Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

บทกวีการเมืองแห่งตอแหลแลนด์: ตอแหลธิปไตย

$
0
0

สร้างระบอบอันชอบธรรมตามกำหนด
เขียนเป็นกฎกติกามาเกื้อหนุน
จ้างจริยธรรมมาค้ำจุน
อ้างพระคุณเหนือไพร่ในแดนดิน

เป็นระบอบบ้าใบ้เหมือนไร้หลัก
เพียงจงรักแลภักดีไม่มีสิ้น
อย่าสงสัยอย่าถามไถ่ให้ได้ยิน
พญายมพรหมอินทร์ก็ยังอวย

ระบบการศึกษาพาเคลิ้มฝัน
ประวัติศาสตร์เกษมสันต์นั้นแสนสวย
เคยฟูเฟื่องรุ่งเรืองแลร่ำรวย
เต็มไปด้วยฉากลิเกย์แลละคอน

เพลิงอำนาจอำนวยผลแด่ชนชั้น
กระพือโหมโรมรันแลเร่าร้อน
ไพร่ก็เหลือข้าวกับเกลือเอื้ออาทร
ฟังคำสอนแลคำสั่งอย่างตั้งใจ

สร้างระบอบอันชอบธรรมตามกำหนัด
ปฏิวัติเพืี่อเปลี่ยนผ่านกาลสมัย
แล้วสีซอ เพลงตอแหล-ธิปไตย
ด้วยมุ่งหมายว่าฝูงควายจะเชื่อฟัง

มอบตอแหลธิปไตยแด่ไพร่ทาส
ป่าวประกาศเกียรติคุณให้หนุนหลัง
ยกพระธรรมเทศนามาปิดบัง
ควายก็คลั่ง คนก็คิด อนิจจา

ประชาชนทนทุกข์รันทดท้อ
ด้วยเสียงซอตอแหลยังเริงร่า
ฟังสำเนียงเสียงกรีดก้องโลกา
อ้างอำนาจอันเหนือกว่าประชาชน

เมื่อได้คิดว่ามีสิทธิ์ต้องส่งเสียง
ไพร่ก็เพียงพูดแสดงแจ้งเหตุผล
เพลิงอำนาจอันหยามเหยียดเกลียดความจน
พลันร้อนรนรุกไล่ไร้ปราณี

แลร้องสั่งสังหารไพร่ ไอ้ อี ห่า
คำสั่งฆ่า ฆ่าให้ตายเป็นพรายผี
อย่าได้คาดอย่าได้คิด สิทธิ์-เสรี
เท่าที่มี...ก็มากไปพวกไพร่เลว ฯลฯ

...........................................................
ระบอบตอแหลธิปไตยอันมีรัฐสภาไร้อำนาจ
พิมพ์ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555
เดือนใกล้จะคว่ำ ปีมะเร็ง
อุบาทวศักราช 112

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ต่างประเทศ แถลงรับรองอำนาจศาลโลก 5 พ.ย.

$
0
0

"สุรพงษ์” เตรียมแถลง 5 พ.ย. สรุปผลกระทบข้อดีข้อเสียการรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ภายหลังตัวแทนไอซีซีเข้าพบอธิบายความ

 
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เข้าพบเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตัวแทนไอซีซีได้มาอธิบายความว่า ถ้ารัฐบาลจะรับเขตอำนาจต้องทำอะไรบ้าง โดยตนเองต้องไปคุยกับกระทรวงยุติธรรมว่าเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ได้มอบหมายกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ทำบันทึกสิ่งที่ไอซีซีได้หารือ เอาไว้และไปสรุปถึงผลกระทบข้อดีและข้อเสียในการรับเขตอำนาจ  และในวันจันทร์ที่ 5 พ.ย. จะแถลงเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าน่าจะรับรองเพื่อให้พิจารณาเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อ แดง 98 ศพได้ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นการนำองค์กรภายนอกมาแทรกแซงเรื่องภายในประเทศ และไม่น่าจะเป็นประเด็นร้อน เพราะเราให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต โดยสมมติว่าเรารับเขตอำนาจของไอซีซี เขาก็จะมาทำการศึกษาเบื้องต้น ภายใต้ 4 เรื่อง ใหญ่ๆ คือ อาชญากรรมมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม รุกราน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หากเรื่องไหนอยู่ภายในการพิจารณาของศาลภายในประเทศแล้วเขาจะไม่ยุ่ง หรือถ้าศาลในประเทศตัดสินว่าจบก็คือจบ แต่ถ้ามีมูลว่าสิ่งที่อยู่ในศาลนั้นไม่ได้ให้ความเป็นธรรม หรือปล่อยปละละเลย เขาอาจเข้ามาได้ ส่วนการเอาผิดจะดำเนินการคนที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการกับผู้ที่สั่งการเท่า นั้น
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจจะมีการโยงถึงเรื่องปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง เราจะมาโยงกันไม่ได้ เพราะสามารถระบุว่า จะเอาเหตุการณ์ไหน ช่วงไหน บอกชื่อเหตุการณ์เฉพาะกรุงเทพฯ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการกดดันจากคนเสื้อแดง

 

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เจ้าขุนมิ้น" อดีตนายทหารกองทัพแห่งชาติไทใหญ่ถึงแก่กรรม

$
0
0

เจ้าขุนมิ้น อดีตนายทหารกู้ชาติไทใหญ่ตั้งแต่ยุคสมัยกองกำลัง SNA นายทหารอาวุโสและหนึ่งในผู้ร่วมตั้งกองกำลังเมืองลา NDAA ถึงแก่กรรมแล้ว ณาปนกิจ 5 พ.ย. นี้

เจ้าขุนมิ้น (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน)

เจ้าขุนมิ้นเป็นหนึ่งในผู้นำกองทัพแห่งชาติไทใหญ่ (SNA) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961 (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน)

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าขุนมิ้น รองผู้นำและที่ปรึกษาอาวุโสของกองกำลังพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กองกำลังเมืองลา NDAA  ซึ่งเป็นผู้นำผ่านประสบการณ์การต่อสู้กู้ชาติไทใหญ่ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ตั้งแต่ยุคสมัยกองทัพแห่งชาติฉาน (Shan National Army - SNA) ผ่านยุคพรรคคอมมิวนิส์พม่า (CPB) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองกำลังเมืองลา NDAA ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านพักในเมืองลา ภาคตะวันออกรัฐฉาน รวมอายุได้ 86 ปี

ทั้งนี้ เจ้าขุนมิ้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีใจรักชาติรักแผ่นดินไทใหญ่ ในปี คศ.1961 เขาเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ในกองกำลังแห่งชาติไทใหญ่ (Shan National Army-SNA) ภายใต้การนำของเจ้างาคำ หลังจากเจ้างาคำ ถูกลอบสังหารเมื่อปีคศ.1965 ในปีคศ. 1971 กองกำลัง SNA เข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน SSA (สมัยนั้น) เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพรัฐฉานภาคตะวันออก SSA-E มีเจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) เป็นผู้บังคับบัญชา โดยเจ้าขุนมิ้น ได้รับตำแหน่งเป็นผบ.กองพลที่ 3 ต่อมาผู้นำเข้าร่วมเป็นพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ตั้งเป็นกองพล 768 โดยเจ้าขุนมิ้น ได้รับมอบหมายดูแลด้านการปกครองเขตพื้นที่หัวเตา-สะลือ ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแบบอย่างดีน่ายกย่อง มีความกล้าหาญ รักลูกน้อง และเป็นที่รักใคร่ของบรรดาเพื่อนร่วมอุดมการณ์

โดยระหว่างเข้าร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์พม่านั้น เจ้าขุนมิ้น ไม่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในพรรคเช่นผู้นำคนอื่นๆ เหตุเนื่องจากเขามีอุดมการณ์ตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ที่อยู่ภายใต้การนำของ ป๊ะเต็งติ่น กระทั่งในปีคศ.1989 เจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) นำกำลังกองพล 768 แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ได้แยกออกมาด้วย โดยมาร่วมกับกองพล 815 ภายใต้การนำของเจ้าจายลืน (ผู้นำกองกำลังเมืองลา NDAA ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเช่นเดียวกัน โดยร่วมกันตั้งเป็นกองกำลังเมืองลา NDAA และเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ได้รับสิทธิตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 4 เจ้าขุนมิ้น มีตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกลาง หลังจากเจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) และ เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) ถึงแก่กรรม เจ้าขุนมิ้น ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในรองผู้นำและที่ปรึกษากองกำลังเมืองลา NDAA มาจนกระทั่งถึงแก่กรรม

สำหรับประวัติ เจ้าขุนมิ้น เกิดเมื่อปี คศ. 1926 ที่เมืองมาง เมืองแจ้ สิบสองปันนาในประเทศจีน บิดาชื่อ หยางกวางโถ่ว มารดาชื่อ นางก๋องคำ มีพี่น้อง 4 คน ชาย 2 หญิง 2 เป็นบุตรคนที่ 2 ครอบครัวย้ายเข้าอยู่ในรัฐฉานภาคตะวันออก ที่บ้านห้อใต้ เมืองยาง ขณะเจ้าขุนมิ้น มีอายุ 5 ขวบ โดยเขาถูกส่งเข้าเรียนหนังสือในวัด ในปีคศ.1961 เขาได้เข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ ในกองกำลังแห่งชาติฉาน SNA ภายใต้การนำของเจ้างาคำ (กาดเต่า เชียงตุง) และผ่านประสบการณ์นักรบในหลายกองกำลัง ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ถือเป็นนายทหารคนสุดท้ายของกองกำลังแห่งชาติไทใหญ่ SNA ที่ยังเหลืออยู่ในกองกำลังเมืองลา NDAA

ศพของเจ้าขุนมิ้น ตั้งบำเพ็ญกุศลตามแบบประเพณีไทใหญ่ ที่บ้านพักของเขาในเมืองลา มีกำหนดฌาปนกิจในวันที่ 5 พ.ย. 55 นี้  โดยทางกองกำลังเมืองลา NDAA ได้เชิญกลุ่มกองกำลังพันธมิตร รวมถึงองค์กรของไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานพิธีฌาปนกิจด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.thหรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.orgภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.orgและภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องผ่านสภาตาม ม. 190 หรือไม่

$
0
0

ชื่อ บทความเดิม
การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 12(3) ต้องผ่านสภาตามมาตรา 190 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ข้อความเบื้องต้น
ประเด็นเรื่องการทำคำแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม) ตามข้อที่ 12 (3) นั้นกำลังเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่นางฟาทู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ มาเยือนประเทศไทยและเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น เชื่อแน่ว่าจะต้องเกิดคำถามตามมาว่า การทำคำแถลงหรือคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 หรือไม่อันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน  สำหรับประเด็นดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นทางกฎหมายดังต่อไปนี้

1. มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ 1969 เป็น “ความตกลงระหว่างประเทศ” (international agreement) ส่วนการทำ “คำประกาศ” (Declaration) ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตามข้อที่ 12(3) นั้นเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ (unilateral act) แม้ในข้อที่ 12 (3) จะมิได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำฝ่ายเดียวก็ตาม แต่โดยลักษณะของคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนี้ย่อมเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐอยู่ในตัวแล้ว คำตอบยืนยันว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเป็นการกระทำฝ่ายเดียวปรากฎอยู่ในคดี Fisheries case ระหว่างประเทศ Spain กับประเทศ Canada ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกตามมาตรา 36 วรรค 2 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นการกระทำฝ่ายเดียว โดยศาลย้ำอย่างชัดเจนว่า“a declaration of acceptance of the compulsory jurisdiction of the Court, whether there are specified limits set to that acceptance or not, is a unilateral act of State sovereignty.” [1] และศาลโลกกล่าวอีกว่า“since a declaration under Article 36, paragraph 2, of the Statute, is a unilaterally drafted instrument,[2]

ฉะนั้น ถ้าหากการทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (International Court of Justice: I.C.J) เป็นการกระทำฝ่ายเดียว การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (International Criminal Court: I.C.C) ก็ต้องมีลักษณะเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐเหมือนกันเพราะต่างก็เป็นศาลระหว่างประเทศเหมือนกันและทั้งสองศาลก็ยอมรับการทำ “คำประกาศ” ว่าเป็นวิธีการยอมรับเขตอำนาจศาล เหมือนกันด้วย [3] ผู้เขียนยังมองไม่เห็นเหตุผลทางกฎหมายที่จะมาอธิบายว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็น “การกระทำฝ่ายเดียว” แต่พอคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศกลายเป็น “สนธิสัญญา”

นอกจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ยืนยันว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเป็นการกระทำฝ่ายเดียวแล้ว ในรายงานของนายVictor Rodríguez-Cedeñoซึ่งเป็น Special Rapporture ของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ  (International Law Commission) เรื่อง Unilateral act ก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล (ระหว่างประเทศ)  ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ [4]ซึ่งเรื่องนี้ใช่เรื่องใหม่ ทั้งศาลโลกเก่าและใหม่ต่างก็ยอมรับช่องทางในการเสนอให้ศาลโลกพิจารณาไว้ถึง 3 ทางและหนึ่งในนั้นก็คือ คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล [5]  ยิ่งกว่านั้นในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีเขตอำนาจศาลก็เป็นเพราะประเทศไทยทำคำประกาศฝ่ายเดียวนั่นเอง  ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าประเทศไทยทำสนธิสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลโลกแต่อย่างใด

2.  การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลอาญาระหว่างประเทศขาดคุณลักษณะหรือองค์ประกอบของหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา เนื่องจากว่าสนธิสัญญาต้องเป็นความตกลงระหว่างรัฐกับรัฐหรือรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ แต่การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนั้น ศาลมิได้แสดงเจตนาตอบรับหรือตอบสนองคำประกาศของรัฐแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยลำพังของรัฐที่จะยอมรับเขตอำนาจศาลเท่านั้น ศาลมิได้มาร่วมเจรจาตกลงหรือลงนามในคำประกาศนั้นแต่อย่างใด คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนั้นลงนามแต่เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น ศาลหาได้มาร่วมลงนามด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อขาดองค์ประกอบของคู่ภาคีเสียแล้ว คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลจึงมิใช่เป็น “ความตกลงระหว่างประเทศ” แต่อย่างใด

3. ส่วนข้ออ้างที่ว่า คำประกาศตามข้อ 12 (3) นั้นก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายหรือความผูกพันฉะนั้นจึงเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา ข้ออ้างนี้ปราศจากเหตุผลทางกฎหมายรองรับเนื่องจากพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องมาจากสนธิสัญญาอย่างเดียว การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐก็ก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายได้ดังเช่น ที่ศาลโลกเคยตัดสินในคดี Ihren Declaration และคดี Nuclear Test case ซึ่งทั้งสองคดีต่างก็เป็นคำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและศาลก็ตัดสินว่าคำประกาศดังกล่าวเป็นการกระทำฝ่ายเดียวที่ก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในตราสารระหว่างประเทศที่เรียกว่า“Guiding Principles applicable to unilateral declarations of States capable of creating legal obligations” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ก็ใช้คำว่า “capable of creating legal obligations” อย่างชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งในในข้อแรกของ Guiding Principles ก็บัญญัติว่า “1. Declarations publicly made and manifesting the will to be bound may have the effect of creating legal obligations…..” นอกจากนี้นักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างศาสตราจารย์ Paul Reuter ก็ยังเห็นว่า กากระทำฝ่ายเดียวเป็นที่มาพันธกรณีสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ[6]

สรุปก็คือ คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ ไม่ใช่หนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาตามกรุงเวียนนา ค.ศ.1969 แต่ประการใด หากจะยกคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญมาหักล้างเหตุผลข้างต้น

4. การทำคำประกาศฝ่ายเดียวเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว โดยข้อ 4 ของ Guiding Principles applicable to unilateral declarations of States capable of creating legal obligations”ระบุชัดเจนว่า “ 4. A unilateral declaration binds the State internationally only if it is made by an authority vested with the power to do so. By virtue of their functions, heads of State, heads of Government and ministers for foreign affairs are competent to formulate such declarations…..” การทำคำประกาศดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการมอบหมายจากผู้ใดอีกหรือไม่จำเป็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมอบหมายให้ผู้ใดกระทำแทนตน

5. ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเคยมีคำวินิจฉัยในคดีหนังสือแสดงเจตจำนงขอรับความช่วยเหลือที่เรียกว่า Letter of Intent ที่รัฐบาลไทยมีไปยังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เพราะว่า การทำหนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแสดงเจตจำนงฝ่ายเดียวของประเทศไทยโดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไม่ได้มีการเสดงเจตนาตอบรับอันจะเข้าข่ายเป็นควาตกลงระหว่างประเทศ [7] กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำหนังสือ LOI เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย

บทสรุป
การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) เป็น “การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ” ไม่ใช่เป็นการ “ทำหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา” ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 เพราะฉะนั้นจึงไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 190 แต่อย่างใดย่อมหมายความว่า รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารสามารถทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติตามมาตรา 190

 

เชิงอรรถ

[1] Fisheries Jurisdiction (Spain v. Canada), I.C.J. Reports 1998, para. 46

[2] Ibid., para. 48

[3] ในมาตรา 36 วรรค 2 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้คำว่า “declare.” และใช้คำว่า “The declarations” ถึง 3 ครั้ง ส่วนมาตรา 12 (3) แห่งธรรมนูญกรุงโรม ใช้คำว่า “acceptance” และ “ by declaration” 

[4] Declarations made under Art. 36 (2) Statute of the International Court of Justice related to the acceptance of the jurisdiction of the court …. are unilateral acts…” โปรดดู Víctor Rodríguez Cedeño, Max Planck Encyclopedia of Public International Law, www.mpepill.com

[5] โปรดดูมาตรา 36 วรรค 2 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

[6] Reuter, “Principes de droit international public”, Collected Courses ..., vol. 103 (1961-II), p. 531 อ้างโดย Victor Rodríguez-Cedeño, First report on unilateral acts of States, A/CN.4/486,1998, หน้า 13

[7] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/542 หน้า 10

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระเบิด 2 จุดกลางเมืองรือเสาะ ตาย 2 เจ็บ 17

$
0
0

วางคาร์บอมบ์และระเบิดรถโชเล่ย์ในเขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ ตาย 2  รวมเด็กอายุ 3 ขวบ  เจ็บ 17

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ได้รับแจ้งเหตุว่าเมื่อเวลา 18.05 น. คนร้ายลอบวางระเบิดภายในพื้นที่เขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส 2 จุด  จุดที่ 1 เป็นระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนอยู่ในรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง เหตุเกิดที่บริเวณสามแยกทางเข้าโรงเรียนบ้านยะบะ หมู่ที่ ๒ ต.รือเสาะ อ. รือเสาะ จ.นราธิวาส   จุดที่ 2 เป็นระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนไว้ในรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน สภาพเก่า บรรทุกไม้ยาง หมายเลขทะเบียน น – 4145 นราธิวาส ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นทะเบียนปลอม  เหตุเกิดที่บริเวณสี่แยกหลังสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ 

ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุแรกกับจุดที่สองห่างกันประมาณ 500 เมตร

จากเหตุระเบิด 2 จุด ซึ่งห่างกันประมาณ 1 นาทีทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย คือ นางเลียบ หมื่นโคตะ อายุ 64 ปี และ ด.ญ.ศศิกานต์ สูเริง อายุ 3 ปี ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 17 ราย  ดังนี้ ด.ช.เวสดาพร อ่อนบรรจง นางกรรณิกา ชาติวัฒนา  ด.ช.ภานุรุจน์  ชาติวัฒนา  นางสาวอาซิตา อาเจเลาะ นางไพรจัล นางจันทร์  นายอับดุลรอแม เพ็ญศรี  ด.ช.เขตสดาพร อ่อนบรรจุ นายนัชชานนท์ พงศ์ศรี ชายพม่าไม่ทราบชื่อ  และมีผู้บาดเจ็บที่ยังไม่ทราบชื่ออีก 8 คน สาเหตุคาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: ดูการเมืองอเมริกันอย่างไรให้มันส์ ตอนที่ 4 (ตอนจบ)

$
0
0

ตอนสุดท้ายของซีรีย์ "ดูการเมืองอเมริกันอย่างไรให้มันส์" พบกับการพูดคุย วิเคราะห์วิจารณ์การเมืองสหรัฐอเมริกาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี ยังอยู่กับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมาวิเคราะห์ถึงผลการดีเบตรอบที่ 3 ซึ่งเป็นสุดท้ายของ 2 ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอเมริกัน บารัค โอบามา และมิต รอมนีย์ และมาดูโพลล์ของสำนักต่างๆ ที่สำรวจคะแนนนิยมของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งแนะนำเว็บไซต์ของสองว่าที่ประธานาธิบดีใหม่ ของสหรัฐอเมริกาว่ามีอะไรเด็ดๆ กันบ้าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"Clean Clothes Campaign" ชุมนุมหน้าร้าน ESPRIT ที่เชียงใหม่ หลังคนงานตุรกีถูกเลิกจ้าง

$
0
0

นักกิจกรรมแรงงาน จากองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด รวมตัวหน้าร้าน ESPRIT กลางห้างในเชียงใหม่ เพื่อประท้วงกรณีคนงานที่ประเทศตุรกี 2,000 คนถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชย

(ที่มาของภาพและวิดีโอ: จิตรา คชเดช)

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) เวลา 20.30 น. ที่หน้าร้าน ESPRIT ภายในห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต พลาซ่า จ.เชียงใหม่ นักกิจกรรมหญิงด้านแรงงาน 40 คน จาก Clean Clothes Campaign หรือองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด จากหลายประเทศ มารวมกันประท้วงกรณีคนงานที่ประเทศตุรกี 2,000 คนซึ่งถูกเลิกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมาย

 
ทั้งนี้ นักกิจกรรมจากองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาดได้ทำหนังสือถึงบริษัท เรียกร้องให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้ทันที ขณะที่ในปัจจุปันคนงานที่ตุรกียังคงชุมนุมอยู่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

NYtimes: แผนผังเส้นทางสู่ชัยชนะ การเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ 2012

$
0
0

นิวยอร์กไทม์ นำเสนอแผนผังการเลือกตั้งสหรัฐฯ 'เส้นทางสู่ชัยชนะ' ของผู้ลงสมัครทั้งสองคนคือบารัค โอบาม่า กับ มิตต์ รอมนีย์ โดยประเมินจากผลสำรวจโพลล์ ผลการเลือกตั้งคราวก่อน และสภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองของแต่ละรัฐ

(ที่มาของแผนผัง: New York Times)

แผนผังแสดงแนวโน้มการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. นี้ โดยนิวยอร์กไทม์ ประเมินและแบ่งออกเป็น 5 เขต สีน้ำเงินเข้มหมายถึงรัฐที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตอย่างเหนียวแน่น สีฟ้าหมายถึงรัฐที่มีแนวโน้มว่าพรรคเดโมแครตจะชนะ ส่วนสีเหลืองหมายถึงรัฐที่มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทาง สีชมพูหมายถึงรัฐที่มีแนวโน้มว่าพรรครีพับลิกันจะชนะ และสีแดงเข้มหมายถึงรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันอย่างเหนียวแน่น

โดยการประเมินของนิวยอร์กไทม์ระบุว่า บารัค โอบามา มีแนวโน้มที่จะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) แล้ว 243 เสียง ต้องการอีก 27 เสียงเพื่อให้เป็นเสียงข้างมาก ส่วนมิตต์ รอมนีย์ ประเมินว่าน่าจะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 206 เสียง ต้องการอีก 64เสียงจึงจะได้เสียงข้างมาก ขณะที่ผู้สมัครทั้งสองต้องมาชิงเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอีก 89 เสียงที่เหลือ

นอกจากนี้ทางนิวยอร์กไทม์ก็นำเสนอบทวิเคราะห์รัฐที่มีความเอนเอียงและมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางดังนี้

 

รัฐเมน
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

รัฐเมนพ้นจากการเป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองระดับต้นๆ จากการที่พรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 5 ครั้งหลังสุดได้ ปีนี้พวกเขาก็มีโอกาสชนะได้อีกเมื่อเห็นว่าโอบาม่าสามารถเอาชนะได้ร้อยละ 17 ในสมัยปี 2008 แต่กับมิตต์ รอมนีย์ผู้มาจากถิ่นฐานแถบตะวันออกเฉียงเหนือ และการที่รัฐนี้มัสายสัมพันธ์กับกลุ่ม Tea Party ทำให้น่าจับตามอง การหาเสียงของรอมนีย์ดูจะพยายามยึดครองคะแนนเสียงอย่างน้อย 1 เสียง เนื่องจากเมนเป็นหนึ่งในสองรัฐที่มีการแบ่งสัดส่วนคะแนนเสียง

รัฐมิชิแกน
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

มิตต์ รอมนีย์เกิดและโตที่รัฐมิชิแกน ซึ่งพ่อเขาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ผู้มีชื่อเสียง แต่สำหรับรัฐที่เอนเอียงข้างเดโมแครตนี้การต่อสู้กับโอบาม่ามีพื้นฐานอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่การโหยหาอดีต การที่รัฐบาลช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งรอมนีย์ต่อต้านจะกลายเป็นข้อถกเถียงหลักสำหรับการหาเสียงของโอบาม่า รอมนีย์ดูเหมือนจะสู้หนักมากกับรัฐนี้โดยใช้เส้นสายความสัมพันธ์ของครอบครัวเขา แต่มันก็เป็นการต่อสู้ที่หนักหนา

รัฐมินนิโซตา
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

เดโมแครตสามารถเอาชนะในรัฐมินนิโซตาได้ในสมัยการเลือกตั้งปธน. 9 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีวอลเตอร์ มอนเดล เป็นคนเดียวที่เกิดในรัฐนี้และสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าได้ในปี 1984 ดังนั้นจึงมีเหตุผลน้อยมากที่โอบาม่าจะต้องลงแรงต่อสู้ในที่นี่ แต่ก็ยังคงมีการหาเสียงที่นี่อยู่ และก็ยังไม่สามารถมั่นใจกับรัฐภาคกลางฝั่งตะวันตกนี้ได้ หากมิตต์ รอมนีย์เริ่มชวนท้าทายขึ้นมาในช่วงท้ายการหาเสียง โอบาม่าอาจต้องเจอกับการเลือกตั้งรอบสองที่มีศัตรูแข็งแกร่ง

รัฐนิวเม็กซิโก
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปธน. โอบาม่า สร้างสถิติมีชัยชนะเหนือวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ในนิวเม็กซิโก 15 คะแนน เป็นสัดส่วนที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างการเลือกตั้งของปธน. ขณะที่รีพับรีกันเป็นผู้ว่ารัฐในช่วงปี 2004 และมีการเลือกตั้งผู้ว่าใหม่ในปี 2010 นิวเม็กซิโกยังคงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรกับพรรคเดโมแครตอยู่ มิตต์ รอมนีย์ วางแผนหาเสียงที่นี่ แต่ผู้ให้คำแนะนำของเขาก็เตือนว่ามันอาจไม่ใช่โอกาสที่ดีในการเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงจากที่นี่

รัฐเนวาดา
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

แผนอนาคตทางเศรษฐกิจในเนวาดาต้องตกต่ำลงตั้งแต่ผู้แทนของปธน. โอบาม่า มีชัยชนะเหนือรัฐนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า จากการที่รัฐนี้มีอัตราการว่างงานและการเพิกถอนจำนองมากที่สุด มิตต์ รอมนีย์ ก็ได้ 'สรุปผลการทดลองพร้อมใช้งาน' เอาไปโต้เถียงว่านโยบายของรัฐบาลโอบาม่าไม่สามารถกระทำได้ แต่จากการโอบาม่าหาเสียงซื้อใจชาวละตินได้อย่างมากและการได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนล่วงหน้า ทำให้โอบาม่ามีแววในการต่อสู้วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง

รัฐเพนซิลวาเนีย
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

หลายปีมาแล้วที่เพนซิลวาเนียให้ความนิยมพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปธน. แต่ก็ยังไม่ทำให้ริพับริกันหยุดความพยายามต่อสู้ได้ มิตต์ รอมนีย์ เดินทางไปทั่วรัฐนี้และริพับริกันก็โฆษณาหาเสียง แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ก็ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก กฏหมายใหม่ว่าด้วยการระบุตัวตนผู้ลงคะแนนเสียงอาจทำให้จำนวนคะแนนของเดโมแครตครอปลง แต่โพลล์จากมหาวิทยาลัยควินนิแพ็ก นิวยอร์กไทม์ ซีบีเอสนิวส์ เปิดเผยว่าปธน. มีคะแนนก่อนหน้าร้อยละ 11 ก็ทำให้รัฐนี้ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นรัฐที่มีความเป็นไปได้เท่ากันก็ดูกลับมาเอียงข้างเดโมแครต

รัฐโคโลราโด
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ชัยชนะของปธน. โอบาม่าเหนือรัฐโคโลราโดเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญของเขาในปี 2008 หลังจากที่รัฐนี้ลงคะแนนเอนเอียงไปทางริพับริกัน 8 ใน 9 ครั้งที่แล้ว ความรอบคอบของรัฐบาลใหญ่อาจเป็นบททดสอบสำหรับโอบาม่า แต่มิตต์ รอมนีย์ ก็ต้องเผชิญความท้าทายของตัวเองในการพยายามเรียกคะแนนจากผู้หญิงและกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนสำคัญที่มีผลต่อชัยชนะของวุฒิสมาชิกและผู้ว่ารัฐฯ ฝ่ายเดโมแครตในโคโลราโดปี 2010

รัฐฟลอริด้า
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ฟลอริด้ากลับมาเลื่องชื่ออีกครั้งในฐานะสมรภูมิเลือกตั้งสำคัญของอเมริกา ปธน. โอบาม่า ชนะไปในปี 2008 แต่การเพิกถอนจำนองบ้านเป็นจำนวนมากและภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้ทางชนะของเขายากขึ้น กลุ่มคนเกษียณอายุที่เป็นอนุรักษ์นิยมกลายเป็นความหวังของรอมนีย์ แต่ผลลัพธ์อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการที่ว่ารอมนีย์จะสามารถชนะใจกลุ่มชาวฮิสปานิค ได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวเชื้อชาติคิวบา-อเมริกัน ในทางตอนใต้ของฟลอริด้า และชาวเปอโตริโกทางตอนกลางของฟลอริด้า

รัฐไอโอวา
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ปธน. โอบาม่า มีความสัมพันธ์ทางใจกับไอโอว่าในฐานะที่เป็นรัฐแรกที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการแข่งขันที่ดูไม่น่าเป็นไปได้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่รัฐนี้มีความท้าทายมากกว่าเดิม มิตต์ รอมนีย์ และพรรคริพับริกันทั้งหลายใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการกล่าวโจมตีโอบาม่าในที่ประชุมลับของปีนี้ ทำให้ผลสำรวจโพลล์ของโอบาม่าลดลงมากกว่ารัฐอื่นๆ โดยรอบ ในหารเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้เข้ามานี้ คะแนนเสียงผู้แทนฯ 6 คนก็มีความสำคัญต่อทั้งสองฝ่าย

รัฐนิวแฮมป์เชียร์
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ทำเนียบขาวให้ความสนใจรัฐนิวแฮมป์เชียร์อย่างใกล้ชิดมาก โดยให้รอง ปธน.โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์ ลงไปในรัฐหลายครั้งเพื่อโต้เถียงกับมิตต์ รอมนีย์ ผู้ที่มีบ้านพักตากอากาศในนิวแฮมป์เชียร์ และถูกมองว่าเป็น 'ลูกพรรคคนโปรด'

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของที่นี่เป็นผู้ไม่ฝักใฝ่พรรคใด แต่โดยรวมแล้วจะมีแนวคิดต่อต้านการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงชีวิตของพวกเขา มันอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของรอมนีย์ที่จะเอาชนะรัฐที่โอบาม่าปกครองอยู่

รัฐโอไฮโอ
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

มีหนทางน้อยมากสำหรับรอมนีย์ที่จะคว้าเก้าอี้ทำเนียบขาวไว้ได้โดยไม่เอาชนะรัฐโอไฮโอ รัฐที่เป็นตัวนำชัยชนะ ซึ่งสามารถทายถูกมาตลอดการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาว่าใครจะเป็นผู้ชนะ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงจะช่วยให้ปธน. โอบาม่ากลับมาได้รับชัยชนะในรัฐนี้อีกครั้ง มีส่วนใหญ่ของรัฐที่ยังคงเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ริพับริกันก็กังวลว่าพรรคเดโมแครตอาจได้รับแรงจูงใจจากชัยชนะคราวที่แล้ว ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันโค่นกฏหมายจำกัดสิทธิข้าราชการได้

รัฐเวอร์จิเนีย
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

เป็นสมรภูมิเลือกตั้งล่าสุดของประเทศ เวอร์จิเนียจะเป็นเวทีกลางของโอบาม่าในการเลือกตั้งซ่อม รัฐนี้เป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ลึกๆ แต่การเปลี่ยนแปลงประชากรในทางตอนเหนือของเวอร์จิเนียก็ช่วยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของรัฐนี้ แต่ข้อโต้แย้งของมิตต์ รอมนีย์ ต่อการขยายรัฐบาลก็ถูกทำให้ยากขึ้นโดยจำนวนของคนทำงานราชการในเวอร์จิเนีย ปธน. โอบาม่า เคยชนะในรัฐนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 7 ในปี 2008 แต่ทั้งสองฝ่ายก็มองในทางเดียวกันว่าการต่อสู้ขับเคี่ยวจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันทั้งสองฝ่าย

รัฐวิสคอนซิน
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

การเพิ่ม ส.ส. พอล ดี ไรอัน แห่งรัฐวิสคอนซินเข้าไปในริพับริกันอาจยังไม่สามารถการันตีชัยชนะเหนือ ปธน. โอบาม่า ได้ แต่มันได้ทำให้รัฐนี้กลายเป็นสมรภูมิของจริงไปแล้ว พรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะรัฐนี้ได้ในการเลือกตั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา อย่างฉิวเฉียดเสียส่วนใหญ่ แต่กลุ่มรีพับรีกันต่างก็โฆษณาเพื่อผลักดันให้มีการใช้เงินในการหาเสียงของโอบาม่า อย่างไรก็ดี มิตต์ รอมนีย์ยังถือไพ่เหนือกว่าและต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำได้ในรัฐนี้

รัฐแอริโซนา
สถานะ : เอียงข้างริพับริกัน

การเมืองของรัฐแอริโซนาเปลี่ยนแปลงไปตามประชากร ในตอนนี้ริพับริกันเชื่อว่าพรรคของพวกเขาได้เปรียบในการเลือกตั้งปธน. แม้จะยอมรับว่าจำนวนผู้ลงคะแนนชาวฮิสปานิคที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เดโมแครตได้เปรียบ ปธน. โอบาม่า ผู้ที่พ่ายแพ้ร้อยละ 9 ให้กับวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ในบ้านเกิดของวุฒิสมาชิกเองในการเลือกตั้งปี 2008 ก็ยังคงมีแผนหาโอกาสจากรัฐแอริโซนา และการหาเสียงของเขาก็เป็นการวัดขุมกำลังคนเลือกตั้งและวัดระดับการแข่งขันสำหรับช่วงฤดูใบไม้ร่วง

รัฐนอร์ท แคโรไลนา
สถานะ : เอียงข้างริพับริกัน

นอร์ทแคโรไลนาเป็นสมรภูมิที่ท้าทายสำหรับเดโมแครตเสมอมา แต่ทางพรรคก็ได้คัดเลือกให้ชาร์ล็อตต์เป็นแหล่งประชุมระดับชาติเพื่อสร้างความกระตือรือร้น เพื่อช่วยให้ปธน. โอบาม่า กลับมาชนะอีกครั้งเช่นในปี 2008 ทั้งสองฝ่ายต่างก็โฆษณาอย่างหนักหน่วง แต่พรรคเดโมแครตก้เริ่มลดงบทุนตรงนี้ลงแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่ารัฐนี้อาจกันเหไปทางริพับริกัน แต่ฝ่ายริพับริกันเองก็ยังไม่นิ่งนอนใจเพราะผลโหวตเบื้องต้นเคยส่งให้โอบาม่าขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

 

ที่มา เรียบเรียงจาก The Electoral Map : Building a Path to Victory, New York Times http://elections.nytimes.com/2012/electoral-map?src=ehdr

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรดุลย์ ตุลารักษ์: เลือกตั้งสหรัฐ และด้านกลับของการเมืองระบบสองพรรค

$
0
0

สัมภาษณ์ "วรดุลย์ ตุลารักษ์" นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน มหาบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนแบรสกา ในโอกาสที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 57 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. นี้โดยเป็นการแข่งขันของผู้สมัครหลักๆ คือบารัก โอบา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต และมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน

โดยคุณวรดุลย์ ซึ่งเคยอาศัยในสหรัฐอเมริกาตรงกับช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สมัย ตอบคำถามที่ว่าการเมืองของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีสีสันอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ โดยเขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการเมืองสหรัฐอเมริกามีสีสัน มีการแข่งกันค่อนข้างสูง แต่จากการสังเกตการเมืองสหรัฐจะใช้ประเด็นหาเสียงอยู่ไม่กี่ประเด็น เช่น พรรครีพับลิกันจะชูนโยบายลดภาษีให้บริษัท ลดภาษีให้คนรวย ซึ่งพรรคเดโมแครตจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ส่วนนโยบายด้านสังคม พรรคเดโมแครตดูจะเป็นเสรีมากกว่า เช่น สนับสนุนการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย และการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอและใช้แข่งขันกันมาหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นแข่งขันของสองพรรคใหญ่ และนโยบายจะอยู่ตรงกลางๆ แม้จะดูหวือหวาในช่วงเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งไปแล้วก็ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน อย่างนโยบายการทำสงครามในตะวันออกกลาง รัฐบาลทุกพรรคก็เข้าไปทำสงครามในตะวันออกกลาง และเมื่อทหารอเมริกันเสียชีวิตกลับมาทั้งสองพรรคก็ต้องไปแสดงความไว้อาลัยกับทหารอเมริกัน

ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาทำให้พรรคเล็กๆ ขึ้นมาเป็นตัวเลือกได้ยาก โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคกรีนคือ พญ.จิล สไตน์ ที่ต่อมาไม่สามารถเข้าร่วมการดีเบตได้ เพราะคณะกรรมการการจัดการโต้วาทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (Commission on Presidential Debate หรือ CPD) กำหนดให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนนิยมจากการสำรวจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ทำให้คะแนนของผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่เพียงพอที่จะได้เป็นแคนดิเคตในการดีเบต

นอกจากนี้ยังมีวิธีคิดที่ผู้มีสิทธิลงคะแนน จะลงคะแนนแบบยุทธศาสตร์ (Strategic voting) ให้พรรคที่สามารถแข่งขันกันได้เท่านั้น ทำให้พรรคที่ไม่มีความหวังอยู่เลย แนวโน้มของการเมืองสหรัฐอเมริกาจะเป็นระบบสองพรรคมากขึ้น จะไม่มีพรรคเล็กเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับยุโรปแล้ว ประเทศในยุโรปเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมาเป็นตัวเลือกมากกว่า

วรดุลย์สรุปในตอนท้ายว่า "การเมืองสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มนำไปสู่ระบบสองพรรค และเบียดขับพรรคอื่นๆ ออกไปจากตลาดการเมือง เหลือแต่พรรคใหญ่ๆ ข้อดีก็คือพรรคการเมืองที่เหลืออยู่มีฐานเสียงอยู่แน่นอน ผลักดันนโยบายของพรรคได้แน่นอนเพราะมีฐานเสียงรองรับ และมีเสถียรภาพเพราะเป็นพรรคใหญ่ แต่ข้อเสียคือเมื่อโลกก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ความหลากหลายของผู้คนในประเทศก็ย่อมมากขึ้น ดังนั้นคนเหล่านั้นต้องการนโยบาย พรรคการเมือง หรือความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมารองรับตรงนี้ ถ้าขาดซึ่งความหลากหลายของตัวเลือกที่เป็นพรรคการเมืองไป คนที่ไม่เห็นด้วยกับสองพรรคนี้ ก็ต้องถูกบังคับให้ไปเลือกพรรคที่ชอบน้อยกว่า ซึ่งเรียกว่าผู้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic voting) เลือกพรรคที่สูสีกันเท่านั้น พรรคที่สามก็เลยไม่เกิด สังคมอเมริกันที่บอกว่าเป็นหม้อที่หลอมรวมคนที่หลากหลายเข้ามาด้วยกัน (Melting Pot) แต่วันหนึงระบบการเมืองกลับไม่สะท้อนโครงสร้างและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ก็คงเกิดความขัดแย้งและต้องปรับตัวกันอีกรอบ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความล้มเหลวของการจำนำข้าวทุกเม็ด : การสร้าง “ ความต้องการเทียม” ในตลาดเปราะบาง

$
0
0

หลักของการค้าขายในตลาดเสรีทั่วไป ได้แก่ การทำให้สินค้าของตนเป็นที่ต้องการของตลาด    ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบ  เช่น ฉีกตลาดออกไปสู่ตลาดบนเพื่อทำให้ความแตกต่างของรสนิยมอันเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในการบริโภค  แต่สำหรับสินค้าที่มีความแตกต่างน้อย การผลิตก็ไม่สามารถฉีกตลาดไปได้ด้วยคุณลักษณะของสินค้า เช่น สินค้าการเกษตรทั่วไป วิธีการที่ต้องทำกันเพื่อทำให้สินค้าของตนนั้นขายได้และมีราคาดีขึ้น ก็คือ การทำให้สินค้านั้นๆมีน้อยลงในตลาดขณะที่ความต้องการมีเท่าเดิม     ซึ่งก็ส่งผลให้สินค้านั้นมีราคาสูงขึ้นทันที เช่น เมื่อหลายปี (สิบปีกระมัง) บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรแก้ปัญหาราคาไก่ตกต่ำด้วยการนำลูกไก่ไปทิ้งทะเล  เป็นต้น

การทำให้สินค้าที่มีความแตกต่างน้อยหรือไม่มากนักนี้หายไปจากตลาดเพื่อที่จะทำให้สินค้าที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นนี้  เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการสร้าง “ความต้องการเทียม” (Pseudo Demand)    ซึ่งทำขึ้นเพื่อจะดึงเอาสินค้าที่ผลิตขึ้นมากจนทำให้ราคาตกต่ำนั้นไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ตลาด เช่น ทะเล เผาไฟ ยุ้งฉางหรือที่เก็บกักไว้เฉยๆ ฯลฯ อันทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นมีน้อยลงในตลาดนั้นเอง

การจัดการกับปัญหาราคาข้าวในประเทศไทย รัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ทศวรรษ 2520 ) เป็นต้นมาก็ดำเนินมาในลักษณะเดียวกัน คือ การสร้างความต้องการเทียมขึ้นมาในแต่ละปีนั่นเอง

แต่การจัดการกับปัญหาข้าวในรัฐบาลนี้แตกต่างจากเดิมในเรื่องขนาดของการสร้าง “ความต้องการเทียม “  เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามักจะประเมินว่าผลผลิตจะเกิดความต้องการของตลาดโลกจำนวนสักเท่าไร จากนั้นก็จะจัดสรรงบประมาณมาทำให้เกิดการ “ จำนำ” ข้าว (ความต้องการเทียม)ในปริมาณที่คาดไว้ ซึ่งก็จะส่งผลให้ข้าวหายไปจากตลาดจำนวนตามที่คาด อันส่งผลทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นในตลาดซื้อขายทั่วไป

รัฐบาลนี้ได้ขยาย “ความต้องการเทียม” นี้ขึ้นครอบคลุมข้าวทุกเม็ดในตลาดของไทยหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลสร้าง “ความต้องการเทียม” ในตลาดข้าวร้อยเปอร์เซ็นต์  ดังนั้นในทางทฤษฏีแล้วข้าวจึงหายหมดจากตลาดภายใน  แม้ว่าในทางปฏิบัติผู้ส่งออกและโรงสีเครือข่ายผู้ส่งออกย่อมมีเครือข่ายผู้ปลูกข้าวของตนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะส่งออกได้อย่างเดิม เพราะ “ความต้องการเทียม” ได้แย่งข้าวไปจนเกือบหมดตลาด

การสร้าง “ ความต้องการเทียม” ครอบคลุมตลาดทั้งหมดเช่นนี้  เกิดขึ้นเพราะคิดว่าจะสามารถควบคุมราคาตลาดข้าวในโลกได้  เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่   ดังนั้น หากไทยยังไม่ส่งออกข้าว  ข้าวในตลาดโลกก็ลดลงซึ่งย่อมส่งผลต่อราคาที่ไทยจะขายต่อไปในอนาคตว่าจะต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน

แต่การสร้าง “ความต้องการเทียม” ในตลาดการค้าข้าวของโลกวันนี้จะประสบกับปัญหาใหญ่  เพราะตลาดข้าวของโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว  กล่าวคือ หลังจากทศวรรษ 1990 กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในเอเชียที่ล่มสลายและหันกลับมาเดินทางสายเสรีนิยม  ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเริ่มจะสะสมทุนเบื้องต้นจากการผลิตเกษตรเพื่อขาย   โดยเฉพาะข้าว   ได้ทำให้ตลาดข้าวของโลกตกในสภาวะ “ตลาดเปราะบาง” ( Thin Market ) มากขึ้น

“ตลาดเปราะบาง” เห็นได้ชัดเจนจากขนาดของตลาดและผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาด    เท่าที่ผ่านมาตลาดข้าวของโลกมีความต้องการที่ไม่เพิ่มมากนัก  เพราะหากราคาข้าวสูงขึ้นเกินไป ประเทศต่างก็ที่เคยซื้อข้าวก็จะหันไปบริโภคอาหารแป้งจากสินค้าเกษตรตัวอื่นแทน ดังนั้นตลาดจึงจะผันแปรอย่างรวดเร็วในกรณีที่ทีการผลิตข้าวเพื่อส่งออกเพิ่มแม้เพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น  เดิม เวียดนามไม่เคยส่งออกข้าว แต่เมื่อเวียดนามตัดสินใจส่งออกข้าวแม้ว่าปริมาณอาจจะไม่มากนัก เช่น ปีละหนึ่ง-สองล้านตัน ก็จะส่งผลให้ตลาดที่มีขนาดคงที่นั้นกระทบกระเทือนทางด้านราคาทันที

ดังนั้น  ความหวังที่จะสร้าง “ ความต้องการเทียม” ในประเทศไทยทั้งหมดจึงประสบปัญหาทันที  เพราะทันทีที่ปริมาณข้าวในตลาดลดลง ราคากำลังจะเพิ่มสูงขึ้น เวียดนามได้ส่งออกเข้าไปสู่ตลาดทันที ส่งผลให้ความต้องการในตลาดโลกนั้นไม่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่รัฐบาลนี้คาดหวังเอาไว้

การสร้าง “ความต้องการเทียม”ในตลาด “เปราะบาง” เช่นตลาดข้าวของโลกวันนี้ จึงทำให้รัฐบาลต้องรับภาระอันหนักหน่วงมากขึ้น เพราะรัฐกลายเป็นเจ้าของข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้  และยังไม่รู้ว่าจะทยอยออกไปขายให้แก่ใครและขายที่ไหน สิ่งที่ต้องทำก็คือการหาบริษัทมาประมูลเพื่อนำออกออกจากยุ้งฉาง  ซึ่งก็ต้องปล่อยให้ประมูลในราคาที่ต่ำแน่นอน เพราะบริษัทที่จะมาประมูลย่อมไม่มีทางที่จะสู้ราคาที่สูงได้

รัฐบาลเองก็เห็นปัญหาอย่างชัดเจนนี้  แต่เนื่องจากทางออกทางเศรษฐกิจของการค้าโลกเหลือน้อยลงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้  ทางรอดทางการเมืองทางหนึ่ง ก็คือ  ใช้วิธีการประเมินนโยบายด้วยการเบนประเด็นมาอธิบายถึงการทะลายการผูกขาดการค้าข้าวแทน โดยมักจะกล่าวทำนองว่าเมื่อก่อนเราส่งออกมาก แต่ชาวนาจน แต่วันนี่เราส่งออกน้อย แต่ชาวนากลับมีรายได้มากขึ้นเพราะการจำนำข้าว (ตลาดเทียม)  ซึ่งเป็นความจริงที่ ปฏิเสธไม่ได้  รวมทั้งพยายามที่จะอธิบายว่าการส่งออกข้าวเกรดดียังทำได้เรื่อยๆ ดังนั้นประเทศไทยก็อาจจะลดการส่งข้าวเกรดต่ำราคาถูกหันไปสู่การผลิตข้าวเกรดสูงราคาแพงแทน

แต่ปัญหานี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่รัฐบาลอธิบายไว้

การสร้าง “ความต้องการเทียม” ให้มีขนาดเท่ากับตลาดในประเทศทั้งหมด จะทำให้เกิดการขยายตัวของการปลูกข้างเกรดต่ำที่ไม่ต้องการการดูแลมากนักเพิ่มมากขึ้นทันที เพราะการสร้าง “ ความต้องการเทียม” เช่นนี้ คือ การดึงภาระ “ความเสี่ยง” ทางเศรษฐกิจทั้งหมดออกจากบ่าของคนปลูกข้าว  และการทำเช่นนี้จะทำให้คนจำนวนมากกลับมาสู่การผลิตที่ไม่ต้อง “เสี่ยง” อะไรเลยแบบนี้มากขึ้น   ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในชนบทที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ก็จะลงทุนในการเพราะปลูกขนาดใหญ่ ( Plantation ) เพื่อผลิตข้างเกรดดี ราคาสูงเพิ่มมากขึ้น   คนจำนวนมากที่กลับมาสู่การผลิตที่ไม่ต้อง “เสี่ยง” อะไรเลยแบบนี้ก็ไม่ใช่ชาวนาผู้ยากจนอย่างที่รัฐบาลโหมโฆษณาหรอกครับ

ดังที่จะเห็นได้จาก ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังเกิดจากโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ด  ได้แก่ การขยายตัวอย่างมากของการปลูกข้าวในฤดูกาลที่ผ่านมา  และจะขยายตัวมากขึ้นในการปลูกข้าวนาปรังที่กำลังจะมาถึง เหตุผลง่ายๆ ก็คือ  เมื่อไมมีความเสี่ยงด้านราคา  การลงทุน/ลงแรงปลูกข้าวก็ได้กำไรเห็นๆอยู่แล้ว ยกเว้นว่าจะเจอกับภัยธรรมชาติจนไม่ได้ผลผลิตเลย แต่นั้นแหละก็ยังได้โอกาสรับค่าชดเชยความเสียหายนั้นๆ จากรัฐ

ก็ต้องกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่การผลิตอะไรไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกหรือค้าขายอะไร หากไม่ต้องเสี่ยงทางด้านราคา  ก็ย่อมเป็นแรงดึงดูดให้มีผู้เข้ามาสู่กิจกรรมนั้นมากขึ้น

ในพื้นที่ “ชนบท” ทั่วไปของสังคมไทย  นอกจากชาวนารวยที่ทำการปลูกข้าวในพื้นที่ที่กว้างขวางแล้ว ชาวนาบางเวลา ( part-time farmer ) ที่เดิมจะใช้เวลาทำงานนอกภาคเกษตรกรรมมากกว่าในภาคเกษตรกรรม ก็ได้หันกลับเข้ามาสู่การลงทุนในการปลูกข้าวมากขึ้น   ชาวนาบางเวลาที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ผันตัวเองออกไปประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็กในเขตเมืองได้ใช้เงินจากนอกภาคการเกษตรมาสู่การทำ “ธุรกิจปลูกข้าว” มากขึ้นในปีนี้

กล่าวได้ว่า กลุ่มชาวนาบางเวลานี้ได้ใช้ระบบการจ้างแรงงานและเครื่องจักรในทุกขั้นตอนของการปลูกข้าว ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นบริษัทปลูกข้าวขนาดกลางและเล็ก     ส่วนใหญ่ของแรงงานที่ใช้ในการปลุกข้าวในภาคเหนือตอนบนและตอนล่างก็จะเป็นแรงงานต่างชาติ ส่วนเครื่องจักรที่มีราคาไม่แพงนั้น ชาวนาบางเวลาที่กำลังเป็นเจ้าของบริษัทปลูกข้าวขนาดเล็กก็จะลงทุนซื้อเอง  ในขณะที่เครื่องจักรราคาแพงก็จะใช้วิธีการเช่า

แน่นอนว่า รายได้จากภาคเกษตรกรรมของครอบครัวชาวนาบางเวลากลุ่มนี้จะสูงมากขึ้นอย่างแน่นอน  และมีผลทำให้จำนวนครัวเรือนชาวนาที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณหนึ่งล้านครัวเรือนมาเป็นสองถึงสามล้านครัวเรือนจากสี่ล้านครัวเรือน ซึ่งหมายถึงความชื่นชอบทางการเมืองต่อรัฐบาลจะเพิ่มสูงมากขึ้นทีเดียว

ปริมาณข้าวที่จะถูกผลิตในปีต่อๆไปจะสูงมากขึ้นๆ  จนอย่างไรก็ตามในที่สุด รัฐบาลก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบาย “ความต้องการเทียม” นี้ได้ต่อไปได้อย่างแน่นอน เพราะข้าวที่มีจำนวนมากขึ้นมหาศาลจะเข้าสู่นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด  และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเงินการคลังมากขึ้นตามไปด้วย  เพราะจำนวนเงินงบประมาณที่จะต้องเข้าสู่นโยบายจำนำข้าวก็จะมีแต่สูงมากขึ้นๆตามไปด้วย  และการระบายข้าวเก่าที่จำนำไว้ก็ยังไม่เห็นว่าจะทำได้ ข้าวใหม่กำลังจะเข้าสู่ยุ้งฉางของการจำนำ ดังนั้น จากนี้ไป เราจะต้องใช้เงินประมาณหนึ่งในสามของงบประมาณแผ่นดินในการรับจำนำข้าวที่เพิ่มสูงมากขึ้น หากไม่หยุดนโยบายนี้ก็อาจจะเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน

หากปล่อยให้เกิดการใช้งบประมาณแผ่นดินในลักษณะดังกล่าว  ผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวมก็จะมีสูงมาก  เพราะงบประมาณการลงทุนด้านอื่นๆที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คนทั้งหมดก็จะหดลงทันที เช่น นโยบายการศึกษา การสาธารณสุข  พลังของการบริโภคภายในประเทศอันจะขยายตัวบ้างจากนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดไม่มีทางที่จะทำให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับที่ใช้ไปอย่างแน่นอน

ผลประโยชน์เฉพาะหน้าปีหรือสองปีนี้ตกแก่ชาวนาบางเวลาจำนวนหลายล้านคน  แต่คนทั้งหมดในสังคม รวมทั้งชาวนาบางเวลาทุกคนด้วย กำลังจะเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเงินการคลังที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต  ผมคิดว่าน่าจะแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หลายเท่า

แม้ว่าอาจารย์อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่รู้เรื่องข้าวดีที่สุดในประเทศไทยจะท้วงติงและชี้ให้เห็นผลเสียอย่างชัดเจน ( กรุงเทพธุรกิจ 29 ตุลาคม 2555, อัมมาร์ : รัฐบาลพังไม่แคร์ แต่ห่วงประเทศจะพังเพราะจำนำข้าว )  แต่รัฐบาลก็ไม่มีทางที่จะยุตินโยบายนี้  ไม่แม้กระทั่งจะทบทวน  ก็เพราะมองเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพรรคการเมืองของตนนั้นจะได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากจำนวนชาวนาที่กระโดดเข้ามาสู่การปลูกข้าวที่มากขึ้นนี้

ทางออกเฉพาะหน้าในวันนี้เหลือน้อยลงๆ  อาจจะกล่าวได้ว่าเหลือเพียงสองทาง  ได้แก่ การระดมผู้ส่งออกเดิมทั้งหมดซึ่งเป็นสายตระกูลที่ผูกขาดการค้าข้าวมาหลายชั่วอายุคนมาสู่การเป็น “ เอเยนต์” ของรัฐบาลโดยกำหนดค่าตอบแทนตามปริมาณข้าวที่ส่งออกได้   เพื่อที่จะระบายข้าวที่เก็บเอาไว้  โดยทั้งรัฐบาลและผู้ส่งออกรายใหญ่มาตกลงราคาพื้นฐานที่ทำให้รัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุด   ทางออกที่สองซึ่งยากมากและต้องใช้เวลานานมาก ได้แก่  การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวให้หลากหลายมากที่สุด  เพื่อที่จะเป็นการระบายข้าวที่เก็บเอาไว้ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค้าเพิ่มภายในประเทศ

จากนั้น รัฐบาลจะต้องหันกลับมาทบทวนว่าหากจะสร้าง “ความต้องการเทียม” ในตลาดโลกวันนี้จะต้องวางแผนอะไรเพิ่มขึ้นอีก  รวมทั้งต้องศึกษาวิจัยให้ชัดเจนว่าชาวนาคือใคร ยังมี “ชาวนา” เหลือร้อยละเท่าไร  ผู้ประกอบการการนาหรือผู้จัดการนามีจำนวนเท่าไร    เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เรากำลังวางแผนการตัดการงบประมาณไปบนความเชื่อเก่าๆว่ามีสังคมชาวนาและชาวนายากจนอยู่เต็มประเทศไทย  ซึ่งไม่จริงแล้วในวันนี้

เอาเข้าจริงๆ ในภาคเหนือ ชาวนาที่เป็นชาวนาจริงที่ยากจน  ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้  เพราะพวกเขาปลูกข้าวเหนียวในพื้นทีเล็กน้อยเพื่อการบริโภคตลอดปีเท่านั้น

นโยบายช่วยเหลือคนจน/คนด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ดี  แต่ก็ต้องมองให้เข้าใจด้วยว่าคนจน/คนด้อยโอกาสอยู่ตรงไหนและพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไร  มิฉะนั้นนโยบายนี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรตามที่ต้องการเลย

ในขณะที่เราเห็นอยู่แล้วว่ากำลังจะเผชิญอะไรในอนาคตอันใกล้นี้  แต่การทักท้วงของอาจารย์ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รับการฟังเลย  คำถามก็คือ ใครอีกเล่าจะทำให้เกิดการทบทวนนโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ดนี้

หากพิจารณานโยบายการจำนำข้าวให้ชัดเจนนี้ ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านนโยบายการเงินและการคลัง  อย่างน้อยที่สุด สี่หน่วยงานหลักที่จะมีบทบาทในดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ กระทรวงการคลัง  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่น่าประหลาดใจที่มีเพียงข้าราชการในกระทรวงคลังเท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยมีจดหมายแสดงความวิตกกังวล และเสนอให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวที่เก็บเอาไว้ให้เร็วและมากที่สุด  และคุณวีรพงษ์ รางมางกูรที่เคยกล่าวไว้ทำนองว่ารัฐบาลจะพังเพราะนโยบายจำนำข้าวนี้    ในขณะที่ผมไม่ได้ยินเสียงของหน่วยงานอื่นๆเลยทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้โดยตรง

เมื่อสิบปีก่อน อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ได้ตั้งคำถามไว้ในบทความชื่อว่า Technocrats หายไปไหน โดยชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจก็ได้ทำให้กลุ่มเทคโนแครตที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทกำกับนโยบายของรัฐหมดอำนาจลงไป

หากคิดต่อจากบทความของอาจารย์รังสรรค์  ในด้านหนึ่ง การหายไปของเทคโนแครตในการกำกับนโยบายของรัฐซึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยแบบหนึ่ง  แต่หากคิดในอีกด้านหนึ่ง  การหายไปของเทคโนแครตในลักษณะที่กลายเป็นกลไกเชื่องๆของรัฐบาล กลับทำให้สังคมปราศจากพลังทางความรู้ในการต่อรอง/ต่อต้าน/หรือปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะที่จะทำร้ายสังคมไทย

วันนี้เอง จึงอยากจะเรียงร้องให้เทคโนแครตทุกหน่วยงาน และทุกคนในสังคมไทยช่วยกันมองไปข้างหน้าให้ไกลๆ เราจะปล่อยให้สังคมคาดหวังกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าสั้นๆไม่ได้  อย่าลืมนะครับ มีเส้นแบ่งกันอยู่ระหว่างนโยบายประชานิยมแบบก้าวเข้าสู่สังคมสวัสดิการ กับนโยบายประชานิยมแบบผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น  เราต้องทำให้สังคมมีศักยภาพมากที่สุดในการเดินไปข้างหน้าพร้อมกันจินตนาการของสังคมที่ดีกว่า ไม่ใช่สังคมที่มีสายตาสั้นและมองเฉพาะช่วงเวลาอันใกล้เท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญหาชาวนาไทย จำนำข้าว และชาวนาไม่เสียภาษี ?

$
0
0


1 ปัญหาชาวนาไทย หรือ เกษตรกร ที่เรียกกันในปัจจุบัน นั้น มีพัฒนาการมาแต่อดีต ถึงปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่   เพียงแต่อาจต้องแยกแยะชาวนา ซึ่งมีทั้งชาวนาไร้ที่ดินต้องเช่า   ชาวนามีที่ดินน้อยไม่พอทำกิน  ชาวนาขนาดเล็ก ขนาดกลาง ชาวนารวย (ไม่ใช่ระดับบริษัทซีพี)  แต่ชาวนาอาจแทบทุกระดับล้วนเป็นหนี้สิน ธกส.ไม่มากก็น้อย เนื่องเพราะชาวนามักเสียเปรียบกลไกตลาด หรือลงทุนไม่คุ้มขาย นั่นเอง

ปัญหาด้านที่ดิน ยุคสมัยเจ้าศักดินา ชาวนาจำนวนมาก เป็นเพียงไพร่ทาสติดที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  ต้องทำนาบนที่ดินของผู้อื่น และต้องส่งส่วยให้เจ้าศักดินาทั้งชาวนาศูนย์กลางอำนาจและชาวนาตามหัวเมืองต่างๆที่ปกครองโดยเจ้าเมืองก่อนปฏิรูปการปกครองรวบศูนย์อำนาจสมัยรัชกาลที่ 5

ประเทศไทยก็ยังไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน  ชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องเช่าที่ดินอยู่   แม้ว่าสมัยหลังการปฎิวัติ 2475 นายปรีดี พนมยงค์เคยวางนโยบายนี้ไว้ และสมัยจอมพลป พิบูลสงคราม  เคยออกกฎหมายกำจัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่  แต่อำนาจของผู้นำประเทศสมัยนั้นถูกโค่นล้มเสียก่อน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  กระแสประชาธิปไตยและมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน   มีการตั้งสำนักงานสปก. ขึ้น เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดิน  แต่ก็เป็นการปฏิรูปที่ดินของรัฐมากกว่า  จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจุกการถือครองที่ดินแต่อย่างใด  ขณะที่ “ที่ดินเป็นสินค้า” ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เก็งกำไรที่ดิน มีการสะสมที่ดินและไม่ทำประโยชน์จำนวนมาก         

2.  การพัฒนาประเทศสู่สังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ช่วงสนธิสัญญาเบาริ่ง หรือสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็ตาม   ชาวนาได้รับการสนับสนุนให้ปลูกพืชผลเพื่อการขาย เพื่อการค้า  สนับสนุนให้หักร้างถางพงเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน  ซึ่งชาวนานับล้านครอบครัวเมื่อถึงเวลากระแสอนุรักษ์ มีกฎหมายอนุรักษ์ประกาศทับที่ทำกิน พวกเขาก็กลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย

สภาพทั่วไป การลงทุนทำการผลิตเพื่อขายของชาวนา มักไม่คุ้มต้นทุน มักขาดทุนอยู่สม่ำเสมอจำนวนมากจึงกลายเป็นชาวนาผู้มีหนี้สิน

ขณะเดียวกัน   ชาวนายุคปัจจุบันการดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด  มักมีการจัดการแรงงานของครัวเรือนชาวนาจำนวนมาก ล้วนแต่หาได้ทำมาหากินอยู่กับนา หรือมิเพียงเพื่อทำนาทำสวนทำไร่อย่างเดียว  พวกเขายังเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนราว 24 ล้านคน  เช่น  รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่บ้าน   ลูกของพวกเขาอาจทำงานนอกภาคเกษตร เช่น คนงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนราว 10 ล้านคน และภาคบริการอื่นๆจำนวนกว่า 10 ล้านคน

แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นแรงงานพนักงานด้านการผลิตที่ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมง เพื่อส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัวภาคเกษตร  หรือภาคเกษตรอยู่รอดได้เพราะมีนอกภาคเกษตรหนุนเสริม   พวกเขาจึงหาได้เลื่อนฐานะทาง”ชนชั้น” เป็น “คนชั้นกลาง” แต่อย่างใด

3 กระนั้นก็ตาม  หากกล่าวถึง นโยบายจำนำข้าว มีชาวนาที่ทำนาไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลางและได้ประโยชน์จากนโยบาย 20 ล้านคน  ก็นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วมิใช่หรือ ? ที่ชาวนาส่วนนี้จะได้มีเงินจ่ายหนี้ธกส. หนี้ที่สร้างทุกข์ระดมให้ชาวนามาตลอด  ลูกหลานครัวเรือนชาวนาส่วนนี้ก็จะได้ลดภาระการส่งเงินมาให้ครอบครัวโดยที่ตนเองทำงานหนัก

การแทรกแซงราคาข้าวของรัฐ   ภายใต้กลไกตลาดที่บิดเบือน การขจัดอิทธิพลผูกขาดของพ่อค้าข้าวส่งออก เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมใช่ไหม ? เฉกเช่น นโยบายด้านสาธารณสุข ที่รัฐไม่ปล่อยให้เอกชนใช้กลไกตลาดหาประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว  

แน่นอนว่า หากมีปัญหาการทุจริต การสวมสิทธิ์จากโครงการนี้  การะบายข้าว  ก็ควรตรวจสอบแก้ปัญหาเพื่อความโปร่งใสและงบประมาณจะได้ถึงชาวนาอย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องจัดตั้งกลไกที่ชาวนามีส่วนรวมมากขึ้น    แต่มิใช่ยกเลิกนโยบายปล่อยให้กลไกตลาดที่บิดเบือนและชาวนาตกเป็นเบี้ยล่างเช่นเคย

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย  ณรงค์ เพรชประเสริฐ   ขึ้นเวทีองค์กรพิทักษ์สยามได้บอกว่า “มนุษย์เงินเดือนเป็นพนักงาน 17 ล้านคน ต้องเสียภาษี   แต่ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว “

ไม่ทราบว่า 17 ล้านคน  เป็นคนงานพนักงานการผลิต  ซึ่งล้วนเป็นลูกลานชาวนาจำนวนมากจำนวนส่วนใหญ่  ที่มิใช่มนุษย์เงินเดือนแบบคนชั้นกลางระดับผู้บริหาร  ระดับหัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ราชการ  

ขณะที่ ณรงค์  เพชรประเสริฐ เขายังตั้งใจหลอกลวงว่าชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งๆที่ชาวนาและลูกหลานชาวนาล้วนเป็นจำนวนผู้จ่ายภาษีมากที่สุดก็ว่าได้

4.  เนื่องเพราะ ไม่นานมานี้   อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง การปฏิรูปทางทางการคลังนั้นหมายรวมถึงการปฏิรูปทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย ทางด้านรายได้นั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถรองรับระบบ สวัสดิการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทางด้านรายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายประเภทไม่จำเป็นมาใช้จ่ายด้านระบบสวัสดิการมากขึ้น

ใน การปฏิรูประบบภาษีนั้น มีข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ใหม่ แต่แม้ผลักดันกันมานานก็ไม่ปรากฏเป็นจริง คือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รัฐบาลปัจจุบันได้เสนอว่าควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง

จากข้อมูลการกระจายรายได้ พบว่าความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย (เปรียบเทียบ 20% ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับ 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด) อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของการครอบครองทรัพย์สิน มีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่านี้มากทีเดียว

 ฐานการจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มักจะมาจากฐานทางด้านรายได้ การบริโภค และทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทย ฐานการจัดเก็บภาษีหลักมาจากฐานการบริโภค รองลงมาคือฐานทางด้านรายได้ สำหรับฐานทรัพย์สิน มีการจัดเก็บน้อยมากๆ จึงคงถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีฐานทางด้านทรัพย์สินขึ้นมาเสียที

เหตุผลในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สำหรับกรณีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลักของการได้รับ ประโยชน์จากภาครัฐ และหลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการจัดเก็บอยู่บนฐานของมูลค่าที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีราคาที่สูงขึ้น ถ้ามีการพัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่นยิ่งมีระบบสาธารณูปโภคเข้าไปมากเท่าไร ราคาของสินทรัพย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงควรมีการจ่ายภาษีกลับคืนมาให้กับรัฐ และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีในเขตเมืองและชนบท

นอกจากนี้แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังควรมีการแบ่งแยกประเภทของการใช้ที่ดินด้วย เช่นถ้าเป็นการใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราการจัดเก็บควรจะต่ำกว่า การใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชย์อื่นๆ และสำหรับที่ดินที่รกร้าง กล่าวคือเป็นการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งมีผลให้ปัจจัยการผลิตถูกนำไปครอบครองไว้เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ ควรจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนในการเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ส่วน ภาษีมรดก เป็นภาษีที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะความไม่สมบูรณ์ของตลาดและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสามารถสะสมทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์จนมากเกินไป การจัดเก็บภาษีมรดกถือเป็นการคืนกำไรหรือผลผลิตส่วนเกินให้กับสังคม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่การสร้างรายได้เหล่านี้มักจะมาควบคู่กับการการสร้าง ต้นทุนทางสังคม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งสิ้น

ระบบโครงสร้างการเก็บภาษีปัจจุบัน จึงไม่อาจบิดเบือนได้ว่า คนชั้นกลางเท่านั้นที่จ่าย  แต่ผู้จ่ายจำนวนมากกลับเป็นคนชั้นล่าง

มีการเป็นห่วงว่า นโยบายจำนำข้าวนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก  แต่คำถามก็คือ หากงบประมาณจำนวนมากเพื่อคนจำนวนมาก รัฐควรกระทำหรือไม่ ?  หากงบประมาณจำนวนไม่น้อย เช่น งบกองทัพ  โครงการไม่จำเป็นต่างๆ  องค์กรไม่จำเป็นต่างๆ ที่คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์  รัฐควรกระทำหรือไม่ ?  ในทางตรงกันข้าม สมัยวิกฤติฟองสบู่ ปี 40 รัฐบาลได้ช่วยเหลือสถาบันการเงินบางแห่ง  ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล เป็นการล้มบนฟูก  “อุ้มคนรวย” ซึ่งมีไม่กี่ตระกูลด้วยงบประมาณแผ่นดิน มิใช่หรือ?

การออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนวนข้าว ครั้งนี้ บางคนกระทำด้วยความตั้งใจ เพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไข  บางคนหลงใหลกับกลไกตลาดเสรีผูกขาด

แต่บางคนกระทำการทำลายความชอบธรรมเป้าหมายขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแช่แข็งประเทศไทยเท่านั้นเอง ?

5 . อย่างไรก็ตาม  การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของชาวนาในระยะยาวและระดับรากเหง้าของปัญหาชาวนา  อย่างน้อยรัฐ ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดิน   มีการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า  ปลดหนี้สินของเกษตรกร  มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย   ขจัดการผูกขาดปัจจัยการผลิต  ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มของชาวนา   สนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพราะ  “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” มิใช่หรือ ?

 

 

ที่มาภาพ :วิวาทะ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เอแบคโพลล์" ครม.ใหม่ 6.67 เต็ม10 - 87.4% จี้ "ปู" แจงศึกซักฟอกด้วยตัวเอง/สวนดุสิตโพล ชี้ ปชช.ชื่นชม "ปู"ตั้งใจทำงาน

$
0
0

"สวนดุสิตโพล" ชี้ ปชช.ชื่นชอบ "ปู"ตั้งใจทำงาน ยี้ ฝ่ายค้าน ค้านทุกเรื่อง

4 พ.ย.2555 สวนดุสิตโพล  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจ “จุดแข็งและจุดอ่อนของ รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ในสายตาประชาชน” เพื่อสะท้อนความสอดคล้องของการปฏิบัติงานในความคิดเห็นของประชาชน โดยได้สารวจความคิดเห็นของประชาชนทั่ว ประเทศ จานวน 2,209 คน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม –3 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งสรุปผลดังนี้

ในหัวข้อประชาชน คิดว่า “รัฐบาล” ที่นำโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ วันนี้ เป็นอย่างไร  พบว่าจุดแข็งของรัฐบาลคือ  อันดับ 1 การเข้าถึงประชาชน มีนโยบายประชานิยมที่เป็นรูปธรรม 41.00% อันดับ 2 การทำงานรวดเร็ว /บุคลากรเก่ง มีความรู้ โดยเฉพาะนายกฯที่ประชาชนชื่นชอบ 33.18% และ อันดับ 3 ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าและกลุ่มเสื้อแดง 25.82% ขณะที่จุดอ่อนของรัฐบาลคือ อันดับ 1 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือทาตามสัญญาที่ให้ไว้ได้อย่างครบถ้วน 49.90% อันดับ 2 การทุจริต คอรัปชั่น ต่างๆโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว 31.34% และอันดับ 3 ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ 18.76%

ส่วน หัวข้อ เรื่องใดที่ประชาชนชื่นชอบรัฐบาลมากที่สุดพบว่า  อันดับ 1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน  48.73% อันดับ 2 การปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล 32.99% อันดับ 3 การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง 18.28% ส่วนเรื่องที่ประชาชนเบื่อรัฐบาลคือ อันดับ 1 การเล่นพรรคเล่นพวก โดยเฉพาะการแต่งตั้ง เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง 37.82% อันดับ 2 ยังไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้อย่างครบถ้วน /โครงการประชานิยมยังไม่สาเร็จเป็นรูปธรรม 32.18% และอันดับ 3 การแก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส การทุจริตของนักการเมืองยังไม่เด็ดขาด 30.00%

ขณะที่หัวข้อเรื่องใดที่ทำให้ประชาชน “ชื่นชอบฝ่ายค้าน” มากที่สุด ผลปรากฎว่า อันดับ 1 ผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 44.53% อันดับ 2 ความพยายามในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 41.70% และอันดับ 3 มีหลักการ จุดยืน แนวคิดและการทำงานที่ชัดเจน 13.77% ส่วนหัวข้อเรื่องใดที่ทำให้ประชาชน “เบื่อฝ่ายค้าน” มากที่สุด พบว่าอันดับ 1 ค้านทุกเรื่อง /การกล่าวหารัฐบาลย่างเลื่อนลอย ไม่มีข้อมูลหลักฐาน 46.87% อันดับ 2 เล่นเกมการเมืองมากไป คอยจุดกระแส สร้างประเด็นทางการเมือง 28.12% อันดับ 3 ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ 25.01%


"เอแบคโพลล์" เผย ปชช. ให้คะแนน ครม.ใหม่ 6.67 เต็ม 10 - ร้อยละ 87.4 จี้ "ปู" แจงศึกซักฟอกด้วยตัวเอง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลของการปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมทางการเมือง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,189 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน  2555 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.2 ทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระดับการยอมรับคณะรัฐมนตรีหลังปรับคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ 6.67 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.3 ระบุความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 43.7 ระบุว่า ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการปรับตัวของคนไทยหลังการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ระบุควรทำใจปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ลดอคติ อย่าคิดล่วงหน้าไปเอง ให้โอกาสคน ใช้กฎหมายตัดสินถูกผิด

นอกจากนี้ ในหัวข้อการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ทราบข่าว และเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.2 คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะมีข้อมูลที่น่า สนใจ ในขณะที่ร้อยละ 44.8 ไม่คิดว่ามี อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ไม่คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาย ในรัฐบาล แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ควรออกมาชี้แจงตอบคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ด้วยตนเอง และร้อยละ 87.1 ระบุนายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญต่อการใช้ระบบรัฐสภาในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ในเวลานี้

 

 

ที่มา:,มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟื้นศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ เล็งใช้ อ. องครักษ์ นครนายก

$
0
0

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ประกาศฟื้นโครงการวิจัยนิวเคลียร์  ระบุมีความจำเป็นด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและเกษตร  ด้านกรีนพีซชี้นิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้   ได้มีกระแสข่าวว่าขณะนี้มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในเขตชุมชนจังหวัดสงขลา

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ  3 พฤศจิกายน 2555 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ว่า โครงการได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2532 มีปัญหาในเรื่องกระบวนการขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ด้วยปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีความจำเป็นในแง่ของการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัด และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้

"ใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงการเดินหน้าโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำเป็นรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว การจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดิมในโครงการเดิมคงไม่ได้ แต่ยังคงใช้พื้นที่องครักษ์ จ.นครนายก อยู่และจำเป็นต้องเพิ่มขนาดการผลิต เนื่องจากโครงการเดิมกำหนดไว้ที่ 10 เมกะวัตต์ แต่โครงการต้องหยุดชะงัก ขณะที่สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) หน่วยงานในสังกัด วท.มีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูใช้งานอยู่เพียงเครื่องเดียว มีขนาด 2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บางเขน กรุงเทพฯ มีอายุใช้งานหลายสิบปี เดินเครื่องผลิตรังสีเพื่อการแพทย์ ซึ่งไม่เพียงพอ" นายวรวัจน์กล่าว และว่า ด้วยเหตุนี้จะหารือปรับปรุงโครงการใหม่รูปแบบใหม่จะเพิ่มขนาดการผลิตให้เพียงพอกับการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและการเกษตร เบื้องต้นของใหม่ต้องมีขนาดผลิตระหว่าง 10-30 เมกะวัตต์ ส่วนงบประมาณต้องขอพิจารณาก่อนว่า จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ต้องหารืออย่างละเอียดก่อน แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่หากฟื้นโครงการดังกล่าวจะเกิดกระแสต่อต้านจากชุมชนเหมือนอดีต นายวรวัจน์กล่าวว่า ก่อนทำโครงการใดๆจะต้องหารือ สอบถามความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว ตรงนี้ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าโครงการมีความจำเป็น เพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่างๆ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เช่นกัน และโครงการศูนย์วิจัยก็ไม่ได้อันตรายอะไร เนื่องจากไม่ใช่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เป็นศูนย์วิจัยเท่านั้น

นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จุดยืนของกรีนพีซยังคงเหมือนเดิม คือไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ยิ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้ แต่ในกรณีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะผลักดันโครงการวิจัยนิวเคลียร์นั้น ต้องขอศึกษาในรายละเอียดก่อนว่าจะเดินหน้าลักษณะใด หากขัดกับจุดยืนของกรีนพีซที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็จะคัดค้านด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เกิดขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณว่าจ้างบริษัท เจเนรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาโครงการให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดูแลดำเนินการ เริ่มแรกใช้งบประมาณ 2,750 ล้านบาท ต่อมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 พิจารณาเพิ่มเงินงบประมาณเป็น 3,335 ล้านบาท ปี 2540 เพิ่มเป็น 4,500 ล้านบาท ที่ผ่านมา ปส.ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จีเอแล้วประมาณ 1,800 ล้านบาท และจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาโครงการให้แก่บริษัท อีดับเบิลยูอี ประมาณ 247 ล้านบาท รวมกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าโครงการก็ยังคงทิ้งร้างจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่ จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีการจัดเก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซี เอสเอ จำกัด ในเขตเทศบาลนครสงขลา สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนอย่างมาก และมีกระแสข่าวว่า มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในจังหวัดและมี 8 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ล้วนแล้วแต่อยู่ในชุมชนว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้บริษัทชลัมเบอร์เจอร์ฯเก็บสารกัมมันตรังสีมานาน 30 ปี แต่ไม่ได้แจ้งให้จังหวัดและส่วนราชการในพื้นที่รวมถึงชุมชนได้ทราบเรื่อง เพราะทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่เมื่อจังหวัดสืบทราบจึงเชิญตัวแทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา และดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางจังหวัดยืนยันไม่ได้เพิกเฉย แต่เป็นหน่วยงานแรกที่ขอให้ตรวจสอบ

"จากการที่มีนักวิชาการหลายหน่วยงานเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะให้จัดเก็บสารกัมมันตรังสีในชุมชน แม้ว่าทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะยืนยันว่า มีการจัดเก็บสารตามหลักวิธีการที่ถูกต้องก็ตาม ทำให้มีการขอให้ย้ายสารกัมมันตรังสีทั้งหมดออกไปภายใน 3 เดือน ระหว่างนี้ทางผู้ประกอบการก็รับที่จะทำติดป้ายเตือนภัยสารกัมมันตรังสี ทั้งบริเวณสถานที่จัดเก็บรวมถึงรถขนย้าย ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง และเตรียมที่จะขนย้ายสารกัมมันตรังสีออกจากชุมชนตามที่รับปากเอาไว้" นายกฤษฎากล่าว
 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออง ซาน ซูจีปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าข้างทั้งชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่

$
0
0

"ออง ซาน ซูจี" สัมภาษณ์บีบีซีขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้น และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่สมควรใช้ "ความเป็นผู้นำ" ของเธอไปไกล่เกลี่ย และยังระบุว่าไม่ได้รับรายงานเรื่องชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง ขณะที่บล็อกเกอร์โรฮิงยาโพสต์รูปบัตรสมาชิก NLD ยุค '90 ที่เคยรับชาว "โรฮิงยา" เข้าเป็นสมาชิก

หลังการเข้าพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซได้เสนองบประมาณให้กับพม่า 78 ล้านยูโร หรือมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนา บีบีซีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) โดยทั้งสองพบกันที่เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ และมีการหารือกันเรื่องการค้า หลังจากที่มีการแซงชั่นกันมานับทศวรรษ นอกจากนี้บาร์โรโซยังได้พบกับผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ออง ซาน ซูจีด้วย

อย่างไรก็ตามไม่มีการนำเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาซึ่งนานาชาติกังวลขึ้นมาหารือกับ ออง ซาน ซูจี 

โดยความขัดแย้งเมื่อเดือนก่อนระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวพุทธในรัฐอาระกัน หรือชาวยะไข่ ได้ทำให้มีผู้ลี้ภัยนับแสนคน มีผู้เสียชีวิต 90 คน ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทัศนคติต่อชาวโรฮิงยาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สิทธิพิเศษทางการค้า

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นับเป็นเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกคณะล่าสุดที่เดินทางไปเยือนพม่า หลังจากที่รัฐบาลพม่าเริ่มต้นการปฏิรูปเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้รัฐบาลพม่าเองยังตีพิมพ์รายละเอียดของกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้นับเป็นเวลาทศวรรษแล้วที่การค้าและความช่วยเหลือระหว่างสหภาพยุโรปและพม่ามีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอื่นๆ เนื่องจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมีมาตรการแซงชั่นรัฐบาลพม่าที่ใช้อำนาจอย่างกดขี่

เช่นเดียวกับความช่วยเหลือ เชื่อกันว่าสหภาพยุโรปจะให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับพม่าอย่างที่ประเทศรายได้ต่ำอื่นๆ ได้รับ

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังให้งบประมาณสำหรับ "ศูนย์สันติภาพ" แห่งใหม่ เพื่อช่วยพม่าในการขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางและกลุุ่มชาติพันธุ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

 

เรียกร้องความอดกลั้น

นอกจากการพบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งแล้ว บาร์โรโซยังเข้าพบกับออง ซาน ซูจีด้วย โดยโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานว่า ต่อกรณีของโรฮิงยา ชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองนั้น ผู้นำฝ่ายค้านพม่าบอกกับบีบีซีภายหลังการพบกันว่า เธอไม่สามารถพูดเรื่องสถานะของโรฮิงยาได้

ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่บ้านหลังใหม่ของเธอที่เนปิดอว์ ออง ซาน ซูจีเองก็ไม่ได้มีท่าทีว่าได้กระทำอะไรผิดแต่อย่างใด โดยผู้นำฝ่ายค้านพม่าตอบว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายในรัฐอาระกันได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในชุมชน ซึ่งไม่ใช่สถานที่ ที่เธอจะไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง

"ฉันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น แต่ฉันไม่คิดว่าสมควรที่จะใช้สถานะความเป็นผู้นำของฉันเข้าไกล่เกลี่ย โดยที่ไม่ได้สะสางต้นเหตุของปัญหา"

ซูจีกล่าวด้วยว่า ไม่ได้รับรายงานตัวเลขที่ระบุว่าชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง

ทั้งนี้กฎหมายปี 1982 (พ.ศ. 2525) ฉบับซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมาก ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายได้กีดกันพวกเขานั้น ควรจะถูกนำมาพิจารณา ออง ซาน ซูจีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของออง ซาน ซูจี ที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเรื่องโรฮิงยา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ชาวพม่าระบุว่าต้องขับออกจากประเทศนั้น จะทำให้นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนไม่พอใจ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีระบุ

 

บล็อกเกอร์เผยภาพชาวโรฮิงยาเคยถือบัตรสมาชิกพรรค NLD

บัตรสมาชิกพรรค NLD ซึ่งออกในช่วงปี 1990 ที่ผู้ถือบัตรเป็นชาวโรฮิงยา (ที่มา: Free Rohingya)

ในเวลาไล่เลี่ยกัน บล็อก Free Rohingyaยังเผยภาพบัตรสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยเจ้าของบัตรเป็นชาวโรฮิงยาชื่ออู อับดุลลาซีด ทั้งนี้พรรค NLD ที่นางออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำนั้น ในช่วง 1990 ยอมรับให้ชาวโรฮิงยาเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตามท่าทีของออง ซาน ซูจี ระหว่างไปเยือนยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กล่าวว่าไม่แน่ใจในประเด็นเรื่องชาวโรฮิงยา

ทั้งนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นที่รัฐอาระกันระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้อพยพหลายหมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

EU chief Barroso offers new development aid to Burma, BBC, 3 November 2012 Last updated at 10:51 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20189448

Free Rohingya http://freerohingya.blogspot.com/2012/11/nld_3.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: สันติภาพที่มินดาเนา

$
0
0

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ติดตามการบรรลุผลการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์มา 40 กว่าปี กรอบข้อตกลงที่มีการลงนามเมื่อ 15 ต.ค. ดังกล่าว กำหนดให้มีเขตปกครองตนเองใหม่ที่ชื่อว่า "บังซาโมโร" ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ภายในปี 2559 โดยฝ่าย MILF ได้สิทธิปกครองตนเองในพื้นที่บางส่วนของเกาะมินดาเนา ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 เมือง 113 เขตเทศบาล มีประชากร 4.7 ล้านคน

คลิกที่นี่เพื่อคลิปแบบ HD

รัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเมื่อ 15 ต.ค. 55 ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจีป ราซักเป็นสักขีพยาน (ที่มา: http://www.gov.ph/official-visit-of-malaysian-prime-minister/)

แผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นเขตปกครองตนเอง Bangsa Moro ตามข้อตกลงสันติภาพ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ภายในปี 2559 (ที่มา:  http://www.gov.ph/the-2012-framework-agreement-on-the-bangsamoro)

 

ทั้งนี้ดุลยภาคประเมินผลสำเร็จและผลกระทบจากกรอบข้อตกลงสันติภาพว่า ประการแรก การเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นยุทธศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ใครที่ทำให้ประสบความสำเร็จหรือมีรูปธรรมพอสมควรจะมีผลต่อฐานคะแนนและภาพลักษณ์ในอนาคต ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ก็ดำเนินการเจรจา ทั้งฟิเดล มากอส และกรอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ขณะที่ในปี 2559 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่แผนสันติภาพจะถูกนำไปปฏิบัติก็เป็นปีที่ประธานาธิบดี เบนิญโน่ อาคีโน่ ดำรงตำแหน่งครบวาระพอดี นอกจากนี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์มักจะใช้ "การทูตการพัฒนา" เป็นจักรกลสำคัญเชื่อมเครือข่ายระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศไปพัฒนาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมาดินแดนตอนใต้ของฟิลิปปินส์มีความขัดแย้งสูงเป็นระยะ ทำให้การพัฒนาไม่เต็มรูปเท่าที่ควร แต่การดันนโยบายการทูตการพัฒนาประสบความสำเร็จอยู่เป็นช่วงดีกว่าไม่มีกระบวนการผลักดันอะไรเลย

ประการที่สอง มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอาเซียน สืบเนื่องจากว่าภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก ซึ่งครอบคลุมทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียแข็งขันกับกรณีเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่ทำให้ดินแดนนี้มีสันติภาพเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุนในอาเซียน การรวมกลุ่มเหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทะเลก็จะไม่สำเร็จ จะเห็นบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมในกระบวนการเจรจานี้ด้วย เพราะทางมาเลเซียเองมีพื้นที่ติดต่อกันบริเวณเกาะบอร์เนียวตอนเหนือก็ได้รับผลกระทบกับความขัดแย้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การค้าขายไม่สะดวก

ประการที่สาม ระยะเวลา 40 ปีของความขัดแย้ง ทั้งฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์และฝ่าย MILF ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้า สุดท้ายไม่มีอะไรจะจบได้ดีกว่าที่โต๊ะเจรจา ซึ่งมีสิ่งสำคัญคือการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งก็ยากอยู่ แต่ดีกว่าไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ฝ่ายแบ่งแยกแดกดินแดนก็พบกันครึ่งทางด้วยการขอเขตปกครองพิเศษน่าจะพอพูดคุยกันได้ ฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์สอดคล้อง เพราะพอรับกับเขตปกครองพิเศษได้

ในช่วงท้ายรายการ ยังมีการอภิปรายบทเรียนจากมินดาเนากับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปรียบเทียบกับการเจรจาสันติภาพและพื้นที่เขตปกครองตนเองในของชนกลุ่มน้อยในพม่าด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: การรักษาเป็นสินค้าและความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ในฐานะผู้บริโภค

$
0
0

ภายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขไทยเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนแปลงต่างๆเพื่อให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนสถานภาพของแพทย์ในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นที่ยอมรับในสังคมในฐานะผู้เสียสละเพื่อรักษาชีวิตของสังคมเป็นผู้ให้บริการ นอกจากนี้การเติบโตของธุรกิจการแพทย์ทำให้ภาพของแพทย์บางส่วนที่ผู้ป่วยมองว่าเป็นผู้มีพระคุณกลายเป็นพ่อค้า และเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้จากเดิมที่ดีกลายเป็นภาพขัดแย้งไม่เข้าใจมากขึ้น และมีการฟ้องร้องมากขึ้น [1] ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญจนฝ่ายนโยบายสาธารณสุขเช่นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หามาตรการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์คนไข้  [2]

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ 4 แบบ 

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ [3]
• ความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูก (parternalistic model) เป็นความสัมพันธ์ที่แพทย์มีลักษณะเหมือนผู้ปกครองผูกขาดการตัดสินเพียงผู้เดียวในการเลือกการรักษาให้กับคนไข้ เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลยในการรักษา แพทย์เป็นผู้รู้ดีและเต็มไปด้วยปราถนาที่ต้องการให้ผู้ป่วยหายจากการป่วยและจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้คนไข้ ผู้ป่วยต้องทำตามที่แพทย์สั่งโดยห้ามขัดขืน

• ความสัมพันธ์แบบกึ่งเสรี (deliberative model) เป็นความสัมพันธ์ที่แพทย์เสมือนครูหรือเพื่อนที่หวังดีกับคนไข้แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารและชักชวนให้ผู้ป่วยเลือกการรักษาที่แพทย์คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของคนไข้ สิ่งที่แตกต่างจากแบบแรกคือ ผู้ป่วยมีการตัดสินใจเองว่าจะทำหรือไม่ทำตามที่แพทย์พูด

• ความสัมพันธ์แบบการแปล (interpretative) เป็นความสัมพันธ์ที่แพทย์เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษาของคนไข้ โดยคนไข้เป็นผู้มีความรู้และสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์และข้อมูลที่ซับซ้อนได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการอธิบายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแปลสารที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายให้แก่ผู้ป่วย

• ความสัมพันธ์แบบให้ข้อมูลข่าวสาร (informative model) เป็นความสัมพันธ์ที่แพทย์มีลักษณะเป็นช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญการรักษาและมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างทั้งข้อดีข้อเสียของการรักษาทุกชนิดและสร้างตัวเลือกต่างๆให้กับผู้ป่วยซึ่งอยู่ในสถานะผู้บริโภค มื่อได้รับข้อมูลแล้วก็สามารถไตร่ตรองได้เองว่าจะเลือกการรักษาในฐานะเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายตัวเองดีที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนศตวรรษที่แล้วเป็นความสัมพันธ์ลักษณะพ่อปกครองลูก ที่แพทย์ผูกขาดการตัดสินใจจากคนไข้หมด การรักษาที่ดีจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และคนไข้ คือถ้ามีความสัมพันธ์ดีก็มีโอกาสที่แพทย์จะทุ่มเทการรักษาอย่างเต็มที่ และต้องอาศัยจริยธรรมส่วนตัวของแพทย์ สาเหตุที่ความสัมพันธ์เป็นแบบพ่อปกครองลูกเพราะ ความไม่สมมาตรด้านข้อมูลระหว่างแพทย์และคนไข้ การเข้าถึงข้อมูลอย่างยากลำบากของคนไข้ ความซับซ้อนของความรู้ด้านการแพทย์ ความสัมพันธ์ของคนไข้และแพทย์แบบเก่าจึงวางอยู่บนความไม่เสมอภาค โดยที่คนไข้ได้สูญเสียอธิปไตยในการตัดสินใจไปให้กับแพทย์และอยู่ในรูปแบบของการมอบอำนาจให้แพทย์ตัดสินใจ « Tutelle médicale »  [5]

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วและการเติบโตของธุรกิจการแพทย์ เปิดโอกาสให้แพทย์สามารถหากำไรได้จากความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลและอำนาจตัดสินใจผูกขาดที่อาจเลือกการรักษาที่ไม่จำเป็นให้คนไข้เพื่อเพิ่มรายได้กับตนเองและอาจสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์คนไข้ สภาพการณ์ปัจจุบันจริยธรรมของแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและต้องอาศัยการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับคนไข้ ด้วยผลดีของเทคโนโลยีปัจจุบันส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นผู้ป่วยสามารถหาข้อมูลที่มีความสลับซับซ้อนได้มากขึ้นและทั่วถึงกับประชาชน ทำให้ผู้ป่วยมีอำนาจทางข้อมูลมากขึ้นและสามารถมีอำนาจต่อรองกับแพทย์และดึงอำนาจตัดสินใจจากแพทย์มาสู่ตนเองอีกครั้ง

ผู้ป่วยจากเดิมที่มีลักษณะตั้งรับ (passive) กลายมาเป็นผู้ป่วยที่มีความอิสระ (autonomy) พวกเขาไม่ใช่ผู้ป่วยที่เชื่อง ต้องเชื่อฟังคำสั่งทุกอย่างจากแพทย์โดยไม่รู้ว่าแพทย์ทำสิ่งที่ดีหรือแย่กับตน แต่ผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยที่รับรู้ เรียนรู้ได้ ว่าการรักษาใดที่ดีสำหรับตน ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองและมีแขนขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ถึงแม้ตนเองจะป่วยอยู่ก็ตาม

แนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ทั่วโลกค่อนข้างจะเปลี่ยนจากระบบพ่อปกครองลูกเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะผู้ป่วยเป็นผู้บริโภค อย่างไรก็ตามก็มีการโต้แย้งกับแนวความคิดดังกล่าว [6]  โดยเห็นว่าการรักษาไม่ควรเป็นสินค้าแต่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง และอาจมองว่าโมเดลผู้ป่วยเป็นผู้บริโภคจะเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้ 

ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าคิด แต่ควรแยกออกจากกันก่อนว่า การแพทย์เชิงพาณิชย์ที่ลดทอนสิทธิการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยและโมเดลผู้ป่วยเป็นผู้บริโภคเป็นคนละเรื่องกัน ในประเทศฝรั่งเศสที่จัดหาการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงให้กับประชาชนทุกคนหรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ถึงแม้บางรายไม่ได้เป็นผู้เสียภาษีเลยก็ตาม ต่างก็เปลี่ยนเป็นโมเดลผู้บริโภค โดยมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจและสิทธิของผู้ป่วยและเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการประชาธิปไตยในระบบสาธารณสุข สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคมีความแข็งแกร่งและสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนไข้ที่เดือดร้อนจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ได้

 

เชิงอรรถ

[1] http://www.doctor.or.th/clinic/detail/7043

[2] มติและข้อเสนอจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๑

[3] http://www.med.yale.edu/intmed/resources/docs/Emanuel.pdf

[4] http://www.who.int/genomics/public/patientrights/en/

[5] Claude Le Pen, « Patient » ou « personne malade » ? Les nouvelles figures du consommateur de soins, Revue économique-vol.60, N°2 mars 2009, p.258.

[6] http://www.mat.or.th/file_attach/22Mar201205-AttachFile1332376445.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว

$
0
0

ผมไม่มีความเห็นอะไรเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงของรัฐบาลมานาน เพราะยอมรับว่ายังไม่สู้เข้าใจผลกระทบถ่องแท้นัก จึงได้สดับตรับฟังและตามอ่านความเห็นของคนอื่นตลอดมา

บัดนี้ ผมคิดว่าผมพอจะบรรลุความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

ผู้ที่คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้มีปัญหามาก และปัญหาเหล่านั้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว ผมขอแบ่งปัญหาที่กล่าวถึงออกเป็นสองอย่าง คือปัญหาเชิงหลักการกับปัญหาเชิงปฏิบัติ

ในด้านหลักการ ราคาที่รับจำนำนั้นเห็นว่าสูงเกินความเป็นจริง หรือเกินขีดความสามารถของรัฐบาลไทย (ทุกชุด) จะจัดการได้ เริ่มตั้งแต่ไม่มีทางระบายข้าวออกไปได้ เพราะราคาที่รับซื้อสูงเกินราคาตลาดโลกมาก นอกจากยอมระบายออกในราคาที่ขาดทุน เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ยิ่งกว่านี้บางคนยังบอกว่า มีส่วนดึงราคาข้าวภายในประเทศให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะทำความเดือดร้อนแก่คนชั้นกลางระดับล่างในเขตเมือง แต่จนถึงทุกวันนี้ ผลกระทบด้านนี้ยังไม่ปรากฏให้เห็น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นมีส่วนจากราคาข้าวน้อยมาก

ผลกระทบต่อไปก็คือ ชาวนาย่อมจะลงทุนปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนข้าวที่ไหลเข้าสู่โครงการเพิ่มขึ้นด้วย การขยายการปลูกข้าวเพราะแรงกระตุ้นของโครงการ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ตลอดจนราคาเช่าที่ดิน ค่าขนส่ง, แรงงาน ฯลฯ บางส่วนของต้นทุนการผลิตก็มีราคาสูงขึ้นจริงในฤดูการผลิตใหม่นี้ เช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น แต่ก็น่าจะเป็นการขึ้นราคาชั่วคราว ในช่วงที่อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกันเท่านั้น

ดังนั้น ผู้คัดค้านโครงการจึงเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำในการช่วยชาวนามากกว่า คือการพัฒนาการเกษตรในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่รับจำนำผลผลิตด้วยราคาสูง เช่น ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ เป็นต้น

ปัญหาในด้านเชิงปฏิบัติ ผู้คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือชาวนากลางขึ้นไป กับโรงสี ส่วนชาวนาเล็กที่ "ยากจน" (คำนี้มีปัญหาในตัวของมันเองมากนะครับ) เงินไม่ตกถึงมือ เท่าที่ผมทราบ ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับในตัวเลขว่าทั้งมอเตอร์ไซค์, รถปิกอัพ และวัสดุก่อสร้างขายดีขึ้นในเขตชนบท ซึ่งตลาดของชาวนากลางอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ อีกทั้งความกระตือรือร้นของชาวนาที่จะขยายการเพาะปลูก ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชาวนาจำนวนมาก (ทั้งกลางและเล็ก) ตอบสนองต่อโครงการด้วยความยินดี

ในส่วนโรงสีได้กำไรนั้น ผมยังมองไม่เห็นว่าจะได้อย่างไร นอกจากยอมรับซื้อข้าวในราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่พูดถึงการทุจริตเช่นสวมสิทธิจำนำข้าวและอื่นๆ นะครับ ที่พอจะมองเห็นกำไรแน่ๆ ก็คือรับสีข้าวที่รัฐบาลรับจำนำไว้ตันละ 500 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่ราคาที่สูงกว่าปกติ แต่มีข้อได้เปรียบคือมีข้าวป้อนให้สีได้มั่นคงขึ้น โดยตัวเองไม่ต้องเสี่ยงทางธุรกิจคือรับซื้อเท่านั้น

อีกข้อหนึ่งที่พูดกันมากคือการทุจริตทั้งของชาวนาเอง (ขายส่วนต่างของสิทธิการจำนำข้าว), นายทุนผู้รับซื้อส่วนต่างนี้, ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั้งขององค์กรของรัฐและบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เรื่องนี้จริงแน่นอนโดยไม่ต้องทำวิจัยเลยก็ได้ โครงการใช้เงินเป็นแสนล้านโดยไม่มีการโกงเลย จะเกิดขึ้นได้ที่ไหนในโลกล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ โกงมากกว่าโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาหรือโครงการประกันราคามากน้อยแค่ไหน และโกงได้อย่างไรหรือมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง และควรอุดอย่างไร น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการคัดค้าน

ยังมีเสียงคัดค้านเชิงอุดมการณ์จากจุดยืนจารีตนิยม ที่รังเกียจรัฐสวัสดิการทุกรูปแบบ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนขี้เกียจไม่รับผิดชอบและไม่ทำหน้าที่ของตนเอง คอยแต่จะแบมือรับความช่วยเหลือจากรัฐตลอดไป ข้อนี้ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ เพราะน่าสงสารเกินไป

แม้เสียงคัดค้านเหล่านี้มีส่วนจริงหรือมีส่วนเป็นไปได้บางเรื่อง แต่เป็นการมองโครงการในแง่ความเป็นไปได้ทางการตลาดเท่านั้น ผมคิดว่ารัฐบาลต้องชัด (กว่านี้) ว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม ไม่ใช่โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพียงช่วยพยุงราคาข้าวของชาวนาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากขึ้น และต้องไม่ขาดทุน

ตรงกันข้ามเลยครับ รัฐบาลตั้งใจจะขาดทุนมาแต่ต้น และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องวางแผนการระบายข้าวให้ดีโดยไม่ต้องนั่งรอราคาสูงสุดอย่างเดียว แต่จะระบายไปตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวของไทยด้วยและเพื่อให้การระบายข้าวทั้งหมดที่รับจำนำมานั้นขาดทุนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่น การแพคเกจจิ้ง ไปจนถึงผ่านกระบวนการรักษาคุณภาพให้คงทน เป็นต้น เท่ากับโครงการรับจำนำช่วยเปิดตลาดข้าวระดับสูงไปพร้อมกัน (แน่นอนโดยร่วมมือกับผู้ส่งออกเอกชน)

จะขาดทุนบักโกรกแค่ไหน ผมไม่ทราบ แต่มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งประมาณว่าไม่น่าจะเกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายออกไปในการประกันราคา (ซึ่งรั่วไหลมากกว่าเสียอีก)... แต่ตัวเลขนี้จะเชื่อได้แค่ไหนผมไม่ทราบ

สมมุติว่านักเศรษฐศาสตร์ประเมินต่ำไป 100% ก็ขาดทุนแค่ 100,000 ล้านบาท เงิน 100,000 ล้านจากงบประมาณแผ่นดินหลายล้านล้านบาท เพื่อช่วยชาวนาซึ่งมีจำนวนประมาณ 40% ของประเทศ จะเป็นไรไปเล่าครับ ปัญหามาอยู่ที่ว่าช่วยแล้วได้ผลอะไรและอย่างไรต่างหาก เช่น หากชาวนามั่นใจว่ารายได้ของตนจะสูงขึ้น เขาเอาไปลงทุนในอะไรอีกบ้างที่จะให้ผลดีแก่เขาในระยะยาว

ส่วนการที่จำนวนหนึ่งนำไปซื้อมอเตอร์ไซค์และปิกอัพหรือต่อเติมบ้านเรือนนั้น อย่าได้คิดว่าเขาเอาเงินที่ได้มาไปใช้ในทางฟุ่มเฟือยเป็นอันขาด เพราะทั้งสามอย่างนี้เป็นการลงทุนทางธุรกิจไปพร้อมกับการเลื่อนสถานภาพทางสังคม 

เรื่องนี้ต้องเข้าใจชีวิตของชาวนาไทยให้ดี

"ชาวนา" ที่ทำนาขนาดเล็กด้วยกำลังครอบ ครัวของตนเพื่อยังชีพนั้น ปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว ส่วนใหญ่ของรายได้ของครอบครัวชาวนามาจากงานนอกภาคการเกษตร และเป็นเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้วด้วย ฉะนั้นรายได้ของครอบครัวชาวนาจึงสูงขึ้น แต่ไม่ใช่จากการทำนาหากมาจากการรับจ้างหลากหลายประเภท แม้กระนั้นการทำนาก็ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญแก่คนอีกมาก ในขณะที่หลุดออกไปจากภาคเกษตรโดยสิ้นเชิงก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าถือเส้นความยากจนตามที่สำนักงานสถิติใช้ในการหาข้อมูล ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน

การที่ชาวนาหลุดออกไปเป็นแรงงานประเภทต่างๆ นั้น เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในการพัฒนาของทุกประเทศ แต่ไทยมีปัญหาเฉพาะก็คือ อัตราการเปลี่ยนอาชีพของชาวนาไทยเกิดขึ้นช้ามาก จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคนที่ทำนา (หรือเกษตรอย่างอื่น) ตกค้างอยู่ถึงเกือบ 40% ของประชากร แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของเขาไม่ได้มาจากภาคเกษตรก็ตาม

รถปิกอัพ, บ้านเรือน และมอเตอร์ไซค์ มีส่วนในการทำให้รายได้นอกภาคเกษตรของเขาเพิ่มขึ้น (เช่น มีมอเตอร์ไซค์ก็ทำให้หางานจ้างได้กว้างขึ้นกว่าจักรยานหรือเดินเท้า) การไปซื้อสินค้าเหล่านี้เมื่อมั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเขามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ชาวนาจะหันไปทำอาชีพอื่นๆ มากกว่าทำนา เพราะราคาจำนำ 15,000 บาทต่อข้าวหนึ่งตันนั้น ใช่ว่าจะทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก หากเปรียบกับการมีงานจ้างประจำทั้งปี หรือมีโอกาสค้าขายอย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น โครงการรับจำนำข้าวจึงอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งหันไปสู่อาชีพอื่น ในขณะที่ผู้ยังอยู่ในอาชีพทำนา ก็จะมีโอกาสพัฒนาผลิตภาพของตนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น

ในกระบวนการนี้ เขาจะลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หลังจากจบ ม.3 ซึ่งทำให้หางานโรงงานทำได้นั้น เขาจะส่งลูกหลานเรียนต่อไปหรือไม่ อันนี้ผมเดาไม่ถูก แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยจำนวนหนึ่งก็น่าจะลงทุนด้านการศึกษาต่อไป เพราะไม่มีแรงบีบให้ต้องเอาลูกออกไปทำงานโรงงาน และถ้าเป็นอย่างนั้นในจำนวนคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนาในเวลานี้ ย่อมหมายความว่า โครงการรับจำนำนี้ช่วยเปิดช่องทางที่ชาวนาจะได้รับผลพวงของการพัฒนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

อันที่จริง การที่รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ทุ่มงบประมาณลงไปสนับสนุน หรือออกกฎหมายปกป้องคนในอาชีพเกษตรนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในสหรัฐ, ยุโรป, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ชาวนาไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร กลับสนับสนุนนโยบายเช่นนี้ด้วยซ้ำ เหตุใดนโยบายทำนองเดียวกันจึงถูกคนชั้นกลางและชนชั้นนำไทยคัดค้านอย่างหนัก

ส่วนหนึ่งของคำตอบก็คือ ในประเทศพัฒนาแล้ว ชาวนาหรือเกษตรกรมีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยประมาณ 4-8% ของประชากร คนทั่วไปจึงไม่รู้สึกถึงผลกระทบของนโยบาย แต่คนถึง 40% ที่คอยความช่วยเหลือในเมืองไทย มีจำนวนมากกว่ากันมาก ความช่วยเหลือใดๆ ที่จะบังเกิดผลแก่เขาจริง ต้องมีสัดส่วนพอสมควรในทรัพย์สาธารณะเป็นธรรมดา คนไทยชั้นกลางขึ้นไปจึงอ่อนไหวต่อการช่วยชาวนามากเป็นพิเศษ มองนโยบายเหล่านี้ด้วยความระแวง

แต่เหตุผลที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเมือง

ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทยต้องการเก็บชาวนาไว้ภายใต้อุปถัมภ์ของตนตลอดไป แยกชาวนาออกเป็นปัจเจกบุคคลตัวเล็กๆ ภายใต้การนำของ "ปราชญ์ชาวบ้าน" ที่สยบยอมต่อระบบ ส่วนที่เหลือมองไม่เห็นประโยชน์ของชาวนามากกว่าแรงงานราคาถูก เพราะถึงอย่างไรสินค้าที่พวกเขาผลิตก็มุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว

ในทางตรงกันข้าม ชาวนาไทยไม่มีประสบการณ์ในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางการเมืองมากนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป) อันที่จริงชาวนาไทยถูก "ปราบปราม" อย่างเหี้ยมโหดและเด็ดขาดเสียยิ่งกว่าความเคลื่อนไหวของกรรมกรเสียอีก หากเขาพยายามรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของเขาในนโยบายสาธารณะ

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด

แม้ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว (ตามทรรศนะของผม) แต่รัฐบาลต้องยินดีและน้อมรับฟังคำวิจารณ์ของทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งของคำวิจารณ์นั้นอาจมาจากแรงจูงใจที่ไม่ดีทางการเมือง แต่รัฐบาลอย่าไปสนใจแรงจูงใจดีกว่า หากควรฟังและทบทวนโครงการอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปรับเปลี่ยนอย่าให้เกิดรูรั่ว แต่ก็ต้องชัดเจนในด้านเป้าหมายของโครงการ ทั้งแก่ตนเองและประชาชน

เพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะ: ความท้าทายและมาตรการควบคุมมลภาวะทางแสง

$
0
0

ชื่อบทความเดิม: การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่น: ประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนามาตรการควบคุมมลภาวะทางแสงของท้องถิ่นในอนาคต

 

[1] บทนำ

การขยายตัวของชุมชนเมืองสมัยใหม่และการเติบโตของจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปริมลฑลย่อมก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชากรในท้องถิ่นหรือชุมชนเมืองสมัยใหม่ย่อมต้องการความสะดวกสบายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเวลากลางวันตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกและเวลากลางคืนตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเวลากลางคืน แต่ประชากรในท้องถิ่นหรือชุมชนเมืองย่อมต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ เพื่อให้ตนเองสามารถทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือนได้เสมือนหนึ่งเป็นเวลากลางวัน นอกจากนี้ ภาครัฐและท้องถิ่นยังต้องดำเนินบริการสาธารณะด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในท้องถิ่นและชุมชนเมือง ตัวอย่างเช่น การจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนในเวลากลางคืน การออกตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในยามค่ำคืน และการจัดพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการและการกีฬาให้กับประชาชนในยามค่ำคืน เป็นต้น

ดังนั้น รัฐและท้องถิ่นสมัยใหม่จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางในการให้ประชาชนประกอบกิจกรรมต่างๆ ในเวลากลางคืนได้โดยสะดวกและแนวทางให้รัฐหรือท้องถิ่นประกอบกิจกรรมบริการสาธารณะด้านต่างๆ ในเวลากลางคืนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชากรในชุมชนเมืองหรือท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นสมัยใหม่จึงได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นในยามค่ำคืน รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในการจัดทำบริการสาธารณะในด้านอื่นๆของท้องถิ่นเอง ตัวอย่างเช่น ไฟถนน (Street lights) ไฟรักษาความปลอดภัย (Security lights) และไฟสนามกีฬาและพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการ (Floodlights at sports and recreational areas) เป็นต้น

ในปัจจุบันท้องถิ่นของไทยไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการเมืองปลอดภัย อุ่นใจทุกครอบครัว ของกรุงเทพมหานครที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษและโครงการติดตั้งไฟส่องสว่างของเทศบาลที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป เป็นต้น อย่างไรก็ดี การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เนื่องจากปัญหาการใช้งานแสงสว่างภายนอกอาคาร (Outdoor artificial light) จากการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีลักษณะการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟที่ไม่เหมาะสม (inappropriate) และไม่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ (eco-unfriendly) อันนำไปสู่ปัญหามลภาวะทางแสงในชุมชนเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ

 

รูปที่ 1การพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นระดับต่างๆ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมลภาวะทางแสงที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง ที่มา BBC News. (2012). Light pollution: Is there a solution?. Retrieved November 1, 2012, from http://www.bbc.co.uk/news/magazine-16470744

 

รูปที่ 2มลภาวะทางแสงอาจมีสาเหตุมาจากการติดตั้งหรือการออกแบบหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีลักษณะที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดแสงรุกล้ำ (light trespass) ในบริเวณทรัพยสินและบ้านเรือนของประชาชน อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพลามัยของประชาชนในระยะยาว ที่มา PTL SOLAR FZ LLC. (2012). Useful Light and Light Pollution. Retrieved November 1, 2012, from http://www.grenlite.com/research-info.html

 

 

[2] มลภาวะทางแสงคืออะไร?

การใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ แม้ว่าจะให้คุณอนันต์ต่อการดำเนินชีวิตของประชากรและการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในยามค่ำคืน แต่หากการใช้งานแสงสว่างที่กำเนิดมาจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่มีค่าความสว่าง (Luminance) ที่เกินไปกว่าความจำเป็นในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ (Excessive) หรือมีทิศทางการส่องสว่างของแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมอันทำให้แสงนั้นรุกล้ำไปยังพื้นที่ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (Intrusive) รวมไปถึงการใช้งานแสงสว่างในเวลาและพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ย่อมก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง (Light pollution)

อนึ่ง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองและการวางผังเมืองเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องคำนึงถึงปัญหาและผลกระทบจากไฟส่องสว่างสาธารณะด้วย เพราะไฟส่องสว่างสาธารณะอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง ที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภูมิภาคของหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางและวิธีการเพื่อจัดการกับปัญหามลภาวะทางแสงในอนาคต

 

[3] มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพมนุษยอย่างไร?

แม้แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟประเภทต่างๆ ที่นำมาใช้จัดทำไฟส่องสว่างสาธารณะจะมีประโยชน์กับประชาชนพื้นที่ชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่นมากสักเพียงใดก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มลภาวะทางแสงอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน โดยผลกระทบของการใช้ไฟส่องสว่างสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประการแรก มลภาวะทางแสงที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ (Human health) มลภาวะทางแสงที่เกิดจากการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟส่องสว่างสาธารณะภายนอกอาคารประเภทต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการออกแบบและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมต่อลักษณะของการใช้งานในแต่ละพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยหรือประกอบกิจกรรมในเวลากลางคืน ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น วงจรชีวิตมนุษย์ (Human Circadian Rhythms) โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Lack of Sleep) โรคเครียด (Psychological Stresses) โรคมะเร็งในเต้านม (Breast Cancer) และการพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Development of Premature Babies) เป็นต้น

สาเหตุที่มลภาวะทางแสงจากการใช้งานแสงสว่างจากไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะอาจกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นนี้ ก็เพราะ ความมืดในเวลากลางคืน (Dark Nights) กับการหลั่งสารเมลาโทนินตามปกติ (Normal Melatonin Production) มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งสารเมลาโทนินถือเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่หลั่งออกมาจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) สารเมลาโทนินจะหลั่งได้ดีในที่มืดขณะเวลาที่มนุษย์นอนหลับตอนกลางคืนช่วง 2 นาฬิกาจนถึง 4 นาฬิกา โดยสารชนิดนี้มีส่วนช่วยในการควบคุมวงจรชีวิตมนุษย์หรือวงจรการทำงานของร่างกายมนุษย์ตามปกติ เช่น การพัฒนาระบบอวัยวะสืบพันธุ์ การนอนหลับของมนุษย์ อารมณ์ของมนุษย์และการต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น แต่หากมลภาวะทางแสงจากการใช้แสงสว่างที่มาจากไฟส่องสว่างสาธารณะเกินสมควรหรือรุกล้ำของแสงไปในสถานที่อันเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ในเวลากลางคืน รวมไปถึงการใช้แสงสว่างในเวลาและพื้นที่ที่ไม่จำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถของร่างกายในการผลิตสารเมลาโทนินได้ดีในเวลากลางคืน ซึ่งเมื่อร่างกายผลิตสารเมลาโทนินได้น้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปด้วย ตนอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรืออันตรายต่อกายในอนาคต ทั้งนี้ สมาคมการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะทางแสงและสุขภาพมนุษย์ ได้แก่ “การรุกล้ำของแสงส่งผลกระทบต่อจังหวะวงจรชีวิตมนุษย์และสัตว์และอาจเป็นสาเหตุของการลดปริมาณการหลั่งของสารเมลาโทนินที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย อันทำให้มนุษย์เผชิญกับภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งในอนาคต” ดังนั้น การรุกล้ำ (Light trespass) ของแสงสว่างจากการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นจากการใช้งาน ออกแบบและติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้มนุษย์เผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ต่อสุขภาพด้วย

 

รูปที่ 3แสงสว่างมีความสัมพันธ์กับการหลั่งสารเมลาโทนินจากต่อมไพเนียลในสมองมนุษย์ ที่มา Cancertruth. (2012). Magnificent Melatonin, Retrieved November 1, 2012, from http://www.cancertruth.net/magnificientmelatonin/

ประการที่สอง มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะอาจกระทบต่อระบบนิเวศ (Ecological light pollution) กล่าวคือ การติดตั้งไฟส่องสว่างที่มีลักษณะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณรอบๆ พื้นที่ที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่าง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้นไม้ประเภทต่างๆ รวมไปถึงระบบนิเวศตามธรรมชาติในเวลากลางคืน (Nocturnal ecological system) ตัวอย่างเช่น ไฟส่องสว่างสาธารณะอาจก่อให้เกิดมลภาวะทางแสงที่รุกล้ำไปยังที่อยู่อาศัยของค้างคาวตามธรรมชาติ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วค้างคาวจะชอบอยู่อาศัยในพื้นที่มืดและอากาศถ่ายเทสะดวก นอกจากนี้ ไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทไฟถนนบริเวณชายหาด (Coastal roadway lighting) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของแม่เต่าทะเลภายหลังจากฟักไข่ได้ ซึ่งแทนที่แม่เต่าทะเลจะอาศัยแสงธรรมชาติ ได้แก่ แสงจันนทร์และแสงจากดวงดาวในการนำทางเคลื่อนที่กลับเข้าสู่ท้องทะเล แต่แสงไฟถนนบริเวณชายหาดกลับทำลายบรรยากาศความมืดตามธรรมชาติในเวลากลางคืน ทำให้แทนที่แม่เต่าทะเลจะเคลื่อนที่ลงสู่ท้องทะเลไปตามธรรมชาติ แต่แม่เต่าทะเลกลับเคลื่อนที่ลึกเข้ามายังพื้นที่ชายฝั่ง โดยอาจทำให้เกิดอันตรายต่อแม่เต่าทะเล ได้แก่ ภาวะเหนื่อย (exhausting) ภาวะขาดน้ำ (dehydration) รวมไปถึงการตายจากยวดยานพาหนะที่สัญจรบนถนนชายหาด

 

รูปที่ 4มลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะบริเวณพื้นที่ชายหาดที่อาจกระทบต่อสวัสดิภาพของเต่าทะเล ที่มา Collier County Florida. (2012). Lighting Compliance. Retrieved November 1, 2012, from http://www.colliergov.net/Index.aspx?page=446

 

[4] ไฟส่องสว่างสาธารณะสามารถยับยั้งการเกิดอาชญากรรมได้หรือไม่?

แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของหลายประเทศมีความเชื่อว่าการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไปเป็นจำนวนมากจะสามารถลดปัญหาและระดับของการก่ออาชญากรรมลงได้ แต่อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าค่าความสว่างในพื้นที่ระดับสูงจะสัมพันธ์กับการหยุดยั้งการกระทำความผิดหรือลดจำนวนอาชญากรรมแต่อย่างใด ซึ่งแท้จริงแล้วแสงสว่างจากไฟส่องสว่างกลับเอื้อประโยชน์ต่อการก่ออาชญากรรมบางประเภท เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือของเอกชนในเวลากลางคืน (Vandalism) และการวาดภาพหรือเขียนบนกำแพงในพื้นที่สาธารณะหรือทรัพย์สินของผู้อื่น (Graffiti) เป็นต้น

นอกจากนี้ แสงสว่างอาจช่วยเอื้อต่อการมองเห็นของผู้กระทำความผิดในกรณีอื่นๆอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาเอกสาร ‘Preventing Crime: What Works, What Doesn't, What's Promising’จัดทำโดย Lawrence W. Sherman และคณะ (1998) เพื่อเสนอต่อรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาที่พบว่าแสงสว่างอาจช่วยสนับสนุนผู้กระทำความผิดในการประกอบอาชญากรรมในบางกรณี โดยยกตัวอย่างกรณีผู้กระทำความผิดต้องแสงสว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่ออาชญากรรมในกรณีที่ต้องการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในเวลากลางคืน เช่น ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ เป็นต้น

 

[5]ความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนามาตรการควบคุมมลภาวะทางแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นในอนาคต

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นอาจเห็นได้ว่าไฟส่องสว่างสาธารณะอาจช่วยอำนวยความสะดวกต่อประชากรในการใช้ชีวิตในยามค่ำคืนและการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนในยามค่ำคืน แต่ไปส่องสว่างสาธารณะที่มีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสมหรือการออกแบบที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการติดไฟส่องสว่างสาธารณะเป็นจำนวนมากจะทำให้ลดปริมาณการก่ออาชญากรรมในท้องถิ่นลงได้ ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นในหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหามาตรการทางกฎหมายท้องถิ่นเพื่อรับมือกับปัญหามลภาวะทางแสงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะหรือการใช้งานหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟภายนอกอาคารประเภทอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เมืองทูซอน มลรัฐเอริโซน่าได้ตรา ประมวลข้อบังคับท้องถิ่น City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code 2012 โดยออกตามความในกฤษฎีกาเมืองว่าด้วยการผังเมือง City of Tucson Ordinance 2012 ที่กำหนดให้ท้องถิ่นของเมืองทูซอนต้องมีหน้าที่ในการรักษามาตรฐานการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะของท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ของประชาชนและระบบนิเวศ

สำหรับสาระสำคัญของประมวลข้อบังคับท้องถิ่น City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code 2012 ได้กำหนดให้ไฟส่องสว่างสาธารณะในบริเวณถนนสาธารณะ (Lighting of public right-of-ways) ต้องมีการติดตั้งโล่ไฟ (Light shield) เพื่อควบคุมทิศทางของแสงไม่ให้แสงส่องรุกล้ำไปยังบริเวณที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานหรือส่องสว่างไปทำลายระบบนิเวศโดยรอบ นอกจากนี้ ประมวลการใช้งานไฟส่องสว่างสาธารณะดังกล่าวยังได้กำหนดค่าความส่องสว่างโดยเฉลี่ยขั้นสูง (maximum average illumination level) ในบริเวณพื้นที่ทางสาธารณะที่ติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถวัดระดับความส่องสว่าง (Footcandle ( fc ) 1 lumen / sq.ft) ในแต่ละพื้นที่ได้เพื่อให้ความส่องสว่างเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงกำหนดมาตรฐานของพิกัดประสิทธิภาพต่ำสุดของหลอดไฟหรือโคมไฟที่ติดตั้งสำหรับไฟส่องสว่างสาธารณะในแต่ละประเภท (Rated minimum efficacy values) อีกด้วย

 

[6] สรุปและข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย

ในปัจจุบันหลายท้องถิ่นของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษหรือท้องถิ่นทั่วไปได้พยายามพัฒนาและติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะผ่านโครงการต่างๆเช่น โครงการ “เมืองปลอดภัย อุ่นใจทุกครอบครัว ของกรุงเทพมหานคร” ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษและโครงการติดตั้งไฟส่องสว่างของเทศบาลอื่นๆที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าโครงการต่างๆ จะมีวัตถุประสงค์ดีคือเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นหรือมีความรู้สึกปลอดภัยจากอาชญากรรมประเภทต่างๆ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆของไทยต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการติดตั้งหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟเป็นจำนวนมาก อาจช่วยเพียงแค่ให้แสงสว่างในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองให้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะเป็นจำนวนมากจะช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้จริง นอกจากนี้ การติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมส่องสว่าง กล่าวคือ หลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะอาจมีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริงในแต่ละพื้นที่หรืออาจมีลักษณะที่ไม่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศโดยรอบพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะ ซึ่งผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสงที่อาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ได้

ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นประเภทต่างๆ ของไทย จึงควรตระหนักถึงผลร้ายหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโครงการพัฒนาไฟส่องสว่างสาธารณะประเภทต่างๆ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายท้องถิ่นที่กำหนดถึงมาตรฐานการติดตั้งหรือใช้งานหลอดไฟฟ้าหรือโคมไฟจากไฟส่องสว่างสาธารณะ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ข้อบังคับท้องถิ่น เทศบัญญัติท้องถิ่น ข้อบัญญัติเมือง เป็นต้น ดังนั้น ในอนาคตก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการพัฒนาหรือติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะ ท้องถิ่นควรออกนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายท้องถิ่นเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรฐานการใช้งานและการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

Ackermann, K. & Stehle, H. J. (2006). Melatonin Synthesis in the Human Pineal Gland: Advantages, Implications, and Difficulties. Chronobiology International, 23:1-2, 369-379.

Ancoli-Israel, S. et al. (2003). The Role of Actigraphy in the Study of Sleep and Circadian Rhythms. SLEEP, 26 (3), 342-92.

BBC News. (2000). Night shifts ‘increase breast cancer risk, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/1092390.stm

BBC News. (2003). Artificial light linked to breast cancer, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/in_depth/sci_tech/2003/denver_2003/2766161.stm

BBC News. (2006). Light ‘risk’ to premature babies, Retrieved November 1, 2012, from http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/4799445.stm

Cajochen C. (2005). High Sensitivity of Human Melatonin, Alertness, Thermoregulation, and Heart Rate to Short Wavelength Light. Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism, 90 (3), 1311-1316.

Davis, S., Mirick, D.K. & Stevens, R.G. (2001). Night shift work, light at night, and risk of breast cancer,  Journal of the National Cancer Institute, 93, 1557-1562.

Engineering Society of North America & International Dark Sky Association. (2010). JOINT IDA-IES MODEL LIGHTING ORDINANCE (MLO) with USERS GUIDE, (Arizona: International Dark Sky Association).

Gallagher, M.R. (2010). The influence of urban noise and light pollution on women’s and girls’ sleep patterns, weight and cardiovascular health, Penn-International Conference On Women’s Health Initiative 18th Congress. Philadelphia: University of Pennsylvania. .

Guardian. (2007). Lights out on Britain's bats, Retrieved November 1, 2012, from http://www.guardian.co.uk/environment/2007/jul/15/conservation.endangeredspecies

Hansen, J. (2001). Light at Night, Shiftwork, and Breast Cancer Risk. Journal of the National Cancer Institute, 93(20), 1513-1515.

Johnson C.H. (2010). Circadian clocks and cell division. Cell Cycle, 9(19), 3864–3873      .

Kerenyi, N.A., Pandula E. & Feuer G. (1990). Why the incidence of cancer is increasing: the role of `light pollution’. Med Hypotheses. 33(2), 75-78.

Kloog, I. et al. (2011). Does the Modern Urbanized Sleeping Habitat Pose a Breast Cancer Risk?. Chronobiology International, 28 (1), 76-80.

Longcore, T. & Rich, C. (2004). Ecological light pollution. Front Ecol Environ, 2(4): 191–198.

Pima County. (2012). 2012 City of Tucson/Pima County Outdoor Lighting Code Adopted by City of Tucson ordinance #10963 on February 7, 2012, Retrieved November 1, 2012, from http://cms3.tucsonaz.gov/sites/default/files/dsd/Codes-Ordinances/2012_outdoor_lighting_code_.pdf

Sherman, W. L. (1998). Preventing crime: what works, what doesn't, what's promising, (New York: U.S. Dept. of Justice, Office of Justice Programs, National Institute of Justice)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 ต.ค. - 3 พ.ย. 2555

$
0
0

'แรงงาน' ยันเดินหน้าค่าจ้าง 300

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 55  นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 56 นี้ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะพิจารณาได้ หลังครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตนยืนยันให้เดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ตามมติบอร์ดค่าจ้าง

รมว.แรงงาน กล่าวถึงการออกมาคัดค้านของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชะลอปรับค่าจ้าง 300 บาทออกไปนั้น ว่า ปัญหาการคัดค้านมันเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงเรารับรู้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยที่จะมานั่งคุยหารือกันอย่างจริงจัง ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร

เพราะหลายๆ มาตรการที่ทางเราออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งของกระทรวงแรงงานเอง หรือแม้แต่มาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งร่วมมือกัน ขณะนี้ก็ยังไม่มีผลตอบกลับกลับมาเลยว่าตรงใจผู้ประกอบการหรือไม่อย่างไร จึงเป็นการออกมาตาการฝ่ายเดียวจากภาครัฐ ในฐานะหน่วยงานรัฐก็อยากรู้เหมือนกันว่าเอกชนคิดอย่างไร ตลอดจนต้องการรู้ว่ามาตรการที่ออกไปนั้นมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีได้จริงหรือไม่

"จริงๆ เรื่องค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ เราได้ทำการบ้านมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบในทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดร่วมหารือกับภาคธุรกิจในพื้นที่ อยู่แล้ว แต่เราก็อยากให้ภาคเอชนที่มีปัญหาจริงเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อจะได้แก้ให้ตรง จุด"

(คมชัดลึก, 29-10-2555)

 

พนักงาน รง.ผลิตชิ้นส่วนร้องเท้าในระยอง ร้องบริษัทฯ ปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้า

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ต.ค.) กลุ่มพนักงานชาย-หญิงของบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันประท้วงที่ด้านหน้าบริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่ 94 หมู่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และยังขอยื่นหนังสือประท้วงต่อนายธวัชชัย จิตต์ธรรมวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กรณีประกาศปิดกิจการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และประกาศจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างเพียง 30% และขอให้บริษัทฯ ออกใบรับรองการผ่านงานให้แก่พนักงานทุกคน แต่นายธวัชชัย กลับไม่ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว นอกจากนั้น ยังขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดำเนินการกับนายจ้าง เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118
      
นายพรเทพ สุภาภรณ์ พนักงานฝ่ายผลิต 1 ในผู้ชุมนุมกล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นบริษัทฯ ในเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้า และมีพนักงานชาย-หญิง รวมทั้งพนักงานที่สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งสิ้น 423 คน
      
โดยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานกำลังปฏิบัติงานได้มีผู้บริหาร ออกมาประกาศปิดกิจการ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าพร้อมกำหนดจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างเพียง 30% โดยขอให้พนักงานย้ายไปทำงานยังโรงงานที่อยู่ในเครือที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มีครอบครัวอยู่ในจังหวัดระยอง จึงไม่พร้อมที่จะย้ายที่ทำงาน
      
“ขณะนี้พนักงานทั้ง 423 คน ได้ลงชื่อเพื่อร้องเรียน และส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง รวมทั้ง นายทิวา พรหมอินทร์ นายอำเภอบ้านค่าย และนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองแล้ว” นายพรเทพกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-10-2555)

 

ประธานอุตฯ 70 จังหวัดทั่วประเทศ นัดบุกทำเนียบวันนี้ ค้านขึ้นค่าแรง

ประธานอุตสาหกรรม 70 จังหวัด ทั่วประเทศนัดบุกทำเนียบ วันนี้ หวั่นรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เดินหน้าขึ้นค่าแรง 300 บาทต้นปีหน้า พร้อมโวย "พยุงศักดิ์" ไม่ฟังเสียงภาคเอกชน นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ว่า ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555ประธานอุตสาหกรรมจังวัดทั้ง 70 จังหวัด ได้นัดรวมตัวเพื่อเตรีมยื่นหนังสือและขอเข้าพบนางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายการรับขึ้นค่าแรงขั้นตำ 300 บาทในวันที่ 1 มกรคม 2555 เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายดังกล่าว และไม่ได้เห็นด้วยกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

 ระบุว่าเอกชนไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง และได้ขอถอนเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้นำวาระดังกล่าวออกไปหารือนอกรอบ ทำให้วาระไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)ที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฏ์ธานี "คาดว่ากระทรวงแรงงานจะเสนอวาระการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวัที่ 30 ตุลาคม เพื่อเห็นชอบ ดังนั้นภาคเอกชนต้องขอชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทบทวนเรื่องนี้ ทั้งนี้หากนายพยุงศักดิ์ไม่เห็นด้วยอีกต้องถามนายพยุงศักดิ์ว่า จะยังป็นผู้นำของภาคเอกชนต่อไปได้หรือไม่" นายทวีกิจกล่าว นายทวีกิจกล่าวว่า ทั้งนี้ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัดต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือดร้อนด้วยตนเอง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-10-2555)

 

กระทรวงแรงงาน ยันเดินหน้าเสนอครม.ขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ

กระทรวงแรงงานมั่นใจว่านโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ จะเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุม ครม.ครั้งต่อไป และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ยังเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอนโยบายดังกล่าวออกไปก่อน

ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังหารือเกี่ยวกับกำหนดการยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากเดิมที่จะขอพบเมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) แต่ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยผู้ประกอบการเรียกร้องให้เลื่อนนโยบายนี้ออกไปก่อนและไม่ต้องการให้ ฝ่ายการเมืองนำตัวเลขค่าแรงมาใช้หาเสียงอีก แต่หากต้องขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่ม เช่น ลูกจ้างต้องมีวุฒิ ป.4 ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่างจังหวัดที่ใช้แรงงานข้ามชาติ

ด้านนายวิชัย อัสรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือฝึกอบรมแรงงาน 10 กลุ่ม ใน 39 หลักสูตร เพื่อเพิ่มผลิตภาพและบรรเทาปัญหาการขึ้นค่าแรง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว สำหรับเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันในสัปดาห์หน้า เพื่อผลักดันเสนอต่อรัฐบาลเช่นกัน

แม้จะมีผู้คัดค้านนโยบายนี้แต่กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 70 จังหวัด จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า (56) อย่างแน่นอน

กระทรวงแรงงานระบุถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง 27 มาตรการ แต่มีผู้ขอรับการช่วยเหลือไม่มาก เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีผู้ขอกู้เพียง 400 ล้านบาท การปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ก็จะคงอัตรานี้ไปจนถึงปี 58 ส่วนจังหวัดที่แม้จะปรับค่าแรงขึ้นไปร้อยละ 40 แต่ยังไม่ถึง 300 บาท ก็จะไปพิจารณาอีกครั้งในปี 56

(ข่าวสด, 2-11-2555)

 

ถกอิสราเอลลดค่าหัวแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาค การเกษตรที่ประเทศอิสราเอลว่า อิสราเอลได้ให้โควตาประเทศไทยจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานปีละ 5,000 คน ขณะนี้สามารถจัดส่งได้เพียงประมาณ 1,000 คน เนื่องจากขั้นตอนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของแรงงานไทยมีความล่าช้า

"ขณะนี้ใกล้จะครบกำหนดการทำบันทึกข้อตกลงในการจัดส่งแรงงานไทยไป อิสราเอลแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในเดือนธันวาคม ดังนั้น ก่อนครบกำหนด กระทรวงแรงงานจะเจรจากับอิสราเอลเรื่องการเซ็นสัญญาทำเอ็มโอยูจัดส่งแรงงาน ไทยไปทำงานที่อิสราเอลใหม่ รวมทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลจาก70,000 บาท ให้เหลือ 50,000 บาท อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินขากลับ" นายสง่ากล่าว

นายสง่ากล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีแรงงานไทย จำนวน 3 ราย ที่บาดเจ็บจากการถูกจรวดของปาเลสไตน์โจมตีขณะทำงานอยู่ในโมชาร์ป หรือหมู่บ้านเกษตรกรรม บริเวณใกล้กับเขตฉนวนกาซาในอิสราเอลนั้น ขณะนี้สามารถกลับบ้านได้แล้ว 2 ราย เหลือเพียง 1 ราย ที่ยังเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

(มติชน, 3-11-2555)

 

ปลัดแรงงานส่ง อสส.และกรมบัญชีกลางเคลียร์ปม สปส.ลงทุน ตปท.

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึง แผนการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศ ว่า หลังจากที่บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ

ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการลงทุนเสนอ ขออนุมัติวงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนในต่างประเทศให้เกิดความมั่นคงกับกองทุนประกันสังคม เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เป็นบริษัทที่เข้าไปบริหารจัดการลงทุนในต่างประเทศร่วมกับบริษัทพันธมิตรชาว ต่างชาติอีก 3 แห่งในวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากตามระเบียบสัญญาจ้างของไทยระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและวางเงินค้ำ ประกัน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว โดยปกติการลงทุนที่มอบหมายให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการจะไม่ใช้เงินค้ำประกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ สปส.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้อัยการสูงสุด(อสส.)และกรมบัญชีกลางช่วยหา ทางออกในเรื่องนี้แล้ว

(ฐานเศรษฐกิจ, 4-11-2555)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมคุมประพฤติเล็งใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้นแทนกักขัง

$
0
0

กรมคุมประพฤติเตรียมใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้น และผู้ต้องหาเมาแล้วขับ ควบคุมพื้นที่แทนกักขังในสถานพินิจฯ



กรมคุมประพฤติ 5 พ.ย. 55 - น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงภายหลังประชุม “การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ EM”  ควบคุมตัวผู้ต้องขังแทนการลงโทษจำคุกมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรก โดยมีตัวแทนของกรมคุมประพฤติ ศาลเยาวชนและครอบครัว อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วม โดยเมื่อปี 2549 คณะกรรมการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เคยนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อขอให้แก้ไขกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 89 (2) ให้มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ควบคุมตัวนักโทษเรือนจำ เพื่อลดปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำและเป็นการควบคุมตัวเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือฟื้นฟูพฤติกรรม แต่ต้องสร้างความปลอดภัยให้สังคมและเหยื่อ โดยจุดประสงค์ของการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เพื่อควบคุม จำกัดและเฝ้าระวัง ซึ่งกรมคุมประพฤติจะเสนอศาลเยาวชนกลางใช้เครื่องอีเอ็มนำร่องกับคดีที่เยาวชนและสตรีกระทำผิดในเขตกรุงเทพฯก่อน เช่น คดีเด็กที่กระทำผิดจราจร หรือเด็กแว้น และคดีการทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรอื่น ๆ หรือเมาแล้วขับ

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า การคุมประพฤติสำหรับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ศาลจะเป็นผู้สั่งคดีว่าจะให้เยาวชนเข้าสู่ศูนย์ฝึกอบรมในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่หากมีการนำเครื่องมือควบคุมตัวอิเล็ทรอนิกส์มาใช้จะเป็นทางเลือกให้ศาลอนุญาตให้ผู้กระทำผิดได้อิสรภาพกลับไปอยู่ที่บ้านได้ แต่มีการติดเครื่องมือดังกล่าวที่มีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาข้อมือ หรือกำไล เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกแปลกแยก โดยมีศูนย์ติดตามตัวเด็กที่กรมคุมประพฤติและประสานเชื่อมต่อไปยังตำรวจเพื่อติดตามตัวเด็กได้ทันทีที่ออกนอกเขตคุมประพฤติหรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต้องห้าม หรือเข้าใกล้เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวด้วยว่า การนำแนวคิดนี้กลับมาเดินหน้าต่อเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีราคาถูกลง คาดว่าอยู่ที่เครื่องละ 20,000 บาท นำร่อง 1,000 เครื่อง เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกับศาลเยาวชนฯ ภายในเดือนธันวาคมนี้ และหากไม่ติดขัดอุปสรรคเรื่องงบประมาณ คาดจะนำร่องได้ในเดือนมกราคม 2556.

ที่มา: สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live


Latest Images