Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบการลงทุนของ 'อาลีบาบา' ในไทย

$
0
0
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลกระทบการลงทุนของ 'อาลีบาบา' และยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์รายย่อยต้องปรับตัว

 
22 เม.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอื่นๆ อย่าง JD.com, Amazon, Shoppee, 11Street, Lazada ต่อเศรษฐกิจว่าจะส่งผลให้เกิดการเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดด การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกขยายการลงทุนมาประเทศไทยก็หวังจะใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ไปสู่การขยายตลาดในภูมิอาเซียนจะทำให้ไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าและบริการในภูมิภาคได้ผ่าน Digital Hub ต่างๆ 
 
อย่างไรก็ตามผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการกระจายรายได้ยังเป็นเรื่องที่ต้องการศึกษาวิจัยต่อไป ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าด้านหนึ่งการลงทุนของยักษ์ใหญ่ทางด้านค้าปลีกออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซต่างชาติย่อมทำให้การเติบโตของธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้นและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและช่องทางในการกระจายสินค้าให้กับผู้ผลิตของไทยสู่ตลาดโลก อีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของไทย และที่มีผลกระทบหนักคือธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ทั้งหลายโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและร้านค้าปลีกรายย่อยและโชว์ห่วยของไทย หากธุรกิจไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้โอกาสและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของการค้าสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ย่อมตกแก่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเข้ามาลงทุน ขณะที่สินค้าและบริการของไทยมีช่องทางในการกระจายไปยังตลาดจีนและตลาดโลกมากขึ้น สินค้าและบริการจากทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น หากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยไม่สามารถปรับตัวแข่งขันได้จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและดุลการค้าด้วย สินค้าราคาถูกจากจีนอาจมีผลทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากทางเลือกมากขึ้นหากโครงสร้างตลาดไม่มีการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด 
 
นอกจากนี้การประกาศลงทุนของอาลีบาบาด้วยเม็ดเงิน 11,000 ล้านบาท ในพื้นที่ EEC ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปตื่นเต้นจนเกินเหตุเพราะมันเป็นเงินเพียงแค่ 5% ของกำไร 200,000 ล้านบาท ของอาลีบาบาเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน หากหวังว่าอาลีบาบาจะมาช่วยเกษตรกรรายย่อยของไทย ขายข้าว ขายทุเรียน ขายผลไม้หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยโดยเขาไม่ได้กำไรหรือไม่ได้ผลประโยชน์ที่จูงใจเพียงพอน่าจะเป็นการเล็งผลเลิศมากเกินไปในเชิงนโยบาย สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือทำให้ผู้ผลิตของไทยโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยมีอำนาจต่อรองและได้รับแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมากขึ้นภายใต้โครงสร้างตลาดที่ถูกครอบงำจากทุนยักษ์ใหญ่มากขึ้นตามลำดับ โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเฉพาะเศรษฐกิจฐานบนไม่กระจายมายังเศรษฐกิจฐานรากหรือรากหญ้า ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือการทำมาหากินมีความฝืดเคือง  
 
ทั้งนี้ต้องทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงพื้นที่ดิจิทัล (digital platform) เครื่องมือ (tools) และ การเข้าถึงเทคโนโลยี (affordance of technology) อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ความเสี่ยง นวัตกรรม ความล้มเหลว และภาวะอนาคต นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทต่อทั้งการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมในระดับปัจเจกไปจนถึงสร้างเงื่อนไขและผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับกว้าง เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำลายธุรกิจเก่าโครงสร้างการทำธุรกิจแบบเก่าและตัดธุรกิจคนกลางและสร้างธุรกิจใหม่ๆและโอกาสใหม่แต่จะเป็นกิจการที่ใช้แรงงานน้อยใช้เทคโนโลยีสูงจึงอาจเป็นการเติบโตและขยายตัวที่ไม่มีการจ้างงานมากนัก หากโครงสร้างไม่มีอำนาจผูกขาดแข็งตัวเกินไป สังคมไทยควรจะเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น 
 
ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่าธนาคารและกิจการธุรกิจทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ก็ต้องปรับตัวด้วยเพราะจะได้ผลกระทบ เพราะการลงทุนของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์จะมาพร้อมกับระบบขนส่งและระบบการจ่ายเงินออนไลน์แบบครบวงจร เช่น Alipay, E-Wallet, E-Finance จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของการบริการทางการเงินจากธนาคาร ขณะที่การท่องเที่ยวของชาวจีนอาจเพิ่มขึ้นจากระบบการจองผ่าน Digital Platform ของ อาลีบาบา กระทบต่อกิจการท่องเที่ยวที่ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์หรือคนกลางของไทย การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์นี้ได้ทำให้สิ่งเก่าและวิถีแบบเก่าถูกทำลายลงผ่านการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่และวิถีใหม่ที่เข้ามาแทนที่ ‘ทุน’ ในรูปของบริษัทต่างแข่งขันกันสะสมทุนและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด 
 
เป้าหมายของทุนเหล่านี้คือการสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง (disruption) ผ่านการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถทำลายระบบตลาดแบบเก่าและทุนคู่แข่งลงอย่างสิ้นเชิง การสร้างระบบเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบหรือประคับประคองเพื่อให้เกิดการปรับตัวจึงมีความสำคัญในมิติการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมหรือการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ หากทุนขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะถูกนำไปใช้สร้างกำไร ทำให้ทุนที่มีนวัตกรรมสามารถเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้ในระยะหนึ่งจนกว่าทุนอื่นจะลอกหรือเลียนแบบนวัตกรรมดังกล่าวได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการละทิ้งวิธีการใช้แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้าแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม และการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิมด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายที่ส่งเสริมให้ SME สามารถพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งทุนยักษใหญ่และกำกับปฏิสัมพันธ์ในสังคมให้เหมาะสมผ่านระบบการศึกษา นายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ยังกว้านซื้อธุรกิจใหม่รายย่อยที่ทำท่าว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทำให้อำนาจผูกขาดของทุนนิยมยุคดิจิทัลกระจุกอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ และมีความจำเป็นในการต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและบังคับใช้อย่างเสมอภาค 
 
นอกจากนี้รัฐบาลควรไปศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์อย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เนื่องจากฐานรายได้ภาษีของรัฐบาลจะหายไปจำนวนมากหากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนจากการทำธุรกรรมซื้อขายในร้านค้าแบบเดิมมาเป็นออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศบางส่วนจะสามารถหลบเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีจากธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งทำให้รัฐไทยสูญเสียรายได้ไปจำนวนมากเช่นเดียวกัน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนอยากเลือกตั้ง' ประณามการออกหมายจับ

$
0
0
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกแถลงการณ์เรื่องการออกหมายจับผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลังกันอีกครั้ง เดินหน้าถอนราก คสช.” 7 คน ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ ชี้เป็นการปฏิบัติต่อประชาชนเสมือนอาชญากรร้ายแรง

 
 
22 เม.ย. 2561 เพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRGได้เผยแพร่ แถลงการณ์กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรื่อง การออกหมายจับผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลังกันอีกครั้ง เดินหน้าถอนราก คสช.” โดยระบุว่าตามที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้ออกหมายเรียกผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลังกันอีกครั้ง เดินหน้าถอนราก คสช.” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 ที่หน้ากองทัพบก ดังรายชื่อต่อไปนี้ 1. กรกช แสงเย็นพันธ์ 2. ชลธิชา แจ้งเร็ว 3. ภัทรพล ธนเดชพรเลิศ 4. มัญจา หม่องคำ 5. ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร 6. วิศรุต อนุกูลการย์ 7. อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ให้ไปรายงานตัวในวันที่ 9 เม.ย. 2561 นั้น
 
ผู้ถูกออกหมายเรียก 6 คนแรกได้แจ้งขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นหนังสือโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. 2561 เนื่องจากผู้ถูกออกหมายเรียกเพิ่งได้รับหมายในระยะกระชั้นชิดหรือยังไม่ได้รับหมาย และมีภาระกิจอื่นที่นัดไว้ก่อนแล้ว แต่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามปฏิเสธคำขอดังกล่าว และให้ไปรายงานตัวในวันที่ 18 เม.ย. 2561 ซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียกได้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันว่าจะไปเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 30 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ต้องหาสะดวกและอยู่ในเวลาอันควร แต่ในท้ายที่สุดสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามได้ออกหมายจับผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 6 คนดังกล่าว ส่วนนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากแต่ไม่ได้ไปปรากฏตัวที่ศาลก่อนยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน จึงถูกออกหมายจับไปด้วย
 
ในแถลงการณ์ระบุว่า "เราในนามของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขอยืนยันว่าการกระทำของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย แม้จะมีความพยายามจากฝ่าย คสช. ในการตรากฎหมายและออกคำสั่งอันขัดกับรัฐธรรมนูญมาเพื่อคุกคามพวกเรา และบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีกับพวกเรา แต่เราเชื่อมันในความบริสุทธิ์ จึงไม่เคยคิดที่จะหลบหนีการแจ้งข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น"
 
ดังนั้นการออกหมายจับแก่ผู้ถูกออกหมายเรียก 7 คนข้างต้นโดยสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม จึงเป็นการปฏิบัติต่อประชาชนเสมือนอาชญากรร้ายแรงผู้กำลังหลบหนีคดี ทั้งที่ข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายมาข่มขู่ประชาชนโดยขัดต่อหลักนิติธรรม
 
นอกจากนี้ในแถลงการณ์ระบุว่า "ทั้งนี้เราขอชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งบางคนด้วย อันเป็นการคุกคามประชาชนโดยปราศจากเหตุผลและความชอบธรรม .. เราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมจะร่วมกันประณามด้วยเช่นกัน" 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมืองบ้านเกิดของ 'คาร์ล มาร์กซ์' ขายธนบัตร '0 ยูโร' ในวาระครบรอบ 200 ปี

$
0
0
ในวาระครบรอบ 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์ นักคิดจากเยอรมันผู้กลายเป็นแรงบันดาลให้กับขบวนการสังคมนิยมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในเมืองบ้านเกิดของเขามีการจัดขายของที่ระลึกรวมถึงธนบัตร "0 ยูโร" ที่ตีพิมพ์รูปมาร์กซ์ (ในราคา 3 ยูโร) ซึ่งฝ่ายการท่องเที่ยวของเมืองบ้านเกิดมาร์กซ์บอกว่าเป็นธนบัตรเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนแนวคิดของมาร์กซ์เอง

 
 
 
22 เม.ย. 2561 สื่อเยอรมนีรายงานว่าในช่วงก่อนครบรอบวันเกิด 200 ปี ของคาร์ล มาร์กซ์ นักคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ผู้ให้กำเนิดแนวคิดมาร์กซิสต์และกลายเป็นแรงบันดาลใจของนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมสมัยใหม่ทั่วโลก มีการผลิตและจำหน่ายธนบัตรที่ระบุมูลค่า "ศูนย์ยูโร" ที่มีรูปมาร์กซ์เพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งสามารถขายได้หมดอย่างรวดเร็ว 5,000 ใบ จนตั้งสั่งทำเพิ่ม 20,000 ใบ และคาดว่าจะขายหมดภายในสิ้นเดือน เม.ย. นี้
 
ในเมืองเทรียร์ รัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของคาร์ล มาร์กซ์ รวมถึงเมืองใกล้ๆ กัน มีการจัดขายของที่ระลึกในธีมของ มาร์กซ์ เนื่องในวาระใกล้กับวันเกิด 200 ปี ของนักคิดผู้นี้คือวันที่ 5 พ.ค. 2361 โดยนอกจากธนบัตร 0 ยูโร แล้วยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น ถ้วยในธีมของมาร์กซ์ที่โลโก้รูปมาร์กซ์และคำคมของเขา หรือแม้กระทั่งเป็ดยางมีเคราแบบมาร์กซ์ถือหนังสือ "ว่าด้วยทุน" (Das Kapital) ที่มาร์กซ์เป็นผู้เขียน
 
นอกจากนี้ยังมีสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่ในเมืองเทรียร์มีการจำหน่ายไวน์แดงในชื่อของคาร์ล มาร์กซ์ ในเมืองเคมนิตซ์ ที่มีฉายาว่า "คาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดต์" หรือ "เมืองคาร์ล มาร์กซ์" ในช่วงที่ยังเป็นเยอรมนีตะวันออกก็มีการจำหน่ายเบียร์ยี่ห้อ "มาร์กซ์ชเตดเตอร์" (ชาวเมืองมาร์กซ์) 
 
การจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ทำให้สื่อเดอะโลคัลนำเสนอเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยว่าถ้ามาร์กซ์รับรู้เรื่องนี้เขาจะต้องการให้ตัวเองกลายเป็นสินค้านำเงินเข้ากระเป๋าจริงหรือ แม้แต่ธนบัตร 0 ยูโร ก็ไม่ได้ให้เล่าแต่อย่างใดมีการตั้งราคาขายไว้ที่ 3 ยูโร 
 
อย่างไรก็ตามนอร์เบิร์ต เคธเลอร์ หัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยวของเทรียร์บอกว่าเงินมูลค่า 0 ยูโร นั้นเป็นไอเดียที่ได้มาจากแนวทางความคิดของมาร์กซ์เอง "ของที่ระลึกนี้เป็นการเล่นกับการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมของมาร์กซ์" เคธเลอร์กล่าว
 
มาร์กซ์เป็นผู้ที่เคยเขียนถึงแนวคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นและข้อเสียของระบบทุนนิยม เขาเคยเขียนในหนังสือ "ว่าด้วยทุน" ซึ่งออกมาในปี 2410 ระบุว่าเงินกลายเป็นสารัตถะที่แบ่งแยกระหว่างการทำงานกับตัวตนของคนนั้นๆ ให้ออกห่างจากกันและสารัตถะนี้เองก็ครอบงำคนทำให้คนบูชามัน
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Karl Marx’s birth city sells ‘zero-euro’ bills for his 200th birthday, The Local, 18-04-2018
 
KARL MARX'S HOMETOWN IS SELLING COMMEMORATIVE 0 EURO NOTES FOR 3 EUROS—AND THEY'VE ALREADY SOLD OUT, Newsweek, 19-04-2018
 
Karl Marx €0 bills are red hot, CNN, 19-04-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุคคลอ้างเป็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์นัดผู้ใหญ่บ้านคุยลับ

$
0
0
บุคคลอ้างตนเป็นคนในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ โทรศัพท์คุยกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รอบเหมือง เชิญชวนมาร่วมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารพร้อมเอาเอกสารข้อเรียกร้องต่อบริษัทเหมืองแร่มาให้ผู้ใหญ่บ้านล่ารายชื่อ ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ตั้งข้อสงสัยใครแอบอ้าง ชี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน

 
22 เม.ย. 2561 เพจเหมืองแร่ ชัยภูมิรายงานว่าวานนี้ (21 เม.ย.) บุคคลอ้างตนเป็นคนในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์โทรศัพท์พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รอบเหมืองเชิญชวนมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านเดินทางไปถึงร้าน บุคคลคนดังกล่าวได้กล่าวว่าเหมืองแร่จะเป็นผู้เลี้ยงอาหารในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้เอาเอกสารข้อเรียกร้องต่อบริษัทเหมืองแร่มาให้ผู้ใหญ่บ้าน โดยบอกให้ผู้ใหญ่บ้านล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเอกสารมีข้อความและข้อเรียกร้อง ระบุว่าด้วยประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ที่มีความเห็นชอบในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีความต้องการเสนอข้อเรียกร้องต่อเหมืองแร่โปแตช ในด้านการดำเนินงานของเหมืองที่มีผลกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ดังนี้ 1. ประชาชนมีความต้องการให้เหมืองแร่โปแตชจัดทำโครงการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้ประชาชนเกิดความชัดเจนในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลในด้านผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาวะแวดล้อมของพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ 2. ประชาชนมีความต้องการให้เหมืองแร่โปแตชเปิดรับสมัครบุคคลในท้องถิ่นของเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ ร้อยละ 80 ของอัตรากำลังที่เหมืองต้องการเพื่อเข้าทำงาน โดยมีคุณลักษณะตามที่เหมืองกำหนดเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเหมืองให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการมีงานทำของประชาชนในเขตพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป็นเอกสารหลักฐาน 
 
3. ด้านงบพัฒนาของเหมืองขอให้คณะกรรมการภาคประชาชนสามารถดำเนินการในการบริหารจัดการอย่างอิสระ โดนเหมืองแร่อยู่ในฐานะผู้แนะนำแนวทางในการดำเนินงานเท่านั้น และให้ขยายเขตการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล 4. หากมีการก่อสร้างให้ใช้แรงงานภายในเขตพื้นที่ 3 ตำบลเป็นหลัก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่บุคคลในชุมชน และเปิดโอกาสให้เครื่องจักรในพื้นที่เข้าร่วมทำงานกับเหมือง  5. เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เช่าพื้นที่ ภบท.5 ของเหมืองที่ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าในการทำกินในราคาที่เหมาะสม 6. จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นใหม่โดยคณะกรรมการภาคประชาชนให้ประชาชนเป็นผู้เลิอกและเปิดเวทีพบปะประชาชนเพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกๆ 3 เดือน กับประชาชนในเขต 3 ตำบล และ 7. เหมืองจะต้องให้คำตอบในประเด็นข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้นนี้ ภายใน 15 วัน
 
ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่บ้านบางหมู่บ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากและเดินทางกลับ เนื่องจากในพื้นที่หมู่บ้านของตนเองยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการคัดค้านการโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ซึ่งในขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล กำลังฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ยกเลิกเพิกถอน EIA เหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นที่ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมจึงไม่มีชาวบ้านของกลุ่มฯ มาเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นคนในกลุ่มฯ คนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นที่น่าเคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก
 
เป็นที่น่าตั้งข้อสงสัยในการกระทำครั้งนี้ว่าเหมืองแร่และบุคคลดังกล่าว ต้องการอะไรจากข้อเรียกร้องดังกล่าวที่ดูเหมือนว่าเข้าข้างเข้าอกเข้าใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรอบโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังก่อสร้างและดำเนินการในพื้นที่ตอนนี้ แต่ทว่ากับมีความไม่ชอบมาพากลในข้อเรียกร้องดังกล่าวในหลายประการ คือข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้มาจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์และไม่ได้เกิดจากประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน คำถามคือ แล้วข้อเรียกร้องมาจากไหน เกิดจากใคร ใครตกลงกัน ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากข้อตกลงข้อเรียกร้องนั้น เหมือง? หรือ ประชาชน? ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ในเนื้อหามีลักษณะการเขียนในทำนองที่ว่ากลุ่มฯ สมยอม และกำลังทำข้อตกลงกับเหมือง เพื่อให้เหมืองดำเนินการได้สะดวก และเปิดทางให้เหมืองมากยิ่งขึ้น ถ้าเหมืองยอมตกลงตามข้อเรียกร้อง กลุ่มก็จะไม่ดำเนินการคัดค้านใดๆ หรือมีลักษณะเอาด้วยกับเหมืองแร่ และเห็นด้วยในการก่อสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้เหมืองมีภาพลักษณะที่ดีขึ้น และมีการประสานความร่วมมือกันกับกลุ่มฯ มากขึ้น ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าว ไม่มีแล้ว หรือ ลดลงแล้ว
 
เพราะอะไรจึงต้องทำแบบนี้? จะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่เหมืองถูกตั้งคำถามจาก สผ. และ คชก. รวมถึงนักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัท เรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ของชาวบ้านในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ที่ออกมาคัดค้านโครงการ และความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกัน เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นหรือไม่ และจะมีความเสี่ยงในการลงทุนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเหมืองเองไม่สามารถตอบให้ชัดเจนได้
 
โดยเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 มีการปิดกั้นไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณณรงค์เข้าร่วมประชุมในเวทีดังกล่าว และคดีความที่ชาวบ้านในพื้นที่ฟ้องร้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่โปแตช ต่อศาลปกครองนครราชสีมา รวมทั้งในอนาคตกลุ่มฯ กำลังจะมีการดำเนินการฟ้องเพิกถอน EIA โรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์จะมาร่วมดำเนินการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ นานา เพื่อให้เหมืองดำเนินการ นอกเสียจากคนที่จะได้รับผลประโชยน์จากการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้อง
 
และเพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานแรงปะทะจากชาวบ้านในพื้นที่ให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการใช้ข้าราชการในพื้นที่เป็นเครื่องมือและตัวช่วยชั้นดีของเหมือง ที่เข้าหาและให้ช่วยดำเนินการเป็นฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของเหมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหมืองไม่สามารถเข้าหาคนในพื้นที่ได้เอง นอกจากการติดสอยห้อยตามหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในพื้นที่เมื่อมีประชุมตามหมู่บ้าน เนื่องจากความขัดแย้ง แรงต่อต้านของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และถ้าเหมืองเข้ามาในพื้นที่เมื่อไหร่ก็จะโดนขับไล่จากประชาชนผู้คัดค้านโครงการอย่างแน่นอน 
 
อย่างไรก็ตามชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จะยังคงยืนยันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสอดไส้ถ่านหินเช่นเดิม ไม่ว่าจะเจอความไม่ชอบมาพากลต่างๆ และเราจะรวบรวมหลักฐานที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตมายืนยันเพื่อปกป้องวิถีชีวิตจากมลพิษถ่านหินและชีวมวลต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลา ยุติมหากาพย์ 25 ปี ย้าย 25 เม.ย. นี้

$
0
0
ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงาน 'อำลามหากาฬ' ขอบคุณผู้สนับสนุนที่ทำให้ชาวบ้านอยู่รอดพ้นปัญหามาถึง 25 ปี แต่จำเป็นต้องอำลาเพื่อยุติมหากาพย์ไว้เพียงเท่านี้ ย้ายไปอยู่ชุมชนกัลยาณมิตรชั่วคราว เก็บเงินซื้อที่ดินตั้งชุมชนป้อมมหากาฬใหม่

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือที่ชุมชนได้รับ
 
22 เม.ย. 2561 มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน 'อำลามหากาฬ' หลังมีการรื้อถอนบ้านอย่างต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในชุมชนมีผู้ทยอยเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งชาวบ้านที่เคยอยู่ในชุมชน อาจารย์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน อาทิ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมกสรสิทธิมนุษยชน, นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมฯ สถาปนิกสยาม และนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
 
ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่าชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานวันนี้เพื่อรำลึกอดีต 25 ปีเต็มที่ต่อสู้ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 26 เราได้รับการสนับสนุนจากผู้สื่อข่าวที่นำเสนอเรื่องราวให้เรียนรู้ ได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด ใจจริงอยากจากไปแบบเงียบๆ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีคนที่เคารพ มีพี่น้องภาคประชาสังคมมีคนที่แบ่งปันให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง มีพี่น้องสื่อที่ตนอยากบอกว่าอย่าทิ้งเรา
 

26 ปีของการต่อสู้ เหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง เป็นเรื่องยากที่อธิบายได้ว่า เราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่คนชุมชนป้อมมหากาฬจำต้องเอ่ยคำเชื้อเชิญเพื่อน พี่น้อง มิตรสหาย กัลยาณมิตรทุกคนมารวมกันเป็นครั้งสุดท้าย การรวมพลเพื่ออำลาและปิดฉากชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ที่เราพยายามทำทุกทางเพื่อรักษาความเป็นชุมชนเอาไว้ ตลอดระยะเวลา 26 ปีบนเส้นทางนี้เราได้ผ่านทั้งร้อน หนาว ผ่านทุกข์และสุข ได้พบเจอมิตรสหาย กัลยาณมิตรมากมาย มีความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนได้ มีการต่อสู้ที่มิอาจลืมลง และขณะเดียวกัน เราก็เผชิญกับการจำพราก ความขัดแย้งและความสูญเสียมากมาย เผชิญกับความเจ็บปวดและอ่อนแอภายในตัวตนของเราเอง สูญเสียมากมาย เผชิญกับแรงเสียดทานที่โถมทับเข้ามาจนเราไม่อาจต้านทานได้อีก และท้ายที่สุด เราจะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าวันหนึ่งข้างหน้า ชุมชนป้อมมหากาฬอาจเป็นเพียงชื่อเรียกขาน เป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อกัน ในไม่ช้าก็จะลบหายไปจากประวัติศาสตร์ชนชั้นของมหานครแห่งนี้

มันช่างยากเหลือเกินที่เราจะอธิบายความรู้สึก อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยตัวอักษรเพียงไม่กี่ประโยค ไม่กี่ย่อหน้า และหวังไปว่ามันจะสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเราเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันนี้เราเจ็บปวด เราจะพยายามเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ด้วยความหวัง เพราะเป็นเช่นนี้ ในช่วงเวลาสุดท้ายเราจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวนี้แก่ทุกคน อยากจะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่หวังเหลือเกินว่า ทุกคนที่มีความผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้จะมาร่วมกันบันทึกเรื่องราว สร้างความทรงจำครั้งสุดท้ายบนผืนที่แห่งนี้ ในสถานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ในวันอาทิตย์ที่ 22 เม.ย. 2561 นี้

ก่อนที่พวกเราจะเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้บอกกับลูก หลานสืบไปว่าครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเรา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ต่อสู้กับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับชุมชน เราสู้เรื่องกฎหมายไม่ได้แน่นอน วันหนึ่งเราจึงต้องจากไป เราอยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬเป็นกรณีศึกษา ในครั้งต่อไปถ้าหน่วยงานภาครัฐจะไล่รื้อชุมชนใดก็แล้วแต่ ก็คงตระหนักถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่าพวกเขามีวิถีชีวิตและต่อสู้มายาวนานขนาดไหน สิ่งเหล่านี้จะบอกกับสังคมได้ว่า ชีวิตคนหรือว่าวัตถุกันแน่ที่สำคัญ การที่คุณทำให้ชุมชนต้องล่มสลาย ต้องกระจัดกระจาย ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างไร้ที่อยู่ สุดท้ายแล้วพวกคุณได้ตามดูชีวิตพวกเขาเหล่านั้นหรือเปล่า

ณ วันนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬขอปิดตัวลง

ตัวแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวคำแถลง

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวพลางสะอื้นว่าการต่อสู้ยังไม่จบและจากนี้ชาวชุมชนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ "มันจบ ณ พื้นที่นี้เท่านั้น แต่พวกเราจะไปสร้างชีวิตใหม่ที่เอาคนป้อมและชีวิตของป้อมไปอยู่ด้วย เพราะตอนนี้เราไม่มีที่ดินเลย ไปอาศัยเพื่อนอยู่ แต่ในอนาคตสักปีสองปีก็คงซื้อที่ดินได้ เราจะเอาชีวิตของคนป้อมไปอยู่ บ้านเป็นแค่สัญลักษณ์ เราบอกแล้วว่า เราไปไหนเราก็คนป้อม เราจะไปสร้างด้วยกันใหม่ ก็ขอให้ตามเราตลอด เพราะการต่อสู้ไม่ได้สิ้นสุด แต่มันได้เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ว่า เราจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร"

 
"ชุมชนป้อมฯ จะเกิดมาใหม่ด้วยจิตวิญญาณ ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ นี่คือการหลั่งน้ำตาเป็นหยดสุดท้าย ต่อจากนี้จะชนะตลอดไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะอำลา ขอให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นความทรงจำ และนำพี่น้องกล่าวลาครั้งสุดท้าย" ธวัชชัยกล่าว
 
จากนั้นชาวบ้านป้อมมหากาฬได้พนมมือ แล้วกล่าวพร้อมกันว่าขอขอบคุณสิ่งที่ทุกท่านมอบให้ชาวป้อมมหากาฬ ตลอดจนอาจารย์ สื่อมวลชน ที่ได้มอบสิ่งงดงาม มอบสิ่งเรียนรู้ ทำให้ชาวบ้านได้อยู่รอดพ้นปัญหามาถึง 25 ปี บัดนี้ จำเป็นต้องอำลาเพื่อยุติมหากาพย์ไว้เพียงเท่านี้
 
พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักศึกษาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า "หากท่านมองไปรอบๆ จะเห็นซากปรักหักพังของบ้านที่พวกเราร่วมปกป้อง มันคือซากปรักหักพังของเรื่องราว ของการหล่อทอง ของบ้านลิเก ของการทำอาหาร ของมิตรภาพ เมื่อถึงวันหนึ่ง ถ้าที่ตรงนี้กลายเป็นสวนอย่างที่ทาง กทม. กล่าวอ้าง ถึงมันจะสวยขนาดไหนเราก็คงต้องเรียกมันว่าซากปรักหักพัง เพราะจิตวิญญาณ เรื่องราว และประวัติก็ได้พังเสียหายไปแล้ว ผมเสียใจมากๆ ที่ผม ในฐานะคนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้ในการปกป้องที่นี่ สุดท้ายเราไม่สามารถปกป้องบ้านเก่าแก่ ชุมชน และจิตวิญญาณของทุกคนในชุมชนป้อมมหากาฬได้ แต่ผมสัญญาว่า วันหนึ่งเราต้องไม่มีการไล่รื้อชุมชน ใช้อำนาจเจ้าหน้าที่คุกคามชาวบ้าน ต้องไม่มีการไล่ทำลายอัตลักษณ์ เรื่องราวเก่าๆ ของคนธรรมดาให้หายไป"
 
พรเทพกล่าวว่า ต่อจากนี้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬราว 7-8 ครัวเรือนจะไปอยู่ร่วมกับชุมชนกัลยาณมิตร บริเวณวัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ ที่ช่วยเอื้อเฟื้อสถานที่พักพิงชั่วคราว โดยต้องย้ายออกภายในวันที่ 25 เม.ย. นี้ จากนั้นจะเก็บเงินเพื่อสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่บริเวณพุทธมนฑลสาย 2 แต่ก็คงใช้เวลาเพราะที่ดินที่ดูไว้ขนาด 106 ตร.ว. มีราคาราว 3 ล้าน 7 หมื่น 4 พันบาท สาเหตุที่เลือกที่ดังกล่าวเพราะว่ายังไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากและสัญจรสะดวก โดยคิดว่าคงจะเอาเงินที่ชุมชนออมร่วมกันหลักหนึ่งแสนบาทไปหาทุนเพิ่มเติม
 
ปัจจุบันมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน

ภาพในงานและสภาพชุมชนปัจจุบัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เก่งกิจ-ธเนศ' ถกหนังสือ 'แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น'

$
0
0

คุยเปิดตัวหนังสือ แผนที่สร้างชาติฯ ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เผย ‘ชาติ’ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ได้เกิดขึ้นในทันที มีทั้งคนปฏิเสธ ขัดแย้ง ท้าทายนิยาม พร้อมบทวิจารณ์หนังสือจาก ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่สุวรรณ ที่บู๊ทของฟ้าเดียวกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีการจักสนทนา หนังสือ “แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น” ซึ่งมี เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เขียน รวมสนทนา กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เก่งกิจ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานที่ทำต่อจากงานก่อนหน้านี้ของเขาที่ศึกษาการเกิดขึ้นของวิชามนุษยวิทยาในประเทศไทย ว่ามันเกิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น การเกิดขึ้นของภัยคอมมิวนิสต์ รัฐไทยและมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหนบ้างของประเทศไทย เพราะฉะนั้นวิชามานุษยวิทยาหรือนักมนุษยวิทยาก็เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเก็บข้อมูลหมู่บ้านต่างๆ เมื่อเขียนงานชิ้นนั้นก็พบว่าก่อนที่นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปในหมู่บ้าน ก็ต้องมีแผนที่ก่อน จึงสอบถามนักมานุษยวิทยาในยุคนั้นที่สำรวจหมู่บ้านว่าใช้แผนที่อะไร เขาก็เปิดเผยว่าใช้แผนที่ฉบับ L708 ตนก็ค้นต่อว่ามันคืออะไร ก็พบว่าเป็นแผนที่ที่ทำโดยสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น และไม่ได้ทำเฉพาะประเทศไทย แต่ทำในภูมิภาคนี้หลายประเทศ ซึ่งเป้าหมายหลักของกรทำแผนที่ฉบับนี้คือต้องการจะรู้ว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหน โดยจะเห็นกลุ่มบ้านเรือนตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง จะมีการส่งตำรวจตระเวณชายแดนหรือมหาดไทยเข้าไปในบริเวณนั้นเพื่อดูว่าคนพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า เมื่อเข้าไปถึงรัฐก็จะมีการจดะเบียนรายชื่อว่ามีใครบ้าง มีประชากรกี่คน คนชื่ออะไรบ้าง หลังจากนั้นก็พยายามจะไปทำโครงการพัฒนาชนบทเพื่อทำให้คนพวกนี้ตั้งถิ่นฐานที่ใดที่หนึ่ง เพราะการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มันเป็นคล้ายๆ จะเป็นฐานให้กับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่เป็นสงครามกองโจร เพราะฉะนั้นการที่รัฐพยายามทำให้คนหยุดนิ่งอยู่กับที่มันเป็นเงื่อนไขสำคัญมากในการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ และเมื่อรัฐเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็มีการโปรโมทความคิดแบบชาตินิยม ความคิดแบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้คนรักชาติ หรือรู้ว่าเขาเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นกระบวนการของความเป็นไทย การเป็นพลเมืองของรัฐเป็นสิ่งี่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีแผนที่ฉบับนี้

‘ชาติ’ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เก่งกิจ กล่าวว่า ข้อเสนอหลักหนังสือฉบับนี้ก็คือ แผนที่ฉบับ L708 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าชาติที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคน ช่วงประมาณ 1950 – 1970 เริ่มต้นทำแผนที่คือปี 2490 กว่า ซึ่งแผนที่ไม่ได้ใช่เวลาเร็วในการทำ แต่ใช้เวลาเป็นทศวรรษกว่าที่จะสำรวจ เอาเครื่องบินถ่ายที่ละจุดละจุด เมื่อได้ฟีมล์ก็ส่งไปที่ฟิลิปินส์เข้าห้องแหล็บเพื่อแปลเป็นแผนที่ ซึ่งใช้เวลาจำนวนมาก และมาประกอบทั้งประเทศซึ่งทั้งหมดใช้เวลาเป็น 10 ปี เพราะฉะนั้นความเป็นชาติมันจึงค่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ ไม่ใช่ความเข้าใจที่นักวิชาการ โดยเฉพาะนักประวัติศาตร์เชื่อว่าชาติเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาติเกิดในสมัย 2475 ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้คือชาติเพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่าอำนาจรัฐเข้าไปเห็นว่าคนอยู่ตรงไหนจริงๆ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การสร้างหมู่บ้านเป้าหมายสำคัญคือ เมื่อรัฐสร้างหมู่บ้านเสร็จก็บีบให้คนมาอยู่ในที่เดียวกัน สร้างหมู่บ้านเสร็จก็ต้องจดทะเบียนว่าในหมู่บ้านนี้มีคนชื่ออะไรบ้าง ผ่านการออกทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดใหม่หมด นั่นหมายความว่าคนที่ไม่ยอมเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน หรือคนที่ไม่ยอมมีบัตรประชาชนคือคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยความมั่นคงหรือเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เพราะก่อนที่เราจะรู้สึกเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน เราไม่ได้รู้สึกแบบนี้มาอย่างยาวนานเป็น 100 ปี สิ่งเหล่านี้เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นผ่านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการทำแผนที่ การออกบัตรหรืออื่นๆ

ชาติไม่ได้เกิดขึ้นในทันที มีทั้งคนปฏิเสธ ขัดแย้ง ท้าทายนิยาม

เก่งกิจ อธิบายด้วยว่า หนังสือเล่มนี้งานเขียนที่มีอิทธิพลมากขึ้นงานของ เจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott นักวิชาการชาวอเมริกัน) ซึ่งศึกษาคนไร้รัฐ โดยที่งานของสก็อตต์นั้นชี้ว่ามนุษย์อยู่โดยที่ไม่มีรัฐมาอย่างยาวนานมาตลอด เพราะฉะนั้นอำนาจรัฐมันค่อยๆ เข้ามาในชีวิตของเรา และมันช้ามาก ไม่ได้เข้ามาทีเดียว ไม่ใช่ว่าสร้างแผนที่ในสมัย ร.5 เกิดความเป็นคนไทยขึ้นมาทันที มันไม่จริง เนื่องจากคนหรือชาวบ้านไม่ได้รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร ความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ใช้เวลาอาจเป็ฯ 100 ปี ในการทำให้คนคิดว่าตัวเองเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นงานเขียนชิ้นนี้ก็พยายามที่จะเสนอมุมมองอีกด้านว่า เวลาที่เรามองชาติ ชาติไม่ได้เกิดขึ้นมาฉับพลันทันที ไม่ใช่ว่าปฏิวัติ 2475 แล้วเกิดชาติในทันที แต่ชาติเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน มีคนปฏิเสธความเป็นชาติ มีคนอยากเข้าร่วม มีคนขัดแย้งจำนวนมาก และนิยามของชาติก็ถูกท้าทายตลอดเวลา

ชื่อ “แผนที่สร้างชาติ” กึ่งล้อเลียนกึ่งเสนอ

สำหรับเหตุผลที่หนังสือเล่นนี้ชื่อ “แผนที่สร้างชาติ” นั้น เก่งกิจ กล่าวว่า จากการค้นคว้าเอกสารพบว่า คนที่เพิ่งปรากฏตัวในแผนที่ตามความรับรู้ของรัฐในหมู่บ้านนั้น ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้นิยามว่าตัวเขาเป็นคนไทย เพราะอำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึงชีวิตของเขา เขาเริ่มมีบัตรประชาชนหลัง 2506 เป็นต้นมา และเริ่มมีทะเบียนบ้าน เริ่มอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่ไปไหนประมาณ 2510 กว่า เพราะฉะนั้นก่อนน้านั้นเขาเป็นใครจึงเป็นประเด็นที่ตนสนใจ ทั้งหมดทั้งมวล การที่เขามีชื่อเป็นไทย มีนามสกุล มีบัตรประชาชน มันเพิงเกิดขึ้นประมาณ 40-50 ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นความเป็นไทยจึงเพิ่งเกิดขึ้นเมา 40-50 ปีที่แล้ว ในแง่นี้เราจะบอกได้อย่างไรว่าแผนที่ที่เกิดขึ้นในสมัย ร. 5 เป็นแผนที่ที่สร้างชาติ ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนไทย แผนที่ที่ อ. ธงชัย วินิจจะกูล ศึ่กษาในหนังสือ Siam Mapped เป็นแผนที่ของรัฐที่กำหนดขอบเขตของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งการการนำมาสร้างชาติ เพราะคนไม่ได้รับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ คนรับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ก็ต่อเมื่อรัฐไทยเข้าไปถึงหมู่บ้านในยุคสงครามเย็น ตนจึงจงใจตั้งชื่อกึ่งล้อเลียนกึ่งเสนอว่าอันนี้คือการศึกษาแผนที่สร้างชาติจริงๆ ไม่ใช่สมัย ร.5

‘บัตรประชาชน’ กับความเป็นไทยไม่ได้เป็นปึกแผ่นมาอย่างยาวนาน

เก่งกิจ กล่าวต่อว่า เอกสารที่ตนค้นไว้ส่วนหนึ่งคือเรื่องการทำบัตรประชาชน การทำทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในช่วงสงครามเย็นนั้น การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นั้น รัฐไทยไปเอาความคิดมาจากการปราบคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และเวียดนามไปเอามาจากมาลายา ในมาลายาอังกฤษใช้วิธีการออกบัตรประชาชน เพราะการออกบัตรประชาชนมันต้องระบุตัวทะเบียนบ้านด้วยและวิธีการก็คือเมื่อคุณออกไปจากที่ที่คุณอยู่นั้น โดยที่ไม่มีที่มาที่ไปนั้นเท่ากับคุณมีโอกาสี่จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ การไม่มีบัตรประชาชนก็สะท้อนว่าคุณไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ตนสนใจมากว่ากว่าที่คนจะมีบัตรประชาชนมันใช้เวลายาวนาน และมันเพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานนี้เอง

ความน่าสนใจของเรื่องบัตรประชาชนและความเป็นพลเมืองที่ตนสนใจก็คือว่า ตนพบเอกสารว่านอกเหนือจากกรุงเทพ ได้มีบัตรประชาชนตั้งแต่มี พ.ร.บ.บัตรประชาชนตั้งแต่ปี 2480 กว่านั้น บริเวณอื่นนอกเหนือกรุงเทพไม่มีบัตรประชาชนเลยเพราะฉะนั้นวิธีการนิยามคนใช้วิธีอะไร จึงเป็นสิ่งที่ตนอยากศึกษาต่อ และหลังจากที่พระนครกับธนบุรีมีบัตรประชาชนก็เริ่มมีครั้งแรกในเวลาต่อมาปี 2506 ที่เชียงราย นครพนมและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นหมายความว่าความเป็นไทยมันตีกรอบมาจากขอบก่อนแล้วมาที่ตรงกลาง นั่นหมายความว่าความเป็นไทยไม่ได้เป็นปึกแผ่นมาอย่างยาวนาน มันถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การออกบัตรประชาชนที่สำคัญมากก็คือการมีเครื่องเคลือบบัตร มันสามารถรักษัตรนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการควบคุมคนมันอาศัยเทคโนโลยีจำนวนมาก จึงเป็นประเด็นที่ตนสนใจมาก

บทวิจารณ์หนังสือจาก ธเนศ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้เผยแพร่ความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ ผ่าน เฟสบุ๊ค Kokoro Sosekiโดยมรายละเอียดดังนี้

ข้อดี หัวข้อศึกษาน่าสนใจมาก เป็นเรื่องธรรมดา คนรู้จักทั่วไป แต่ไม่รู้ลึกถึงบทบาท โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างรัฐชาติ สมมติฐานหลักคือ รัฐชาติไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดมาแต่สมัยปฏิรูปการปกครอง สมัย ร.5 ไม่เคยขยายอำนาจรัฐลงไปถึงระดับหมู่บ้านเลย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯเข้ามาครอบงำไทย นำเทคโนโลยีการทำแผนที่ทางอากาศเข้ามา ถึงสร้างหมู่บ้านขึ้นมา ทำให้รัฐไทยสามารถใช้อำนาจ การควบคุมลงไปถึงหน่วยที่เป็นพื้นฐานของการปกครองได้ในที่สุด 

ข้อค้นพบใหม่หรือสำคัญ

1) แยกแยะให้เห็นความต่างกันระหว่าง แผนที่ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับแผนที่ของรัฐประชาชาติ อันแรกทำได้เพียงขีดเส้นพรมแดนของรัฐ แต่ไม่มีรายละเอียดของหน่วยย่อยๆต่างๆในรัฐนั้น เช่นหมู่บ้าน จึงไม่มี 

2) การสร้างรัฐสมัยใหม่ เป็นกระบวนการ ไม่อาจทำได้ในเวลาอันสั้นๆ ต้องปรับวิธีคิดการมองการสร้างรัฐใหม่

3) คุณสมบัติของแผนที่สมัยใหม่ ทำให้หมู่บ้านและผู้คนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้ปกครอง ควบคุม กำหนดแนวทางและทิศทางให้คนเหล่านั้นได้

4) บทบาทของมหาอำนาจ ในกรณีนี้คือสหรัฐฯ ที่เข้ามาทำหน้าที่สร้างแผนที่ตามยุทธศาสตร์ในสงครามเย็นของอเมริกา 

5) บทบาทของเจ้าหน้าที่ไทย นักวิชาการ หน่วยงานราชการ ไปถึงมหาวิทยาลัย

ข้อวิจารณ์

1) อธิบายความหมาย นัยสำคัญในทางประวัติศาสตร์และการเมืองของแผนที่ ทั้งเก่าและใหม่ น้อยไป แต่หนังสือทำให้รู้สีกเหมือนว่าแผนที่แบบเก่านั้นไม่มีความหมาย มันมีบทบาทในบริบทของสังคมโบราณ เช่น แผนที่แบบไตรภูมิ สะท้อนโลกทัศน์ของจักรวาลทรรศน์แบบพุทธ โลกอยู่ในแนวตั้ง ตามคติศาสนา ส่วนแผนที่สมัยใหม่เป็นแบบแนวราบ ไม่มองความเหลื่อมล้ำ ความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่ง เน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างจุดต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ในกรณีสยาม จุดเปลี่ยนผ่านระหว่างการใช้และคิดแบบแผนที่จารีตกับแบบใหม่ ปะทะกันช่วง ร.4 ถึง 5 จบลงด้วยชัยชนะของแผนที่แบบใหม่และการสร้างรัฐรวมศูนย์ เกิดสิ่งที่เรียกว่า state-mind หรือความคิดที่มีรัฐแบบใหม่อยู่ในหัว ไม่ใช่เขาพระสุเมรุอีกต่อไป แต่ความคิดนี้ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบจารีต นี่เป็นความขัดกันของความเป็นสมัยใหม่แบบไทย หรือที่เราเรียกว่า ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ อีกข้อแผนที่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐฝ่ายเดียว มันเองก็ให้ผลสะเทือนที่ปฏิวัติแก่ประชากรที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐได้ด้วย เช่นให้ความรู้สึกชาตินิยมต่อต้านเจ้าอาณานิคม การเสียดินแดนในภาพแผนที่ไทย 

2) การสร้างรัฐชาติเป็นกระบวนการ ไม่มีปัญหา แต่ในนั้นมีสองสิ่งเกิดขึ้นเคียงข้างกันไปตลอดเวลา นั่นคือการสร้างรัฐที่เป็นกลไกในการปกครองทั้งหลาย กับการเกิดชาติที่เป็นจินตกรรมร่วมกันของคนจำนวนมากภายในรัฐหรือประเทศนั้นๆ การปฏิรูปการปกครองของ ร.5 เป็นการสร้างระบบและกลไกของรัฐใหม่ เช่นกระทรวงฯ กองทหารประจำการสมัยใหม่ งานเหล่านี้ทำได้เลยเพราะเกณฑ์คนจากลูกหลานขุนนางหรือเจ้านายให้มาประจำทำงาน แต่ถ้าเป็นการปฏิรูปที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับลึกและกว้างลงไปยังราษฎร เช่นระบบการศึกษา จะทำได้จำกัด โรงเรียนก็มีแต่ของหลวงสำหรับลูกคนมีฐานะ รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น การปฏิรูปแบบหลังนี้เองที่จะนำไปสู่การเกิดชาติในความคิดของราษฎร แม้ ร.6 ปลุกระดมความคิดเริ่องรักชาติ กรมฯดำรงสร้างคำบรรยายประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ก็เป็นการสร้างจากบนลงล่าง เป็นจินตนาการของชนชั้นนำ มากกว่าเป็นความรับรู้ในความเป็นมาของชาติตนที่เป็นของราษฎรจริงๆ ดังนั้นกระบวนการสร้างรัฐไทย จึงดำเนินมาอย่างขัดกันโดยตลอด ด้านที่ปฏิรูปและทำให้เห็นได้ง่ายคือระบบราชการ และนโยบายที่รัฐต้องการเห็น ส่วนชาติที่เป็นจินตนาการร่วมกันของราษฎรไม่ค่อยเกิดขึ้น 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราษฎรไม่พยายามสร้างคติชาติของพวกเขาขึ้นมา กลุ่มลูกจีนในไทยยุคแรกสร้างสิ่งที่เป็นของชาติไทยเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของพวกตนในนั้น เช่นมวยไทย หนังไทย  ในยุคสงครามเย็นต้น จอมพลป. รับความช่วยเหลือจากอเมริกา แต่ก็พยายามสร้างความเป็นไทย ผ่านการสร้างชาติในความคิดของราษฎร ได้หลวงวิจิตรฯสร้างละคร การรำ การร้อง ไปถึงนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่เนื้อเรื่องไม่ใหม่ เพราะไม่เคยเป็นอาณานิคม จึงต้องไปยืมพล๊อตเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยจาก ร.๖ และกรมฯดำรง มาใช้ใหม่
แต่ปรับเอาคติบูชิโดของญี่ปุ่นมาทำให้คนต้องสละเลือดเพื่อชาติ กระทรวงวัฒนธรรมเกิดสมัยนี้ด้วยภารกิจในการสร้างชาติให้แก่ราษฎร ชาติไทยจึงไม่เคยสร้างโดยราษฎรเองเลย

3) ไม่เห็นผลจากการใช้แผนที่และการสร้างหมู่บ้านในการปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลไทย ว่าเอาไปใช้อย่างไร เมื่อไร และได้ผลประการใด การเสนอรายงานของแฮงค์ 1975 ที่ทำให้ข้อมูลเดิมที่ไม่แน่นอน มีความชัดเจนและนิ่งมากขึ้น กับของชาร์ป ซึ่งเสนอให้รัฐไทยสนับสนุนการดำรงชีพของชาวเขาให้มีหลักฐานมั่นคงขึ้น หลังจากได้รับรายงานแล้ว รัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆ มีใครรับไปปฏิบัติบ้าง ทำอย่างไร(บทที่ 5) เช่นเดียวกับบทที่ 6 การทำงานของศูนย์วิจัยชาวเขา เชียงใหม่ กล่าวว่าตชด.กับมหาดไทยก็ทำสำรวจ แต่ไม่มีรายละเอียด ไม่เห็นภาพรวมของการทำแผนที่โดยฝ่ายไทยว่าเป็นอย่างไร มีความรู้ประเภทไหน

4) จุดหมายของรัฐไทยในการใช้แผนที่คือการควบคุมหมู่บ้าน ในทางปฏิบัติ ทำยาก หากชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ของการตั้งรกรากแบบถาวร อันโยงไปถึงการผลิต การจำหน่าย การบริโภคและสาธารณูปโภค สุขภาพ โรงเรียน นั้นคือการทำให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของตัวเองและเจ้าของพื้นที่ที่เขาอยู่ คือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีอำนาจในการค้าขาย พัฒนาคุณภาพชีวิต โรคภัย วัฒนธรรม ดังนั้นการเข้าใจและใช้แผนที่อย่างได้ผล ต้องอาศัยร่วมมือกับสถาบัน เครื่องมืออื่นๆด้วย เช่น จากทัศนะของรัฐในการรู้และจัดการประชากร คือการทำสำมะโนประชากร การจัดลำดับของอดีตเช่นพิพิธภัณฑ์ แล้วถึงแผนที่

สำหรับ หนังสือ แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น เขียนโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สำนักพิมพ์ คือ Illuminations Editions

ขณะที่ ผู้เขียน หรือ เก่งกิจ  ปัจจุบันเขาขายแรงงานของเขาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีผลงานตีพิมพ์ล่าสุดคือ Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ (2560) และเริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21 (2560) นอกเหนือจากหนังสือแผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการสำรวจหมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น แล้ว ในปีนี้เขาจะมีหนังสืออีกเล่มคือ Conatus…ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตของ Autonomia

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #206 ซับไตเติลภาษาเกย์ในภาพยนตร์

$
0
0

เมื่อภาพยนตร์ไทยแนว LGBT จะต้องลงคำบรรยายหรือซับไตเติลภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับผู้ชมวงกว้าง อย่างไรก็ตามเมื่อภาษาต้นทางและภาษาปลายทาง มีคำศัพท์ที่ใช้ รวมทั้งไวยากรณ์ไม่เท่ากัน แล้วจะส่ง "คำสร้อย" ไปให้ถึงภาษาปลายทางได้อย่างไร ขณะเดียวกันภาษาเฉพาะกลุ่มของชุมชน LGBT ไทย เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วหากใช้คำศัพท์เฉพาะกลุ่มของ LGBT ในโลกตะวันตกอย่างภาษาลาเวนเดอร์แปลไปเลย จะมีปัญหาสื่อสารกับผู้ชมภาพยนตร์ที่เข้าใจเฉพาะภาษาอังกฤษมาตรฐานหรือไม่

นอกจากนี้ชวนทำความรู้จักภาษาที่ต้องเข้ารหัส/ถอดรหัสอย่าง "ภาษาลู" "ภาษาลาเวนเดอร์" รวมทั้งภาษา "Polari" ที่เคยใช้โดยชุมชนเกย์ในอังกฤษและเวลส์อย่างน้อยในช่วงศตวรรษที่ 19 ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย พบกับ ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ ภาวิน มาลัยวงศ์

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา เมืองสุข: ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

$
0
0


 

ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล หรือเป็นปัญหาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพ ทั้งนี้เนื่องจากภัยคุกคามประชาชาติได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว การทำสงครามแบบเดิมที่ต้องเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากเพื่อทำศึกได้เปลี่ยนเป็นภัยคุกคามในรูปการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และการใช้เทคโนโลยีด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาล โลกปัจจุบันจึงเน้นนโยบายการสร้างความร่วมมือเพื่อลดเงื่อนไขการก่อสงคราม

หน้าที่ของกองทัพคือการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก กระทรวงกลาโหมจึงมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Ministry of Defence” ส่วนการดูแลความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของตำรวจและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตรงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า “Ministry of Interior” แต่กองทัพกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร จากนั้นใช้รักษาอำนาจเผด็จการด้วยการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น อุ้มคนเห็นต่างเข้าค่าย แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพ หรือไปเยี่ยมบ้านของนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นต้น การมีกำลังพลมากเกินความจำเป็นทั้งยังถูกใช้งานผิดวัตถุประสงค์ กองทัพจึงกลายเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยเสียเอง

การปฏิรูปกองทัพผ่านกระบวนการทางรัฐสภาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทหารมืออาชีพที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ การย้ายหน่วยงานของกองทัพออกไปอยู่ตามหัวเมือง และการป้องกันไม่ให้กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ด้านงบประมาณและความมั่นคง แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดอีกต่อไป นี่คือภารกิจสำคัญที่พวกเราจะต้องกระทำให้สำเร็จหากชนะการเลือกตั้ง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:Facebook Watana Muangsuk

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บล็อกเชน: จุดระเบิดวิกฤตสถาบันการเงินไทยรอบใหม่

$
0
0




ไม่น่าเชื่อว่านวัตกรรมการเงิน (Fin Tech) แผ่อิทธิพลถึงเมืองไทยเร็วกว่าที่คิด ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีกับภาพรวมของธุรกิจการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะผลดีที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์หรือก็คือชาวบ้านทั่วไป

ในเว็บไซต์ประชาไทแห่งนี้ ผมเคยอธิบายเกี่ยวกับรายได้หลักของธนาคารในสหรัฐฯ ว่า ส่วนใหญ่มาจากการทำวาณิชธนกิจ หรือ Investment Banking ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนั้น รายได้ของพวกเขาส่วนใหญ่ยังคงมาจาก ค่าธรรมหรือ Fee ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วการทำรายได้ของธนาคารไทยดังกล่าวเป็นการแสวงหารายได้ที่น่าจะตกยุคไปนานแล้วหลายปีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ด้วยความเคยชินและระบบที่สบายกว่าธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมากในโลกนี้

ที่สำคัญก็คือ การแสวงหารายได้จากธุรกรรมค่าธรรมเนียมของธนาคารไทยแบบนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าของธนาคารไทยที่น่าจะเหลือระบบการเอาเปรียบลูกค้าที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ ยิ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับระบบการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น

ที่เองที่ทำให้ธนาคารไทยถูกขนานนามว่า เป็นเสือนอนกินมาหลายทศวรรษ บนความไร้ทางเลือกของลูกค้าที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งแบงก์เหล่านี้ แทบไม่ต้องพูดถึงกลไกการตลาดและการวางระบบการเงินการธนาคารและเทคโนโลยีที่ไม่เคยได้รับการพัฒนาเลย ทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงการคลังละธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ไม่เคยสนใจแก้ไขปัญหาเอาเลย ได้แต่ยืนตาปริบๆ ให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ ทั้งหลายแสวงหาผลประโยชน์อย่างสบายเอากับลูกค้า ซึ่งเป็นประชาชนคนไทยตาดำๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายของประเทศไทย ที่ตอนหลังเกิดมีธุรกรรมการเงินอิเลคทรอนิกส์หลายชนิดขึ้นและหนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าวคือ “บล็อกเชน”/Blockchain) ที่เป็นฐานการจัดเก็บข้อมูลอิเลคทรอนิคส์การทำธุรกรรมทุกประเภท ซึ่งก็แน่นอนว่าทำให้ระบบการเงินการธนาคารของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะแนวโน้มหรือทิศทางของการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินในอนาคต ผู้ทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายหรือระบบธนาคารด้วยซ้ำ แต่พวกเขาสามารถทำธุรกรรมกันเองบนออนไลน์ เรียกว่า แบงก์ไม่ได้เป็นนายหน้าหรือตัวกลางบริการการเงินอกต่อไป

แหละนั่นเป็นเหตุให้แบงก์ในฐานะนายหน้าหรือตัวกลาง ไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเอากับลูกค้าได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่เมืองไทยคงได้ข่าวมาแล้วว่า แบงก์ 2-3 รายประกาศเป็นรายแรกๆ เลิกเก็บค่าธรรมเนียมลูกค้า เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว เท่ากับแบงก์ 2-3 รายที่ว่านี้ ต้องสูญเสียค่าธรรมเนียมแบงก์ที่เคยเป็นรายได้หลักในอดีต ลดฐานะลงเทียบเท่าแบงก์อเมริกันที่แทบไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ต่อลูกค้าเลยมาอย่างยาวนานแล้ว

แสดงให้เห็นอยู่ว่า ยุคแบงก์ฟันค่าธรรมเนียมในเมืองไทยลูกค้าเลือดซิบๆ กำลังจะหมดไปในไม่ช้า

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือด ก้าวต่อไปของธนาคารพาณิชย์ไทยดูเหมือนจะไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไปแล้ว หากเป็นเสือที่ต้องออกถ้ำไปหากิน ในช่วงจังหวะที่อาจไม่ค่อยดีนัก ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินทุกประเภทกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่

แน่นอนว่า การประกาศเว้นค่าธรรมเนียมของ 2-3 ธนาคารใหญ่ของไทย ในระยะสั้นและระยะกลางย่อมส่งผลต่อการโยกย้ายลูกค้าระหว่างธนาคาร ไม่มากก็น้อย ก็ใครอยากจะเสียค่าธรรมเนียมอยู่อีกเล่า ไปแบงก์ที่ฟรีค่าธรรมเนียมดีกว่า ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดการย้ายแบงก์ของลูกค้าไปยังแบงก์ที่ฟรีค่าธรรมเนียม ส่งผลกะทบต่อธุรกิจธนาคารอื่นๆ อย่างเป็นลูกโซ่

มันอาจไม่เร็วที่จะเห็นผลกระทบถึงแบงก์อื่นๆ แต่เชื่อว่าคงไม่ช้า โดยมีเทคโนโลยีการเงินเป็นตัวเร่งและบังคับ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ ได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้หรือไม่ อย่างไรบ้าง เพราะธปท. และกระทรวงการคลังเอง ยังปิดปากเงียบสนิท ไม่หือไม่อือ

เพราะแบงก์ไทยคุ้นชินกับวิธีการหากินแบบง่ายๆ มานานหลายปี ต่อแต่นี้การหากินของแบงก์จะไม่ง่ายอีกต่อไป โดยเฉพาะแบงก์ที่จะได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่แบงก์ขนาดใหญ่ก่อน แต่จะเป็นแบงก์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ถ้าไม่บริหารดีๆ ความเสี่ยงมีสูง ผมเคยคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เป็นนายธนาคารที่สิงคโปร์ เขาบอกว่า แบงก์จะตกอยู่ในสภาวะอันตราย ถึงขนาดมีความเสี่ยงที่จะล้ม

เพราะกิจการด้านวณิชธนกิจเป็นกิจการที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะในการทำงานสูง เช่น การวิเคราะห์สินเชื่อแนวใหม่ ตามลักษณะโครงการการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์มากขึ้น หรือก็คือ นวัตกรรมนั่นเอง

น่าจะเป็นช่วงการปรับตัวของแบงก์ไทยและในส่วนของกฎหมายด้านการลงทุน การเงิน การธนาคารและการคลังครั้งใหญ่ เพราะหากไม่มีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์การเงินการลงทุนและการทำธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุให้ธุรกิจการเงินการธนาคารของไทยถึงคราววิบัติได้ ขณะที่สถาบันการเงินและหน่วยงานของภาครัฐของประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ปีนกระแสคือปรับตัวไปยืนรออยู่นานแล้ว

คิดดูเอาว่า เมื่อแบงก์รายได้ลด เนื่องจากไม่มีค่าธรรมเนียมมาเป็นรายได้หลัก จะเกิดอะไรขึ้น แบงก์ขนาดใหญ่อาจประคับประคองตัวให้รอดได้ แต่แบงก์ที่ขนาดเล็กลงมาอาจไม่แน่ เท่าที่ทราบประเทศไทยในส่วนการเมือง (กฎหมาย) และงานเชิงเทคนิคด้านการเงินการคลัง ยังไม่มีการเตรียมตัวแต่อย่างใดเลย นั่งรอวัน ให้วันนั้นมาถึง

ใครจะไปรู้ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ เราอาจต้องเจอกับเรื่องน่าเศร้า เหมือนเมื่อคราวต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเท่าที่กล่าวมาก็มีเหตุให้น่าเป็นห่วงจริงๆ ถมทับถมซ้อนกับปัญหาเศรษฐกิจที่ไปไม่รอด เพราะความเชื่อมั่นต่างประเทศไม่มี ถ้ารัฐบาลขืนไม่เดินตามโรดแมพ เลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนของความสัมพันธ์ทางด้านการค้าหรือเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอเมริกาขณะนี้ก็นับว่าแย่เต็มทีแล้ว หน่วยงานของรัฐไทยในอเมริกาที่มาจากกระทรวงต่างๆ นั่งตบยุงกันเป็นแถบ เพราะไม่มีงานให้ทำ และไม่ใครที่กรุงเทพ assigned งานให้ทำ

สรุปใจความสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือ นอกเหนือจากเอกชนหรือแบงก์ต้องปรับตัวแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว เตรียมการที่ดีด้วย ไม่ใช่รอให้แบงก์ล้มก่อนค่อยเตรียมการ

Financial Technology เป็นระบบหรือแบบแผนการทำธุรกรรมใหม่ที่กำลังมาแรง แรงเหมือนพายุไต้ฝุ่น ที่แรงพอที่จะพัดกวาดทุกสรรพสิ่งเก่าๆ ทั้งหลาย ให้หายไปกับกาลเวลาและกลายเป็นอดีต.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ มอบ 'รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก' ให้ 'เคเปอร์นิก' นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล

$
0
0

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก หลังแสดงจุดยืนต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม

ภาพซ้าย เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส กลายเป็นบุคคลว่างงานตั้งแต่ปี 2016 หลังแสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมต่อสังคมที่เลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม โดยถือเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับเรื่องนี้ ก่อนที่ผู้เล่นคนอื่นจะทยอยทำตามกัน แต่เจ้าตัวโดนสังคมลงโทษคนเดียว (ที่มา ผู้จัดการออนไลน์)
 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล Ambassador of Conscience award หรือ “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักกีฬาและนักกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก  

โคลิน เคเปอร์นิก กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า “ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรางวัลนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมควรได้รับรางวัลนี้พร้อมกับคนอีกจำนวนมากทั่วโลก ที่ช่วยกันต่อต้านการละมิดสิทธิมนุษยชนจากน้ำมือของตำรวจ และการใช้กำลังปราบปรามจนเกินกว่าเหตุ ผมอยากอ้างคำพูดของมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X)  ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เขา ‘พร้อมจะเข้าร่วมกับทุกคน ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ตราบที่คนเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เลวร้ายซึ่งดำรงอยู่ในโลก’ ผมขอร่วมมือกับทุกท่านในการต่อสู้กับความรุนแรงจากการกระทำของตำรวจ”
 
โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น ในช่วงก่อนฤดูกาลของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ (American National Football League) โคลินคุกเข่าลงระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าทีอย่างเคารพเพื่อเรียกร้องให้ประเทศนี้คุ้มครองและปกป้องสิทธิของคนทั้งปวง การกระทำที่กล้าหาญเช่นนี้เป็นการตอบโต้กับการสังหารคนผิวดำจำนวนมากโดยตำรวจ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวตามจารีตการประท้วงอย่างไม่ใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
 
“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลิน กล่าว
 
รางวัล Ambassador of Conscience awardหรือ“รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก”นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุดมการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของตน ตลอดจนสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
 
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า รางวัลนี้เป็นการเฉลิมฉลองจิตสำนึกของการเคลื่อนไหวและความกล้าหาญที่โดดเด่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโคลิน ในปัจจุบันเขาเป็นนักกีฬาซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากการเคลื่อนไหวของเขา โดยเขาปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุด้านเชื้อชาติ
 
 
“โคลินเลือกที่จะพูดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น แม้จะมีความเสี่ยงต่ออาชีพและชีวิตส่วนตัว เมื่อคนมีชื่อเสียงเลือกจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นกำลังใจให้คนอื่น ๆ จำนวนมากในการต่อสู้กับความอยุติธรรม โคลินแสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าแม้ว่าจะมีผลกระทบจากเสียงวิจารณ์ด้านลบมากมายที่เขาได้รับจากผู้มีอำนาจ”    
 
รางวัลนี้จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจเนื่องจากบทกวี “From the Republic of Conscience” ซึ่งเชมัส ฮีนนี (Seamus Heaney) กวีชาวไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับไปแล้วประพันธ์ให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ที่เคยรับรางวัลนี้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มาลาลา ยูซัฟไซ และเนลสัน แมนเดลา รวมทั้งนักดนตรีและศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง แฮรี เบลาฟอนเต โจน เบเอซ อลิเชีย คีส์ และอ้าย เว่ยเว่ย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรช่วยแรงงานไทยในอิสราเอลพบ 33.7% ทำงานสัมผัสสารเคมี

$
0
0

คาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล เผยผลสำรวจแรงงาน  386 คน พบ 58.3% ทำงานงานเพาะปลูก เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ ฯลฯ 33.7% ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีทั้งพ่นยาฆ่าแมลง-ยาฆ่าหญ้า

ที่มาภาพประกอบ: GREENCROSS FOUNDATION

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture)ได้ทำการสำรวจสถิติประเภทการทำงานของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 386 คน ผลสรุปจากแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 56.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามทำงานประเภทเดียว ร้อยละ 32.9  ทำงานมากกว่า 1 ประเภท และร้อยละ 10.9 ทำงานมากกว่า 2 ประเภท

ในจำนวนแรงงานที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 58.3 ทำงานงานเพาะปลูกในพื้นที่ราบ (เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ เป็นต้น) ร้อยละ 33.7 ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมี (พ่นยาฆ่าแมลง พ่นยาฆ่าหญ้า เป็นต้น) ร้อยละ 19.4 ทำงานในที่สูง (งานที่ต้องใช้บันไดหรือรถยก) ร้อยละ 14.5 ทำงานปศุสัตว์และฟาร์มปลา ร้อยละ 11.1 ทำงานสร้างโรงเรือนเพาะปลูก ร้อยละ 8.8 ทำงานบรรจุผลิตภัณฑ์ในโรงงาน และร้อยละ 1.6 ทำงานประเภทอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น (อนึ่งในแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ ผลรวมสถิติของประเภทงานข้างต้นนั้นจึงมากกว่าร้อยละ 100)

ก่อนหน้านี้ในรายงาน 'สัญญาเถื่อนการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล'ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอตซ์ (Human Rights Watch) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าแรงงานในฟาร์มหลายแห่งระบุถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปัญหาระบบทางเดินหายใจและอาการแสบตา ซึ่งแรงงานเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม แรงงานบางส่วนระบุว่ามีญาติในไทยส่งยามาให้พวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่นี่ได้

อนึ่งองค์กรคาฟลาโอเวด เคยให้คำแนะนำแก่แรงงานไทยในอิสราเอลว่าในการพ่นยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ต้องสวมหน้ากากและถุงมือ ใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายให้มิดชิด เมื่อพ่นสารเคมีเสร็จแล้วควรรีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานควรซักให้สะอาดด้วยทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำงานในการพ่นสารเคมีตามกฎหมายนายจ้างจะต้องให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ และนายจ้างจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันให้แรงงานในการพ่นสารเคมี และหากมีอาการผิดปกติให้แรงงานรีบแจ้งนายจ้างเพื่อให้พาไปพบแพทย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อำลาชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนเก่าแก่ดีเกินไปในยุคที่แต่งชุดไทยก็ฟินแล้ว

$
0
0

การรูดม่านลาโรงของชุมชนป้อมมหากาฬ นอกจากจะสะท้อนความเพิกเฉยและรสนิยมชอบของเก่าผิวเผินแบบไทยๆ แต่ยังขีดเส้นใต้ให้เห็นความดักดานของ กทม. ที่ไม่เข้าใจคุณค่าและความหมายของการอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์มาตลอดระยะเวลา 59 ปี

<--break- />ผู้เขียนทำงานข่าวมาได้หนึ่งปี มีโอกาสได้ลงประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อกลางปีที่แล้ว เพิ่งเคยได้ไปชุมชนเมื่อเดือน ม.ค. ตอนที่ชุมชนเหลือกันไม่กี่หลังคาเรือน แต่บ้านไม้ที่ยังเหลือกลางกรุงก็ทำให้นักข่าวรู้สึกเหมือนโดนมนต์ในละครชื่อดังไปเกิดใหม่สักช่วงเวลาในอดีต (ทั้งในแง่แฟชั่นและความผุพัง)

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตผู้นำชุมชนกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือมาตลอด 26 ปี

ความพยายามตลอด 26 ปีของทั้งคนในชุมชนป้อมฯ คน และองค์กรภายนอกที่มาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวงพูดคุย สำรวจพื้นที่เพื่อขุดค้น ควานหาชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์มาปะติดปะต่อจนเป็นเนื้อเรื่องที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เอกลักษณ์ของผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่สุดท้ายกลายมาอยู่ใต้ธีม 'ชุมชนชานเมืองพระนครแห่งสุดท้าย' ในวันสุดท้ายของชุมชนที่ในอดีตเคยขึ้นชื่อเรื่องธุรกิจพลุไฟและกัญชา กลายเป็นชุมชนที่ค้นพบคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน เรื่องการกินการอยู่ เรื่อยมาถึงวิถีชีวิต ไม่ใช่นิทานประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการสูญเสียดินแดนที่พูดถึงการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ไว้น้อยนิด แถมยังพยายามทำให้คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันดูดีแบบฮีโร่

ในวันนี้แรงกดดันจากภาครัฐแรงเกินกว่าที่กำแพงป้อมและประตูบ้านของชาวชุมชนจะต้านไหว ตลอดเวลาการต่อสู้ชาวชุมชนไม่เคยได้เปรียบขึ้นมาเลยตั้งแต่กระบวนการจากทางภาครัฐทั้งการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่เพื่อสร้างสวนสาธารณะ การต่อสู้บนศาลปกครอง รวมถึงความพยายามตั้งโต๊ะเจรจาให้เก็บบ้านเอาไว้ด้วยเหตุผลสองข้อ

หนึ่ง ผลการเจรจาสี่ฝ่ายระหว่างฝ่ายนักวิชาการ ชาวชุมชน กทม. และทหาร (ทหารเกี่ยวอะไร) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีการเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมคุยกันมากที่สุด ผลออกมาคือการเก็บบ้านเอาไว้ แต่คนต้องออก กล่าวคือ ชะตากรรมของชุมชนมีความไม่แน่นอนตั้งแต่ข้อตกลงแรก ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าคงเป็นการยอมรับเพื่อรอผลักดันประเด็นให้ชุมชนอยู่ร่วมกับบ้านได้ต่อไปในอนาคต

สอง ดอกผลแห่งการเจรจาถูกปัดตกภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธาน ต่อมา บ้านที่อยู่ในเกณฑ์อนุรักษ์ก็ถูกรื้อไปเมื่อเจ้าของบ้านย้ายออก มีการขีดว่าบ้านหลังไหนยังอยู่ได้ บ้านหลังไหนต้องย้ายออกภายในระยะเวลาที่กำหนด แนวทางแบบนี้ทำให้ชุมชนที่ต่อสู้มากว่า 25 ปี แบ่งเป็นสองฝั่งทันที ชุมชนมีรอยร้าวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

บ้านหมายเลข 99 ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของชุมชน อยู่ในลิสต์บ้านอนุรักษ์ แต่ก็ถูกทุบทิ้งเป็นซาก

เหตุการณ์ดังเกล่าวเกิดขึ้นบนเวลาเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) มาตั้งเตนท์ในชุมชน ด้วยเหตุผลว่าใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. มาปราบปรามการจำหน่ายพลุไฟ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่มีแล้ว และอ้างว่ามาเพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้นำชุมชน (จากที่ได้พูดคุยกับคนที่ย้ายออก) คนที่ยังอยู่ต่างพูดว่าโดนกดดันเป็นระยะๆ ส่วนคนที่ย้ายออกก็บอกว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้ทางทหารช่วยเหลือจากการถูกกดดันของผู้นำชุมชน โดยเตนท์ กอ.รมน. อยู่ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 - เดือน มี.ค. 2561

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน

การเจรจาเพื่อผลักดันประเด็นให้ กทม. รักษาชุมชนไว้ไม่ได้รับการสานต่อ ไอเดียเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนั้น กทม. ไม่ซื้อ

จากเหตุผลทั้งสองอย่างเห็นได้ว่าเป้าหมายการคงไว้ซึ่งชุมชนจึงไม่ได้รับการยอมรับจากทาง กทม. เลย (เคยมีสมัยอภิรักษ์ที่เหมือนจะมีดำริที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อ)

คำถามคือ แม้ผู้ว่าฯ กทม. จะเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่ทำไมต้องใช้หน่วยงานกึ่งทหาร-พลเรือนด้วย ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานพลเรือนที่ใช้ปฏิบัติงานมาแต่เดิม อีกประเด็นคือ พอชุมชนตัดสินใจย้ายออกทั้งหมด มีการขีดเส้นตายย้ายออก เตนท์ทหารก็ออกไปประมาณต้นเดือน มี.ค. พฤติการณ์แบบนี้หมายความว่าอะไร สรุปว่าเป้าหมายของการมาตั้งเตนท์คืออะไรกันแน่ ความบาดหมางแบบสมานไม่ได้ในชุมชนมี กอ.รมน.กทม. หรือไม่ อย่างไร นี่คือการกลยุทธแบ่งแยกแล้วยึดครอง (Divide and Conquer) หรือไม่ ต้องเคลียร์ให้ชัด

จากการสอบถาม พูดคุย พบว่าชาวบ้านได้เงินจริง แต่ถามว่าพอไหมกับการซื้อที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันชุมชนจำนวน 7-8 ครัวเรือนมีเงินออมแสนหนึ่ง ต้องการซื้อที่เพื่อตั้งชุมชนใหม่ที่มีราคาที่ประมาณสามล้านบาท เท่าที่รู้มาชาวบ้านที่ย้ายออกได้เงินหลักหมื่น ไปจนถึงหนึ่งแสนกว่าบาท จะซื้อที่ได้ก็เฉลี่ยต้องตกครัวเรือนละ 5-6 แสนบาท ไม่พอแน่นอน ไหนจะค่าสร้างบ้าน ปรับพื้นที่ อย่าลืมว่าชาวบ้านไม่ได้อิ่มทิพย์ ทุกต้องกินต้องใช้ทุกวัน ไหนจะค่าใช้จ่ายเมื่อย้ายที่อยู่ ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้เขียนคุยกับชาวชุมชนคนหนึ่งพบว่า ลูกชายต้องเดินทางต่อรถมากขึ้นเพื่อไปโรงเรียนเดิม ในเมื่อชาวชุมชนยังคงยืนยันจะตั้งชุมชนใหม่ แทนที่จะย้ายไปอยู่ใครอยู่มัน เช่าหอ เช่าบ้านตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นไป

ศ.ไมเคิล เฮอรซ์เฟลด์ อาจารย์และนักมานุษยวิทยาจาก ม.ฮาร์วาร์ด ชาวตะวันตกรุ่นแรกๆ ที่ลงพื้นที่วิจัยป้อมมหากาฬเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ประเทศกรีซมีกฎหมายและกระบวนการรักษาชุมชนบ้านอายุ 400 ปี ตั้งแต่ยุคที่เวนิซและจักรวรรดิออตโตมันยังแผ่อิทธิพลอยู่แถวนั้น ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ชื่อเรเธมนอส (Rathemnos) ในวันนี้เรเธมนอสกลายเป็นที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เจ้าของบ้านก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจที่กรีซโดนหนักๆ ชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างหลายที่ที่มีการรักษาชุมชนเดิมเอาไว้ในสไตล์ต่างๆ คนในชุมชนเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มี ในเมืองจัดธีมวิถีชีวิตย้อนยุค ตัวอย่างพวกนี้ทำให้คำถามย้อนกลับมาที่เมืองไทยว่า แนวคิดการอนุรักษ์เมืองเก่าที่มีวัฒนธรรมของคนธรรมดามันเร็วไปสำหรับสังคมหรือเปล่า

ถ้าพิจารณาคำถามดังกล่าวจากแนวคิดการอนุรักษ์โบราณสถาน (ตัวป้อมและกำแพง) สร้างสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวที่เริ่มต้นเมื่อปี 2502 และการเวนคืนที่ที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2535 ความคงเส้นคงวาของภาครัฐที่พยายามไล่คนเพื่อสร้างสวนจนถึงปัจจุบัน สะท้อนชัดว่าฐานคิดของรัฐเรื่องการพัฒนาเมืองและอนุรักษ์โบราณสถานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 59 ปีที่แล้วเลย 

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างสวนคือ ที่ผ่านมามีการสร้างสวนบริเวณหน้าป้อม (ตอนนี้ถูกลาดยางเป็นลานจอดรถ) และหลังป้อม คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่าสวนหน้าป้อมมีคดีปล้น จี้ ประมาณ 2-3 ครั้ง มีคนข้างนอกมาผูกคอตายหนึ่งคน มีผู้หญิงถูกชิงทรัพย์ ที่ตั้งของสวนที่มีกำแพงล้อมด้านหน้า (กำแพงแบบโบราณ สูงๆ หนาๆ ทางเข้าเล็กๆ ประมาณรถยนตร์หนึ่งคัน) และมีคลองโอ่งอ่างติดอยู่ข้างหลังกลายเป็นทำเลที่ดีสำหรับมิจฉาชีพ แนวคิดเรื่องการเก็บชุมชนไว้เพื่อเป็นกำลังในการดูแลสวนก็ถูกล้มไป สวนสาธารณะในอนาคตจึงตั้งอยู่บนประโยคคำถามเรื่องความปลอดภัยและความนิยม แต่อย่าลืมว่า สวนจะถูกสร้างจากการทำให้คนราว 300 คนไม่มีที่อยู่

ท่าทีของรัฐต่อพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬคือสิ่งที่เรียกว่า Gentrification รัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือคนไม่กี่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ได้กำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่แบบไม่ถามไถ่คนที่ต้องใช้และคนที่จะได้รับผลกระทบ แต่บนเส้นเวลาเดียวกัน คนใน (แน่นอน ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่อยู่มาตั้งแต่เริ่มมีชุมชน) และคนนอกชุมชนส่วนหนึ่งพยายามกำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่ขึ้นมาเอง (Self-Gentrification) จนชุมชนค้าพลุ ค้ายากลายเป็นแลนด์มาร์ค เป็นโมเดลของชุมชนที่เข้าใจคุณค่าของผังเมือง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และต่างคนต่างรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่คนกรุงเทพฯ บางคนถามตัวเองว่าถ้าวันนี้กูเจอคนข้างบ้าน คนที่พักอยู่ห้องข้างๆ แล้วกูต้องทำตัวยังไง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ ยิ่งขีดเส้นใต้ความไร้เดียงสาของภาครัฐที่อยากได้สวนมาเป็นเวลา 59 ปี ภาวะขาดความเข้าใจพื้นที่ ชุมชน แนวคิดเรื่องคนอยู่ร่วมกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ นี่คือตัวอย่างที่ควรค่าแก่การบรรจุไว้ในบทเรียนในฐานะการปกครองที่ดักดาน ตามโลกไม่ทัน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเมืองหลวงของประเทศ

การทำลายชุมชนเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไม่ได้ทั้งในด้านวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง และชีวิตของชุมชน แต่เสียงที่เงียบงันของสังคมต่อการปิดตัวของชุมชน (ถ้านึกภาพไม่ออกต้องเปรียบเทียบกับเรื่องเสือดำ) ทำให้เห็นความย้อนแย้งของสังคมเรื่องรสนิยมย้อนยุค ชื่นชอบของเก่า

สัปดาห์ที่แล้วมีการจัดสมโภช 236 ปีกรุงรัตโกสินทร์ที่ศาลหลักเมือง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนป้อมอายุกว่าร้อยปีที่ถูกไล่รื้อไปที่อื่น การปิดชุมชนไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย การเลือกตั้งยังไม่บังเกิด รัฐบาลทหารก็ยังไม่เคยถูกจับมาไต่สวนเรื่องการยึดอำนาจ แต่ชีวิตของชุมชนที่สูญพันธุ์จะทำให้คนเสียดายเมื่อตระหนักได้ถึงคุณค่า ในวันที่รสนิยมชื่นชอบของเก่า 'ใจกว้าง' เพียงพอที่จะหันมาดูประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ซึ่งถ้าเกิดอย่างแพร่หลายในเมืองไทย สิ่งเหล่านั้นคงอยู่แบบแห้งๆ ในพิพิธภัณฑ์กระมัง

กลุ่มผู้ชื่นชอบการสเกทช์ภาพจากกลุ่ม Bangkok Sketchers  เข้ามาเก็บความทรงจำสุดท้ายของชุมชนด้วยจิตรกรรม สมาชิกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเสียดายชุมชนมาก

ชุมชนในทางพื้นที่แตกสลายแล้ว และยังเหลืออีกหลายชุมชนรอบๆ และในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงและมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโดมิโนตัวต่อไป นั่นหมายถึงกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเรื่องราวคงจะจบลงที่มีคนไร้บ้านและปัญหาคนจนมากขึ้น แต่จะถูกเอาไปกองกันไว้ในเขตไกลๆ ของ กทม. ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ 

ในวันที่การแต่งกายย้อนยุค เดินงาน ถ่ายภาพสวยๆ ทำง่าย และเสียงดังกว่าความพยายามอนุรักษ์ชุมชนโบราณ

ในวันที่ภาครัฐไล่คนออกจากชุมชนเดิมด้วยการกดดัน ฟันป่ายาง ไปจนถึงการเผาบ้าน (กรณีกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน) ง่ายกว่าการไว้ใจผู้อยู่อาศัยที่พิสูจน์แล้วว่าคนก็อยู่กับป่า อยู่กับโบราณสถานได้ 

ก็ได้แต่ถอนหายใจ และหวังว่าค่าเช่าบ้านจะไม่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วัฒนา' ลั่นหากชนะการเลือกตั้ง จะดันปฏิรูปกองทัพ-ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

$
0
0

วัฒนา โพสต์แนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ ย้ำการปฏิรูปกองทัพผ่านกระบวนการทางรัฐสภามีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทหารมืออาชีพ

23 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 เม.ย.61) วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยระบุว่า ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล หรือเป็นปัญหาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพ ทั้งนี้เนื่องจากภัยคุกคามประชาชาติได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว การทำสงครามแบบเดิมที่ต้องเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากเพื่อทำศึกได้เปลี่ยนเป็นภัยคุกคามในรูปการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และการใช้เทคโนโลยีด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาล โลกปัจจุบันจึงเน้นนโยบายการสร้างความร่วมมือเพื่อลดเงื่อนไขการก่อสงคราม

หน้าที่ของกองทัพคือการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก กระทรวงกลาโหมจึงมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Ministry of Defence” ส่วนการดูแลความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของตำรวจและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตรงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า “Ministry of Interior” แต่กองทัพกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร จากนั้นใช้รักษาอำนาจเผด็จการด้วยการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น อุ้มคนเห็นต่างเข้าค่าย แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพ หรือไปเยี่ยมบ้านของนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นต้น การมีกำลังพลมากเกินความจำเป็นทั้งยังถูกใช้งานผิดวัตถุประสงค์ กองทัพจึงกลายเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยเสียเอง

"การปฏิรูปกองทัพผ่านกระบวนการทางรัฐสภาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทหารมืออาชีพที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ การย้ายหน่วยงานของกองทัพออกไปอยู่ตามหัวเมือง และการป้องกันไม่ให้กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ด้านงบประมาณและความมั่นคง แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดอีกต่อไป นี่คือภารกิจสำคัญที่พวกเราจะต้องกระทำให้สำเร็จหากชนะการเลือกตั้ง" วัฒนา โพสต์ทิ้งท้าย

สำหรับการตรวจเลือกทหารกองประจำการในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 – 12 เม.ย. 2561 มีผู้เข้ารับการตรวจเลือก 532,277 นาย กองทัพคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบ ไว้เป็นทหารกองประจำการ 104,734 นาย โดย มีผู้ร้องขอหรือสมัครเป็นทหารถึง  44,797 นาย คิดเป็นร้อยละ 42.77  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านเปร็ดใน ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน

$
0
0

สกว. เปิด ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม “บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2” ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน พร้อมนำองค์ความรู้จัดการปัญหาในชุมชน ลดภาวะโลกร้อน

ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านบ้านเปร็ดใน

23 เม.ย.2561 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า จากปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอประกอบกับสถานการณ์ราคาค่าไฟที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ชุมชนเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ชุมชน “บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2” ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นป่าชายเลนที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ทางภาคตะวันออกของไทย เกิดแนวคิดต้องการที่จะมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่โดยใช้เศษไม้วัตถุดิบที่หาง่ายในชุมชนมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟในอนาคต

อำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสนใจเรื่องของพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกก็เพราะเกิดจากไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ มีเงาะโรงเรียน ลำไย ลองกอง มังคุดและทุเรียน ต้องปั๊มน้ำไปใช้รดสวนผลไม้ในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูง ในฐานะเป็นหมู่บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่จะนำพลังงานชีวมวลหรือพลังงานทดแทนที่เหมาะสมเข้ามาใช้ เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันนี้มาจากภาวะโลกร้อนจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด

แต่เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในโครงการการยกระดับความรู้ความเข้าใจชุมชนบ้านเปร็ดในเรื่องพลังงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนจากฐานทรัพยากรภายในชุมชน ที่มี ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดิน โรงเรียนบ้านเปร็ดใน

อำพร ยอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือกของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยคิดว่าในเมื่อเรามีเศษไม้ในพื้นที่อยู่แล้วก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลได้ แต่พอทำการศึกษาวิจัยสามารถประเมินได้ว่าชีวมวลที่มีอาจไม่เพียงพอ ประกอบกับต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลค่อนข้างสูง อีกทั้งคนในชุมชนยังไม่มั่นใจเรื่องของฝุ่นละอองและเสียง เพราะกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและจะส่งผลให้เกิดมลภาวะขึ้นในชุมชน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา นักวิจัยเน้นการใช้กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกภายใต้ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับทางนักวิจัยชุมชน ยุวชนชุมชน ผู้นำชุมชนและชุมชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทรัพยากรเพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพด้านพลังงานในชุมชน เก็บข้อมูลพื้นฐาน จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพลังงานทางเลือก และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกให้กับคนในชุมชน จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกของชุมชน ประกอบด้วย การจัดอบรมการทำบัญชีพลังงานครัวเรือน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละครัวเรือน การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้และใบไม้ ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีการจัดการขยะของชุมชน ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ และการจัดทำแผนพลังงานทางเลือกของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นศึกษาดูงานด้านพลังงานทางเลือกที่ จ.นครราชสีมาและสระบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจและความเข้าใจในการทำงานของแต่ละเทคโนโลยี  จัดอบรมสาธิตการผลิตและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสนใจเลือกทดลองใช้เป็นการนำร่อง ได้แก่ เทคโนโลยีถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร , เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างทางเดิน และการผลิตเตาก๊าซชีวมวลจากฟืน รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุดโครงการวิจัยการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ปัจจุบันจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นเรื่องที่ชุมชนเองให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เมื่อสกว.เข้ามาให้ความรู้ ทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้าใจถึงสาเหตุที่ผลผลิตทางการเกษตรเคยติดลูกดีกลับประสบปัญหาติดลูกน้อยลงมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังสามารถประเมินถึงทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งพวกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชุมชนพยายามอนุรักษ์อยู่พบว่าสาเหตุที่มีปริมาณลดลงเกิดจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน แม้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่งได้ ความรู้เหล่านี้ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อน” อำพร กล่าว

เมื่อชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น เก็บข้อมูลและประเมินศักยภาพได้ ในที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีการทดลองติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดินต้นแบบขึ้น ณ โรงเรียนบ้านเปร็ดใน และที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน ต่อมาชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน จึงดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ปัจจุบันสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากเดิม 5,000 – 7,000 บาทต่อเดือน ลดลงเหลือ 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนและชุนชนใกล้เคียงนำไปขยายผลต่อไ

“การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน มีติดตั้งทั้งหมด 30 แผง สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 9,000 เมกกะวัตต์ ใช้ปั๊มน้ำจากสระขึ้นมาผลิตประปาหมู่บ้านทำงานเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน จากเดิมใช้มอเตอร์ 5 ตัวในการปั๊มน้ำ คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้การไฟฟ้าฯถึงเดือนละกว่า 5,000 บาท หลังจากเปลี่ยนมาใช้โซล่าเซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดต้นทุนค่าไฟลงได้กว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ถือว่าได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ปัจจุบันทุกครัวเรือนในชุมชนมีน้ำประปาใช้จากในอดีตชุมชนที่นี่ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้บริโภค แต่เพราะเดี๋ยวนี้การบริโภคน้ำฝนเริ่มไม่ปลอดภัยจึงหันมาใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มาตรฐานแทน” ณรงค์ชัย  โต้โล้ง  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะนักวิจัยชุมชน กล่าว

“รู้สึกภูมิใจที่หมู่บ้านได้เป็นชุมชนต้นแบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันโดยไม่มีการแบ่งแยกของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาของชุมชนมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งบ้านเปร็ดในเป็นชุมชนที่เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้วันนี้บ้านเปร็ดในเป็นที่รู้จักของคนทั้งในระดับตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ จากที่เคยเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไม่เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง” มาโนช ผึ้งรั้ง ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเปร็ดใน กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วางดอกไม้รำลึก 4 ปีที่ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ถูกลอบสังหาร กับคดีที่ไม่คืบ

$
0
0

กลุ่มเพื่อน 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' จัดวางดอกไม้ ณ จุดที่กวีราษฎรถูกลอบสังหาร เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เผยคดียังไม่คืบหน้า 'วรพจน์' ย้ำความตาย จะหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือสี่ห้าปี มันก็คือความสูญเสีย

23 เม.ย.2561 เนื่องในวันครบรอบ 4 ปี ที่ ลอบสังหาร กมล ดวงผาสุข หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎรและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต ที่หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า 

วันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มเพื่อนของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที จัดวางดอกไม้รำลึก 4 ปีถูกคนร้ายบุกที่จุดเกิดเหตุ หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว

ผู้สื่อข่างสอบถาม 'บอย เลี้ยวซ้าย (นามแฝง)' ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกดังกล่าว ระบุว่า นอกจากการวางดอกไม่รำลึกแล้ว ยังมีการจัดทำบุญให้ ไม้หนึ่งฯ ตามสะดวกของแต่ละคนด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าคดีของไม้หนึ่งฯ นั้น บอย เลี้ยวซ้าย กล่าวว่า แนวร่วมทางการเมืองไม่สามารถทวงถามติดตามได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะญาติ ขณะที่กิจกรรมต่อไปทางกลุ่มเพื่อนคิดว่าจะจัดเลี้ยงคนไร้บ้านที่สนามหลวงนวันเกิดของไม้หนึ่งฯ เนื่องจาก ขณะ ไม้หนึ่งฯ มีชีวิต เขาเคยมีความคิดว่าจะเลี้ยงอาหารคนไร้บ้านร่วมกับมูลนิธิอิสรชน ที่มี นที สรวารี ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปนั้น เป็นเลขาธิการมูลนิธิอยู่ จึงอยากจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนกล่าวถึง 4 ปีการเสียชีวิตของไม้หนึ่งฯ ด้วยว่า เรื่องความตาย จะหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือสี่ห้าปี มันก็มีความหมายเดียวกัน คือความสูญเสีย คือการจากพราก ยิ่งกับคนใกล้ชิด คนที่มีกันและกันอยู่ในชีวิต มันเหมือนแขนขาหรือปีกอีกข้างหนึ่งของเราขาดหายไป คนหาย ใจหาย โลกรอบตัวมืด เงียบ ไม่ปลอดภัย กระบวนการยุติธรรมแปลว่าอะไร สังคมเรามีสิ่งนี้ด้วยหรือ คุณจะหวังอะไรกับประเทศที่แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ยังเถื่อน คุณจะหวังอะไรกับประเทศที่ใช้ปืนปกครอง ใช้กระบองกำหนดกติกา

"คำว่า ไอ้สัตว์ หยาบคาย พูดไม่ได้ ไม่ควรพูด ไม่ควรใช้ แต่ใช้ปืนจ่อหัวคน ใช้ปืนบริหารประเทศ ทำได้ ไม่ผิด ลอยหน้าลอยตาในทีวี เป็นผู้ปกครอง สังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน โหดเหี้ยม แต่เพียงไม่มีเลือด พวกเขาก็บอกว่าสงบ" วรพจน์ กว่าว พร้อมว่า
ตรรกะบ้าๆ ตรรกะปัญญาอ่อนแบบนี้ ต้องถูกลบล้าง เปลี่ยนแปลง ไม่มีเลือดไม่ได้แปลว่าสงบ ไม่มีเลือดไม่ได้แปลว่าไม่มีความรุนแรง ความเห็นตน คนไทยตอนนี้เหมือนหญ้าที่ถูกเหยียบอยู่ใต้ท็อปบู๊ต สังคมอารยะคือสังคมที่สนับสนุน ส่งเสริม ให้ต้นไม้งอกงาม เติบโต ไม่ใช่การกด การเหยียบเอาไว้แบบนี้ นี่คือความป่าเถื่อน นี่คือความวิปริตที่ล้วนต้องชำระล้างโดยเร็ว
 
สำหรับ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกมือปืนสองคนลอบสังหารเมื่อ 23 เม.ย. 2557 ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ตำรวจที่รับผิดชอบคดีในขณะนั้นได้ตั้งประเด็นไว้หลายประเด็น รวมทั้งประเด็นทางการเมือง และต่อมาตำรวจได้ขออนุมัติหมายจับบุคคลตามภาพสเกตช์จำนวน 2 คน แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารโดย คสช. คดีกลับไม่มีความคืบหน้าและเงียบหายไปจนถึงปัจจุปัน

เฟสบุ๊ค 'Friends of Mainueng - กลุ่มสหายไม้หนึ่ง' เผยแพร่บทกวีรำลึก 4 ปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดพิพากษาคดี 112 ราชบุรี ของ ‘ทอม ดันดี’ 24 พ.ค.61

$
0
0

ทอม ดันดี รับสารภาพ แต่ขอให้ศาลส่งตัวกลับเรือนจำกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำพิพากษาเพื่อให้ญาติเยี่ยมสะดวก ศาลไม่อนุญาต แต่ร่นเวลานัดพิพากษาเร็วขึ้น จากเดือนมิ.ย.เป็น 24 พ.ค.

แฟ้มภาพ เพจ Banrasdr Photo

23 เม.ย.2561 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดคุ้มครองสิทธิคดีที่ ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี จำเลยในคดีความผิดตามมาตรา 112  iLaw รายงานว่า ศาลเริ่มนั่งบัลลังก์ในเวลา 11.00 น. และถามจำเลยว่ามีทนายแล้วหรือยัง เมื่อจำเลยตอบว่ามีแล้ว ศาลอ่านบรรยายฟ้องให้ฟังและถามว่าเข้าใจฟ้องโจทก์หรือไม่ จำเลยตอบว่าเข้าใจ หลังจากนั้นศาลแจ้งกับภรรยาและเพื่อนๆ ของจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่า จะดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับ ขอให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้อง ศาลพิจารณาจนถึง 12.00 น.จึงสั่งพักการพิจารณาและนัดหมายพิจารณาคดีต่อในช่วงบ่าย

ธำรงค์ หลักแดน ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ซึ่งเป็นทนายจำเลยในคดีนี้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการว่า ศาลนัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 24 พ.ค.2561 เวลา 9.00 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ทนายความกล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้จำเลยได้กลับคำให้การและแถลงต่อศาลขอยอมรับสารภาพโดยอธิบายเหตุผลเช่นเดียวกับคดีที่ศาลอาญาซึ่งยกฟ้องไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แม้คำปราศรัยของเขาไม่ได้มีเจตนาหมายถึงสถาบันกษัตริย์ตามฟ้องแต่อย่างใด แต่เนื่องจากเหนื่อยล้าจากการต่อสู้คดี 112 รวมทั้งสิ้นถึง 4 คดีจึงขอรับสารภาพ ในตอนแรกศาลนัดพิพากษาในเดือนมิถุนายนเนื่องจากเป็นคดีสำคัญต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ตรวจก่อนจึงใช้เวลานาน จากนั้นจำเลยร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยไปคุมขังที่กรุงเทพฯ ระหว่างนี้เพื่อที่ภรรยาและลูกชายจะได้เดินทางมาเยี่ยมสะดวก ศาลได้ขึ้นไปปรึกษาหารือกันอยู่พักใหญ่ก่อนจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ แต่เลื่อนการพิจารณาให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 24 พ.ค.ดังกล่าว

ทั้งนี้ ทอม ดันดี อยู่ในเรือนจำมา 3 ปี 9 เดือนเศษ เขาถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนคดีตามมาตรา 112 นั้นเขาถูกทยอยฟ้องทั้งสิ้น 4 คดี ทั้งหมดมาจากการปราศรัย คดีแรกและคดีที่สองมาจากคลิปการปราศรัยของเขาที่โพสต์ในยูทูบโดยบุคคลอื่นในปี 2556 ด้วยระยะเวลาห่างกันราว 1 สัปดาห์ คดีแรก ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกรรมละ 5 ปี รวม 3 กรรม 15 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน อีกคดี ศาลทหารลงโทษจำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี 112 จากการปราศรัยของทอม ดันดี ที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 ในงานแรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง แม้ว่าตัวเขาจะตัดสินใจรับสารภาพไปแล้ว และลำดับท้ายสุดที่จะมีการพิพากษาคือ คดีนี้ที่ศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งอัยการเพิ่งฟ้องเมื่อเดือนมกราคม 2561 เหตุจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2553

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเอดส์ค้านคำขอสิทธิบัตรยาไวรัสตับฯ ซี

$
0
0

เครือข่ายเอดส์ค้านคำขอสิทธิบัตรยาไวรัสตับฯ ซี หวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดแอกการผูกขาดไม่เป็นธรรม ชี้ บริษัทยายื่นแก้ไขคำขอรับสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณาไม่ชอบธรรม

23 เม.ย.2561 ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยื่นคำคัดค้านคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1401001362 สำหรับยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ตามสิทธิในการยื่นคำคัดค้านภายใน 90 วันหลังจากวันประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร

สำหรับเหตุผลที่กลุ่มดังกล่าวยื่นคัดค้านคำขอฯ ฉบับนี้ เนื่องจากว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้สิทธิบัตร ด้วยเหตุผลสามข้อ คือ หนึ่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตรไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา ในกรณีคือการใช้ยานี้เพื่อบำบัดรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี  สอง การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว และสาม ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า ทราบข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายนนี้ว่า ตัวแทนของบริษัทกิลิเอดได้ยื่นแก้ไขเนื้อหาของคำขอรับสิทธิบัตรภายหลังที่ประกาศโฆษณาไปแล้ว

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การที่กรมฯ ยอมให้แก้ไขเนื้อหาในคำขอฯ โดยเฉพาะสาระสำคัญ เป็นความไม่เป็นธรรมต่อสาธารณะและผู้คัดค้าน  ผู้คัดค้านมีระยะเวลาเพียง 90 วัน ที่ต้องศึกษาเอกสารจำนวนมากและเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นคัดค้านให้ทัน การยอมให้แก้ไขคำขอฯ หลังประกาศโฆษณาแล้ว โดยรู้กันเพียงระหว่างผู้ยื่นแก้ไขกับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ถือว่าเป็นไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะเอกสารคำคัดค้านทำขึ้นตามเนื้อหาที่ประกาศโฆษณาแต่แรกและอาจมีผลทำให้คำคัดค้านตกไป

“กรมฯ ควรหยุดอนุญาตให้มีการแก้ไขสาระสำคัญของคำขอฯ อย่าเอาเรื่องสุขภาพของประชาชนไปแลกกับค่าธรรมเนียมขอแก้ไขเพียงไม่กี่บาทและการทำยอดการให้สิทธิบัตร  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาในการพิจารณาสิทธิบัตรของกรมฯ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ากรมฯ ส่อเอื้อประโยชน์กับอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ไม่ได้มองเห็นผลของการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและผลกระทบด้านสาธารณสุข ที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาและระบบสุขภาพของประเทศต้องแบกรับภาระค่ายาที่แพง เพราะความบกพร่องของระบบสิทธิบัตรของประเทศ” เฉลิมศักดิ์ กล่าว

ยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์มีราคาสูงถึง 94,000 เหรียญสหรัฐฯ (2.8 ล้านบาท) ต่อการักษา 12 สัปดาห์ในอเมริกา ในขณะที่ยาตัวเดียวในอินเดียมีราคาเพียงไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ (3 พันบาท)  ยานี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่มีราคาไม่เกิน 16,800 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และอยู่ในระหว่างจัดซื้อนำเข้าจากอินเดีย  ทั้งนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันทั่วโลก ที่ต่อต้านการตั้งราคาแพงลิบลิ่วและสิทธิบัตรที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงการประกาศใช้มาตรการซีแอลในมาเลเซีย ส่งผลให้บริษัทกิลิเอดยอมขยายสัญญาในมาเลเซีย ยูเครน ไทย และเบลารุส นำเข้าหรือผลิตยาตัวเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปม GM ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่ง ครส. ที่ชี้ว่าเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม

$
0
0

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม 66 คน ศาลแรงงานกลาง เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา บริษัท GM ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีชี้ว่าบริษัทเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม 

23 เม.ย.2561 ศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ คดีที่บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กรณีบริษัททั้งสองเลิกจ้างลูกจ้าง (สมาชิกสหภาพแรงงานเจอเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม ม.121 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 นั้น

เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'สมัชชาคนจน' รายงานว่า ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของ ครส. ในฐานะจำเลย และ ชาญชัย ธูปมงคล ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดี และ นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงานเจนเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย และเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ และบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน เดินทางมารอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ณ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 1 (บัลลัง 1) ศาลแรงงานกลาง ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

นฤพนธ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 9.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา และได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะโจทก์ในคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน ทำให้ไม่สามารถอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ และได้ส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่

นฤพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า สาเหตุที่ทั้งสองบริษัท ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน นั้น เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 21-26/2561 และคำสั่งที่ 27-92/2561 ลงวันที่ วันที่ 8 ก.พ.2561 ให้ทั้งสองบริษัทรับลูกจ้างจำนวน 70 คนกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันรับข้อเรียกร้องจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัท ได้รับลูกจ้างทั้ง 70 คนกลับเข้าทำงาน แต่ได้มีคำสั่งย้ายสถานที่ทำงานให้ไปปฏิบัติงาน ณ คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปรับลดค่าจ้างรวมถึงตัดสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับทั้งหมด ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้จำนวน 66 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงได้ยอมรับตามเงื่อนไขที่ทั้งสองบริษัทเสนอ 

นอกจากนี้ ชาญชัย ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ กล่าวว่า ในระหว่างรอรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ตนเองได้ขอตรวจสอบรายชื่อจำเลยที่ทั้งสองบริษัท ยื่นขอถอนอุทธรณ์ พบว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งสองบริษัทได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำนวน 8 คน โดยอ้างว่า บริษัททั้งสองในฐานะโจทก์กับลูกจ้างทั้ง 8 คนในฐานะจำเลยร่วมในคดีนี้ ตกลงกันได้ ทั้งสองบริษัทไม่ประสงค์ดำเนินคดีนี้เฉพาะกับจำเลยร่วม ทั้ง 8 คน อีกต่อไป จึงขออนุญาตถอนอุทธรณ์จากศาลฎีกา และในเอกสารประกอบการยื่นคำร้องดังกล่าวนี้ ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ สมคิด จิตราพงษ์ และจำเลยร่วมที่ 203 คือ บุญเลิศ แย้มเกสร แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ ปรีชา ดาวัน และจำเลยร่วมที่ 203 คือ กันต์ฤทัย โฉมคำ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ตามคำร้องของบริษัททั้งสองในฐานะโจทก์ออกจากสารบบความของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560

ชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนเองจึงได้ติดต่อไปยังลูกจ้างทั้ง 2 คน จึงทราบว่า จำเลยร่วมทั้งสองคน ไม่เคยตกลงหรือให้ความยินยอมใดกับบริษัททั้งสอง และไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้สอบถามผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ในคดีนี้ ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี จะทำให้ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมทั้งสองคนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของลูกจ้างทั้งสองดังกล่าว เป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ
หรือมีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ตนก็ไม่อาจทราบได้

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในวันนี้ทำให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของทั้งสองบริษัท และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทำให้คดีเกิดความล่าช้าในคดีนี้ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีความแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่กล่าวว่า “ประหยัด สะดวก รวดเร็ว และยุติธรรม” แต่วันนี้ ผ่านมาเกือบห้าปี คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: 60 ปี ฟ้าบ่กั้น

$
0
0

 

อันรสถ้อยร้อยแก้วแล้วชวนอ่าน     พาแตกฉานซ่านกระเซ็นเป็นฟองฝัน

เปรียบเป็นแก้วกระจ่างดั่งกลางวัน     "ฟ้าบ่กั้น" ดั่งกรรณิการ์กลิ่นกล้าไกล

ร้อยแก้วปลายปากกาคมกล้าแข็ง     เป็นคมแห่งปัญญาท้ายุคสมัย

ป่าวร้องให้น้องพี่ที่นี่ไท     หมดยุคไพร่ทาสแล้วนะแก้วตา

ปลายปากกากล้าคมอมน้ำหมึก     จารผนึกกระดาษปรารถนา

มิได้หมายปลายคมคือชื่อลือชา     เพียงหมายว่าประชาชนบนชื่นบาน

หลายสิบปีที่ผ่านมาฟ้าบ่กั้น     ดั่งไกลวันฝันใฝ่ไร้รสหวาน

ผมดำขลับกลับขาวคล้ายเถ้าถ่าน     เผด็จการครองเมืองเรื่องเดิม ๆ

ถ้อยคำอันคมกล้าฟ้าบ่กั้น     บิ่น ห้ำหั่นกับยุคหินสิ้นฮึกเหิม

หลายสิบปีที่กาลเวลาท้าเหิมเกริม     ร้อยแก้วเพิ่ม"บุพเพสันนิวาส" ชาติสุดท้าย


ดูระบอบไพร่ทาสไม่ขาดเห็น     ชั้นชนเร้นตัดไม่ขาดอนาถหน่าย

ทาสที่ปล่อยไม่ไปทั้งใจกาย     คล้ายโซ่สายคล้องคอต่อ ๆ มา

ฟ้าบ่กั้นตะวันร้อนให้อ่อนน้อม     "ลาวคำหอม" ถนอมพลังหยั่งถึงฟ้า

แต่ไม้หนึ่ง ก กุนที ที่ลับลา     สี่ปีแล้วหนาถูกฆ่าเลือดตากระเด็น

ฟ้าบ่กั้นถึงวันนี้ 60 ปีแล้ว     ปักหมุดแก้วแววกล้า ฤาหาเห็น

บุพเพอาละวาดสาดกระเซ็น     อร่อยเล่นเป็นทาสไพร่ต่อไปเอย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ตกอยู่ในความสงบเงียบ

$
0
0

 


โอบกอดความเศร้าไว้แนบแน่น

ในทรวงอกสีหม่นเหี่ยวเฉา

รอยยิ้มถูกขโมยจากใบหน้า

ดวงตาเว้าแหว่งต่อการมองเห็น

พูดคุยกับความเงียบของตัวเอง

แด่รัตติกาลที่ปกคลุม

การพลัดพรากและความตาย

หยดน้ำสีแดงเจิ่งนองบนถนน

ใต้รอยเท้านับล้านๆคู่ที่ย่ำผ่าน

ใครสักคนส่งเสียงกู่ร้อง

ประกาศกร้าวเป็นฮีโร่

ผู้มาคืนรอยยิ้มให้ทุกคน

ผู้สร้างความสงบให้กับสถานที่

เงียบสงบ ความสงบ

เราตกอยู่ในความเงียบ

ไร้เสียงอึกทึก

กระเพาะอาหารส่งเสียงร้อง

ตลาดตกอยู่ในห้วงวังเวง

พืชผักเน่ารอการโยนทิ้ง

ห้างสรรพสินค้า

กลายเป็นสถานที่รับความเย็น

บรรยากาศอันสงัด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images