Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา

$
0
0

กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ แถลงเรื่องฟ้องพลเมือง-นักวิชาการ 5 รายข้อหาฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ล่าสุดนักวิชาการที่ร่วมประชุมวิชาการไทยศึกษาชี้แจงว่าป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย

ภาพที่ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ก.ค. 2560 เป็นภาพทหารในเครื่องแบบเข้ามาในบริเวณที่มีการจัดการประชุมไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

ป้าย 'เวทีวิชาการ' 'ไม่ใช่' 'ค่ายทหาร' ในวันที่ 18 ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 หลังจากตลอดการจัดงานมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามารบกวนในการประชุมวิชาการ (ที่มา: คนส.)

22 ส.ค. 2560 - กรณีที่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์เมื่อเวลา 21.35 น. วันที่ 21 ส.ค. เผยแพร่แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ (กกล.รส.จว.ช.ม.) ชี้แจงกรณีแจ้งความพลเมืองและนักวิชาการรวม 5 รายโดยชี้แจงว่าแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิด ไม่ได้เอาผิดต่อผู้จัดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดระหว่าง 15-18 กรกฎาคมที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ นั้น

ต่อมาเมื่อเวลา 22.57 น. วันที่ 21 ส.ค. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมไทยศึกษา ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ โดยชี้แจงว่ามี 3 ข้อที่แถลงการณ์ของกองทัพไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้า และยังระบุด้วยว่าป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย โดยข้อความชี้แจงของปิ่นแก้วมีดังนี้

“มณฑลทหารบกที่ 33 ออกแถลงการณ์และส่งให้สื่อมวลชนตอน 3 ทุ่ม
ใช้ยุทธวิธีแยกมหาลัยออกจากตัวผู้ถูกกล่าวหา 5 คน เพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมวิชาการไทย และนานาชาติ
บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร"
ผลักความผิดไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน
โดดเดี่ยวพวกเขาจากการปกป้องของมหาลัย และประชาคมวิชาการ
และปัดความรับผิดชอบที่ตัวเองที่ส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
ยุทธวิธีประเภทนี้ ต่ำช้ามาก
สิ่งที่แถลงการณ์ไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้าคือ

1.ป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย ไม่เคยมีป้ายนี้มาก่อนตลอดงานประชุม และเป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ราวกับเป็นสมรภูมิการเมือง ตลอดสามวันของการประชุมไทยศึกษา

2.เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามาป่วนงาน ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน เข้ามาก่อกวนตามอำเภอใจ ราวกับเป็นพื้นที่ทหาร ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน

3.ตลอดสามวันของการประชุมวิชาการ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นใดๆทั้งสิ้น

แล้วก็ อ้อ ไม่มีทหารคนไหนสื่อสารกับใครในงานดังที่แถลงการณ์กล่าวแต่อย่างใด
น่าแปลกที่มูลเหตุของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 โดยแท้ แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ยอมรับ กลับปั้นแต่งเรื่องราวขึ้น เพื่อจ้องจะเล่นงานนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา อย่างไม่ลดราวาศอก
และจงใจที่จะให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมืองให้ได้?”

 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้มีดังนี้

“ตามที่ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ของนักวิชาการ เพราะเป็นการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ในหลายๆ ด้านอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป รวมทั้งยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ และไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง กรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด

2. ในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษานั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 นาฬิกา ได้ปรากฏกลุ่มบุคคลเข้ามาภายในงานการจัดงานประชุมและได้มีการแสดงชูป้ายที่บริเวณหน้าห้องประชุม 2 ข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" ซึ่งกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ ได้มีการจัดเตรียมแผ่นป้าย อุปกรณ์ เครื่องมือในการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ หลังจากนั้นได้มีการนำมาติดบริเวณหน้าห้องประชุม หมุนเวียนกันเข้าไปถ่ายภาพกับป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" และนำไปลงเผยแพร่สื่อต่างๆ โดยการดำเนินการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ทางการเมือง ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร้องขอกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ยุติการดำเนินการ ณ จุดนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้ง 5 คน ซึ่งมิใช่เป็นการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ตลอดจนการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว จะเป็นการดำรงรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันการศึกษากับการดำเนินงานทางด้านวิชาการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อมิให้บุคคล/กลุ่มบุคคลมาแอบแฝงแสวงหาโอกาส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย”

แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ระบุ

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย พลเมืองและนักวิชาการ 5 คนที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 พร้อมด้วย ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

โดยคดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุม และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า "ข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า 'แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม' ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำชี้แจง กิตติรัตน์ ณ ระนอง “จำนำข้าว” ทำไมต้องมี-ทำไมถูกต้อง

$
0
0

ก่อนจะถึงวันชี้ชะตาอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการฟ้องข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองจะอ่านคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพูดบนเวทีเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอตัวเลขต่างๆ พร้อมคำอธิบายต่อคำถามใหญ่ที่ว่า “ทำไมต้องมีโครงการรับจำนำข้าว”

1
เมื่อพระเอก “การส่งออก” เริ่มตัน

ต้องเข้าใจก่อนความความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศวัดผ่าน จีดีพี (GDP) ซึ่งคือการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดปีปฏิทิน 1 ปี

ปี 2537 ประเทศไทยมีจีดีพี 3.7 ล้านล้านบาท ยอดส่งออกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของจีดีพี เรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศขาดดุลการค้า แปลว่านำเข้าเยอะ-ส่งออกน้อย แล้วเราก็มีค่าเงินแข็ง 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ผู้ดูแลระบบการเงินประเทศขณะนั้นคิดว่ามีความเหมาะสมแล้วทั้งๆ ที่อัตราการแลกเปลี่ยนนั้นหากแข็งเกินไปจะส่งออกได้ยาก แล้วจะเชิญชวนให้มีการนำเข้าเยอะ พอผ่านมาอีกไม่กี่ปีเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เราจึงลอยตัวค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน จะนำเข้าอะไรมาก็แพงไปหมด แต่พอจะส่งออกก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ดี การลอยตัวค่าเงินบาทจึงช่วยให้การส่งออกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ขาดดุลการค้าก็กลายเป็นเกินดุลการค้า คือ ค้าขายแล้วกำไร เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

พอผ่านมาถึงปี 2543 สัดส่วนการส่งออกขยับจาก 38 เป็น 68% ของจีดีพี ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีการส่งออกเป็นตัวลากเศรษฐกิจของเรา

เวลาท่านหนึ่งถึงเศรษฐกิจ ให้นึกเหมือนรถคันหนึ่ง มีล้อ 4 ล้อ เศรษฐกิจจะหมุนไปข้างหน้าได้ ล้ออันหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งออก อีกล้อหนึ่งคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้ารัฐใช้จ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้เศรษฐกิจก็จะเคลื่อน ล้อที่สามคือ การลงทุนภาคเอกชนไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ล้อสุดท้าย สำคัญมากในเวลานี้ คือ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ นั่นก็คือกำลังซื้อของเราๆ ท่านๆ ถ้าท่านทั้งหลายมีเงินในกระเป๋าพอสมควร มีความมั่นใจมีความสบายใจในการจับจ่ายใช้สอย คนขายสินค้าก็มีรายได้ มันก็จะมีรายได้เป็นลูกโซ่ไป เวลาเห็นว่าช่วงไหนเศรษฐกิจหรือไม่ดีก็ให้ดูที่สี่ล้อนี้ บางเวลาทำงานล้อเดียว ที่เหลือพร้อมจะตามไป บางเวลาทำงานสองล้อแต่ทำงานอ่อนๆ เศรษฐกิจก็อาจมีปัญหาได้


ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายของกิตติรัตน์

สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ ประเทศเราพึ่งพาการส่งออกตั้งแต่ปี 2540 ที่ลอยตัวค่าเงิน จนถึงปีนี้ 2560 ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราชินกับการที่เศรษฐกิจดีโดยการส่งออกเป็นตัวนำ ที่น่าสนใจคือ ในช่วงทำงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การส่งออกมาขึ้นไปเป็น 70% ของจีดีพีแล้ว แล้วเราจะยังคงเติบโตไปด้วยการส่งออกจริงๆ หรือ ถ้าต่างประเทศชะลอการซื้อเราก็จะมีปัญหา ขณะเดียวกันการพึ่งพาการส่งออกแปลว่า คนในโรงงานผลิตสินค้าคุณภาพสูงแล้วส่งออกไปให้คนประเทศอื่นบริโภค แต่ตัวคนงานเองไม่มีปัญหาซื้อ เพราะค่าแรงที่ตัวเองได้มันน้อยกว่าที่จะไปซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิต แล้วก็มีความภูมิอกภูมิใจกันพอสมควรว่า ค่าแรงไทยถูก เราส่งออกได้ดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งที่มันเป็นปัญหา

หากมองจากตารางจะเห็นได้ว่า จีดีพีของประเทศจาก 3.7 ล้านล้านบาท ในปี 2537 กลายเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2559  และการส่งออกก็เพิ่มจาก 1.4 ล้านล้าน เป็น 9.9 ล้านล้าน

ดังนั้น เวลาพูดถึงตัวเลข บางทีวาทกรรมทางการเมืองที่ตำหนิติติงต่อว่ากัน “เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน” ขอให้นึกถึงว่า ดังนั้นการเคลื่อนโดยโครงการระดับร้อยล้าน มันไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

เมื่อเราอยู่ในภาวะแบบนี้ คำถามที่ต้องถามตัวเองคือ เราจะพึ่งพาการส่งออกไปถึงไหน แล้วการส่งออกมันต้องพึ่งคนซื้อด้วย ขณะเดียวกันเราจะไม่พึ่งตัวเองเลยหรือ จะไม่ทำให้คนของเรามีกำลังซื้อ มีรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่มีฝีมือน้อยจนคนจบปริญญาจะมีรายได้ที่มากขึ้นหน่อยไม่ได้หรือ

2
เหลื่อมล้ำหนัก ต้องทำให้คนจนมีรายได้
กระตุ้นบริโภคในประเทศ

นี่เป็นตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่น่าสนใจขณะเดียวกันผมก็มีเครื่องหมายคำถาม ระบุว่า ปี 2552 คนรวยที่สุด 10% มีรายได้ 26,673 บาทต่อเดือน ผมก็ถามว่ามันจริงไหม มันก็อาจจะจริง แต่ถ้าท่านดูคนที่รวยที่สุด 1% แรกตัวเลขมันจะคนละเรื่อง ทะลุไปเป็น 6-7 หลักเลย ส่วนคนที่จนที่สุด 10% มีรายได้เพียง 1,123 ต่อเดือน จริงๆ มันมี “เส้นความยากจน” ด้วย ใครอยู่ต่ำกว่าเส้นนี้ถือเป็นคนจน เรามีคนต่ำกว่าเส้นความยากจนประมาณ 7 ล้านคน แต่ลองขุดไปดูลึก มันมีตัวเลข  “คนเกือบจน” จำนวนมหาศาลเลย เกาะบนเส้นนั้นแต่พอดีไม่ลงมาต่ำกว่า ผมเลยตั้งคำถามว่าการที่ขีดเส้นอยู่ตรงนี้เพราะไม่ต้องการให้คนอีกจำนวนมากถูกนิยามว่า “ยากจน” หรือเปล่าทั้งที่จริงๆ แล้วก็รวยกว่านิดเดียว

ที่อยากให้ดูคือ ปี 2552 เอา 10% รวยที่สุดตั้ง หารด้วย 10% จนที่สุด จะพบว่าต่างกัน 23 เท่า จากนั้นในปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่ามันแย่ลงเป็น 25 เท่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็บริหารไปเรื่อยๆ รวยกระจุกจนกระจายก็ไม่เป็นไร ขอให้จีดีพีโตอย่างเดียว แต่ถ้าเราสนใจว่าการที่คนจำนวนมากมีรายได้น้อย หน้าที่รัฐบาลที่ดีต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่สนใจคือ ตัวเลข 25 เท่านั้นปรากฏหลังจากที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นข้อสงสัยเหมือนกันว่าแม่นยำขนาดไหน เพราะมั่นใจเหลือเกินว่าตอนทำหน้าที่เป็นรัฐบาลนั้นกำลังซื้อของคนข้างดีขึ้น แต่ปรากฏว่าข้อมูลตัวเลขสำนักงานสถิติบอกว่าคนจน 10% มีรายได้เฉลี่ยแย่ลง แต่คนรวย 10% มีรายได้เฉลี่ยดีขึ้นเยอะ คำนวณออกมาเป็น 39 เท่าในปี 2556  ไม่ได้จะไปว่าสำนักงานสถิติแต่ก็มีสิทธิจะสงสัย พอปี 2558 ในรัฐบาลปัจจบัน ปรากฏว่าคนจนที่สุด 10% มีรายได้มากขึ้นก้าวกระโดด แต่คนรวยสุดไม่ได้มีรายได้เพิ่มมาก เหลือช่องว่าง 22 เท่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ อย่าให้เศรษฐกิจโตในภาพรวมอย่างเดียว โดยที่คนข้างล่างไม่ได้โตด้วย มีรายได้น้อย ไม่มีกำลังซื้อ แล้วถ้าไม่มีรายได้จะเป็นผู้บริโภคต่อเนื่องยังไง มันคือหลักการบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้น สมมติเจ้าสัวคนหนึ่งจู่ๆ มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มอีก 1 ล้านบาท โอกาสที่เจ้าสัวจะบริโภคอะไรเพิ่มขึ้นนั้นแทบไม่มีเพราะเขาบริโภคไปเต็มที่แล้ว แต่ถ้าคนจำนวนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเดือนละ 1 พันบาท โอกาสที่คนเหล่านั้นจะเอาเงินไปบริโภคจะมีมาก การออมจะเกิดขึ้นน้อย แต่อย่าไปคิดว่าเขาจะฟุ้งเฟ้อ เพราะออมไปออมมาบวกกันจะเท่ากับการที่เจ้าสัวไม่บริโภคแล้วเอาเงิน 1 ล้านบาทนั้นใส่ธนาคารไว้ การออมจะเกิดขึ้นทีละขั้น ก่อนจะเป็นการออมรวมจะกลายเป็นการบริโภคอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ มันจะทำให้เศรษฐกิจตัวได้เพราะล้อหนึ่งในสี่ล้อมันหมุน

พอคนส่งออกได้ดี ผู้ส่งออกจะได้เงินตราต่างประเทศ เขาจะเอามาแลกเงินไทยเข้าบัญชีตัวเอง เงินตราต่างประเทศที่พวกเขาได้ ไม่ว่าดอลลาร์ ปอนด์ หรือเยน จะไปอยู่กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) แล้วกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า เงินสำรองระหว่างประเทศ จากภาวะที่เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย จนเราต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟในปี 2540 มันก็เริ่มสะสมมากขึ้นๆ จนกลายเป็น 170 พันล้านเศษ เงินที่ฝากไว้กับแบงก์ชาติวางไว้แล้วเป็นที่น่าเกรงขาม อาจจะน่าเกรงขามกว่าเรือดำน้ำอีก เพราะคนก็จะรู้สึกว่าน่าค้าขายด้วยเพราะเมื่อไรก็ตามที่ประเทศไทยมาซื้อสินค้าเขา จะมีเงินตราต่างประเทศของตัวที่นำมาจ่ายสินค้าได้ ที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจส่งออกที่มีรายได้ เขาไม่ได้เก็บเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่เก็บเป็นเงินบาทในธนาคาร ปรากฏเงินบาทมันล้น เพราะมีมากและเราไม่ได้เอามาทำประโยชน์ ธปท.เกรงว่าเงินฝากที่ล้นในระบบธนาคารจะเป็นปัญหาเพราะธนาคารอาจจะไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยเราเลย ถ้าใครฝากเงินอาจต้องเสียค่าฝากด้วย แบงก์ชาติจึงดูดเงินออกโดยออกเป็นพันธบัตร  จ่ายอัตราดอกเบี้ยพอสมควรให้กับแบงก์เพื่อแบงก์จะได้มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรที่ ธปท.ออกนั้นมีจำนวนสูง 3 ล้านล้านบาทในช่วงที่ทำงานเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่ เงินจำนวนนี้ดูดออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นการดูดออกมาเพื่อไม่ให้อยู่ในระบบ แบงก์ชาติดูดเอามากอดไว้แล้วจ่ายดอกเบี้ย ทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำยังไงไม่ให้แบงก์ชาติต้องดูดเงินมากอดแล้วไม่เป็นภาระกับแบงก์ชาติ ต้องเอาเงินจำนวนนี้ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ จะนำไปทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนในระบบคมนาคมขนส่งอะไรก็สามารถทำได้ แต่เวลา 10 กว่าปีที่เราเป็นโรคกลัวต้มยำกุ้งทำให้ไม่กล้าทำอะไร ทำให้เกิดภาวะแบบนี้

อาจอุปมาอุปมัยได้ว่า ก่อนต้มยำกุ้งเราเหมือนเป็นคนผอม เป็นโรคขาดอาหาร เงินสำรองระหว่างประเทศน้อย สภาพคล่องในระบบการเงินที่เป็นเงินบาทจำกัดฝืดเคือง แต่พอผ่านการลอยตัวค่าเงินบาท บริหารจัดการกันไปแล้ว ส่งออกเติบโตดี ได้เปรียบดุลการค้า เรากลายเป็นคนอ้วนอุ้ยอ้ายที่มีภาระที่จะต้องแบกสารอาหารมากมายแล้วไม่ออกกำลังกาย ปัญหาสุขภาพก็เกิดขึ้นได้ ปัญหามันไม่เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาจึงไม่เหมือนกัน

3
การใช้จ่ายภาครัฐ ยุค คสช.(ต่างหาก) ขาดดุล-กู้ครองแชมป์

หลังจากพูดไปแล้วสองล้อ คือ การส่งออก และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ล้ออีกล้อหนึ่งที่สำคัญคือ การใช้จ่ายภาครัฐ รัฐบาลมีงบประมาณรวมปีละ 2 ล้านล้านเศษ ปีนี้จะแตะ 3 ล้านล้านแล้ว แต่ที่เอามาให้ดูคือ ขาดดุลงบประมาณมาก แปลว่าภายใต้งบประมาณ 2 ล้านล้านที่จะใช้ เราเก็บภาษีและมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจมาบวกกันแล้วได้น้อยกว่า เราจึงต้องกู้มาชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมีกรอบของมัน แต่ถ้าขาดดุลมากๆ ก็จะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เยอะเกินไป

ก่อนหน้าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมารับหน้าที่ เราขาดดุลอยู่ประมาณปีละ 3.5 แสนล้าน แล้วขึ้นไปเป็น 4 แสนล้านในช่วงท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปีแรกที่มารับหน้าที่งบประมาณประจำปีอยู่ที่ 2.38 ล้านล้าน โดยที่เราเก็บภาษีได้น้อยกว่านั้น เราก็กู้ 4 แสนล้านเท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ก็เห็นด้วยว่าการกู้นั้นเยอะเกินไป ปีถัดมาจึงลดเหลือ 3 แสนล้าน ปีสุดท้ายปีงบประมาณ 2557 การกู้ลดลงเหลือ 2.5 แสนล้าน โดยมีเป้าหมายในเวลานั้นว่าเราจะมีงบประมาณสมดุลในปี 2560 คือ ไม่ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล นี่เป็นความตกลงระหว่างสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ว่าจะทำให้สมดุลได้ในปี 2560

ปี 2557 รัฐบาลปัจจุบัน การขาดดุลอยู่ที่ 2.5 แสนล้าน ต่อมาปี 2559 ขาดุลงบประมาณขยับเป็น 3.9 แสนล้าน ปี 2560  ก็ตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 3.9 แสนล้าน แต่มีการเสนองบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีอีก 1.9 แสนล้าน โดยระบุว่าจะหารายได้มา 3 หมื่นล้าน จึงเหลือขาดดุล 1.6 แสนล้าน รวมแล้วปีงบประมาณ 2560 จะเป็นการขาดดุลงบประมาณรวมเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 5.5 แสนล้าน

สิ่งที่ให้ดูนี้เมื่อเทียบกับ จีดีพี 14 ล้านล้าน ถามว่า 1% ของ 14 ล้านล้านคือเท่าไร คำตอบคือ 1.4 แสนล้าน ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะโตได้สัก 3-4% ไม่ต้องมาจากไหนหรอก มาจากตรงนี้ก็ได้ คือ การที่เราจ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้ มันก็สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่ามันเป็นอะไรที่เราสบายใจไหม รัฐบาลก่อนไม่อยากให้เราโตด้วยการส่งออก อยากให้โตด้วยกำลังซื้อภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่ตอนนี้เป็นภาวะแบบนี้

4
หนี้สาธารณะไม่หลุดกรอบ

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพดานของกระทรวงการคลังแต่เดิมมานั้นกำหนดไว้ที่ต้องไม่เกิน 60% ของงบประมาณ ภาระหนี้ต่องบประมาณหรือการจ่ายดอกเบี้ยเงินต้น เมื่อเทียบกับงบทั้งปีไม่ควรเกิน 15% ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนตอนนี้ก็อยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เลวร้าย 

ที่น่าสนใจคือ หนี้สาธารณะตอนต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมาไม่มีใครชำละเงินต้น เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบคือสถาบันการเงิน แต่ท่านไม่ได้รับดอกเบี้ย ให้หลวงเป็นคนรับดอกเบี้ย ฉะนั้นรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยปีละ 7 หมื่นล้านมาตลอด 10 กว่าปีรวมดอกเบี้ยเป็น 8 แสนล้านแล้ว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาก็มีระบบการชำระเงินต้น หนี้ตรงนั้นยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ แต่เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแล้ว เพราะมีระบบมีกลไกในการชำระเงิน เมื่อดำเนินการตรงนั้น หนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่องบประมาณจึงลดลงไปอีก เพราะเงินต้น 1.14 ล้านล้านโดยประมาณไม่เป็นภาระของงบประมาณแล้ว แล้วกลไกระบบชำระมันดี แม้จะหมดหน้าที่การเป็นรัฐบาลแล้วก็ยังปลื้มอกปลื้มใจ เพราะถูกชำระเงินต้นทุกเดือนๆ เดี๋ยวนี้เงินต้นลดลงไปแล้วกว่า 2 แสนล้าน

เวลาพูดถึงหนี้ 4 ล้านล้าน 6 ล้านล้าน เขาจ่ายเงินต้นกันปีละเท่าไร จ่ายแค่ปีละ 4-5 หมื่นล้านเอง จ่ายพอเป็นน้ำจิ้ม จ่ายพอให้เกิดความสบายใจ ส่วนที่จ่ายมากกว่าคือ ดอกเบี้ย ไม่จ่ายไม่ได้เพราะเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร การจ่ายแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นหนี้ชั่วชีวิตอะไร เพราะหนี้รวมเมื่อเทียบกับจีดีพีมันต่ำ เราไม่มีหน้าที่ต้องไปคืนจนกระทั่งไม่มีหนี้เหลือเลย แต่เรามีหน้าที่คุมมันให้มันต่ำจนเป็นที่มั่นใจ เป็นที่ไว้วางใจของคน เวลามีวาทกรรมทางการเมืองว่า กู้โครงการนี้แล้วต้องใช้นี้กัน 50 ปี ท่านลองคำนวณ ถ้ายอดหนี้ 5 ล้านล้าน จ่ายเงินต้นปีละ 5 หมื่นล้าน ก็แปลว่าจ่ายปีละ 1% แบบนี้จะจ่ายหมดก็ต้องจ่ายร้อยปี แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ควบคุมไม่ให้ยอดหนี้มันเพิ่มขึ้นและมีความมั่นใจอย่างเพียงพอ เพราะมันมีวาทกรรมทางการเมืองที่ทำให้ไม่สบายใจ กู้มา 2 ล้านล้านปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งต้องใช้หนี้กัน 50 ปี จริงๆ ไม่ต้องใช้หมด และโครงการต่างๆ ในอดีตของคนที่ปั้นวาทกรรมเขาก็ไม่ได้ใช้ เงินต้นก็ค้างอยู่อย่างนั้น แต่ควบคุมยอดรวมทั้งหมดให้อยู่ในกรอบก็พอ

5
ยืนยันประเทศไทยพร้อม คำนวณค่าแรงให้ชาวนาด้วย

แล้วมันเกี่ยวกับจำนำข้าวยังไง เกี่ยวตรงนี้ว่า เราเป็นประเทศซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศดูแลคนในภาคส่วนต่างๆ ได้ การที่เราเลือกใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งกลุ่มคนเมืองและเกษตรกร เราสามารถทำได้ ความจริงก็สามารถพูดได้ว่า ความพร้อมนั้นเราซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ ซื้อหลายๆ ลำก็ซื้อได้ แต่มันอยู่ที่ว่ามีเหตุผลแค่ไหนที่จะซื้อในมุมมองของฝ่ายบริหาร ถ้าท่านเห็นว่าควรซื้อท่านก็รับผิดชอบการตัดสินใจไป รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีความรู้สึกว่าเราไม่ควรซื้อ เราซื้อเรือตรวจการแทนลำที่เก่า แต่ขณะเดียวกันเราเห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นเรื่องสำคัญ

การดูแลชาวนาสำคัญอย่างไร ชาวนาและครอบครัวมีจำนวนรวมกันมากกว่า 15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนคนทั้งประเทศ ถ้าเราดูแลเขาให้มีรายได้ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ต้นทุนการผลิต สมควรแก่ค่าแรงงานของเขาก็เป็นเรื่องที่ดี การดูแลด้วยระบบจำนำทำมา 30 กว่าปีแล้ว จะจำกัดจำนวน ตั้งเป้าราคาหรืออะไรก็เป็นระบบจำนำทั้งนั้น มีรัฐบาลก่อนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ใช้โครงการรับจำนำข้าวไป 1 ปีแล้วเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคามีลักษณะตั้งเป้าหมายราคาไว้ บอกว่าถ้าคุณไปขายได้ต่ำกว่าราคานี้จะชดเชยให้ กลไกที่น่าสนใจก็คือ ถ้าชาวนาขึ้นทะเบียนเกษตรกรสำเร็จก็สามารถรับเงินชดเชยได้ จะปลูกจริงหรือไม่ จะมีข้าวหรือไม่มีข้าวก็รับเงินชดเชยได้ ที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานของสำนักนายกฯ พบว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมมีพื้นที่ที่เป็นนาน้อยกว่ายอดที่มาขึ้นทะเบียนรวมเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถมีกลไกไหนไปส่องยันว่ามันเกิดจากอะไรเพราะในโครงการไม่มีการตรวจสอบไม่มีการนำข้าวมาแสดง ถามว่าทำไม่มีการจับทุจริต จะไปจับได้ยังไงเพราะไม่มีอะไรยันกับอะไรเลย มียันได้อย่างเดียวคือภาพถ่ายดาวเทียมมันแตกต่างกับพื้นที่ปลูกจริงอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าตรงนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ โครงการรับจำนำต้องเอาข้าวมาแสดง ผ่านการตรวจแล้วจึงจะได้ราคานั้นไป แล้วไม่ใช่รัฐบาลแรกที่จะกำหนดราคาสูงกว่าตลาด คำว่าราคาสูงเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตของชาวนา แล้วชาวนาไม่ต้องมีค่าแรงหรือ ถ้าคิดเป็นค่าแรงโดยเฉลี่ยต่อวันเขายังได้รับค่าแรงน้อยกว่าในสังคมด้วยซ้ำไป

ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น ส่วนรัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีจำนำยุ้งฉาง ยุ้งฉางอยู่ไหนก็ไม่ทราบ ชาวนาจำนวนมากไม่มียุ้งฉางแล้ว การจำนำตรงนี้ย่อมทำไม่ได้ แล้วก็ใช้วิธีชดเชยช่วยต้นทุนการผลิต สิ่งที่ต้องการให้ชาวนาได้รับคือรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เอาเงินให้แล้วรายได้ไม่ดีขึ้น เพราะให้ไปแล้วปรากฏว่าราคาข้าวเปลือกอ่อนตัวลง แต่โครงการรับจำนำข้าวราคามันไม่อ่อนตัวเพราะราคาที่รับจำนำมันเป็นตัวค้ำยัน แล้วเราก็ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิชาวนาเลย แต่ข้าวก็ไม่เข้ามาที่เราทั้งหมด มาที่เราแค่เกินครึ่งนิดหน่อย ที่เหลือพ่อค้าต้องแย่งซื้อแข่งกับราคาจำนำ ทำให้ชาวนาแม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ราคาดีขึ้นด้วย ตรงนี้รัฐบาลสบายเพราะไม่ต้องเสียทรัพยากรเพิ่ม มันจึงทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น

สภาพัฒน์เคยทำหนังสือยืนยันมายังคณะรัฐมนตรีว่า โครงการนี้สามารถทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น เป็นจำนวนเท่าไรๆ บอกด้วย ขณะที่โครงการอื่นๆ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีรายได้ดีขึ้น เพราะรายได้จากราคาขายข้าวไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นมันอาจจะอ่อนลงก็ได้

มันเป็นโครงการที่ผ่านการหาเสียง ผ่านความเห็นพรรครร่วมรัฐบาล ผ่านรัฐสภา มีการดำเนินการโดยที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันการพิจารณา มันเป็นทางเลือกอันหนึ่งและเป็นทางเลือกซึ่งไดด้ผล

ส่วนวิธีการดำเนินการ ส่วนที่บอกว่ามีความเสียหาย คือ รับจำนำราคานี้ แล้วสีข้าวแล้วไปขายได้ราคาต่ำกว่า ตรงนี้ท่านเรียก “ขาดทุน” ในทางบัญชีอาจเรียกว่าขาดทุน แต่ในทางนโยบายสาธารณะของรัฐเราเรียกว่า “รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย” ไม่ใช่เลี่ยงบาลีแต่มันศัพท์นี้อยู่ในมาตรฐานการบัญชีภาครัฐชัดเจน รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเป็นการคำนวณที่แสดงให้เห็นว่าต้องใช้งบชดเชยเท่าไร แล้วสิ่งที่ชาวนาได้รับรายได้ดีขึ้น มันกลายเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ สามารถคำนวณได้และเมื่อดูแล้วมันสูงกว่างบประมาณที่ต้องใช้ชดเชย

6.
ตอบคำถาม: จำนำข้าวเป็นนโยบายระยะยาวได้หรือไม่ ?

“ถามว่าเรื่องความพร้อมในการแบกรับการขาดทุนที่ผมยืนยันนั้นจะพร้อมได้นานแค่ไหน ปีที่ผมทำงานงบประมาณ 2.38 ล้านล้าน และขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เติบโตตามจีดีพีที่เติบโตขึ้น การดูแลคนของเราในจัดสรรงบประมาณไมว่าจะเป็นความมั่นคง การศึกษา การสาธารณสุข และสิ่งอื่นๆ ประดามี รัฐวิสาหกิจที่ต้องการอุดหนุน มันเป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณ”

 “เวลาทำงานกับกลุ่มคนใหญ่ที่สุดของประเทศ ผมคิดว่าคงตอบยากมากถ้าบอกว่าดูแลชาวนา 23% ใช้งบ 30% คนก็คงว่าว่าทำไมดูแลเขาเยอะขนาดนั้น อยากให้น้อยกว่านั้น แค่ไหน 10% ดีไหม 2.38 แสนล้าน มันก็สมเหตุสมผลดีนะ เรายังไม่ได้ใช้ถึงขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันถ้าบอกว่าตรงนี้ต้องน้อยกว่า แล้วใครต้องเยอะกว่า ประเทศมีความจำเป็นในเวลานั้น ความเหลื่อมล้ำรุนแรง ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเกือบจน อยู่ไม่ไหว เราเห็นว่าเป็นปัญหาจริงจัง”

“ท่านถามว่าทำได้ยาวแค่ไหน ทำยาวเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่อยากทำ เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่าท่านจะมีความสุขว่า ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำตอบ เรื่องการทำเกษตรโซนนิ่ง การขยับพื้นที่เพาะปลูกที่ดีลต่ำไปปลูกพืชชนิดอื่นตามความเหมาะสม โดยไม่ได้ประกาศว่าห้ามปลูกอันนี้แล้วไปปลูกอันนั้น การทำงานแบบนี้ต้องใช้เวลา และมีกระบวนการที่ต้องทำงานด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มมูลค่าของข้าวชนิดต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ”

7.
ตอบคำถาม: หลัง 25 ส.ค.นโยบายจำนำข้าว
จะยังเกิดขึ้นได้อีกในการเมืองไทยไหม

ผมไม่อาจคาดเดาคำพิพากษาใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่เรียนในเชิงหลักการว่าคำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ ในอดีต มีกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผมถือว่าก็เป็นบรรทัดฐานบางประการ ตอนนั้นเราเคยเสนอร่างพ.ร.บ.ที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปีงบประมาณ เพื่อลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง ทางหลวง ระบบราง ทางน้ำ ด่านศุลกากร เมื่อมีคำวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้ทำไม่ได้ มันก็เป็นบรรทัดฐานว่าทำไม่ได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงในอดีตมีการออกกฎหมายกู้แบบนี้ คือ กู้แล้วดำเนินโดยตรง โดยไม่ต้องเป็นเงินคงคลังและไม่ผ่านงบประมาณนั้นก็ทำกันได้ แม้ว่าขณะพิจารณาคดี ข้อเสนอของสำนักการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะเห็นชอบโดยสภาแล้ว แต่เมื่อศาลวินิจฉัยแบบนั้นก็ทำไม่ได้ อนาคตการกู้เงินก็เปลี่ยนไป

 

 ============
หมายเหตุเก็บความจาก เสวนา "ไม่จำนำข้าวแล้วเอาอะไร? แนวทางแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 จัดโดยรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮ่องกงชุมนุมหลายหมื่นประท้วงการตัดสินจำคุกโจชัว หว่องและเพื่อน

$
0
0

เมื่อวันอาทิตย์นี้ชาวฮ่องกงชุมนุมหลายหมื่นคน แสดงความไม่พอใจที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ 3 นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์จำคุก 6-8 เดือน กรณีประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อสามปีที่แล้ว นักวิจารณ์การเมืองในฮ่องกงมองว่าชาวฮ่องกงน่าจะรู้สึกถูกกดขี่อย่างหนักจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม ด้านนักกฎหมายจากสภาทนายความฮ่องกงแสดงความเป็นห่วงว่าประชาชนจะไม่เชื่อใจระบบยุติธรรม

ภาพจากหนังสือพิมพ์ Apple Daily ตีพิมพ์วันจันทร์ที่ 21 ส.ค. 2017 (ที่มาของภาพ: Apple Daily)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 2560) ประชนชนหลายหมื่นคนออกมาประท้วงบนท้องถนนเพื่อประณามการลงโทษคุมขังคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องประชาธิปไตย 3 คน ได้แก่ โจชัว หว่อง, นาธาน ลอว์ และอเล็ก โจว พวกเขาถูกคุมขังจากความเกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ชื่อ "ปฏิวัติร่ม" ในปี 2557

ผู้จัดการประท้วงกล่าวว่าการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการประท้วงในปี 2557 ขณะที่ตำรวจฮ่องกงประเมินว่ามีผู้ชุมนุมราว 22,000 คนซึ่งยังถือว่ามากกว่าจำนวนผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยประจำทุกปีเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งในแต่ละปีก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุว่ามีกระแสการประณามเกิดขึ้นหลังจากที่อัยการรัฐบาลฮ่องกงฟ้องร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้มีการตัดสินลงโทษกลุ่มผู้นำคนหนุ่มสาวทั้ง 3 คน โดยที่โจชัว หว่อง ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน, อเล็ก โจว ถูกตัดสินจำคุก 7 เดือน และนาธาน ลอว์ ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งจำคุกนักกิจกรรมรายอื่นๆ 13 คน ในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย

เลสเตอร์ ชัม ผู้นำนักศึกษาและผู้จัดการชุมนุมต่อต้านคำตัดสินในครั้งนี้กล่าวว่า พวกเขารู้สึกมีกำลังใจมากที่เห็นผู้คนออกมาแสดงการสนับสนุนนักกิจกรรมคนที่ถูกตัดสินลงโทษ "มันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวฮ่องกงจะหวั่นเกรงเพราะกลัวถูกลงโทษทางการเมือง"

ชุงคิมวานักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่าที่ผู้คนออกมาประท้วงจำนวนมากในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าชาวฮ่องกงรู้สึกถูกกดขี่อย่างหนักภายใต้การปราบปรามนักกิจกรรมโดยรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปลดสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นคนหนุ่มสาวโดยอ้างขาดคุณสมบัติเพราะพวกเขาไม่ไม่สาบานตนจะภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตามมีนักกฎหมายจากสภาทนายความอ้างว่าการตัดสินในครั้งนี้ไม่ควรมองว่าเป็นการตัดสินที่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง รองประธานศาลอุทธรณ์กล่าวว่าเขากังวลที่กลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมเริ่มแสดงการอารยะขัดขืนมากขึ้น แต่นักกฎหมายจากสภาทนายความก็ยอมรับว่าในประเด็นการปลดสมาชิกสภานิติบัญญัติคนหนุ่มสาวผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบกฎหมายไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

Protesters turn out in force against jailing of Hong Kong activists, South China Morning Post, 23-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานฟาร์อีสท์ปั่นทอเรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล

$
0
0
สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบริษัทฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม เรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล หลังศาลออกคำบังให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วัน แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า “บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6” ตั้งอยู่ ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้เร่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานทั้ง 95 ราย รายละตั้งแต่ 27,000-99,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา
       
หลังจากทางบริษัทได้เลิกจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการไปอยู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาทำให้แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปทำงานได้ ทั้งบีบบังคับทางอ้อมให้แรงงานเซ็นเอกสารสมัครใจลาออกจากงานเองเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีแรงงานกว่า 140 รายที่จำใจยอมเซ็นลาออกและรับเงินช่วยเหลือตามที่ทางบริษัทเสนอให้เพียงคนละ 10,000 บาท แต่มีแรงงานอีก 95 คนที่มองว่าการเลิกจ้างไม่มีความเป็นธรรม จึงร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2559
       
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยหรือนายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานทั้ง 95 ราย แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางบริษัทยังเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามคำพิพากษาศาลแต่อย่างใด และในวันนี้ตัวแทนแรงงานยังได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีขอรับเงินการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ พร้อมนำคำพิพากษาศาล และเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้ายื่นต่อเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากประกันสังคมยังไม่สามารถจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แรงงานได้ จนกว่าทางนายจ้างจะเซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นเลิกจ้าง จึงจะสามารถจ่ายเงินได้ 
 
นางมล นาคนวน หนึ่งในตัวแทนแรงงาน บอกว่าหลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็สร้างความเดือดร้อนให้แรงงานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทตามกฎหมายแล้ว หลายคนต้องตกงานเพราะอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้างจะไปสมัครทำงานที่อื่นไม่มีใครรับ ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิรู้สึกดีใจและมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ทางนายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาล
       
นายบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลังจากแรงงานถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและมีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ได้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ หรือลูกจ้างตามสิทธิกรณีถูกเลิกจ้างทั้ง 95 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 6,808,000 บาท โดยศาลได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 ให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบบังคับ แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งที่หลังปิดกิจการนายจ้างได้มีการทยอยขายเครื่องจักรในหลายๆ จังหวัดแต่กลับไปจดทะเบียนเปิดกิจการใหม่ ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
       
ด้านนายประถม วิสุทธิพรปิติกุล นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทได้ประกาศย้ายสถานประกอบการ ทำให้แรงงานกว่า 200 คนได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างได้ ทางประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ส่วนกรณีเงินว่างงานที่ยังไม่สามารถจ่ายได้นั้นเพราะยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร เนื่องจากนายจ้างยังไม่เซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งทางประกันสังคมจะได้ทำหนังสือแจ้งนายจ้างตามขั้นตอนเป็นเวลา 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 45 วัน แต่หากนายจ้างยังไม่มาทางสำนักงานประกันสังคมก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามขั้นตอนต่อไป 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดาวดิน' เยี่ยมภรรยาเด่น คำแหล้ หลังฏีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน

$
0
0

22 ส.ค. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้สั่งจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่หายตัวไป ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

วานนี้ (21 ส.ค.60) ศรายุทธ ฤทธิพิณ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักกิจกรรมเข้ามาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจสุภาพ  ภายหลังการเข้าเยี่ยมตัวแทนนักศึกษาดาวดินและนักกิจกรรมอิสระรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เป็นคำพูดสุภาพที่เล่าทั้งน้ำตา ผ่านทางสายโทรศัพท์ในห้องเยี่ยม ที่มีลูกกรงและผนังกระจกกั้น โดยได้เข้ายี่ยมในช่วงบ่ายสอง แต่การได้พูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข ดูจากสภาพสีหน้าที่มองเห็นสุภาพ ยังคงมีรอยยิ้ม และบอกว่าสุขภาพก็เริ่มดีขึ้น กระทั่งก่อนหมดเวลาตามข้อกำจัดของเรือนจำที่ให้เวลาเพียง 15 นาที แม่สุภาพฝากคำทิ้งท้ายว่า "ฝากขอบคุณทุกๆคนด้วยนะ"

“ได้ยินชื่อแม่สุภาพครั้งแรกจากข่าวที่พ่อเด่น  ถูกบังคับให้สูญหาย อย่างไม่เป็นธรรม และได้มีโอกาสไปเยือนที่บ้านและเจอกันครั้งแรกจากกิจกรรม walk for right คาราวานเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน เป็นการเดินเยี่ยมยามถามข่าวคราว พี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่ไม่ธรรมในภาคอีสาน ซึ่งแม่สุภาพ เป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนที่ดินทำกิน และนโยบายทวงคืนผืนป่า ในคืนนั้น (8 มิ.ย.59) ทีม walk for right  ได้พักค้างคืนในชุมชนโคกยาว โดย แม่สุภาพเป็นคนทำอาหารต้อนรับทีมพวกเราเป็นอย่างดี ดูแลใส่ใจเสมือนเป็นลูกๆหลานๆ และช่วงสายของวันที่ 9 มิ.ย.59 ได้มีการเดินรณรงค์ร่วมกับชาวบ้านชุมชนโคกยาว ในกิจกรรม walk for right และเมื่อมาถึงวันนี้หลักการที่สำคัญเรายังเชื่อว่า เมื่อความยุติธรรมยังไม่ปรากฏชัด พวกเรายังจะต่อสู้ต่อไป” นักกิจกรรมอิสระ รายเดิม กล่าว

ศรายุทธ รายงานด้วยว่า หลังจากศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ สุภาพ ไม่ได้กลับเข้าไปยังบ้านอีก รวมทั้งไม่ได้เตรียมยามาทานเพื่อรักษาอาการโรคภัยที่รุมเร้า และเพิ่งผ่าตัดเนื้องอกในปากมดลูก ที่ต้องทานยาอยู่ตลอดทุกวันเวลา แม่สุภาพถูกส่งตัวไปยังเรือนจำภูเขียวในขณะที่ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อยู่ในระหว่างผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานชิ้นส่วนกะโหลก (หลังจากพบวัตถุพยานล่าสุดเมื่อ 25 มี.ค.2560) โดยทราบเบื้องต้นว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของนายเด่น คำแหล้ เนื่องจากผลการตรวจสอบมีสายพันธุกรรมตรงกับน้องสาว ที่มีการนำไปตรวจเปรียบเทียบ

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลเพิ่มเตมด้วยว่า หากท่านใดต้องการสนับสนุนและช่วยเหลือสุภาพ สามารถโอนเงินเข้าได้โดยตรงที่ ธ.กรุงไทย สาขาชุมแพ ชื่อบัญชีนางสุภาพ คำแหล้ เลขบัญชี 4070427015 และสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันราชการ โดยติดต่อมายัง อรนุช ผลภิญโญ (0981056932) หรือตนเอง(ศรายุทธ ฤทธิพิณ 0869785629) เพื่อนัดหมายการเข้าเยี่ยมในวันเวลาเดียวกัน เพราะทางเรือนจำวางกฎให้ผู้ถูกคุมขังพบญาติได้วันละครั้งๆละ 15 นาที

สุภาพเป็นภรรยาของเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิและเป็นแกนนำนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน โดย เด่น ได้หายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 ภายหลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ลี้ภัยหายในต่างแดนทำอย่างไร : คุยกับนักสิทธิฯ ปม ‘โกตี๋-ดีเจซุนโฮ’ หายตัว

$
0
0

คุยกับ สุนัย ผาสุก นักสิทธิมนุษยชน ตอบโจทย์คนไทยหายในต่างประเทศต้องทำอย่างไร เผยผิดหวังท่าทีรัฐไทย-ลาว ปัดสวะพ้นตัวไม่หาความจริง หวั่นคุ้มครองพลเมืองมีสองมาตรฐาน ชี้สุญญากาศด้านการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศในไทย เหตุลงนามปกป้องอุ้มหายแล้วแต่กฎหมายภายในถูกตีตกไม่มีกำหนดส่งพิจารณาใหม่

วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’

เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่มีข่าวการหายตัวไปของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่คาดว่าลี้ภัยอยู่ใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)ท่ามกลางกระแสข่าวถึงพฤติการณ์การโดนจับกุม การอุ้มหายไป ถึงขนาดที่ว่า โกตี๋ เสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจากภาครัฐทั้งจากไทยและลาวนอกจากการบอกปัดไม่รู้ไม่เห็นจากทาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากข่าวการหายตัวไปของโกตี๋ครบรอบหนึ่งเดือนกว่าแล้ว ช่วงนี้ยังถือเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีกว่าการหายตัวไปของอิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา จนขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมระหว่างลี้ภัยอยู่ใน สปป. ลาวเช่นกัน ซึงทาง คสช. และทหาร ตำรวจก็ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ

ประชาไทคุยกับ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์  (HRW) ประจำประเทศไทยถึงสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนไทย ‘หาย’ ไปในต่างประเทศ ซึ่งสุนัยได้สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ถึงความผิดหวังกับไทยและลาวที่ดูขาดความจริงจังในการค้นหาข้อเท็จจริงและการคุ้มครองคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยประเทศอื่นอย่างเสมอกันในฐานะพลเมือง ซ้ำยังออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับการหายตัวไปจนกลายเป็นสภาวะสุญญากาศทางการบังคับใช้กฎหมายอาญาในประเทศทั้งลาวและไทย รวมถึงความลักลั่นของไทยต่อการเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศเรื่องการป้องกันการบังคับสูญหายที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติเมื่อกฎหมายในประเทศยังไม่มีออกมารองรับ

ประชาไท: ถ้ามีคนไทยหายตัวไปในต่างประเทศ ตามปรกติแล้วทำอะไรได้บ้างเพื่อตามหาตัวคืนมา

สุนัย ผาสุก

สุนัย: รัฐบาลควรแสดงความกระตือรือร้นในการสอบถามประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ กรณีนี้คือลาว เราคาดหวังถึงความแข็งขันที่จะสอบถามทางตรง ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลและสถานทูตลาวในกรุงเทพ เราก็มีความหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้ที่ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง เพราะว่าเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการอุ้มหาย จะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าไม่รู้เพราะมีเพียงรายงานข่าวการหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮ หวังว่าจะมีการทวงถามกันอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศได้เคยเรียกทูตลาวมาคุยถามไถ่ความคืบหน้าบ้างไหม ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นตรงกันข้าม เป็นการด่วนสรุปตัดไปเลยว่าเป็นเรื่องการจัดฉาก การเล่นละคร ท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีที่น่าผิดหวังเพราะรัฐไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ เราไม่ได้มองว่าทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋มีสถานะที่เป็นคนที่ทางการไทยต้องการ เราพักเรื่องนั้นไว้ก่อน เราพูดถึงเขาในฐานะพลเมืองของรัฐไทย รัฐไทยไม่ได้แสดงท่าทีดูดำดูดีเท่าไหร่เลย ทั้งรัฐไทยเองก็ประกาศว่าะจให้ความสำคัญเรื่องคดีการอุ้มหายแบบนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทย ไปสัญญาเอาไว้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่สิ่งที่ทำกลับเป็นตรงกันข้าม จึงเกิดคำถามตามมาว่าถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวกับคนไทยที่ไปอยู่ที่ต่างประเทศแล้วพวกเขาจะไม่ได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างกรณีทั้งสองหรือไม่ เอาแค่ในลาวก็มีคนไทยอยู่มากมาย แล้วคนไทยเหล่านั้นจะมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพจากไทยได้อย่างไร

ในกรณีผู้ลี้ภัย คนที่ลี้ภัยในต่างประเทศมีสิทธิอะไรบ้าง แล้วสิทธิหรือสถานะตามกฎหมายมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิดังกล่าวหรือไม่

ส่วนแรกคือเรื่องกฎหมายภายในแต่ละประเทศ การอุ้มหายหรือต่อให้เป็นประเทศที่ไม่เป็นภาคีต่อต้านการบังคับสูญหายก็ตาม พฤติกรรมที่นำไปสู่การอุ้มหายมีองค์ประกอบของการทำความผิดอาญามากมายไม่ว่าจะเป็นการบังคับหน่วงเหนี่ยว การทำให้สูญเสียอิสรภาพ การทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันก็เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงอยู่แล้ว ในต่างประเทศที่เกิดเหตุขึ้นก็ควรจะต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นให้จริงจัง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นในลาว ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ก็มักมีลักษณะการปัดสวะให้พ้นตัวมาตลอด ซึ่งเราก็คาดหวังว่าในเมื่อลาวมีพฤติกรรมเช่นนี้สม่ำเสมอ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของไทยที่ต้องไปกระทุ้งให้ลาวติดตามสอบสวนอย่างจริงจัง รัฐไทยก็ต้องทวงให้ลาวทำให้กฎหมายลาวมีความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร มีคนลาวหรือคนต่างชาติเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋เป็นตายร้ายดีอย่างไรต้องตอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นลาวจะถูกมองว่าเป็นบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป คนที่อยู่ที่ลาวก็อาจจะเผชิญชะตากรรมร้ายแรงอย่างการอุ้มหายไม่รู้ชะตากรรม ในกรณีไทยก็มีโกตี๋กับดีเจซุนโฮ กรณีคนลาวก็มีสมบัด สมพอน ที่เป็นเอ็นจีโอคนสำคัญที่ได้รับรางวัลแมคไซไซ ก็โดนอุ้มหายที่เวียงจันทน์เหมือนกัน แล้วลาวก็ใช้วิธีปฏิเสธไม่รู้เห็นเหมือนกัน ทั้งที่กรณีนั้นมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่เหยื่อถูกอุ้มหายแถวป้อมตำรวจจราจรในกรุงเวียงจันทน์ แต่จนถึงตอนนี้ลาวก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ทำให้ลาวมีสภาพบ้านเมืองไม่มีีขื่อมีแปอย่างนั้น แล้วใครจะอยากไปเที่ยว ใครจะอยากไปลงทุน

ข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอสเรื่องการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ที่นำเสนอวิดีโอจากกล้องวงจรปิด (ที่มา: youtube/amaristotle)

ส่วนที่สอง คือเรื่องกติการะหว่างประเทศ ต่อให้เป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่กฎหมายระหว่างประเทศมีจารีตประเพณีที่จะไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางที่มีแนวโน้มจะลิดรอนสิทธิของเขา ที่ทำให้เขาเผชิญภัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นทำให้เขาเสียชีวิตได้ อันนี้จะอธิบายถึงช่วงก่อนที่โกตี๋หายตัวไป เพราะช่วงนั้นทางการไทยได้พยายามเรียกร้องให้ทางการลาวส่งตัวโกตี๋กลับมา คำถามคือ ต่อให้ลาวไม่ใช่ภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ก็มีพันธะกรณีที่จะไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย มันจึงเป็นเรื่องค้ำอยู่ตรงที่ว่า ถ้าไทยอยากได้ตัวโกตี๋ ลาวก็ไม่ควรส่งตัวกลับ แต่ที่แล้วมาไทยและลาวต่างก็ละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศเช่นนี้มาตลอด มีการส่งคนกลับตลอด เช่นกรณีที่ไทยส่งคนม้งกลับไปลาวที่เกิดขึ้นที่เพชรบูรณ์นับพันคนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่ถูกนานาชาติและสหประชาชาติประณาม

มีกฎหมายหรือกติกาใดๆ ในการปกป้องการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) ในไทย

ไทยยังไม่มีกฎหมายภายในในการทำให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา มติสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่จะให้ลงสัตยาบันในกติกาก็ยังไม่มีการแจ้งเรื่องนี้อย่างเป็นทางการกับเลขาธิการของยูเอ็น ผลในทางปฏิบัติจึงยังไม่มีทั้งสองด้าน แม้ร่างกฎหมายที่ไทยเขียนใช้ภายในมันครอบคลุมถึงการอุ้มหายในต่างประเทศด้วย แต่มันถูกตีตกไปโดย สนช. ไทยจึงยังไม่ถือว่าการอุ้มหายเป็นความผิดทางคดีอาญา

มันยังไม่มีผลบังคับใช้ คือลงนามอย่างเดียวโดยไม่ให้สัตยาบันอย่างเดียว ทางไทยอาจจะอ้างแบบศรีธนญชัยว่า ก็ สนช. ได้ลงมติให้สัตยาบันไปแล้ว แต่ที่จริงยังไม่บังคับใช้เพราะว่าเรื่องยังไม่ได้ไปที่เลขาฯ ยูเอ็น มันก็ค้างกันอยู่ในประเทศไทยอย่างนี้ โดยข้ออ้างของทางฝั่งไทยก็บอกว่ายังให้ยูเอ็นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย มันก็เป็นปัญหาเหมือนว่าไก่กับไข่อะไรจะมาก่อน ค้างกันอยู่อย่างนี้ แล้วท่าทีที่ชัดเจนว่า ร่างฯ ที่ สนช. แขวนไว้จะถูกนำมาปรับปรุงแล้วมาเสนอใหม่เมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน ฉะนั้นการอุ้มหายในไทยจึงถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดตามกฎหมายอาญา แล้วความหวังที่จะเอาผิดกับคนที่มีส่วนของการอุ้มหายไม่ว่าจะเป็นคนในรัฐ นอกรัฐ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังไม่สามารถจะเอาผิดได้

สุนัยขยายความถึงขั้นตอนการแสดงเจตจำนงเป็นภาคีว่าประกอบด้วยการลงนามและการให้สัตยาบัน ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้ “หนึ่ง ลงนามแล้วก็คือการแสดงเจตจำนงยอมรับกติกานั้นๆ ว่าจะทำตาม แบบกรณีนี้ก็การต่อต้านการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน ไทยลงนามทั้งคู่”

“อันที่สอง ระหว่างที่ทำกฎหมายภายในก็ยกระดับการแสดงเจตจำนงจากการลงนามเป็นการให้สัตยาบัน โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศให้สัตยาบันว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้ว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้จะผูกมัดและมีผลจริงจังแล้ว แต่ของไทยเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดว่า สนช. ให้สัตยาบันด้วยเสียงข้างมากแล้ว แต่กลับไม่ทำให้มีผลผูกมัดตามกติการะหว่างประเทศเพราะไทยไม่ส่งเรื่องให้กับเลขาฯ ยูเอ็น ก็แขวนเอาไว้อย่างนั้น มันเลยยังไม่มีผลผูกพัน ส่วนในประเทศนั้นร่างกฎหมายภายในก็ถูกแขวนเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด”

การหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮสะท้อนถึงข่องโหว่กฎหมายที่ไทยและลาวไม่คุ้มครองในเรื่องการลี้ภัยใช่หรือไม่

ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่เรื่องโกตี๋และดีเจซุนโฮควรจะเน้นแค่ให้เริ่มมีการสอบสวนอย่างจริงจังว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ใครเกีี่ยวข้องบ้างตามกระบวนการคดีอาญา เอาแค่นี้ยังเริ่มไม่ได้เลย เพราะมันเกี่ยวข้องตั้งแต่ที่พยานบอกว่ามีการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวทำให้สูญเสียอิสรภาพ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ค่อยลากความผิดไปยังประเด็นอื่น แต่แค่นี้ยังทำให้ลาวสืบสวนไม่ได้เลย ไทยก็ชิงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง ถือเป็นท่าทีที่น่าผิดหวังมาก ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ทั่วไปก็คงคาดหวังว่ากระทรวงการต่างประเทศคงไม่อยู่เฉย คงเรียกทูตลาวมาถามความคืบหน้าทุกสัปดาห์เลย โดยเฉพาะสองกรณีดังกล่าวเป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัว แล้วทำไมจะไม่อยากรู้ว่าเขาหายไปไหน ตรงนี้น่าสงสัย ทำไมไม่แสดงความกระตือรือร้นให้ความจริงปรากฏมากกว่านี้ กลับปัดเรื่องให้พ้นตัวไม่ได้ติดตามอะไรแล้ว ซึ่งท่าทีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นักสิทธิมนุษยชนยังกล่าวถึงสถานการณ์การจับตัวศัตรูของรัฐบาลจากต่างแดนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในประเพราะว่าในประเทศเอเชียแถวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการอุ้มศัตรูของรัฐบาลในต่างประเทศเกิดขึ้นบ่อยๆ จากประเทศแถบเอเชีย “อย่างของจีนที่ไปอุ้มนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ แม้แต่เวียดนามก็มีการอุ้มคนที่อยู่ฝ่ายค้านรัฐบาลเวียดนามในเยอรมนี สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้าม และก็ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใหญ่โต กลับมาเรื่องของเรา ผมรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังที่ไทยและลาวไม่มีท่าทีกระตือรือร้นที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และถ้ามีคนต่างชาติเกี่ยวข้องกับการทำให้บุคคลสูญหายไปจริงก็ถือเป็นปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยด้วยซ้ำ ทำไมไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ผมก็ไม่เข้าใจ”

ท่าทีของรัฐบาลไทยสะท้อนบรรทัดฐานการใช้กฎหมายหรืออย่างอื่นหรือเปล่า

สะท้อนอย่างหนึ่งว่าถ้าเป็นฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความใส่ใจในการได้รับความปกป้องจากรัฐอย่างที่ควรจะเป็น โดยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาล พวกเขาก็เป็นพลเมืองของรัฐไทย ดังนั้นก็ควรได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมกันจากไทย นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แล้วถ้ามองย้อนกลับไปในกรณีที่ว่า คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้รับความใส่ใจดูแล เอาจริงๆ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตรในเรื่องนี้ แต่พอตัวเองเข้ามามีอำนาจก็มีพฤติกรรมเหมือนกัน มันสะท้อนการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เลขาฯ กสม.' แจง กรรมการสิทธิฯ ดำเนินงานการเงินโปร่งใส สตง.ตรวจทุกปี

$
0
0

สนง.คณะกรรมการสิทธิฯ โต้เครือข่ายติดตามการทำงาน กสม. ยันดำเนินงานการเงินโปร่งใส ตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปี นำเสนอรายงานฯ ต่อรัฐสภา-ครม. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะชนทางเว็บไซต์ของ กสม. ทุกปี

 

จดหมายจาก กสม.ถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

22 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ส.ค.60) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ได้รับจดหมายด่วนที่สุด จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เลขที่ สม 0004/2461 ลงวันที่ 21 ส.ค.2560 จาก ภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม. เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมูลนิธิศักยภาพชุมชนแถลงข่าวกล่าวหา กสม. 

หนังสือจาก เลขาฯ กสม. ระบุว่า ตามที่ประชาไท เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่่ผ่านมา ได้ลงเผยแพร่บทความ เรื่อง  "คณะตรวจสอบ กสม. เผยกรรมการสิทธิฯ ไม่อิสระ ทำงานลำบาก ไม่จริงจัง การเงินไม่โปร่งใส" ของมูลนิธิศักยภาพชุมชุน ทางเว็บไซต์ https://prachatai.org/journal/2017/08/72865 ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนได้แถลงข่าวเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยในการแถลงข่าว ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า "เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส มีกรรมการ กสม. คนหนึ่งบอกว่า งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีนั้นมีมูลค่าราว 300 ล้านบาทและเพียงพอ ส่วนงบประมาณที่เหลือก็ไม่ต้องส่งกลับแต่ให้ทบเข้าไปในงบประมาณ แต่ กสม. ไม่เคยทำรายงานการเงินออกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย" นั้น
 
สำนักงาน กสม. ขอเรียนว่า ตามที่บทความดังกล่าวระบุว่า "เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส ... แต่ กสม. ไม่เคยนำรายงานการเงินอกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย" นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้ทำหนังสือถึง ชลิดา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น 
 
ในหนังสือถึง ชลิดา นั้น สำนักงาน กสม. ระบุว่า ได้นำเสนอและเผยแพร่รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของ สำนักงาน กสม. ซึ่งที่ผ่านมาการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ไว้ในรายงานผลารปฏิบัติงานประจำปีของ กสม. พร้อมทั้งนำเสนอรายงานฯ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะชนทางเว็บไซต์ของ กสม. เป็นประจำทุกปี ดังเช่นประกฎในหน้า 77 - 100 ของรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2558 อันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบรายงานดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ http://www.nhrc.or.th/NHRCT-Work/Annual-reports-(๑).aspx  ทั้งนี้เนื่องจากรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานงบการเงินของสำนักงาน กสม ประจำปี 2559 ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และยังมิได้แจ้งผลการตรวจสอบให้สำนักงาน กสม. ทราบ ซึ่งสำนักงาน กสม. จะได้นำเสนอในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2559 ต่อไป
 
สำนักงาน กสม. ขอให้ท่านโปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง อันจะทำให้เกิดความเสียหายและความเจ้าใจผิดในการทำหน้าที่ของ กสม. ดังนั้น จึงขอให้ท่านแก้ไขบทความดังกล่าวให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะชรในวงกว้าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความหวังไม่รู้ดับของไผ่ ดาวดิน

$
0
0

ไผ่ ดาวดิน / จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

 

ผมยอมรับว่า ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่มีครั้งไหนที่ผมรู้สึกสิ้นหวังกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเท่ากับครั้งนี้ เมื่อได้ทราบคำพิพากษากรณีไผ่ ดาวดิน

ไผ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอิสระของตนเอง คนรุ่นใหม่เช่นนี้เป็นความหวังของทุกประเทศ เพราะพวกเขาคือพลังสำคัญที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปสู่สภาวะที่ดียิ่งขึ้น แต่ไผ่และที่จริงสังคมไทยโดยรวม กลับต้องสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เมื่อเอาเขาหรือคนอย่างเขาไปจำขัง ทั้งนี้โดยความสมยอมของคนในระบบและความจำนนของคนนอกระบบ

ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังเหลือช่องว่างแคบๆ เล็กๆ ที่เปิดให้ผู้คนซึ่งมองหาทางเลือกทางการเมืองที่ต่างจากที่ถูกยัดเยียดมาให้ ได้พอดิ้นรนขยับขยายผลักดันได้บ้าง แม้อย่างจำกัดจำเขี่ยเต็มทีก็ตาม พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ไม่เพียงแต่ต่ออายุให้แก่เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถขยายตัวออกไปได้ในระยะยาว

คำพิพากษากรณีไผ่ ทำให้ผมตระหนักว่า พื้นที่แคบๆ เล็กๆ ดังกล่าวนั้นไม่มีมากไปกว่ายุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้มีอำนาจจะกำหนดขึ้น การมีอยู่ของพื้นที่นั้นไม่ใช่เพื่อเสรีภาพ แต่เพื่อการครอบงำโดยสมบูรณ์

ผมรู้ดีว่า ความสิ้นหวังต่ออนาคตของบ้านเมืองเช่นนี้เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซ้ำเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขาอยากจะเพาะให้เกิดในใจพวกเราให้มากด้วย เพราะมันทำให้พวกเขามีอำนาจที่ยั่งยืนมั่นคงกว่า ผมจึงรวบรวมสติปัญญาเพื่อมองหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรรักษาความหวังของเราไว้ แม้ในยามที่ไม่มีเหตุที่จะมองโลกในแง่อื่นได้ นอกจากในแง่ร้าย

อาจเพราะสนใจประวัติศาสตร์มาชั่วชีวิต จึงง่ายมากที่จะเตือนสติตนเองว่า ช่วงชีวิตของเรา ของเขา ของมัน ล้วนเป็นช่วงสั้นๆ แทบไม่กี่ลมหายใจก็หมดแล้ว สิ่งที่เราหวังจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องเวลาทางประวัติศาสตร์ ไม่เกิดในช่วงชีวิตเรา ก็ช่วงชีวิตลูก ไม่เกิดในช่วงชีวิตลูก ก็ช่วงชีวิตหลาน

โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่และยุคปัจจุบัน เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษ 2420 จะมีคนกรุงเทพฯ สักกี่คนคิดว่า ขุนนางซึ่งถืออำนาจในการบริหารและผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอันเป็นผลจากการบริหาร จะกลายเป็นข้ารับใช้พระเจ้าแผ่นดินอย่างไม่มีทางต่อรองได้เลย แต่อีกเพียง 20 ปีต่อมา ลูกหลานตระกูลขุนนางเก่าแก่ขนาดไหนก็ตาม ล้วนเป็นข้าราชการที่ได้รับพระราช­ทานเงินเดือนตามแต่ท่านจะกำหนดลงมา ไม่อาจมีปากมีเสียงใดๆ ได้อีกเลย

เช่นเดียวกับในทศวรรษ 2440 จะมีคนกรุงเทพฯ คนไหนคิดบ้างว่า พระราชอำนาจอันเปี่ยมล้นและไร้ขีดจำกัดของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดลงในเวลาอีกเพียงไม่เกิน 35 ปีข้างหน้า

20 ปีและ 35 ปี จะว่านานก็นานในชีวิตคน แต่สั้นกระจิริดในประวัติศาสตร์ เวลาจึงอยู่ฝ่ายเราเสมอ

จากประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน เรานอนใจได้เลยว่า ไม่ว่าในระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม ความเห็นชอบมีความสำคัญเสมอ ปัญหาอยู่ที่ว่า จะต้องเป็นความเห็นชอบของใครบ้าง

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมากล้นสักเพียงไร ย่อมต้องแสวงหาความเห็นชอบจากกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของตนได้เสมอ การใช้กำลังเข่นฆ่าคนเหล่านี้ลงทั้งหมด นอกจากเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเกิดผลร้ายแก่อำนาจของตนเองด้วย เช่นพ่อค้าใหญ่ๆ ทั้งหลายมีศักยภาพจะต่อต้านอำนาจของผู้ครองรัฐได้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่หากฆ่าหรือริบทรัพย์พ่อค้าใหญ่ทั้งหมดเสียแต่ต้น ก็ไม่มีใครนำโภคทรัพย์มาแก่ท้องพระคลังได้ดีไปกว่าคนกลุ่มนี้ จะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าช่องทางหาเงินเข้าท้องพระคลังใหม่ๆ จะสัมฤทธิ์ผลเท่าช่องทางเดิม ผู้ครองอำนาจอาจตายเสียก่อนที่จะรวยล้นฟ้าก็ได้

ใครบ้างที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของเผด็จการในเมืองไทยได้ คำตอบคือคนหน้าเดิมๆ ทั้งหลายที่ไม่เคยเสียส่วนแบ่งของอำนาจไปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบปกครองแบบไหน คนเหล่านี้ได้รับการเอาใจจากเผด็จการทหารอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่น่าสนใจกว่าคนหน้าเดิม คือคนหน้าใหม่ ซึ่งค่อยๆ มีศักยภาพมากขึ้นในระยะประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือสามัญชนหรือประชาชนธรรมดาทั่วไป

คนประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ถึงแม้มีจำนวนมากเป็นมหาชน แต่ไม่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของชนชั้นปกครองได้ เพราะขาดเครือข่ายและการจัดตั้งอย่างที่ชนชั้นปกครองมี อีกทั้งไม่มีความจำเป็นจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับชนชั้นปกครองมากนัก เนื่อง­จากมีกลวิธีทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมที่จะกันมิให้อำนาจของชนชั้นปกครองเข้ามาใกล้ชิดตัวจนเกินไป (เช่นหนีเข้าป่า)

แต่ภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่อาจหลบอำนาจของชนชั้นปกครองได้อย่างแต่ก่อนแล้ว เกิดความจำเป็นต้องเข้ามาต่อรองอำนาจมากขึ้นตามลำดับ จนไม่นานมานี้เองก็กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของการตัดสินใจทางการเมือง

แม้ว่าในปัจจุบัน ประชาชนแตกร้าวกันทางการเมืองและสังคมอย่างหนัก กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการยึดอำนาจของกองทัพก็จริง แต่นั่นไม่น่าไว้วางใจแต่อย่างไร การที่มวลชนจำนวนมากที่ร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ และกปปส. สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เกิดผลได้ด้วยตนเอง (ส่วนความจริงเบื้องหลังอาจไม่ใช่อย่างที่เขาคิด แต่ประสบการณ์ของแต่ละคนทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของพวกเขาล้วนๆ) จะเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งหมายถึงเส้นทางทางการเมืองที่คนกลุ่มนี้จะเลือกเดินไปชั่วลูกชั่วหลานเหมือนกัน ฉะนั้นตราบเท่าที่พวกเขายังไปกับเผด็จการได้ เผด็จการก็ปลอดภัย

แต่ที่ไปกันได้กับเผด็จการก็เพราะความแตกร้าวบาดหมางกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกร้าวบาดหมางใดๆ ในโลกนี้ที่อาจดำรงอยู่ได้ชั่วนิรันดร์ สักวันหนึ่งรอยแผลของความบาดหมางก็จะเลือนลง ถึงตอนนั้นเผด็จการทหารก็จะเผชิญกับ"มวลมหาประชาชน" (ที่แท้จริง) ถึงวันนั้น อำนาจของอาวุธยุทธภัณฑ์และกำลังรบ จะไม่สามารถหยุดประเทศไทยให้นิ่งอยู่กับที่ได้อีกต่อไป ฝันร้ายส่วนหนึ่งของคนไทยย่อมจะบรรเทาลง

ผมไม่ได้หมายความว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยจะกลับคืนมา บ้านเมืองของเรายังอาจต้องเผชิญเผด็จการในรูปแบบอื่นต่อไป แต่ต้องเป็นเผด็จการที่แสวงหาความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ มากกว่าแสวงหาการยอมจำนน

แรงกดดันจากภายนอกจะทำให้ฝันร้ายนี้ดำรงสืบเนื่องต่อไปยาวนานนักไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความถึงแรงกดดันทางการเมืองจากมหาอำนาจ เมื่อสิ้นสงครามเย็น ประเทศไทยไม่มีความสำคัญมากพอที่มหาอำนาจใดจะแทรกแซงการเมืองภายในมากไปกว่าการแสดงท่าที หากจะมีบางส่วนในกองทัพก่อรัฐประหารซ้อนขึ้นวันใด เชื่อผมเถิดว่าอเมริกันไม่เกี่ยว, จีนไม่เกี่ยว และรัสเซียก็ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นปกครองของไทยเอง

แต่ผมหมายถึงแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี, ด้านความคิดอ่าน, ด้านวัฒนธรรม, ด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดในโลกกว้าง ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่า, รวดเร็วกว่า และแผ่ไพศาลกว่า ความเปลี่ยนแปลงสู่"ความทันสมัย"หรือความเป็นตะวันตกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เสียอีก ระบอบเผด็จการของไทยปัจจุบัน ถอยหลังไปไกลเกินกว่าจะอยู่ในโลกอย่างนั้นได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ระบอบนี้จะดำรงอยู่อย่างยืนนาน ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศใดในโลก

ปัญหาสถาพรของระบอบอัตตาธิปไตยทุกชนิดในทุกสมัยก็คือ จะสืบทอดอำนาจโดยสงบได้อย่างไร แม้แต่ระบอบกษัตริย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นระบอบอัตตาธิปไตยที่วางระเบียบแบบแผนของการสืบทอดอำนาจอย่างรัดกุมที่สุด ก็หนีการชิงราชสมบัติ, สงครามกลางเมือง, การจลาจล, การลอบสังหาร หรือสงครามระหว่างรัฐไม่พ้น เมื่อจำเป็นต้อง"ผลัดแผ่นดิน"

คงจำได้ว่า ถนอม-ประภาสจำเป็นต้องปล่อยวางอำนาจควบคุมกองทัพบกในพ.ศ.2515 ผลที่ตามมาคือ 14 ตุลาคม 2516

กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบที่ทำให้คนไทยสิ้นหวังต่อบ้านเมืองของตนเองนี้ ไม่มีทางที่จะดำรงอยู่นานได้ แล้ววันใหม่ก็ต้องผุดขึ้นมาจนได้ จะเป็นเมื่อไรไม่ทราบได้ ในชั่วชีวิตของผมอาจไม่ได้เห็น แต่ในชั่วชีวิตของไผ่จะได้เห็นอย่างแน่นอน

เพียงแต่ว่า วันใหม่ที่มาถึงอาจไม่ตรงกับความหวังของเรานักก็ได้ (แต่ผมมั่นใจว่าดีกว่าวันนี้แน่) ไผ่ได้ใช้สติปัญญาและความกล้าหาญอย่างน่าสรรเสริญ ก็เพื่อทำให้วันใหม่ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ใกล้เคียงกับความหวังของเรามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ที่เขาถูกจองจำอยู่ในวันนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวันใหม่ให้ตรงกับที่พวกเราหวัง คือนับแต่นี้ ลูกหลานของพวกเราทุกคนจะไม่ถูกจำขังอย่างไผ่อีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รพ.มเหสักข์แจ้งไม่รับสิทธิบัตรทอง กระทบ ปชช.นับแสน ลุ้นย้ายหน่วยบริการ

$
0
0

22 ส.ค.2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า การเตรียมออกนอกระบบของ รพ.มเหสักข์ ทำให้กระทบกับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง กว่าแสนราย จากการสอบถามผู้ใช้สิทธิบางรายแจ้งว่า ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แจ้งให้ผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาหรือไปพบแพทย์ตามใบนัด จะถูกแจ้งให้หาโรงพยาบาลเพื่อย้ายสิทธิไปรักษา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 เร่งประสานโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครให้เป็นหน่วยรับช่วงต่อ ซึ่งทาง รพ.มเหสักข์ จะให้บริการไปถึง 30 ก.ย. นี้  ช่วงระหว่างรอเปลี่ยนโรงพยาบาลผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลเดิมไปก่อน

สุวรรณา ธนบุญสมบัติ ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเขตป้อมปราบ-พระนคร

สุวรรณา ธนบุญสมบัติ ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเขตป้อมปราบ-พระนคร กล่าวถึงปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในชุมชนว่า ตอนนี้ รพ.มเหสักข์ได้ส่งจดหมายถึงชาวบ้านที่ใช้สิทธิบัตรทองใน รพ. เพื่อแจ้งการลาออกโครงการบัตรทอง ทำให้ชาวบ้านหลายรายวิตกกังวลเรื่องไม่มีที่รองรับการใช้สิทธิบัตรทอง จึงรีบหารพ.เพื่อย้ายสิทธิเอง และเกรงว่าหากให้สปสช.ดำเนินการจัดสรรจะได้รพ.ที่อยู่ไกลที่พักอาศัยเดินทางลำบาก

“ชาวบ้านกังวลมากหากแจ้งย้ายสิทธิช้าจะทำให้ได้รพ.ที่ไกลบ้านเดินทางลำบาก หรืออาจจะไม่มีรพ.ที่รองรับสิทธิเลย จึงอยากให้สปสช.รีบประสานรพ.ที่จะรองรับผู้ใช้บริการทุกรายที่ต้องย้ายออกจากรพ.มเหสักข์ด้วย” สุวรรณา กล่าว

ชนัญชิดา ตัณฑผลิน ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กรุงเทพฯ

ชนัญชิดา ตัณฑผลิน ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กรุงเทพฯ กล่าวว่า เบื้องต้นขอให้ผู้ใช้บริการติดตามประกาศของสปสช.อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อประสานงานหาหน่วยบริการรองรับ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก รีบลงทะเบียนย้ายหน่วยบริการ เพราะทาง สปสช.จะจัดสรรให้ผู้รับบริการได้มีที่รักษาพยาบาลครบทุกราย แต่หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือ สายด่วนสปสช. 1330 

“หากสปสช.จัดสรรหน่วยบริการให้แล้ว ทางผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกก็สามารถแจ้งย้ายเปลี่ยนสิทธิ์หน่วยบริการได้ ในรอบปีสามารถย้ายสิทธิ์ได้ 4 ครั้ง  จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนกในตอนนี้” ชนัญชิดา กล่าว

ทั้งนี้ สปสช.จะจัดโต๊ะรับลงทะเบียนในรพ.มเหสักข์ 1-15 ก.ย.นี้ หาก ผู้ใช้บริการ มีความจำเป็นเข้ารับบริการที่รพ.มเหสักข์ในวันที่29-30 ก.ย. และยังต้องพักรักษาตัวใน รพ. มเหสักข์ นั้น ทาง สปสช. จะจัดหาหน่วยบริการรับส่งต่อหรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจนกว่าจะออกจาก โรงพยาบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แจ้ง ก.ม.ห้ามมีกิ๊ก แค่พูดเล่นกับ ปชช. ย้ำเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ แจงปม ก.ม.ห้ามมีกิ๊ก เป็นการพูดเล่น เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลาย ย้ำเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง ส่วนพูดกับกบนั้น เพียงต้องการเปรียบเทียบกับนิทาน เรื่องเจ้าชายกบ ขอสื่ออย่าสนใจ

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเยี่ยมชมกิจกรรมนโยบายของรัฐบาลและพบปะประชาชน ณ ศูนย์การเรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา (ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

22 ส.ค.2560 จากกรณีวานนี้ (21 ส.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวขณะลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนในจ.นครราชสีมา ตอนหนึ่งว่า ใครผัวทิ้งมาบอกตน เรื่องนี้ผิดกฎหมายไม่ได้ กฎหมายให้มีเมียเดียว จะมีกิ๊กก็ไม่ได้ กฎหมายกำลังออก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 

ล่าสุดวันนี้ (22 ส.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงกรณีดังกล่าว ว่า เป็นการพูดเล่น เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลายในระหว่างที่ตนเองได้มอบนโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใช้เวลานาน เพราะปกติตนเองเป็นคนอารมณ์ดี สนุกสนาน

"ผมเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยังมีเรื่องที่ตนเองพูดกับกบนั้น ตนเองเพียงต้องการเปรียบเทียบกับนิทาน เรื่องเจ้าชายกบ ดังนั้น จึงขอให้สื่อฯ อย่าสนใจแต่เพียงเรื่องที่ตนเองไม่ได้พูดจริงจัง เป็นเพียงการพูดหยอกล้อ แต่ขอให้ไปสนใจประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และการที่มีบางสื่อฯ ระบุว่าจะไม่มาทำข่าวการลงพื้นที่ของตนเองนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ตนเองไม่พอใจ และย้ำว่าการลงพื้นที่ก็ทำเพื่อสาธารณะ และสิ่งที่ต้องการให้สื่อนำเสนอ ไม่ใช่การชมรัฐบาล แต่ต้องการให้สื่อลงมาเห็นว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปเพื่อประชาชนแล้วบ้า

ที่มา : TNN Thailand 24 Hours และ Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกายืนประหาร 4 จำเลย คดี M79 ลงที่ชุมนุม กปปส.หน้าบิ๊กซี รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต

$
0
0

ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหาร 4 จำเลย แต่รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต คดียิง M79 ลงที่ชุมนุม กปปส. หน้า Big C เมื่อ ก.พ.57 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 รายและผู้ใหญ่ 1 ราย ทนายชี้ตลอดการพิจารณาทั้ง 4 ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด

 

ที่มาของภาพ: เพจ Police Spokesmen

 

23 ส.ค.2560  จากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาคดีใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ลงที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ เมื่อ 17.00 น. วันที่ 23 ก.พ.57 ในขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 9 ราย บาดเจ็บ 12 ราย และทรัพย์สินเสียหาย คดีนี้มีจำเลย 4 คนคือ ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง (จำเลยที่ 1), สมศรี (เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร (ทร) ผิผ่วนนอก (จำเลยที่ 3) และทวีชัย (วี) วิชาคำ (จำเลยที่ 4) ซึ่งตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 57 ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยทหารอยู่ก่อนที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 และยึดรถกระบะ 3 คัน ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ในความผิดต่อชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายร่างกาย, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และความผิด ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจำเลยทั้ง 4 คน อุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมา 27 ก.ค.59 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น

ล่าสุดวานนี้ (22 ส.ค.60) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 4 แต่เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวนเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดูแลคดีให้จำเลย เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา จึงพิพากษายืนให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต ซึ่งจำเลยทั้งหมดต้องรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ตลอดเวลาการพิจารณา ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จำเลยทั้ง 4 ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ สรุปความคำพิพากษาศาลฎีกา ไว้ดังนี้ 

ตามที่จำเลยอุทธรณ์ประเด็นที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 4 เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม กปปส. ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณหรือพวกในการก่อเหตุ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ประเด็นที่จำเลยฎีกาจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น และในตอนที่ถูกส่งต่อให้ตำรวจก็ไม่มีการแจ้งต้องพนักงานาอบสวนในเรื่องนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่ม นปช. น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีแต่เมื่อมีการนำตัวมาแถลงข่าวและทำแผนก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และหากมีการทำร้ายร่างกายจำเลยทั้ง 4 จริงวันแถลงข่าวและทำแผนก็น่าจะปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง นอกจากนั้นในคำให้การของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ที่เข้าตรวจจำเลยทั้ง 4 ในเรือนจำ ก็ไม่ได้มีการตรวจพบบาดแผลและตามที่จำเลยอ้างถึงเอกสารการประชุม กสม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพูดถึงกรณีของจำเลยทั้ง 4 คน

อีกทั้งในการแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นโอกาสที่จำเลยทั้ง 4 จะได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่าตนเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม นปช.น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีจึงน่าจะมีการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในวันดังกล่าวจำเลยทั้ง 4 ก็ยังไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย และหากมีการทำร้ายร่างกายจริงก็ต้องปรากฏร่องรอยบาดแผลหลงเหลืออยู่ให้เห็นในระหว่างการแถลงข่าว

จำเลยอ้างว่าเมื่อถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้วในระหว่างการสอบปากคำไม่มีผู้ที่ไว้วางใจและทนายความ ในเอกสารสอบปากคำจำเลยได้ปรากฏลายมือชื่อของทนายความและยังมีเอกสารรับรองของทนายความที่เข้าร่วมการฟังสอบปากคำมาด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบปากคำพยานจำเลยยังมาเบิกความยืนยันอีกด้วยว่ามีการให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย ศาลจึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนคงไม่นำผู้ที่ไม่ได้เป็นทนายมาเข้าร่วมฟังการสอบสวน

ศาลฎีกาจึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ

คดีนี้จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6-8 ก.ค.57 โดยทหารและใช้อำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พวกเขาทั้ง4คน ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ จึงไม่มีใครทราบสถานที่ควบคุมตัวเป็นเวลา8-9 วัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พวกเขาถูกกล่าวหาตามพฤติการณ์และข้อหาตามที่กล่าวถึงข้างต้น ภายหลังทนายความสามารถเข้าถึงได้จึงได้รับการร้องเรียนจากจำเลยว่าพวกตนถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนของทหาร (อ่านประมวลคดีนี้ได้ ที่นี่)

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 58 ให้ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ (อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่นี่)

ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีในประเด็นว่าพวกตนไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และพวกตนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนภายในค่ายทหารระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและถูกบังคับให้สารภาพและไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น (อ่านสรุปคำพิพากษาอุทธรณ์ได้ ที่นี่)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังไม่ลด ผู้ประกันตนว่างงาน ก.ค. 2560 สูงสุดในรอบ 11 เดือน

$
0
0

เดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมพุ่ง 156,791 คน สูงที่สุดในปีนี้และสูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559

23 ส.ค. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ค. 2560พบในด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,653,972 คน มีอัตราการขยายตัว 2.54% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ก.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,389,934 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือน ก.ค. 2560 เทียบกับ เดือน มิ.ย. 2560 พบว่าในเดือน ก.ค. 2560 มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 2.54% ขยายตัวจากเดือน มิ.ย. 2560 (YoY) ซึ่งอยู่ที่ 2.16% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ด้านสถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 156,791 คน มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 2.04% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือน ก.ค.2559) ซึ่งมีจำนวน 153,661 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (มิ.ย. 2560) พบว่ามีจำนวน 156,587 คน โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.13% (MoM) ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ก.ค. 2560 อยู่ที่ 1.2% มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 1.1% นอกจากนี้ยังพบว่า เดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมยังสูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 หรือสูงสุดในรอบ 11 เดือน

สถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน ก.ค. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,100 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่ากับเดือน มิ.ย. 2560 ที่ร้อยละ 0.20 และลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.27

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอ็มพาวเวอร์' ขอรัฐยุติล่อซื้อชี้กระทบสิทธิ หลัง จนท.บุกจับกุม พนง.บริการที่นนทบุรี

$
0
0

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ออกแถลงการณ์ปม จนท.บุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่โรงแรมศรีสุข จ.นนทบุรี ขอรัฐยุติการล่อซื้อโดยทันที ทบทวน ก.ม.ดังกล่าว ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด 

23 ส.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ว่า 21 ส.ค.60 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่บุกจับกุมพนักงานบริการ สืบเนื่องจากวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา การบุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่โรงแรมศรีสุข จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นการปฏิบัติการที่ร่วมมือกันของส่วนกำกับสืบสวนและปราบปราม กรมการปกครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นนทบุรี เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ จ.นนทบุรี กอ.รมน.จ.นนทบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ตำรวจ ทหาร กว่า 50 นาย เพื่อเข้าจับกุมหญิงสาว 22 คน นั้น

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ระบุว่าการล่อซื้อและจับกุมดังกล่าวเป็นประเด็นที่ที่มีความห่วงใยในด้านสิทธิมนุษยชนกันมาอย่างช้านาน ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการล่อซื้อโดยทันที ยุติการใช้กำลังรุนแรงบุกทลาย ในการตรวจสถานบริการ แก้ไขทำให้ไม่มีการรีดไถต่อไป บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับพนักงานบริการ และ ให้มีการทบทวน พ.ร.บ.ปรามค้าประเวณี ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด 

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

พนักงานบริการ ทวงถามให้รัฐบาลปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW

วันที่ 21 สิงหาคม 2560

          ในกลางดึกของวันที่ 19 สิงหาคม 2560 มีการบุกทลายเพื่อได้จับผู้หญิงเอาผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่โรงแรมศรีสุข จังหวัดนนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นการปฏิบัติการที่ร่วมมือกันของส่วนกำกับสืบสวนและปราบปราม กรมการปกครอง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการจังหวัดนนทบุรี  กอ.รมน.จ.นนทบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อส. ตำรวจ ทหาร กว่า 50 นาย เพื่อเข้าจับกุมหญิงสาว 22 คน ข้อมูลที่สื่อรายงานยังระบุอีกว่านี่เป็นการปฏิบัติการการล่อซื้อก่อนมีการจับกุม

          กฎหมายได้จำกัดปฏิบัติการการล่อซื้อไว้อย่างชัดเจน ระบุตามประมวลกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา พ.2477 มาตรา 226 ระบุไว้ว่าพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น

          การล่อซื้อพนักงานบริการเป็นประเด็นห่วงใยด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมานาน ตั้งแต่ก่อน 2546
ปี 2559 พนักงานบริการสมาชิกมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม) [1]ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการล่อซื้อ  กสม.นำโดยคุณ อังคณา นีละไพจิตร ได้ทำการตรวจสอบ  ระหว่างที่มีการตรวจสอบนั้นก็มีการล่อซื้อ บุกทลาย กวาดจับพนักงานบริการที่สถานประกอบการ ‘นาตารี อาบ อบ นวด’  ซึ่งกสม.โดยคุณ อังคณา นีละไพจิตร ได้มีการตรวจสอบการปฏิบัติต่อพยานและเหยื่อจากการล่อซื้อและบุกทลายสถานประกอบการนาตารี
          ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย  มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ส่งรายงานเงา[2]ต่อคณะกรรมการ CEDAW ในรายงานของเราได้ระบุการล่อซื้อและความรุนแรงที่เกิดจาการบุกทลายซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ห่วงใยประเด็นหนึ่งของผู้หญิงในประเทศไทย

          คณะกรรมการ CEDAW ได้ถามคำถามต่อรัฐบาลไทย ซึ่งรัฐไทยได้นำเสนอรายงาน CEDAW เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ CEDAW ได้แสดงความห่วงใยการใช้การล่อซื้อและการบุกทลายซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้หญิงที่ทำงานเป็นพนักงานบริการในประเทศไทย

          ในครั้งนี้มีตัวแทนรัฐบาล 31ท่านที่ได้เดินทางไปตอบคำถามของคณะกรรมการ  CEDAW นำโดยรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ปลัดกระทรวงมหาดไทย  เมื่อมีการถามเรื่องการล่อซื้อและการบุกทลาย ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ตอบคำถาม นำโดยพล.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบช.สยศ.ตร.)  ว่า“เรื่องกรณี ล่อซื้อ ปฏิบัติการนี้ เราใคร่ขอยืนยันให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการฝ่ายยุทธการตำรวจไม่เคยมี นโยบายปฏิบัติการเช่นนี้เลย และไม่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้วิธีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย ยินดีรับฟังข้อมูลหรือการร้องเรียนจากทุก ๆ คนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง และพร้อมเสมอที่จะทำการสอบสวนเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “[3]

          คณะกรรมการ CEDAW ได้ส่งข้อสรุปและสังเกตจากการรายงานของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา [4]ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้แสดงความเห็นเน้นย้ำไปถึงผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงจากกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีและการปฏิบัติการของเจ้าพนักงานของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการล่อซื้อและบุกทลายสถานบริการ ประเด็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ CEDAW[5]มีว่า

ข้อ 26. คณะกรรมการกังวล….คณะกรรมการยังมีข้อสังเกตด้วยความกังวลด้วยว่า พนักงานบริการหญิงมักถูกสันนิษฐานว่ากระทำความผิดฐานค้าประเวณีตามพระราชบัญญัตินี้และถูกจับกุมและปฏิบัติอย่างดูหมิ่น ในการใช้กำลังรุนแรงบุกเข้าตรวจค้นสถานบริการ และตกเป็นเป้าการล่อซื้อของตำรวจ คณะกรรมการยังกังวลอีกกับรายงานที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้หญิง …..

ข้อ 27. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะต่อรัฐไทย

 (d) ยุติการใช้กำลังรุนแรงในการตรวจค้นสถานบริการโดย ยุติการล่อซื้อ และการรีดไถทันที     ให้นำตัวเจ้าหน้าที่ดำรวจที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเหล่านั้นมาลงโทษ

 (f) ประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคมกับสถานบันเทิงทุกแห่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่เป็นพนักงานของสถานบริการที่จดทะเบียนตามกฎหมาย

 

          เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ซึ่งมูลนิธิ  เอ็มพาวเวอร์ และพนักงานบริการ รู้สึกยินดีที่ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้หลักประกันอย่างจริงใจต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่ารัฐไทยไม่เคยมีนโยบายการล่อซื้อ ฯ และการที่คณะกรรมการ CEDAW ให้ความสำคัญและแนะให้รัฐไทยตระหนักว่าพนักงานบริการมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับผู้หญิงที่ทำงานในอาชีพ  อื่น ๆ

          เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ..ไหมจันตาตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ร่วมแถลงข่าวที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์  กับเครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตาม CEDAW  ไหมได้แสดงออกถึงความรู้สึกเราเข้าถึงความยุติธรรม ของสังคมและความโล่งใจที่พนักงานบริการในประเทศไทยได้รู้ว่า คณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอให้รัฐบาลยุติการล่อซื้อและบุกทลายโดยทันที ไหมกล่าวว่า “ไม่ว่าการค้าประเวณีจะมีความผิดหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือใครจะ สามารถกระทำการหรือเลือกปฏิบัติกับพนักงานบริการยังไงก็ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราเป็นผู้หญิงที่ทำงาน เราเป็นแม่และเป็นหัวหน้าครอบครัว เราสมควรได้รับสิทธิที่จะได้ความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรมเราต้องได้รับการปฏิบัติโดยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          ผ่านมาแค่สามวัน ความรู้สึกที่เรายินดีก็กลับกลายเป็นความผิดหวังและสับสนแทน เราสับสนว่าทำไมการล่อซื้อและบุกทลายได้เกิดขึ้น  หลังจากไม่กี่อาทิตย์ที่ตัวแทนรัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่า ไทยไม่มีนโยบายการล่อซื้อ บุกทลาย  และไม่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีการนี้ ?  ซึ่งยังคงเกิดการล่อซื้อและบุกทลายโดยไม่คำนึงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่ได้ให้คำสัญญากับคณะกรรมการ CEDAW ไว้

          เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กลับไปดูคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมการ CEDAW    ณ กรุงเจนีวา และให้ปฏิบัติตามข้อผูกพัน โดยเฉพาะที่ต้องทำตามข้อเสนอแนะ คือ
 

1.    ยุติการล่อซื้อ โดยทันที

2.    ยุติการใช้กำลังรุนแรงบุกทลาย ในการตรวจสถานบริการ

3.    แก้ไขทำให้ไม่มีการรีดไถต่อไป

4.    บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับพนักงานบริการ

5.    ให้มีการทบทวน พ.ร.บ. ปรามค้าประเวณี ไม่ให้พนักงานบริการมีความผิด

 

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

                                                                                         322 เชียงใหม่แลนด์

                                                                ถ.ช้างคลาน อ.เมือง

จ.เชียงใหม่ 50100

               โทรศัพท์:แฟกซ์: 053-282504Email cm.empowerfoundation.org

 


[1]คำร้องการตรวจสอบหมายเลข 352/2559

[2]แรงงานเงาของมูลนิธิEmpower ต่อ CEDAW มิถุนายน 2560  June 2017 http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=INT%2fCEDAW%2fNGO%2fTHA%2f27511&Lang=en

[4] CEDAW Concluding Observations Thailand http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CEDAW%2fC%2fTHA%2fCO%2f6-7&Lang=en

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' โอดคนไทยไม่เข้าใจ ชี้ต่อให้ตนออกไป นักลงทุนก็ไม่กลับมา เหตุต้นทุนมันสูง

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้คนไทยยังไม่เข้าใจ เหตุนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานไปต่างประเทศ เพราะต้นทุนสูงไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มาแข่ง ระบุต่อให้ตนเองออกไป เขาก็ไม่กลับมา ยันไม่ท้อคะแนนนิยมลดลง แม้ความนิยมเหลือศูนย์ก็จะอยู่ต่อ

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2560 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล (ที่มาเว็บไซต์ทำเนียบฯ) 

23 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (23 ส.ค.60) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกล่าวมอบโอวาทให้ว่า เช้านี้รู้สึกเหนื่อย ก็น่าจะจากการลงไปปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัดตลอด 2 วันมานี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีงานต่อเนื่องมาหลายวัน แต่เมื่อเจอพวกเราทุกคนก็จะมีแรงฮึดขึ้นมา ซึ่งต้องทำงานกันต่อไป เหนื่อยไม่ได้อยู่แล้ว และยิ่งได้เห็นทุกคนมีรอยยิ้ม ก็ยิ่งดี

“เหตุที่นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ คนไทยยังไม่เข้าใจว่าเขาย้ายทำไม กลายเป็นว่ามาว่าผม ถ้าผมไม่อยู่ แล้วเขาจะกลับมาหรือไม่ อ้าว ผมจะไปให้ แต่เขาไม่มาหรอกครับ เพราะต้นทุนมันสูง และการผลิตก็ยังไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มาแข่งขัน ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงทางโครงการสร้างทั้งหมด อย่าให้เขามาพูดได้ว่า แม้แต่คนไทยยังไม่ลงทุนเลย ซึ่งเป็นเพราะผมอยู่ ไหนใครบอกว่า ผมอยู่แล้วไม่มีใครมาลงทุน แล้วคิดว่าถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นนักการเมืองเข้ามา การลงทุนจะดีขึ้นหรือไม่ ผมไม่อยากยุ่งกับการเมือง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทุกหน่วยงานต้องมีธรรมาภิบาล หากมีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเข้ามา ตนจะให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมีหน่วยงานตรวจสอบของทางราชการให้เข้าไปตรวจสอบทันที ฉะนั้น อย่าทุจริต เพราะเงินมาจากภาษีเป็นเงินของท่าน ตายไปก็เอาไปบาทเดียว ทั้งนี้ ไม่ได้ดูถูกใคร แต่เห็นใจลูกน้องท่าน หากเกิดการทุจริตลูกน้องก็โดนตรวจสอบ เพราะเขาเป็นคนทำเอกสาร
 

ไม่ท้อคะแนนนิยมลดลง แม้ความนิยมเหลือศูนย์ก็จะอยู่ต่อ

ขณะที่วานนี้ (22 ส.ค.60) Voice TV รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประทับใจการเดินทางลงพื้นที่ จ.นคาราชสีมา ทั้งเรื่องคน อาหาร สถานที่ และหายเหนื่อยเมื่อได้เจอประชาชน พร้อมชี้แจง เรื่องที่พูดกฎหมายห้ามมีกิ๊ก ว่าเป็นการพูดเล่น เพือไม่ให้ประชาชนที่มาฟังปราศรัยง่วง เพราะเป็นคนตลก ชอบสร้างความสนุก ขู่พ่อบ้านเล่น แต่สื่อกลับไปเสนอข่าวที่จริงจัง 

พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุ ว่าไม่ต้องเอาผลสำรวจความนิยมมาชี้วัด เพราะอย่างไรก็ไม่ท้อแท้ แม้จะเหลือศูนย์ก็จะอยู่ต่อตามกฎหมาย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตั้น 10 วิ ทหารเบิกความยันชูป้ายค้านรัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษ

$
0
0

ผบ.ร้อย.สห.มทบ.23 พยานโจทก์คดี ‘ไผ่’ และ ‘ดาวดิน’ ชูป้ายต้านรัฐประหาร ระบุ การชูป้ายดังกล่าว เป็นการทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษและถูกปรับทัศนคติ ด้านอัยการทหารขอแก้ฟ้องขอศาลนับโทษคดีนี้ต่อจากคดี 112 โดยไม่ให้หักวันขังที่ทับซ้อนกับหมายขังคดีนั้น

23 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ซึ่ง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ  ‘ไผ่ ดาวดิน’ อดีตนักศึกษา/นักกิจกรรม เป็นจำเลย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า ก่อนเริ่มสืบพยาน อัยการศาล มทบ.23 ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ครั้งที่ 2) ศาลรับไว้ โดยทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าวในนัดหน้า ศาลจึงยังไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามที่ยื่นคำร้องมา โดยขอดูคำคัดค้านของทนายจำเลยก่อน

โดยในวันนี้ (22 ส.ค.60) อัยการนำพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในวันเกิดเหตุ เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ต่อจากที่เคยเข้าเบิกความตอบโจทก์ไว้ในการสืบพยานนัดแรก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้การพิจารณาคดีนี้ยังคงเหลือการสืบพยานโจทก์อีก 3 ปาก และพยานจำเลย 3 ปาก โดยนัดต่อไป โจทก์จะนำพยานที่เป็นนักข่าว ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และพนักงานสอบสวนในคดีเข้าเบิกความ ในวันที่ 29 ก.ย.นี้

ร.อ.อภินันท์ เบิกความตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่พยานไม่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นกบฎในราชอาณาจักร แต่เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน การกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” นั้น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ

สำหรับบรรยากาศภายในศาล มทบ.23 มีศิลปินและประชาชนทั่วไปเดินทางมารอให้กำลังใจ จตุภัทร์ และร่วมฟังการพิจารณาคดีกว่า 60 คน โดยสารวัตรทหารจัดให้เข้าเยี่ยม ‘ไผ่’ ที่ห้องขังใต้ศาลรอบละ 5 คน และอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้เพียง 15 คน เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก ทั้งนี้ มีตัวแทนของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย โดย จตุภัทร์มีสีหน้าสดชื่น และนั่งฟังการซักค้านพยานด้วยความสนใจ

ทั้งนี้ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ครั้งที่ 2) ของโจทก์ ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มีกำหนดโทษ 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1945/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ยังไม่พ้นโทษ โจทก์จึงมีความประสงค์ขอเพิ่มเติมคำบรรยายฟ้อง และคำขอท้ายฟ้อง เพื่อให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง โดยในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ได้ขอเพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุว่า “กับขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1370/2559 ของศาลจังหวัดภูเขียว และริบป้ายประท้วงของกลางด้วย” เป็น “กับขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1370/2559 ของศาลจังหวัดภูเขียว และขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 1945/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น และมิให้หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเนื่องจากทับซ้อนกับวันรับโทษจำคุกในคดีดังกล่าว และริบป้ายประท้วงของกลางด้วย”

คำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอเพิ่มเติมมาในส่วนของการนับโทษนี้ หากศาลอนุญาตจะมีผลให้ กรณีที่ศาล มทบ.23 ลงโทษจำคุกจตุภัทร์ในคดีนี้ จตุภัทร์จะต้องถูกขังต่อจาก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษในคดี 112 ไปอีก โดยไม่หักวันที่ถูกขังตามหมายขังของศาล มทบ.23 ในระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ศาลขอนแก่นขังจตุภัทร์ในคดี 112 (นับตั้งแต่วันที่นายประกันขอถอนประกัน คือ วันที่ 27 มี.ค. 60 จนถึงวันที่ศาล มทบ.23 จะมีคำพิพากษา) ซึ่งเท่ากับว่าอัยการทหารต้องการให้จตุภัทร์รับโทษยาวขึ้น ซึ่งทนายจำเลยจะได้ทำคัดค้านยื่นต่อศาลต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ พิพากษาให้จตุภัทร์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559 ของศาล มทบ.23 ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นขอไว้ในคำฟ้องเช่นกัน

ปัจจุบันจตุภัทร์ถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น ตามหมายขังระหว่างอุทธรณ์ในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่น, หมายขังระหว่างพิจารณาของศาล มทบ.23 ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารนี้ และหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีประชามติของศาลจังหวัดภูเขียว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปคำให้การพยานของ ร.อ.อภินันท์ ไว้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=4972

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Timeline: ปั้นนโยบายช่วยชาวนา เป็น ‘อาชญากรรมจำนำข้าว’

$
0
0

ชวนสำรวจเส้นทางการปลุกปั้นนโยบายช่วยชาวนา เป็น ‘อาชญากรรมจำนำข้าว’ ไล่เรียงไทม์ไลน์ก่อนถึงวันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์อีกหนึ่งคดี ซึ่งคำพิพากษาอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ใกล้เข้ามาอีกเพียงไม่กี่อึดใจสำหรับคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ซึ่งจะมีการชี้ขาดโดยคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 โดยคดีดังกล่าวอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในข้อหากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประกอบกับฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐได้รับความเสียหายมูลค่า 5 แสนล้านบาท

ไม่ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม แต่นัยสำคัญอย่างหนึ่งคือคดีนี้จะเป็นคดีที่ถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไปในอนาคต ดังที่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ว่า

“ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดียิ่งลักษณ์จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองข้ามไปให้ไกลกว่านั้นก็คือว่า คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก” (อ่านต่อที่นี่)

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นประชาไทชวนย้อนมองที่มาที่ไปที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นโครงการจำนำข้าว สู่การนำเรื่องเข้าพิจารณากระบวนการยุติธรรม ก่อนจะถึงวันพิพากษา

คลิกดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่

จากนโยบายที่ใช้หาเสียงสู่คดีความทางอาญา

หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ภารกิจหนึ่งที่รัฐบาลรับปากว่าจะทำให้สำเร็จเพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปคือ การผลักดันโครงการรับจำนำข้าว ท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามต่อความเสี่ยง และความเสียหายของรัฐ จากการดำเนินนโยบายดังกล่าว

ผ่านไปแค่ปีเดียวมีผู้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบคดีจำนำข้าว

ผ่านไปได้ราวปีเศษนับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2554 วันแรกที่มีการเริ่มดำเนินนโยบาย ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2555สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

โดยสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ติดตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล และมีข้อมูลว่าการดำเนินการก่อให้เกิดปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งยังได้ให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่เห็นว่า การใช้คำว่ารับจำนำเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 84 ว่าด้วยรัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีโครงการรับจำนำข้าวอีกคือ ประมนต์ สุธีวงศ์ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) , นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเวลาห่างกันประมาณ 1 ปี

ป.ป.ช. เริ่มกระบวนการไต่สวนความผิด

จากการยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555  กล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงภายหลังการประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องมา เนื่องจากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. 3 คน ประกอบด้วยตน วิชา มหาคุณและ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทองร่วมกันรับผิดชอบ

20 ธ.ค. 2557วิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ได้แถลงความคืบหน้าในกระบวนการไต่สวนว่า นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ และรักษาการผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้นำข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว แล้วพบความผิดปกติ โดยเฉพาะใบส่งมอบข้าว มามอบให้กับอนุกรรมการไต่สวน ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อยู่ในมือ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน และยังทำให้สามารถขยายผลได้ โดยหลังจากนี้ จะมีการไต่สวนผู้รับซื้อข้าวให้ครบ และคาดว่า ประมาณกลางเดือนมกราคม คณะทำงานคงสรุปได้ว่า จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่

ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา บุญทรง พร้อมลงมติให้ไต่สวน ยิ่งลักษณ์ เพิ่มเติม

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ บุญทรง เตริยาภิรมย์ พร้อมพวกรวม 15 ราย ในข้อหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หลังจากไต่สวนพบว่า ไม่มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กับทางประเทศจีนจริงตามที่สัญญากล่าวอ้าง ซึ่งไม่ปรากฏว่ารัฐวิสากิจของประเทศจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายได้รับมอบหมายจากทางการประเทศจีน และไม่มีการส่งข้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเห็นชอบตามอนุคณะกรรมการเสนอ ให้ไต่สวนเพิ่มเติมยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยเห็นว่าได้ละเลย ไม่ระงับยับยั้ง การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ทราบข้อท้วงติงและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กปปส. ออกโรงกดดัน ปั่นกระแส ‘ยิ่งลักษณ์ โกงข้าว’ พร้อมกดดันออมสินไม่ปล่อยกู้เงินให้รัฐบาลจ่ายชาวนา

ในฝั่งความเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้นำมวลชนเดินทางมาถึงสำนักงานใหญ่ ธนาคารออมสิน ตามที่สุเทพ เทือกสุบรรณเลขาธิการ กปปส.ประกาศบนเวทีเมื่อคืนวันที่ 19 มกราคม 2557

โดยเมื่อเดินทางไปถึง ลิขิต กลิ่นถนอมประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน และรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ออกแถลงการณ์กับผู้สื่อข่าวในนามของสหภาพฯ โดยระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าธนาคารออมสินปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ทางสหภาพฯ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่า หากมีการปล่อยกู้ดังกล่าวจริง ทางสหภาพแรงงานฯ และชาวออมสินพร้อมจะรวมพลังคัดค้านและต่อต้านอย่างถึงที่สุด เพราะพวกเรามีหน้าที่ปกป้ององค์กร และเงินฝากของประชาชน ด้วยชีวิต เกียรติและศักดิ์ศรี และหากมีใครมาคิดบ่อนทำลายธนาคารคนผู้นั้นจะต้องบรรลัยย่อยยับ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ได้เตรียมน้ำ-กาแฟ-ขนม พร้อมโต๊ะหน้าอาคารไว้ให้ กปปส.พักผ่อนด้วย

ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ยิ่งลักษณ์

ต่อมา 28 มกราคม 2557ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ในกรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่เห็นได้อย่างชัดเจน รวมทั้ง ป.ป.ช. เคยมีหนังสือเตือนไปแล้วถึง 2 ครั้งโดยให้รวมสองกรณีไว้ในคราวเดียวกันคือ การไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 และการพิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 146 คน ร้องขอให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง จากการดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวที่ผิดพลาด ส่งผลขาดทุนกระทบต่อการส่งออกข้าว และถัดมา 21 วันในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557ป.ป.ช. มีมติเรียก ยิ่งลักษณ์ มาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 โดยระบุความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า(โดยยิ่งลักษณ์ได้ส่งทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแทน จากนั้น ป.ป.ช. มีมติขยายเวลาให้ยิ่งลักษณ์เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาในวันที่ 31 มีนาคม 2557)

“ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270”

ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าว ชาวนาฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้รับเงินจำนำข้าว

18 กุมภาพันธ์ 2557ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าว พิเชษฐ์ เพชรรัตน์ ชาวนาอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา เกิดความเครียดกินยาฆ่าแมลงจนเกือบหมดถัง กว่าครอบครัวจะเห็นและนำส่งโรงพยาบาล พิเชษฐ์ ก็เสียชีวิตแล้ว

พี่ชายผู้ตาย เผยว่าพิเชษฐ์ ได้ไปกู้ยืมเงินจาก ธกส.เพื่อต่อทุนเกือบ 200,000 บาท หวังจะได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จำนวน 170,000 บาท มาใช้หนี้ แต่เกือบ 5 เดือน ยังไม่ได้เงิน ทำให้เงินที่กู้ยืมมาเริ่มหมด สุดท้ายหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ จึงคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ซึ่งศพได้นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจระเข้ตาย และได้ฌาปนกิจศพไปเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 8 แล้ว ที่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากโครงการรับจำนำข้าว

พญาราชสีห์แห่งเวทีแจ้งวัฒนะ พามวลชนกดดันอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีกับ ยิ่งลักษณ์

27 กุมภาพันธ์ 2557พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ พร้อมด้วยระวี รุ่งเรืองประธานเครือข่ายชาวนาไทย และณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งามผู้ประสานงานชาวนา นำชาวนาจำนวนหนึ่งเดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการทวงเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาล รวมทั้งเอาผิดต่อ ยิ่งลักษณ์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังจากที่มายื่นเรื่องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่เลขานุการอัยการสูงสุด และวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ มาให้คำตอบเรื่องดังกล่าว ว่าการดำเนินการขาดเอกสารจากชาวนา อาทิ ใบประทวนข้าว จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการคืบหน้าได้

เมื่อมวลชนได้รับคำตอบเช่นนี้ก็ไม่พอใจ ต่างส่งเสียงตะโกนด่า และเป่านกหวีดขับไล่ ทำให้พุทธะอิสระต้องขอให้เงียบเสียง พร้อมประกาศว่าการกระทำของ อัยการสูงสุดเหมือนไม่ให้ความสำคัญปัญหาชาวนาถูกโกง เพราะยื่นเรื่องไว้กว่า 2 สัปดาห์แล้ว

ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงข้อกล่าวหา พร้อมระบุกระบวนการไต่สวนไม่เป็นธรรม

31 มีนาคม 2557ยิ่งลักษณ์ เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา โดยชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมีความยาว 151 หน้า สาระสำคัญที่ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. คือ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมชี้ว่ากระบวนการรับคำร้องและการเริ่มต้นคดีของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยไม่เป็นธรรม รวบรัด รีบร้อน เร่งรีบ อย่างเป็นพิเศษ ฯลฯ(อ่านสาระสำคัญฉบับเต็มที่นี่)ขณะเดียวกันยิ่งลักษณ์ ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติมอีก โดยอ้างว่าแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ ที่มาของโครงการ รวมไปถึงผลดีระหว่างดำเนินโครงการว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งขอขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติม

หลังจากการยื่นขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม 11 ปาก ก็มีการยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบพยานเพิ่มอีกถึงสองครั้ง รวมพยานที่ยิ่งลักษณ์มอบหมายให้ทนายความคือ บัญชา ปรมีศณาภรณ์ และนรวิชญ์ หล้าแหล่ง เข้ายื่นขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 17 ปาก

ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาความเหมาะสม และมิติด้านข้อมูลที่พยานแต่ละคนจะมาให้ปากคำแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูลจึงมีมติอนุมัติให้มีการสืบพยานเพิ่มเพียง 4 ปาก คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และมีมติไม่ลงตรวจสอบสต๊อกข้าวเพิ่มเติมตามคำร้องของยิ่งลักษณ์

ป.ป.ช. มีมติถอดถอนซ้ำ ยิ่งลักษณ์ หลังถูกศาล รธน. ถอดถอนเหตุย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เพียง 1 วัน

ท้ายที่สุดวันที่ 8 พฤษภาคม 2557หลังจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินความผิดให้ถอดถอนยิ่งลักษณ์กรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีเพียงหนึ่งวัน ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ในการชี้มูลความผิดฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถัดมาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ายึดอำนาจการปกครอง

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2557ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์

ก่อนจะถึงวันพิพากษา

สนช. ลงมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ กรณีจำนำข้าว ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

23 มกราคม 2558สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190-8 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง บัตรเสีย 3 เสียง ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ โดนโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

อัยการสูงสุดยื่นเรื่องฟ้องคดียิ่งลักษณ์

สำหรับการดำเนินคดีความทางอาญากับยิ่งลักษณ์นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558โดยอัยการสูงสุดได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ซึ่งละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ต่อมาอีกหนึ่งเดือนองค์คณะผู้พิพากษา มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 โดยองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประกอบด้วย

1.ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา

2.วิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา

3.ธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

4.ธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา

5.ศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา

6.ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา

7.วีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา

8.อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

9.ธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ศาลออกนั่งบัลลังก์ครั้งแรก ยิ่งลักษณ์ประกันตัว 30 ล้านบาท ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ

ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2558ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความครั้งแรก โดยยิ่งลักษณ์ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมสู้คดี วีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้กับ ยิ่งลักษณ์ ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คดีนี้จำเลยได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก รวม 5 โครงการ ได้แก่ ข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 ข้าวนาปี 2555/2556 ข้าวนาปรัง 2556 และข้าวนาปี 2556/2557

ระหว่างดำเนินการตามนโยบายนี้ มีข้อทักท้วงทั้งก่อนและระหว่างดำเนินการจากหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช., สตง., กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้านว่านโยบายนี้มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพข้าว บิดเบือนกลไกตลาด และเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจำเลยและคณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทั้งในการกำหนดราคารับจำนำอย่างสมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายจากการทุจริตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก 30 ล้านบาท ศาลอนุญาตให้ประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลยกคำร้องรอการพิจารณา หลังยิ่งลักษณ์ยื่นพิจารณาขอบเขตอำนาจศาล

31 สิงหาคม 2558ศาลออกนั่งบัลลังก์ เริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานและพยานบุคคล พยานเอกสารของฝ่ายโจทก์และจำเลย ทั้งนี้ศาลได้อ่านคำร้องของจำเลยขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและได้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 แล้ว โดยโจทก์ได้รับสำเนาและคัดค้านว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2557 ก็ยังให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มีผลใช้บังคับต่อไป

เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้อง กล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่และขอให้ลงโทษทางอาญา ซึ่งตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 11 (1)-(9) ไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังนั้น กรณีที่จำเลยยื่นคำร้อง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลไม่รับบัญชีพยานโจทก์ ซึ่งเห็นว่าเพิ่มเติมเข้ามาโดยไม่สุจริต

ส่วนที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 คัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต มุ่งเอาเปรียบจำเลยโดยไม่เป็นธรรม เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน จึงขอให้ศาลไม่รับบัญชีพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวน

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยก็มีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ตามที่จำเลยคัดค้าน ให้ยกคำร้องดังกล่าว

ต่อมาวันที่  29 ตุลาคม 2558ศาลได้กำหนดให้อัยการโจทก์นำพยานไต่สวนทั้งหมด 14 ปาก ส่วนพยานจำเลยมีทั้งหมด 42 ปาก ขณะที่การไต่สวนพยานเริ่มต้นนัดแรกในวันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลออกไปเผชิญสืบโกดังข้าว 16 แห่งในจังหวัดอ่างทอง

อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 มิถุนายน 2560ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าว และคลังข้าวจังหวัดอ่างทอง 16 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปตรวจแล้วไม่พบความเสียหาย เพื่อตรวจสอบให้พบความจริงว่า ข้าวเสียหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าข้าวเป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่เสื่อมได้ตามกาลเวลา ขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การเดินเผชิญสืบไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้ยกคำขอของจำเลย

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลพิจาณาการเพิ่มเติมพยานเอกสาร 7 หมื่นของโจทก์ ซึ่งไม่อยู่ในสำนวน ของ ป.ป.ช.

7 กรกฎาคม 2560ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ หลังโจทก์อาศัยช่องทางตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่โดยเฉพาะพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่นเข้ามาในคดี ทั้งที่ไม่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.ขณะที่รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้บัญญัติว่า "การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา" และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้"

21 กรกฎาคม 2560ศาลยกคำร้องขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาคดีนี้ศาลได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่แล้วในการพยานหลักฐานเข้าไต่สวน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี ระบุหมดใจถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม

1 สิงหาคม 2560ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี โดยระบุตอนหนึ่งว่า ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน

ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน

(อ่านคำแถลงปิดคดีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นี่)

25 สิงหาคม 2560 ศาลนัดฟังคำพิพากษา

........................................................................................................................................................................

 

หมายเหตุ: เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว เดิมเป็นวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา แต่แจ้งขอถอนตัวจากองค์คณะหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานศาลฎีกา จึงเปลี่ยนเจ้าของสำนวนใหม่เป็นชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขวาจัดศึกษา: มองปรากฏการณ์ 'นีโอนาซี' อเมริกันในมุมจิตวิทยาและสังคมวิทยา

$
0
0

ปรากฏการณ์ 'นีโอนาซี' หรือกลุ่มเหยียดผิวขวาจัดในอเมริกันช่วงที่ผ่านมาทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจ มีการเผยแพร่งานวิจัยเชิงจิตวิทยาพบว่ากลุ่มขวาจัดที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้มีบุคลิกภาพเชิงลบแบบไม่สนใจผลกระทบต่อคนอื่น หลอกใช้คนอื่น และหลงตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำตัวเองเป็น 'เหยื่อ' โดยให้ผู้อพยพหรือคนนอกประเทศเป็น 'แพะ'

23 ส.ค. 2560 สื่อวิทยาศาสตร์สัญชาติสหรัฐฯ ไลฟ์ไซเอนซ์และสื่อ Vox เรียบเรียงขัอมูลศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างจิตวิทยาและข้อมูลทางสถิติเพื่อพูดถึงปรากฏการณ์ที่กลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งออกมาประท้วงและก่อเหตุรุนแรงจนมีคนเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ทีแล้ว อะไรที่ทำให้กลุ่มนีโอนาซีรวมตัวกันภายใต้ "ความเกลียดชัง"

สเตฟานี ปาปาส ผู้เขียนให้สื่อไลฟ์ไซเอนซ์ระบุว่ากลุ่มนีโอนาซีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จากการวิจัยทางสถิติจากโครงการศึกษากลุ่มหัวรุนแiงจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่าเมื่อเทียบระหว่างปี 2555 กับปี 2559 แล้ว มีกลุ่มขวาจัดหรือนีโอนาซีในอินเทอร์เน็ตเแสดงตัวออกมาจำนวนมาก วัดจากการติดตามองค์กรกลุ่มขวาจัดในทวิตเตอร์เมื่อปี 2555 มีผู้ติดตาม 3,542 ราย ในปี 2559 มีผู้ติดตามถึง 25,406 ราย เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

อะไรเป็นแรงจูงใจของกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ มีงานวิจัยใหม่ๆ ที่เสนอออกมาในหลายมุมมอง มีงานวิจัยหนึ่งเน้นมองเรื่องบุคลิกภาพด้านมืดสามอย่าง (ชอบหลอกใช้หาผลประโยชน์, ไม่สนใจผลกระทบต่อผู้อื่น และหลงตัวเอง) มีอยู่ในหมู่นีโอนาซีทั้งหลาย บางครั้งก็ใช้ด้านมืดเหล่านี้มาหลอกชักจูงผู้คน อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยอื่นที่ระบุว่าพวกสุดโต่งเหล่านี้มีความต้องการมีที่ทางในกลุ่มชุมชน (belonging) ทำให้แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นคนขาวก็เข้าร่วมกับกลุ่มเหล่านี้เพราะรู้สึกอยากได้รับการยอมรับเป็นส่วนร่วมกับชุมชน

จอห์น เฉิง ศาตราจารย์ด้านเอเชียและเอเชียอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันกล่าวว่า การเหยียดเชื้อชาติและความเชื่อเรื่องเชื้อชาติในตัวมันเองไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของตรรกะ อย่างน้อยก็ในเชิงวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย เฉิงมองว่าสาเหตุที่ฝ่ายขวาจัดเป็นเช่นนี้มีสาเหตุที่มองได้ในมุมจิตวิทยาปัจเจกบุคคลและจิตวิทยารวมหมู่ "พูดอีกอย่างหนึ่งคือคนเราเชื่อในสิ่งที่ตนเองต้องการจะเชื่อ" เฉิงกล่าว

จากข้อมูลของนักวิจัยทำให้ปาปาสตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มขวาจัดเหล่านี้มาพร้อมกับความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์  ผู้นำพวกนีโอนาซีบางส่วนก็แสดงความชื่นชมทรัมป์ เดวิด ดุ๊ก หัวหน้ากลุ่มคูคลักซ์แคลน กลุ่มที่เคยก่อความรุนแรงกับคนผิวสีถึงขั้นพูดกล่าวหาฝ่ายต่อต้านฟาสซิสต์ว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

กระนั้นในสหรัฐฯ ก็มีกลุ่มที่พยายามทำให้พวกเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งออกจากหนทางแบบนีโอนาซีพร้อมทั้งเรียนรู้คนเหล่านี้ไปด้วย แซมมี รังเกล ผู้ร่วมก่อคั้งกลุ่ม "ชีวิตหลังความเกลียดชัง" (Life After Hate) ที่บำบัดพวกขวาจัดเหล่านี้เปิดเผยว่ามีความเจ็บปวดทางการเมืองบางอย่างที่เป็นแรงจูงใจของพวกเขา

รังเกลเปิดเผยถึงความเปราะบางคนขาวเหล่านี้ว่า สิ่งแรกที่คนขาวนีโอนาซีไม่พอใจคือการนโยบายยืนยันสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกกีดกันในสังคม (Affirmative action) ซึ่งคนขาวมองว่า "ไม่เป็นธรรม" สำหรับพวกเขา ประการที่สองคือพวกเขาไม่ชอบคำอย่าง "อภิสิทธิของคนขาว" ที่ทำให้พวกเขาอับอายหรือรู้สึกผิดกับการกระทำของบรรพบุรุษพวกเขา อย่างไรก็ตามการพูดถึงนโยบายยืนยันสิทธิคนด้อยโอกาสหรือเรื่องอภิสิทธิของคนขาวเป็นเรื่องปกติมากในการอภิปรายในสหรัฐฯ

รังเกลพูดถึงคนกลุ่มนี้ต่อไปว่าหลังจากที่พวกเขาเจ็บปวดจากเรื่องนี้แล้วพวกเขาก็จะหา "แพะ" รองรับความเจ็บปวดพวกนี้แทน จึงเข้าไปในเว็บของขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ รวมถึงเชื่อคำพูดของคนที่ดูมีอิทธิพลที่กล่าวหาใส่ไฟ "พวกผู้อพยพ" นอกจากนี้ความเปราะบางของกลุ่มนีโอนาซีมาจากการที่คนพวกนี้รู้สึกขาดหายอะไรบางอย่างไปในทางอารมณ์หรือทางสังคม ทำให้การเข้าร่วมกับกลุ่มนีโอนาซีเป็นการทำให้พวกเขารู้สึกเหมืออนตัวเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่กว่าหรือมีความหมายกว่าตัวพวกเขาเอง อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของนักจิตวิทยา แพทริค ฟอร์ชเนอร์ พบว่าพวกขวาจัดมีจำนวนเพื่อนสนอทเท่าๆ กับคนทั่วไป พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เหงาหรือโดดเดี่ยวเสมอไป

เรื่องเชื้อชาตินั้นเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลในประวัติศาสตร์องสหรัฐฯ ตัวรังเกลเองเคยรอดชีวิตจากการก่อจลาจลของกลุ่มนีโอนาซีมาก่อนและเคยถูกจำคุกในช่วงต้นยุคคริสตทศวรรษ 1990s รังเกลบอกว่าเรื่องเชื้อชาติถูกนำมาอ้างใช้สร้างความเกลียดชังและความรุนแรงได้ง่าย การลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกเชื้อชาติหนึ่งก็ทำให้พวกนีโอนาซีเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าชาวอเมริกันคนอื่นๆ และแม้กระทั่งกับฝ่ายขวาอื่นๆ

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ มีนักจิตวิทยา แพทริค ฟอร์ชเชอร์ และอาจารย์ด้านการจัดการ นูร์ คเทลลี สำรวจกลุ่มที่เรียกตัวเองเป็น "ขวาทางเลือก" ที่จริงๆ แล้วก็คือพวกเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่ง ซึ่งคนเหล่านี้เองก็นิยามไม่ได้ชัดเจนกว่าขวาทางเลือกที่ว่าเป็นแบบใด พวกเขาค้นพบอีกว่าคนกลุ่มนี้มักจะลักษณะก้าวร้าว และมีบุคลิกด้านลบมากๆ ในแง่การไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับคนอื่น ต่อต้านสังคม และขาดการเอาใจเขามาใสใจเรา

นอกจากนี้งานวิจัยเชิงจิตวิทยายังค้นพบอีกว่าขวาจัดเหล่านี้มีนิสัยพร้อมที่จะล่อลวงคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และมีความหลงตัวเองมากกว่าคนที่ไม่ใช่ขวาจัด พวกเขายังมักจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มทางการเมืองด้วย อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่พวกนิยามตนเองว่า "ขวาทางเลือก" เหล่านี้แตกต่างกัน คือบางส่วนจะเน้นกังวลเรื่องการทุจริตของรัฐบาล แต่อีกส่วนหนึ่งจะเน้นไปในแนวทางเชื้อชาตินิยมจัดมากกว่า

ฟอร์ชเชอร์กล่าวอีกว่ากลุ่มขวาจัดเหล่านี้มักจะแสดงออกในเรื่องการคุกคามคนอื่น การล่าแม่มดคนอื่นในโลกออนไลน์ (เช่นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น) โดยที่กลุ่มขวาจัดรายงานพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมก้าวร้าว ฟอร์ชเชอร์จึงบอกว่าควรมีการจริงจังกับการป้องกันไม่ให้พวกขวาจัดก่อเหตุรุนแรงแบบในชาร์ล็อตต์สวิลล์อีก

ในแง่ที่ว่ากลุ่มขวาจัดพวกนี้จริงๆ แล้วเป็น "คนจน" หรือไม่ ผลการสำรวจวิจัยออกมาว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเป็นห่วงกังวลอะไรทางเศรษฐกิจเลย อีกทั้งยังคงมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่พวกเขากลัวมากกว่าคือ "กลัวว่าตัวเองจะถูกแทนที่" จากกลุ่มผู้อพยพและคนนอกประเทศ เรื่องหลังนี้ทำให้พวกเขามองตัวเองเป็น "เหยื่อ"

การจะนำกลุ่มขวาจัดออกมานั้นเป็นเรื่องยาก มีงานวิจัยพบว่าคนที่ค้นพบว่าตนเองก็ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นคนขาวก็ยังคงเข้าร่วมกับกลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งต่อไป เคยมีการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเพื่อสังคมและพันธุศาสตร์พบว่ามีคนที่เข้าร่วมเว็บบอร์ดขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 พบว่ามีหนึ่งในสามที่รู้สึก "ผิดหวัง" เมื่อพบว่าตนเองไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรป อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับกลุ่มที่ให้คุณค่ากับความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติพวกเขาไม่ขับไล่คนที่ไม่ได้มีเลือดบริสุทธิ์ออกจากกลุ่มแต่พยายามปฏิเสธหรือต่อต้านการทดลองนี้มากกว่า บางครั้งถึงขั้นบอกว่าการทดลองทางพันธุกรรมเช่นนี้เป็น "การสมคบคบคิดของพวกยิว" ที่ทำให้คนขาวสงสัยในบรรพบุรุษทางพันธุกรรมของตนเอง

ในอีกมุมหนึ่ง นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แอรอน พานอฟสกี ก็ศึกษาพบว่าเว็บของพวกขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ก็มีการสร้างความเป็นชุมชนและความรู้สึกใกล้ชิด มีการให้คำปรึกษาเรื่องการเดท เรื่องการจัดการปัญหากับครอบคัวที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ของพวกเขาแต่ก็มีลักษณะแบบชุมชน

ทางด้านรังเกลให้คำแนะนำว่า เวลาเขาจะ "บำบัด" คนหลุ่มนี้เขาจะทำตัวให้ดูเหมือนว่า "ผมไม่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อท้าทายคุณ ผมอยู่เพื่อรับฟังคุณ ผมอยู่ที่นี่เพื่อร่วมพื้นที่กับคุณ" พอถึงจุดหนึ่งแล้วรังเกลเองก็จะตั้งคำถามท้าทายความเชื่อของพวกเขาแต่ด้วยบรยากาศที่มีความเห็นใจและความจริงใจ อีกประการหนึ่งคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการสนับสนุนทางสังคมและการเห็นคุณค่าความหมายในตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมาแทนที่สิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเข้าร่วมกับกลุ่มขวาจัดได้

เรียบเรียงจาก

Psychology of Hate: What Motivates White Supremacists?, Live Science, 17-08-2017 
https://www.livescience.com/60157-what-motivates-white-supremacists.html

Psychologists surveyed hundreds of alt-right supporters. The results are unsettling., Vox, 15-08-2017
https://www.vox.com/science-and-health/2017/8/15/16144070/psychology-alt-right

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมนานาชาติพัฒนาชนบท ชูประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน ขจัดยากจนเอเชีย

$
0
0

บังเกอร์ รอย จากวิทยาลัยเท้าเปล่า ร่วมถกผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ มธ. ถอดบทเรียน-พัฒนาชนบท ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในเอเชีย ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ชู 3 ปมทรัพยากรธรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

23 ส.ค.2560 โครงการ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 - 4 ส.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับภาคีเครือข่ายเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เรื่อง “การพัฒนาชนบทเพื่อการขจัดความยากจนในเอเชีย” ณ โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดอุดรธานี ในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในวาระ 100 ปี ชาตกาล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559  

การประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติครั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก 19 ประเทศ จำนวนกว่า 200 คน มาร่วมกันถอดบทเรียน และหาแนวทางในการพัฒนาชนบท ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในเอเชีย รวมถึงจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป  ในประเด็นหลัก 3 เรื่อง คือ (1) ทรัพยากรธรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  (2) ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และ (3) คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

วีดีทัศน์เปิดการประชุม 

ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการชี้ให้เห็นความจำเป็นในการมีอยู่ของชนบท การทบทวนและแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาชนบทเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาหลากมิติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนชนบทในศตวรรษที่ 21 ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือการตกผลึกความเห็นร่วมให้กลายเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทในอนาคต

รายงานระบุด้วยว่า มีบุคคลสำคัญหลายท่านได้ให้เกียรติมากล่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการพัฒนาชนบท  เริ่มจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธานเปิดการประชุม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้  อิทธิพลของอาจารย์ป๋วยต่อตนเอง  และบทบาทของอาจารย์ป๋วยต่อการพัฒนาชนบท  พร้อมทั้งนำเสนอนโยบายปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาของไทย  นพ.ธีระเกียรติ เน้นย้ำว่าในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน รวมทั้งพยายามจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลและยากจนอย่างทั่วถึง     

บังเกอร์ รอย ซึ่งเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2010 ของนิตยสารไทมส์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงประสบการณ์การเปิด “วิทยาลัยเท้าเปล่า” (barefoot college) ณ รัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย อันเป็นสถาบันการศึกษาที่รับเฉพาะผู้หญิงยากจนและไร้การศึกษา (อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้) เพื่อนำมาฝึกสอนวิชาชีพในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสอนให้พวกเธอสามารถเป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ได้ภายใน 6 เดือน โครงการดังกล่าวของรอยได้รับการขนานนามว่า “โซลาร์มามาส์”  วิทยาลัยของรอยไม่เพียงฝึกสอนวิชาชีพให้กับผู้หญิงยากจนชาวอินเดียเท่านั้น แต่ยังนำผู้หญิงจากประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มาฝึกอบรมร่วมกันและทำให้พวกเธอสามารถกลับไปสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ที่หมู่บ้านของตนเองได้ วิทยาลัยของรอยได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลอินเดียและองค์กรด้านสตรีอีกหลายแห่ง  จนถึงปัจจุบันวิทยาลัยเท้าเปล่าแห่งนี้ได้ฝึกอบรมวิชาชีพให้กับผู้หญิงยากจนไปมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว ข้อสำคัญคือ ที่นี่ไม่มีการแจกปริญญาบัตรหรือใบรับรองให้กับผู้สำเร็จการศึกษาเหมือนสถาบันการศึกษาทั่วไป เพื่อเปลี่ยนมุมมองต่อการศึกษาว่าคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และไม่มีใบปริญญา ก็สามารถเรียนรู้การเป็นมืออาชีพได้เช่นกัน (อ่านบทสัมภาษณ์บังเกอร์ รอย ได้ที่ https://thestandard.co/barefoot-college-bunker-roy/)

เวทีที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ คือการให้ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศได้ร่วมกันแบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์และข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแล้วให้แต่ละบุคคลสามารถนำกลับไปขับเคลื่อนผลักดันเข้าสู่วาระของภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งได้มีการเสนอแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการทำงานด้านการพัฒนาชนบทในอนาคต       

ข่าวน่ายินดีสำหรับประเทศไทย คือ ที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ มีมติร่วมกันว่าให้ใช้ชื่อของอาจารย์ป๋วย ในฐานะบุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจด้านการพัฒนาชนบท  ตั้งเป็นชื่อเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทระดับนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายการพัฒนาชนบท ป๋วย อึ๊งภากรณ์” (Puey Ungphakorn Rural Development Network)   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการเปิดเส้นทางบทบาทศิลปะต่อต้านประชาธิปไตย-ร.บ.ทหาร ย้ำควรแสดงออกได้เสรี

$
0
0

ฉายวัฒนธรรมการใช้ภาพสื่อสารต่อต้านก่อน-หลัง คสช. ยึดอำนาจ หลายฝ่ายหยิบใช้ช่วงชิงพื้นที่รับรู้ ดราม่าไกลถึงเกาหลี ใต้รัฐประหารควรแสดงออกได้ตามสิทธิปกติ พิชญ์ตั้งคำถามบทบาทศิลปะ ศิลปินในขบวนต่อต้านประชาธิปไตย เส้นทางแนวคิดศิลปะกับสังคม มองและขับเน้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านวงการศิลปะ ถาม-ตอบ ศิลปะกับพลังแฝงตามบริบท พลังแห่งการตีความ มาตรวัดลักษณะสังคมและมุมมองต่อหมุดคณะราษฎร

ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

22 ส.ค. 2560 มีงานเสวนา รัฐศาสตร์เสวนา ชุด ไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย ครั้งที่ 1 หัวข้อ ทำการต่อต้านให้ปรากฎ : ศิลปะและการเมืองของการต่อต้านหลังรัฐประหาร 2557 โดย ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องมาลัย ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 

ฉายวัฒนธรรมการใช้ภาพสื่อสารต่อต้านก่อน-หลัง คสช. ยึดอำนาจ หลายฝ่ายหยิบใช้ช่วงชิงพื้นที่รับรู้ ดราม่าไกลถึงเกาหลี

บัณฑิตกล่าวว่า ในกรณีของไทย ศิลปะกับการเมืองก็ถูกใช้กันอย่างต่อเนื่อง อยากยกคำพูดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เขียนสุนทรพจน์สำหรับการรับรางวัล “ยังมีสถานที่มากมายที่การจดจำและแบ่งปันเรื่องราวเป็นเรื่องอันตราย ผมรู้เพราะผมมาจากที่แบบนั้น คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าถึงและการสื่อความหมายด้วยความเห็นอกเห็นใจ ในเมื่อแต่ละแห่งดดำเนินไปด้วยเหตุผลตรรกะที่แตกต่างกัน ผมไม่รู้คำตอบนั้น แต่ผมเชื่อว่าการส่องสว่างไปที่สิ่งๆ หนึ่งอาจจะพาเราพ้นจากความมืดมนและไปสู่ความสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ย่อมสะท้อนกลับไปที่คูุณ เพราะสิ่งที่เราทำล้วนกระทบกับเราทั้งสิ้น” จริงๆ ก็สะท้อนเรื่องราวร่วมสมัยเรื่องการส่งต่อข้อความ การแชร์สิ่งต่างๆ ในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องอันตรายเพราะการที่รัฐเข้าถึงพื้นที่สื่อออนไลน์ทำให้การส่งข้อความต่างๆ เป็นอันตราย

ในรอบ 10 ปีมานี้ บทบาทศิลปินกับการเมืองก็มีไม่ใช่น้อย ในช่วงค้านกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเห็นว่าการต่อต้านการนิรโทษกรรมชัดเจนมาก วสันต์เขียนรูปไปไว้ที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีไปเป็นคณะ เป็นมหาวิทยาลัย ที่กำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีการใช้โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แนวคิดทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และกลุ่มที่จะไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557

ภาพการแสดงออกของแนวคิดที่มีต่อการเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ในท่ามกลางความพยายามที่จะปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ก็มีหลายคนที่ใช้ความสร้างสรรค์ เช่นภาพที่คุณป้าเดินเข้าไปชูไฟฉายบริเวณมวลชน กปปส. ปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง มันสะท้อนแทนคนที่อยากพูด อยากแสดงออกและต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก การเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในส่วนหนึ่งมันสร้างการต่อต้านให้ปรากฏ เพราะในเวลาวิกฤติของสังคม การพูดด้วยเหตุผลมันอาจจะไม่สื่อหรือไม่พอ แต่การพูดด้วยภาพและสัญลักษณ์มันกลับส่งความหมายได้ดีกว่า ดังนั้นการใช้วัฒนธรรมการมองเห็นมาใช้นำเสนอจึงมีนัยทางการเมืองที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการต่อต้านอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่ ถ.ราชดำเนิน มีภาพปูแดงที่ทักษิณขี่ ที่ก้ามคว่ำประเทศไทยกลับด้าน บัณฑิตมองว่าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนที่ไปร่วมกับ กปปส. เชื่อว่าถ้ากำจัดปูตัวยักษ์ตัวนี้และคนที่ขี่จะทำให้ประเทศไทยสงบสุข (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ก่อนการรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามจะจุดเทียนหน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ แล้วก็โดนปรับ 2,000 บาทเพราะมีน้ำตาเทียนหยดบนพื้นที่ของหอศิลป์ฯ นอกจากจุดเทียนแล้วยังปล่อยลูกโป่ง เป็นอีกความพยายามที่ทำให้การต่อต้านปรากฎ จนการจุดเทียนและการติดป้ายไปใช้ตามที่ต่างๆ เช่นที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีการจุดเทียน

การแสดงออกด้วยลูกโป่งขาวที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน

การสร้างการต่อต้านให้ปรากฏนั้นสำคัญเพราะมันเป็นหมุดหมายที่ทำให้คนสื่อสารได้ในเวลาอันรวดเร็วผ่านภาษาภาพ (Visual Language) มีกรณีหนึ่งหลังรัฐประหารก็มีน้องคนหนึ่งไปยืนเป่าสากที่สะพานรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมแปะป้ายที่ร่างกายกล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เนื่องจากมีกรณีการเรียกคนเข้าปรับทัศนคติ จะเห็นว่าหลังรัฐประหารก็ยังมีคนที่พยายามทำให้การต่อต้านปรากฎ ในทางกลับกัน ความพยายามของรัฐบาลที่จะส่งคนไปแทรกซึมก็สามารถเห็นได้ เช่นการปรากฎตัวของทหารในงานรำลึกครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมยืนเป่าสาก (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ความเป็นไทยร่วมสมัยก็ชวนให้เราตีความความเป็นไทย หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ หอศิลป์ กทม. กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน Imagine Peace ฝันถึงสันติภาพ และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมอื่นเช่น มีกิจกรรม Big Cleaning Day ที่สี่แยกราชประสงค์และวัดปทุมวนาราม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความพยายามใช้ศิลปะเป็นเครื่องเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่องใดๆ ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ทีนี้ถามว่าศิลปินที่เคยวิจารณ์สังคมอย่างวสันต์ เริ่มออกมาพูดอะไรหรือไม่ จนในที่สุดก็ออกมาทำงานชิ้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่งานที่แสดงออกมาสาธารณะ แต่อัพเอาไว้ในเฟซบุ๊ก วสันต์ ระเบิดข้อความว่า “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาครองอำนาจมากว่า 3 ปีแล้ว ขอรวบรวมไว้ในโพสท์นี้ บอกเลยว่าทักษิณยังอาย” “เปรตบ้าทำรัฐประหารเพื่อตัวเองและทุนชั่วช้าสามานย์” และก็มีอีกรูปที่มีคำอธิบายว่า "เปรตบ้าเรือดำน้ำ อยากร่ำรวยจากการกินหัวคิว"

การเปลี่ยนท่าทีของวสันต์สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่จากคนที่พยายามให้เกิดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ก็เริ่มออกมาพูดแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากว่านี้ มันชวนให้เราคิดว่า การนำเสนอการต่อต้านการรัฐประหารไม่ได้มาจากรูปแบบงานศิลปะจากมุมเดียวอีกต่อไป คนที่เคยสนับสนุนก็ไม่ได้มีท่าทีเหมือนเดิม

ช่วงหลังรัฐประหารมีกรณีการนำงานศิลปะที่ใช้ในการชุมนุม กปปส. ไปแสดงที่หอศิลป์เมืองกวางจู เมืองกวางจูเป็นเมืองที่คนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารที่เกาหลีใต้เมื่อทศวรรษที่ 1980 คนกวางจูถูกสังหาร ถูกทำร้าย คนตายนับร้อย คนกวางจูถูกประณามว่าเป็นพวกแดงในความหมายคอมมิวนิสต์สมัยนั้น ในที่สุดกวางจูก็สามารถเรียกร้องและเรียกคืนความยุติธรรมได้ และต่อมาก็มีการตั้งหอจดหมายเหตุ การรำลึกเมืองกวางจู เปิดงานแสดงศิลปะปีละ 2 ครั้งและมีหอศิลป์ที่นำศิลปินชั้นนำของโลกมาแสดงเพื่อยกย่องสปิริตการต่อสู้ เลยเป็นคำถามว่า กวางจูเลือกผิดงานหรือเปล่าเพราะนี่เป็นงานต่อต้านประชาธิปไตยจนเป็นการถกเถียงใหญ่ เสียงสนับสนุนก็บอกว่า งานชิ้นนี้กระทำในช่วง กปปส. แต่ไม่ใช่งานที่ต่อต้านประชาธิปไตย แล้วถ้าคิดว่า กปปส. คือความพยายามหนึ่งที่จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วมันแยกความรับผิดชอบต่อสังคมออกจากกันได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย แต่ในพื้นที่ของกวางจูก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสาธารณชนก็ต้องตอบ และคนที่กวางจูก็ต้องตอบว่าการเอางานที่สร้างสรรค์ในช่วง กปปส. มาแสดงในที่ๆ แสดงสปิริตต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างกวางจูหรือไม่ จนเป็นการถกเถียงครั้งใหญ่ถึงขั้นที่กวางจูต้องจัดพื้นที่เสวนาสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน และสุดท้ายงานนี้ก็ไม่เคยถูกถอด

ศิลปินนิรนามกลุ่ม Guerrilla Boys โพสต์ภาพอยู่เบื้องหน้าผลงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ผลงานศิลปะของสุธี คุณาวิชยานนท์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 โดยศิลปินนิรนามผู้สวมหน้ากากกอริลลายังถือกระดาษเขียนข้อความว่า "This work still waiting 'Junta' create democracy for them!!!" หรือ "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร' เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา" และลงชื่อ Guerrilllaboys ท้ายข้อความ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนั้นยังมีงานของ ตะวัน วัตุยา และกฤษดา ดุษดีวณิชย์ เป็นงานที่เหมือนภาพฟรานซิสโก โกยา ว่าด้วยการสังหารหมู่ แต่ตะวันพูดถึงนักโทษการเมือง ตอนนั้น ไผ่ จตุภัทร (จตุภัทร บุญภัทรรักษา' หรือ 'ไผ่ ดาวดิน') ถูกจับขังคุกแล้ว ในงานก็จะมีภาพเขียนที่เขียนโดยลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมที่เคยถูกขังคุก ก็มาร่วมเขียนงาน condemned to be free (ถูกประณามเพื่อให้มีเสรีภาพ)

ภาพงาน Condemned to be Free (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

แล้วก็มีอีกภาพ แสดงเหตุการณ์ทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มีพรรคศิลปินของคุณวสันต์ มีการเคลื่อนไหวของ กปปส. มีศิลปินที่ห้อยนกหวีด และรายละเอียดอีกเยอะ แต่ที่น่าสังเกตคือมีมือที่ชูนิ้วกลางใส่ทุกคนในภาพ ที่ข้อมือประดับด้วยธงชาติไทย ภาพนิ้วกลางมาจากงานของอ้ายเหว่ยเหว่ย (ศิลปินและนักกิจกรรมผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางการจีน) ที่ชื่อ Never Sorry ที่ไปตามที่ต่างๆ แล้วชูนิ้วกลาง

ใต้รัฐประหารควรแสดงออกได้ตามสิทธิปกติ พิชญ์ตั้งคำถามบทบาทศิลปะ ศิลปินในขบวนต่อต้านประชาธิปไตย

บัณฑิตกล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติที่เราพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองการเมืองเรื่องสื่อภาพ มันมีภาพของการต่อต้านปรากฏมากขึ้น ทั้งในแบบทื่อๆ และแยบยล ในฝั่งผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีสีสันไม่น้อยไปกว่าฝั่งของศิลปินเช่นการรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในปี 2553 ที่วัดปทุมวนารามที่แต่งตัวเหมือนผีไปเดินหาอะไรบางอย่าง ในวงการศิลปะก็คุยกันว่ามันสร้างสรรค์กว่างานศิลปะที่ผลิตโดยศิลปินจริงๆ เสียอีก

ภาพและวิดีโอกิจกรรมของญาติผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 

ภายใต้เงื่อนไขของรัฐขณะนี้ การเคลื่อนไหวการเมืองจำกัดแต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แล้วทหารก็ไม่รู้อะไรก็ไปตั้งข้อหาเขา อย่างเช่นกรณีที่มีการดำเนินคดีกับนักวิชาการในงานไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ ผมเองก็อยู่งานกับอาจารย์พิชญ์ อาจารย์ปิ่นแก้ว แต่กลับไปตั้งข้อหากับ อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ธีรมล บัวงาม ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชัยพงษ์ สำเนียง นลธวัช มะชัย ซึ่งคนเหล่านี้เป็นนักวิชาการจริงๆ เพียงแต่ว่าเขาคับข้องใจกับการปรากฏตัวของทหารที่เข้ามาแบบไม่จ่ายสตางค์ค่าลงทะเบียน แต่มาเดิน มากินกาแฟ มาขอฟังล่ามแปลภาษา ซึ่งค่าจ้างล่ามวันหนึ่งเป็นหมื่นบาท แล้วพี่เล่นส่งคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษมา มันก็ทำให้ทำให้บรรยากาศแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในระดับนานาชาติไม่ค่อยรื่นหูรื่นตาเท่าไหร่ คนก็เลยออกมาเขียนป้ายว่าเวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหารเท่านั้นเอง ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แล้วเอาเข้าจริง จะเป็นอะไรไปถ้าเป็นการเมือง ผมคิดว่าเราควรจะมีสิทธิ์พูด มีสิทธิ์บ่น ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ตราบเท่าที่ผมไม่จับปืนขึ้นมาสู้กับใคร ไม่จับไม้ขึ้นมาตีกบาลใคร มันเป็นสิทธิ์ที่มนุษย์ปกติคนหนึ่งในสังคมปกติมี ยกเว้นว่าสังคมนั้นไม่ปกติ แน่นอน นี่คือสิ่งที่เราอยู่ร่วมกันในสังคมแบบนี้ เราจะเห็นมากขึ้นและขอทิ้งประเด็นทางทฤษฎี การเคลื่อนไหว การใช้ภาษาผ่านการมองเห็นมันง่ายกว่าการใช้ตัวอักษร เพราะถ้ามานั่งอธิบายก็จะยาวมาก แต่ถ้าใช้แบบผ่านการมองมันย่นย่อข้อถกเถียงและมีพลัง แต่มันก็อาจจะไร้พลังก็ได้ มันมีขีดจำกัดบางประการเหมือนกัน ในกลุ่มของวัฒนธรรมการมองเห็นมีการตั้งคำถามในประเด็นการเมืองชัดเจนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พิชญ์ เสนอแนะว่าสิ่งที่อยากให้เพิ่มในเปเปอร์หน้าคือ การสร้างต่อต้านให้ปรากฏทำงานอย่างไรในภาพรวมของขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย หน้าที่ของของกลุ่มศิลปินในขบวนการใหญ่คืออะไร ไม่ได้รู้สึกว่ามันทำแค่ทำการต่อต้านให้ปรากฏ แต่มันทำหน้าที่สร้างรสนิยมกับชุมชนนั้น ทำให้เหนือกว่าพวกเสื้อแดง พวกไพร่ ทำให้ฉันรู้สึกว่ามีรสนิยม เป็นการใช้สถานะการยอมรับทางสังคมมาใช้ในพื้นที่การเมือง มันมีหน้าที่ที่ทำงานกว่าการสอดประสานกัน เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่ที่เดิมคือทุกคนผลิตงานศิลปะได้ แต่เขาไม่ใช่ศิลปิน การเมืองของการต่อต้านการเมืองก็น่าสนใจ ตรรกะของศิลปินหรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า “ถ้าไม่แย่จริงๆก็คงไม่ออกมาหรอก” เป็นหลักการเดียวกับทหารที่ทำรัฐประหารเลย

อาจารย์จาก จุฬาฯ เจ้าของเปเปอร์กล่าวว่า สิ่งที่ตนสนใจคือการฝึกการรับรู้วัฒนธรรมการมองเห็น นึกถึงทั้งสังคมที่ถูกกำกับ มีบทที่ต้องแสดง ต้องเล่น ต้องนึกถึงสังคมทั้งสังคมในฐานะโรงละครและเราคือผู้เล่นที่ถูกมือที่มองไม่เห็นกำกับ ถูกกระแสวัฒนธรรม สังคมเกาะเกลาอยู่ การทำการต่อต้านให้ปรากฎก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคม แต่การทำความเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าวจะทำให้เข้าใจว่ามนุษย์ไม่หยุดนิ่ง และตัวกรองไม่ได้มีตัวเดียว มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พรมแดนสังคมจะเปลี่ยน สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของนิยาย กวีนิพนธ์ ศิลปะ ถ้าจับตัวนี้ได้ก็จะรู้ว่าสังคมจะเคลื่อนไปทางไหน วัฒนธรรมการมองเห็นสำคัญเพราะมันเป็นพื้นที่ที่ข่าวสารถูกตีความได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันมีความแยบยลบางอย่างที่เทคนิคของฺศิลปินทำให้เราใช้จินตนาการและความคิดเพื่อคิดต่อได้ แต่มนุษย์จะธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการมองเห็นได้มากน้อยเพียงใด

เส้นทางแนวคิดศิลปะกับสังคม มองและขับเน้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านวงการศิลปะ

บัณฑิตตั้งคำถามว่า เวลาศิลปินเข้าไปสู่ปริมณฑลสาธารณะ ศิลปินมีความรับผิดชอบอย่างไรและต้องทำอย่างไรบ้าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินชาวไทยเคยพูดถึงบทบาทนักการเมือง และหน้าที่ของศิลปินในการสร้างเสริมประชาธิปไตย เคยนำเสนอว่านักการเมืองควรรับโทษในนรกอย่างไร วสันต์นำเสนอภาพนักการเมืองรับโทษในนรกที่ถูกเฉือนเนื้อตัวเองเป็นริ้วๆ แล้วก็กินเนื้อตัวเองเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นกรรม หรือการสร้างงานชื่อ Truth is Elsewhere ด้วยการทำตัวหนังตะลุง 50 ตัว ตั้งชื่อตามนักการเมืองไทยที่มีชื่อเสียงที่เขาเชื่อว่าทำให้การเมืองเสื่อมทราม และนำมาแสดงเป็นหนังตะลุง วสันต์พากย์หนังตะลุงว่า “ควรจะตายดีกว่าไร้ประชาธิปไตย เหตุไฉนเราจึงมีชีวิตอยู่เมื่อเราไร้ซึ่งเสรี” ปี 2544 วสันต์ตั้งพรรคเพื่อกู เป็นพรรคศิลปินที่ต่อต้านทุนนิยม แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนักการเมือง ในปี 2548 ก็ตั้งพรรคการเมืองจริงๆ ชื่อพรรคศิลปิน โดยมุ่งกระจายอำนาจ กวาดล้างอิทธิพลมืดมาเฟีย ยึดทรัพย์นักการเมืองโจร และยึดหลักปกครองตนเอง

วสันต์มีความตื่นตัวทางการเมืองและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน บทกวีชิ้นหนึ่งเขาเขียนว่า “ไม่มีรัฐซะดีกว่า ถ้าชอบทำแต่ความจัญไร จะมีรัฐไปทำไมถ้าเอาใจแต่นายทุน ไม่มีกองทัพเสียจะดีกว่าถ้ารังแกประชาชน ชอบเข่นฆ่าคนยากจน ต้องจับขุนพลมาลงทันฑ์ ไม่มีศาลเสียดีกว่า ถ้าไม่มีความยุติธรรม เงินและปืนคอยชี้นำ เมืองต้องมืดดำเพราะกฎหมาย ไม่มีตำรวจเสียดีกว่า ถ้ารีดไถเป็นมือปืน อำนาจของเราต้องเอาคืน ถ้าปืนปกครองตนเอง ไม่ต้องศึกษาเสียดีกว่าถ้าสอนคนให้เป็นควาย ล้างสมองคนเมามาย มอบใจกายให้นายทุน...ไม่มีชีวิตเสียดีกว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ”จะมีชีวิตไปทำไม หากไร้ซึ่งอิสระเสรี”

ในการก่อตั้งพรรคศิลปิน วสันต์ มุ่งให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เขาบอกว่าเราเหมือนอยู่ในโลกระบอบปีศาจประชาธิปไตยจอมปลอมที่ผู้แทนราษฎรที่ถืออำนาจอยู่หลังฉากไม่ได้ทำให้รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน แต่เป็นรัฐบาลของนายทุน โดยนายทุนและเพื่อนายทุุน พรรคคุณวสันต์ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนพรรคการเมือง แต่ใบปลิว ป้ายประชาสัมพันธ์ก็ถูกติดอยู่ตามท้องถนน ศิลปินคนอื่นๆ ก็ทำงานเกี่ยวกับการเมือง เช่น สุธี คุณาวิชยานนท์ ในนิทรรศการณ์กลุ่มชื่อประวัติศาสตร์และความทรงจำเมื่อปี 2544 ร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิ และ หญิง กาญจนวนิช ตั้งห้องเรียนประวัติศาสตร์โดยสลักภาพนูนต่ำไว้กับโต๊ะเรียน 14 ตัว ทุกโต๊ะจะมีเรื่องราวต่างกันไป พูดถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเสรีไทย เหตุการณ์ 6 ต.ค. 14 ต.ค. ทุกคนก็สามารถเอากระดาษมาทาบแล้วใช้สีทาถูบนกระดาษ แล้วก็จะได้ภาพนูนต่ำกลับบ้านเป็นที่ระลึก นอกจากห้องเรียนของสุธีแล้วยังมีวิดีโอชุดเดียวกัน เป็นห้องเรียนที่มีเรื่องราวบนกระดานดำเรื่องการเมืองสมัยใหม่ แต่บางสิ่งถูกลบไป ตอกย้ำความทรงจำทางการเมืองบางอย่างที่สูญหายและทำให้พร่าเลือนไปในสังคมไทย

นอกจากนี้ก็มีงานของมานิต ศรีวานิชภูมิ ปีศาจสีชมพู เอาภาพฉากการเมืองที่สำคัญเช่นเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ไปตัดต่อภาพคนใส่เสื้อชมพูหรือ Pink man ปรากฏตัวในฉากการเมืองที่สำคัญและแสดงสีหน้าไม่สนใจไยดี  ในงานชิ้นเดียวกันก็มี หญิง กาญจนวนิช วาดภาพบุคคลสำคัญของไทยตั้งแต่ ร.4 ปรีดีพนมยงค์ และภรรยาของผู้ต้องหาคดีการสวรรคตของ ร.8 ทุกคนต่างมีน้ำตาไหลพราก แสดงความเสียใจ ศิลปินไทยจึงไม่ได้ปลอดไปจากการเมือง จะพบว่าศิลปินไทยก็ไม่ได้ปลอดจากการเมืองอย่างที่ได้ยกตัวอย่าง กรณีวสันต์ก็เป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีบทบาทในทางการเมืองและการชุมนุมมาโดยตลอด

อีกกลุ่มหนึ่งผมเรียกว่า่เป็นแนวทางศิลปะอีกแบบมากกว่า สังคมไทยมีศิลปะสมัยใหม่ด้วยความพยายามของคอร์ราโด เฟโรชี ชาวอิตาลี หรือที่รู้จักกันในชื่อศิลป์ พีระศรี ผู้มาเป็นช่างประติมากรให้รัฐบาลไทยสมัย ร.6 ผู้มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดแนวคิด ทักษะการสร้างศิลปะตามแนวศิลปะสมัยใหม่ เมื่อโลกเคลื่อน ศิลปะก็เคลื่อน ศิลปะสมัยใหม่คือการมีเอกลักษณ์ของตัวเองและสะท้อนปัจจัยเบื้องลึก ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่มีต่อสังคมภายนอก ทำให้ ศิลปินมีความเป็นปัจเจกชน มีความเป็นเอกชนสูง ทำให้มนุษย์มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สามารถสะท้อนประเด็นได้อย่างอิสระอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เมื่อพ้นยุคศิลปะสมัยใหม่มาก็เป็นศิลปะร่วมสมัยที่มาจากการที่มนุษย์ตั้งคำถามกับความเป็นสมัยใหม่ ที่หลายคนเรียกว่าโพสท์โมเดิร์น มันเคลื่อนตัวมาจากศิลปะสมัยใหม่ที่แต่เดิมศิลปินตั้งคำถามกับสังคมผ่านมุมมองของตนเอง แต่ศิลปะร่วมสมัยกระจายไปตามพื้นทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพพิมพ์ หรือมีทีมงานผลิตผลงานแทนตัวศิลปินเองก็ได้ สิ่งที่สำคัญในศิลปะร่วมสมัยกลับกลายเป็นความคิดหรือ Conceptual Art และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีขึ้นมาใหม่ทำให้ขีดความสามารถในการทำศิลปะเป็นไปอย่างไม่มีขอบเขต

ในช่วงหนึ่งก็มีคำถามเรื่องวัตถุประสงค์ของการมีหอศิลป์ว่าเป็นที่จัดปาร์ตี้ให้ผู้อุปถััมภ์และสมาชิกด้วยเงินภาษี ก็มีฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินที่ลงมือทำผัดไทยในพื้นที่หอศิลป์ให้คนกิน ทำให้งานของฤกษ์ฤทธิ์สัมผัสได้ กินได้ ลดระยะห่างระหว่างงานศิลปะกับผู้ชมผ่านผัสสะอื่นๆ นอกจากตา การข้ามพ้นสุนทรียศาสตร์ทำให้ฤกษ์ฤทธิ์และเพื่อนๆ มีอีกหลายคนเช่น เกเบรียล รอสโซ กลุ่มซูเปอร์เฟลกซ์ และกลุ่มอื่นๆ ถูกนักทฤษฎีศิลปะมองว่าเป็น Relational Aesthetic หรือสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธภาพที่ไม่ได้สร้างระยะห่างระหว่างผู้ชมกับศิลปะ แต่สามารถสัมผัสเชื่อมโยงกันได้ แนวทางแบบนี้ทำให้เกิดกระแสของการทำศิลปะประเภท Participatory Art ให้ผู้ชมร่วมเขียน ร่วมโหวต ร่วมสร้างผลงานจากแต่เดิมที่ผู้ชมดูได้อย่างเดียว ศิลปะแนวนี้ถูกยกย่องเชิดชูในฐานะที่มันปลดปล่อยผู้ชมจากกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของหอศิลป์ ทำให้ศิลปะเคลื่อนตัวไปสู่ความหมายใหม่เข้าถึงประชาชน เข้าถึงคนดู ถ้าพูดอย่างนี้ก็จะคิดถึงเรื่องในสังคมไทยที่มีเรื่องงานศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะเพื่อชีวิต หรือศิลปะเพื่อศิลปะ เรื่องนี้ถกเถียงกันเมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วเอาแนวคิดของลีโอ ตอลสตอย เอาความคิดศิลปะแบบสังคมนิยมมาเผยแพร่ ในขณะที่กลุ่มที่มองศิลปะเป็นศิลปะก็จะบอกว่างานศิลปะมีความบริสุทธิ์ อลังการ  

แนวคิดสองชุดดังกล่าวก็ปะทะกันในสังคมไทยจนกระทั่งมีเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นการปลดปล่อยงานศิลปะจากสถานศึกษา จากเดิมต้องเรียนศิลปะ แต่ตอนนั้นเริ่มมีศิลปินใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับการยอมรับแม้ไม่มีความรู้อย่างเป็นทางการอย่างประเทือง เฮงเจริญและ จ่าง แซ่ตั้ง แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. ศิลปินที่ทำเรื่องการเมืองก็กระจัดกระจายหายไปจากเวที ที่ทำอยู่ก็ทำเงียบๆ ไม่ก็ทำแล้วก็ทำลายไป บทบาทศิลปินกับการเมืองหลัง 6 ต.ค. ก็ค่อยๆ ลดน้อยลง แต่พอมีแนวคิดศิลปะร่วมสมัยจำพวกศิลปะเชิงสัมพันธภาพที่ตั้งคำถามกับสังคม ทำให้บทบาทของศิลปินก็กลับมา

ช่วงถาม - ตอบ: ศิลปะกับพลังแฝงตามบริบท พลังแห่งการตีความ มาตรวัดลักษณะสังคมและมุมมองต่อหมุดคณะราษฎร

ถาม:ในแง่ศิลปะ ในช่วง กปปส. งานที่ฮิตส่วนมากจะเป็น hard copy งานเขียน งานวาดที่เก็บไ้ด้ แต่หลัง รัฐประหาร เป็นงาน performance art มันจะมาเร็วไปเร็วหรือเปล่า ไม่เกิดอิมแพคเท่างานแบบ Hard copy

บัณฑิต:ขึ้นอยู่กับบรรยากาศของสังคมด้วย อย่างเช่นภาพชูนิ้วกลางที่จตุรัสเทียนอันเหมินของ อ้ายเหว่ยเหว่ย มันแรงมาก และคนที่เข้าใจภาพนี้ได้ก็คงเข้าใจว่าเขาอยู่ในระบอบการเมืองแบบไหน เขาสู้กับใคร ถ้าศิลปะมันถูกอธิบายอย่างเหมาะสมในช่วงเวลาและถ้อยคำที่เหมาะสมมันจะมีพลังในตัวของมันเอง เพลงสู้ไม่ถอยในการชุมนุม กปปส กับม็อบ 14 ต.ค. ก็ให้ความรู้สึกต่างกัน

ถาม:เวลาที่งานศิลปะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะแล้วคนเข้าไปเสพ ในฐานะของศิลปิน เขาจัดการการตีความของคนเสพอย่างไร ควบคุมเนื้อหาที่เขาจะสื่อหรือไม่ และเวลางานศิลปะออกไปก็จะมีผู้ชมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันจะนำไปสู่การต่อต้านมากขึ้นหรือไม่

บัณฑิต:ผมคิดว่าการตีความเป็นเรื่องยากที่จะกำกับ แต่ศิลปินที่ฉลาดจะพยายามกำกับพื้นที่การตีความให้ผู้ชมได้รับสารที่ตัวเองอยากจะสื่อผ่านเทคนิคการนำเสนอ ผ่านเรื่องเล่า ที่เหลือก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะตีความ แต่ท้ายที่สุดการตีความก็เป็นของผู้ชม ทั้งนี้ผู้ชมก็ต้องมีความรู้พอๆ กับศิลปิน เช่นเดียวกันกับภาพชูนิ้วกลางของอ้ายเหว่ยเหว่ย

ถาม: การเข้าถึงศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงการขัดขืนมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่าสำหรับคนที่ไม่ใช่คนชั้นกลาง ไม่มีความเข้าใจเรื่องศิลปะและเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย

บัณฑิต:ขอเสนอไอเดียของ เรย์มอนด์ วิลเลียมที่บอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าสังคมเปลี่ยนก็ต้องไปดูพื้นที่ cutting edge ของความรู้ก็คืองานเขียน ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี วรรณคดี ละคร เมื่อดูตอนแรกอาจจะไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปสังคมจะตกตะกอนแล้วเข้าใจ และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงภายในก็คงเป็นขีดจำกัดซึ่งคนทำศิลปะ ทำงานสายสื่อต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึง เพียงแต่เทคโนโลยีปัจจุบันมันทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิมเช่นเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กไลฟ์ คนสมัย 14 ต.ค. ก็ไม่มี มันเปลี่ยนการมุมมองและลดช่องว่างของคนกับกคน เพียงแต่งานบางชิ้นต้องใช้เวลาถึงจะคิดได้ หรือบางทีก็เกิดฮีโร่โดยบังเอิญที่ไปคิดต่ออีกที แต่มันก็คืออำนาจของศิลปะที่มีพลังจากการตีความ

ถาม:หมุดคณะราษฎรเป็นหมุดสมัยใหม่หรือศิลปะร่วมสมัย

บัณฑิต: ให้ความเห็นว่าหมุดคณะราษฎรมีเป้าหมายคือเป็นหมุดหมายย้ำเตือนเหตุการณ์บางอย่าง ในแง่ศิลปะไม่คิดว่าจะมีความเป็นศิลปะอะไรแต่มันคือสารที่ต่ำต้อยและตรงไปตรงมาที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนาร้องอธิบดีศาลอาญา ขอให้ไต่สวนคำร้อง หลัง พนง.สส.ปอท.ข่มขู่ทนายในศาล

$
0
0

วัฒนายื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา ขอให้ไต่สวนคำร้อง หลังถูก พนง.สส.ปอท.ข่มขู่ทนายในศาล "เอาปืนกรอกปาก"

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo

23 ส.ค. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า วันนี้ (23 ส.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อม นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ เข้ายื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอให้ไต่สวนกรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เนืองจากในวันที่พนักงานสอบสวนนำตนมาฝากขังที่ศาลอาญา เมือวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้แสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่ทนายความของตน โดยใช้คำพูดทำนองว่าจะเอาปืนกรอกปาก ถือว่าเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่และประพฤติตนไม่เหมาะสมในบริเวณศาล ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าทนายความหลายคนที่มาร่วมการไต่สวนในคดีของตน

"ผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเล่นงานและถูกเลือกปฏิบัติ ปกติหากผู้ต้องหามาแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเองซึ่งถือว่าไม่มีเจตนาจะหลบหนี เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา สอบปากคำและพิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จก็จะอนุญาตให้ผู้ต้องหากลับโดยไม่ต้องประกันตัว คดีของทุกคนถูกปฏิบัติเช่นนี้รวมทั้งคดีที่เกิดกับผมก่อนหน้านี้รวม 3 คดี ก็ได้รับการปฏิบัติแบบนี้เช่นกัน แต่พอผมออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้นรวมทั้งให้กำลังใจนายกยิ่งลักษณ์ ผมกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มและถูกเลือกปฏิบัติโดยนำตัวผมมาขออำนาจศาลฝากขังทั้งที่ผมไปแสดงตัวกับพนักงานสอบสวนเอง ไม่มีเจตนาหลบหนี ไม่เคยยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและไม่มีพฤติกรรมก่ออันตราย ดังนั้น ผมจึงแถลงคัดค้านจนมาสู่การข่มขู่ดังกล่าว หลายคนเป็นห่วงและขอให้ผมอดทนเพราะไม่อยากให้มีคดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากคู่กรณีของผมคือเจ้าหน้าที่ของ บก. ปอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีที่เกิดจากการโพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊คโดยตรง แต่ผมเห็นว่าเป็นการทำหน้าที่เพราะเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม โดยที่ผมได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้วจากนี้ไปผมจะไม่มีความเห็นเรื่องนี้อีก ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามสมควร" วัฒนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Watana Muangsook

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images