หรอก"

แต่ความขัดแย้งของบ้านเมืองเวลานี้ประชาธิปัตย์อาจจะช่วยอะไรไม่ได้

"ผมยืนยันจุดยืนมาตลอด ตั้งแต่ปฏิวัติผมก็บอกเลยว่า เรื่องสิทธิคุณทักษิณในการกลับเข้าประเทศ ผมบอกว่าคุณทักษิณมีเรื่องคดีต่างๆ คุณทักษิณต้องไม่มีการกลั่นแกล้ง ผมก็สนับสนุนสิ่งที่คุณสุรยุทธ์หรือคุณสนธิพูดว่า ไม่ควรใช้วิธีพิเศษ ต้องจัดการไปตามกฎหมาย เพียงแต่ผมก็หงุดหงิดว่าการจัดการไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่ผมไม่เคยไปยุว่าเพราะฉะนั้นจะต้องเอาอำนาจพิเศษไปยึดทรัพย์ หรือต้องปฏิวัติซ้ำเพื่อเอาอำนาจเด็ดขาด ทุกอย่างมันอยู่ที่ว่าเราให้ความเป็นธรรมไหม"

ถึงอย่างไรประชาธิปัตย์ก็ถูกมองว่าฉวยโอกาส ยืมมือรัฐประหาร

"ไม่มีเลย หลังจากรัฐประหารพวกผมก็ไม่เคยไปทำอะไร นอกจากให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเวลาที่องค์กรตรวจสอบขอมา แต่ว่าพวกผมคือพวกที่ยืนสู้กับคุณทักษิณมาตลอด ยืนสู้ในวันที่คนที่ทำรัฐประหารบางคนอยู่ในระบอบทักษิณด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นผมไม่เคยคิดอะไร และในวันข้างหน้าที่ผมบอกว่าขณะที่เป็นไปได้ ที่บางส่วนบอกว่าคนในอำนาจปัจจุบันไปทำข้อตกลงกับคุณทักษิณ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นมันไม่มีเรื่องที่ผมจะไปยืมมือใครทั้งนั้น และมั่นคงเลย ถ้าวันหนึ่งมีการสืบทอดอำนาจ อำนาจเก่าอำนาจใหม่ขณะนี้จับมือกันและไม่ถูกต้อง ประชาธิปัตย์ก็จะสู้ ไม่กลัวด้วย เพราะเรายืนเป็นตัวของเรามาตลอด"

เราแซวว่าประชาธิปัตย์เจอข้อหาสุมไฟ

"บอกมาสิว่ามีอะไรบ้างที่ประชาธิปัตย์พูดเรื่องคุณทักษิณ ระบอบทักษิณ แล้วพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง ที่ผมอภิปรายมา 4 ปี มีอะไรบ้าง"

ท่าทีของประชาธิปัตย์ (บางคน) ก็ดราม่าเสียจนถือว่าเป็นการข้ามคนล้ม

"มันไม่ได้ช่วยอะไรประชาธิปัตย์ ที่จริงเวลานี้สิ่งที่พรรคต้องทำก็คือการมองไปข้างหน้า มองปัญหาของประเทศ ไม่มีประโยชน์อะไรที่ประชาธิปัตย์จะไปยุ่งกับคุณทักษิณตอนนี้ มีแต่ว่าวันนี้เราอยากจะบอกกับสังคมว่าคุณทักษิณผ่านพ้นไปแล้ว บ้านเมืองที่เป็นอยู่หลังคุณทักษิณความเสียหายต้องแก้ แต่บางเรื่องที่มันไม่ได้เสียหาย หรือมันมีความดีอยู่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปรื้อทิ้ง นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกกับประชาชน เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่ผมจะต้องไปทะเลาะกับคุณทักษิณอีกต่อไปแล้ว ผมต้องการให้กระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมกับคุณทักษิณและให้ความเป็นธรรมกับประเทศ อะไรผิดก็จัดการ ไม่ผิดก็ปล่อยไป จบ พวกผมมีหน้าที่ในการที่จะบอกกับประชาชนว่าจากนี้บ้านเมืองควรจะเดินไปอย่างไร คนที่จะมาแข่งขัน คุณบรรหาร คุณสมคิด คุณสมศักดิ์ เสธ.หนั่น หรือคุณเสนาะ คุณจาตุรนต์ มาพูดดีกว่าว่าวันข้างหน้าจะทำอะไร มันควรจะเป็นอย่างนั้น ผมก็บอกกับคนในพรรคอย่างนี้”

“แม้แต่เรื่องรัฐธรรมนูญผมเองก็พยายามหลีกเลี่ยงจะไม่พูดในประเด็นที่เป็นปัญหาของนักการเมือง จำนวน ส.ส.เขตใหญ่เขตเล็ก ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ปาร์ตี้ลิสต์ คือเราก็มีความเห็นของเรา แต่ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยโดยรวมไหม และถ้าเขาเห็นว่ามันจำเป็นต้องลดจำนวน ส.ส.แล้วมันดีกับประเทศ เราก็ไม่ขัดข้อง ที่จริงท่านหัวหน้าบัญญัติด้วยซ้ำเป็นคนพูดแต่แรกว่าน่าจะลดจำนวน ส.ส.ถามว่าจริงๆ เราเจ็บไหม เจ็บนะ หนักไหม หนัก เพราะต้องมานั่งพิจารณาว่าจะให้ใครลงไม่ลงเลือกตั้ง แต่ผมก็บอกเสมอว่าอย่างนี้เป็นปัญหานักการเมืองไม่ใช่ปัญหาประชาชน ก็ไม่เป็นไร เราก็แก้ไป ไม่มานั่งคิดได้เปรียบเสียเปรียบ คิดว่าระบบไหนดีกับประเทศ แข่งขันกันไป แต่ก็ให้แข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เราก็รับได้".

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องยกเลิกตรวจเก็บดีเอ็นเอชาวบ้านชายแดนใต้ทันที

$
0
0

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยุติการตรวจเก็บดีเอ็นเอชาวบ้าน ของเจ้าหน้าที่ทหารโดยอำนาจกฎอัยการศึก ชี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2555 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ส่งหนังสือร้องเรียนเรื่อง 'การตรวจเก็บดีเอ็นเอชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ทหารโดยอำนาจกฎอัยการศึก' ไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ขอให้ยุติการตรวจเก็บดีเอ็นเอชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ทหารโดยอำนาจกฎอัยการศึกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่อำเภอไม้แก่น  เวลา 8.00น. ถึง 17.00 น. มีปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ทราบสังกัด แต่ทราบว่ามาจากค่ายอิงคยุทธฯ ได้ดำเนินเรียกตัวชายอายุตั้งแต่ 16 ปี ถึง 35 ปี ที่เดินทางผ่านพื้นที่อำเภอไม้แก่น  และได้บังคับให้ขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ไปที่ว่าการอำเภอไม้แก่น ซึ่งมีพื้นที่จัดไว้สำหรับการตรวจเก็บดีเอ็นเอของบุคคลดังกล่าว  ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง สนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารฝ่ายปกครองเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อนำตัวชายอายุ 16 ปี ถึง 35 ปี ในพื้นที่ตำบลไทรทอง จำนวน 3 หมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ทหารขอดูทะเบียนบ้านของบ้านแต่ละหลัง จากนั้นได้เรียกตัวชายทุกคนให้เดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่มายังที่อว่าการอำเภอ  โดยแจ้งว่าจะมีการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ณ ที่ว่าการอำเภอด้วย รายงานระบุว่า ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดแต่ไม่สามารถขัดขืนได้ และปรากฎว่า มีเด็กชายอายุ14 -18 ปีจำนวนหนึ่งถูกดำเนินการพร้อมกับชายอายุ 18-35 ปีจำนวนกว่าร้อยคนเช่นเดียวกัน

รายงนระบุว่า เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งตั้งหน่วยตรวจเก็บดีเอ็นเอในที่ว่าการอำเภอ เมื่อชาวบ้านเดินทางไปที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่จะสอบประวัติ ประวัติการศึกษา แล้วนำไปตรวจปัสสาวะ ตรวจดีเอ็นเอในช่องปาก มีการนำกระดาษมาเช็ดที่ฝ่ามือและที่เสื้อผ้าแล้วบรรจุในซองกระดาษสีน้ำตาล ให้บันทึกลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว รวมทั้งการถ่ายรูปบุคคลสี่ด้าน พร้อมป้ายระบุชื่อนามสกุลบุคคล และให้ลงชื่อในเอกสารสอบประวัติ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งอำนาจหน้าที่และสาเหตุการตรวจสอบประวัติดังกล่าว

จากการสอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง (ปกปิดชื่่อ) เขาเดินทางออกจากบ้านเวลา 9 โมงเช้าจะออกจากบ้านที่ตำบลไทรทอง ระหว่างทางเป็นถนนจากตัวอำเภอไม้แก่นจะเดินทางไปที่ตำบลต้นไทร ตำบลปะลุกาสาเมาะ  มีเจ้าหน้าที่สกัดขอดูบัตรประชาชน  แล้วให้ขึ้นรถทหารไปตรวจดีเอ็นเอที่ว่าการอำเภอไม้แก่น ผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยอีกหนึ่งคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้เป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ตามไปที่อำเภอฯ  เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะตรวจทุกคนตามมาตรการนี้ จากการสอบถามพบว่า มีการตั้งด่านเชิญตัวบุคคลในพื้นที่อำเภอไม้แก่น ติดกับพื้นที่อำเภอสายบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 3 หมู่บ้าน

ด้วยเหตุดังกล่าว หนังสือร้องเรียนระบุว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การตั้งด่านสกัดบุคคลในการเดินทางเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทาง การตรวจเก็บประวัติลายนิ้วมือบุคคล ดีเอ็นเอจากช่องปาก และการนำกระดาษมาเช็ดตามร่างกายและเสื้อผ้า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิดใดใด  การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว นับเป็นการใช้อำนาจโดยพลการ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยุติการดำเนินการดังกล่าวโดยทันที  และหาแนวทางการป้องกันเหตุการณ์ก่อความไม่สงบโดยวิธิีการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สว.รสนา’ นำทีม ‘ผู้บริโภค’ เปิดครัวกลางสีลม ค้านขึ้นราคา ‘ก๊าซหุงต้ม’

$
0
0

‘สว.รสนา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประชาชนในนามเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน รวมตัวเคาะกระทะที่บริเวณหน้าตึกซีพี ถ.สีลม เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้านกระทรวงพลังงานที่พยายามจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)

 
17 ธ.ค.55 เวลา 10.00 – 13.00 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนกว่า 100 คน ในนามเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน จักกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนกรณีการประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในปี 2556 เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป ต่อประชาชนที่สัญจรไปมาหน้าตึกซีพี ถนนสีลม
 
นางสาวรสนา อธิบายถึงการปรับราคาก๊าซหุงต้มดังกล่าวว่า ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งค่าแรง 300 บาท ที่รัฐบาลประกาศขึ้นในต้นปี 2556 ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป
 
“ก๊าซ LPG ในประเทศจากโรงแยกก๊าซจะถูกเก็บไว้ให้ปิโตรเคมีใช้ ในราคาถูกกว่าตลาดโลก 40-50% คนกลุ่มน้อยจะรวยขึ้นจากทรัพยากรราคาถูกที่รัฐใช้อำนาจจัดสรรให้ ส่วนประชาชนถูกรัฐกำหนดให้ใช้ก๊าซ LPG นำเข้าจากต่างประเทศทั้ง 100% นำเข้าแค่ 22% แต่ให้ประชาชนใช้ในราคานำเข้าทั้ง 100% แล้วที่มีเองในบ้าน 55% จะเก็บไว้ให้ใครใช้ ถ้าไม่ใช่ปิโตรเคมี
 
ราคาก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลจะขึ้นราคาเดือนละ 50 สตางค์ ตั้งแต่เดือนมกราคม '56 เป็นต้นไป ฟังเผินๆ ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ฟังดีๆ คือขึ้นราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ ก๊าซถังละ 15 กิโล เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน พอครบปี ราคาจะเพิ่มขึ้นถังละ 100 บาท พอครบ 2 ปี ก็เพิ่มขึ้น 200 บาทต่อถัง กลายเป็นก๊าซหุงต้มถัง 15 กิโล จะ มีราคาถังละ 500 บาท
 
ข้าวแกงจะราคาเท่าไหร่ เมื่อถึงตอนนั้น คนรวยไม่เดือดร้อนหรอก แต่คนจน จะอยู่กันยังไง นี่หรือคือการกระชากค่าครองชีพให้ประชาชน นี่หรือคือการปรับราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อประชาชน
 
ค่าแรง 300 บาทเพิ่งจะได้ในปี 2556 แต่ก็ล้วงกระเป๋าคืนแล้วจากก๊าซหุงต้ม ถังละ 100 บาทในปี '56 พอปี '57 ก็ล้วงเพิ่ม 200 บาทต่อถัง ยังไม่รวมค่ารถ ค่าไฟ ค่าครองชีพที่ต้องพาเหรดขึ้นจนค่าแรง 300 บาทหมดความหมาย” สว.กทม.กล่าว
 
 
นางสาวรสนากล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลประกาศช่วยคนจนได้ใช้ก๊าซหุงต้มฟรีเดือนละ 6 กิโลกรัม แม่ค้าได้เดือนละ 105 กิโลกรัม ก็เป็นการบริหารที่ยุ่งยากมากเว้นแต่จะเอาไว้ให้แต่หัวคะแนนของตัวเอง และการช่วยคือเอาเงินหลวง เงินงบประมาณมาจ่าย แต่ธุรกิจพลังงานได้ไปเต็มๆ
 
“ลองประมาณรายได้ที่บริษัทธุรกิจพลังงานจะได้จากการเพิ่มราคาดู ครัวเรือนใช้ก๊าซหุงต้ม 2.6 ล้านตันหรือ 2,600 ล้านกิโลกรัม ขึ้น 6 บาทต่อกิโลกรัม ปี '56 จะได้เงินเพิ่ม 15,600 ล้านบาท ยานยนตร์ใช้ 9 แสนตัน หรือ 900 ล้านกิโลกรัมขึ้นมา 6 บาท จะได้เงินเพิ่ม 5,400 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรม SME ขึ้นมา 12 บาทใช้ปีละ  7 แสนตันหรือ 700 ล้านกิโลกรัม ก็จะได้เงินเพิ่ม 8,400 ล้านบาท ปี'56 จะได้รายได้เพิ่ม 15,600+5,400+8,400=29,400 บาท ภายใน1ปีได้รายได้เพิ่มเกือบ 30,000 ล้านบาท
 
ถ้าประชาชนต้องใช้ทั้งก๊าซ และน้ำมันใน ราคาตลาดโลกทั้ง 100% ทั้งที่นำเข้าก๊าซ LPG แค่ 22% ก็ขอเสนอให้ยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด แล้วนำเข้าทั้ง 100% จะดีไหม เราจะได้เก็บทรัพยากรเหล่านี้ให้ลูกหลานในอนาคตที่ฉลาดและไม่โกงไว้ใช้ต่อไป ดิฉันยินดีใช้ก๊าซราคาตลาดโลก เมื่อมีการนำเข้า 100% แต่ไม่ยอมใช้ก๊าซราคาตลาดโลภที่นำเข้าแค่ 22% แต่ให้จ่ายในราคา 100%” นางสาวรสนากล่าว
 
ก่อนปิดการรณรงค์นางสาวรสนาได้กล่าวว่า เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเรื่องราคาก๊าซแอลพีจี  อยากให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูลและนำข้อมูลมาดีเบสกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับการใช้ก๊าซแอลพีจีของประชาชนด้วย
 
และในวันที่พฤหัสบดี 20 ธ.ค. 55 นี้จะมีการรณรงค์อีกครั้งบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า facebook มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดรณรงค์สวัสดีปีใหม่ ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคา LPG ช่วยกันส่ง ส.ค.ส.นี้ถึงเพื่อนๆ รวมถึงเฟสบุ๊กนายกรัฐมนตรี รมต.พลังงาน และผู้บริหาร ปตท.ด้วย
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9 - 15 ธ.ค. 2555

$
0
0

 

ก.แรงงานเตรียมตั้งศูนย์รองรับผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมตั้งศูนย์อำนวยการ เพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อประชาสัมพันธ์แนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนโยบายนี้ และรับเรื่องร้องเรียนจากเอสเอ็มอี เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในอนาคต

ขณะที่ นางสมศจี ศิกษมัต ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติ ฝ่ายสถิติและข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปัจจุบัน ที่ต่ำกว่าระดับการใช้จ่ายตามอัตภาพ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การปรับแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาท เป็นการช็อกเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ โดยผลการศึกษาปีที่แล้ว(2554) ระบุว่า ควรทยอยปรับในอัตราร้อยละ 11 หรือเพียงพอต่อการใช้จ่ายตามอัตภาพที่วันละ 195 บาท จากเดิม 176 บาท บนสมมติฐานที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5.7 และปีหน้าที่ร้อยละ 4.6 ไทยต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานอีกร้อยละ 8 จากปัจจุบันร้อยละ 4 รวมถึงประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เช่น ใช้เครื่องจักรลดต้นทุนแรงงาน ขยายช่องทางการตลาด และมีมาตรการช่วยเหลือทางภาษีระยะสั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจติดลบ ส่วนระยะยาวต้องปรับแนวคิดการพึ่งพาแรงงานราคาถูก เพื่อรักษาขีดความสามารถสินค้าไทย

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 9-12-2555)

 

กระทรวงแรงงานเตรียมแก้ กม. ขยายอายุการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40

กระทรวงแรงานงานเดินหน้าดูแลคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบ แต่ผู้ที่อยู่นอกระบบก็ได้รับการดูแลไม่ต่างกัน ล่าสุดจะขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อการดูแลที่เท่าเทียมและครอบคลุมมากขึ้น สืบเนื่องการประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงานเพื่อผลักดันแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฯ จากเดิมที่แรงงานนอกระบบจะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี ขยายเป็นไม่เกิน 60 ปี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งกลุ่ม แม่ค้า เกษตรกร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและอื่นๆเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น

ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมตามมาตรา 40 แล้วกว่า 1.2 ล้านคน และตั้งเป้าเพิ่มอีก 1.4 ล้านคนเป็น 2.6 ล้านคนในปี 2556 นอกจากนี้ได้ประสานไปยังอาสาสมัครแรงงาน(อสร.)ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้ ประชาชนรับทราบแล้ว

(ประชาชาติธุรกิจ, 11-12-2555)

 

พนักงานฟาร์อีสปั่นทอบุรีรัมย์หวั่นถูกลอยแพพิษค่าแรง 300 บาทหลังบริษัทบีบไปทำงานต่างสาขา

พนักงานและลูกจ้างบริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ้านพุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 99 คน นำโดยนางคำปัน ก่ำแก้ง แกนนำ ได้รวมตัวกันที่โรงอาหารของบริษัทฯ ยื่นหนังสือให้กับนายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และ ว่าที่ร้อยตรี อภินันท์ เผือกผ่อง นายอำเภอพุทไธสง ช่วยเหลือกรณี บริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 จะโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ตามที่บริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ได้มีประกาศให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่ การ์เมนท์ 5 โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป อีกทั้งประกาศที่ทางนายจ้างแจ้งให้ทราบนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่า 30  วัน คือหนังสือประกาศลงวันที่ 7  ธ.ค. ตัวแทนของนายจ้างยื่นต่อตัวแทนของลูกจ้างให้ทราบในวันที่ 10 ธ.ค.โดยให้พนักงานย้ายไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้นายจ้างอ้างว่าทางบริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าลดลงทำให้ปริมาณ ของงานลดลง ไม่เพียงพอกับการทำงานของพนักงานเป็นการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตสินค้าและ ด้านพลังงานเพื่อที่จะให้พนักงานทำงานอย่างทั่วถึง ซึ่งการอ้างเหตุผลดังกล่าวนี้ทางฝ่ายลูกจ้างเห็นว่ามิใช่เหตุผลอันควร เนื่องจากการโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ในครั้งนี้นั้นทางบริษัทฯ ของนายจ้างไม่มีสวัสดิการทางรถรับ-ส่งให้พนักงานเลย

นางคำปัน กล่าวว่า การโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 อ.เมืองบุรีรัมย์เป็นการบีบพนักงานลูกจ้างทางอ้อม เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300 บาทต่อวัน ที่จะเริ่มให้เดือน ม.ค.2556 นี้ จึงทำให้ทางบริษัทพยายามปรับลดพนักงานลง แล้วอ้างเหตุให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวแทนซึ่งปัจจุบันพนักงานได้ค่าจ้าง วันละ 232 บาท หากบริษัทฯยังยืนยันจะให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตามประกาศพวกเราคงต้องเรียกร้องสิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541บอกเลิกสัญญาจ้างขอให้ทางฝ่ายนายจ้าง จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้ รับ
 
ด้าน นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า จะเรียกทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างของบริษัท ฟาร์อีสปั่นทอฯมาเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน จะดำเนินการอย่างไรกับข้อเรียกร้องคือพนักงานไม่มีความประสงค์จะไปช่วยงาน ชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 แต่ขอให้ทางบริษัทฯเอางานมาทำที่บริษัท ฟาร์อีสปั่นทอ ตามเดิมแต่หากบริษัทไม่ยินยอม ทางพนักงาน ลูกจ้างขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บอกเลิกสัญญาจ้าง ขอให้ทางฝ่ายนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

(โพสต์ทูเดย์, 11-12-2555)

 

สาธารณสุขจ่อบรรจุลูกจ้าง

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด(สธ.)กล่าวการเตรียมพร้อมภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสธ.21 สาขาวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน โดยตำแหน่งที่ได้จะเฉลี่ยตกปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณ สุข(ก.สธ.)ว่าจะหารือเพื่อกำหนดสัดส่วนการบรรจุแต่ละวิชาชีพต่อไป โดยใช้เกณฑ์พิจารณา คือความขาดแคลนพื้นที่ห่างไกล และภาระงาน ขอให้มั่นใจว่าการพิจารณาจะอิงความเป็นธรรมทุกฝ่ายและพร้อมจะบรรจุได้ใน เดือนมกราคม 2556

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุรวมไปถึงลูกจ้างชั่วคราวสายสนับ สนุน มีอยู่1แสนกว่าคนจะถูกยกสถานะเป็นพนง.ก.สธ.จะเน้นเรื่องสิทธิสวัสดิการที่ สูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนการปรับอัตราเงินเดือนจะเป็นในกลุ่มสายวิชาชีพ 21 สายงาน สำหรับสายสนับสนุน อาทิ พนง.เข็นเปล พนง.ทำความสะอาด ธุรการ ผู้ช่วยพยาบาล ฯลฯ การจะปรับอัตราเงินเดือนนั้นต้องอยู่ที่ระเบียบซึ่งเป็นไปตามวุฒิการศึกษา หากเพิ่มวุฒิการศึกษาก็จะปรับขึ้นเงินเดือนได้ แต่ในร่างระเบียบพนง.ก.สธ.จะมีการขึ้นเงินเดือนให้สายสนับสนุนอยู่แล้วจะ เลื่อนค่าจ้างปีละ 1 ครั้งโดยเพิ่มวงเงินร้อยละ 6 ต่อปีเท่ากับข้าราชการ ที่เรียกร้องค่าเสี่ยงภัยโดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่ทำงานในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องแยกออกจากกันคนละส่วน ค่าเสี่ยงภัยอยู่ระหว่างพิจารณา

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเบื้องต้นอยู่ระหว่างขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงการ ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายใน สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามหากไม่เป็นผลยังคงยืนยันตามเดิมจะขอหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556

(ข่าวสด, 12-12-2555)

 

พนง.บริษัทไมเออร์ฯ เรียกร้องสวัสดิการ

(12 ธ.ค.) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี กลุ่มพนักงานบริษัท ไมเออร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีการรวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงงานซึ่งมีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน และได้ส่งตัวแทนมาร่วมเจรจากับนายจ้าง และเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อหาข้อยุติในข้อเรียกร้องที่ เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย
      
ที่ผ่านมา ทางพนักงานได้เจรจากับนายแจ้งมาแล้ว 3 ครั้ง และยื่นข้อพิพาทมาแล้ว 2 ครั้งโดยยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ผ่านมายื่นข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 16 ข้อ แต่ขณะนี้ตัดเหลือเพียง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอค่าเช่าบ้านให้แก่พนักงาน 1,000 บาทต่อเดือน 2.ข้อค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จากที่ได้รับเพียง 650 บาท และขอโบนัส 5 เดือน ซึ่งไม่เคยได้รับเลย หลังทำงานมานานถึง 20 ปีแล้วไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย โดยรวมตัวเรียกร้องในครั้งนี้เป็นครั้งแรก
      
นายประเสริฐ ทองดี ตัวแทนพนักงานบริษัทฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางพนักงานไม่เคยออกมารวมตัวเรียกร้องแต่อย่างใด แต่ระยะหลังมีแรงกดดันจากโรงงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงาน จึงต้องออกมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิเหมือนโรงงานอื่นๆ บ้าง
      
การเรียกร้องในครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เพราะที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ไม่เคยให้ความสนใจพนักงานมานานถึง 20 ปี ซึ่งเมื่อออกมาเรียกร้องแล้ว ทางบริษัทมองว่า ขาดรายได้จากการจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ โดยไม่มองว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้กำไรไปเท่าไรแล้ว เพราะหากไม่มีกำไร โรงงานจึงขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      
ด้านนายฐิติพงศ์ ประยูรพาณิชย์ ตัวแทนพนักงานกล่าวว่า ครั้งนี้ตนออกมาเป็นตัวแทนเพื่อต้องการช่วยเหลือน้องๆ ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ เพราะปัจจุบัน สวัสดิการต่างๆ ไม่สามารถสู้โรงงานอื่นๆ ได้ แต่พนักงานไม่สามารถจะออก หรือย้ายไปอยู่โรงงานอื่น เนื่องจากหลายคนมีอายุมากแล้ว จะย้ายไปอยู่ที่อื่นคงไม่มีโรงงานไหนรับเข้าทำงาน
      
การรวมตัวในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ทางบริษัทออกมาช่วยเหลือพนักงานบ้าง เพราะได้ช่วยเหลือบริษัทมานานแล้ว ก็ควรที่จะตอบแทนให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานบ้าง ล่าสุดการเจรจาเหลือเพียงเรื่องโบนัสเท่านั้น ที่อยู่ระหว่างการต่อรอง เพราะพนักงานเรียกร้องไป 5 เดือน ทางบริษัทว่าสูงไป และลดเหลือ 3.25 เดือน แต่บริษัทว่าสูงไป และจะให้เหลือเพียง 1.2-1.8 เดือน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2555)

 

เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างฯพอใจ สธ.เร่งบรรจุเป็นข้าราชการ

น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา ศรีหอมชัย เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 21 สายวิชาชีพ เป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) ตามที่ สธ.เสนอ ว่า ทางเครือข่ายฯรู้สึกพึงพอใจกับการแก้ไขปัญหากำลังคนของ สธ. แม้อาจจะไม่ทั้งหมด 100% เพราะเดิมที่เราขอให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดภายในครั้งเดียว แต่อย่างน้อยก็เห็นว่า สธ.และรัฐบาลมีแนวทางการแก้ปัญหาจริง ซึ่งเราก็เห็นใจเพราะการบรรจุข้าราชการต้องใช้งบประมาณเยอะ การที่รัฐบาลรับปากจะบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 21 สายวิชาชีพให้เป็นข้าราชการภายใน 3 ปี ก็ถือว่ามีความพอใจในระดับหนึ่ง
      
น.ส.ศิริรัตน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ยังไม่เห็นสัดส่วนที่แน่ชัดว่าแต่ละสายวิชาชีพจะได้บรรจุเป็นข้าราชการมาก น้อยเท่าใด รวมถึงจะถูกปรับสถานะเป็นพนักงาน กสธ.เท่าไร ตรงนี้ต้องรอการประชุมร่วมกับ สธ.อีกครั้งหนึ่ง สำหรับร่างระเบียบพนักงาน กสธ.ได้เห็นคร่าวๆบ้างแล้ว ว่ามีสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ แต่ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ตรงนี้ทางเครือข่ายฯจะต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสมอีกที
      
สำหรับกรณีภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย เตรียมนัดหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556 หากไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียม พนักงาน กสธ.สายวิชาชีพ น.ส.ศิริรัตน์ กล่าวว่า ทางภาคีฯไม่ได้เข้ามาปรึกษาหารือกับทางเครือข่ายฯ จึงไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด ที่สำคัญทางเครือข่ายฯไม่ทราบว่าการทำงานของสายสนับสนุนมีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่หากกลุ่มสายสนับสนุนมีความเดือดร้อนจริง การออกมาเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่ทำได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2555)

 

เตรียมบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่า 1 แสนคนเป็นพนง.สธ.

ที่โรงพยาบาลสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสูงเม่น และสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหากำลังบุคลากรของกระทรวงสาธารณ สุข ว่า ในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ มีกำลังบุคลากรทั้งข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงฯ ที่มีกว่า 10,000 แห่ง รวมประมาณ 320,000 คน ประกอบด้วยข้าราชการ 180,000 คน ที่เหลืออีก 140,000 คนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน เช่นพยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักการแพทย์แผนไทยที่ปฏิบัติงานตั้งแต่พ.ศ. 2549-2555 รวมทั้งหมด 30,188 คน ล่าสุดนี้มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นสายวิชาชีพ จำนวน 21 สายงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้อนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อบรรจุลูกจ้างดัง กล่าวรวม 22,641 อัตรา ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วน ภายในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 เฉลี่ยบรรจุปีละ 7,547 อัตรา ในปีงบประมาณ 2556 นี้ จะบรรจุทั้งหมด 8,446 อัตรา และปี 2557-2558 บรรจุปีละ 7,547 ตำแหน่ง

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่อยู่นอกเหนือ 21 สายงานวิชาชีพ และลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 117,000 คนทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและความมั่นคงในอาชีพ โดยจะรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือ พกส. ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉบับที่ 1 ได้แก่ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่งจะมีคณะกรรมการบริหารหลักเกณฑ์ต่างๆ 6 ชุด ได้ แก่ 1.ชุดกำหนดประเภทตำแหน่งลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน 2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานฯ 3.ชุดกำหนดค่าจ้างพนักงาน 4.ชุดสิทธิประโยชน์ 5.ชุดการประเมินผลการปฏิบัติงาน และ6.หลักเกณฑ์การลาออกจากการปฏิบัติงานระหว่างสัญญาจ้าง

ฉบับที่ 2 คือ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงหน่วยบริการใน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ขณะนี้ได้เสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้รับการตอบกลับมาในเร็วๆนี้ และเมื่อได้รับความเห็นชอบตอบกลับมาแล้วก็จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมกราคม 2556 นี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าจะมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น มีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า จะได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถลาศึกษาต่อได้ มีการประเมินขึ้นเงินเดือน มีโบนัส ได้รับค่าจ้างระหว่างลา มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลางาน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น

(เนชั่นทันข่าว, 15-12-2555)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร

$
0
0

ระบุกระสุน ขนาด .223 สังหาร "ชาติชาย ชาเหลา" คืน 13 พ.ค.53 ถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ ส่งสำนวนกลับไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป

วันนี้(17 ธ.ค.55) เวลา 10.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา ตามคดีหมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ การตายของ นายชาติชาย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการจึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

โดย ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลา 23.37 น. โดยเหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ทั้งนี้ศาลยังได้พิเคราะห์ ถึงพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ระบุข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค.53 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ใหม่ แต่นายกปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่ม นปช. จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม.และอีกหลายพื้นที่ โดยนายกฯ ได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ(นายสเทพ เทือกสุบรรณ) และมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้ออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้

โดยระหว่างวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 06.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการ ได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณ ถนนพระราม 4 ซึ่งในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน  ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คำสั่งศาลระบุถึงปัญหาต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร โดยศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งปรากฏจากทางไต่สวนว่าจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงาน ตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ซึ่งเจ้าพนักงานใช้ประจำการในการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรงดังกล่าว โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ

ศาลอ่านรายงานในวันนี้ด้วยว่าหลังจากศาลได้อ่านคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 11

ญาติและทนายญาตินายชาติชาย ชาเหลา

ในวันนี้ได้มีภรรยา แม่และญาติของผู้ตายเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย และภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว นางพลอน ขบวนงาม มารดานายชาติชายผู้ตาย ได้ถือรูปผู้ตายมาพร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจเมื่อทราบคำสั่งของศาล แต่ก็ยังโกรธจากที่ลูกชายตัวเองต้องเสียชีวิต อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ถือได้ว่าคดีเดินมาในแนวที่ถูกต้อง จากการได้ทราบสาเหตุการณ์ตาย โดยครอบครัวได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตามการเสียลูกชายไปส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมากเพราะเขาจะช่วยครอบครัวด้วยการขับรถแท็กซี่

พี่สาวของนายชาติชาย กล่าวด้วยว่าตนเองยังรู้สึกโกรธอยู่เพราะน้องชายตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับต้องมาถูกทำร้าย อยากถามถึงคนที่ยิงน้องชายตัวเองว่าถ้าเกิดกับครอบครัวตัวเองบ้างจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็ภูมิใจที่น้องตนเองจากคำตัดสินวันนี้ และยังมีคนติดตามสนใจการเสียชีวิตของน้องตัวเอง ถือว่าน้องตัวเองไม่ได้เสียชีวิตฟรี พี่สาวนายชาติชายยังกล่าวถึงน้อยชายตัวเองด้วยว่าเขาเป็นคนสู้ แม้เป็นเพียงคนขับรถแท็กซี่ ขนาดแท็กซี่เขาถูกยึดไปเขายังสู้จนตัวเขาตาย คิดว่าคนที่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้เขาก็คงรู้อยู่แก่ใจ

สำหรับคดีของนายชาติชาย ถือเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการสลายการ ชุมนุมของ นปช. ช่วง เมษา – พ.ค. 53 โดยก่อนหน้านั้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว 2 คดีคือคดีของนายพัน คำกองและนายชาญณรงค์ พลศรีลาว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีนายพัน ดีเอสไอได้นำพยานหลักฐานจากคำสั่งไปแจ้งข้อหาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

และหลังจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ รอคำสั่งศาลคือ 20 ธ.ค.นี้ คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา”อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำ ให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ นายพัน คำกอง

และ 16 ม.ค.นี้ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: การเมืองเรื่อง กสม. เมื่อคนในขัดขากันด้วยข้อกล่าวหา “ฝักใฝ่เสื้อแดง”

$
0
0

จดหมายเปิดผนึก สะท้อนการเมืองภายในของกสม. ที่แสดงทัศนคติของคนทำงานในสำนักงานกสม. ต่อสิทธิทางการเมืองของประชาชน เมื่อกสม. รายหนึ่งถูกโจมตีว่าฝักใฝ่และเป็นใจให้คนเสื้อแดงรวมไปถึงการพยายายามแก้ป.อาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สิ่งนี้อาจจะช่วยสะท้อนว่า เหตุใดการทำงานของกสม. จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นนิจ

ความวัวจากการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่นประจำปียังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อเอกสารจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ร่อนถึง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ความว่า เจ้าหน้าที่กสม. ซึ่งใช้นามแฝง “เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ที่รักองค์กรและบ้านเมือง” ส่งจดหมายถึงนายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหา น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์ วัชระ ว่าเป็น “เสื้อแดงตัวจริงในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (อ่านเอกสารจากไฟล์แนบท้ายข่าว)

เนื้อหาจดหมายดังกล่าวระบุว่า น.พ.นิรันดร์ มีพฤติการณ์เชื่อมโยงกับกลุ่มนปช. หลายเรื่องดังนี้...

“1 สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีน.พ.นิรันดร์ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไข (เพิ่มเติม) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีนายจอน อึ๊งภากรณ์ (พี่ชายของนายใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีนักวิชาการในกลุ่มนิติราษฎร์ เช่น นางสาวสาวตรี สุขศรี  เป็นหนึ่งในคณะทำงาน”

“2 มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ จนถึงขั้นเชิญมาอบรมปฐมนิเทศข้าราชการบรรจุใหม่และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เมื่วันที่ 13-14 มกราคม โดยเฉพาะนายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งได้แสดงความเห็นจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยอย่างร้ายแรง”

“3 นำพรรคพวกเข้ามาเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการที่ตนเองเป็นประธานอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ เป็นการหาเงินให้พรรคพวกใช้ในการจ้างทำวิจัย จ้างเขียนรายงานผลการศึกษา จ้างเขียนผลการตรวจสอบ เบี้ยประชุม การลงพื้นที่จัดสัมมนา ผลงานที่ได้ไม่คุ้มค่าเงินงบประมาณหลายล้านบาทในแต่ละปี โดยวางแผนว่าเมื่อหมดวาระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2558 จะลงสมัคร ส.ส. อุบลราชธานี จึงทำทุกวิถีทางที่จะเอาใจเครือข่ายตนเอง”

“4 อยู่เบื้องหลังการที่นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด (น้องเกด) พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 และกลุ่มเสื้อแดง บุกเข้ามาที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 โดยยื่นข้อเรียกร้องให้ประธาน กสม. (ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์) ลาออกจากตำแหน่งประธาน กสม. แต่เพียงผู้เดียว (โดยไม่ไล่ กสม. ทั้งคณะ) ซึ่งนายแพทย์นิรันดร์ฯ เป็นผู้ประสานงานให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่สุดท้ายได้ออกมารับกลุ่มคนเสื้อแดงและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในทำนองที่เป็นการเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น (เอกสาร 3)”

“นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้รายงานผลการตรวจสอบกสารละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงมที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ที่ดำเนินการเสร็จแล้วและเตรียมจะเปิดแถลงข่าวเมื่อปี 2554 ถูกระงับและมีรายงานรั่วออกไปภายนอก เพราะผลการตรวจสอบไม่ถูกใจกลุ่มคนเสื้อแดง

“ปัจจุบัน นอกจากการไปพูดในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว ยังมีความสัมพันธ์หรือพยายามเข้าไปมีสัมพันธ์กับแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง จึงอาจเป็นไปได้ว่าจะกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“ข้าพเจ้าเห็นว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะเป็นกลางทางการเมือง และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การกระทำของนายแพทย์นิรันดร์ฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ไม่ให้ความเคารพสถาบันอันเป็นที่เคารพสูงสุด และเลือกอยู่ข้างกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องเสื่อมเสีย จึงขอส่งข้อมูลนี้มาเพื่อทราบและดำเนินการตามที่เห็นสมควร”

จดหมายดังกล่าวลงวันที่ 17 ตุลาคม 2555 โดยมีเอกสารแนบท้ายเป็นข่าวและการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอและปรับปรุงแก้ไข (เพิ่มเติม) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง

จดหมายฉบับดังกล่าว นอกจากสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในการทำงานของกรรมการสิทธิแล้ว ยังสะท้อนทัศนะคนทำงานในองค์กรอิสระของรัฐในการทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน

คำถามที่อาจจะสะท้อนได้เร็วๆ ประการหนึ่งคือ การเป็นคนเสื้อแดง นั้นเป็นความผิดฐานใดสำหรับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจากภาษีของรัฐไปจำนวน 173 ล้านบาทต่อปี

 

 

อ้างอิง

พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจายประจำปี งบประมาณ ปี พ.ศ.  2555 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/015/1.PDF

AttachmentSize
P01.pdf297.96 KB
P02.pdf421.01 KB
P03.pdf440.45 KB
P04.pdf354.03 KB
P05.pdf403.64 KB
P06.pdf349.8 KB
P07.pdf287.24 KB
P08.pdf239.47 KB
P09.pdf445.58 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถล่มสองแถวนราฯ เหมารับส่งข้าราชการ ตาย 2 เจ็บ 5 รวมครู

$
0
0

คนร้ายแต่งชุดลายพราง ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสองแถวสายนราธิวาส – สุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เผยรู้ตัวแล้วมือฆ่าผอ.โรงเรียนท่ากำชำ

เมื่อเวลา 16.50 น. วันที่ 17 ธันวาคม 2555 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนแต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหารบกใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่รถโดยสารประจำทาง (รถสองแถว) สายนราธิวาส - สุไหงปาดี - สุไหงโก - ลก ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เหตุเกิดบนถนนสาย 4056 บูเก๊ะตาโมง - ไอกูบู บ้านบูเก๊ะตาโมง หมู่ที่ 7 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า ผู้เสียชีวิต คือ นางสาวเนาวรัตน์ ลีนิน เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส และนางปาตีเมาะ สาและ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสุไหงปาดีเช่นกัน

ส่วนผู้บาดเจ็บซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ได้แก่ นางเสาวณีย์ ลิ้มศิริวะนนท์ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี นางวีอัจฉรา หะยะมิน เจ้าหน้าที่ธุรการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ปะลุรู นายวัญซ์ หมวดดา เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลปะลุรู นางฉวีวรรณ์ อ่อนหวาน ข้าราชการครูโรงเรียนบ้านจือแร ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี และนางจิตตรา มะดาอิน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลปะลุรู ทั้งหมดถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

สอบสวนทราบว่า ขณะที่ทั้งหมดรวม 14 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่เทศบาลปะลุรู 5 คน เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสุไหงปาดี 3 คน, ข้าราชการครู 3 คน เจ้าหน้าที่ธุรการตำบลปะลุรู 1 คน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินสุไหงปาดี 1 คน และพนักขับรถ 1 คน เดินทางโดยสารมากับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว ยี่ห้ออีซูซุ ป้ายสีเหลือง ทะเบียน 10-0934 นราธิวาส ซึ่งรับจ้างเช่าเหมารับส่งข้าราชการดังกล่าวจากพื้นที่อ.เมือง ไปกลับ อ.สุไหงปาดีเป็นรายเดือน ระหว่างทางคนร้ายที่ซุ่มอยู่ในป่าข้างทางใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงใส่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว คนขับจึงเร่งเครื่องหลบหนีและจอดรถขอความช่วยเหลือห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร

หลังก่อเหตุคนร้ายได้โปรยตะปูเรือใบตามถนนสายดังกล่าว เพื่อป้องกันการติดตามหรือเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ก่อนหลบหนีไป สาเหตุเชื่อว่าเป็นการกระทาของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 (ฉก.ทพ.48) ร่วมกับตำรวจสถานีตำรวจภูธร (.สภ.)เจาะไอร้อง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.เจาะไอร้อง เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตามเส้นทางตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะต้องสงสัย

นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้รู้ตัวคนร้ายที่ก่อเหตุยิงนางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมาแล้ว 2 คน ซึ่งมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อยู่แล้ว โดยเป็นคนในพื้นที่ ต.ท่ากำชำ อีกคนเป็นคนในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ขณะนี้ตำรวจ กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับ

“ทางจังหวัดขอความร่วมมือจากชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยครู โดยในจังหวัดปัตตานีมีโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 66 โรงจากทั้งหมด 332 โรงหรือคิดเป็นร้อยละ20” นายประมุข กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน (2)

$
0
0

ที่ผ่านมา มุสลิมที่กลายเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศและมักตั้งคำถามเพียงด้านเดียวเสมอ นั่นก็คือ “คนไทยพุทธไม่เข้าใจในความเป็นมุสลิมอย่างเรา ?”

ในนามของคำว่า “มุสลิม” การขบคิดลักษณะนี้ มักเป็นปัญหาตามมาเสมอ เพราะเป็นตรรกะที่มักจะคิดเอาตัวเอง “เป็นศูนย์กลาง” ในการโคจรแห่งความเป็นเพื่อนร่วมโลก  ไม่ต่างกัน  ในนามคำว่า “ไทยพุทธ” ก็จะต้องปรับทัศนคติเพื่อหาทางออกร่วมกัน

อีกมุมหนึ่งที่มุสลิมอย่างเราต้องคิดนั่นก็คือ “มุสลิมอย่างที่เราเป็นเข้าใจความเป็นพุทธมากน้อยแค่ไหน ?”

ด้วยเหตุนี้ มุสลิมก็ต้องศึกษาความเป็นพุทธที่เราต้องคลุกคลีด้วยในทุกวัน เพราะเราใช้ชีวิตร่วมกันและ “รากเหง้าของความเป็นเรา” มันสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อย่างน้อยก็รากเหง้าของเรา (ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม) มาจากสายตระกูลเดียวกันโดยมาก นั่นก็คือ “ลัทธิฮินดู-พราหมณ์และศาสนาพุทธ” (มหายาน) ใน อาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนจะมาเป็น       ”อิสลาม” ใน อาณาจักรปาตานีดารุสลาม

 เอาเข้าจริง  อิสลามก็เพิ่งเข้ามาในปัตตานียุคสมัยของ พญา ตู  นักปา  อินทิรา  มหาวังสา แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “อิสมาอีล  ชาห์  ซิลลุลลอฮฺ  ฟิลอาลัม”  ปี ค.ศ.1457  เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่ได้เป็นทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธอย่างที่เราเป็นกัน

เอาเป็นว่า ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม มันคือ พื้นที่และบทเรียนที่เราต่างแสวงหามาพอ ๆ กัน และเราก็มีความสัมพันธ์มาเหมือนกัน เจ็บมาก็ไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นมิตรสหายกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายอย่างตัดขาดกันไม่ได้อย่างแน่นอน

และมุมกลับกันของคนไทยพุทธ “ต้องศึกษาความเป็นอิสลาม” ด้วยคำถามที่ว่า“อิสลามคืออะไร ?” แล้วเริ่มกันหาคำตอบร่วมกัน ไม่ใช่ศึกษาและเข้าใจแค่เพียงว่า “อิสลามไม่กินหมู” อย่างเดียว

เอาเข้าจริง บุคคลที่เราควรศึกษาวันนี้ ไม่ใช่ ยิว คริสต์ หรือ ฮินดู แต่สำหรับ คนไทย สิ่งที่เราควรศึกษาและเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “พุทธ-อิสลาม” เพราะเราต่างก็คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ ชีวิตเราอยู่ท่ามกลางความเชื่อเหล่านี้ คนจำพวกนี้ และวางรกรากในพื้นที่แห่งความไม่เหมือนเหล่านี้ดำรงอยู่ ทว่าเมื่อเราไม่เข้าใจ มันคือ “ชะตากรรมแห่งความรุนแรง”

ไม่ต่างจาก ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากสำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจใน “ 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”

ภายใต้นิยามที่ชื่อว่า “ความรุนแรงเชิงคุณภาพ ; ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเข้มขันยิ่งขึ้น”[2]

ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจใต้นิยามสถานการณ์ชายแดนใต้ว่า

“ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันได้ก้าวย่างเข้าสู่ 105 เดือน (นับตั้งแต่มกราคม 2547 –กันยายน 2555) มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 12,377 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกัน14,890 ราย เสียชีวิตประมาณ 5,377 ราย ผู้บาดเจ็บประมาณ9,513 ราย”

ข้อมูลที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ “เหตุการณ์ในเดือนมีนาคม 2555 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตร่วมกันถึง 603 คน ในเดือนนี้ นับเป็นเดือนที่มีสถิติการบาดเจ็บบวกกับการตายในรายเดือนสูงสุดตั้งแต่ปี 2547  และในเดือนสิงหาคม 2555 มีเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 380 เหตุการณ์ ในเดือนนี้มีสถิติความถี่ของการก่อความไม่สงบรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่มกราคม 2547”

ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้แจงและตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  มันไม่ใช่แค่เพียงการนับจำนวนตัวเลขอย่างตื้น ๆ อย่างธรรมดา ๆ ทว่าสิ่งนี้กลับเป็น ตัวเลขมีชีวิตและมีความสูญเสียอย่างคณานับอยู่เบื้องหลัง”[3]

จากตัวเลขดังกล่าวพอที่จะบอกเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ได้ว่า “เราต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะในแต่ละวันนับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราต้องสูญเสียคนที่เรารักหรือเพื่อนร่วมโลกอย่างน้อยวันละประมาณ ๒ คน”

นี่คือความรุนแรงที่เราได้ก่อมันให้เกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยเหคุผลที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยใดใดก็ตามที  บ้างอาจจะเกี่ยวข้องกับความไม่ยุติธรรมตามการศึกษาของนักสิทธิมนุษยชน  ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาจากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ อาจจะมีเกิดจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมของกลุ่มคนที่ได้รับความไม่เท่าเทียมในสายตาของกองทัพปลดแอก  คงไม่พ้นจากการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หรือเกิดจากการไร้วิถีของศาสนาและการหลุดลุ่ยของชีวิตใต้แบบแห่งศาสนาผ่านแนวคิดของนักการศาสนา ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบของกลุ่มผู้ก่อการในสายตาของรัฐไทยและกองทัพ  ความไม่ลงตัวของผลประโยชน์ของผู้แสวงหาอำนาจและกอบโกย

เกิดจากการปกครองที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยใต้สายตานักการเมืองท้องถิ่น เกิดจากระบบการศึกษาที่กดขี่และไม่มีความชัดเจนผ่านแว่นขยายของนักการศึกษา  อาจเกิดจากการแพร่หลายของยาเสพติดจากการสำรวจของงานสาธารณะสุข อาจเกิดจากการกดขี่ของรัฐบาลกับการเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยในสายตาของนักเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสถานการณ์ เกิดจากระบบการจัดการคดีความมั่นคงไม่ทั่วถึงจากการสำรวจนักกฎหมาย ความไม่เท่าเทียมในสิทธิของพลเมืองในสายตาชาวบ้าน

หรืออาจ เกิดจากการขัดแย้งและแย่งชิงตำแหน่งและหน้าที่การงานกันเองของ (นักการเมืองท้องถิ่น -นักการศาสนา) ที่เมืองชายแดนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และยกระดับการเป็นอยู่ของสายตระกูลให้ดีขึ้น

ทว่า เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้จบลง ความสูญเสียได้เกิดขึ้น ภายใต้รากเหง้าแห่งความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด (ต่างกันแค่ศาสนาไทยมุสลิม-ไทยพุทธ)  เกือบจะทุกสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่ได้ยินตามมาและกลายเป็น บทสรุป คือ  “ความเป็นไทยพุทธ-ความเป็นมุสลิม เพราะเราไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนต่างโยนความผิดมาให้กับความต่างเหล่านี้ว่าด้วยหลักความเชื่อ หลักการศรัทธาและวิถีปฏิบัติ จนกระทั่งกลายเป็น “แพะที่คอยรับบาปมากว่า 9 ปี”

ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ได้ยืนยันถึงความต่างที่เราต้องเรียนรู้กันเพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาด้วยความไม่เหมือนเพียงเพราะว่า “เพื่อทดสอบมนุษย์ว่า ในความไม่เหมือนเหล่านี้ มุสลิมที่ถืออัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญ ยังดำเนินตามเจตนารมณ์แห่งความเป็นอิสลามได้หรือ ไม่ เพราะในความต่าง อิสลามก็จะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยกและวุ่นวาย”

 อัลกุรอ่านได้บอกอย่างชัดเจนว่า “และหากอัลเลาะฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนก็ทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน แต่ทว่า เพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า” (5 ; 48)

เพราะเป้าหมายแห่งความต่าง นั่นก็คือ การทำความเข้าใจกันและเรียนรู้ในความไม่เหมือนกัน

 “พระเจ้าให้เราไม่เหมือนกัน เพียงเพื่อทดสอบว่าเรา เอาอะไรมาจัดการความไม่เหมือน อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือ หลักการศาสนา”

ในอัลกุรอ่านได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนที่สุด

“เราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่พวกเจ้าด้วยความจริง ในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์นั้น ดังนั้นเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานลงมาเถิด  และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขาออกจากความจริงที่มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้” (๕ ; ๔๘)

ในมุมของอิสลาม มักวางทุกอย่างไว้บนรากฐานแห่งอัลกุรอ่านเสมอ ด้วยคัมภีร์เหล่านั้น คือ ความกระจ่างที่สุดในการตัดสินปัญหาและความเป็นสังคมโลกที่มีคนไม่เหมือนเรา หรือ เราไม่เหมือนเขามักร่วมอยู่ด้วยเสมอ

“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิงและเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติในหมู่ของพวกเจ้า ณ ที่อัลเลาะฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลเลาะฮ์นั้นเป็นผู้รู้รอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (49 ; 13)

นี่คือส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เมื่อ เราต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นก็คือ การไดอะล็อก หรือ การหาทางออกร่วมกันด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่าง เพราะ “ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ในความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน” มันคือคำถามที่หนักอึ้งและเป็นภาระคนรุ่นใหม่อย่างเราต้องจัดการร่วมกัน

หาไม่แล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ “มรดกแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังที่จะพรากเพื่อนร่วมโลกไปอย่างน่ากลัวและจะกลายเป็นของขวัญอันน่าสยองนำไปสู่คนในรุ่นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

กระทั่ง   Asghar Ali Engineer ได้แลกเปลี่ยนใน “The Need For Inter-Religious Dialogue” ผ่านความจำเป็นที่สำคัญของการไดอะล็อกนั่นก็เพื่อ

ประการแรก         เพื่อเรียกร้องให้คนเข้ามาสนใจประเด็นแห่งความต่างเพราะการไม่ให้ความสำคัญมักจะนำไปสู่ปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดความรู้สึกถึง “การไม่ใส่ใจผู้อื่นรอบข้าง”

ประการที่สอง      นำไปสู่ความกระจ่างของความไม่เข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เพราะโดยมาก ความไม่เหมือนที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายมักนำไปสู่การเข้าใจผิดเสมอ ๆ [4]

 “ขุดรื้อโคนต้นและรากเหง้า แล้วจะเข้าใจถึงดอกและใบแห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)  เรียนรู้ผ่านกิ่งก้าน เกสรและเมล็ดผลที่มักฉายให้ประจักษ์ถึงสายพันธุ์แห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)   ซึมซับถึงสายเลือดที่โยงใยและเชื่อมร้อยให้เข้ากันระหว่างเรา(ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)   กระทั่ง เรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ต่างสำนึกเหมือนกันผ่านพันธุ์ไม้ต่างก็มีที่มาจากสายตระกูลเดียวกัน แม้ดอกและใบที่ชูช่อจะเปล่งออกมาหลากสีและต่างกลิ่นก็ตาม”

 




[1] ปริญญาตรีการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ปริญญาโทวิชาเอกปรัชญาการเมืองอิสลาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาลีกัรมุสลิม,อินเดีย  ปัจจุบัน เป็นนักเดินทางและใช้ชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ บทกวี การเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร บทความเว็บไซต์ งานวิจัยและงานวิชาการตามโอกาสและวาระที่พบเห็นและเผชิญ เขียนเมื่อ 3-12-2012 ณ ห้องเช่าริมกุโบร์,อินเดีย

[2] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, (บทวิเคราะห์) “ 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ; ปัตตานี, 2 พฤศจิกายน 2522, หน้า 1 หรือ http://www.deepsouthwatch.org/node/3670

[3] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, (บทวิเคราะห์) “ 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ; ปัตตานี, 2 พฤศจิกายน 2522, หน้า 4 หรือ http://www.deepsouthwatch.org/node/3670

[4] หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก The Nation and The World(The Fortnightly Newsmagazine), Asghar Ali Engineer ,“The Need For Inter-Religious Dialogue” ,April ; 16,Vol.19,489  P.18-19

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:PATANI FORUM

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: การรับผิดชอบการรักษาของปัจเจกบุคคล

$
0
0

สิทธิการเข้าถึงการรักษาและสิทธิการมีสุขภาพดีเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่อุบัติขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และปัจจุบันเป็นที่ยอมรับสากล และปรากฏอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรอนามัยโลก และ รัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทย บุคคลมีสิทธิในการได้รับการรักษาไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ฐานะทางสังคมใดๆ

ในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมีหลัก Horizontal equity คือบุคคลใดๆควรได้รับการรักษาที่เหมือนกันถ้ามีความจำเป็นในการรักษาที่เหมือนๆกัน การให้สิทธิปัจเจกบุคคลในการเข้าถึงการรักษาเป็นการเปลี่ยนความรับผิดชอบต่อความเจ็บป่วย ซึ่งจากอดีต นั้นปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบความเจ็บป่วยโดยเต็มที่และสังคมไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แต่การให้สิทธิเท่ากับว่าสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบความเจ็บป่วยของปัจเจกชนในบางส่วน ในฐานะที่มองว่าสุขภาพโดยรวมของสังคมเกิดจากการรวมกันของสุขภาพทุกคนในสังคม

เมื่อสังคมเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อสุขภาพปัจเจกบุคคลแล้ว คำถามที่ตามมาคือ อะไรเป็นเส้นแบ่งระหว่างความรับผิดชอบที่ปัจเจกชนรับผิดชอบและอะไรเป็นความรับผิดชอบของสังคม ซึ่งเส้นแบ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตีความและไม่ตายตัว และโต้เถียงมาช้านานโดยหาข้อสรุปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อในโลกความเป็นจริง ถึงสุขภาพมีความสำคัญไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ แต่ก็มีต้นทุนต้องเสีย และในระบบประกันสุขภาพของรัฐที่ใช้งบประมาณส่วนรวมของสังคมเพื่อรักษาสุขภาพของปัจเจกบุคคลประเด็นเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มทุนจึงเป็นเรื่องที่นำมาพิจารณาและบางทีขัดแย้งกับความเท่าเทียมกันในการรักษา

เคสที่โด่งดังที่สุดคือ อดีตตำนานนักฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเตด จอร์จ เบสต์ ซึ่งป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เขารอคิวในการเปลี่ยนตับกับ National Health System (NHS) ถึงเก้าเดือน และภายหลังการผ่าตัดเบสต์ก็ยังไม่สามารถเลิกนิสัยดื่มจัด และเสียชีวิตภายในสามปีหลังการเปลี่ยนตับ[1]

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาวิจารณ์ถึงความสิ้นเปลืองของการรักษาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนตัวของเบสต์ รัฐบาลต้องออกค่าใช้จ่ายการรักษา และอวัยวะให้กับคนที่มีแนวโน้มในการใช้ชีวิตแบบทำลายสุขภาพตนเอง การรักษาครั้งนี้เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ถ้านำอวัยวะที่มีค่าไปให้คนที่มีโอกาสมีชีวิตยืนยาวกว่าน่าจะเป็นการกระทำที่สมควรกว่า[2][3]และเสนอให้มีการคัดกรองประวัติการดื่มเหล้าและปัจจัยเสี่ยงกับผู้ที่จะได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอคำนึงถึงหลักประสิทธิภาพแต่ได้ละเมิดหลักของความเท่าเทียมกันเช่นกัน และหมิ่นเหม่ต่อการเลือกปฏิบัติ

แต่อย่างไรก็ตามปัจเจกบุคคลก็ควรรับผิดชอบต่อพฤติกรรมตนเองเช่นกัน เสรีภาพของปัจเจกบุคคลต้องมีราคาที่เสีย ใน Theory of Equal of Opportunity ได้แบ่งตัวแปรที่ส่งผลต่อการใช้บริการรักษาเป็นสองกลุ่มคือ circumstance variables คือตัวแปรที่เป็นสาเหตุจากสังคมซึ่งเหนือการควบคุมของปัจเจกชน และ effort variables ตัวแปรซึ่งเกิดจากการควบคุมของปัจเจกชน ผลที่เกิดจาก effort variables เป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบเองเพราะเกิดจากการตัดสินใจโดยเสรีของเขา เช่น การดื่มเหล้า ซึ่งการดื่มเหล้ามากๆมีโอกาสที่เกิดโรคต่างๆ เช่น ตับแข็ง เบาหวาน อุบัติเหตุ ฯลฯ โดยผู้บริโภคทราบถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบคือ ต้องจ่ายค่ารักษาที่มากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเหล้า แต่อย่างไรก็ตามคนที่ดื่มเหล้าทุกคนไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นมะเร็งตับ การเก็บค่ารักษาเต็มจำนวนกับผู้ดื่มเหล้าและเป็นมะเร็งตับจึงเป็นภาระสูงและไม่กระจายความเสี่ยงกับกลุ่มประชากรที่กินเหล้าด้วยกัน ทางออกของเรื่องนี้คือการเก็บภาษีบาปซึ่งมีข้อดีคือเก็บโดยตรงจากผู้บริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผู้ที่กินมากกว่าก็ต้องรับผิดชอบมากกว่า พร้อมกระจายความเสี่ยงทางค่ารักษาไว้กับคนกินเหล้าด้วยกัน ดังนั้นในบางประเทศกองทุนที่มาจากภาษีเหล้าก็จะถูกสงวนใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะกับกลุ่มประชากรที่กินเหล้า เช่นนำกองทุนเพื่อไปรักษาโรคเฉพาะที่เกิดจากการกินเหล้า โดยไม่มีการหักเปอร์เซนต์ไปใช้จ่ายกิจการสังคมอื่นๆ

อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ไม่ตรงไปตรงมา Roemer ได้แย้งว่าการที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจบางกรณีก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม เช่น คนงานทำเหมืองสูบบุหรี่จัดกว่าพนักงานบริษัท แล้วหมายความว่าคนงานทำเหมืองต้องรับผิดชอบค่ารักษามากกว่าพนักงานบริษัทหรือ โดยที่สภาพสังคม การศึกษา สภาพความเครียดจากการทำงานของคนทำเหมืองแล้วทำให้โดยเฉลี่ยคนทำเหมืองต้องสูบบุหรี่มากกว่า Roemer แนะนำให้แยกอิทธิพลของสภาพแวดล้อมออกจากการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลโดย แยกกลุ่มคนออกเป็นอาชีพ และเรียงลำดับตามปริมาณบุหรี่ที่สูบ เช่น สมมติโดยเฉลี่ยประชากรพนักงานบริษัทสูบบุหรี่วันละสองมวน ส่วนประชากรคนงานเหมืองสูบบุหรี่วันละสิบมวน แล้วพนักงานบริษัทที่สูบบุหรี่วันละสองมวนกับคนทำเหมืองที่สูบบุหรี่วันละสิบมวนต้องได้รับการรักษาที่เหมือนกันและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขียนในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอแนวความคิดของนักคิดบางคนเท่านั้น และไม่จำเป็นที่ต้องปฏิบัติตาม การอภิปรายขอบเขตการรับผิดชอบของปัจเจกชนเป็นเรื่องที่หาข้อสิ้นสุดไม่ได้ แต่โดยภาพรวมแล้วนักคิดทฤษฎีเพื่อความเท่าเทียมต่างให้คุณค่าสำคัญที่เหมือนๆกันคือ ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจ ในการใช้ชีวิต ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตที่เขาตัดสินใจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพเขาเอง

สุดท้ายนี้ขอจบด้วย First Principle of Justice ของ John Rawls

« each person is to have an equal right to the most extensive basic liberty compatible with a similar liberty for others »

 




[1] http://www.psychologytoday.com/blog/mouse-man/200902/do-alcoholics-deserve-liver-transplants

[2] http://www.dailymail.co.uk/health/article-2060295/Some-alcoholics-shouldn-t-prove-sobriety-liver-transplant-say-experts.html

[3] http://www.scotsman.com/news/uk/criticism-grows-of-best-liver-decision-1-655786

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สงบนิ่งทั่วเกาหลีเหนือ ไว้อาลัย "คิม จอง อิล" จากไปครบ 1 ปี

$
0
0

เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่าในโอกาสครบรอบ 1 ปีการอสัญกรรมของคิม จอง อิล เลขาธิการกลางพรรคแรงงานเกาหลี ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ และผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเกาหลี ชาวเกาหลีเหนือทุกสาขาอาชีพรวมทั้งนักเรียนทั่วประเทศได้มาวางช่อดอกไม้ที่อนุสาวรีย์คิม อิล ซุง และคิม จอง อิล และที่หน้ารูปถ่ายของผู้นำทั้งสอง

และในเวลาเที่ยง มีการสงบนิ่งเป็นเวลา 3 นาที เพื่อไว้อาลัยให้กับ "คิม จอง อิล" โดยจุดสำคัญของการไว้อาลัยอยู่ที่ทำเนียบคัมซูซาน ในกรุงเปียงยาง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บร่างของคิม จอง อิล และคิม อิล ซุง นอกจากนี้ทุกสถาบันการศึกษา โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง หมู่บ้านในชนบท หมู่บ้านชาวประมง โรงเรียน ท้องถนน และอาหารบ้านเรือนทั่วประเทศได้มีการสงบนิ่งไว้อาลัยเพื่อรำลึกถึง "คิม จอง อิล" เช่นกัน

นอกจากนี้ที่เปียงยางยังมีการจัดการแสดงดนตรี "คอนเสิร์ตประสานเสียงแด่สหาย คิม จอง อิล" ในข่าวระบุว่า "เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือของประชาชนเกาหลีที่มีต่อคิม จอง อิล" และเป็นการขอบคุณผู้นำคนใหม่ "คิม จอง อึน"

 
 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

All People in DPRK Observe Three-Minute Silence for Kim Jong Il at Noon, KCNA, 17 Dec 2012 http://www.kcna.kp/userAction.do?action=videoindex&lang=eng&newsyear=2012&newsno=1205626

1st Anniversary of Kim Jong Il′s Demise Observed in DPRK, KCNA, 16 Dec 2012 http://www.kcna.kp/userAction.do?action=videoindex&lang=eng&newsyear=2012&newsno=1205626

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้’ ร้อง ปจช.เร่งสางปมความรุนแรงใน ‘พื้นที่โฉนดชุมชน’

$
0
0

เหตุยิงชาวบ้านพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนดับ 2 ศพยังระอุ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ร้องประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ระงับความรุนแรง เร่งนำเข้าที่ประชุมสางปมปัญหา 24 ธ.ค.นี้

 
วันนี้ (17 ธ.ค.55) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อระงับความรุนแรงที่จะเกิดแก่เกษตรกร โดยล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์สมาชิก สกต.ในชุมชนคลองไทรพัฒนาซึ่งเป็นผู้หญิง 2 คนถูกคนร้ายซุ่มยิงด้วยอาวุธสงครามจนถึงแก่ชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ย.55 ขณะขี่รถจักรยานยนต์เดินทางออกไปขายผักที่ตลาดตามกิจวัตรประจำวัน และก่อนหน้านี้ก็มีกรณียิงนายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนาเสียชีวิตในปี พ.ศ.2553 ซึ่งขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า
 
ตามหนังสือของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุว่า เหตุที่มาของความขัดแย้งปมปัญหาที่ดินและการสูญเสียชีวิตของชาวบ้านในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานที่ล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และได้เรียกร้องต่อ ปจช.ให้เร่งดำเนินการดังนี้ 1.ให้บรรจุวาระการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและปัญหาที่ดินทำกิน กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณาในที่ประชุม ปจช.ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค.55
 
2.ให้ ปจช.เร่งรัดดำเนินการในการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนที่ค้างคาอยู่นาน นับแต่ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.53 โดยกรณีชุมชนคลองไทรพัฒนานั้น ในระหว่างที่รอคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ บริษัท จิวกังจุ้ย จำกัดนั้น เบื้องต้นขอให้มีการทำบันทึกข้อตกระหว่าง ปจช. ส.ป.ก. และ ผู้แทน สกต.โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมส่งมอบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน 1,051 ไร่ให้กับชุมชนคลองไทรพัฒนา (ในนามสหกรณ์การเกษตรฯ)
 
และ 3.ขอให้เชิญ รองเลขาธิการ ส.ป.ก.เข้าร่วมการประชุมของ ปจช.ในวันในวันที่ 24 ธ.ค.55
 
ทั้งนี้ ชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นสมาชิกใน สกต.พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ในปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งที่ผ่านมาถูกบริษัทเอกชนเขาครอบครองทำประโยชน์ จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ ส.ป.ก.นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน
 
ต่อมาในช่วงกลางปี พ.ศ.2553 สำนักงานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่แล้วอนุมัติให้พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นชุมชนในโครงการโฉนดชุมชนนำร่อง ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินของเกษตรกร
 
 
รายละเอียดของหนังสือดังกล่าวระบุ ดังนี้
 
 
 
 
ที่ สกต. ๐๒๕ / ๒๕๕๕
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
 ๖๓๔ / ๒ ถนนหน้าเมือง
 ตำบล ตลาด อำเภอเมือง
 จังหวัดสุราษฏร์ธานี
 
๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕
                                                                                                                       
เรื่อง ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อระงับความรุนแรงที่จะเกิดแก่เกษตรกร
เรียน ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)
 
เนื่องจากเช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๐๐ น. สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ถูกยิงและถูกตีด้วยของแข็งเสียชีวิต ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อายุ ๕๐ ปีเศษ และนางปราณี บุญรักษ์ อายุ ๕๒ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ ๒ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ขณะเกิดเหตุ ทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์เดินทางออกจากชุมชนเพื่อไปขายผักที่ตลาดตามกิจวัตรประจำวัน เมื่อออกจากชุมชนได้ประมาณ ๘๐๐ เมตร ก็ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามจากคนร้ายไม่ทราบจำนวนจนเสียชีวิตคาที่ทั้งสองคน ในที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน เอส.เค. และเอ็ม.16 จำนวน 19 ปลอกตกอยู่
 
พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่มีนายทุนบุกรุกเข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมันและบ้านพักคนงาน เป็นเหตุให้ ส.ป.ก.ไม่สามารถนำที่ดินมาจัดสรรให้กับเกษตรกรตามเจตนารมณ์ ในการกันพื้นที่ จากเขตป่าสงวนแห่งชาติได้(ป่าบ้านหมากและป่าปากพัง) ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ มีกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจำนวน ๑๒๐ ครอบครัว เข้ามาเรียกร้องให้ทาง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก).ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล แต่ถูกกดดันข่มขู่คุกคามจากกลุ่มอิทธิพลที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ให้บริษัทฯ มาโดยตลอดจนเหลือสมาชิกในชุมชน ๗๐ ครอบครัว
 
การเรียกร้องสิทธิของเกษตรกร ในประเด็นการปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ ส่งผลกระทบต่อนายทุนที่ครอบครองที่ดินอย่างผิดกฎหมายทำให้เริ่มสูญเสียผลประโยชน์ ที่ผ่านมามีการคุกคามเกษตรกรโดยใช้รถแบคโฮไถดันบ้าน เผาบ้าน และลอบสังหารชาวบ้านในชุมชนคลองไทรพัฒนา คือนายสมพร พัฒภูมิจนถึงแก่ชีวิตมาแล้วเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ และในช่วงห้าปีที่ผ่านมากลุ่มอิทธิพลยัง มีความพยายามข่มขู่คุกคามชาวบ้านหลายครั้งหลายหน
 
ต่อมาในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สำนักงานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการตรวจสอบเอกสารและพื้นที่จริงตามขั้นตอนอย่างละเอียดแล้ว ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวเมื่อ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ จึงได้อนุมัติให้พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นชุมชนที่มีความพร้อมความสามารถดำเนินงานบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนตามโครงการโฉนดชุมชนนำร่องในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินของเกษตรกร
 
อย่างไรก็ตาม เหตุที่มาของความขัดแย้งและการสูญเสียชีวิตของคนจนในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานที่ล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)
ให้เร่งดำเนินการดังนี้
 
๑. ให้บรรจุวาระการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและปัญหาที่ดินทำกิน กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ซึ่งจะมีการประชุมในวัน ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๕
 
๒. ให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)เร่งรัดดำเนินการในการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนที่ค้างคาอยู่นาน นับแต่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยกรณีชุมชนคลองไทรพัฒนานั้นในระหว่างที่รอคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ บริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด นั้น เบื้องต้นขอให้มีการทำบันทึกข้อตกระหว่าง ปจช. และ ส.ป.ก. กับ ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมส่งมอบที่ดินใน เขตปฏิรูปที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน ๑,๐๕๑ ไร่ให้กับชุมชนคลองไทรพัฒนา (ในนามสหกรณ์การเกษตรฯ) ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินหรือขาดแคลนที่ดินทำกิน
 
๓. ขอให้เชิญ รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ในวันดังกล่าวข้างต้นด้วย
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(นายประทีป ระฆังทอง)
ผู้แทน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมบัติ บุญงามอนงค์

$
0
0

"เรื่องบทบาทกรรมการสิทธิ์ ผมให้สอบตก แต่เรื่องสปิริตการออกมารับความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วยกับแก นี่ผมให้ 10 เต็ม แกออกมารับการตำหนิด้วยตนเองทุกครั้ง หาท่าทีแบบนี้ได้ยาก"

18 ธ.ค.55, กล่าวถึงบทบาทกรรมการสิทธิ์ฯ โดยเฉพาะ ปธ.กสม.

'กสม.' ไต่สวน 'รองผบ.ตร.' กรณีละเมิดสิทธิการสลายชุมนุมม็อบ 'เสธ.อ้าย'

$
0
0

 

กิตติศักดิ์ ปรกติ อนุกรรมการสิทธิการเมือง ชี้ตำรวจไม่จำเป็นต้องปิดถนนหากไม่มีเหตุฉุกเฉิน แสดงความกังวลต่อการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ในการประกาศใช้พรบ. ความมั่นคง ในขณะที่ 'แม่น้องเกด' พร้อมญาติผู้เสียชีวิตเม.ย.-พ.ค. 53 บุกมอบรางวัล 'พิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น' แก่คณะกรรมการสิทธิฯ

 

17 ธ.ค. 55 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดการประชุมเพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีความรุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์ นำโดยบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีพล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. และพล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต และคณะ เป็นผู้แทนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าพบคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อชี้แจงการใช้กำลังของรัฐในการสลายการชุมนุมในการชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำและสมาชิกกลุ่มสยามพิทักษ์เข้าร่วมฟังด้วย อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แซมดิน เลิศบุศย์ บวร ยสินทร เป็นต้น 
 
ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ซักถามข้อเท็จจริงและตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการการปิดถนนเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 ว่า เหตุใดตำรวจจึงมีประกาศให้ปิดถนนบริเวณถนนศรีอยุธยาในคืนวันที่ 23 พ.ย. รวมถึงการปิดถนนในบริเวณรอบๆ พื้นที่การชุมนุม ทั้งๆ ที่มิได้มีเหตุฉุกเฉินใดปรากฎชัดเจน โดยอ้างถึงมาตรฐานสากลที่ใช้ในต่างประเทศว่า ถึงแม้ว่าการชุมนุมจะมีการข่มขู่ว่าเป็นไปเพื่อก่อการร้าย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถทำการปิดถนนได้ เพราะถือว่าเป็นมาตรการที่จงใจแปลกแยกและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรทำได้เพียงแค่การดูแลรักษาความปลอดภัยและตรวจตราเท่านั้น 
 

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ ซักถามผู้แทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับ
เหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์
 
พล.ต.อ. วรพงษ์ ซิวปรีชา ได้ชี้แจงว่า มาตรการการปิดถนนเป็นไปตามการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย และการควบคุมพื้นที่บริเวณใกล้ที่ชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดฝันเช่นการถูกปาระเบิด หรือการเข้ายึดสถานที่ราชการ เป็นต้น นอกจากนี้ เป็นเพราะแกนนำได้ประกาศว่า จะแช่แข็งประเทศไทย และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตำรวจจึงต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้กลุ่มพิทักษ์สยามที่เข้าฟังการไต่สวนโห่ร้องแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมาก และในภายหลัง แกนนำกลุ่มพิทักษ์สยามกล่าวว่า ต้องการเพียงขับไล่นักการเมืองเท่านั้น มิได้ต้องล้มล้างระบอบการปกครองแต่อย่างใด
 
พล.ต.อ. วรพงษ์ ซิวปรีชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทางตำรวจอนุญาตให้ใช้เพียงโล่ กระบอง และแก๊สน้ำตาเข้าใช้ควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำอาวุธอื่นๆ เข้าไปเลย ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมหน่วยพยาบาลร่วมกับกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อดูแลผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมจากการบุกรุกของตำรวจก็นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อการรักษาทันที เมื่ออาการดีขึ้นจึงค่อยนำไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ 
 
ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงจำนวนผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวด้วยว่า มียอดผู้บาดเจ็บจากฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งหมด 48 คน จากบาดแผลฟกช้ำ และแก๊สน้ำตา ในขณะที่ฝั่งตำรวจมียอดผู้บาดเจ็บทั้งหมด 94 คน จากการปะทะระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม
 
รองผู้บัญชาการตำรวจ ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนว่า เป็นเพราะในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย. ตำรวจได้ทำการปิดกั้นถนนบางส่วนเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ผู้ชุมนุมได้พยายามบุกข้ามแนวกั้นเหล็ก ลวดหนาม และแท่งคอนกรีต โดยมีการตัดลวดหนาม และนำรถขับรถชนทับขาตำรวจจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า การใช้แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือควบคุมมวลชนที่รุนแรงน้อยที่สุด อันตรายน้อยกว่าการใช้น้ำฉีดเนื่องจากมีแรงดัน ซึ่งเป็นหลักที่ยึดตามการอบรมมาจากสหประชาชาติ เขายังย้ำด้วยว่า ก่อนการปาแก๊สน้ำตา ได้ประกาศเตือนฝูงชนแล้วหลายครั้ง
 
ด้านนพ. ตุลย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้แก๊สน้ำตา เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนวันที่ 7 ต.ค. 51 ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสียชีวิตจากระเบิดแก๊สน้ำตา และอาจนำไปสู่ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ต่อไป 
 
 
ด้านจอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ได้ชี้ว่า ในความเป็นจริง การใช้พรบ. ความมั่นคง อาจสร้างปัญหามากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการประกาศใช้ ก็ทำให้เกิดความคลุมเครือและเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด 
 
แม่น้องเกด พร้อมญาติผู้เสียชีวิตบุก 'กสม.' มอบรางวัล 'หน่วยงานพิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น'
 
ในวันเดียวกัน ราวเวลา 11.30 น. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเม.ย. -พ.ค. 53 นำโดยพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค. 53 ได้เดินทางมายังอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรตืฯ เพื่อมอบรางวัล "หน่วยงานพิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น" ให้แก่ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทวงถามความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และรายงานความคืบหน้าจากกรรมการสิทธิ ที่ล่วงเลยกำหนดเผยแพร่แล้วกว่า 1 ปี 
 
 
นอกจากนี้ ยังได้ถือป้ายแสดงการคัดค้านการมอบรางวัลผู้อุทิศตนดีเด่นประจำปีโดยคณะกรรมการสิทธิฯ ให้แก่พญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) เนื่องจากมองว่าทั้งสองมิได้มีบทบาทสนับสนุนสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยนางพะเยาว์ อัคฮาด กล่าวว่า พญ.พรทิพย์กลับสนับสนุนการทำลายหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ซึ่งขัดขวางกระบวนการค้นหาความจริง ส่วนพระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี ก็มีบทบาทที่กล่าวคำสอนไปในทางยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและฆ่ากันมากกว่า เช่นคำกล่าวที่ว่า "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" จึงไม่เห็นด้วยกับการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่น และต้องการมอบ "โลงจำปาทอง" "หม้อแม่นาค" และ "ลูกฟัก" ให้แก่ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ พญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ตามลำดับ 
 
อย่างไรก็ตาม นพ. นิรันดร์ และศ.อมรา มิได้ลงมาพบตามคำเชิญ นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้เข้ามารับเรื่องแทน และกล่าวว่า รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าด้วยการสลายการชุมนุมปี 2553 จะเร่งทำออกมาให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อมูลและผู้เสียชีวิตที่เยอะ จึงต้องการใช้เวลาประมวลข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งนี้ ในวันนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสิทธิมนุษยชนประจำปี ภายใต้หัวข้อ "เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฎ" โดยมีองค์กรสิทธิต่างๆ เข้าร่วมด้วย 
 
 
นางพะเยาว์ อัคฮาดยังกล่าวว่า ที่มาเยือนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการทวงถามความชัดเจนเรื่องอำนาจของคณะกรรมการสิทธิฯ ในการเรียกไต่สวนเพื่อการค้นหาความจริง โดยหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ตนก็ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้อง แต่อมรา พงศาพิชญ์ เคยชี้แจงว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่ในกรณีการสลายชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม คณะกรรมการสิทธิกลับดำเนินการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงโดยทันที ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น  
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อานดี้ โฮลล์: ข้อกังวลหลังเส้นตายกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ

$
0
0

ประชาไทสัมภาษณ์อานดี้ โฮลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ออกมายืนยันว่าหลังจากนี้จะไม่ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน และจะดำเนินการขั้นตอนผลักดันแรงงานที่ไม่ได้พิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา โดยข้อมูลจากกรมการจัดหางานในเดือนพฤศจิกายนพบว่า มีแรงงานต่างชาติที่จะต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 8 แสน 6 หมื่นคน มีการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วประมาณ 5 แสน 3 หมื่นคน

อย่างไรก็ตามหลังเส้นตายวันที่ 14 ธันวาคม ก็ยังมีแรงงานหลายแสนคนที่ไม่สามารถรับการพิสูจน์สัญชาติได้ทันเวลาที่กำหนด และยังมีแรงงานต่างชาติที่อยู่นอกระบบอีกนับล้านคนที่ไม่มีเอกสาร

โดยล่าสุด เมียว อ่อง ผู้อำนวยการกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานพม่า ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทม์ว่าเขาวางแผนจะเดินทางมาเจรจากับฝ่ายไทย และหวังว่ารัฐบาลไทยจะเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติอีกครั้งและให้แรงงานได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติต่อไป

ในการให้สัมภาษณ์ประชาไท อานดี้ โฮลล์ กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงแรงงานที่จะไม่ขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติ จะกระทบกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแรงงานในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้นมาตรการนี้จะไม่ส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์

โดยผลกระทบทันที่เกิดขึ้นหลังประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานว่าจะใช้นโยบายผลักดันแรงงานที่ไม่มีเอกสารกลับ จะทำให้ตำรวจหรือคนที่บังคับใช้กฎหมายไปจับแรงงานที่ไม่มีเอกสาร โดยจะเป็นการจับแบบอายัดตัว และมักเกิดการรีดไถเงิน เมื่อมีเงินมาให้ก็จะปล่อยตัวแรงงาน ส่วนคนที่จะถูกส่งกลับประเทศจริงๆ คือคนที่ไม่มีเงินมาประกันตัว

นอกจากนี้หากส่งกลับแรงงานไปแล้ว จะจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ตามช่องทางการนำเข้าแรงงาน แรงงานต่างชาติที่จะมาทำงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 18,000 - 21,000 บาท ซึ่งถ้าแรงงานก็ไม่มีเงินก็ต้องไปยืมจากคนอื่น และทำให้ต้องเป็นหนี้ และต้องทำงานจนกว่าจะใช้หนี้หมด

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้ายถิ่นกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อออกหนังสือเดินทางเป็นนโยบายที่ดีและเขาสนับสนุน แต่จนถึงทุกวันนี้นโยบายล้มเหลวเพราะยังมีการรีดไถ และมีการเก็บค่าใช้จ่ายพิสูจน์สัญชาติสูงเกินไป และมีกรณีที่แรงงานได้หนังสือเดินทางปลอม จึงทำให้ยังคงต้องทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยการทุจริต การมีเงินใต้โต๊ะ ทำให้การจดทะเบียน และกระบวนการการพิสูจน์สัญชาติ เป็นไปด้วยความล่าช้า แพง และไม่มีความโปร่งใส

อานดี้ โฮลล์ มีข้อเสนอทิ้งท้ายว่า "รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายที่ทำให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นคนที่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการออกหนังสือเดินทางให้ทุกคน ต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านพม่า ลาว กัมพูชา ทำให้เจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นๆ มาในประเทศเพื่อออกหนังสือเดินทาง ไม่ต้องมีการจดทะเบียนหรือพิสูจน์สัญชาติอะไรก็ต้องมีการออกหนังสือเดินทางทันที ถ้าจะมีการส่งแรงงานกลับประเทศ ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่จับแล้วเอามารีดไถ รัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาวเรื่องการย้ายถิ่น ที่เคารพสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงประเทศ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงงานข้ามชาติประมาณ 5-10% ของตลาดแรงงาน ประเทศไทยต้องยอมรับในจุดนี้ว่าขาดแคลนแรงงาน และต้องวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย จนท.เขาดิน: 'อดีตพลทหาร'ให้การเห็นชายเสื้อขาวยิงขึ้นฟ้า

$
0
0


เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ อช.8/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายมานะ อาจราญ ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนก บำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม. ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหลายกองร้อย

พยานวันนี้มี 6 ปาก ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นเรื่องอาวุธ นายทหารที่นำกองกำลังมาควบคุมการชุมนุมและพลทหารอีก 2 นาย เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และพนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

พยานปากแรก พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และที่ปรึกษาดีเอสไอ ซึ่งเป็นผู้ให้ความเห็นแก่ดีเอสไอ โดยดูจากรายงานชันสูตรพลิกศพ เบิกความว่า จากบาดแผลของผู้ตายน่าจะเกิดจากอาวุธร้ายแรง โดยน่าจะเป็นกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้ได้กับอาวุธปืน M16 ปืนทราโว่ HK33 หรือ AK ซึ่งผลิตเพื่อใช้กับกระสุนขนาด .223

ทั้งนี้ การที่กระสุนขนาด 5.56 x 45 มม. แต่บาดแผลทางเข้ามีขนาด 4 มิลลิเมตร เพราะตัวกระสุนมีปลายแหลมเรียว ส่วนที่โตที่สุดเท่านั้นที่มีขนาด 5.56 มม. โดยเมื่อยิงออก หัวกระสุนจะหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง ดันจนหนังตึง แล้วไชเข้า เมื่อเข้าไปแล้ว หนังจะหดตัว ทำให้ดูเหมือนทางเข้าเล็กกว่าขนาดกระสุน ขณะที่เศษกระสุนที่พบในศีรษะนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามาจากปืนกระบอกใด เพราะมีขนาดเล็กมาก 

รท.จักรพันธ์ ตัณฑสมบูรณ์ เบิกความว่า เมื่อปี 53 รับราชการเป็นผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารปืนใหญ่ อยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่สอง ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา โดยได้รับคำสั่งให้นำกำลัง 150 นาย มาควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่กรุงเทพฯ โดยมีอาวุธที่นำมาด้วยคือโล่และกระบอง ต่อมา 9 เม.ย.53 วันก่อนเกิดเหตุ ได้นำกำลังไปควบคุมการชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว โดยผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้เบิกอาวุธปืน M16A1 จำนวน 29 กระบอกไปด้วย โดยทหารชั้นประทวน ประเภทนายสิบจะเป็นผู้ใช้ ตัวพยานนั้นมีปืนพก 11 มม.
 
จากนั้นเย็นวันที่ 10 เม.ย.53 เวลา 19-22.00น. ได้รับคำสั่งให้เข้าเวรเพื่อไม่ให้รถของประชาชนและผู้ชุมนุมเข้ามาที่ถนนอู่ทองใน แต่ให้รถออกได้ ต่อมา นำกำลังพลได้พักบริเวณอาคารจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต หลังพักได้ 15 นาที ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดจากฝั่งสภา กำลังพลที่อยู่ด้านหน้าประตูวิ่งเข้ามาด้านในที่จอดรถบอกว่า "มันมาแล้ว" ทำให้กำลังพลที่พักอยู่วิ่งไปหลบทางด้านหลัง ระหว่างนั้น ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ไม่ทราบทิศทาง แต่แยกได้ว่าเป็นเสียงปืนเล็ก ไม่ใช่ปืนกล

รท.จักรพันธ์ กล่าวว่า จากนั้นตนได้วิ่งไปด้านหลังของลานจอดรถเพื่อเรียกให้คนในสังกัดมารวมตัวที่ชั้นสองของลานจอดรถ ระหว่างนั้นมืดมาก ต้องประชิดตัวเพื่อบอก ทั้งหมดอยู่ในท่าหมอบอยู่ด้านซ้ายของซุ้มขายของ ทั้งนี้ ไม่มีการยิงตอบโต้เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีปืนจะยิงเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยนอกจากกองร้อยของตนแล้วก็มีกองอื่นที่เข้ามาพักพร้อมกัน แต่จะมีกองอื่นในสวนสัตว์ก่อนหน้านั้นไหมไม่ทราบ

เมื่อกลับมาตรวจเช็คกำลังพลและอุปกรณ์ มีเพียงสิบเอกรังสรร โฮชิน ที่มาช้า ส่วนอาวุธ พบว่าโล่และกระบองหายไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเช้าวันที่ 11 เม.ย.ได้กลับมาบางส่วน ขณะที่อาวุธปืนและกระสุนอยู่ครบและไม่มีการใช้ ต่อมาตอนเช้าได้ตรวจที่เกิดเหตุ พบว่าจากจุดเกิดเหตุจะมองไม่เห็นซุ้มที่ทหารหมอบอยู่ เพราะมีต้นไม้บัง

อดีตพลทหารนพพล ป้ายนอก เบิกความว่า เคยรับราชการทหารประจำกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ค่ายสุรนารี เมื่อปี 52-54 ช่วงเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้มาควบคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ รท.จักรพันธ์  ในคืนเกิดเหตุ ขณะที่พักที่ใต้ลานจอดรถ เวลาประมาณ 23.00น. ได้ยินเสียงปืน 1 นัด และมีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ วิ่งเข้ามา ตนเองได้หยิบเสื้อฝึกและชุดเกราะวิ่งไปทางด้านหลัง ต่อมา เสื้อฝึก (ซึ่งเป็นของพลทหารบารมี ชีพไธสง ที่ตนหยิบผิดมา) ไปเกี่ยวกับเก้าอี้จึงทิ้งไว้ และเมื่อไปถึงริมสระน้ำก็ใส่ชุดเกราะ จากนั้น หันไปดูที่ลานบริเวณที่ขายตั๋ว ซึ่งมีไฟส่องสว่าง เห็นชายคนหนึ่งเดินมาจากรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งขี่มาจากด้านขวามือที่ตนหมอบอยู่ ชายคนดังกล่าวสวมเสื้อสีขาว กางเกงยีนส์สีฟ้า ตรงมาทางที่ขายตั๋ว พร้อมพูดว่ามึงจะออกมา ไม่ออกมา ไม่ออกมากูจะยิง ซึ่งไม่ทราบว่าพูดกับใคร พอพูดจบชายคนดังกล่าวก็ยิงปืนพกสั้นสีเงินเฉียงขึ้นฟ้า 3 นัด ตนเห็นท่าไม่ดี จึงถอยลงสระ จากนั้นก็ไม่เห็นชายคนนั้นอีก เพราะปูนที่ขอบสระบังไว้ แช่น้ำอยู่เกือบชั่วโมงจึงมีทหารจากกองพันอื่นมาเรียกให้ขึ้นไป ทั้งนี้ เช้าวันต่อมา กลับมาดูก็ไม่พบเสื้อฝึกตัวดังกล่าว และได้ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จากจุดที่ซ่อนตัวอยู่มองไม่เห็นจุดที่มีผู้เสียชีวิต เพราะมีต้นไม้ และกำแพงกรงเก้งหม้อบังอยู่

อดีตพลทหารบารมี ชีพไธสง เบิกความว่า เคยรับราชการทหารประจำกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ค่ายสุรนารี เมื่อปี 52-54 ช่วงเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้มาควบคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ รท.จักรพันธ์ ในวันเกิดเหตุ หลังมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ตนได้วิ่งไปหลบที่ลานจอดรถชั้นสอง พร้อมโล่และกระบอง โดยขณะนั้นมีตำรวจสองนายและทหารจากหน่วยอื่นและหน่วยของตนหลบอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อมีการรวมตัวเพื่อเช็คยอดคนและอาวุธ ปรากฏว่ากระบองของตนหายไปตอนไหนไม่รู้ โดยก่อนหน้านั้นพกไว้ที่เอว ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ ดีเอสไอเคยมาสอบที่กองพัน เนื่องจากพบเสื้อลายพรางชุดฝึกมีชื่อของตนตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งได้ให้การว่าเป็นเสื้อที่นายนพพลหยิบผิดไป

พ.ต.ท.ธำรงศักดิ์ บุญมาก จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.53 ดีเอสไอได้ส่งของกลางมาที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เป็นปลอกกระสุนปืนเล็กกล .223 (5.56 มม.) 2 ปลอก โดยผลพบว่า เป็นปลอกกระสุนที่ใช้แล้ว โดยเป็นเครื่องกระสุนปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เป็นปลอกชนิด .223 ยิงจากปืนเล็กกล .223 และเป็นแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ต่อมา 31 ม.ค.54 กองบังคับกลางตำรวจนครบาล 1 นำส่งปืนเล็กกล M16 ขนาด .223 จำนวน 10 กระบอก เพื่อพิสูจน์ว่าปลอกกระสุน 2 ปลอกนั้นยิงมาจากปืนเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่ได้มาจากปืนเหล่านั้น

พ.ต.ท.สราวุธ บุญศิริโยธิน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ เบิกความว่า ตนเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีที่นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตาย โดยจากการสอบสวนเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ จึงได้ทำสำนวนส่งให้ตำรวจนครบาลดุสิต ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150

พ.ต.ท.สราวุธ กล่าวว่า จากการสอบสวนได้ความว่า คืนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 23.00-23.30น. ขณะทหารหลายร้อยนาย ซึ่งบางส่วนพักใต้อาคารจอดรถสวนสัตว์ บางส่วนกั้นรถอยู่ที่ถนนอู่ทองใน มีรถกระบะสีเข้ม วิ่งจากแยกอู่ทองในผ่านสวนสัตว์ ไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ครู่หนึ่งแล่นกลับมาชะลอตรงข้ามประตูทางเข้าสวนสัตว์ หน้ารัฐสภา จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทหารแตกตื่นวิ่งเข้าสวนสัตว์ โดยบางรายมีปืน M16 บ้างมีโล่ มีกระบอง จากนั้นเสียงปืนยังดังขึ้นเป็นระยะๆ จากหน้าประตูทางเข้าสวนสัตว์ เป็นเวลาเดียวกับที่นายมานะซึ่งเข้าเวรดูแลเต่ายักษ์ถึงเวลาออกเวร โดยนายบุญมี แก้วไทรท้วม บอกให้นายมานะไปตอกบัตรออกเวรที่ตู้รักษาการถนนพระราม 5 โดยนายบุญมีให้การว่าออกไปได้ครู่หนึ่ง ก็มีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด เมื่อออกไปดูพบนายมานะนอนคว่ำหน้าเลือดนองพื้น จึงวิ่งมาทางบ่อน้ำเพื่อตามคนมาช่วย โดยตะโกนว่า ช่วยด้วยๆ หลานถูกยิง จากนั้น มีทหารบอกว่า หยุดๆ อยากตายหรือไง ต่อมา ได้ย้อนกลับไปโทรแจ้งผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ตอนที่วิ่งออกมานั้นเจอทหารหมอบอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนไปที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุน M16 จำนวน 2 ปลอก บริเวณทางเดินบ่อเต่า โล่ปราบจลาจล 2 อัน กระบอง 3 อัน และเสื้อสีเขียว ระบุชื่อ บารมี ชีพไธสง 1 ตัว

โดยจากการร่วมกับนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจสอบวิถีกระสุน พบรอยกระสุนปืนที่ต้นหมากเขียวและใบวาสนา ซึ่งมีความสูงในระดับเดียวกับความสูงของศีรษะผู้ตาย เมื่อลองลากดูพบว่าเป็นแนวเดียวกันไปถึงบริเวณที่พบปลอกกระสุนและบริเวณที่ทหารหมอบอยู่ จากวิถีกระสุนคาดว่าเป็นการยิงในท่ายืน ทั้งนี้ จะยิงจากระยะไกลไม่ได้ เพราะมีซุ้มใหญ่และต้นไม้บัง ทั้งนี้ วันดังกล่าว ไม่มีรายงานว่ามีบุคคลตกค้างในสวนสัตว์  นอกจากนี้ นิติวิทยาศาสตร์ทำหนังสือแจ้งว่า จากเศษกระสุนที่พบในศีรษะผู้ตายไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนขนาดใดและมาจากอาวุธปืนใดเพราะเศษกระสุนเสื่อมสภาพมาก

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ไม่มีการแต่งตั้งทนายความ และไม่มีญาติผู้ตายร่วมสังเกตการณ์คดี โดยนายมาโนช อาจราญ บิดาของนายมานะ เคยขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ระบุว่า ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มและไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ และที่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาแล้ว (อ่านรายละเอียดที่นี่)

สำหรับกรณีนายมานะ อาจราญ จะมีการไต่สวนนัดสุดท้าย ในวันที่ 24 ธ.ค. 55 โดยยังเหลือพยานอีก 5 ปาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย ‘อากง’ หมอพยาบาลเบิกความ-ภรรยาหวังพัฒนาระบบดูแลนักโทษ

$
0
0

17 ธ.ค.ที่ผ่านมามีการไต่สวนการตายนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันที่เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

17 ธ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" วัย 61 ปี ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 ที่ผ่านมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร โดยการไต่สวนครั้งนี้มีหัวหน้าพยาบาลและแพทย์เจ้าของไข้ จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาเบิกความ ส่วนนัดไต่สวนครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 23-24 เมษายน 2556

รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยานายอำพล มาศาลด้วย โดยนั่งรออยู่ภายนอกห้องพิจารณาคดีเนื่องจากเธอเป็นพยานที่จะต้องเบิกความในครั้งหน้า เธอกล่าวว่า อันที่จริงแล้วโดยส่วนตัวไม่ติดใจเอาความอะไร เพราะไม่สามารถเรียกร้องสามีคืนมาได้แล้ว แต่ที่ต้องการให้มีการไต่สวนและสืบสวนเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้ได้เห็นจุดบกพร่องที่มีอยู่ในระบบการรักษาพยาบาลนักโทษ และให้กรณีของอากงได้เป็นกรณีตัวอย่างที่จะทำให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้น

"พวกนักโทษเขาป่วยก็ดูแลเขาหน่อย กว่าเขาจะกระเสือกกระสนให้มีการส่งตัวมาโรงพยาบาลได้ก็แสนลำบาก เขาขาดอิสรภาพแล้ว อย่าเพิ่งให้เขาต้องขาดใจด้วยเลย" รสมาลิน กล่าว

รัชนี หาญสมสกุล หัวหน้าพยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เบิกความต่อศาลว่า อำพลถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ค. เวลาประมาณ  15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดห้องขังพอดี โดยมีการส่งประวัติเบื้องต้นมาด้วยว่าคนไข้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด เขาถูกส่งมาที่ชั้น 5 ซึ่งมี 40 เตียง แต่แบ่งพื้นที่โซนพิเศษ 10 เตียงที่จะอยู่ใกล้ลูกกรงเพื่อที่ผู้ป่วยหนักจะได้อยู่ในสายตาของพยาบาล และอำพลก็นอนรักษาตัวในส่วนนี้

ทั้งนี้ การเข้าไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วย พยาบาลจะเข้าได้เฉพาะเมื่อมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปด้วยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ และในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หลังจากนั้นจะปิดห้องซึ่งเป็นลูกกรง แต่พยาบาลเวรก็ยังสามารถมองเห็นผู้ป่วยในโซน 10 เตียงได้ค่อนข้างชัดเจน

รัชนี กล่าวว่า หลังจากถูกส่งมาในวันศุกร์เย็น จากนั้นก็ติดวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่มาทำงาน มีเพียงพยาบาลเวรชาย 1 คน ดูแลผู้ป่วยทั้งตึก

โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจาก 7 เรือนจำ มี 8 ชั้น มีผู้ป่วยอยู่ในชั้น 4-8 เฉพาะชั้น 5 ซึ่งรับกรณีป่วยหนัก มีผู้ป่วย 65-70 คน และเต็มตลอด มีพยาบาลประจำชั้น 5 จำนวน 6 คน ทั้งโรงพยาบาลมีพยาบาลประมาณ 50 คน แพทย์ 10 กว่าคน  และเภสัชกร 1 คน

รัชนี กล่าวต่อว่า วันอังคารที่ 8 พ.ค. มาทำงานที่โรงพยาบาลในเวลา 8.30 น. จากนั้นประมาณ 9.10 น. มีพยาบาลวิ่งมาแจ้งว่า คนไข้เสียชีวิต หลังจากตอนเช้ามีการเจาะเลือดเพื่อเตรียมไปตรวจแล้ว นอกจากนี้รายละเอียดที่ได้รับแจ้งด้วยคือ คนไข้อาเจียนออกมาและหยุดหายใจ จึงมีทีมผู้ช่วยเข้าไปทำการปั๊มหัวใจและย้ายเตียงคนไข้มายังจุดที่มีสายออกซิเจนช่วยหายใจและมีการดูดเสมหะ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ จึงโทรแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ ทั้งนี้ รัชนีกล่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้คนไข้ยังเดินเองได้และรับประทานอาหารได้ สังเกตจากที่อาเจียนออกมาเป็นข้าวต้ม

รัชนี กล่าวด้วยว่า ที่โรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งและไม่มีเครื่องมือต่างๆ และการส่งตัวไปรักษายังสถาบันมะเร็งหรือโรงพยาบาลข้างนอกไม่สามารถกระทำได้ในวันหยุด และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจส่งตัวก็มีเพียงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้น

นพ.กิตติบูลย์ เตชะพรอนันต์ แพทย์เจ้าของไข้นายอำพล เบิกความว่า เป็นศัลยแพทย์ที่ รพ.ราชทัณฑ์มา 13 ปี วันที่ 4 พ.ค.อยู่ที่แผนกผู้ป่วยนอกทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่ถูกส่งมา นายอำพลถูส่งตัวมาในเวลาประมาณ 10.30-11.00 น. โดยไม่มีแฟ้มประวัติการรักษาส่งมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วยแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยก็ได้แจ้งด้วยตนเองว่าแน่นท้อง ท้องโตขึ้น จึงได้ทำการตรวจเช็คเบื้องต้น สันนิษฐานว่ามีอาการตับโต ซึ่งเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่กระจายของมะเร็ง เบื้องต้นจึงให้ยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และสั่งให้ส่งชั้น 5 เพื่อดูอาการและให้มีการเจาะเลือดในวันถัดไป เพราะการเจาะเลือดจะทำในช่วงเช้า แต่อำพลมาถึงเลยเวลา จะสามารถเจาะเลือดส่งตรวจได้อีกครั้งในวันทำการคือวันอังคารที่ 8 พ.ค.

ทั้งนี้ นพ.กิตติบูลย์ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้ผู้บัญชาการเรือนจำได้โทรประสานผู้อำนวยการโรงพยาบาลก่อนแล้วว่าจะมีการส่งตัวผู้ป่วยรายนี้มาให้ช่วยรับไว้รักษาโรค

นพ.กิตติบูลย์ กล่าวต่อว่า ในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์นั้น ตนเข้ามาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ทุกวันเนื่องจากต้องมาดูแลคนไข้ผ่าตัด นอกจากนี้ตนยังไปเยี่ยมนายอำพลที่ชั้น 5 ด้วยแม้จะเข้าเยี่ยมถึงเตียงไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดแต่ก็ได้สอบถามกันผ่านลูกกรง ในวันเสาร์นายอำพลสามารถเดินมาบอกอาการกับตนได้โดยแจ้งว่าอาการแน่นท้องทุเลาลงแล้ว แต่ท้องยังโตมากอยู่ ส่วนวันอาทิตย์ ไม่ได้เดินออกมา แต่นั่งบนเตียงแล้วแจ้งอาการผ่าน “ผู้ช่วยเหลือ” ซึ่งเป็นนักโทษด้วยกันที่โรงพยาบาลให้มาช่วยงาน โดยอำพลแจ้งว่าอาเจียน 1 ครั้ง ส่วนวันอาทิตย์ตนได้สั่งน้ำเกลือแบบชงให้คนไข้ และผู้ช่วยเหลือได้ไปสอบถามอาการอีกครั้งแล้วแจ้งว่า อาการอาเจียนหยุดแล้ว จึงให้การรักษาแบบเดิม เพราะต้องรอผลตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ช่องท้องในลำดับต่อไป

นพ.กิตติบูลย์ กล่าวอีกว่า ต่อมาวันอังคาร เมื่อตนมาทำงานได้เข้าไปหารือภารกิจกับผู้อำนวยการ จากนั้นเวลา 9 โมงกว่าได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าคนไข้เสียชีวิต จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตในเบื้องต้นก่อนที่ตนจะลงไป แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาอีกว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเข้ามาเยี่ยมคนไข้รายนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงแจ้งให้ตนไปรับอธิบดี จากนั้นได้รับรายงานจากทีมงานว่า ได้พยายามช่วยชีวิตเบื้องต้นแล้ว ผ่านไป 15-20 นาทีก็ยังวัดสัญญาชีพจรไม่ได้  

นพ.ยังระบุอีกว่า เขาเคยเป็นแพทย์ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้และเคยเจอนายอำพลครั้งหนึ่งเมื่อแรกรับ เพราะต้องมีการคัดกรองผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ามาเรือนจำ และทราบจากการบอกเล่าของนายอำพลว่าเคยเป็นมะเร็งในช่องปาก ในครั้งนั้นได้บอกให้ผู้ต้องขังแจ้งญาติให้นำประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิมมาด้วยเพื่อดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุลาการผู้แถลงคดีให้ ‘ยกฟ้อง’ คดีเพิกถอน ‘ใบอนุญาตโรงไฟฟ้า’ ชี้ EIA แก้ปัญหาแล้ว! รอลุ้นคำพิพากษาต่อ

$
0
0

ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง ชาวบ้านยันข้อมูลพื้นที่เหมาะกับการทำเกษตร ด้านตุลาการผู้แถลงคดีให้ยกฟ้อง ชี้ใบอนุญาตฯ ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการป้องกันผลกระทบต่างๆ ระบุไว้ชัดใน EIA แล้ว

 
 
 
วานนี้ (17 ธ.ค.55) เวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลปกครอง ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซงของ บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ก่อนมีคำพิพากษาต่อไป
 
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 ก.ย.53 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 คน นำโดย นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เดินทางเข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ออกให้บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด และมติของ คชก.ที่มีความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงของบริษัทดังกล่าว
 
ในการพิจารณาคดี นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ แถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครอง ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ ระบบนิเวศซึ่งมีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตร และกระบวนการในการออกใบอนุญาตที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วจากการที่เริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงในพื้นที่
 
จากนั้น ทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้รับมอบอำนาจ ได้แถลงด้วยวาจาชี้แจงถึงประเด็นสำคัญในการสู้คดี คือ รายงาน EIA ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีซึ่งระบุความเหมาะสมของพื้นที่ อ.หนองแซง ให้เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อนำ EIA ที่ไม่ครบถ้วนมาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ใบอนุญาตนั้นจึงไม่ชอบไปด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพราะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าในทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสม
 
ต่อมา เป็นการแถลงข้อเท็จจริงของตัวแทน บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคดี
 
ในวันเดียวกันนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำวินิจฉัยของตนต่อตุลาการเจ้าของคดีโดยมีความเห็นให้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลโดยสรุปว่า คชก.ได้มีการประชุมพิจารณา EIA ถึง 3 ครั้งก่อนที่จะมีการอนุมัติ EIA และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำความเห็นส่งถึง กกพ.แล้วว่าการออกใบอนุญาตไม่ขัดต่อต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 และพื้นที่ตั้งโครงการยังไม่มีการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
อีกทั้งโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 คือ มีขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงมีกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย
 
ส่วนการป้องกันผลกระทบต่างๆ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนใน EIA ซึ่งบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ต้องมีการดำเนินการตามนั้นอยู่แล้ว ส่วนประชาชนสามารถตรวจสอบน้ำที่เกรงว่าจะเกิดมลพิษจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และหากเกิดความสูญเสียก็จะมีการชดเชยให้ ส่วนที่ระบุว่าอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้นทางบริษัทฯ ได้สร้างบ่อกักเก็บน้ำไว้แล้ว และหากเกิดการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานก็สามารถสั่งหยุดการปล่อยน้ำได้ทันที
 
ด้านมนทนา ดวงประภา ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า กระบวนการต่อจากนี้ชาวบ้านจะต้องรอฟังผลการพิพากษาคดีต่อไป โดยยังไม่ทราบกำหนดเวลาแน่ชัด ซึ่งศาลปกครองอาจมีคำพิพากษาตามตุลาการผู้แถลงคดีก็จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้าเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในพื้นที่โครงการขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่และลงเสาเข็มโครงการแล้ว
 
ทั้งนี้ หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งตามคำฟ้องก็จะมีผลให้บริษัทฯ ต้องหยุดการดำเนินการในพื้นที่ แต่บริษัทก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะทำให้การดำเนินการต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ แต่บริษัทก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง
 
อนึ่ง เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า 1.ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสเข้าโต้แย้งและชี้แจงเหตุแห่งความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ 2.อาศัยมติเห็นชอบ EIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นฐานในการออกใบอนุญาต 3.ออกใบอนุญาตในทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมต่อการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้า เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อันขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
 
4.ออกใบอนุญาตโดยสอบถามความเห็นและพิจารณาความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้เพียงพอ และ 5.ออกใบอนุญาตไปโดยขัดกับหลักความได้สัดส่วน เพราะเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็น และเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประชาชน ชุมชนและประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ที่เอกชนรายเดียวได้รับ
 
และขอให้เพิกถอนมติของ คชก.ที่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาศัยฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพราะ 1.EIA ไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ที่กำหนดให้พื้นที่ อ.หนองแซง ซึ่งรวมถึงที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมและมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้า อีกทั้ง ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการ
 
2.ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ทั้งนี้ เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ระบุว่า บริษัทเจ้าของโครงการก็ทราบถึงการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดดังกล่าว เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีตัวแทนบริษัทเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเด็จพระเทพฯ ประทับโรงพยาบาลจุฬาฯ

$
0
0

คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดนำกลุ่มหินปูนออกจากพระอุระ และขอพระราชทานให้ประทับพักฟื้นพระวรกาย ณ โรงพยาบาล และกราบบังคมทูลให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง

วันนี้ (18 ธ.ค.) สำนักพระราชวังได้เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง

เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงตรวจพระวรกายประจำปี ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แพทย์ผู้ถวายการตรวจ ได้ตรวจพบกลุ่มหินปูนที่พระอุระ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถวายการรักษาด้วยการผ่าตัด

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2555 และในวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดนำกลุ่มหินปูนออกจากพระอุระเป็นที่เรียบร้อย ภายหลังการผ่าตัด ทรงรู้สึกพระองค์ดี อุณหภูมิพระวรกายปรกติ ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ไม่พบเนื้อร้าย คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานให้ประทับพักฟื้นพระวรกาย ณ โรงพยาบาล และกราบบังคมทูลให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

สำนักพระราชวัง
18 ธันวาคม พุทธศักราช 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานใน จ.ลำพูน เสนอมาตรการป้องกันนโยบายค่าจ้าง 300 บาทถูกบิดเบือน

$
0
0

ประธานสหภาพแรงงาน 2 แห่งที่ จ.ลำพูน เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีมาตรการป้องกันไม่ให้นายจ้างนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการเดิม และให้รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าจ้างตามส่วนต่างให้กับคนงานที่มีอายุการทำงานมานานด้วย

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ และนายชัชวาล  แก้วหน่อ ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "สนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทและข้อเสนอเพื่อไม่ให้ถูกบิดเบือนและมีประสิทธิภาพ" โดยยื่นต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

โดยตอนหนึ่งระบุว่า "การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทครั้งนี้ ทางผู้ใช้แรงงานพร้อมสนับสนุนในการมีส่วนร่วมเพื่อให้นโยบายมีผลในทางปฏิบัติ มีความเป็นธรรม ไม่ถูกบิดเบือน และมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้" โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อได้แก่

1. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามตรวจสอบนโยบายเพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ ไม่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มทุน  และมีประสิทธิภาพ  โดยคณะกรรมการประกอบด้วย  ตัวแทนรัฐบาล  หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  นักวิชาการ  สื่อมวลชน  สหภาพแรงงาน ตัวแทนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม ทั้งระดับชาติและในแต่ละเขตพื้นที่แต่ละจังหวัด

2.ขอให้รัฐบาลยืนยันทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยต้องไม่นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง และต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกับบริษัทไม่ให้นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง หรือตัดลด สวัสดิการเดิมของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงานมาตราที่ 5

3.ขอให้รัฐบาลเพิ่มนโยบาย ปรับค่าจ้างตามส่วนต่างให้กับคนงานเก่าที่มีอายุการทำงานมานานทุกคนที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว   เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนงานส่วนนี้ด้วย

4.ขอให้รัฐบาลช่วยคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินความจำเป็น และจะทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแท้จริงตามเจตนารมย์ของรัฐบาล

5.รัฐบาลควรมีการปรับค่าจ้างขึ้นอีก ไม่ใช่ปรับครั้งนี้แล้ว ก็หยุดไปอีกหลายปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น  เนื่องเพราะแท้จริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทก็ยังไม่พอค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอยู่รอดและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนเช่นกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images