Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

'วัฒนา-เอกนัฏ' วิวาทะ เพื่อไทย-ปชป. พรรคไหนสู้เพื่อประชาธิปไตย - ปฏิรูป

$
0
0

วัฒนา ถาม แกนนำ กปปส. ไหนเคยประกาศที่จะไม่หวนคืนการเมือง ยก 'เพื่อไทย' มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอดว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยตรงข้ามกับเผด็จการ ด้าน 'เอกนัฏ' สวนกลับถ้าไม่อยากถูกอ้างประชาธิปไตย อย่าเลือกเพื่อไทย ถ้าอยากได้ปฏิรูปเลือก ปชป.

2 มิ.ย. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ได้เข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้น เปิดเผยว่า กปปส. ทุกคนที่ไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีใครลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะยังคงร่วมมือกันเหมือนเดิม คือ ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป และผลักดันให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่เคยเรียกร้อง

วัฒนา ถามไหนเคยประกาศที่จะไม่หวนคืนการเมือง

กรณีดังกล่าวสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงสนับสนุนและตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. ทีผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook' ในหัวข้อ "ชัดเจนเสียที" 

วัฒนา ระบุว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งได้ให้แนวทางการต่อสู้กับเผด็จการทหาร โดยเสนอให้ 4 พรรคการเมืองผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลต่อสู้กับรัฐบาลทหารเพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นต้องทนอยู่กับรัฐบาลทหารตามยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี เสมือนเป็นสัญญาณที่ดีว่าพรรคการเมืองที่เคยได้รับการอุปถัมภ์จากทหารให้ตั้งรัฐบาล สมาชิกพรรคที่เคยออกมาก่อม็อบข้างถนนขับไล่รัฐบาลที่มาจากประชาชนและสนับสนุนให้ทหารออกมายึดอำนาจจนบ้านเมืองเสียหายยับเยิน จะสำนึกตัวกลับมายืนบนถนนสายประชาธิปไตยอีกครั้ง

ไม่ทันสิ้นเสียงของอดีตหัวหน้าพรรค ก็เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างโดยบังเอิญ ได้แก่ อัยการสั่งไม่ฟ้องบริษัทรับเหมาในคดีฮั้วประมูลการก่อสร้างโรงพักร้าง 396 แห่งโดยเห็นว่าไม่มีเจตนาทุจริต ซึ่งต่อมาก็คงจะสั่งไม่ฟ้องอดีตเลขาธิการพรรคที่เชียร์หัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จากนั้นก็เกิดการรวมตัวของแกนนำ กปปส. กับพรรคการเมืองดังกล่าวทั้งที่กลุ่มคนพวกนี้เคยประกาศที่จะไม่หวนคืนการเมือง ที่น่าชื่นใจคือรอง นรม. ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าทั้งหมดเป็นการมากินกาแฟกันธรรมดาไม่ใช่การรวมกลุ่มทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ทั้งที่เรื่องที่คุยกันคือการเมืองล้วนๆ ตามมาด้วยหัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนว่าพรรคมีเป้าหมายตรงกับ กปปส. นั่นคือการยึดแนวทาง กปปส. ต่อไป จึงเป็นอันสิ้นสงสัยว่าพรรคการเมืองนี้มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร

วัฒนา โพสต์ด้วยว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยก็คงไม่มีอะไรให้ต้องสงสัย เพราะมีจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอดว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยตรงข้ามกับเผด็จการ แม้ราคาที่ต้องจ่ายจะมากมายมหาศาลถึงขั้นเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ต้องถูกอุ้มจนเสียอิสรภาพหลายครั้งก็ไม่เคยเปลี่ยนที่ยืน ที่เหลือคงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเลือกว่าจะให้ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในอนาคต ถ้าชอบเผด็จการหรือเห็นว่า คสช. บริหารประเทศดีบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ก็เลือกพรรคนี้ได้เลยเพราะแสดงตัวออกมาชัดเจนแล้ว ถ้าชอบประชาธิปไตยก็ไม่ต้องคิดเพราะมีพรรคเดียวที่ประกาศตัวว่าอยู่ตรงข้ามเผด็จการ

เอกนัฏแนะถ้าไม่อยากถูกอ้างประชาธิปไตย อย่าเลือกเพื่อไทย ถ้าอยากได้ปฏิรูปเลือก ปชป.

ขณะที่ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และอดีตโฆษก กปปส. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง)' โต้ วัฒนา ในหัวข้อ "ชัดเจนตรงไหน ?" 

"ผมไม่แน่ใจว่าคุณวัฒนาไม่ทราบจริงๆหรือแกล้งไม่ทราบ" เอกนัฏ โพสต์  พร้อมระบุว่า มวลมหาประชาชนเขาออกมาต่อสู้กับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เพราะเขาไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือให้พวกคุณเอาอำนาจของเขาไปใช้ออกกฏหมายล้างผิดให้คนโกง ไม่เคยมีใครขอร้องให้ล้มพรรคไหนเลือกพรรคไหน วันนั้นพวกคุณหูหนวกไม่รับฟังเสียงประชาชน วันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน

คุณยิ่งลักษณ์หลุดจากตำแหน่งจริงๆแล้วเป็นเพราะผลกรรมในอดีตที่ก่อไว้ ไปย้ายคุณถวิลฯ ออกเพื่อเปิดตำแหน่งให้กับคุณเพรียวพันธ์ขึ้นเป็น ผบ.ตร. จนศาลรัฐธรรมนูญชี้ผิด สิ้นสภาพความเป็นนายกตกจากเก้าอี้ในที่สุด เหตุที่ทหารต้องออกมาก็เพราะประชาชนที่ต่อสู้กับพวกคุณ เพื่อยับยั้งการออกกฏหมายล้างผิดคนโกง ถูกผู้ร้ายเข่นฆ่าทำร้ายด้วยปืนด้วยระเบิดบนท้องถนน โดยที่พวกคุณที่เป็นรัฐบาลไม่สนใจไยดีเลยแม้แต่น้อย กลับตอบโต้ถ้าทายเป็นรายวัน คิดเพียงแต่จะกอดอำนาจเอาไว

"คนหวังดีต่อประเทศเขาจะร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ ทำไมพวกคุณจะต้องถ่วง มองโลกมืดสร้างวาทกรรมบิดเบือนข้อมูล ถ้ามีหัวใจเป็นประชาธิปไตยจริงก็ทำใจให้กว้างได้มั้ยครับ คอยบั่นทอนความเชื่อมั่นเรื่องเศรษฐกิจทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นจากสิ่งที่พวกคุณสร้างไว้ แค่ความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าวอย่างเดียวก็ทำให้เศรษฐกิจถอยไปเท่าไหร่แล้ว" เอกนัฏ โพสต์ พร้อมระบุอีกว่า ประเทศไทยไปทำอะไรให้คุณคับแค้นใจนักหนา จะเลือกพรรคไหนในอนาคตเป็นสิทธิ์ของประชาชน แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่อยากให้ถูกแอบอ้างประชาธิปไตยหลอกเอาสิทธิพวกเราไปใช้เพื่อออกกฏหมายล้างผิดให้คนโกงบ้านโกงเมืองอีก ก็อย่าไปเลือกพรรคเพื่อไทย แล้วถ้าอยากได้ปฏิรูปภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่แท้จริง พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นทางเลือกให้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุมัติสงวนบ้านเก่าป้อมมหากาฬแล้ว 2 หลัง รอถกต่อ 16 หลังพรุ่งนี้

$
0
0

กทม. สมาคมสถาปนิกสยาม นักวิชาการ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ เห็นพ้อง สงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ วันนี้ได้ 2 หลัง รอถกกันต่อพรุ่งนี้ แจง ชุมชนป้อมฯ ร่ำรวยวัฒนธรรมหลายด้าน เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตัวแทนชุมชนท้วง กทม. ทะเบียนราษฎร์ไม่อัพเดท ระบุบ้านว่างแต่จริงๆ คนยังอยู่


2 มิ.ย. 2560 มีการประชุมคณะกรรมการระบุคุณค่าป้อมมหากาฬ ครั้งที่ 5 เรื่องข้อมูลกรรมสิทธิ์ การถือครองและการออกแบบวิธีการในการสำรวจคุณค่า ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ธีรพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณัฐนันทน์ กัลยศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. เป็นต้น  ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ ได้แก่ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ ผศ.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร, ธนภณ วัฒนกุล สำนักบริการวิชาการ ม.ศิลปากร ,นายสานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ,นางสาวอินทิรา วิทยาสมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ  ส่วนฝ่ายทหาร มีพ.ท. โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที 1 รักษาพระองค์ ทั้งนี้ยังมีอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมประชุมด้วย

เห็นชอบร่วมสงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ วันนี้อนุมัติ 2 หลัง คุยต่อพรุ่งนี้

อัชชพล กล่าวว่า หลังทำการประเมินคุณค่าของบ้าน พบว่ามีบ้านที่มีคุณค่าดังกล่าว 24 หลัง ทุบไปเหลือ 22 หลัง ส่วนการพัฒนาที่ตั้ง ผังเมือง ได้มองไปถึงพื้นที่ต่างๆข้างเคียง เช่น วัด บ้าน ถนน ตนเห็นว่าชุมชนควรเข้าใจว่า ชุมชนจะเปลี่ยนไปเป็นชุมชนอนุรักษ์ คนที่ยังอยู่ในชุมชนห้ามเปลี่ยนตัวบ้าน หรือลักษณะอาคาร ตนเชื่อว่าป้อมมหากาฬจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นในอนาคต และชาวบ้านจะยังได้อยู่ในพื้นที่ชุมชนอย่างสง่างามอีกด้วย ถ้า กทม. ทำสนามหญ้าจะไม่ได้อะไรนอกจากค่าคนสวนกับค่าน้ำ

ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันเบื้องต้น ให้สงวนบ้านที่ทรงคุณค่าเอาไว้จำนวน 22 หลัง จาก 33 หลัง โดยสองหลังแรกที่ได้อนุญาตให้สงวนไว้คือบ้านหลังที่ 97 และ 99 เป็นเรือนไม้กลางชุมชน และบ้านหลอมทองตามลำดับ ซึ่งเป็นบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ผ่านการประเมินคุณค่าและ กทม. อนุมัติให้สงวนไว้ ส่วนทางนักวิชาการได้ระบุว่าได้ทำการสำรวจบ้านในชุมชนมาแล้ว 4 หลัง และทาง กทม. ขอ “แขวน” ไว้ ยังไม่พิจารณา ส่วนบ้านอีก 16 หลังที่เหลือจะได้รับการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ กระบวนการระบุคุณค่าจะต้องมีการไปลงพื้นที่พิสูจน์ร่วมกันก่อนว่ามีคุณค่าครบถ้วนเพียงพอใน 5 ด้าน ได้แก่ คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ เขิงสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและผังเมือง เชิงสังคมและวิถีชีวิต เชิงโบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และคุณค่าเชิงวิชาการ

ทีมนักวิชาการแจง ชุมชนป้อมฯ ร่ำรวยวัฒนธรรมเก่าแก่หลายด้าน เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

ประภัสสร์ กล่าวถึงความสำคัญของชุมชนป้อมมหากาฬว่า ชุมชนเป็นแหล่งที่พักอาศัยตั้งแต่ตอนก่อตั้งกรุงเทพฯ เป็นทั้งพื้นที่พักอาศัยและจุดยุทธศาสตร์ทางการป้องกัน เป็นชุมชนทางยุทธศาสตร์ของกำแพงพระนคร ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่น้อยเต็มที ในส่วนของตัวบ้านเรือนนั้นมีคุณค่าในแง่เชิงช่างที่ต่างสมัย ภูมิปัญญาในการก่อสร้าง มีระบบการเข้าไม้ ตอกไม้ การเข้าเรือนอย่างไร ถ้าเป็นบ้านสมัย ร.5 ที่ตอนนี้เหลือสองหลังก็จะมีวิธีฉลุลายอีกแบบ

ในแง่โบราณคดี ให้คุณค่ากับการคงอยู่ของหลักฐานในพื้นที่ การมีบ้านอยู่ที่เดิมสะท้อนว่ามีคนทำกิจกรรมในพื้นที่ในอดีตอย่างไร ทั้งยังไม่ทราบว่าใต้ดินจะมีหลักฐานของการอยู่อาศัยเก่าอยู่หรือไม่อีกด้วย จากการสำรวจบ้านเบื้องต้นพบว่ามีวัตถุโบราณ ของเก่า ที่แสดงถึงกิจกรรมของผู้คนที่อาศัยในนั้น เช่นเบ้าหลอมทอง การทำเตา เครื่องมือเครื่องใช้ทำดนตรีไทย ซึ่งบางกิจกรรมยังคงทำอยู่ ทางยุทธศาสตร์ การเป็นชุมชนริมคลองแบบชุมชนป้อมมหากาฬเป็นภาพสะท้อนระบบผังเมืองยุคโบราณ รวมถึงระบบจัดการน้ำในชุมชน

อินทิรา กล่าวถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่า เป็นชุมชนในพระนครที่ยังคงมีการคงอยู่อาศัยต่อเนื่อง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเก่าแก่โดยรอบยังมี ไม่ได้เติบโตอย่างโดดเดี่ยว ชุมชน้อมฯ เป็นพื้นที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยมุขปาฐะ คนในชุมชนยังสามารถเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้ตรงตามที่บันทึกไว้ นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ที่พบเห็นได้อยู่ในขณะที่ที่อื่นพบเห็นได้น้อยแล้ว ทั้งภูมิปัญญาทางอาชีพที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตรงกับนโยบายรัฐเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ภายในชุมชนแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน แม่บ้าน สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนว่ามีกลไกในการอยู่ร่วมกัน และมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นต้นทุนในการจัดการป้อมมหากาฬในอนาคตได้ ทั้งยังมีภาคีร่วมคิดพัฒนาพื้นที่ป้อมมากมายจากนอกชุมชน ทีมนักวิชาการเชื่อว่าถ้าให้โอกาสสำรวจบ้านต่างๆ เพิ่มเติม คงจะได้พบคุณค่าต่างๆ ที่น่าสนใจในบ้านหลังอื่นเช่นกัน

ตัวแทนชุมชนท้วง กทม. ทะเบียนราษฎร์ไม่อัพเดท ระบุบ้านว่างแต่จริงๆ คนยังอยู่

สุทัศน์ รายงานภาพแปลงที่ดิน ข้อมูลผู้อยู่อาศัย เลขที่บ้านดังปรากฏในทะเบียน เทียบกับสิ่งปลูกสร้างในความเป็นจริง หลายพื้นที่เป็นที่ดินของวัดที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยโดยเช่าที่อยู่อาศัย หรือเช่าที่ดินแล้วปลูกบ้านอยู่ แต่ทางกรุงเทพฯ ได้เวนคืนและดำเนินการจ่ายเงินชดใช้อยู่ โดยการชดใช้ค่าที่ดินได้จ่ายให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามโฉนด ในส่วนสิ่งปลูกสร้างก็จ่ายตามกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนผู้เช่าอาศัยก็ได้รับเงินช่วยเหลือ ที่ประชุมพบปัญหาความคลุมเครือของข้อมูลผู้อยู่อาศัยและแปลงที่ดินตามระบุในทะเบียนราษฎร์กับที่เป็นอยู่จริง ธีรพันธ์ จึงได้สั่งการให้มีการไปตรวจสอบอีกครั้งในเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว หรือสร้างขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ ซึ่งตัวธวัชชัยได้แย้งว่า ทะเบียนราษฎร์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ทันสมัย ในความเป็นจริงไม่มีบ้านหลังไหนที่ว่าง ดังที่ระบุไว้ในทะเบียนราษฎร์เลย การตรวจสอบและพบมีบ้านว่างอาจเป็นเพราะไม่ได้ตรวจสอบชื่อผู้อาศัย แต่กลับตรวจสอบตามรายชื่อผู้เช่าที่ดินของวัด ซึ่งในปี 2535 ที่มีการเวนคืน ชาวบ้านในชุมชนไม่เคยย้ายออกไปแล้วกลับมาอยู่ใหม่ในพื้นที่สาธารณะดังที่กทม. แจ้งโครงการบ้านมั่นคงเป็นสิ่งที่ชุมชนเรียกร้องกันอยู่ และหวังว่าในอนาคตจะได้พิสูจน์เรื่องคุณค่าของบ้านและชีวิตคนในชุมชนที่ยืนหยัดกับปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยมากว่า 25 ปี

ธีรพันธ์ กล่าวว่า กทม. ได้ที่ดินมาจากสองวิธี ได้แก่ การจัดซื้อและกฎหมาย ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลพระนคร โดยในพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ทาง กทม ได้จ่ายเงินให้เจ้าของบ้านทำการรื้อถอน และซื้อที่ดินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2503 จนปี 2535 มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินจึงมีกระบวนการได้ที่ดินเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สอบ ชี้ ไทยพีบีเอส สามารถลงทุนหุ้นกู้ซีพีเอฟ ได้

$
0
0

กก.สอบข้อเท็จจริง ชี้ 'ไทยพีบีเอส' สามารถ ซื้อตราสารหนี้ บ.ซีพีเอฟ ได้ ระบุยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน และไม่ได้ขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล

2 มิ.ย. 2560 กรณีเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าไทยบีพีเอสลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ล่าสุดวานนี้ (1 มิ.ย.60) เว็บไซต์ไทยพีบีเอส เผยแพร่ คำชี้อแจ้งของ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายได้มีคำสั่งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นั้น

บัดนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการนโยบายเห็นว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายในคราวประชุมครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 ดังนี้

ประการที่หนึ่ง พิจารณาจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 แล้ว ส.ส.ท. สามารถซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ แม้ว่าคณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

ประการที่สอง การซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องจากราคาซื้อ-ขาย เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับรายอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน

ประการที่สาม การซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 และข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ โดยเฉพาะ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและกลั่นกรองการบริหารจัดการ การเงินและการหารายได้แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดหางานเผย ปี 59 คนไทยค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บ. เพิ่มจากปี 58 ส่วนใหญ่อยู่ภาคอุตฯ-บริการ

$
0
0
กรมการจัดหางาน เผยค่าจ้างรายอาชีพปี 59 พบค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งมากกว่าปี 58 โดยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสูงสุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลางมากสุด แนะเรียนสายอาชีพ หางานง่าย รายได้ดี  
 
2 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากกรมจัดหารงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงานได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากการให้บริการจัดหางานในประเทศมาทำการวิเคราะห์และจัดทำค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าคนไทยได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 18.42 ที่ได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ขณะเดียวกันค่าจ้างเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 0.73 ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,730 บาท โดยค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 45,000 บาท รองลงมาภาคเกษตรกรรม 40,000 บาท อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑลและภาคกลางมากสุด ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 14,841 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ 12,758 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 10,749 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 10,072 บาท ตามลำดับ
 
สำหรับอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไปและผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท ช่างทอพรมด้วยเครื่องจักร 26,000 บาท นักอินทรีย์เคมีและผู้ประมาณการ (งานวิศวกรรม)  25,000 บาท ต้นเรือ 22,000 บาท และนักเภสัชวิทยา 21,900 บาท ตามลำดับ 
 
วรานนท์ กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งยังมีรายได้สูงอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเรียน นักศึกษาในการตัดสินใจเลือกเรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้รับอัตราค่าจ้างที่สูง โดยเฉพาะสายอาชีพจะมีโอกาสที่หลากหลายในการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถเลือกออกไปทำงานหรือเรียนไปทำงานไปด้วยก็ได้ กล่าวคือเป็นการเรียนที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้เลย เพราะจะได้ทั้งความชำนาญในงานและประสบการณ์จากการทำงานควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม นอกจากเลือกเรียนตรงกับตลาดต้องการแล้วยังต้องพัฒนาทักษะของตนเองด้วย เช่น ภาษาต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำให้กับตนเองต่อไป 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"บอกทุกคนบนรถไฟว่าผมรักพวกเขา" คำพูดสุดท้ายของผู้ต่อสู้กับความเกลียดชังแห่งพอร์ตแลนด์

$
0
0

กรณี "ฮีโรแห่งพอร์ตแลนด์" ที่ชายสองคนถูกมีดแทงเสียชีวิตและอีกหนึ่งคนที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากพวกเขาพยายามปกป้องเยาวชนหญิงชาวมุสลิม ที่กำลังถูกโจมตีจากคนที่เหยียดเชื้อชาติบนรถไฟในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ด้านสื่อท้องถิ่น Oregon Live นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์และพยายามช่วยเหลือ เธอเล่าถึงคำพูดสุดท้ายของฮีโรคนหนึ่งว่า "บอกกับทุกคนบนรถไฟนี้ว่าผมรักพวกเขา"

ช่อดอกไม้ไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต 2 ราย จากเหตุการณ์ปกป้องเยาวชนหญิงมุสลิม และเยาวชนผิวดำ ที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา (ที่มา: Ninjanabe/Wikipedia)

2 มิ.ย. 2560 "ฮีโรแห่งพอร์ตแลนด์" ผู้ปกป้องคนที่กำลังถูกโจมตีจากการเหยียดเชื้อชาติได้แก่ ทาลิเอซิน เมิร์ดดิน นัมไคเมเช (Taliesin Myrddin Namkai Meche) อายุ 23 ปี ริค เบสต์ (Rick Best) อายุ 53 ปี ทั้งสองคนนี้ถูกแทงเสียชีวิตหลังจากพยายามเข้าสกัดกั้นผู้มีแนวคิดคนขาวอยู่เหนือเชื้อชาติอื่นที่กำลังตะโกนคำที่ยั่วยให้เกิดความเกลียดชังหรือ "เฮชสปีช" ใส่เยาวชนหญิงชาวมุสลิม 1 ราย และเพื่อนของเธอที่เป็นเยาวชนหญิงผิวดำ ที่โดยสารรถไฟ ส่วนอีกคนหนึ่งที่ถูกแทงคือ มิคาร์ เดวิดโคล เฟลตเชอร์ (Micah David-Cole Fletcher) อายุ 21 ปีถูกส่งไปรักษาพยาบาล

ผู้ก่อเหตุในครั้งนี้คือ เจเรมี โจเซฟ คริสเตียน อายุ 35 ปี ถูกจับกุมตัวฐานเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมจากการทะเลาะวิวาท พยายามฆ่า ข่มขู่คุกคาม และพกพาอาวุธ เขาถูกจับไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา

จากเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ในสื่อท้องถิ่น Oregon Live นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียดจากปากคำของ ราเชล มาซี อายุ 45 ปี ที่อยู่บนรถไฟขบวนที่เกิดเหตุ เธอเล่าว่าคริสเตียนทำเสียงดังโหวกเหวกและใช้วาจาหยาบคายขณะขึ้นรถไฟที่สถานีลอยด์เซนเตอร์เมื่อคืนวันที่ 26 พ.ค. ที่แม้กระทั่งมาซีที่กำลังใส่หูฟังอยู่ยังได้ยิน "เขาตะโกนว่าเขาเป็นคนจ่ายภาษีและพวกคนผิวสีทั้งหลายก็กำลังทำให้ประเทศนี้พังลงและอ้างว่าเขามีสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ" มาซีกล่าว

มาซี ซึ่งมีเชื้อสายของชนพื้นเมืองอเมริกัน เล่าต่อไปว่าหลังจากนั้นคริสเตียนก็ใช้คำใส่ร้ายต่อต้านชาวมุสลิม เธอกลัวเขาเพราะตัวเธอเองก็เป็นคนผิวสีเลยพยายามไม่มองหน้าเขา บรรยากาศในตอนนั้นตึงเครียดมาก ในตอนนั้นที่นั่งบนรถไฟเต็มหมดแล้วผู้โดยสารคนอื่นๆ ยืนกันหมด มาวีบอกว่าเธอเริ่มรู้สึกผิดสังเกตเมื่อเห็นชายคนหนึ่งพยายามออกห่างจากคริสเตียนซึ่งต่อมาทราบว่าชชายคนนั้นคือ นัมไคเมเช อายุ 23 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิต

ในตอนนั้นผู้ที่อยู่ใกล้กับคริสเตียนที่สุดคือเบสต์ ผู้เสียขีวิตอีกรายหนึ่ง เขาพยายามทำให้คริสเตียนสงบสติอารมณ์ลงและบอกว่าเขาได้ยินสิ่งที่คริสเตียนพูดแล้ว เช่นบอกว่า "ผมรู้ว่าคุณเป็นคนจ่ายภาษีแต่การทำให้ผู้คนกลัวก็เป็นเรื่องไม่โอเค" แต่คริสเตียนก็ยังคงตะโกนต่อไปเหมือนกับไม่ฟังใครแล้วก็พูดเสียงดังกว่าเดิม ในช่วงนั้นเองมีการประกาศจากผู้ปฏิบัติการรถไฟออกทางเครื่องขยายเสียงว่าใครที่ก่อความวุ่นวายจะถูกเชิญให้ออกจากรถไฟในสถานีถัดไป คริสเตียนได้ยินดังนั้นก็ตะโกนว่าเขาจะออกจากรถไฟในขบวนถัดไปและใครก็ตามที่ตามเขามาจะต้องตาย

จากนั้นนัมไคมาเชก็เข้าไปพูดเสียงดังกับคริสเตียนว่าเขาควรจะออกจากรถไฟขบวนนี้ ในตอนนั้นทั้งเบสต์ มันไคเมเช และเฟลตเชอรืต่างก็พยายามลดความตึงเครียดในขบวนรถไฟลงด้วยพยายามให้คริสเตียนลงจากรถไฟ

ตัวมาซีเองบอกว่าเธอไม่ได้เห็นชัดเจนว่าหญิงชาวมุสลิมสองคนที่ถูกคริสเตียนข่มเหงเป็นคนไหนกันแน่ในหมู่ผู้โดยสารที่นั่งอยู่แต่คนที่ถูกแทงเสียชีวิตต่างก็พยายามสกัดกั้นคริสเตียนไว้ไม่ให้เขาเข้าหาผู้หญิงทั้ง 2 คน ซึ่งทำให้คริสเตียนไม่พอใจและขู่ว่า "ถ้าแตะต้องผมอีก ผมจะฆ่าคุณ" ในขณะนั้นเองนัมคเมเชก็ยังคงถือโทรศัพท์อยู่โดยไม่แน่ใจว่าเขากำลังค้นหาอะไรสักอย่างจะให้คริสเตียนดูหรือกำลังบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในจุดนั้นเองที่คริสเตียนปัดโทรศัพท์ออกจากมือของนัมไคเมเชและแทงเขาที่คอ มาซีบรรยายว่าฉากที่เห็นเหมือนกับฝันร้าย

หลังจากก่อเหตุแทงผู้คนคริสเตียนก็ตะโกนด่าทอผู้โดยสารคนอื่นๆ แล้วก็พยายามหลบหนี ในตอนนั้นเองมาซีเห็นเบสต์เดินมาไม่กี่ก้าวแล้วก็ล้มลง เธอเข้าไปปลอบโยนเขาว่า "อยู่กับพวกเรา คุณเข้มแข็ง อยู่กับพวกเรา"

ไม่เคิล เคนเนดี ผู้เห็นเหตุการณ์อีกรายหนึ่งที่เดินผ่านผู้คนที่กำลังวิ่งหนีระบุถึงเหตุการณ์ว่าเขาและคนอื่นๆ พยายามเข้าไปปั้มหัวใจให้กับเบสต์จนกระทั่งหน่วยฉุกเฉินมาถึง

ในตอนนั้นเองมาซีก็เห็นนัมไคเมเชล้มลงเสื้อเปื้อนเลือด บอกว่า "ผมกำลังจะตาย" ในตอนนั้นมาซีนั่งลงกับพื้นแล้วบอกให้นัมไคเมเชนอนลงจากนั้นจึงพยายามปฐมพยาบาลด้วยการเอาเสื้อดล้ามของเธอห้ามเลือดจากคอของนัมไคเมเช ในตอนนั้นมีอรกคนหนึ่งที่บอกว่าตัวเองเป็นทหารผ่านศึกพยายามปลอบโยนนัมไคเมเชเพื่อไม่ให้เขาตื่นตระหนก บอกว่าหัวใจเขายังเต้นอยู่และพูดว่าได้ยินเสียงไซเรนรแล้วมีคนกำลังจะมาช่วย ขณะที่มาซีบอกเขาซ้ำๆ ว่า "คุณไม่ได้อยู่ลำพังคนเดียว พวกเราอยู่นี่แล้ว" และ "สิ่งที่คณทำเป็นความการุณย์ คุณเป็นคนที่จิตใจดีงามมาก ฉันเสียใจที่โลกนี้มันชางโหดร้าย"

จากนั้นมาซีก็สวดภาวนาพอเธอบอกให้นัมไคเมเชภาวนาตามไปด้วยเขาก็หลับตาลงแล้วพยายามที่จะหายใจ ส่วนเฟลตเชอร์เดินโซเซออกจากรถไฟในขณะที่กุมคอตัวเองไว้

มาซียังคงอยู่บนรถไฟจนกระทั่งตำรวจและหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมาถึงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่แพทย์พยายามช่วยเหลือเบสต์อย่างเต็มความสามารถแต่เขาก็เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนนัมไคเมเชถูกนำขึ้นเปลไปโดยมีมาซีอยู่ข้างๆ ข้อความสุดท้ายที่นัมไคเมเชพูดกับมาซีคือ "บอกทุกคนบนรถไฟว่าผมรักพวกเขา"

มาซีทิ้งสัมภาระของตนไว้แล้วเดินกลับเข้าไปในรถไฟในจุดที่เบสต์นอนอยู่ เธอสวดภาวนาให้เขาและครบครัวของเขา "พระผู้สร้าง ได้โปรดปลอบโยนครอบครัวของเขาที่ไม่รู้ว่าคุณอยู่ที่นี่" เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกกับมาซีว่า "คุณทำได้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้แล้ว ถึงเวลาออกจากรถไฟแล้ว"

หลังงจากนั้น 20 นาที เธอก็ได้รับรู้จากเจ้าหน้าที่ว่านัมไคเมเชเสียชีวิตแล้ว ในคินถัดจากวันเกิดเหตุพ่อแม่ของนัมไคเมเชจัดรำลึกที่จุดรอรถไฟ มาซีนำหินทาสีม่วงรูปหัวใจซึ่งเป็นหินที่เธอใช้สวดภาวนามอบให้ครอบครัวของนัมไคเมเช ครอบครัวขอบคุณเธอที่อยู่กับลูกของพวกเขาในช่วงก่อนเสียชีวิตแะบอกว่า "เธอดูเหมือนแม่สำหรับลูกของพวกเขาในช่วงเวลานั้น"

มาซีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 5 คน เธอกำลังศึกษาจิตวิทยาอยูที่วิทยาลัยคาสเคดแห่งพอร์ตแลนด์และต้องอาศัยรถไฟขบวนดังกล่าวเดินทางไปกลับเพื่อเรียนในวิทยาลัย เธอเล่าว่าเธอแค่ทำในสิ่งที่เธอคิดว่าควรที่จะทำ เธอคิดเสมอว่า "คนๆ นี่เป็นลูกของใครคนหนึ่ง" มาซียังบอกอีกว่าเหล่าฮีโรแห่งพอร์ตแลนด์เหล่านี้เป็นเสมือนเทวทูตในหมู่ผู้คนเพราะพวกเขาลุกขึ้นเสี่ยงตัวเองเพื่อปกป้องคนอื่นจากคนเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่เธอพูดถึงคริสเตียนว่าเขาเป็นคนที่ทำตัวมุทะลุและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เป็นคนที่ไม่มีเหตุผลเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า

เรียบเรียงจาก

Portland MAX hero's last words: 'Tell everyone on this train I love them', Oregon Live, 30-05-2017

'He will remain a hero': families and friends mourn victims of Portland stabbing, The Guardian, 28-05-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รื้อถอนอนุสาวรีย์ฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองสหรัฐ-และการชิงพื้นที่นิยามของฝ่ายขวา

$
0
0

เช่นเดียวกับหลายๆ ที่ในโลก สหรัฐอเมริกาก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายอยู่เช่นกัน นั่นคือการใช้ทาสของสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ฝ่ายใช้ทาสพ่ายแพ้ แต่ฝ่ายขวาบางส่วนในปัจจุบันก็ไม่ยอมปล่อยให้ประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้เช่นนี้ถูกจารึกไว้เป็นบทเรียน พวกเขาพยายามยึดครองพื้นที่การอธิบายประวัติศาสตร์ในแบบที่เข้าข้างตัวเอง และแสดงออกถึงการคุกคามต่อผู้ที่ต้องการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของพวกเขา

(ซ้าย) นายพลโรเบิร์ต อี ลี แม่ทัพของฝ่ายสมาพันธ์ ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา (ขวา) การรื้อถอนอนุสาวรีย์นายพลโรเบิร์ต อี ลี ของฝ่ายสมาพันธ์ ที่นิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ที่มา:  The Library of Congress Prints & Photographs Online Catalog และ Infrogmation of New Orleans/Wikipedia)

ในรายงานของวอชิงตันโพสต์เมื่อ 30 พ.ค. ระบุถึงการถกเถียงเกี่ยวกับการถอดถอนอนุสาวรีย์ผู้ที่ฝ่ายสนับสนุนทาสยกให้เป็นวีรบุรุษออก ถึงแม้ว่าสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ จะจบลงเป็นเวลานานมากกว่า 150 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงมีความขัดแย้งด้านมรดกทางความคิดและอนุสาวรีย์ที่เป็นตัวแทนฝ่ายสมาพันธรัฐ

กรณีการถกเถียงที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเมื่อมิทช์ แลนดรูว์ นายกเทศมนตรีเมืองนิวออร์ลีนส์มีกระบวนการนำอนุสาวรีย์ฝ่ายสมาพันธ์ทั้ง 4 แห่งออกไป โดยมองว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้คืออนุสาวรีย์ของผู้นำคนขาวที่มองตัวเองเป็นเผ่าพันธ์ที่สูงสุด (white supremacists) และเป็นอนุสาวรีย์ที่ถุกนำมาใช้ยกย่องว่าพวกเขาเป็น "กบฏ" ที่ทำการกบฏต่อประเทศเพื่อต่อต้านการเลิกทาสไม่สำเร็จ

แลนดรูว์พูดถึงความพร่ำเพ้อของฝ่ายสนับสนุนสมาพันธ์ที่มองเรื่องนี้เป็นตำนานการกบฎที่น่ายกย่องว่า "เป็นการเก็บซ่อนความจริงที่ว่าฝ่ายสมาพันธ์อยู่ในฝ่ายที่ผิดในแง่ของความเป็นมนุษย์" การถอนอนุสาวรีย์ฝ่ายสมาพันธ์รัฐโดยแลนดรูว์เป็นผลสำเร็จในที่สุด แต่ก็ไม่ได้สำเร็จได้โดยง่ายเพราะต้องเผชิญแรงต้านจากฝ่ายขวา เช่น บริษัทแรกที่ทำสัญญากับเมืองนิวออร์ลีนในการนำอนุสาวรีย์ออกถูกฝ่ายขวาข่มขู่เอาชีวิตและถึงขั้นถูกเผารถยนต์ขู่ และก่อนที่จะได้ดำเนินการเช่นนี้แผนการขอนำอนุสาวรีย์เหล่านี้ออกก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเป็นเวลา 2 ปี ต้องรอการลงมติจากสภาเมืองและมีการโต้แย้งทางกฎหมายจำนวนมาก

การต่อต้านของฝ่ายขวาในรัฐตอนใต้ยังถึงขั้นมีการใช้คำที่แสดงความรุนแรงในประวัติศาสตร์ เมื่อมีการนำรูปปั้นของ นายพล โรเบิร์ต อี  ลี นักการเมืองฝ่ายสมาพันธรัฐออก มีนักการเมืองจากรัฐมิสซิสซิปปีรายหนึ่งบอกว่าคนที่ผลักดันให้มีการนำรูปปั้นนี้ออกไปจะต้อง "ถูกรุมประชาทัณฑ์" (lynched) โดยที่คำว่า "lynch" นี้เองเคยเป็นวิธีการลงโทษแบบนอกกฎหมายอย่างป่าเถื่อนด้วยการที่กลุ่มคนจำนวนมากเป็นสักขีพยานในการจับคนแขวนคอ คนขาวในสหรัฐฯ เคยกระทำการลงทัณฑ์โหดร้ายเช่นนี้กับคนดำในยุคสมัยช่วงสงครามกลางเมือง ในบางยุคสมัยยังกระทำกับเชื้อชาติอื่น อย่างชนพื้นเมืองอเมริกัน ชาวเม็กซิกัน หรือชาวจีน ด้วย

แลนดรูว์ชี้ว่าการใช้คำของนักการเมืองคนนี้เองที่ชี้ชวนให้มองว่ารูปปั้น อนุสรณ์ต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่หินแค่เหล็กหรือความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นภัยอะไร แต่มันเป็นอนุสรณ์ที่สร้างความทรงจำเทียมขึ้นมาทำให้ฝ่ายสมาพันธ์รัฐดูบริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยไม่สนใจว่าจริงๆ แล้วมันคืออนุสรณ์ตัวแทนของความตาย การใช้ทาส และการสร้างความหวาดกลัว

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ไม่เพียงแค่ในนิวออร์ลีนส์เท่านั้น นายกเทศมนตรีของบอลติมอร์ก็กำลังหวังว่าจะหาวิธีจัดการกับรูปปั้นสมาพันธ์รัฐเหล่านี้ได้เช่นกัน

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีการชำระประวัติศาสตร์ความผิดบาปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในสเปนที่การลงมติเชิงสัญลักษณ์ให้มีการขุดซากอดีตจอมเผด็จการฟรานซิสโก ฟรังโก ขึ้นมาจากแหล่งท่องเที่ยว เพราะต้องการให้แหล่งอนุสรณ์นี้เป็นพื้นที่รำลึกผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองที่โหดร้ายของสเปน ไม่ใช่พื้นที่รำลึกถึงเผด็จการโหดผู้ชนะในสงคราม

ในเยอรมนีและฝรั่งเศสเองก็มีความไม่พอใจจากฝ่ายขวาจัดที่ต้องแบกรับความผิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากผ่านไปแล้วมากกว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม

กรณีของสหรัฐฯ เองการสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงผู้นำฝ่ายสมาพันธ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันทีลังจบสิ้นสงคราม โมนิกา เฮสเส นักข่าวและนักเขียนสหรัฐฯ กล่าวว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นหลายสิบปีหลังจากจบสงคราม พวกมันเป็นอนุสาวรีย์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดในสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ก่อร่างสหรัฐฯ ขึ้นมา

ในวันที่ 29 พ.ค. ของทุกๆ ปี เป็นวันที่สหรัฐฯ จะรำลึกผู้ที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองโดยที่ครอบครัวหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายจะทำการตกแต่งประดับประดาหลุมฝังศพของผู้ล่วงลับ แต่ขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นพื้นที่ของนักการเมืองในรัฐทางใต้ที่พยายามสร้างภาพให้กับฝ่ายสมาพันธรัฐ รูปปั้นบางแห่งที่ตั้งไว้ในสุสานกำลังจะถูกนำออกเช่นรูปปั้นของลี รูปปั้นของลีนี้ยังถูกฝ่ายขวาพยายามโยงเข้ากับบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ แม้ว่ามันจะถูกสร้างสร้างหลังการถือกำเนิดของจอร์จ วอชิงตัน บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ตัวจริง 152 ปี

เดวิด ไบรท ศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลเปิดเผยว่าอนุสาวรีย์ของฝ่ายสมาพันธรัฐถูกสร้างขึ้นมาบูชาประหนึ่งเป็น "พ่อ-ลูก" ผู้ปกปองสิ่งที่คนเล่านั้นเชื่อว่าเป็น "เสรีภาพแบบอเมริกัน" ด้วยการเล่าประวัติศาสตร์แบบแปลกๆ ให้ผู้นำฝ่ายสมาพันธรัฐดูมีสถานะ "เทียบเท่าพระเจ้า" ในยุคสมัยของคนเหล่านั้น เฮสเสบอกว่าผู้สร้างความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ใช่พวกลูกหลานหรือคนรักของทหารผ่านศึกที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองแต่เป็นคนรุ่นหลังจากนั้นที่ไม่ยอมอ่อนข้อทางความเชื่อ

ไบรทเปิดเผยอีกว่าการสร้างตำนานให้ผู้นำสมาพันธรัฐสนับสนุนทาสเหล่านี้เองปูทางให้ยุคต่อๆ มามีการเหยียดเชื้อชาติในระดับที่ถูกทำใเป็นสถาบัน รวมถึงจากข้อความหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เองด้วย เขาเคยอ้างใช้วาทกรรมที่ว่า "พวกสมาพันธรัฐ" ยุคใหม่มีความเจ็บปวดในแบบของคนขาวที่ไม่พอใจประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ท่าทีของทรัมป์ในการวางพวงหรีดแสดงการรำลึกที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็พูดถึง "ความกล้าหาญ" ของทหารผู้ออกรบและช่วยกันสร้างชาติโดยไม่ได้ระบุฝ่าย

เทียบกับสุนทรพจน์ของนักปลดปล่อยทาสชื่อเฟรเดอริค ดักลาส ที่สุสานแห่งเดียวกันในปี 2424 ที่ไม่ได้ยกย่องความกล้าหาญแต่พูดถึงความสำคัญของการปกป้องประเทศสหรัฐฯ จากน้ำมือของกลุ่มกบฏที่พยายามสร้างสถาบันทาส แนวคิดเช่นนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในหัวของประธานาธิบดีคนปัจจุบันแต่ดูเหมือนจะตกทอดมาถึงแลนดรูว์

"มันเป็นสิ่งที่จะฉีกประเทศเราออกเป็นชิ้นๆ และกดขี่สหายชาวอเมริกันให้กลายเป็นทาส นี่คือประวัติศาสตร์ที่พวกเราไม่ควรจะลืมแล้วก้เป็นประวัติศาสตร์ที่พวกเขาไม่ควรจะเอาขึ้นไปไว้บนหิ้งเพื่อยกย่องบูชาด้วย" แลนดรูว์กล่าว

เรียบเรียงจาก

The debate over Confederate monuments shows how far the U.S. has to go, Washington Post, 30-05-2017

'It's shameful for Franco's victims': Spanish MPs vote to exhume dictator, The Guardian, 11-05-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนมั่นใจน้อยถึงน้อยที่สุดว่า รธน. จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

$
0
0
กรุงเทพโพลล์ระบุ 4 ข้อคำถามจากนายกฯ ประชาชนเห็นว่ามีนัยให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งว่ามั่นคงหรือยัง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6 เห็นว่าควรจัดเลือกตั้งเมื่อสถานการณ์ประเทศอยู่ในภาวะเหมาะสม ทั้งนี้ร้อยละ 61.1 มั่นใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 
 
 
3 มิ.ย. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “4 ข้อคำถามจากนายกฯ สู่ โรดแมปการเลือกตั้ง” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  จำนวน 1,227 คน พบว่า
 
จาก 4 ข้อคำถามของนายกรัฐมนตรี ที่ฝากไว้กับประชาชนในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประชาชนร้อยละ 30.2 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีนัยเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งว่ามั่นคงหรือยังรองลงมาร้อยละ 29.4 มีนัยว่าหากบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยอาจจะไม่ได้จัดการเลือกตั้งตามโรดแมป และร้อยละ 26.6 มีนัยว่า หากไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรมในการเมืองก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ที่เหลือร้อยละ 13.8 มีนัยเพื่อส่งสัญญาณถึงนักการเมืองว่าได้จัดการปฏิรูปพรรคการเมืองและตนเองแล้วหรือยัง
 
ทั้งนี้เมื่อถามถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6เห็นว่าควรจัดเลือกตั้งเมื่อสถานการณ์ประเทศอยู่ในภาวะเหมาะสมขณะที่ร้อยละ 30.4 ระบุว่าควรจัดเลือกตั้งตามเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป
 
ส่วนความมั่นใจที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล นั้นประชาชนร้อยละ 61.1 มีความมั่นใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 38.9 มีความมั่นใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
 
สำหรับเรื่องที่มีความกังวลมากที่สุด ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งตามโรดแมป ประชาชนร้อยละ 40.8 กังวลเรื่องการสร้างสถานการณ์ต่างๆเพื่อสั่นคลอนบ้านเมืองเช่นวางระเบิดก่อกวนสร้างความไม่สงบฯลฯรองลงมาร้อยละ 38.7 กังวลเรื่องการระดมหัวคะแนนเพื่อเร่งหาฐานเสียงให้กับนักการเมืองด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรม และร้อยละ 20.5 กังวลว่าจะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆไม่มีหน้าใหม่ๆเข้ามาลงสนามในการเลือกตั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะคนไทยในฟิลิปปินส์เลี่ยงพื้นที่ชุมชน-พกพาสปอร์ต

$
0
0
สถานทูตไทย ณ กรุงมะนิลา แนะคนไทยเพิ่มความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์ในฟิลิปปินส์ใกล้ชิด เลี่ยงพื้นที่เกิดเหตุ สถานที่คนพลุกพล่าน พกพาสปอร์ตติดตัวตลอดเวลา 

 
สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ค ระบุว่า ขอแจ้งคนไทยที่พำนัก/ทำงานอยู่ในฟิลิปปินส์ และคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาฟิลิปปินส์ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์ในฟิลิปปินส์จากเว็บไซต์และเฟซบุ๊คสถานเอกอัครราชทูตฯ รวมทั้งจากทางการและสื่อท้องถิ่นฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด
 
หากไม่มีความจำเป็น ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเกาะมินดาเนา โดยเฉพาะเมืองมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่เกาะมินดาเนาอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายในเมืองมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปใน Resort World Manila ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ หรือพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งสถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่านหรือแออัดในกรุงมะนิลา หรือเมืองใหญ่ เช่น นครเซบู
 
สถานทูตไทย กรุงมะนิลา ยังขอให้คนไทยในฟิลิปปินส์ให้ความร่วมมือกับทางการฟิลิปปินส์ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นตามจุดตรวจต่าง ๆ โดยขอให้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวไว้ตลอด เพื่อแสดงตน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตนักศึกษาจีนเปิดเผยภาพถ่ายชุมนุมเทียนอันเหมินหลังเก็บมานาน 28 ปี

$
0
0

เดวิด เฉิน อดีตนักศึกษาจีน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เขาเคยร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 และถ่ายภาพในช่วงก่อนที่รัฐบาลจะปราบปราม เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เขาจึงเก็บภาพเอาไว้โดยไม่ได้เผยแพร่มานานกว่า 28 ปี กระทั่งหลังจากเขาเดินทางไปสหรัฐฯ เมื่อปี 2555 และในโอกาสเหตุรำลึกปีนี้ เขาจึงนำรูปออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ

3 มิ.ย. 2560 นิวยอร์กไทม์เปิดเผยรูปถ่ายการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่เจ้าของภาพเก็บซ่อนเอาไว้ถึง 28 ปี โดยผู้ถ่ายภาพทคือ เดวิด เฉิน ภาพถ่ายของเขาเผยให้เห็นช่วงที่กลุ่มนักศึกษาในจีนยึดครองพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่งในปี 2532 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและประท้วงการทุจริตในภาครัฐ

ในปีนั้น เฉินอายุ 25 ปี เขาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยทางทะเลต้าเหลียน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทีแรกเขาคอยสนับสนุนการประท้วงที่เทียนอันเหมินอยู่ห่างๆ แล้วก็เป็นผู้ช่วยจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองต้าเหลียนซึ่งเป็นเมืองท่าของจีน แต่ต่อมาเขาก็อดไม่ไหว จึงเดินทางไปเข้าร่วมการประท้วงที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเฉินได้พกกล้องไปชุมนุมด้วยในยุคสมัยนั้นที่น้อยคนในจีนที่จะกล้อง โดยที่เฉินได้รับกล้องมาจากลุงของเขาที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน นั่นทำให้เฉินคอยเก็บภาพจากสถานที่ชุมนุมตลอดเวลา1 สัปดาห์เอาไว้ด้วย

หลังกลับจากชุมนุมที่เทียนอินเหมิน เฉินก็ทำการล้างาพแบบขาวดำแล้วแปะบนกระดานหน้าห้างสรรพสินค้าในต้าเหลียนเป็นเวลา 3 วันเพื่อขอเพิ่มแรงสนับสนุนและขอบริจาคให้กับผู้ชุมนุม แต่หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เฉินกลับต้าเหลียนกองทัพจีนก็ใช้ความรุนแรงเข้ายึดพื้นที่จัตุรัสคืนในวันที่ 3-4 มิ.ย. จนเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดมีประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน

เฉินเก็บซ่อนฟิล์มเนกาทีฟของตัวเองไว้กับพ่อแม่ของเขาโดยไม่ได้แตะต้องมันอีกเลยเป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษจนกระทั่งเขาทำให้มันกลายเป็นดิจิตอลและนำติดตัวเขาไปด้วยในช่วงที่เขาอพยพไปยังสหรัฐฯ ในปี 2555 ผ่านมาจนใกล้ครบวาระการปราบปรามผู้ชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2560 เฉินก็ยอมเปิดเผยภาพถ่ายของเขาให้ผู้คนได้ชมผ่านนิวยอร์กไทม์

ภาพถ่ายของเฉินเป็นภาพขาวดำหลายภาพประกอบด้วยภาพกลุ่มนักศึกษาเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาที่เทียนอันเหมินในหลายมุม ทั้งมุมที่มีแกนนำนักศึกษากำลังพูดกับฝูงชน รูปนักศึกษาเดินขบวนพร้อมป้ายประท้วงว่าระบุว่า "ข้อกล่าวหาต่อนักศึกษาไม่มีมูลความจริง" มีรูปรถประจำทางขนมวลชนและเสบียงมาร่วมชุมนุม รวมไปถึงรูปในช่วงที่รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค. 2532 และกำลังโปรยใบปลิวลงนบริเวณที่ชุมนุมให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งนอกจากนักศึกษาแล้วยังมีรูปของคนงานคอปกน้ำเงินร่วมชุมนุมโดยมีป้ายเขียนว่า "สหพันธ์คนงานปักกิ่ง" อยู่หน้าเทียนอันเหมิน

"เวลาผ่านมาแล้ว 28 ปี โลกควรจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น" เฉินกล่าว

รับชมรูปของ เดวิด เฉินได้ที่ Hidden Away for 28 Years, Tiananmen Protest Pictures See Light of Day, New York Times, 01-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมสงวนบ้านชุมชนป้อมมหากาฬไม่คืบ กทม. เผย เมื่อลงพื้นที่ยังมีบกพร่อง

$
0
0

ทีมนักวิชาการ ผู้แทนชุมชน ยัน ชุมชนป้อมฯ เป็นห้องเรียนผังเมือง เหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย วอน กทม. อย่าสงวนบ้านอย่างเดียวให้เอาชุมชนไว้ด้วย กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือน หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ

3 มิ.ย. 2560 กลุ่มตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ทางกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการ มีการจัดประชุมหัวข้อ การพิสูจน์คุณค่าของบ้านในการพิจารณากรอบการอนุรักษ์ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ ที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพฯ เป็นการประชุมต่อจากเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) ที่เป็นการถกเถียงกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องข้อมูลกรรมสิทธิ์บนที่ดินและผู้อยู่อาศัยจริง และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะเลือกสงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ โดยเมื่อวานอนุมัติให้สงวนไว้แล้ว 2 หลัง และวันนี้จะพิจารณาอีก 16 หลัง(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยข้อสรุปของที่ประชุมจะได้ให้ธีรพันธ์ มีชัย เลขานุการ กทม. นำไปให้ฝ่ายบริหาร กทม. พิจารณา

มีผู้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ธีรพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณัฐนันทน์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. เป็นต้น ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ ได้แก่ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกุล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง สานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ อภิชาติ วงสวัสดิ์ อาสาสมัครด้านกฎหมาย ทั้งนี้ยังมีอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมประชุมด้วย

แจงคุณค่าชุมชนป้อมฯ ชี้ เป็นห้องเรียนผังเมืองและเหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย

สุดจิต สนั่นไหว พูดถึงเกณฑ์คุณค่าศิลปะ สถาปัตยกรรมว่า บ้านหลังที่ 75 ดูโดยลักษณะแล้วจะอยู่ร่วมสมัย ร.5-7 ลงมา มีปั้นหยาและช่องระบายอากาศ แต่ยังไม่ได้ทำรังวัดสำรวจ ในกลุ่มสีส้ม ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5-7 ต้องขอเข้าไปทำการสำรวจก่อน แต่ไม่สงสัยว่าทั้งหมดนั้นมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอยู่ อัชชพล กล่าวว่า 22 หลังที่เสนอให้อนุรักษ์ไว้เพราะมีคุณค่าเพียงพอเกิดจากการทำงานเป็นทีม ภายใต้การนำของ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วส่งเรื่องมายังสมาคมสถาปนิกฯ จากทั้งหมด 102 หลัง เสนอเบื้องต้นขึ้นมา 16 หลัง หลังเหตุการณ์สวรรคตของในหลวง ร.9 ก็ได้เร่งให้มีการสำรวจต่อ โดยสมาคมฯ สามารถเข้านำความชำนาญด้านทักษะและเทคโนโลยีไปช่วยเหลือ กทม. ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างสิ่งที่ทุบไปใหม่ตามข้อมูลเก่าที่มี

ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวว่า ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ผังเมืองว่า ชุมชนป้อมฯ เป็นยุทธภูมิของการมีชุมชนอยู่กับกำแพงพระนครผนวกกับคูคลอง ความสำคัญไม่ได้แยกตามแบบสถาปัตยกรรม แต่บ้านทุกหลังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมกันมา ทั้งในจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ ร.1 ถึงปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬคือชุมชนเก่าแหล่งสุดท้าย แต่ในมุมผังเมือง พื้นที่ศิลปะวัฒนธรรม เป็นตรอกที่มีความสำคัญ เชื่อมต่อกับบ้านที่เป็นข้าราชบริพาร แต่เขตบ้านสีขาว (พื้นที่นอกพิจารณาที่เหลือ – ผู้สื่อข่าว) มีความสำคัญในลักษณะยุทธศาสตร์การตั้งเมืองและเป็นพื้นที่ค้าขาย ดังนั้นต้องดูว่ากิจกรรมการค้าของเขามีความสำคัญกับชุมชนอย่างไร เช่นการทำเศียรพ่อแก่ เป็นชุมชนมุสลิมที่ทำหน้าที่หลอมทอง ซึ่งในอนาคตกำลัง คุณค่าของการเป็นพื้นที่ป้องกันพระนครและเศรษฐกิจ อย่างไรเสีย การแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ที่ตัวกฎหมาย ยกกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตาก พบว่ามีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคัดแยกผู้เสียกรรมสิทธิ์ และแก้ไขนโยบายการชดใช้

รุ่งโรจน์ กล่าวว่า หลักฐานที่พบว่าชุมชนมีแนวโน้มมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ คือการพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มาขยายตัวเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และตั้งป้อมมหากาฬ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการตั้งเมือง เพราะติดคลองโอ่งอ่างอันเป็นพื้นที่สัญจรสำคัญสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และทางออกทางตะวันออก หลังสมัย ร. 5 เริ่มมีการนำระบบผังเมือง สิ่งปลูกสร้างตามแบบแผนตะวันตกขึ้น ซึ่งล้อมรอบชุมชนป้อมฯ ทำให้ชุมชนเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ รวมถึงสภาพการจัดตั้งชุมชนที่เป็นพื้นที่ลาดลงสู่แม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันไม่มี ทำให้เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับภูมิปัญญาในอดีต

รุ่งโรจน์ เห็นว่า เมื่อเรามองเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม คนไทยมักมองไปที่วัด วัง แต่สภาพชุมชนของประชาชนไม่ค่อยมีใครนึกถึง แต่กลุ่มบ้านเหล่านี้สามารถเป็นห้องเรียนเรื่องเทคนิคงานช่างในอดีต แบบที่ญี่ปุ่นมีทักษะในการเลียนแบบของเ่กาได้เหมือน แต่ของเราทำไมไม่เหมือน เพราะว่าเรามักไม่เก็บของเก่าไว้ ปัจจุบัน ชุมชนชานพระนครเช่นนี้ได้หายไปเกือบจะหมดแล้ว

อาจารย์จาก ม.รามคำแหง ระบุเพิ่มเติมว่า หลังสร้างกำแพงกรุงฯ แล้ว กิจกรรมใหญ่คือการสร้างภูเขาทอง ชุมชนใกล้เคียงจึงเป็นที่อยู่ของแรงงานด้วย ถือเป็นความเกี่ยวพันระหว่างชุมชนกับพื้นที่ตรงข้ามฝั่งคลองด้วยกัน ทั้งรูปแบบการอยู่อาศัยสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้หลายๆอย่าง เช่น เหตุผลของการเสียชีวิตเพราะโรคระบาดจำนวนมากในพระนคร

สุพิชชา กล่าวว่า ชุมชนป้อมฯ ยังเชื่อมต่อกับคนภายนอกด้วย มีภาคีกับทั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิที่ดิน ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม และกลุ่มนักวิชาการทั่วประเทศ เพราะนักวิชาการเชื่อว่าที่ชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนทางวิชาการอยู่ในชุมชน ชุมชนยังเป็นพื้นที่กรณีศึกษาให้กับอาจารย์ นักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์หรือทำการวิจัยหลายต่อหลายกรณีแล้ว เคยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาทำวิจัยด้วย

นักวิชาการชี้ ชุมชนยังเข้มแข็ง วอน กทม. ดันแก้ พ.ร.ฎ. ขอสงวนทัังบ้านทั้งคนอยู่

สุพิชชา กล่าวว่า ในเชิงวิชาการจะให้ค่าความสำคัญกับความเข้มแข็งของชุมชนมาก มีสมการที่ว่า ความพินาศย่อยยับ = ภัยอันตราย หารด้วยความอ่อนแอ (Disaster = Hazard/Vulnerability) ตัวแปรของความย่อยยับคือความเข้มแข็ง และความสามารถในการปรับตัวของชุมชน ถ้าชุมชนมีการรวมตัวกัน จะทำให้มีความเข้มแข็งต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้นการรวมกลุ่่มกันต้องมาจำแนกให้ดี ไม่ใช่เพราะทางกายภาพนั้นอาศัยอยู่หลังกำแพงพระนครด้วยกัน แต่รวมไปถึงความสนใจร่วมของคนในชุมชนด้วย

สุพิชชาได้ยกคุณลักษณะของชุมชน 3 ประการในการระบุคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬ ได้แก่ สภาพชุมชนที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ สิ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ สภาพชุมชนทางวิชาชีพ ในเรื่องภูมิปัญญา และสภาพชุมชนที่มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ และพบว่า คุณค่าความเป็นชุมชนนั้นมีอยู่สูง เช่น การมีลานกลางชุมชน การไ้หว้ต้นไหม้ใหญ่ พิธีสมาพ่อปู่ ทางภูมิปัญญา ก็ยังมีคนที่สามารถเล่นดนตรีได้ ยังมีวิชาชีพการทำกรงนก การหลอมทอง การทำอาหาร หัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา

ในส่วนของสภาพชุมชนมีความสามารถในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ คือรวมกลุ่มกันเองและมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน เด็กๆ มีการร่วมจัดการห้องสมุด ฝึกรำ เรียนรู้ระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสุขภาวะเมือง กลุ่มแม่บ้านมีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ มีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย มีการฝึกอาชีพ ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เคยมีกลุ่มดีไซเนอร์ ศิลปินมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และกลุ่มออมทรัพย์ แสดงออกถึงความมีวินัยของคนในชุมชน ไม่ใช่อยากอยู่กันแบบไม่มีมาตรฐาน ไม่คิดถึงการมีเงินออม และเงินออมในสหกรณ์มีจำนวนนับแสนบาท ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นบรรษัทที่มีผู้ร่วมถือหุ้นได้

ในเวทีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก การรวมกลุ่มของชุมชนถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่เป็นตัวสร้างความเข้มแข็งให้บ้านแต่ละหลัง ชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงพื้นที่ชุมชนใน กทม. ที่กำลังขยายตัวให้มองเป็นตัวแบบด้วย และยังทิ้งคำถามไว้ว่า พระราชกฤษฎีกา ซึ่งโดยธรรมชาติ เกิดจากมติ ครม. นั้นสามารถแนบรายละเอียดเรื่องการให้สิทธิ์การบริหารพื้นที่ชุมชน และบ้านที่สงวนไว้กับชาวชุมชนได้หรือไม่

ทั้งนี้ อภิชาติ ระุบว่า ควรคุยเรื่องข้อกฎหมายให้จบด้วย ต้องให้ทาง กทม. และฝ่ายชุมชน นักวิชาการ คุยเรื่องนี้ให้ตก เพราะการพิสูจน์คุณค่าของชุมชน หมายรวมถึงการให้สิทธิที่อยู่ กรรมสิทธิ์แก่ผู้อยู่อาศัยด้วย แต่ธีรพันธ์ กล่าวว่า ถ้าให้คุยกันในข้อกฎหมายตั้งแต่กฤษฎีกาเวนคืนคือต้องทำให้พื้นที่ป้อมฯ เป็นสวนสาธารณะก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก แต่ว่าขณะนี้ พื้นที่ชุมชนยังมีอยู่ และมีการเรียกร้องการเวนคืน จึงควรมาถกกันบนกรอบเรื่องคุณค่าต่างๆ โดยไม่เอากฎหมายมานำ

กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือน

ธีรพันธ์ กล่าวว่า คุณค่าทางสังคมต้องให้คนข้างนอกชุมชนช่วยกันพิจารณาด้วย ว่ามีมุมมองต่อชุมชนป้อมฯ อย่างไร แต่วันนี้การเห็นพ้องว่าควรสงวนบ้านโบราณไว้ 2 หลัง เป็นสัญญาณว่า กทม. เองก็ให้ความสำคัญแล้ว แต่การปรับแก้ หรือการทบทวนพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีต่อไปในอนาคต พร้อมทื้งโจทย์ให้กลุ่มนักวิชาการและชุมชนอธิบายให้คนภายนอกชุมชนป้อมฯ ที่มีมุมมองต่างออกไปอย่างไร สังคมโดยรอบได้อะไรจากการตัดสินใจเกี่ยวกับชุมชน คนในชุมชนได้อะไร ถ้าคนหมู่มากเห็นชอบแล้ว กฎหมายกฤษฎีกาก็จะถูกแก้ แต่ขอให้ที่ประชุม ตัวแทนฝ่ายชุมชน นักวิชาการคะนึงถึงข้อเสีย จุดอ่อนที่ชุมชนมีด้วยในความเป็นจริง เพื่อให้ตน ที่จะเป็นผู้แทนเข้าไปพูดคุยในที่ประชุมบริหารของ กทม. ได้ตอบคำถามต่างๆได้อย่างชัดเจน

เลขานุการ กทม. กล่าวว่า เรื่องที่ต้องคุยต่อคือการเอารายละเอียดแต่ละแปลงพร้อมโฉนดที่ดินมาแจ้ง จะมีการปรับผังให้ตรงกับโฉนด ปรับผังบ้านให้ดูง่าย และจะคุยต่อเรื่องการระบุคุณค่าเชิงสังคมและวิถีชีวิต และประเด็นข้อกฎหมายที่ถ้าหากติดขัดก็ต้องหาทางออกกันต่อไป ทั้งนี้ ตอนที่ตนไปลงพื้นที่ ยังพบว่าบ้านเรือนหลายหลังยังมีสภาพทรุดโทรม ไม่สะอาด และยังมีประทัดขายอยู่ซึ่งตนได้ตักเตือนไปแล้ว

ฝั่ง กทม. ชี้ หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ

ณัฐนันทน์ ระบุว่า เรื่องกฎหมายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลสมัยก่อนที่เห็นคุณค่าของป้อมมหากาฬ ขณะนั้นคือ ต้องการให้ป้อมโดดเด่น จึงยังไม่เห็นคุณค่าของบ้านไม้ ณ ขณะนั้น ประเด็นที่ละเอียดอ่อนคือ ไม่ใช่ที่บุกรุก แต่เป็นที่ๆต้องอยู่่ร่วมกัน กฎหมายนั้นระบุว่า ไม่จำเป็น ไม่เวนคืน เพราะถือว่าลิดรอนกรรมสิทธิ์ประชาชน ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีความสำคัญมากกว่าสิทธิในกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น สมัยนั้น รัฐบาลเห็นป้อมสำคัญกว่าชุมชน ที่ประชุมนี้เดินมาถูกทางตรงที่เราพูดคุยตรงการบรรลุถึงผลลัพธ์เชิงคุณค่า หลังจากนั้นหากจะไปติดขัดที่กฎหมายตรงไหนก็เสนอให้องค์กรที่มีอำนาจแก้ไขต่อไป

ในสมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน ต้องการทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จึงมอบหมายหน้าที่ให้กรมศิลปากรดูแล แต่การตีความตามกฎหมายนั้นหลีกหนีไม่ได้ ถ้าเราเอาคุณค่ามาคุยกันแล้วจะไม่ให้เสียเปล่า ให้เกิดการโน้มน้าว ก็ต้องให้ผู้มีอำนาจเข้าใจถึงคุณค่าเช่นว่าด้วย และต้องมีอำนาจที่ใหญ่กว่าอำนาจกฤษฎีกามาแก้ไข่ ทั้งนี้ การระบุคุณค่าในที่ประชุมนั้นควรพิจารณาให้ตกผลึก ได้คุณค่าที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิจารณาในฝ่ายบริหารของ กทม.

สำหรับการนัดประชุมครั้งต่อไป เป็นวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุรถยนต์พุ่งชนผู้คนบนทางเท้าในกรุงลอนดอน

$
0
0

4 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่าเกิดเหตุรถตู้แล่นขึ้นบนทางเท้าและพุ่งชนผู้คนจำนวนมากบนสะพานลอนดอนบริดจ์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อช่วงก่อน 23.00 น.คืนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ตำรวจพร้อมอาวุธไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่ารถตู้สีขาวแล่นบนสะพานลอนดอนบริดจ์ด้วยความเร็ว ก่อนปีนขึ้นบนทางเท้าและพุ่งชนผู้คนที่กำลังเดินบนทางเท้าจำนวนมาก เบื้องต้นพบผู้ได้รับบาดเจ็บกำลังได้รับการปฐมพยาบาลบริเวณที่เกิดเหตุอย่างน้อย 5-6 คน ผู้เห็นเหตุการณ์บอกด้วยว่าน่าจะมีคนอย่างน้อย 3 คน ถูกปาดคอ รวมถึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดด้วย ก่อนที่รถตู้ที่ก่อเหตุจะหลบหนีมุ่งหน้าไปทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งปิดการจราจรทั้ง 2 ด้าน และกำลังติดตามรถตู้คันที่ก่อเหตุแล้ว เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นการก่อการร้าย ล่าสุดมีรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 1 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2560

$
0
0
 
ส่งทหารปลดประจำการ ไปฝึกงานญี่ปุ่น
 
กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการ นำร่องโครงการฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่น ฝึกฟรี มีรายได้ตลอดการฝึกงาน พร้อมเตรียมขยายผลจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทหารกองประจำการเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังมีความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ มีระเบียบวินัย ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการ เพื่อให้มีทักษะฝีมือ สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัด สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายหลังปลดประจำการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ประสานกองทัพบกส่งเสริมการมีงานทำแก่ทหารที่จะปลดประจำการไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านองค์กร IM Japan โดยประชาสัมพันธ์โครงการให้กับทหารและฝึกอบรมทักษะภาษาญี่ปุ่นที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา พล ม.2 รอ.สนามเป้า ปตอ.พัน 1 ทุ่งสีกัน และกรมการทหารสื่อสารสะพานแดง ซึ่งมีทหารกองประจำการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก จำนวน 24 คน เป็นศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร 13 คน และศูนย์สอบจังหวัดนครราชสีมา 11 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 จังหวัดปทุมธานีระยะเวลา 4 เดือน จำนวน 6 คน 2 รุ่นๆ ละ 3 คน รุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม – 24 มีนาคม 2560 รุ่นที่ 2 วันที่ 30 มกราคม – เมษายน 2560 สำหรับรุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 2 คน ซึ่งได้เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น
 
การฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่นตามโครงการ IM Japanมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี โดยตลอดระยะเวลา ในการฝึกปฏิบัติงาน จะได้รับเบี้ยเลี้ยง หรือค่าจ้างตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เมื่อฝึกปฏิบัติงานครบจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และรับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งยังมีโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอีกด้วย มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 6,665 บาท เช่น ค่าตรวจสุขภาพก่อนเข้าอบรม ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
 
นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจังหวัดชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท UNION MAEDA CO.,LTD) ประเภทกิจการ การแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท กล่าวว่า การเป็นทหารกองประจำการทำให้มีระเบียบวินัย ฝึกความอดทน และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งการไปฝึกงานครั้งนี้จะได้นำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยี และภาษาญี่ปุ่นกลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
ด้านนายบุญนาค พันธ์สะอาด อายุ 24 ปี จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2557 สังกัด ทบ.2 จทบ. กท. (กรมการทหารสื่อสาร กรุงเทพมหานคร) ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท OZAWA SEISAKUSHO LTD. ประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 41,000 บาท โดยบุญนาคฯ คาดหวังว่าจะนำความรู้ ทักษะและเทคนิคที่ได้จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านภาษามาประกอบธุรกิจส่วนตัวประเภทจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์
 
นายวรานนท์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานยังมีเป้าหมายในการจัดส่งทหารกองประจำการไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1186 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 28/5/2560
 
เครือข่ายลูกจ้างทวงถาม ก.ม.ลูกประกันสังคมอืด
 
วันที่ 28 พ.ค.60 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดอภิปรายเวทีสาธารณะ “2 ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มาตรา 63(2) ผู้ประกันตนได้อะไร” ว่า หลังการแก้พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ปัญหาของผู้ประกันตนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ยังจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ดีขึ้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดชุดสิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพป้องกันโรคขึ้นมา แต่จนถึงตอนนี้ยังมีผู้ประกันตนไปใช้สิทธิน้อย ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มาก โดยสำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแพทย์คลินิกโรคจะต้องเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ
 
ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่าเกือบจะครบ 2 ปี แล้วที่พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ประกาศใช้ แต่กฎหมายลูกต่างๆ ที่ต้องดำเนินการกลับทำได้ช้ามาก และสิ่งสำคัญตอนนี้ มีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางรายการมีการกำหนดช่วงอายุในการได้รับสิทธิตรวจสุขภาพ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว
 
ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการปรับปรุงจัดโปรแกรม บริการตรวจให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานประกอบการ ลักษณะงาน และตั้งกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่หรือระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยการมีส่วนร่วมของนายจ้าง และผู้ประกันตนนอกจากนี้ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนทดแทนบางส่วนมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงาน อีกประการผู้ประกันตนต้องเข้าถึงการฝากครรภ์ตามมาตรฐาน และควรเป็นการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการคลอด โดยใช้งบเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยอื่นๆและให้ได้รับสิทธิเงินค่าชดเชยเหมือนเดิม
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้ทหารกองประจำการให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งมีทหารกองประจำการสมัครเข้าร่วมโครงการ 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก 24 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14จ.ปทุมธานี 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น แล้ว 2 คน และเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งอบรมวันที่ 30ม.ค.– เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางานยังมีเป้าหมายส่งทหารกองประจำการไปทำงานที่เกาหลีใต้ด้วย
 
ด้าน นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจ.ชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี กล่าวว่า ตนได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท ขณะเดียวกันก็จะนำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีและภาษาที่ได้จากฝึกงานครั้งนี้กลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
 
7 สหวิชาชีพเสนอเลิก “ลูกจ้างรายวัน” ยกระดับเป็น พนง.สธ.
 
(29 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ภายหลังเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอและรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพ
 
ล่าสุด นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายออกมาระบุว่า การพูดคุยในวันนั้นทางเครือข่ายฯ ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ข่าวที่ระบุว่าจะมีการอนุมัติเพิ่ม 308 อัตรา “บรรจุตำแหน่งบุคลากรการแพทย์” ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นอัตราเดิมที่ 7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรไว้ตั้งแต่ต้นปี 2560 รวมกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง
 
“7 สหวิชาชีพ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุขทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี”
 
สำหรับประเด็นที่ผู้บริหาร สธ.อ้างว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้นก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้นจึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ เพราะมีน้องๆ ลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งยกเลิก “ตำแหน่งลูกจ้างรายวัน” เปลี่ยนเป็น “พนักงานกระทรวง” ไว้ก่อนทั้งหมด เพื่อความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน ควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
“ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน หากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคมแต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็ยังมีสวัสดิการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อยกว่าหมอและพยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรมให้มีการเปิดตำแหน่งราชการเพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ้าง”
 
นายสมคิดยังยกตัวอย่างวิชาชีพกายภาพบำบัดว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียณที่ไหนไปให้น้องๆ ได้ เป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
“สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆ กายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวังท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียณอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียณอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆ ต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน”
 
 
กอช.อ้อนคลังแก้กฎหมาย ดึงเงินรัฐอุดหนุนเพิ่มขึ้น หลังยอดสมาชิกใหม่อืด
 
กอช. เต้นวอนคลังเร่งแก้กฎหมาย หลังจำนวนสมาชิกใหม่อืด เล็งเพิ่มวงเงินการออมเป็น 25,000 บาท/ต่อปี พร้อมขอรัฐสนับสนุนเพิ่มเป็น 2.5 พันบาท แถมเปิดกว้างรับสมาชิกตั้งแต่แรกเกิด
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กอช. ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบ จำนวน 24-25 ล้านคน เข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น โดยได้เสนอการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งอยากให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กอช. มีสมาชิก 5.4 แสนราย และการสมัครสมาชิกลดลงเหลือเดือนละ 1-2 พันรายเท่านั้น ซึ่ง กอช. ได้เร่งพยายามทำประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนมากขึ้น และได้ตามเป้า 1 ล้านราย ในปีนี้
 
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายคือ การส่งเงินสมทบของสมาชิกจากเดิมไม่เกิน 1.32 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่จำและอธิบายให้สมาชิกเข้าใจได้ยาก จึงขอเพิ่มเงินสมทบของสมาชิกไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่จำได้ง่ายและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกที่ออกจำนวนมากๆ จะได้มีเงินเพื่อใช้การดำรงชีวิตหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ไขเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลสูงสุดไม่เกิน 1.2 พันบาท เป็น 2.5 พันบาท โดยสัดส่วนการสมทบของรัฐบาลยังยึดตามช่วงอายุของสมาชิกเหมือนเดิมคืออายุ 15-30 ปี รัฐบาลสมทบ 50% อายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลสมทบ 100%
 
นายสมพรกล่าวอีกว่า หากกระทรวงการคลังเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายและบังคับใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. มากขึ้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลจ่ายสมทบให้มากขึ้น โดยภาพรวมของการใช้งบประมาณกรณีที่เพิ่มเงินสมทบเป็น 2.5 พันบาทต่อปี ถ้าคิดจากฐานสมาชิกที่ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย เท่ากับรัฐต้องจ่ายเงินสมทบเป็นปีละ 2.5 พันล้านบาท เทียบจากปี 2559 ที่ใช้รูปแบบการจ่ายสมทบปัจจุบัน รัฐต้องจ่ายเงินสมทบราว 600-700 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ในอนาคตต่อไป กอช.ยังมีแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายให้ทุกคนทุกวัยเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ตั้งแต่แรกเกิดและอายุเกิน 60 ปี ก็ยังเป็นสมาชิกได้ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนการออมให้พอมีพอใช้หลังเกษียณอายุ ซึ่งควรทำตั้งแต่แรกเกิดโดยให้พ่อแม่เป็นผู้ทำธุรกรรรมให้ก่อน
 
"การออมของ กอช. เป็นการออมเพื่อมีกินตอนแก่เท่านั้น ไม่ได้เป็นการออมเพื่อให้เกิดความร่ำรวย กองทุนจึงกำหนดเพดานการออมว่าไม่ให้เกินเท่าไร ส่วนที่ปัจจุบันกำหนดสมาชิกต้องเป็นอายุ 15-60 ปี เพราะถือเป็นวัยแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตไม่มีความจำเป็นควรเปิดให้ทุกคนทุกเพศทุกวันทุกอายุเป็นสมาชิกของกองทุนได้หมด" นายสมพรกล่าว
 
 
อาชีวะเล็งตั้งศูนย์ประสานงาน EEC ภาคตะวันออก
 
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประชุมหารือการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ณ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชลบุรี จำกัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามข้อสั่งการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล สอศ. จึงเตรียมความพร้อมในการจัดการอาชีวศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในสถานประกอบการ ทั้งหลักสูตรสำหรับนักศึกษาและหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับพัฒนากำลังคน เพื่อการรองรับอุตสาหกรรมเป้าเหมายในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติในด้านความพร้อมของบุคลากรและกำลังคนของประเทศไทย โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) สอศ. จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดชลบุรี สอศ. ได้ตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานที่เพื่อใช้ในการจัดตั้งศูนย์ คือวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี สำหรับพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอศ. ได้เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง รวมถึงการขยายพื้นที่จัดตั้งศูนย์ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการกำลังคนอย่างถูกต้องเป็นลำดับต่อไป
 
 
Gallup ระบุไทยเป็นชาติที่เปิดให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมกับองค์กรมากที่สุดในอาเซียน
 
บริษัทวิจัยด้านการบริหารจัดการองค์กรชื่อดังเปิดเผยผลสำรวจ การเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร โดยสำรวจจากประเทศภาคพื้นทวีปเอเชีย พบในกลุ่มประเทศอาเซียนฟิลิปปินส์เป็นผู้นำด้านการเปิดให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรมากที่สุด ส่วนไทยเป็นประเทศที่กีดกันการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด
 
โดยในโพลแบ่งข้อมูลสำคัญเป็น 3 ส่วนคือ การมีส่วนร่วมองค์กร ไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร และถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในองค์ร โดยกลุ่มประเทศผู้นำในการเปิดให้มีส่วนร่วมในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์และศรีลังกา ด้านไทยและสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 2ร่วม ในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มกับการมีส่วนร่วมในองค์กรที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน โดยเฉพาะในฮ่องกงนั้นถือว่าเป็นจุดที่มีการกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมของลูกจ้างสูงที่สุดในอาเซียน แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทยกลับกลายเป็นประเทศที่มีการกีดกันให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมน้อยที่สุดในประเทศที่ได้รับการสำรวจ
 
น่าสนใจว่าข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกอะไรในการบริหารจัดการองค์กรในแต่ละประเทศ เมื่อประเทศที่เปิดให้มีส่วนร่วมน้อยอย่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกกลับมีความก้าวหน้าเชิงเศรษฐกิจที่มากกว่า ซึ่งอาจจะสะท้อนความสามารถในการบริหารของผู้นำองค์กรด้วย
 
 
ก.แรงงาน จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่ม 200 บาทต่อหัว เมื่ออบรมลูกจ้างเกิน 70 เปอร์เซ็นต์
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 -นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ) กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้าง หากไม่จัดหรือจัดฝึกอบรมแต่ไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากยิ่งขึ้น
 
โดยการใช้มาตรการจูงใจ ด้านการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากร รวมทั้งการให้สิทธิและประโยชน์ในด้านต่างๆ และจากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้แรงงานไทยมีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงาน ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น “Productive Manpower” ภายใน 5 ปี และในปี 2560 ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ อบรมและพัฒนาพนักงานแล้วกว่า 2.9 ล้านคน นำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีกว่า 1,500 ล้านบาท
 
"กพร. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ ผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ความสนใจในการพัฒนากำลังแรงงานให้มากขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้เห็นชอบ ให้จ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 200 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แก่ผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปี 2560 ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สถานประกอบกิจการมีลูกจ้างทั้งหมด 1,000 คน ฝึกอบรมพนักงานในปี 60 จำนวน 850 คน ซึ่งจัดอบรมพนักงานเกินกว่าร้อยละ 70 จำนวน 150 คน (ร้อยละ 70 ของลูกจ้างเท่ากับ 700 คน) มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 30,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้"อธิบดี กพร. กล่าว
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนที่จ่ายให้สถานประกอบกิจการนั้น เป็นการส่งเสริมและสร้างมาตรการจูงใจที่นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีร้อยละ 100 สำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันพัฒนากำลังแรงงาน ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถตรงกับความต้องการ และพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป
 
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี สามารถติดต่อสถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2643 6039 หรือ 0 2245 4035
 
 
นายจ้างยังต้องการแรงงาน "ปวช.-ปวส.-อนุปริญญา" มากที่สุด 82,022 อัตรา
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560-นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวถึงกรณี ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2560มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการแสดงความเห็นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานมีความต้องแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน
 
"มีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา ซึ่งกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือกลุ่มอาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 74,981 อัตรา รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 40,540 อัตรา กลุ่มอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 38,101 อัตรา กลุ่มงานช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 24,638 อัตรา และกลุ่มงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ จำนวน 13,718 อัตรา"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส./อนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ที่ต้องการทำงาน
 
"พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานยังจัดให้มีบริการฝึกทักษะอาชีพ ให้แก่กำลังแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยจัดบริการให้ทุกกลุ่มทั้งทหารปลดประจำการ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงได้ร่วมกับสถานประกอบการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานประกอบการก่อนที่จะจบการศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์และความถนัด"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอ้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนในช่วงหน้าแล้งเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ เช่น การจ้าง ขุดลอกคูคลองในพื้นที่การปรับภูมิทัศน์ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรช่วงรอฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย
 
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการว่างงาน รายเดือนตั้งแต่ ปี 2555 – 2560 (เม.ย.) พบว่า จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงต้นปี (ปลายไตรมาส 1) เป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร และปลายฤดูการท่องเที่ยว อาจเป็นเหตุทำให้จำนวนผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะเพิ่มสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับภาวการณ์จ้างงาน
 
ในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 ตัวเลขในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YOY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน
 
“ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดำเนินการวางแผนรับมือ ตลอดจนปรับบทบาทของกระทรวงให้สามารถพัฒนาแรงงานตามความต้องการของตลาดได้ในทุกมิติต่อไป ”นายอนันต์ชัย กล่าว
 
 
เผยภาพสุดทรุดโทรม อ.สถาปัตย์ลาดกระบังฯ ห่วงคุณภาพชีวิตพนักงานนิคมรถไฟ
 
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปริญญา ชูแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เผยแพร่ภาพชุด “นิคมรถไฟ” ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเสนอแนะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนการพัฒนานิคมรถไฟ อย่างตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน เนื้อหาระบุดังนี้
 
“ตลอดระยะเวลาผ่านมา นิคมรถไฟยังคงรักษาบทบาทสำคัญในการบรรเทาการขาดแคลนที่พักอาศัยให้กับพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยบางส่วนและครอบครัว และสามารถดำรงรักษาบ้านพักซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและการใช้สอย รวมทั้งมีความงดงามในลักษณะพื้นถิ่นอีกด้วย
 
ปัจจุบัน นิคมรถไฟหลายๆ แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ สภาพบ้านพักทรุดโทม และมีผลกระทบต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งคุณภาพการพักอาศัยของพนักงานและครอบครัวในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ดังนั้น รัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดทำแผนการพัฒนานิคมรถไฟ โดยควรตระหนักถึงความสำคัญของนิคมรถไฟและคุณภาพชีวิตของคนรถไฟเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ นายปริญญา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการรื้ออาคารสถานีรถไฟเก่า เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า โดยเคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการยุติการรื้อสถานีในเส้นทางรถไฟทางภาคอีสาน
 
 
การท่าเรือแห่งประเทศไทย เตรียมพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 เป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน กทท. เข้าพักอาศัย
 
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้พนักงานกทท. เข้าพักอาศัยในอาคารแฟลต 26-29 เป็นการชั่วคราว โดยฝ่ายบริหารเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเคหะชุมชนคลองเตยระยะที่ 3 ซึ่งเดิม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 วงเงิน 1,159.372 ล้านบาท สร้างแฟลตรองรับชุมชน 5 ชั้น 11 หลัง จำนวน 1,168 หน่วย ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 584.392 ล้านบาท หลักจากจัดชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยในอาคารแฟลตแล้ว ยังเหลือแฟลต 26-29 จำนวน 620 หน่วย ผู้ได้สิทธิเลือกขึ้นอาคารแฟลต อ้างว่าไม่ประสงค์จะเข้าพักอาศัย โดยอ้างว่ามีขนาดเล็ก (28.8 ตารางเมตร) จึงว่างมาถึงปัจจุบัน
 
โดย กทท. จะนำอาคารแฟลตดังกล่าว มาบริหารจัดการ และพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน กทท. โดยไม่กระทบต่อการบริหารจัดการด้านที่พักอาศัยให้กับชาวชุมชนแออัด เนื่องจาก กทท. ได้มีนโยบายในการพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบบริเวณนอกเขตรั้วศุลกากร ทกท. การพัฒนาที่พักอาศัยชุมชนคลองเตยสมัยใหม่ (Smart Community) บริเวณองค์การฟองหนังที่ กทท. ได้รับคืนจากกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ซึ่งจะใช้แนวทางการก่อสร้างอาคารสูงบริเวณชุมชนดินแดงเป็นต้นแบบในการดำเนินการ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
​สำหรับการพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 นั้น กทท. จะดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ตรวจสอบพนักงานที่แจ้งตามประสงค์ไว้และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ กทท. จัดพนักงานเข้าพักอาศัยและบริหารจัดการ โดยจัดทำสัญญาให้พนักงานผู้พักอาศัยต้องดำเนินการตามรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเช่าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงาน กทท. คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการฯ ประมาณ 6 เดือน หลังจากที่ได้รับงบประมาณและผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว
 
 
กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการฯ จ.พัทลุง ร้องไม่ได้รับเงินเดือนถึง 2 เดือน พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้องจี้นายกฯ
 
(30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ที่สำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพัทลุง ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 52 ราย และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 2 จำนวน 72 ราย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม ผ่านศูนย์ดำธรรมจังหวัดพัทลุง ถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ยังไม่ได้รับเงินเดือน จำนวน 2 เดือน อีกทั้งยังมีแนวโน้มถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ว่างงานในทันทีเป็นจำนวนมาก
 
ดังนั้น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ขอยื่นเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนต่อสัญญาทุก 6 เดือน เป็นต่อสัญญาทุก 1 ปี 2.ค่าครองชีพขอให้ปรับตามวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการสมัคร 3.ให้โอกาสพัฒนาตนเองในสายงานที่ปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้า และ 4.ขอพิจารณาเกณฑ์ในการจัดสรรพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เนื่องจากเกณฑ์ที่ประกาศล่าสุดเป็นเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบ
 
นางเปมิกา มูสิกะปาละ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ซึ่งเป็นตัวแทนยื่นหนังสือฯ กล่าวทั้งน้ำตาว่า คณะนี้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่รับเงินเดือน จำนวน 9,000 พันบาทต่อเดือน มาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว อีกทั้งล่าสุดมีการประกาศเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบจะถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม มีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่ได้รับความมั่นคง ทั้งที่เป็นตำแหน่งสนับสนุนด้านการศึกษา ในการช่วยเหลือ และพัฒนากลุ่มผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทางสมอง และทางการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้ได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และยังพัฒนาความสามารถนักเรียนผู้พิการให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
 
 
อนุมัติตำแหน่ง-อัตราเงินเดือน บรรจุ ขรก.พยาบาลรอบแรก 1,200 อัตรา
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาการบรรจุแต่งตั้ง “ตำแหน่งพยาบาล” ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ได้พิจารณาและอนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เพื่อบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา พร้อมทำหนังสือไปยังเขตสุขภาพให้ดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 30 มิถุนายน 2560 โดยให้ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่รอบรรจุมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ส่วนตำแหน่งที่เหลืออีก 1,000 อัตรา บวกอีก 2,992 อัตรา ตามมติของ คปร.จะนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข จะรีบจัดสรรและสำรวจว่าจะไปอยู่จังหวัดใด
 
สำหรับในส่วนตำแหน่งอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางการดำเนินงาน โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
 
1.จัดทำแผนกำลังคน เป็นการกำหนดความต้องการว่าโรงพยาบาลหรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอต้องการคนเท่าไหร่ เป็นวิชาชีพอะไรบ้าง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
 
2.กำหนดว่าแต่ละวิชาชีพจะจ้างงานอย่างไร เป็นข้าราชการกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป โดยสายงานสนับสนุนจะถูกกำหนดสัดส่วนให้เป็นข้าราชการตามที่ ก.พ.กำหนด ส่วนสายงานหลักกำหนดให้เป็นข้าราชการได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป
 
“สำหรับ 7 วิชาชีพที่มาพบผม ได้มีการพูดคุยกันและตกลงกำหนดให้เป็นข้าราชการร้อยละ 75 ต้องไปดูว่าขณะนี้เป็นข้าราชการแล้วเท่าไหร่ ยังขาดอยู่อีกเท่าไหร่ เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูอัตรากำลังแผนอัตรากำลังด้านสาธารณสุข”
 
นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการจะจ้างด้วยวิธีการใด เช่น พนักงานราชการ ให้แก้ไขระเบียบให้สามารถลาไปเรียนต่อได้หรือเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ ใกล้เคียงข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอัตราค่าจ้าง เช่น ได้รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 เท่า
 
ทั้งนี้ ในการจ้างงานได้กำหนดทุกจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกำลังคนตามความต้องการและเงินงบประมาณที่มี โดยมติ คปร.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอเงินงบประมาณมาใช้ในการจ้างงานเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราว โดยจะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด
 
3.กำหนดกติกาในการบรรจุพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ เช่น กรณีโรงพยาบาลมีผู้เกษียณอายุ ลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการที่จะบรรจุไปเป็นข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ควรนับเวลาราชการ เงินเดือนอย่างไร ต้องมีกำหนดพูดคุยกับคณะกรรมการและนำไปหารือกับ ก.พ. อีกครั้ง
 
 
กระทรวงแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างก่อสร้างสู่ Green Jobs รองรับการขยายตัวตลาด อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือกับ นายณัฐพงศ์ สิงห์ศิลารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและผลิตภัณฑ์ บริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด ในการพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs โดยระบุว่าจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ส่งผลให้สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น กพร.ได้ร่วมมือกับบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs
 
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ดำเนิน "โครงการปั้นช่างปูกระเบื้อง การก่ออิฐมวลเบาและทำกันซึมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับฝีมือช่างไทย" จัดฝึกอบรมสาขาการปูกระเบื้อง โดยใช้วัสดุกาวซีเมนต์และวัสดุยาแนวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสาขาการก่ออิฐมวลเบาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในปี 2560 จะดำเนินการฝึกอบรมในพื้นที่หน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 แห่ง ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี จันทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี เป็นต้นตั้งเป้าหมายดำเนินการ 300 คน
 
 
“เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ” แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ้างรายวัน
 
"เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ" แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ่างรายวัน เพราะเดือดร้อนสาหัส อยากมีความมั่นคงในชีวิตบ้าง เพราะทำงานหนักเหมือนกัน ระบุอยากให้เกลี่ยตำแหน่งเป็นธรรมมากกว่านี้ เพราะให้รออัตราเกษียณคงไม่ไหว คงต้องรอเป็นพันปีแน่ ชี้นักกายภาพบำบัดอีก 10 ปีมีเกษียณแค่ 65 คน แต่คนตกค้างนับพันคน วอนผู้ใหญ่ในกระทรวงจริงใจแก้ปัญหา ไม่ซื้อเวลา เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
 
นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเข้าพบ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารสุข เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ผ่านมานั้น การพูดคุยในวันนั้น ทางเครือข่ายฯไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพแต่อย่างใด
 
"ที่สำคัญที่มีข่าวว่ามีการอนุมัติ 308 อัตรานั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นอัตราเดิมที่จะมีการจัดสรรไว้แล้ว ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นการจัดสรรพร้อมกันกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง หรือเกือบหมื่นตำแหน่ง โดย7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรเพียงแค่ 308 ตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอย้ำว่าการอนุมัติดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า ไม่ใช่ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาตามที่สื่อมวลชนและสังคมเข้าใจแต่อย่างใด จีงอยากขอความจริงใจในการแก้ปัญหาและไม่ควรซื้อเวลา เพราะปัญหามีอยู่นานแล้ว จึงไม่เป็นผลดีกับใครทั่งสิ้น " นายสมคิด กล่าว
 
นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ ไม่ได้มีปัญหาหรือความกังวล เรื่องการบริหารตำแหน่งว่างของวิชาชีพต่างๆ เป็นอำนาจที่กระทรวงฯ สามารถนำไปปรับเกลี่ยหรือบริหารได้ ขอเพียงกระทรวงฯทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี
 
อย่างไรก็ตามเรื่องการจ้างบุคลากรแบบใหม่ที่ปลัดและผู้บริหารออกมาพูด รวมถึงเรื่องที่ผู้บริหารระบุว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้น ก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน อาทิเช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้น จึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ด้วย เพราะมีน้องๆลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ อยากให้กระทรวงมีความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน โดยออกคำสั่งยกเลิก ตำแหน่งลูกจ้างรายวันเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงไว้ก่อนทั้งหมด โดยทำควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน ถ้าหากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคม แต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีสวัสดิดการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อบกว่า หมอ และ พยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรม ให้มีการเปิดตำแหน่งราชการ เพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ่าง"
 
นายสมคิด กล่าวว่า วิชาชีพกายภาพบำบัด เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียญที่ไหนไปให้น้องๆได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยายาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
" สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆกายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวัง ท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียญอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียญอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน"
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์กรณีตำรวจอินโดนีเซียบุกจับกลุ่มชาวเกย์ อ้างกฎหมาย 'สื่อลามก'

$
0
0
สถานการณ์ด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในอินโดนีเซียน่าเป็นห่วงหลังจากที่ตำรวจออกจับกุมพื้นที่รวมกลุ่มของคนรักเพศเดียวกันสองแห่งโดยอ้างกฎหมายต่อต้านสื่อลามกซึ่งเป็นกฎหมายที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง ถึงแม้ว่าผู้นำอินโดนีเซียจะเคยเรียกร้องไม่ให้มีการเหยียดเพศ แต่สังคมอินโดฯ ยังมีฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้นำศาสนาใช้วาจาทำให้เกิดความเกลียดชังต่อ LGBT

 
4 มิ.ย. 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์ส่งจดหมายถึง พล.ต.อ. ติโต คาร์นาเวียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาเลิกจ้องปราบปรามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในแบบที่ทำให้เกิด "อุปาทานหมู่ในการต่อต้านเกย์" หลังจากที่ทางตำรวจบุกเข้าไปจับกุมตัวผู้คนในงาน "เกย์ปาร์ตี" ที่สุราบายาและสปาเฉพาะผู้ชายในกรุงจาการ์ตา ทำให้มีคนถูกจับกุมรวมแล้ว 141 ราย
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เป็นผู้ปฏิบัติการบุกจับกุมในสองกรณีดังกล่าวที่เป็นข่าวในอินโดนีเซีย ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้คาร์นาเวียนสืบสวนกรณีการบุกจับกุมเหล่านี้โดยทันที โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าการบุกจับกุมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียเป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พยายามทำให้กลุ่มชุมชนของคนที่เป็นชายขอบอยู่แล้วเกิดความหวาดกลัว
 
คนที่ถูกจับกุมในสุราบายาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาก็ถูกจับตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยที่ไม่มีการขอความยินยอมจากพวกเขาก่อน ส่วนในการจับกุมที่ "แอตแลนติสสปา" ในจาการ์ตาก็มีการนำผู้ถูกจับกุมแห่ประจานแบบเปลือยครึ่งท่อนต่อหน้าสื่อ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังสงสัยอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนพวกเขาในขณะที่พวกเขายังไม่ได้ใส่เสื้อผ้า
 
แม้ว่าในอินโดนีเซียจะไม่มีกฎหมายห้ามคนรักเพศเดียวกันแต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เริ่มตกเป็นเป้าหมายของทางการมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา มักจะมีการอ้างใช้กฎหมายต่อต้านสื่อลามกมาใช้จับกุมพวกเขาโดยที่กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอินโดนีเซีย ซึ่งอดัมส์วิจารณ์ว่าการใช้ที่ตำรวจอ้างใช้กฎหมายนี้ในการบุกเข้าจับกุมการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นส่วนตัวของผู้คนแสดงให้เห็นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความคับแคบที่ดิบเถื่อน
 
อดัมส์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียหยุดการบุกจับกุมเหล่านี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในหมู่ประชาชนและควรทำหน้าที่ปกป้องประชาชนอินโดนีเซียทุกคน โดยที่สถานการณ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียเลวร้ายลงตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 เป็นต้นมา ไม่เพียงแค่การจับกุมของตำรวจที่บางครั้งตำรวจก็สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มติดอาวุธเคร่งอิสลามในการปราบปรามการร่วมกลุ่มกันของชาวเกย์ หรืองานร่วมตัวกันของคนข้ามเพศ นอกจากนี้ยังมีการโจมตีกลุ่มนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. 2559 ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ประกาศวาไม่ควรจะมีการเหยียดหรือกีดกันผู้คนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเป็นการออกมาพูดเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและประกาศให้ตำรวจต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ หลังจากที่หลายเดือนก่อนหน้าคำประกาศของวิโดโดมีการใช้โวหารแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรศาสนา
 
แต่อดัมส์ก็ชี้ว่านอกจากจะเตือนตำรวจในเรื่องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว วิโดโดก็ควรจะทำอะไรลงไปเพื่อปกป้องพวกเขาด้วย
 
ในกฎหมายต่อต้านสื่อลามกปี 2551 ของอินโดนีเซียระบุห้ามไม่ให้มีการร่วมเพศของคนรักเพศเดียวกันซึ่งรวมถึงหญิงรักหญิงด้วย ซึ่งถือเป็นการเหยียดกลุ่มเกย์และเลสเบียน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสุขภาพจิตในระดับโลกจะยอมรับแล้วว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติและจัดเป็นเพศวิถีรูปแบบหนึ่งของมนุษย์
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Indonesia’s LGBT police raids promoting ‘anti-gay hysteria’ – watchdog, Asian Correspondent, 02-06-2017
 
Indonesia President Jokowi Defends LGBT Rights, Human Rights Watch, 20-10-2016
 
Indonesia: Police Raids Foster Anti-Gay Hysteria, Human Rights Watch, 02-06-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองปลัดยุติธรรมแจงเหตุผลในการยกเลิกโทษประหารชีวิต

$
0
0
'ธวัชชัย ไทยเขียว' รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรมระบุผลการวิจัยชี้การประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรงทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อสังคมกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาดได้ ชี้หากไทยไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกันทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต

 
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2560 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจากผลการวิจัยทั่วโลกการประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้นได้ แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาดได้ เนื่องจากไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอโดยที่ไม่มีข้อบกพร่องได้ เพราะอาจมีแพะที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่อาจสามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ ทั้งนี้ยังมีข้อค้นพบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่จะคนยากจน และคนด้อยโอกาส ซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างให้กับตนเองได้ นอกจากนี้นักมนุษยวิทยาเห็นว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การประหารชีวิตทุกวิธีก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษอย่างแสนสาหัส ถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดเหล่านี้จะได้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วก็ตาม
 
ฉะนั้น หลักของการลงโทษนั้นต้องไม่ควรเป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขและเยียวยาทั้งตัวผู้กระทำความผิดและเหยื่อน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
 
จากข้อมูล ณ เมษายน 2560 มีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมด 447 ราย จำแนกเป็น
 
1) คดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นนักโทษชาย 105 ราย หญิง 51 ราย, ชั้นฎีกา เป็นชาย 12 ราย หญิงไม่มี และในชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 55 ราย หญิง 13 ราย
 
2) คดีความผิดทั่วไป เช่นคดีฆ่าคนตาย อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นชาย 110 ราย หญิง 6 ราย, ชั้นฎีกาเป็นชาย 6 ราย ส่วนหญิงไม่มี และนักโทษชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 85 ราย และหญิง 4 ราย 
จากสถิติดังกล่าวพบว่าโทษประหารชีวิตในคดีทั่วไปมีจำนวนมากกว่าคดียาเสพติดให้โทษ
 
นักโทษประหารจะถูกควบคุมจำแนกตามเรือนจำต่าง ๆ ดังนี้ 
 
1. เรือนจำกลางบางขวาง 275 คน 
 
2. เรือนจำกลางคลองเปรม 2 คน 
 
3. เรือนจำกลางเขาบิน 19 คน 
 
4. เรือนจำกลางสงขลา 31 คน 
 
5. เรือนจำกลางพิษณุโลก 6 คน 
 
6 เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 46 คน 
 
7. ทัณฑสถานหญิงกลาง 57 คน
 
8. ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4 คน 
 
9. ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 7 คน
 
การประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้านักโทษประหารชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ส่วนการประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดสารพิษตามกฎหมายใหม่ มีจำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 เป็นชาย 4 ราย นักโทษคดียาเสพติด 3 ราย คดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 เป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประหารชีวิตอีกเลย รวมเวลา 7 ปี 9 เดือน ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัดใส่ความเห็น กก.เสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทอง

$
0
0
ฝ่ายเลขาฯ งัดกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเสียงส่วนน้อย ปัดใส่ข้อคิดเห็นเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประกอบการประชาพิจารณ์

 
4 มิ.ย. 2560 การจัดทำเอกสารประกอบการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ได้เกิดข้อถกเถียงเกิดขึ้นระหว่างกรรมการเสียงส่วนน้อยและฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากกรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยเข้าไปในเอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) ด้วย แต่ฝ่ายเลขานุการไม่ยินยอม โดยนำไปใส่ในตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตราเพียงฉบับเดียว
 
ทั้งนี้ เอกสารประกอบการประชาพิจารณ์จะมี 3 ส่วนหลักคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไข 2.เอกสารแนวคิดการแก้ไข 14 ประเด็น และ 3.ตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา
 
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การประชาพิจารณ์จะมีเอกสาร 3 ฉบับที่นำขึ้นเว็บไซต์ หนึ่งในนั้นเป็น Concept Paper ซึ่งไม่ได้ใส่ความคิดเห็นของกรรมการเสียงส่วนน้อย จึงมีการถกเถียงว่าน่าจะใส่เข้าไปในเอกสารฉบับนี้ด้วย แต่ทางกองเลขาฯ ไม่เห็นด้วย โดยนำไปใส่ไว้ในเอกสารอีกฉบับซึ่งว่าด้วยรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายว่าแก้ในมาตราไหน ด้วยเหตุผลอะไร ในส่วนนี้จะมีทั้งเหตุผลของกรรมการเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย
 
“การใส่หรือไม่ใส่เหตุผลของกรรมการเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ก็มีผลกับการตัดสินใจ เพราะมันชี้ให้เห็นว่านี่เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มันจึงจำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์และการทำประชาพิจารณ์ก็ต้องเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอะไร เสียงส่วนน้อยคิดอะไร คนที่มาแสดงความคิดเห็นจะได้รู้ว่ามีข้อถกเถียงอะไรอยู่บ้าง แล้วคิดต่อจากตรงนั้น” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
 
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่กรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้ใส่ไปใน Concept Paper นั้น เป็นเรื่องเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายที่เขียนในเชิงลบ เช่น มีอธิบายว่ามีความพยายามที่จะเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายให้องค์กรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
 
“ใช้คำว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ อย่างกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่มารับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตีความว่าไม่ใช่หน่วยบริการ เพราะฉะนั้นกรมควบคุมโรคมารับเงินไปทำเรื่องป้องกันโรคไม่ได้ แต่จริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่ากรมควบคุมโรคทำงานเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็ควรเขียนในเชิงบวกหน่อย เรื่องนี้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ก็เสนอให้ทีมเลขาฯ ไปปรับแก้ภาษาใน Concept Paper ไม่ให้มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้ไม่เห็นเอกสารแล้วเพราะต้องให้อำนาจประธานเป็นคนตัดสินใจเนื่องจากต้องรีบเอาขึ้นเว็บไซต์ ทีนี้พอเราบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เติมเสียงส่วนน้อยเข้าไปด้วย เขาก็ไม่ยอม” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
 
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเลือกประเด็นในการแก้ไขกฎหมายเพราะถูกล็อกมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเอกสารที่จะอธิบายว่าเหตุผลหรือหลักการในการแก้กฎหมายครั้งนี้ว่าทำเพราะอะไร จึงควรเขียนเหตุผลที่มาที่ไปอย่างแท้จริงและไม่มีอคติจึงจะเป็น Concept Paper ที่ใช้ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ปี 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินรับร้องเรียน 3,616 เรื่อง แต่ตัวเองไม่แจงการใช้งบก็ได้

$
0
0

รายงานพิเศษจาก TCIJ พบปี 2559 'สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน' (สผผ.) รับเรื่องร้องเรียน 3,616 เรื่อง มีหน้าที่ครอบจักรวาลตั้งแต่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจนถึงการแก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ ทั้งนี้พบมีกฎหมายระบุ สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (หรือคำย่อ สผผ.)  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา สอบสวน และแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในกรณีที่มีข้าราชการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อ่านเพิ่มเติม จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน')

ทั้งนี้จาก รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ระบุว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 6,217 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ยื่นเรื่องเข้ามาในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 3,616 เรื่อง และเรื่องร้องเรียนที่ค้างจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2,601 เรื่อง ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ 3,417 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 54.96) เมื่อพิจารณาจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 (ปีที่ก่อตั้ง) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 39,911 เรื่อง มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จแล้ว 37,211 เรื่อง (ร้อยละ 93.23) และยังมีเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา 2,700 เรื่อง (ร้อยละ 6.77) ในด้านการจัดทำประมวลจริยธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพบว่ามีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 15,709 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14,606 หน่วยงาน (ร้อยละ 92.39) ของประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ และประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท มีจำนวน 8,022 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7,626 หน่วยงาน (ร้อยละ 95) ของประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ

เมื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ สผผ. รับไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำแนกตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำร้องเรียนมากที่สุด 10 อันดับแรก อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (811 เรื่อง) ตามมาด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (651 เรื่อง), องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (609 เรื่อง), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (272 เรื่อง), กระทรวงศึกษาธิการ (233 เรื่อง), กระทรวงคมนาคม (210 เรื่อง), กระทรวงยุติธรรม (184 เรื่อง), กระทรวงการคลัง (124 เรื่อง), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (123 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (76 เรื่อง) ตามลำดับ  

หน้าที่ครอบจักรวาล: แก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลการเกษตร (ก็ได้ด้วย?)

รู้หรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถแก้ไขปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ด้วย? ที่มาภาพ: รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 

หนึ่งในผลงานสำคัญที่ประชาชนอาจจะพิศวงสงสัยว่า ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ เข้ามาเกี่ยวข้องอะไร? นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย โดยเรื่องนี้เกิดจากการที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของผู้ร้องเรียนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดของอุทยานแห่งชาติดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินส่งผลให้หน่วยงานหาแนวทางแก้ไขปัญหาและได้ชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปได้ว่ากรณีช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลของชาวบ้านนั้น เป็นช้างป่าตามธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 530,000 ไร่ และมีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่ราษฎรใช้อยู่อาศัยซึ่งมีช้างป่าบางตัวที่ถูกจ่าฝูงไล่ออกจากโขลง จะลงมาใช้พื้นที่ป่าแนวกันชนนี้อาศัยหลบหนีภัย ซึ่งเดิมประชาชนสมัยก่อนทำการเกษตร พอหมดฤดูกาลทำนาก็จะไปหางานทำในเมือง จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับช้างป่า แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การปลูกยางพารา ปลูกอ้อยส่งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นป่าแนวกันชนเพื่อเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้ช้างป่าที่ถูกจ่าฝูงขับไล่ออกมาต้องมาเผชิญหน้ากับประชาชนที่บุกรุกป่าแนวกันชนเหล่านั้น เมื่อป่าแนวกันชนถูกบุกรุกทำลายจนหมดสิ้น ประชาชนก็จะนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไปแย่งอาหารและโป่งเทียมของช้างป่า รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่าทำให้ทำลายความสมบูรณ์ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนทำให้แหล่งอาหารของช้างป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างป่า ที่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 154 ตัว จากการสำรวจและติดตามช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยปกติแล้วช้างป่ามีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทึบในช่วงเวลากลางวัน และเริ่มหากินจากป่าสู่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งในเวลากลางคืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่าทุกวันทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะช้างป่าออกมาหากินทุกวัน จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยไล่ผลักดันกลับสู่เขตป่า ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลทรัพย์สินของราษฎรนั้น ในบางครั้งจะถูกช้างป่าทำร้ายบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องพิการและเสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีหน้าที่รับผิดเข้าไปขับไล่ช้างป่าและปกป้องทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ดี จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและการทำความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหาแนวทางการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตและเพื่อเป็นการบรรเทาและเยียวยาความทุกข์ร้อนของประชาชนทั้งที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการออกปฏิบัติงานลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า จัดสรรงบประมาณปลูกพืชอาหารช้างป่าและสัตว์ป่า จัดทำแหล่งน้ำและโป่งเทียมให้ช้างป่า รวมถึงได้เสนอ ‘โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า’ และกิจกรรมปักเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง (เก่า) เป็นเพนียดป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกมานอกเขตป่าดังกล่าว และกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อนำเงินบริจาคที่ได้รับมาเป็นกองทุนช่วยเหลือกรณีช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินค่าความเสียหายในพื้นที่ เพื่อพิจารณาเรื่องรายงานช้างป่าออกมาทำลายพืช สวน ไร่ นา และทรัพย์สินของประชาชนแล้วส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนฯ ช่วยเหลือแต่ละรายเพื่อทำการเบิกจ่ายตามรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจำนวน 108 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 174 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 409,570 บาท

นอกจากนี้ ในรายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ยังระบุผลงานเด่น ๆ รอบปีไว้อาทิเช่น การลักลอบนำขยะพิษและกากอุตสาหกรรมทิ้งในพื้นที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำสาธารณะ, การเร่งรัดมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบสำนักงานที่ดินจังหวัดออกเอกสารสิทธิให้แก่เอกชนทับซ้อนพื้นที่บึงสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งขุดดินในทางสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อการใช้ทางสาธารณประโยชน์และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน, ตรวจสอบข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องในการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ กรณี ตัดและขายผลปาล์มน้ำมันที่ปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐ, แก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าประจำภายในอาคารศูนย์ราชการจากการจัดกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ, ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการพิจารณาจ้างเหมาปรับปรุงศูนย์เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยและปฏิบัติการฉุกเฉินโดยระบบกล่องโทรทัศน์, ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการให้เอกชนประมูลเช่าช่วงอาคารตลาดสดเทศบาล และตรวจสอบหน่วยของของรัฐไม่ดำเนินการกับเอกชนในกรณีการจัดสรรที่ดินไม่มีทางผ่านเข้าออกตามคำโฆษณา, จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากธุรกิจย้อมผ้าของกลุ่มทอผ้าในชุมชน เป็นต้น

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องแจงการใช้งบประมาณก็ได้

ทั้งนี้ใน 'เอกสารประกอบการพิจารณารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' โดยกลุ่มงานติดตามผลการดำเนินงาน สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอ ‘บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' ได้สรุปการวิเคราะห์ว่า

"ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตามในรายงานประจำปี 2559 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการจัดสรรและรายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในขณะที่รายงานประจำปีขององค์กรอิสระอื่นปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรายงานการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องนำเสนอไว้ในรายงานประจำปีตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552"

หมายความว่า สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้ ซึ่งอาจสวนทางกับการเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบผู้อื่นหรือไม่ ?

อนึ่ง รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ได้รับการรับรองจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ Low Love เปิดโหวต ทักษิณ นำ ตามมาด้วย ประยุทธ์ อภิสิทธิ์ และ สุเทพ

$
0
0

เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love เปิดโหวต 2 ชั่วโมง อยากให้ใครเป็นนายก? ผลทักษิณ ได้ 34,595 โหวต, ประยุทธ์ 15,940 โหวต, อภิสิทธิ์ 1,769 โหวต ขณะที่สุเทพ 771 ได้โหวต

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love 

4 มิ.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 9.14 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้าน ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม "ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?" โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เลือกใครเลยสักคน ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 1.16 แสน  ผู้โหวตไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 พัน ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 พัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

ล่าสุดวานนี้ (3 มิ.ย.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Loveซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 แสน ได้เปิดโหวตเช่นกัน แต่มีตัวเลือกเพิ่มเติมคือ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการโหวตมีการแสดผลเป็นการถ่ายทอดสดประมาณ 2 ชั่วโมง ผลปรากฎว่ามีผู้รับชมการโหวตครั้งนี้ 655K ครั้ง โหวตให้ทักษิณ 34,595 โหวตให้ประยุทธ์ 15,940 โหวตให้ อภิสิทธิ์ 1,769 และโหวตให้สุเทพ 771

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (4 มิ.ย.60) 13.00 น. ผ่านมา 18 ชั่วโมง มีผู้โหวตในโพสต์ดังกล่าวเพิ่มเติม โดย ทักษิณได้เพิ่มไปเป็น 46K ประยุทธ์ ได้ไป 20K ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 2.4K และสุเทพได้ 1K

เกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นอกจากประชาชนไม่สามารถเลือกได้โดยตรงแล้ว iLaw เคยวิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์ “นายกฯ คนนอก” ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล่วงหน้า และเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาจะเลือกใครนอกรายชื่อที่เสนอมาไม่ได้ เว้นแต่ 1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา 2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ และ 3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาหรือขั้นตอนของการเปิดทางไปสู่ “นายกฯ คนนอก” นั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยพระราชบัญญัติด้านบำเหน็จบำนาญ

$
0
0




ในขณะนี้มีกฎหมายสำคัญสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญของคนไทย เป็นกฎหมายที่กระทบคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ถึงแก่วัยชรา และคาดว่าตนเองจะมีชีพอยู่รอดไปถึงยามชราภาพ ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ การมีบำเหน็จบำนาญที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

กฎหมายฉบับแรกเป็น พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยหลักการและเหตุผล คือ เรามีระบบบำเหน็จบำนาญที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ดูแลประชาชนคนละกลุ่มอาชีพ เช่น อาชีพข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบ แต่ละกลุ่มอาชีพต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่แตกต่างกัน ในที่สุด เมื่อถึงเวลาชราภาพ ประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพเหล่านี้ก็มีความมั่นคงทางการเงินที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนอาชีพของคนวัยทำงาน ก็ติดข้อจำกัดว่าต้องไปเริ่มต้นออมกับระบบใหม่และหน่วยงานใหม่ ทรัพย์สมบัติที่เคยออมไว้กับระบบเดิมก็อาจจะไม่สามารถนำติดตัวมาด้วยได้ การมีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะช่วยให้เกิดการดูแลความมั่นคงทางการเงินของประชาชนเมื่อเข้าสู่วัยชราในภาพรวม มีความครอบคลุมและเป็นธรรม โดยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ นับว่าได้ว่าพระราชบัญญัตินี้ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะตกแก่ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มเป็นหลัก

กฎหมายอีกฉบับที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... หรือ กบช. เรียกได้ว่ากฎหมาย กบช. นี้เราเคยได้ยินมาตั้งแต่รัฐบาลชุดปี พ.ศ.2544 แต่ฉบับนี้ก็มีความแตกต่างกับฉบับเดิมอย่างมากมาย

หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติ กบช.คือ ประชาชนวัยแรงงาน (โดยเฉพาะลูกจ้าง) มีการออมไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายกับช่วงวัยชราภาพ เพื่อป้องกันปัญหาความยากจนของคนสูงอายุที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต จึงเสนอให้มีการบังคับออม โดยที่นายจ้างและลูกจ้างต้องสมทบเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ร.บ.นี้ได้บังคับใช้แก่สถานประกอบการขนาดใหญ่ 100 คนขึ้นไป (รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐ และสถานประกอบการอื่น ที่กำหนดในกฎหมาย) ในปีที่ 1 แล้วขยายไปยังสถานประกอบการขนาด 10 คนในปีที่ 4 และสุดท้ายขยายไปยังสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปในปีที่ 6

กล่าวได้ว่าหลังจากปีที่ 6 แล้วลูกจ้างทุกคนจะได้ออมเงินร้อยละ 7 ของค่าจ้างเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และอีกร้อยละ 3 เข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้างเอกชนจำนวนหนึ่งก็สมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

หลักการของพระราชบัญญัติ กบช. เป็นหลักการที่ดี มีเจตนาที่จะป้องกันปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้สูงอายุ แต่แนวทางปฏิบัติกลับไม่เป็นมิตรแก่ลูกจ้าง อย่างน้อยสองประการ

ประการแรกเหตุใดลูกจ้างต้องมีทั้ง กองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มาจัดการเรื่องบำเหน็จบำนาญของลูกจ้าง (แต่ข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอย่างเดียว) เงินของลูกจ้างไม่จำเป็นต้องเสียไปมากมายกับการบริหารจัดการกองทุนสองกองทุน ถ้าเรามีแค่กองทุนเดียวมันน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า การมีกองทุนเดียวทำได้สองทางเลือก คือ ทางเลือกแรกมีกองทุนประกันสังคม อย่างเดียว แล้วให้เก็บเงินสมทบและจ่ายบำเหน็จบำนาญตามแบบที่ กบช. จะทำ กับทางเลือกที่สอง ให้มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติอย่างเดียว โดยโอนเงินจากกองทุนประกันสังคมในส่วนบำนาญชราภาพมาไว้ที่กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติทั้งหมด (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) แล้วเพิ่มเติม พรบ. ให้ กบช. ดำเนินการด้านบำเหน็จบำนาญของลูกจ้างแทนสำนักงานประกันสังคมด้วย

ทางเลือกที่สอง เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ถ้าเรายึดถือประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก

บำเหน็จบำนาญเรียกว่าเป็นผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชน การบริหารจัดการไม่ควรไปรวมกับประโยชน์ระยะสั้นเช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร หรือว่างงาน การบริหารจัดการประโยชน์ระยะสั้นและยาวต้องการความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน เรื่องบำเหน็จบำนาญควรได้รับการกำกับดูแลจากกระทรวงการคลัง มากกว่าที่จะเป็นกระทรวงแรงงาน

การแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกจ้างก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ โดยเพิ่ม มาตรา 8 ให้กองทุนมีทรัพย์สิน ที่เป็นเงินสมทบเพื่อการชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และให้เพิ่มมาตรา เกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญตลอดชีพ ดังที่เคยประกาศใช้กับกองทุนประกันสังคมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นบำนาญพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนจะได้รับ

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ ลูกจ้างก็จะได้รับบำนาญจากแหล่งเดียวคือ จากกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปติดต่อขอรับเงินจากหลายกองทุน การเดินทางในวัยสูงอายุมีความยากลำบาก หู ตา ก็ไม่ค่อยดี เรื่องง่ายๆ ก็เวียนศรีษะได้ ถ้ายากเกินไปก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินตกหล่นไปจากระบบได้ ถ้าเจ็บป่วยมีโรคเรื้อรังเดินทางไม่ไหวก็ดูเหมือนจะไปกันใหญ่

ประการที่สองร่าง พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ นี้สามารถปรับปรุงให้เป็นมิตรแก่ประชาชนได้ดีขึ้น ถ้าให้สามารถมีการโอนย้ายเงินระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญอื่นๆ ได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนเพื่อบำเหน็จบำนาญอื่นๆ

หลักคิดคือ ประชาชนสามารถเปลี่ยนอาชีพเมื่อตนปรารถนาได้ แต่การออมเพื่อการชราภาพ กลับไม่สามารถตามเจ้าของไปได้เมื่อเปลี่ยนอาชีพ ต้องคงไว้ที่กองทุนเดิม และทำให้ต้องไปเริ่มต้นออมใหม่กับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งใหม่ ในที่สุดก็อาจเสียประโยชน์ที่พึงได้จากการออมของตน สร้างปัญหาในการติดต่อเพื่อขอรับเงินในยามเกษียณ เป็นความเสียหายที่ตกแก่ประชาชนทั้งๆ ที่มิได้กระทำผิดใดๆ เลย เป็นเด็กดีอดออมมาตลอด แต่ถึงเวลาจะได้ประโยชน์กลับต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

เราควรทำให้การออมเพื่อการชราภาพนั้นง่าย (ไม่ต้องใช้ความพยายาม) ในขณะเดียวกันตอนจะรับบำนาญก็ต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว ด้วยเช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลาดเกมส์โกง: หนังดี เพื่อสังคมที่ดี

$
0
0

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเชิญโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT ซึ่งมีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานให้ไปดูหนังเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” รอบพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการโกงข้อสอบทั้งในระดับในประเทศและระหว่างประเทศ  ซึ่งเค้าโครงเรื่องมาจากการโกงข้อสอบ SAT ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีผลทำให้มีการยกเลิกผลการสอบของผู้เข้าสอบจากทวีปเอเชียจำนวนมากในปีที่แล้ว

ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่มีลูกแทบจะไม่ได้เข้าโรงหนังมากว่า 10 ปีแล้ว และหนังที่เลือกดู (ในเครื่องบิน) ก็มักมิใช่หนังสไตล์วัยรุ่นแบบนี้  ตอนไปก็ยังเดาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่พอดูเสร็จแล้วต้องบอกว่าประทับใจกับหนังเรื่องนี้มาก เพราะสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยได้อย่างดี โดยทำให้ผู้ดูไม่รู้สึกว่านี่เป็นหนังที่ต้องการสั่งสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด  หากแต่เป็นหนังที่ต้องการจะสื่อสารว่าชีวิตของคนเรานั้นมีทางเลือกที่เราต้องตัดสินใจเลือกเดิน และเมื่อเราเลือกทางเดินใดแล้ว เราจะต้องรับผลที่เกิดจากการตัดสินใจของตนเองทั้งที่คาดหมายและที่ไม่ได้คาดหมาย และรวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องแบกรับในแง่บวกและลบ

แต่ประเด็นที่ดิฉันให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชนอาจจะยังไม่รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหน คือ การทุจริตหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ “โกง”  ตัวอย่างเช่นตัวละครเอกที่ชื่อ “ริน” กล่าวว่าเธอไม่เข้าใจว่าการช่วยเพื่อนในการบอกข้อสอบที่ทำให้เพื่อนได้คะแนนดีๆ ไปเรียนต่อที่ดีๆ นั้นเป็นความผิดอย่างไรในเมื่อเธอเองก็ไม่ได้เสียอะไร และบางครั้งได้เงินเป็นค่าตอบแทนเสียอีก ไม่มีใครเดือดร้อนหรือที่เราชอบเรียกกันว่าเป็น “วินๆ”เธอไม่ได้คิดในเชิงระบบว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้โกงที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าอาจถูกเบียดตกไป ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาหรือไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีๆ หรือว่า การโกงของเธอในระดับนานาชาติหากถูกจับได้จะทำให้ภาพพจน์ของทั้งประเทศเสียหาย

ในขณะเดียวกัน หนังก็ฉายภาพให้เห็นว่าการตัดสินใจในการทุจริตอาจเกิดจากสถานการณ์ที่บีบคั้น ถึงแม้ไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะความจำเป็นทางการเงิน ตัวละครที่เป็นเด็กเรียนเก่งทั้งสองคน คือ ริน กับ แบ๊งค์ เป็นเด็กที่มีความกตัญญู รับผิดชอบต่อครอบครัวที่ขัดสน ดังนั้น เยาวชนอาจไม่เข้าใจว่า การช่วยพ่อแม่หาเงินโดยการบอกข้อสอบเพื่อนเพื่อแลกกับเงินจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสังคมเรามักตอกย้ำให้เด็ก ‘กตัญญู รู้คุณคน” หากแต่ไม่ค่อยได้ให้ความรู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะต้องมี “อุเบกขา” หรือการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักการหรือความถูกต้อง ในหนังเรื่องนี้ การโกงที่แม้มีเจตนาที่ดีสุดท้ายแล้วกับกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายและทำลายตนเองและพ่อแม่ที่ต้องการจะช่วยเหลือซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เยาวชนยังมองไม่ทะลุ

นอกจากค่านิยมเรื่องความกตัญญูแล้ว  หนังเรื่องนี้ยังมีค่านิยมเรื่องการช่วยเหลือพวกพ้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมอุปถัมภ์ ในหนัง “แบ๊งค์  “ ซึ่งเป็นเด็กยึดมั่นในหลักการที่นอกจากจะไม่ยอมให้ใครลอกข้อสอบของตนแล้ว ยังไม่ยอมให้มีการลอกข้อสอบในห้องสอบอีก โดยการไปฟ้องครู กลับถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่เอาเพื่อน ขี้ฟ้อง ถูกโดดเดี่ยว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การยึดมั่นในหลักการนั้นมีต้นทุนสูงมากในสังคมพวกพ้อง

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แสดงว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยจะไม่มีหวัง  ในทางตรงกันข้าม ดิฉันเห็นว่าเราเริ่มมาถูกทาง คือ เราเริ่มให้ความสำคัญแก่การสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ “โตไปไม่โกง” จากเดิมที่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะในแวดวง การเมือง ข้าราชการ สื่อ และนักวิชาการเท่านั้น และที่ผ่านมา ก็มักจะพูดในภาษาที่เยาวชนไม่เข้าใจหรือไม่น่าสนใจ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้คือ อนาคตของประเทศ

แต่การที่จะให้เยาวชนลุกขึ้นมาสนใจประเด็นเรื่องคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย  เด็กวัยรุ่นไม่ชอบการสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี โดยเฉพาะการใช้วิธีท่องจำคุณธรรม จริยธรรม 10 ประการ ฯลฯ ที่ระบบการศึกษาเรามักใช้  หากจะต้องสอดแทรกไว้ในกิจกรรมที่เยาวชนรู้สึก “สนุก” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ บอร์ดเกมส์ หรือ เกมออนไลน์  หนังสือการ์ตูน  ตลอดจนละครโทรทัศน์ ฯลฯ

หากผู้อ่านท่านใดสนใจรูปแบบการรณรงค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ “โดนใจเยาวชน” สามารถลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของ ICAC หน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของฮ่องกงที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้  ท่านจะพบคลิปวิดีโอและซีรี่ส์หนังละคร เกมที่เด็กเล่น เกมทายปัญหาที่กี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ จำนวนมากที่มีจำนวนผู้ไปเข้าชมนับแสน

การสร้างค่านิยมที่ดีในเยาวชนเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชันที่เราใฝ่ฝัน ผู้เขียนจะตั้งหน้ารอคอยผลงานดีๆ อย่างนี้อีก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #160 ส้วมรวมเพศ ขจัดการเลือกปฏิบัติจริงไหม?

$
0
0

Subscribe เพื่อติดตามประชาไทที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ ประภาภูมิ เอี่ยมสม และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับแขกรับเชิญ เคท ครั้งพิบูลย์ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศและการใช้ห้องน้ำ พร้อมโจทย์ที่ว่าเราควรใช้ห้องน้ำตามเพศสรีระโดยกำเนิด หรือตามเพศสภาพ ผู้ความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT มีพื้นที่การใช้ห้องน้ำอย่างไรในสังคมไทย แก้ไขสถานการณ์อย่างไรเมื่อถูกเลือกปฏิบัติเวลาใช้ห้องน้ำ

รวมทั้งสำรวจประสบการณ์ห้องน้ำสำหรับทุกเพศในสหรัฐอเมริกาว่าช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้อย่างไร "เราจะเข้าห้องน้ำตามกายของตัวเอง หรือใจของตัวเอง?" ค้นหาคำตอบได้ในรายการ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live


Latest Images