Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live

'ฅนรักบ้านเกิด จ.เลย' ปักหลักเฝ้าทางเข้าเหมือง หวั่น 'ทุ่งคำ' ขนแร่ออก

0
0

กลุ่มฅนรักบ้านเกิด จ.เลย ปักหลักเฝ้าทางเข้าเหมือง ยันรถพ่วงเปล่าต้องออก พร้อมขอร่วมตรวจสอบ  หลังเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมแจง ‘จะไม่มีการขนแร่ในครั้งนี้’ 

21 ก.พ. 2560  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 15.00 น ที่บริเวณทางเข้าเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ ในพื้นที่ ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง จ.เลย เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดและฝ่ายความมั่นคง เข้าชี้แจงกับประชาชนกว่า 70 คน จากกรณีที่บริษัททุ่งคำฯ นำรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 12 คันเข้าไปในเหมืองเพื่อเตรียมขนสินแร่ที่ตกค้างอยู่ 190 ถุง บิ๊กแบ็ค ออกจากเหมือง

โดย พัดทอง กิตติวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ยืนยันกับประชาชนว่า การขนแร่ที่บริษัททุ่งคำฯ ได้ยื่นหนังสือไปนั้น ต้องยุติไว้ก่อนเพราะต้องทำหนังสือหารือไปที่กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมรอหนังสือตอบกลับว่า ขัดคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 หรือไม่ และยังขอให้กลุ่มฅนรักบ้านเกิดมั่นใจได้ว่า รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ที่เข้าไปในเหมืองเมื่อวานนี้ (20 ก.พ. 60) จะไม่มีแร่ติดรถไปเป็นอันขาด จนกว่าจะมีใบขนแร่ที่ถูกต้อง โดยหากผลการหารือที่เป็นทางการออกมาจะนำมาแจ้งประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมขอให้การรวมกลุ่มของพี่น้องกลุ่มฅนรักบ้านเกิดยุติในวันนี้ และยืนยันว่าหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงบนเหมืองทองแล้ว เหมืองไม่มีการประกอบกิจการจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มฅนรักบ้านเกิดยังยืนยันให้รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ ออกจากพื้นที่ภายในวันนี้ไม่เกิน เวลา 18.00 น. และต้องเป็นรถเปล่าที่ไม่มีสินแร่ติดรถไปเพราะยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาต หากรถบรรทุกยังไม่ออกจากพื้นที่ก็จะเฝ้าระวังอยู่หน้าเหมืองไม่ไปไหน พร้อมระบุว่า ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ให้ประเทศ การที่บริษัทจะขนทอง ภาษี ค่าภาคหลวงแร่ประเทศได้ประโยชน์ แต่สารพิษที่ตกค้างอยู่ทุกวันนี้อีกสิบปีก็ยังคงอยู่ พร้อมให้เหตุผลที่ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันว่า การมาวันนี้ไม่ได้มาขัดขวาง ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร ค่าภาคหลวงแร่ ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้ หน่วยงานที่ได้ก็ไม่เคยมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รักษาเยียวยาประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า กลุ่มฅนรักบ้านเกิด ได้ขอหนังสือยืนยันที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดส่งถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรมไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และหากรถบรรทุกออกมาจากเหมืองให้ประชาชนในพื้นที่มีสิทธิ์ร่วมตรวจสอบด้วย พร้อมระบุว่า พอถึงเวลาตามกำหนดเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจ.เลย ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัททุ่งคำ จำกัด ว่า ในวันนี้ไม่สามารถเอารถบรรทุกออกจากพื้นที่ได้ แต่จะนำออกไปใน 24 ชั่วโมง (วันพรุ่งนี้) พร้อมเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาทในการเตรียมการขนแร่ครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะเหมืองทุ่งคำไม่มีใบอนุญาต เป็นการขนแร่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักบ้านเกิดยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอยู่ทางเข้าเหมืองทองเป็นคืนที่ 2 เพื่อ ไม่ยอมให้รถบรรทุกขนแร่ออกนอกพื้นที่จนกว่าจะมีหนังสืออนุญาต

ภาพ กลุ่มฅนรักบ้านเกิดที่เฝ้าทางเข้าเหมืองฯ ภาพจากเฟซบุ๊ก Aey Siriphorn 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวท่าแซะชุมพร ร้องกรรมการสิทธิฯ ถูกทหารคุกคาม หลังค้านสร้างเขื่อน

0
0

'อนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ-ชุมพร' ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบการสนับสนุนโครงการเขื่อนท่าแซะ และกรณีทหารเรียกประชาชนเข้าค่ายคุกคามสิทธิเสรีภาพฯ พร้อมขอรบ.หยุดสร้างเขื่อน ด้าน ประยุทธ์ ให้ไปศึกษา EIA และ EHIA

ที่มาภาพ เว็บไซต์ กสม.

21 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 09.30 น. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะและชาวบ้านอ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี เตือนใจ ดีเทศน์ และ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิฯ เป็นผู้รับเรื่องกรณีขอให้ตรวจสอบการสนับสนุนโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร และมีการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากทหารจากค่ายเขตอุดมศักดิ์ มณฑลทหารราบที่ 44 (มทบ.44) 

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางต่อมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ โดยในหนังสือ ระบุว่าการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งปัจจุบัน จ.ชุมพร มีโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ที่ช่วยบริหารจัดการน้ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่อยู่แล้ว จึงเห็นว่าให้พัฒนาสิ่งที่อยู่เดิม ทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ รวมถึงบริหารจัดการเขื่อนคุริงที่มีอยู่เดิม ควบคู่กับการสร้างฝายมีชีวิต น่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนมากกว่าการสร้างเขื่อน อีกทั้งยังไม่ทำลายระบบนิเวศ

วัชรี จันทร์ช่วง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ทหารจาก มทบ.44 และกรมชลประทานได้จัดประชุมรื้อฟื้นโครงการเขื่อนท่าแซะเพื่อผลักดันโครงการในพื้นที่และเข้ามาจัดการผู้ที่คัดค้านกับการสร้างเขื่อนท่าแซะ และในวันที่ 19 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 20.00 น.ทหารจาก มทบ.44 นำกำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 20 นายเข้าในพื้นที่ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพรเพื่อเชิญแกนนำชาวบ้านผู้คัดค้านจำนวน 15 คนไปยังค่ายเขตอุดมศักดิ์ โดยอ้างคำสั่งอำนาจตามมาตรา 44 แต่ไม่มีเอกสารหนังสือคำสั่งใด  หลังจากนั้นได้มีการเจรจาต่อรองกัน และแกนนำทั้ง 15 คน ได้เดินทางไปยังค่ายเขตอุดมศักดิ์ในวันที่ 20 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ทหารเรียกแกนนำให้ไปรายงานตัวเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากชาวบ้านต้องเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะที่ทำเนียบรัฐบาลและที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 21 ก.พ.2560 ตามกำหนดการณ์เดิม

วัชรี กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 17.00 น. ก่อนที่ชาวบ้านท่าแซะ จ.ชุมพร จำนวนเต็ม 3 คันรถบัสกำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะนั้น ทีทหารจาก มทบ.44 จำนวน 10 นายพร้อมอาวุธอ้างคำสั่งมาตรา 44 นำตัวคนขับรถบัสจำนวน 3 คนไปที่ค่ายอุดมศักดิ์ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันแล้วว่าแค่นำหนังสือไปยื่นเท่านเท่านั้น ท้ายที่สุดทหารได้นำตัวคนขับรถไปที่ค่ายและปล่อยตัวแล้ววันนี้ 21 ก.พ. 2560 ส่วนชาวบ้านที่เหลือแยกย้ายกันกลับบ้าน มีเพียงตัวแทนชาวบ้านประมาณ 30 คนที่เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อยื่นหนังสือตามกำหนดการณ์ได้

วัชรี กล่าวอีกว่า วันนี้ 21 ก.พ.2560 ที่ศูนย์ราชการ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ชาวบ้านอ.ท่าแซะ จ.ชุมพร จำนวนประมาณ 30 คน ทำการนัดหมายกันหลังจากต่างคนต่างเดินทางด้วยรถตู้บ้าง รถบัสบ้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกคุกคามสิทธิจากทหารในค่ายเขตอุดมศักดิ์ เมื่อรวมตัวกันครบจึงเดินทางนำหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลและที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วันเดียวกัน เวลาประมาณ 09.30 น.และคุณเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องไว้และกล่าวว่า การคัดค้านเขื่อนท่าแซะ ชาวบ้านเคยยื่นเรื่องมายัง กสม. แล้ว และ กสม. เคยประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่รวมทั้งกรมชลประทาน โดยมีมติร่วมกัน ประการหนึ่งคือ  ให้กรมชลประทานชะลอโครงการเขื่อนท่าแซะก่อน  แต่ขณะนี้ยังมีความพยายามเดินหน้าการสร้างเขื่อน  ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551  ที่ให้ชะลอโครงการดังกล่าวเอาไว้ก่อน   กสม.จึงจะรับเรื่องไว้พิจารณาเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลต่อไป

วัชรี กล่าวด้วยว่า เร็วๆนี้ชาวบ้านจะมีการนัดพูดคุยและหารือกัน เพื่อเตรียมตัวรับมือในพื้นที่ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร จากทหาร มทบ.44 ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ เนื่องจากทหารจะเข้ามาดูพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อนท่าแซะและจัดการแก้ไขปัญหาชุมชนต่อไป

ออกแถลงการณ์ วอนคุกคามสิทธิ เสรีภาพ 

แถลงการณ์ กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ขอเรียกร้องให้หยุดคุกคามสิทธิ เสรีภาพ

จากกรณีที่มีการประชุมหารือในระดับจังหวัดที่มณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนท่าแซะเพื่อนำไปสู่การผลักดันโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการเข้ามาจัดการผู้ที่คิดต่างไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 44 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ในเวลายามวิกาล ได้มีทหารจำนวนมากได้เดินทางเข้าพื้นที่เพื่อจับกุมและเชิญตัวแกนนำไปยังค่ายเขตอุดมศักดิ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นเป็นเวลายามวิกาล ชาวบ้านพยายามจึงต่อรองเพื่อขอเลื่อนที่จะไปพบในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นที่มณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ ในเวลา 09.00 น.  การใช้อำนาจในการบุกรุกบ้านของแกนนำโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและทหารได้นำอาวุธครบมือไปด้วยนั้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวง  หวาดกลัวและสงสัยว่าเขาทำผิดอะไรทหารจึงได้นำกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปยังพื้นที่และเชิญตัวแกนนำที่มีรายชื่อ 15 คน ไปอย่างนี้

ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.00 น. ชาวบ้านตำบลสองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปพบผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44 ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44 ได้กล่าวชี้แจงเรื่องโครงการสร้างเขื่อนท่าแซะเป็นโครงการที่ดี ซึ่งจะนำความเจริญมายังพื้นที่โดยยกตัวอย่างเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ การย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านและทรัพยากรป่าไม้รวมถึงสิ่งมีชีวิตและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะจมน้ำจากการสร้างเขื่อนเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันที่จะไม่ย้ายออก และร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำไว้ให้ชนรุ่นหลังต่อไป รวมทั้งได้ยื่นข้อเสนอให้มีการสร้างฝายเก็บน้ำขนาดเล็กที่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ โดยชาวบ้านเป็นผู้ดูและบริหารจัดการน้ำด้วยพื้นที่เอง ท้ายที่สุดผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44 ยังคงขอความร่วมมือในการเข้าพื้นที่ของหน่วยงานและขอให้ชาวบ้านในพื้นที่หยุดคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนท่าแซะ

จากกรณีดังกล่าวชาวบ้านมีความกังวลเป็นอย่างมากที่มีการพยายามผลักดันโครงการเขื่อนท่าแซะอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ถูกทหารจี้พาตัวคนขับรถทัวร์ออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จึงขอยืนยันคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนท่าแซะ  และจะไม่อพยพออกนอกพื้นที่ พร้อมทั้งไม่ยินยอมที่จะรับค่าชดเชย พวกเราเสียสละมามากพอแล้ว และขอให้ทางรัฐบาลสั่งการให้มณฑลทหารบกที่ 44 หยุดคุกคามสิทธิ เสรีภาพของชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งสั่งการให้กรมชลประทานหยุดการสำรวจในพื้นที่โดยเด็ดขาด

ด้วยจิตคารวะ

กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ

ประยุทธ์ ให้ไปศึกษา EIA และ EHIA 

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีชาวบ้าน ยื่นคัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ว่า กำลังให้กระทรวงมหาดไทยไปติดตามเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องมีการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA

“หากสามารถดำเนินการได้ ก็ทำ แต่หากทำไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และต้องไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
สำนักข่าวไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับโครงการเขื่อนท่าแซะ เป็นโครงการสร้างเขื่อนความจุประมาณ 157 ล้าน ลบ.ม. บนพื้นที่น้ำท่วม 6,800 ไร่ จะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ประมาณ 1,600 ไร่  และส่งผลกระทบต่อที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ  จ.ชุมพร ประมาณ 500 ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านเสนอให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบของฝายชุมชน-ฝายมีชีวิตตามลุ่มน้ำสาขาขนาดเล็กแทน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนังสือสอนเพศศึกษาเด็ก กลายเป็นประเด็นถกเถียงในอินโดนีเซีย

0
0

หนังสือสอนเพศศึกษาเด็กในอินโดนีเซียกลายเป็นประเด็นโต้แย้งกันหลังจากที่มีคนโพสต์ภาพบางส่วนของเนื้อหาในหนังสือโดยปราศจากบริบทแวดล้อมหรือเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฟิตา จักรา คนเขียนหนังสือสอนเพศศึกษาเรื่องนี้บอกว่าเขามีเจตนาต้องการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองและสอนให้เด็กป้องกันตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศ

ที่มา: http://jateng.tribunnews.com

21 ก.พ. 2560 บีบีซีรายงานว่า หนังสือชื่อ "ฉันเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง" (I Learn to Control Myself) โดยฟิตา จักรา กลายเป็นข้อถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียและทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนไม่พอใจหลังจากที่มีคนเผยแพร่ภาพและเนื้อหาหนังสือสอนเพศศึกษาเล่มนี้ออกไปเพียงแค่บางส่วน

หนังสือเล่มดังกล่าวมีการสอนเด็กเกี่ยวกับการช่วยตัวเอง รูปส่วนหนึ่งของหนังสือที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเป็นรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายนอนอยู่บนเตียงที่กำลังรู้สึกดีที่ได้ถูไถตัวเองกับหมอนข้างและอีกรูปหนึ่งเป็นรูปที่มีคำบรรยายของเด็กที่กำลังล้วงเล่นอวัยวะเพศตัวเอง

หนึ่งในคนที่วิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียระบุว่าให้คุณแม่ระวังลูกหลานของตัวเองและดูเนื้อหาให้ดีเวลาจะซื้อหนังสือเล่มนี้ อีกความคิดเห็นหนึ่งก็ระบุว่าถ้าหากหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเพศศึกษาจริงทำไมถึง "มีคำบรรยายอย่างละเอียด"

ในประเทศอินโดนีเซียทีมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่การสนทนากันเรื่องเพศระหว่างผู้ใหญ่ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้ส่งผลต่อการหารือเรื่องเพศศึกษากันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก แต่อินโดนีเซียก็มีความตระหนักในเรื่องความสำคัญของเพศศึกษาสำหรับเด็กมากขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก

อย่างไรก็ตามในกรณีล่าสุดนี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการคุ้มครองเด็กอินโดนีเซีย (KPAI) ก็อ้างว่าหนังสือสอนเพศศึกษา "ฉันเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง" อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กและอาจจะและอาจจะส่งผลนำไปสู่สิ่งที่พวกเขาเรียกเอาเองว่าเป็น "การเบี่ยงเบนทางเพศ"

ทิกา เซรังไค ผู้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวบอกว่าหนังสือเพศศึกษาเล่มนี้ต้องการให้การศึกษาแก่เด็กพวกเขาควรจะปฏิบัติอย่างไรกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมและแพ่แม่ควรจะให้คำแนะนำแก่พวกเขาอย่างไร กระนั้นพวกเขาก็ทำการถอนหนังสือออกจากการจัดจำหน่ายโดยอ้างว่ามีชุมชนบางส่วน "ไม่พร้อมที่จะสอนเพศศึกษาแก่เด็กในวัยแรกเริ่ม" อย่างไรก็ตามทีร้านค้าออนไลน์บางส่วนที่ยังจัดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้อยู่

ฟิตา จักรา ผู้เขียนหนังสือให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์และทางร่างกายหลายเล่มบอกว่า เธอรู้สึกเสียใจที่มีคนโพสต์รูปจากหนังสือแค่ 1-2 หน้า โดยไม่มีบริบทใดๆ เธอบอกว่ากระบวนการเขียนของเธอกินเวลายาวนานมากและต้องคอยปรึกษาหารือกับบรรณาธิการอย่างจริงจังนานมากกว่าที่จะตีพิมพ์หนังสือออกมาได้

จักราบอกอีกว่าเจตนาที่แท้จริงของพวกเขาคือการให้ความรู้เด็กว่าจะปกป้องตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร รวมถึงมีการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ถูกระบุให้ควรมีการอ่านภายใต้คำชี้แนะจากผู้ปกครองด้วย

อย่างไรก็ตาม เวรา อิทาบิเลียนา นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัววิจารณ์หนังสือเล่มนี้ว่าถึงแม้ว่าการสอนเพศศึกษาตั้งแต่วัยแรกเริ่มจะเป้นเรื่องสำคัญ แต่หนังสือเล่มนี้ก็วางเป้าหมายคนอ่านผิด หนังสือเล่มนี้ควรจะเป็นหนังสือที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ปกครองให้สำหรับผู้ปกครองใช้สอนเด็กมากกว่า และถึงแม้ว่าพฤติกรรมในหนังสืออาจจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 5-6 ขวบ บางคนแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนั้น

บีบีซีระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังสือเพศศึกษากลายเป็นเรื่องถกเถียงในอินโดนีเซีย เมื่อปี 2558 ก็เคยมีหนังสือที่ชื่อ "ถึงเวลาที่ฉันต้องเรียนรู้เรื่องการเดทแล้ว" โดย โทเก เอพริลลานโต ถูกกล่าวหาว่าส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่น

เรียบเรียงจาก

Children's sex book causes stir in Indonesia, BBC, 21-02-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีธรรมกาย ‘อังคณา’ บอกความเชื่อส่วนบุคคลเป็นเสรีภาพ จนท.รัฐจับใครไม่ได้เพราะความเชื่อที่แตกต่าง

0
0

อังคณาระบุ การใช้ม.44 และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีธรรมกาย กสม. เข้าสังเกตการณ์ ยังไม่มีความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน เตือนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องแยกแยะระหว่างการทำผิดกฎหมายที่ต้องดำเนินการ กับความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นเสรีภาพบริบูรณ์ เจ้าหน้าที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว จับกุมใครไม่ได้เพียงเพราะมีความเชื่อที่ต่างจากเรา

อังคณา นีละไพจิตร

หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อเข้าควบคุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยมีการระดมกำลังทหารเข้าคุมพื้นที่ตั้งแต่เมื่อคืน ขณะที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ประกาศเส้นตาย 10.00 ว่าการเจรจาจะต้องลุล่วงเพื่อเข้าค้นภายในวัด

ทางประชาไทสัมภาษณ์อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับกรณีธรรมกาย โดยทางอังคณากล่าวว่า เท่าที่ตามดูตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นความรุนแรงหรือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีปฏิบัติการอะไรที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ ณ ตอนนี้

“ตั้งแต่วันแรกที่ทางดีเอสไอจัดกำลังเข้าไป กสม. ก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ แต่เราก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน ไม่ได้ไปร่วม ไม่ได้ไปแสดงตนต่อดีเอสไอ เราไม่อยากเข้าไปร่วมอยู่ในความขัดแย้ง แต่มีหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวัง แล้วก็ติดตามสถานการณ์”

อังคณา กล่าวอีกว่า “เมื่อวานก็ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงวัดพระธรรมกายว่า การตัดน้ำตัดไฟทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ กสม. ก็ต้องตรวจสอบต่อไป แล้ววันที่มีการกระทบกระทั่งกันจนมีคนที่บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ที่ไปสังเกตการณ์ก็ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เนื่องจากผู้ที่บาดเจ็บเป็นผู้หญิง เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดู แต่ว่าทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม แต่เราก็สอบถามเป็นระยะต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่เราก็เข้าไปเฝ้าระวังอยู่ตลอด”

ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามว่า การประกาศใช้มาตรา 44 ในกรณีนี้ถือว่ามีรุนแรงไปหรือไม่ อังคณาตอบว่า

“เราก็ดูว่าตั้งแต่วันแรกที่ประกาศใช้มาตรา 44 ก็ยังไม่เห็นว่าทางรัฐบาลหรือดีเอสไอกระทำการอะไรที่รุนแรงเกินกว่าที่กฎหมายให้ไว้ ส่วนวันนี้ก็ต้องดูต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเกินกว่าเหตุหรือไม่ ต้องขอดูก่อน เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะใช้มาตรา 44 แต่ยังไม่พบว่ามีการทำอะไรที่ทำให้เกิดความรุนแรง”

อย่างไรก็ตาม อังคณาอธิบายว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องแยกแยะระหว่างการกระทำผิดกฎหมายของผู้ต้องหากับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ

“ต้องแยกแยะ เนื่องจากว่าเรื่องของศาสนาในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนไว้ว่า เป็นเสรีภาพบริบูรณ์ ใช้คำว่าประชาชนมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและปฏิบัติตามความเชื่อลัทธิต่างๆ ถือว่าเป็นเสรีภาพที่ทุกคนจะเชื่อในลัทธิอะไรก็ได้ และสามารถปฏิบัติตามความเชื่อนั้น เพราะฉะนั้นในเรื่องความเชื่อของประชาชน เราคงต้องแยกแยะและต้องเคารพในความเชื่อหรือศรัทธาของประชาชน คิดว่าทางเจ้าหน้าที่คงไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องความเชื่อ ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้เลยว่าความศรัทธาหรือความเชื่อต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นสิ่งผิด อันนี้พูดไม่ได้ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัว

“แต่ในเรื่องการกระทำผิด หากพบว่าใครก็ตามที่กระทำผิด เจ้าหน้าที่สามารถใช้กฎหมายในการดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถไปจับกุมใครเพียงเพราะเขามีความเชื่อที่ต่างจากเรา อันนี้ทำไม่ได้

“ถ้าเราเห็นว่าความเชื่อแบบนี้ไม่ถูก ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิให้ความเห็นว่าที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร เป็นต้น แต่ต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะในเรื่องความเชื่อคนเราสามารถเสียสละชีวิตได้เนื่องจากความเชื่อ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ต้องระมัดระวังและแยกระหว่างสิ่งที่เป็นความผิดทางกฎหมายก็ต้องไม่ละเว้น ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนในเรื่องความอ่อนไหวเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเคารพกัน”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถาบันวิจัยสังคมฯ จัดเสวนา จากโรงไฟฟ้ากระบี่ สู่โจทย์ใหญ่จัดการพลังงานยั่งยืน

0
0

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2560 เวลาประมาณ 16.30 น. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีนโยบายสังคม (Social Policy Forum) เรื่อง การจัดการพลังงานที่เป็นธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: โจทย์ท้าทายในอนาคต มีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางทฤษฎีและปฏิบัติร่วมแลกเปลี่ยน มีโจทย์สำคัญจะจัดการพลังงานอย่างไรให้มีความยั่งยืนและเป็นธรรม ศึกษาจากความขัดแย้งด้านนโยบายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา

ผศ.ประสาท มีแต้มนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พลังงานเป็นเรื่องประชาธิปไตย ประกอบด้วยความเป็นธรรมและความยั่งยืน จากสถานการณ์ความขัดแย้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ทำให้ยกระดับความรู้เป็นที่น่าชื่นชม โจทย์สำคัญจะทำอย่างไรให้ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องว่า การใช้ถ่านหินมีต้นทุนสูงและทำให้โลกร้อนถึงแม้จะเอาพื้นที่มหาสมุทรมาปลูกต้นไม้ยังไม่สามารถทำให้ธรรมชาติกลับมาสมดุลได้ เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งนี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็สามารถทำได้ ถ้ามีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงพลังงาน เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้น ทั้งที่ทั่วโลกเขาก็ทำมานานและสามารถทำได้

ขณะที่ เลิศชาย ศิริชัยจากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์เรากลับใช้วิธีคิดแบบเดิม รัฐบาลคิดเอาเองพอใครไม่เห็นด้วยก็ใช้อำนาจผลักภาระให้ประชาชน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาศึกษาร่วมซึ่งรัฐบาลรู้ดีว่าโครงการมันมีผลกระทบ แต่ไม่สื่อสารต่อประชาชนและเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ต้องมีการจัดการทรัพยากรโดยท้องถิ่น แต่กลุ่มทุนกลับมาใช้ประโยชน์และจัดแจงเสียเองโดยมองข้ามท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง พูดแต่เรื่องการใช้พลังงานแต่ไม่พูดเรื่องคน

เลิศชาย กล่าวต่อว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และสงขลา หรือพื้นที่อื่นๆ ถูกต่อต้านอย่างเข้มแข็ง  ภาคใต้ถูกกำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้เป็นเขตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากการศึกษากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ากลายเป็นธุรกิจข้ามพรมแดน ขึ้นอยู่ว่าที่ไหนได้กำไรมากกว่ากัน จึงมีคำถามว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝพ.) มีการแปรรูปให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น ขณะนี้เรากำลังเอาชีวิตคนไปค้าขายใช่หรือเปล่า แล้วจะเกิดความเป็นธรรมในอนาคตได้อย่างไร

“กฝพ. กับ  รัฐบาล มีวาทกรรมในทางเดียวกันว่า โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ไม่ผลกระทบ โฆษณาว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นสะอาด บอกว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าแล้วลูกหลานจะมีโอกาสทำงานใกล้บ้าน แต่ความจริงคือชาวบ้านแต่ละครัวเรือนที่ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าแค่นิดเดียว ทั้งนี้ยังบอกให้ชาวบ้านมองให้กว้างกว่าเรื่องของตัวเองและไม่เห็นแก่ตัว รัฐนำวาทกรรมนี้สื่อสาธารณะเพื่อให้คนภาคใต้สนับสนุน ขณะที่ NGO ในพื้นที่กลายเป็นแพะรับบาป  ทำไม กฝผ. และรัฐบาล จ้างคนไปนำเสนอโครงการได้ ทำไมรัฐจัดงบประมาณพาชาวบ้านไปดูงานที่ถูกจัดแจงไว้ได้ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง มีการพาชาวบ้านไปดูงานที่โรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้พาชาวบ้านไปดูคนที่เจ็บป่วยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ดร.เลิศชายกล่าว

เลิศชาย กล่าวอีกว่า การอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ถือได้ว่าเป็นการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่น เกิดการขูดรีดทรัพยากรผ่านคน ลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคน ซึ่ง ดร.เลิศชายเสนอทางออกดังนี้ 1.ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เริ่มอย่างจริงจัง ทำการศึกษาและทำวิจัยออกมา 2. ให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 3. สร้างหน่วยงานกลางขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหา

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อจากคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา  รัฐบาลพูดถึงแค่ทางเลือกด้านพลังงาน ทางผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและทางการท่องเที่ยว ซึ่งในทางท้องถิ่นชาวบ้านก็มีความรู้และมีคุณค่า ดังนั้นการพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และที่อื่นๆ จึงไม่ใช่แค่การพูดความสะอาดทางเทคโนโลยี เนื่องจากจะมีคำถามที่ท้าทายตามมาว่า เทคโนโลยีสำหรับกระบวนการสร้างนั้นสะอาดจริงหรือไม่ จากที่เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อปี 2504 เป็นโรงไฟฟ้ากระบี่โรงเก่าที่ใช้ถ่านหินก็เริ่มดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2507 โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแรกเริ่ม 20 เมกกะวัตต์ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 60 เมกกะวัตต์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2538 จึงยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และหันมาใช้น้ำมันเตาแทน ในช่วงที่มีการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้า งานวิจัยนี้พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 60 เมกกะวัตต์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง โดยขี้เถ้าถ่านหินจากการเผาไหม้ฟุ้งกระจาย และชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ต.ปกาสัย ได้รับผลกระทบ โดยที่หมู่ 4 หรือบ้านทุ่งสาครได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากอยู่ใต้ลมของโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปี (เดือน 6 - เดือน 12 หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน) และขี้เถ้าถ่านหินทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด ข้อมูลนี้ได้จาก รพ. เหนือคลอง จ.กระบี่

ไชยณรงค์ กล่าวต่อว่า ด้านการใช้ระบบหล่อเย็นสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรส่วนรวมและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้มีการต่อสู้ของประมงพื้นบ้านกับประมงพานิชย์มาอย่างยาวนานเพื่อปกป้องทรัพยากรส่วนรวม

“ด้านรายงานของ EHIA ไม่มีการพูดถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไม่มี ทำให้โครงการขนาดใหญ่นี้เป็นข้อถกเถียงและข้อมูลถูกบิดเบือน ชาวบ้านจึงไม่เชื่อมั่นในความรู้ของรัฐบาลจึงทำการคัดค้าน” ไชยณรงค์ กล่าวไว้ตอนท้าย

สมพร เพ็งค่ำนักวิชาการอิสระด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยประชาชน กล่าวถึงผลกระทบสุขภาพจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ว่า ภาครัฐมองแค่มิติด้านพลังงานแต่ไม่ได้มองมิติด้านสุขภาพ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านที่กระบี่และเทพา จ.สงขลานั้น หากกล่าวว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีราคาถูก แล้วถ้าถามถึงราคาด้านสุขภาพมีราคาถูกด้วยหรือไม่ แล้วเทคโนโลยีสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสะอาดและป้องกันการเกิดโรคได้จริงหรือไม่ ผลกระทบไม่ใช่แค่ทำให้โรคหอบหืดและโรคทางเดินหายใจ แต่ยังมีความรุนแรงส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย และเมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ จะมีงานทางวิชาการระบุว่า มลพิษทางอากาศในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าที่ไหนจะมีการปนเปื้อนโลหะหนัก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดคนได้ คำถามคือเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านที่กระบี่สะอาดจริงหรือไม่

“ถ่านหินราคาถูกกว่าพลังงานอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้รวมเรื่องราคาด้านสุขภาพ เราควรคุยกันในเรื่องต้นทุนระยะยาว ,ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ภาระค่าใช้จ่ายล้วนมาจากกองทุนประกันสุขภาพ มุมมองด้านสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่พูดถึงแค่จ่ายค่าไฟถูก” สมพรกล่าว

ศุภกิจ นันทะวรการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สื่อมวลชนทั้งสนใจและสับสนกับประเด็นพลังงาน กระทรวงพลังงาน และ กฝผ. ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไฟฟ้าไม่พอใช้ แต่หากมองไปแต่ละท้องถิ่นจะพบว่ามีการใช้ไฟฟ้าแค่นิดเดียว กฝผ. อ้างว่า หากกระบี่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % แล้วจะไม่มีความมั่นคง จึงเกิดนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างพลังงานหมุนเวียน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ประชาชนเข้าไม่ถึงการมีส่วนร่วมด้านการจัดการพลังงาน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม จะได้ไม่ต้องรอการตัดสินใจและเกิดความขัดแย้งดังที่ผ่านมา ข้อเสนอของศุภกิจคือ การปฏิรูป กพช. เพื่อแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยประชาชนในท้องถิ่นต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และ กพช. ต้องเป็นกลไกหลักในการจัดการพลังงานครั้งนี้

ศุภกิจ เสนออีกว่า กรณีการจัดการพลังงานที่กระบี่เสนอให้ 1. ให้มีการจัดการภายในจังหวัด ให้ชาวบ้านตัดสินใจด้วยตัวเองว่าต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร 2. กระทรวงพลังงานให้ความเข้าใจในความรู้ด้านพลังงานกับชุมชน ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นเพื่อให้คนรับรู้ว่า ปัญหาคืออะไร พลังงานอยู่ร่วมและทำงานกับสังคมยังไง และจะจัดการพลังงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด “ห้องเช่าหมายเลข 112” บทบาทนักจดบันทึกประวัติศาสตร์ราคาจ่ายของเสรีภาพ

0
0

“ห้องเช่าหมายเลข 112”

หนังสือเล่มล่าสุดของ iLaw (อ่านว่า ไอลอว์) หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งริเริ่มทำงานติดตามคดีเสรีภาพอย่างใกล้ชิดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ราวปี 2554

ใครที่คาดหวังแง่มุมทางประวัติศาสตร์ การเมือง การขับเน้นปัญหากระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ และการถกเถียงในปรัชญา หลักกฎหมาย ความเชื่อความคิดอย่างถึงราก อาจเป็นการคาดหวังที่ผิดฝาผิดตัว อันที่จริงนั่นก็เป็นสิ่งที่หลายกลุ่มหลายองค์กรพยายามทำตลอดหลายปีที่ผ่านมารวมถึงไอลอว์ด้วย แต่หนังสือเล่มนี้นำเสนอสิ่งที่ต่างออกไป นั่นคือ การเล่าเรื่อง “ชีวิต” และ “ชะตากรรม” ของคนธรรมดาที่ต้องเจอกับคดีนี้ แต่ขณะเดียวกันก็แอบซ่อนคำถาม-ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไว้ด้วยตามรายทาง

อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นหนังสือเล่มแรกที่บันทึก “ประวัติศาสตร์ของผู้ต้องหาและครอบครัว ในคดีมาตรา 112” อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ยอด pre-order นั้นก็ทำให้ทีมงานประหลาดใจ จากที่คิดว่าจะมีเพียง 40-50 เล่มกลับมากกว่านั้นถึง 10 เท่า ปัจจุบันมันยังถูกส่งไปยังห้องสมุดมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญ มันกำลังจะปรากฏบนแผงหนังสือในร้านหนังสือทั่วไป รวมถึงในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เดือนมีนาคม-เมษายนนี้

คำถามแรกสุดหลังหยิบเล่มนี้ขึ้นมา อาจเป็นว่า ทำไมต้องเป็น “ห้องเช่า”

“ความหมายของห้องเช่า คือ การที่จะได้ออกมาสักวันหนึ่ง เป็นความหวัง ไม่ใช่ห้องถาวร มันสื่อว่าสักวันต้องมีความเปลี่ยนแปลง” บก.หนังสือเล่มนี้ตอบไว้ในเบื้องต้น

ส่วนคำถามอื่นหลังจากนั้นอาจสะท้อนผ่านอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเบื้องหลัง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า เป็นหัวเรือใหญ่ของไอลอว์ เขาทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เขาเรียนจบกฎหมาย เป็นทนายความ มาจากครอบครัวที่เป็นนักกฎหมายกันทั้งบ้าน

เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่ามา เป็นการวบรวมงานมาจาก 112 The Series ของไอลอว์มาขัดเกลาและเพิ่มเติมบางบทที่เครือข่ายที่ใกล้ชิดเคสเป็นคนเขียน

“เรามีความรู้สึก มีความคิดเห็น แต่ฐานข้อมูลมันจำกัด บันทึกกระบวนการพิจารณาคดีเฉยๆ มันแข็งและไม่มีความรู้สึก เลยลองเขียนเล่า”  

“คดีที่รู้สึกเยอะแล้วเขียนในบล็อก คือคดีอากง คนอ่านเยอะ เขียนต่ออีกบ้าง 3-4 ชิ้น แต่หลังรัฐประหารคดีเยอะมาก น้องที่เข้ามาก็บ่นว่าเขียนข้อมูลอย่างเดียวไม่มีใครอ่าน เลยลองคุยกันว่าเขียนแบบนี้ไหม ทุกคนก็เห็นด้วยเลยเริ่มเขียนกันมาเรื่อย”

เขาบอกว่าตัดสินใจรวบรวมเพื่อทำหนังสือเพราะอยากให้เข้าถึงคนอ่านที่กว้างขึ้น ในอารมณ์ของ “กระดาษ” และองค์กรทำหนังสือที่เข้าใจประเด็นนี้อย่างดีและพร้อมจะเสริมต่องานนี้ก็คือ WAY Magazine นักเขียนของเวย์คนหนึ่งตกลงมาเป็นบก.เล่มให้ 

“ผมไม่เคยคิดว่า การถกเถียงกันด้วยหลักการ กฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรนัก ผมไม่เชื่อเลยว่าจะไปคุยกับคนเห็นต่างกันในเรื่องหลักการได้อย่างไร ไปบอกเขาว่าหลักที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเขาต้องยึดถือตามเราหรือ เรื่อง Human Rights ทุกเรื่องต้องพูดกันที่ความเป็นมนุษย์ ความรู้สึก ตัวผมเองทำงานเรื่องพวกนี้เริ่มแรกไม่ได้ทำเพราะหลักการ แต่ทำเพราะเห็นแล้วรู้สึก แล้วเชื่อ เลยเริ่มคิดกับมัน ผมจึงเชื่อว่าการจะสื่อสารกับคนต้องสื่อสารด้วยความรู้สึกและข้อเท็จจริง ถ้าคนรับรู้ข้อมูล แล้วรู้สึกไปด้วยแล้ว กระบวนการคิดถึงหลักการก็จะตามมา ผมพูดแบบนี้ก็คงโดนด่าเยอะ (หัวเราะ)”

คำถามหนึ่งที่ผู้ที่ทำงานกับเหยื่อและเห็นเรื่องเศร้าต่างๆ มักจะเจอคือ งานที่ทำซ้ำๆ เรื่องที่เจอซ้ำๆ ส่งผลต่อสภาพจิตใจหรือไม่ เป็นโรคซึมเศร้าบ้างไหม

“อันนี้ต้องให้หมอบอกสิ” เขาตอบสมกับเป็นนักกฎหมาย

“ถ้าดูตัวเอง ผมไม่มีปัญหา แต่คนอื่นๆ ก็อาจไม่แน่ ผมไม่เป็นคนเก็บกด ไม่แบกเรื่องพวกนี้ไว้นาน รับรู้แล้ว เจ็บบ้าง เศร้าบ้าง แต่มีอย่างอื่นต้องทำ ก็วางมันแล้วทำงานอย่างอื่นได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายครั้งที่เขียนงานแบบนี้ก็ไม่ใช่เพื่อจะสื่อสาร แต่เขียนเพื่อให้ตัวเองนิ่ง เจอหนักๆ พอเขียนจบก็จะนิ่ง นิ่งแล้วก็จะวางแล้วไปทำอย่างอื่นต่อได้”

“เคสที่เป็นแรงบันดาลใจคือ เคสพี่หนุ่ม (ธันย์ฐวุฒิ) แต่ไม่ได้รวมในเล่มนี้ สาเหตุก็เพราะพี่หนุ่มทำให้ผมเปลี่ยน เป็นคนแรกที่ผมคุยด้วย คุยจริงๆ เข้าไปเห็นคดี เห็นลูกชาย พอรู้สึกก็คิดต่อหลักการ รู้สึกเศร้าและเจ็บปวด ในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา เรารู้สึกว่าน่าจะชนะ แต่แพ้ ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ถูกรับฟังเลย เรารู้สึกเศร้าและเจ็บปวด เจ็บปวดที่ผลเป็นอย่างนี้ เศร้าที่คดีแบบนี้ทำอะไรไม่ได้ ก่อนหน้านั้นมีความเชื่อว่ามันไม่ได้แย่ แต่พอลงไปคลุกคลีมันแย่กว่านั้นอีก และมันยังเลยลิมิตไปได้เรื่อยๆ”

“ถามว่าทำเรื่องพวกนี้เยอะๆ แล้วด้านกลับจะยิ่งทำให้คนกลัวไหม มันก็เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งในการทำงานของเรา มีผลสร้างความกลัวให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก็จริง แต่ก็คิดว่าคนที่กลัว ร้อยละ 70-80 จะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีความสุขกับการอยู่ภายใต้กฎหมายนี้หรือระบบนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย เราอาจช่วยแผ่ขยายความหวาดกลัว แต่มันก็จะทำให้คนไม่พอใจกับระบบ และยิ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงมีวิธีเดียวคือ คนรู้สึกอยากเปลี่ยน”

ณัชปกร นามเมือง หรือถาทำงานกับไอลอว์มา 2-3 ปี เขาเป็นหนุ่มอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน แต่ขณะเดียวกันก็ค่อนข้างอ่อนไหวและสะเทือนใจกับเคสที่ติดตามค่อนข้างมาก เรารู้สึกถึงเรื่องนี้ได้ไม่ยากจากการพูดคุยกันแม้ช่วงสั้นๆ

ถาเล่าว่า เขารู้จักคดี 112 คร่าวๆ มาตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย แต่ “ไม่อิน” เพราะไม่รู้ข้อมูลมากนัก จนกระทั่งหลัง “อากง” หรืออำพล ผู้ต้องขังชราเสียชีวิตในเรือนจำและเกิดการรณรงค์ขนานใหญ่เรื่องมาตรา 112 เขาจึงเริ่มฟังมากขึ้น

“จุดเปลี่ยนของผมคือ การที่ได้ฟังอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดกรณีอากงเปรียบเทียบคดีชิตบุศย์เฉลียว บอกว่าศาลไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ทำให้ผมเริ่มเห็นว่าเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม ตอนนั้นเริ่มคิด แต่ไม่เศร้า พอมาทำงานไอลอว์ได้ตามเคสแรกคือ ป้าฐิตินันท์ อันนี้เศร้ามาก เพราะได้เห็นกับตาว่าป้าแกป่วยเป็นจิตเภท ดูเบลอมาก ดูภายนอกก็เห็นเลย ศาลเองก็เชื่อว่าป้าแกก็เบลอจริง ศาลชั้นต้นรอลงอาญา แต่พอหลังรัฐประหาร ศาลอุทธรณ์ลงโทษผมเลยช็อค ข้อเท็จจริงมันค่อนข้างสมบูรณ์มาก ใบรับรองแพทย์ชัดเจน ตอนอ่านคำพิพากษาชั้นต้น หน้าป้าแกไม่ยินดียินร้ายอะไรเลย ลูกเดินไปจับมือแม่ว่า ไม่ติดคุกแล้วนะแม่ ป้าก็ยังนั่งเบลอของแกอยู่”

“อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นอีกคนที่ผลักดันให้พวกเราเขียนงานลักษณะนี้ มันอยู่บนฐานคิดว่าคนพวกนี้จะถูกลดทอนให้ต่ำกว่ามนุษย์ หน้าที่ของ 112 เดอะซีรี่ส์ คือ การคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา คนแบบนี้คิดยังไง ชีวิตปกติเป็นยังไง เขาไม่ต่างจากเรา มีบางอย่างที่ห้อมล้อมเขา ทำให้เขาคิดและเป็นแบบนั้น ผมซื้อไอเดียนี้นะ ถ้ามีคนเห็นป้าฐิตินันท์แบบเดียวกับผมก็อาจเห็นปัญหาของการใช้ 112 แบบเดียวกับผมมากขึ้น”

เมื่อถามถึงคดีที่สำคัญสำหรับเขา เขากล่าวอย่างไม่ลังเลว่าคือ คดีของสิรภพ ผู้ซึ่งถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 3 ปีจนปัจจุบัน คดีพิจารณาในศาลทหาร และเป็นหนึ่งในสองรายที่ “ขอต่อสู้คดี”  

“มันน้อยคนที่จะสู้คดี เขาบอกว่าเขายอมรับไม่ได้ในความผิดที่เขาไม่ได้ทำ เขาเล่าว่าข้อหาที่เขาโดนเกิดจากรูปภาพกับกลอน จะตีความอย่างไรก็ได้ แรงจูงใจเบื้องหลังคือเขาเป็นกวี เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อยู่ในแบ็คลิสต์อยู่แล้ว เขามั่นใจมากว่า 112 ถูกนำมาใช้กำจัดเขา”

“เรื่องนี้เขียนยาก เคยเขียนไว้อีกแบบ แต่ตอนที่เขียนเผยแพร่ ผมก็ข้อเท็จจริง ไม่ได้ดราม่ามาก แต่ก็เป็นตัวเองมากที่สุด มันมาจากปากเขา เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ต่อสู้ภายใต้กฎหมาย แต่สู้กับทัศนคติของศาล โดยเฉพาะศาลทหาร ซึ่งวิธีคิดเป็นคู่ขัดแย้งกับเขามากกว่าศาลพลเรือนเสียด้วยซ้ำ เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องมันพื้นฐานมาก ไม่ได้เรียกร้องให้มาเห็นใจเขา แค่ให้เข้าใจว่าเขากำลังสู้กับอะไร สู้กับวิธีคิด”

“ส่วนตอนที่เคยเขียนไว้อีกแบบไม่ได้เผยแพร่เพราะเป็นตัวของตัวเองมากไป ผมเล่าเรื่องที่ผมไปศาลแล้วเป็นการรอการประกันตัวเขา เรานั่งรอกันนานมาก มีผม ลูกสาว และพี่สิรภพ จนศาลใกล้จะปิด คำสั่งลงมาว่าไม่ได้ประกัน ผมเห็นเขากอดลูกเขา บอกว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ประกัน ลูกสาวซื้อชอคโกแลตมาให้พ่อ พี่สิรภพยื่นให้ผมบอกว่า “กินซะ จะได้รู้สึกดีขึ้น” เย็นวันนั้นผมเดินออกจากศาล ผมหยิบชอคโกแลตออกแล้วก็ร้องไห้เละเทะเลย เชี่ย! เขาสิต้องกิน ไม่ใช่กู”

“เขาเคยบอกผมว่า ถ้าเขาไม่สู้ ทุกคนจะเข้าใจว่าเขาทำผิดจริง ... “ผมเป็นหิน โยนลงน้ำ คุณก็เป็นคลื่นส่งต่อให้สังคมให้หน่อย” คำนี้มันติดหูมาตลอด และมันทำให้ผมฝังใจกับคดีนี้มากและอยากถ่ายทอด”

“แต่ก่อนผมไม่เคยคิดเรื่องพิจารณาคดีลับ เป็นปัญหายังไงวะ วันหนึ่งก็เห็นจริงๆ ว่าเป็นปัญหา สังคมมันตรวจสอบไม่ได้ ถ้าเอาคำฟ้องเขามากางสู่สาธารณะมาโหวตกันเลยว่าผิดไหม ผมว่ามีลุ้นมากๆ ไม่ต้องพูดหลักกฎหมายเลย มันเหมือนกรณี “จ้า” ของแม่จ่านิว มันเกิดอย่างนี้เยอะนะ แต่พอพิจารณาคดีลับทำให้กระบวนการไม่เคยถูกตรวจสอบได้เลยว่ากำลังทำอะไรกันอยู่”

“ปัญหาสุขภาพจิตเหรอ มี ไม่รู้ว่าเกิดจากเคสหรือคนรอบข้าง เช่น เวลาอ่านสเตตัสพี่คนหนึ่งที่ชื่อกุ้ย มันทำให้เราจม เคยคิดว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าแล้วไม่ยอมรับหรือเปล่า เราไม่อยากเจอสังคม ก่อนหน้านี้ตอนรัฐประหารใหม่ๆ เข้าสังคมไม่ได้ ไม่อยากเจอใคร รู้สึกว่าถ้ากินเหล้ากับเพื่อนแล้วเห็นเพื่อนมีความสุข เราจะรู้สึกแย่ ทำไมมึงความสุข ทั้งที่โลกมัน fuck up มาก พี่กุ้ยเคยบอกว่า กินเหล้าไปเหอะ กินให้เมาๆ ง่วงแล้วก็นอนไปจะได้ไม่ต้องคิดอะไร แต่ช่วงหลังก็ดีขึ้น พอคนอื่นรอบๆ ตัวเริ่มเห็นปัญหาการใช้กฎหมายนี้ด้วย ทำให้เรามีเซฟตี้โซน”

“ผมไม่รู้สึกว่า เชี่ย กูทำไรไม่ได้ ไปเรียนต่างประเทศดีกว่า เราไม่ได้ถูกฝึกมาให้หนีความจริง เวลาผมได้ยินคนพูดว่า ประเทศนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ประเทศห่านี่หรอก ไปอยู่ต่างประเทศดีกว่าก็จะรู้สึกว่า มันเป็นสิทธิเขาแต่เผลอๆ การยิ่งคิดแบบนี้ ปัญหายิ่งไม่ถูกแก้ มันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น เมื่อเราคิดจะหนีมัน”  

“มันเหมือนหนังเดอะ เมทริกซ์ มียาสีฟ้ากับสีแดง แต่เราเสือกเลือกทะลึ่งกินยาเม็ดสีแดง ทำให้เห็นความจริงว่าเราไม่ได้สุขสบายอย่างที่ตาเห็น ถ้าเรากินสีฟ้าอยู่อำมาตย์ ใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมไปก็สบายแล้ว เสือกไม่กิน”

วีรวรรธน์ สมนึก หรือ แน็คเป็นหนุ่มแว่น นักดนตรี พูดน้อย เริ่มทำงานที่นี่หลังเรียนจบและลงมือเขียนหลายเรื่องในเล่มนี้ เขาเล่าว่าเส้นทางการทำงานนั้นเป็นไปอย่างจับผลัดจับผลู เพราะคาดหวังงานที่ไม่ใช่เอกชน กับ ไม่ใช่ข้าราชการ ติดตามการเมืองแบบห่างๆ แต่ช่วงเรียนจบเป็นช่วงหลังรัฐประหาร 2557 พอดีทำให้การเมืองร้อนแรงอย่างช่วยไม่ได้และจึงเริ่มรู้จักไอลอว์จากทางเพจเฟซบุ๊ก จนกระทั่งมีการเปิดรับสมัครงาน

“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตจะได้ไปคลุกคลีกับคนต้องโทษคดี 112 หรือไม่คิดว่าวันหนึ่งต้องไปตามคนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในค่ายทหาร ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่มันก็เป็นการฝึกแบบหนึ่ง ฝึกให้เราเก็บข้อมูล สังเกตการณ์ บันทึก แล้วเอามาเผยแพร่เป็นประโยชน์กับประเทศ”

“นักโทษคดี 112 คนแรกที่เจอคือลุงโอภาส คดีเขียนฝากผนังห้องน้ำห้าง วันนั้นรู้สึกต้องชั่งใจ ปกติเราก็เป็นคนไม่กล้าเข้าไปคุยกับใครเท่าไรนัก พอมันต้องทำ ก็ 5 4 3 2 1 เริ่มเลย ก็เข้าไปคุยกับลุงแล้วเก็บข้อมูลไปทำเคสฟอร์ม พอทำความรู้จักกับแก รู้สึกว่า สำหรับคนเรียนจบใหม่นี่เป็นโอกาสดีมากๆ ที่ได้มาคุยกับลุง มีหลายเรื่องที่ข่าวไม่นำเสนอ”

“ช่วงเริ่มทำงานเป็นช่วงที่มีคดีเยอะมาก หลังรัฐประหารใหม่ๆ ไง คนโดนจับวันแรกเราต้องไปเจอให้ได้ในชั้นฝากขัง เราไปช่วยเยียวยาคุยกับเขา กลับมาก็ต้องเยียวยาตัวเองด้วย คือ กินเหล้า (หัวเราะ) มันทำให้หลับง่าย ทำให้อยู่ในอีกสภาวะหนึ่งที่ลืมไปก่อน ค่อยกลับมาคิดใหม่ทีหลัง”

“เวลาไปเจอตัวจำเลยครั้งแรก เป็นสิ่งที่ยากที่สุดแล้วในกระบวนการ เราจะทำยังไงให้เขาไว้ใจเรา เราจะมีวิธีเข้าถึงเขายังไงบ้าง เราจะแนะนำตัวว่าเราเป็นอะไร แล้วเราจะเจอกันครั้งต่อไปได้ยังไง มันต้องใช้พลังงานเยอะเหมือนกัน นอกจากจะไปหาข้อมูลของเขาเพื่อมาทำข้อมูลแล้ว เรายังต้องไปช่วยรับฟังเขา ช่วยแนะนำขั้นตอนทางกฎหมายหรือการเตรียมตัวเข้าเรือนจำกับเขา แล้วต้องเสริมกำลังใจให้เขาด้วย ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้ยากแค่ตัวจำเลยที่จะเข้าไปคุย แต่มีอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่ด้วย เราก็ต้องพยายามอธิบายว่า เขาควรได้รับสิทธิบางอย่าง อย่างน้อยก็ขอให้เขามีเพื่อนคุยบ้างระหว่างขึ้นศาล”

“ยอมรับว่าคุยเรื่องการเมืองกับที่บ้านไม่ได้เลย จะเลี่ยงคุยเรื่องการเมือง แค่เรื่องเหลืองแดง ไม่ต้องพูดถึง 112 เลย พยายามบอกเล่าให้เขาฟังบ้าง ที่เหลือก็ให้เขาตัดสินเอาเอง จริงๆ การทำหนังสือห้องเช่าหมายเลข 112 ก็เป็นอีกวิธีการที่ดี ต้องเล่าผ่านเรื่องแบบนี้ ชีวิตของเขา มิติความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมี”

“ผมอยากให้เรื่องแบบนี้ไปอยู่บนเซลฟ์หนังสือร้านใหญ่ๆ ทั่วประเทศ อยู่หมวดอะไรก็ได้ช่างมัน อยากให้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ คนที่ไม่ได้ตามการเมืองเลย แค่หยิบหนังสือมาเปิดดู แล้วอยากรู้ว่าเรื่องนี้คืออะไร แล้วซื้อกลับไปอ่าน มันน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับตอนนี้” 

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือแว่นเป็นคนที่มีสไตล์เฉพาะตัวสูง ดูภายนอกเทียบมาตรฐานทั่วไปอาจไม่มีใครรู้ว่าเป็นนักเรียนนอก มาสเตอร์ดีกรี เขาออกตัวว่ามาทำงานนี้โดยไม่มีอุดมการณ์อะไรเบื้องหลังมากมาย แต่เขาสนใจการเมืองอย่างเข้มข้น และเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาพอสมควร เราจึงเชื่อว่าเขาและการเจอกันกับไอลอว์ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

“ทำงานมาตั้งแต่ปี 2013 คิดว่าองค์กรนี้น่าจะทำอะไรได้บ้างแค่นั้น พอหลังรัฐประหารก็เห็นปัญหาชัดขึ้น รู้สึกอยากจะทิ้งอะไรให้สังคม มีการตั้งเป้า ไม่ใช่เรื่องความสำเร็จในชีวิต เรื่องเงินทอง แต่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เรื่องราวการละเมิดสิทธิที่เกิดในช่วงนี้ วันนี้มันอาจยังไม่มีค่าอะไร แต่วันหน้าสมมติมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี รายละเอียดที่เราบันทึกอาจมีส่วนในการช่วยรื้อฟื้นความยุติธรรมก็ได้”

“มันสนุกนะ ได้อยู่กับเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องยากที่จะหางานที่เราได้ทำเรื่องที่เราสนใจแล้วยังได้เงินมาใช้ชีวิต นี่เคยไปทำบริษัททัวร์อยู่ได้ 7 วันลาออกเลย มันไม่ใช่ ”

ถามว่าทำไมชอบการเมือง เขาเล่าเท้าความไปถึงสมัยเรียนที่พลัดหลงไปในวงเสวนาของกลุ่มศึกษามาร์กซิสม์ นั่นคือจุดเริ่มต้น

“ตอนนั้นคุยกันเรื่องศาสนา ฟังแล้วก็ช็อค แต่เราเถียงไม่ได้ ฟังเหตุผลเขาแล้วก็หนักแน่นดีก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนให้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และชอบบรรยากาศการถกเถียงหนักๆ แล้วเขาก็คุยกันหลายประเด็นนะ ทำให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้ไกลตัว ไม่ใช่แค่เรื่องในสภา มันอยู่ในชีวิตประจำวัน”

“พอทำงานเก็บข้อมูลตรงนี้มานานก็เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม พอมันมีประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไปมันทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม แต่คนไม่ค่อยพูดกันเรื่องนี้ แล้วก็ได้เห็นชีวิตคน คดี 112 เราได้เห็นมิติที่อาจต่างจากคนทั่วไป”

“อะไรนะ ซึมเศร้าเหรอ ผมไม่เคยเป็นนะเพราะกลับบ้านก็มีซีรีส์ดู สามารถตัดได้ ตอนที่คุยตอนรับรู้เรื่องก็รู้สึกมากอยู่ แต่พอถึงเวลาเลิกงานก็กินเบียร์เฮฮาได้ เรามีทางจะตัดมัน ผมหมกมุ่นกับการเมืองกับเรื่องพวกนี้เหมือนสื่อบันเทิง เป็นเรื่องที่เราติดตามใกล้ชิดเราพยายามดูว่ามันเคลื่อนไปไหน มันจึงไม่ทำลายไฟในการทำงาน ตรงกันข้ามกลับยิ่งเติมไฟ เพราะมันยังมีปัญหาอีกมาก เราต้องเรียนรู้ ยังต้องลุยอีกเยอะ”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจ เขาเล่าถึงประสบการณ์เสียวที่เกิดขึ้น

“ตอนไปค้นบ้านลุงบัณฑิตไง ไปกับนักข่าวประชาไทคนหนึ่ง ตอนนั้นเรากลัวมากเลย ทั้งที่ตัวเราไม่ได้ทำอะไร ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่เป้าหมายของตำรวจทหารที่ไปวันนั้น แต่กลัวมาก แต่เราเห็นคนที่เป็นเป้าหมายเถียงกับตำรวจว่า ผมปวดเยี่ยว แล้วก็เดินไปเยี่ยวเลย ไม่สนใจตำรวจที่บอกต้องรอทหารก่อน ผมเลยรู้สึกว่าบางทีเราอาจต้องกล้ามากกว่านี้”

“ลุงแกพูดในสิ่งที่เชื่อ กล้าออกมาเรียกร้องเสรีภาพในการคิดการพูดซึ่งเป็นผลประโยชน์ของทุกคน แล้วก็ไม่ได้ตังจากสิ่งที่แกพูด เราต่างหากที่ได้ตังจากการทำงาน แต่เรากลับยังเต็มไปด้วยความกลัว ผมก็เลยคิดว่าต้องทำหน้าที่บันทึกให้ดีที่สุด บันทึกความรุนแรง ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นทางกายภาพ การกดทับความคิดความเชื่อคนก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง”

“รัฐมีหอจดหมายเหตุของเขา แต่เรื่องของประชาชนไม่เคยมีหอจดหมายเหตุบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผมหวังว่างานที่ทำอาจะไปสู่จุดนั้น”

ถ่ายโดย อนุช ยนตมุติ

อภิรดา มีเดชเป็นนักเขียนผู้ทำงานกับ WAY  มา 7 ปีกว่า เธอทำประเด็นหลากหลายตั้งแต่อาหาร สิ่งแวดล้อม จนถึงประเด็นต่างประเทศ

“แม่น้ำเจ็ดสาย” คือกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำให้คนทำงานในองค์กรด้านการสื่อสารเพื่อสังคมได้มาเจอกัน และไอลอว์ก็ไม่รอช้าที่จะปรึกษาพี่เบิ้มในวงการหนังสือให้มาช่วยทำเล่มนี้ ทั้งในแง่การเป็น บก.และศิลปกรรม

“ฟังโปรเจ็กต์แล้วก็อยากทำ มีความสนใจอยู่แล้ว มีกองอีกคนหนึ่งที่เขาสนใจประเด็นนี้ด้วยกัน ก็ช่วยกันดู”

“จริงๆ ตามประเด็นมาบ้าง นานมาแล้วก็เคยไปสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์เรื่อง 112 เห็นปัญหา เห็นมาโดยตลอด ถามว่ากลัวไหม ตัวเราเองไม่ได้กลัว แต่ถึงเราไม่กลัวถ้ามีคนจะเล่นงาน ก็โดนอยู่ดี มันกลั่นแกล้งกันได้ แล้วพอได้อ่านเล่มนี้ เรากลัวการติดคุกมากเลย ถ้าคุณโดนแล้วคุณเหมือนไม่มีทางเลือกอะไรเหลือแล้ว”

“สำหรับวิธีการทำงาน เขามีเนื้อหาอยู่แล้ว เราคุยกันตอนแรกคิดว่าน่าจะพัฒนาขึ้นอีก ให้มีการคุยกับผู้ต้องหาหรืออดีตผู้ต้องขังเพิ่ม แต่เอาเข้าจริงมันเป็นไปได้ยาก จึงทำอยู่บนฐานสิ่งที่ไอลอว์มี”

“บทบาทสำคัญคือ ช่วยคัดและเรียงเรื่อง ถือว่าปรับแก้น้อยมาก มีบางเรื่องเหมือนกันที่ต้องถูกตัดไป ก็เสียดายมากเหมือนกัน แต่มันมีธีม มีการเล่าเรื่องของเล่มอยู่ บางอันมันค่อนข้างหลุดไป เป็นคนสนิทกับเคสเขียนเล่าออกแนวเป็นกึ่งวรรณกรรมแล้ว”

“ชื่อเรื่องนี่ช่วยกันคิดทั้งไอลอว์และเวย์ ระดมความคิดกันมา ทีแรกเลยมีคนเสนอว่าไม่อยากให้ใช้เลข 112 บนปก กังวลไปหมด 112 โผล่หลาเลยแล้วคนจะคิดยังไง คิดกันไปต่างๆ นานา ก็เลยช่วยกันคิดชื่อ นักโทษทางความคิด ขังได้แต่ตัวขังความคิดไม่ได้ ฯลฯ คิดกันไปเรื่อย เยอะมาก แต่สุดท้ายเวย์เผด็จการว่าต้องใส่ 112 ด้วย พูดปุ๊บคนจะเข้าใจประมาณหนึ่งเลย ถ้าเป็นชื่ออื่นคนจะไม่เก็ต แล้วก็ใช้คำว่าห้องเช่า คือ มันสะท้อนว่าเป็นแค่ห้องเช่า ยังไงก็จะได้ออกมาซักวันหนึ่ง เป็นความหวัง ไม่ใช่ห้องถาวร มันต้องมีความเปลี่ยนแปลง”

“ตอนอ่านเรื่องทั้งหมด หดหู่ แต่จะพยายามคุมโทนไม่ให้ดราม่ามาก เพราะเป้าหมายของเราคือ อยากสื่อสารให้คนที่ปกติแล้วอาจจะสนใจบ้าง แต่ไม่ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังหรือรายละเอียดของเคส แล้วอาจจะเหมารวม อยากให้ลองอ่านดูบ้าง แต่คนที่ตามประเด็นก็จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องจริงมันดราม่าเข้าใจ แต่ถ้าเขียนดราม่าไป ความดราม่าของเคสมันจะบังเรื่องโครงสร้างปัญหา

“กรณีที่สะเทือนใจมาก คือ ศศิวิมล อ่านแล้วซึมไปเลย อยากให้ลองอ่านกันดู”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เงิบ : โฆษก สปสช. แจงไม่เกี่ยวภาพแชร์ในโซเชียลให้ข้อมูลเท็จปมงบบัตรทอง

0
0

โฆษก สปสช. แจง หลังปรากฎภาพอินโฟกราฟฟิคให้ข้อมูลไม่ถูกต้องผ่านโซเชียล ย้ำไม่เคยจัดทำ แถมข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยันงบบัตรทอง ปี 61 ได้มากกว่าปี 60 ปรับเพิ่มงบเหมาจ่าย 2 พันล้านบาท หรือเกือบ 90 บาทต่อประชากร ไม่ใช่เพิ่มแค่ 500 ล้านบาท และไม่กระทบสิทธิประโยชน์เดิมของประชาชน

22 ก.พ. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  แจ้งว่า อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งข้อความอินโฟกราฟฟิคผ่านทางโซเชียล โดยมีการระบุข้อความว่า ตัดงบบัตรทอง 1.3 หมื่นล้าน เหลือ 500 ล้าน ข้อความประกอบอื่นๆ โดยมีการใส่รูปตนเองด้วยว่า ภาพอินโฟกราฟฟิคนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร ทั้งข้อมูลที่นำเสนอยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยโดยเฉพาะที่ระบุว่าตัดงบบัตรทองจาก 1.3 หมื่นล้านบาท เหลือ 500 ล้านบาท เพราะงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขณะนี้ รัฐบาลได้ปรับเพิ่มจากปี 2560 จำนวน 2,555 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปรับเพิ่มเกือบ 90 บาทต่อประชากร ดังนั้นที่ระบุว่าเหลือเพียงแค่ 500 ล้านบาทจึงไม่ถูกต้อง และยืนยันว่ารัฐบาลนอกจากไม่ปรับลดแล้ว ยังเพิ่มเติมงบประมาณมากกว่าปีที่แล้ว

ทั้งนี้เรื่องงบบัตรทองที่เป็นกระแสสังคมอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือเป็นสวัสดิการภาครัฐที่ให้กับประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล โดยครอบคลุมผู้มีสิทธิถึง 48 ล้านคนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเมื่อมีข่าวกระทบความรู้สึกประชาชนจึงกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่นำเสนอ 

“ขอย้ำว่างบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลได้ปรับเพิ่มทุกปีและไม่ได้ลดลงเลย เพียงแต่บางปีอาจปรับเพิ่มมากบ้างน้อยบ้าง โดยเป็นไปตามภาระงบประมาณรัฐบาล สำหรับในปี 2561 นี้ การปรับเพิ่มงบประมาณอาจไม่ได้เพิ่มตามจำนวนตัวเลขที่ สปสช.นำเสนอขาขึ้น จึงทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจนเป็นประเด็นอย่างที่ปรากฎ แต่ยืนยันว่าไม่กระทบสิทธิประโยชน์การรับบริการ โดยสิทธิการรักษาต่างๆ ยังคงเดิม ไม่ได้มีการปรับลดแต่อย่างไร” โฆษก สปสช. กล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขอทุกเหล่าทัพช่วยสร้างความปรองดอง

0
0

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวในการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขอให้สนับสนุนรัฐบาลจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเต็มความสามารถ พร้อมหนุน ป.ย.ป. สร้างความปรองดอง ด้าน พล.อ.ประวิตร ระบุชัด ปรองดองไม่เกี่ยวกับ นิรโทษกรรม

ที่มาภาพจาก: สำนักข่าวไทย

22 ก.พ. 2560 พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ  ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายทหารระดับสูงของ 3 เหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน

ผู้บัญชาการทหาสูงสุดกล่าวขอบคุณทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการสนับสนุนอาหาร เครื่องดื่มและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เดินทางมากราบบังคมพระบรมศพ รวมถึงการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มขีดความสามารถ เป็นที่ชื่นชมของประชาชน และขอบคุณทุกเหล่าทัพที่ให้การสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าร่วมการฝึก Cobra Gold 17 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกองทัพไทยต่อมิตรประเทศ

พล.อ.สุรพงษ์ ได้ขอให้เหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้การสนับสนุนรัฐบาลจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผลงานสมบูรณ์และสมพระเกียรติยศ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รวมถึงคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เน้นย้ำให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทยและเหล่าทัพเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้ทันที สำหรับกรณีอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นฟื้นฟู  ให้ดำเนินการอย่างบูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใส พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้กำลังพลและครอบครัวน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ที่สรุปใจความว่า “ขอให้ชาวไทยทุกคนร่วมกันคิดอ่าน และปฏิบัติหน้าที่ ด้วยปัญญา รวมทั้งพิจารณาทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากอคติ” มาเป็นหลักชัยดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ การประชุมวันนี้(21 ก.พ.)ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง และไม่มีการแถลงผลการประชุม เนื่องจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ติดภารกิจร่วมพิธีต้อนรับ พล.อ.โง ซวน หลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหม

พลเอกประวิตร ให้สัมภาษณ์สื่อ ระบุชัดเวทีปรองดอง ไม่พูดเรื่องนิรโทษกรรม

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่จะเสนอเรื่องนิรโทษกรรม ว่า ตนเคยพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่นำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุย ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นให้ไปนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น

โฆษกกลาโหมชี้แจง บรรยากาศพูดคุยปรองดองเป็นไปด้วยดี ระบุกรณีเพื่อไทยจะมาให้ความเห็นวันที่ 8 มี.ค. ให้รอคณะกรรมการปรองดอง เป็นผู้กำหนดวันเอง

ด้าน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยถึงผลการเชิญพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุยเพื่อหาแนวทางปรองดองในสัปดาห์ที่สอง ว่า บรรยากาศการพูดคุยในส่วนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เป็นไปด้วยดีและเป็นกันเอง มีการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งในส่วนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ โดยเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้ง  เกิดจากการไม่เคารพสิทธิ การทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  การสาธารณสุข และการเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงมีความขัดแย้งที่เกิดจากการสูญเสียประโยชน์ของกลุ่มการเมืองเก่าและการเข้ามาของกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ การไม่ยอมรับกฏหมาย องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และการมีกลุ่มทุนที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองที่หวังประโยชน์ทางธุรกิจ

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองขนาดเล็กเสนอให้มีการปฏิรูปที่ต้องทำไปพร้อมกันในทุกกลุ่ม ซึ่งควรปฏิรูปพรรคการเมืองก่อน โดยคัดสรรบุคคลที่ไม่หวังผลประโยชน์เข้ามาทำหน้าที่  รัฐบาลต้องคืนความเป็นธรรมให้สังคม เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาและทรัพยากรธรรมชาติ เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังและทำให้ประชาชนเคารพกฏหมายควบคู่กัน และแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยตอบรับจะเข้ามาพูดคุยปรองดองในวันที่ 8 มีนาคม พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า จะเป็นวันเวลาใดนั้น ขอให้ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นการสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นผู้กำหนด ส่วนกรณีจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จะเข้ามาพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ขอให้เป็นการเข้ามาพบตามช่องทางที่ได้เปิดไว้ ที่มีการเปิดเวทีทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับพรรคการเมืองที่จะเข้าให้ความเห็นในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) ได้แก่พรรคกสิกรไทย พรรคเพื่อประชาชนไทยและพรรคเพื่อฟ้าดิน เวลา 13.30-16.30 น.และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็น พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรครักท้องถิ่นไทย และพรรคไทยรักธรรม เวลา 9.00-12.00 น

ที่มาจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , 3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย 'พล.ต.ท.ศานิตย์' แจงกรณีรับเงินเดือนที่ปรึกษา 'ไทยเบฟ' แล้ว

0
0

เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย พล.ต.ท.ศานิตย์ ผบช.น. และ สนช. ทำหนังสือชี้แจงกรณีรับเงินเดือนที่ปรึกษา 'ไทยเบฟ' แล้ว คาดชงเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ตรวจฯ 28 ก.พ.นี้

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ที่มา เว็บไซต์สน.บางรัก

22 ก.พ. 2560 จากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคาร B ศูนย์ราชการฯ เพื่อร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อไต่สวน ตรวจสอบกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ สนช. รับเงินเดือนที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เดือนละ 50,000 บาท มีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 (4) และมาตรา 103 ด้วยหรือไม่อย่างไร โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2550 เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (22 ก.พ.60) สำนักข่าวไทยรายงานว่า รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มีการทำหนังสือขอขยายเวลาชี้แจงออกไป 30 วัน แต่ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา มีมติไม่ขยายเวลาให้ตามที่ขอ และส่งหนังสือทวงให้ชี้แจงข้อมูลภายใน 7 วัน  ล่าสุดช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.พ.)  ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาหนังสือ ซึ่งตนจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง

รักษเกชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อมูลจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และข้อมูลจาก พล.ต.ท.ศานิตย์แล้ว แต่ยังขาดข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ยังไม่ส่งข้อมูลมา ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังเร่งให้ ป.ป.ช.ส่งข้อมูลมาให้ แต่ในเบื้องต้นสามารถเทียบเคียงข้อมูล จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และข้อมูลจาก พล.ต.ท.ศานิตย์ แต่ก็ต้องรอข้อมูลจาก ป.ป.ช. เพื่อมาเทียบเคียงกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้ารายงานต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 28 ก.พ. อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่ากระบวนการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินจะแล้วเสร็จทันก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้หรือไม่ เพราะจะทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องจริยธรรม รักษเกชา กล่าวว่า น่าจะทัน เพราะจะมีการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 28 ก.พ. นี้  และขณะนี้ก็รอเพียงข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ สปส.มาถูกทางทำฟันสูงสุด 900 บาทไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน

0
0

22 ก.พ. 2560 ภาคีเครือข่ายประกันสังคมนำโดย มนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)ได้เข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน การเข้าพบครั้งนี้ทางเครือข่ายฯได้แสดงความชื่นชมความก้าวหน้าในการเพิ่มสิทธิประโยชน์การทำฟัน อุด ถอน ขูด และผ่าฟันคุดจากเดิม 600 บาทเพิ่มเป็น 900 บาทตามค่าใช้จ่ายจริง และล่าสุดการเปิดให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปใช้บริการในรพ.และคลินิกกว่า 535 แห่งโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน

มนัส โกศล กล่าวว่า “การพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมครั้งนี้ของประกันสังคมทำได้ดีรวดเร็ว ต้องชื่มชมสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานที่คำนึงถึงสิทธิของผู้ประกันตน จากการสอบถามผู้ประกันตนที่ไปใช้บริการพบว่า ส่วนใหญ่พอใจมากโดยเฉพาะการที่ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน เพราะที่ผ่านมาหลายคนไม่เคยไปทำฟันเลย เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งราคาค่าทำฟันและเรื่องต้องหาเงินมาสำรองจ่าย ส่งผลให้ผู้ประกันตนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการทำฟัน”

“จากนี้ไปต้องมีการติดตามผลทั้งด้านการเข้าถึงและคุณภาพในการรับบริการ ว่าเป็นไปตามแนวทางอย่างมีคุณภาพหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าบริการว่าจะมีการควบคุมหรือกำหนดราคาที่เป็นมาตรฐานได้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากมีการเพิ่มสิทธิ์เป็น 900 บาท พบว่ามีสถานบริการบางแห่งได้ขึ้นราคาค่าบริการ ในขณะเดียวกันทุกวันนี้เรายังพบว่าค่าบริการทันตกรรมในแต่ละแห่งยังมีความแตกต่าง เป็นภาระที่ผู้ประกันตนต้องค้นหาหรือต้องสอบถามราคาเอาเองก่อนใช้บริการ บางแห่งก็ไม่ได้ติดป้ายราคาไว้” มนัสกล่าว

ด้าน ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข กล่าวว่า จากการสอบถามทันตแพทย์ที่ให้บริการทั้งในคลินิกเอกชนและ รพ.พบว่า ทันตแพทย์ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอย่างมากต่อการปรับระบบไม่ต้องสำรองจ่าย สังเกตได้ว่ามีผู้ประกันตนเดินเข้ามาขอรับบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนด้านการบริหารจัดการยังพบว่ามีความขัดข้องบ้างเนื่องจากระบบการเบิกจ่ายที่คีย์ผ่านทางออนไลน์ยังไม่สะดวก มีเวลาปิดระบบซึ่งคลินิกหลายแห่งยังเปิดให้บริการทำให้เข้าไปเช็คสิทธิในระบบไม่ได้ หากขยายเวลาหรือทำให้ออนไลน์ได้ตลอดจะทำให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีความสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งเรื่องความซ้ำซ้อนที่ต้องจัดทำเอกสารส่งสำนักประกันสังคมเป็นการเพิ่มภาระผู้ให้บริการ หากสามารถจัดการเบ็ดเสร็จผ่านระบบออนไลน์ได้จะทำให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ในการเข้าพบครั้งนี้ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมพิจารณาสิทธิด้านทันตกรรมให้มีความเท่าเทียมกับระบบสิทธิการรักษาอื่น โดยเสนอให้ผู้ประกันตนมีสิทธิในการเข้ารับบริการตามจริงโดยไม่ต้องสำรองจ่ายตามราคากลางที่สำนักงานฯกำหนด เพิ่มบริการฟันเทียมแบบถอดได้ตามความจำเป็นโดยไม่ต้องสำรองจ่าย และเสนอเพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีทั้งในสถานบริการของรัฐและเอกชนหรือจัดเป็นหน่วยบริการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ที่ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตนไว้ 

นอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมเป็นเจ้าภาพในการปรึกษาหารือกับทันตแพทย์สภาต่อกรณีการกำหนดราคาค่ารักษาทันตกรรมที่เป็นธรรม และเสนอให้จัดตั้งกองทุนทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพื่อเป็นกองทุนสำหรับการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน เพื่อลดปัญหาการเข้าไม่ถึง สร้างความเท่าเทียมในสิทธิประโยชน์โดยไม่ต้องสำรองจ่ายด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไผ่ ดาวดิน' ไม่ได้ประกันอีกครั้ง หลัง ส.ศิวรักษ์เป็นนายประกันร่วม วางเงิน 7 แสน

0
0
ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันไผ่ภายใน 20 นาที แม้เอกสารหนาถึง 26 แผ่น ส.ศิวรักษ์เป็นนายประกันร่วม วางเงิน 7 แสน และ 'โคทม-หมอนิรันดร์-เอกพันธุ์' ร่วมรับรองพฤติกรรมว่าจะไม่หลบหนี พ่อกังขาเหมือนไม่ใส่รายละเอียดที่มีเพิ่ม แม่เทียบคดีสนธิ-หมอนิ่ม ยังได้ประกัน 

 

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ 

22 ก.พ.2560 เมื่อ 11.20 น. ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง คืนหลักประกัน

สำหรับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้นอกจาก วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ ที่มาเป็นนายประกันแล้ว ยังมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ มาเป็นนายประกันอีกคน และนอกจากนี้ยังมีใบรับรองพฤติกรรมของจตุภัทร์ว่าจะไม่หลบหนีจาก รองศาสตราจารย์ โคทม อารียา นักวิชาการด้านสันติวิธี อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย

ส.ศิวรักษ์ เป็นนายประกันร่วม วางหลักทรัพย์ร่วม 7 แสน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อเวลา 10.25 น. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ได้เดินทางมายังศาลเพื่อยื่นคำร้องขอประกันตัว ไผ่ ดาวดิน โดยวันนี้ได้มีการวางหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว 7 แสนบาท

สุลักษณ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันครบรอบการตายของโกมล คีมทอง โกมลตายเพื่อประชาธิปไตย แต่ไผ่จะต้องไม่ตายแต่จะต้องต่อสู้ต่อไปด้วยอหิงสวิธี ด้วยความรัก อย่าไปเกลียด พระทิเบตรูปหนึ่ง ถูกจีนจับไปขังไว้ 18 ปี ทรมานทุกวัน ออกมาทุกๆครั้งที่ท่านถูกทรมาน นึกถึงคนที่ทรมานท่าน ภาวนาขอให้ผู้ทรมานอย่าตกอยู่ในมิจฉาทิษฐิ อย่าให้ต้องได้รับบาปกรรมจากสิ่งที่เขากระทำ

สำหรับเหตุผลที่ยื่นประกันตัว กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของจตุภัทร์ ระบุว่าเรื่องที่เป็นข้อกังวลของศาลเช่นเรื่องการที่ จำเลยจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานและหลักฐานนั้น ในทางปฎิบัติเมื่อพนักงานสอบสวนได้สรุปคดีและส่งให้อัยการ และอัยการได้ยื่นฟ้องแล้วนั้น ถือว่ากระบวนการในการสอบสวนพยานหลักฐานได้สิ้นสุดไปแล้ว ฉะนั้นการที่จตุภัทร์จะได้รับการประกันตัว จึงไม่ส่งผลให้จำเลยสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานและหลักฐานได้ และการได้รับการประกันตัวจะสามารถทำให้จำเลยสามารถที่จะออกมารวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสู้คดีต่อไปได้ ซึ่งการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา

ส่วนข้อกังวลเรื่องพฤติการณ์หลบหนีนั้น กฤษฎางค์ ระบุว่า จำเลยไม่มีความคิดจะหลบหนีตั้งแต่ต้น และจำเลยมาตามที่ศาลนัดทุกครั้งก่อนหน้าที่จะถูกคุมขัง

พ่อกังขาเหมือนไม่ใส่รายละเอียดที่มีเพิ่ม แม่เทียบคดีสนธิ-หมอนิ่ม ยังได้ประกัน

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์

หลังจากศาลจังหวัดขอนแก่น ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จากคดีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีไทย ในข้อหาตาม ม. 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้จะมี วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ ที่มาเป็นนายประกันแล้ว ยังมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ มาเป็นนายประกันอีกคน และนอกจากนี้ยังมีใบรับรองพฤติกรรมของจตุภัทร์ว่าจะไม่หลบหนีจาก โคทม อารียา นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ด้วย

วิบูลย์ พ่อของจตุภัทร์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวว่า ตนมีเอกสารเรื่องการรับรอง เรื่องความประพฤติ เยอะ แต่มีคำสั่งลงมาแค่ประมาณ 20 นาทีหลังยื่นคำร้อง ไม่ได้ต้องการตำหนิศาล แต่ดูเหมือนว่าศาลไม่ได้ใส่รายละเอียดที่มีเพิ่มไปเลย เพราะถ้าใส่ใจรายละเอียด ศาลน่าจะใช้เวลามากกว่านี้ และสุดท้ายศาลก็มาให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง ทางพ่อจึงคิดว่าคิดว่าคงต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการประกันตัวต่อไป

 พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของจตุภัทร์

ขณะที่ พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ กล่าวว่า เราเคารพกฏหมาย แต่คำสั่งศาลเหมือนเดิมไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง แต่คราวนี้นักวิชาการ มาประกันให้ มีการเพิ่มเงินสดในการประกันตัว. ตอนนี้มีนายประกันถึง ห้าคนที่จะไม่หลบหนี

เกิดความรู้สึกไม่ค่อยดีต่อกระบวนการยุติธรรม ถ้าคดีเดียวกันอย่าง สนธิ ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี เขาถูกดำเนินคดี 51 ศาลฎีกายกฟ้อง ระยะเวลา 9-10 ปี สนธิได้ประกันตลอด แต่กรณีของไฟผ่ ยังไม่รู้เลยว่าผิดหรือไม่ผิดแต่ถูกขังมา 62 วันแล้ว เราคิดว่ามันไม่ยุติธรรม

"อยากให้เปรียบเทียบจากกรณีหมอนิ่ม ศาลก็ยังให้ประกันตัว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ประหารชีวิตแล้วก็ยังได้ประกันตัว" พริ้ม กล่าว

พริ้ม ยังกล่าวด้วยวา เราคิดว่าการใช้ดุลพินิจของศาลน่าจะมีบรรทัดฐานที่จะให้ประชาชนแต่ละคนเท่าเทียมกัน ไม่อย่างนั้นประชาชนจะไปไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม ที่พยายามเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ยังไง แล้วจะให้ตัวผู้เป็นแม่จะมีความรู้สึกต่อกระบวนการยุติธรรมแบบไหน ก็ในเมื่อลูกตัวเองก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เอกสารรับรองและขอปล่อยตัวจตุภัทร์ มีประมาณ 26 แผ่น

สำหรับ ไผ่ ดาวดิน นั้นถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเรียกพบ เฮียสี่ เสื้อแดงอ่างทอง หลังโทรหาไม่ติดสองวัน ระบุไม่เกี่ยวประเด็นบริจาคของที่ธรรมกาย

0
0

เฮียสี่ เสื้อแดงอ่างทองเผย ถูกทหารโทรตามให้ไปพบ หลังติดต่อไม่ได้สองวัน ระบุปกติทหารโทรหาทุกเดือน ยันการถูกเรียกพบไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปบริจาคของที่วัดพระธรรมกาย เป็นเพียงการเรียกไปยืนยันว่า ตนไม่ได้จะหลบหนี

เฮียสี่ หรือ ณรงค์ ผดุงศักดิ์ศรี

22 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับการแจ้งจากแหล่งข่าว ณรงค์ ผดุงศักดิ์ศรี หรือ เฮียสี่ เสื้อแดงอ่างทองว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่เฮียสี่ พร้อมด้วยเพื่อนๆ อีก 2-3 กำลังซื้อของอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาคลองหนึ่ง เพื่อที่จะนำของไปให้บริจาคกับประชาชนที่อยู่ในวัดพระธรรมกาย ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรเข้ามา และขอให้เฮียสี่ ไปพบเพื่อพูดคุยที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระนครศรีอยุธยา

แหล่งข่าวคนดังกล่าว ระบุว่าหลังจากเฮียสี่เสร็จธุระแล้ว ได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ทหารตามที่นัดหมาย โดยขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เฮียสีอยู่ที่ไหน ทหารที่ขอให้ไปพบต้องการพูดคุยเรื่องอะไร

ทั้งนี้เมื่อเวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อกับเฮียสี่ทางโทรศัทพ์มือถือ เฮียสี่ได้รับสาย พร้อมกับยืนยันว่าตอนนี้อยู่กับเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอื่นๆ บอกแต่เพียงว่า “ไม่มีอะไร เดี๋ยวผมโทรกลับไป”

ต่อมาเวลา 16.15 น. ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังเฮียสี่อีกครั้ง ได้ทราบข้อมูลว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรเรียกให้ตนไปพบเนื่องจากสองวันที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือของตนเสีย เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถติดต่อตนได้ เมื่อติดต่อได้แล้วในวันนี้เจ้าหน้าที่จึงได้ขอให้ตนไปพบเพื่อยืนยันว่า โทรศัพท์มือถือเสียจริงๆ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าตนไม่ได้หลบหนีไปไหน

เฮียสี่ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีท่าทีคุกคาม และไม่ได้เชื่อมโยงกับกรณีที่ตนเองไปบริจาคอาหารให้กับประชาชนที่อยู่ในวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด และโดยปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ทหารโทรมาหาตนทุกเดือน

สำหรับกรณีที่สำนักข่าว Tnewsลงข่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (21 ก.พ.) มีรายงานว่า ณรงค์ ผดุงศักดิ์ศรี หรือเฮียสี่ ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมโดยปักหลักที่ตลาดคลองหลวงพร้อมทั้งได้เกณฑ์ กลุ่ม นปช. ประมาณ 500 คน มาร่วมชุมนุมกับศิษย์วัดพระธรรมกาย เฮียสี่ระบุว่า ได้ไปที่วัดพระธรรมกายจริง แต่ไม่ได้เกณฑ์คนไปตามที่เป็นข่าว เพียงแต่ของข้าวของไปบริจาคเท่านั้น

000000

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เฮียสี่ เคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งการควบคุมตัวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2560 ในช่วงเช้าตรู โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 7-8 นาย และชายนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้ามาบุกค้นภายในบ้าน แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้น และไม่ได้แจ้งสังกัดว่าจากหน่วยใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเฮียสี่ ไปยัง มทบ.11 แต่ระหว่างควบคุมตัวไปนั้นไม่ได้มีการแจ้งให้ญาติได้ทราบว่าจะตัวไปที่ใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากเหตุระเบิดหลายจุดใน 7 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มอีก 2 คน หลังจากเมื่อคืนนี้ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 15 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 (ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้น มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...)

พันเอกบุรินทร์ ได้เปิดเผยเพียงสั้นๆ ว่า ได้ควบคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้และในจังหวัดภูเก็ตระหว่างวันที่ 10 – 12 ส.ค. 2559 โดยคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 41 และมณฑลทหารบกที่ 11 แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดใดๆ

19 ส.ค. 2559 มีการนำตัวผู้ต้องหา 15 รายซึ่งถูกควบคุมตัวที่ มทบ.11 และศาลทหารออกหมายจับมาแถลงข่าว โดย พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ ระบุว่าเบื้องต้นทั้งหมดมีการติดต่อกันเป็นกลุ่มขบวนการในนาม พรรคปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งคล้ายกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และมีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล แต่ทั้งหมดปฏิเสธความเกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดหลายจุดที่เกิดขึ้น และตามหลักฐานก็ยังไม่พบความเชื่อมโยงเช่นกัน ทั้งหมดจะถูกแจ้งข้อหาตาม มาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาการกระทำผิดอั้งยี่ซ่องโจร และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หลังจากนี้จะนำตัวทั้งหมดไปทำการสอบสวนก่อนที่จะส่งตัวไปฝากขังยังศาลทหารต่อไป ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ แต่มีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

เฮียสี่เป็น 1 ใน 15 รายชื่อที่ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งนี้รายชื่อผู้ต้องหาทั้งหมดมีอายุน้อยสุดคือ 39 ปี มากสุดคือ 71 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี เป็นชาย 13 ราย หญิง 2 ราย อีกทั้งผู้ต้องหาแต่ละรายยังมีภูมิลำเนาอยู่กันคนละจังหวัด เช่น พัทลุง, นนทบุรี,ตรัง, สตูล, กทม, หนองคาย, เชียงราย, อ่างทอง, มหาสารคาม, นครศรีธรรมราช, ร้อยเอ็ด,

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้เผยสถานการณ์สิทธิ 59/60 ยังเลวร้าย-ข้าหลวงสิทธิ UN เรียกร้องคสช.คืนเสรีภาพ

0
0

แอมเนสตี้เผยรายงานสิทธิมนุษยชนรอบโลกปี 59/60 เตือนวิกฤตอาจลุกลาม เพราะโลกขาดผู้นำปกป้องสิทธิ ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย เผยสถานการณ์เอเชียย่ำแย่รัฐพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิ-ในไทยคนเห็นต่างยังถูกปราบปราม ม.44-กม.ความมั่นคงอยู่ครบ คำสั่งเลิกขึ้นศาลทหารไม่มีผลย้อนหลัง ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์’ ถามจัดงานได้เพราะ คสช. มั่นใจในอำนาจหรือไม่ แอมเนสตี้ชี้แจงจัดได้เพราะเตรียมตัวมาดี หวังให้ทุกฝ่ายรับทราบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

งานแถลงข่าว รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559/2560 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพมหานคร ภาพซ้ายมือคือหน้าปกรายงาน อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

ช่วงเสวนา “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” วิทยากร (จากซ้ายไปขวา) วิทย์ สิทธิเวคิณ ผู้ดำเนินรายการ, อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, โลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ลิน เต็ด หน่ายก์ อดีตนักโทษทางความคิดจากพม่า และปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

 

22 ก.พ. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2559/2560 รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2559 ให้ภาพรวม 5 ภูมิภาค รวม 159 ประเทศ โดยการเปิดเผยรายงานซึ่งกระทำพร้อมกันทั่วโลกในวันนี้เผยให้เห็นว่า ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ห่วงโลกในรอบปี 2559 แบ่งเขาแบ่งเราขนานใหญ่-เมินแก้ไขปัญหา

สำหรับการแถลงข่าวที่ประเทศไทย ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพมหานคร พรเพ็ญ คงขจรเกียรติประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงานและเผยรายงานประจำปีภาพรวมสิทธิมนุษยชนในโลกในรอบปี 2559 นับได้ว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมาก เป็นปีที่การเมืองสร้างภาพลบต่อการแบ่งแยกเขากับเราขนานใหญ่ เป็นปีที่มหาอำนาจไม่ปฏิบัติตามและเพิกเฉยพันธะกรณีระหว่างประเทศ และบรรดาชาติต่างๆ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เรามีคำถามว่า รัฐคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือ หรือใครจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วคนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเองควรได้รับการคุ้มครองจากใคร งานนี้คงไม่ใช่งานแถลงรายงานที่จัดทุกปี เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นทั่วโลก และจะไม่ใช่สิ่งไกลตัวเราอีกแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ลี้ภัย วันหนึ่งเราอาจจะถูกจับ เพียงเพราะแชร์ข้อมูลหรือโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก และวันหนึ่งเราอาจจะถูกกีดกันทางสังคมเพราะมีเพศสภาพของเราแตกต่าง เราหวังว่าการตระหนักรู้ที่เกิดขึ้น เป็นแนวทางปกป้องสิทธิมนุษยชน และปกป้องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมเตือนปี 2560 วิกฤตอาจลุกลาม เพราะโลกขาดผู้นำระดับโลกปกป้องสิทธิมนุษยชน

รายงานประจำปีดังกล่าว มาจากงานวิจัยของนักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อหวังให้มีการรณรงค์ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ร่วมกับสมาชิกแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล 7 ล้านคนทั่วโลกต่อไปอย่างไม่ลดละ และไม่ย่อท้อ

ทั้งนี้มีการยกคำพูดของ ‘ซาลิล เซ็ตตี้’ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์โลกในปี 2559 ว่าเป็นปีที่ใช้วาทกรรม “พวกเรากับพวกเขา” เพื่อประณามสร้างความเกลียดชัง หวาดกลัว อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา การเมืองโลกในปี 2559 ทำให้เห็นว่าการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ กำลังจะถูกนำมาใช้ ผู้นำโลกในหลายประเทศ รวมทั้งการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดก็เริ่มใช้วาทกรรมนี้ เพื่อช่วงชิงอำนาจในประเทศ มีการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนว่าในปีหน้าวิกฤตอาจลุกลามบานปลาย เหตุเพราะว่า เราขาดผู้นำสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก การเมืองที่แบ่งเขาแบ่งเราเพราะเหินห่างกันมากขึ้น โลกเผชิญวิกฤตมากมาย แต่กลับขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลของอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้น 23 ประเทศทั่วโลกในปี 2559 ที่ผ่านมา และแม้จะมีความท้าทายเกิดขึ้น แต่กลับเกิดความเพิกเฉยในระดับสากลอย่างชัดเจน ในขณะที่บทบาทของชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็หยุดชะงักเพราะขัดแย้งกัน ปี 2560 จะเป็นปีที่รัฐมหาอำนาจมุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ตัวเอง ในกรอบที่คับแคบลง ไม่คำนึงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเกิดความเสี่ยงทำให้เราเข้าสู่ความวุ่นวายและอันตรายมากขึ้นในระดับโลก ประชาคมระหว่างประเทศทำตัวเงียบเฉย แม้จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงกว้างขวาง เราได้เห็นการถ่ายทอดสดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่โหดร้ายทารุณต่อผู้บริสุทธิ์ในอเล็ปโป ประเทศซีเรีย ในพม่า ฟิลิปปินส์ การใช้อาวุธเคมีหรือเผาหมู่บ้านที่ดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน

คำถามก็คือคนทั้งโลกจะปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงโหดร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปอีกนานเพียงใด ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไรบางอย่าง

 

สถานการณ์เอเชีย-แปซิฟิกย่ำแย่รัฐพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่ารายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังคงถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกข่มขู่ทั้งในกัมพูชา พม่า มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ รวมทั้งมีการใช้กฎหมายใหม่และกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบ

“รัฐบาลพุ่งเป้าโจมตีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม เป็นการส่งสัญญาณเตือนไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นต่าง ประชาชนทั้งในมาเลเซีย พม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ถูกคุกคาม ถูกจับกุมและดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ” โดยที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ขู่ทำร้ายนักสิทธิมนุษยชน และยังคงเดินหน้าทำสงครามฆ่าตัดตอนยาเสพติด

 

ที่พม่าคนกระทำผิดยังลอยนวล สถานการณ์โรฮิงญาวิกฤต รัฐบาลพม่าเมินรับผิด

ขณะที่ในประเทศพม่ามีการปล่อยนักโทษการเมืองขนานใหญ่ แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่ดี คนที่กระทำผิดในสมัยรัฐบาลทหารยังไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายในสมัยรัฐบาลทหารยังคงใช้อยู่

ที่สำคัญในรัฐยะไข่ยังคงเผชิญวิกฤต ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญายังคงถูกเลือกปฏิบัติ อันเป็นผลมาจากการขาดความอดทนอดกลั้นทางศาสนา ทั้งนี้สถานการณ์ในรัฐยะไข่เลวร้ายลง หลังจากเมื่อปลายปี 2559 มีผู้บุกโจมตีป้อมตำรวจชายแดนที่รัฐยะไข่ ตามมาด้วยการละเมิดครั้งใหญ่ และปราบปรามอย่างไม่เลือกหน้าของกองกำลังความมั่นคงของพม่า ทำให้มีผู้อพยพเข้าสู่บังกลาเทศระลอกใหญ่ และรัฐบาลพม่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด

 

ในไทยคนเห็นต่างยังถูกปราบปราม มีผู้ถูกดำเนินคดีเพราะรณรงค์ประชามติ

สำหรับประเทศไทย ในรายงานระบุถึงการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อผู้ที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบยังดำเนินต่อไปภายหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย

ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2559 มีการออกกฎหมายและใช้มาตรการที่มีผลต่อการแสดงความเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลยังคงสั่งห้ามการอภิปรายก่อนจะมีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่านักกิจกรรมถูกดำเนินคดีเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งเพราะรณรงค์ในช่วงก่อนลงประชามติ มีประชาชน 10 กว่าคนที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทางเฟซบุ๊กเป็นเหตุให้พวกเขาถูกควบคุมตัวหรือถูกตั้งข้อหา และอาจได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศใช้ก่อนการประชามติ

 

กม.มั่นคง ม.44 ยังอยู่ครบ แม้จะเลิกการขยายอำนาจศาลทหาร แต่ไม่มีผลย้อนหลัง

นอกจากนี้รัฐบาล คสช. ยังคงใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่สำคัญยังคงมีพลเรือนขึ้นศาลทหาร จากความผิดด้านความมั่นคง และความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าในเดือนกันยายนปี 2559 คสช. จะมีคำสั่งยกเลิกการขึ้นศาลทหารแล้ว แต่คำสั่งนี้ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีและขึ้นศาลทหารแล้วต้องขึ้นศาลทหารต่อไป

 

เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการโจมตีการทำงานนักปกป้องสิทธิ

นอกจากนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ หรือเนื่องจากการทำงานสนับสนุนบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที ทั้งนี้มีการเปิดเผยถึงกรณีที่นักสิทธิมนุษยชนถูกกองทัพบกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคดีหมิ่นประมาททางอาญา ได้แก่ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ เนื่องจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการซ้อมทรมาน โดยคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี และอัยการจังหวัดปัตตานี

 

กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังถูกตีความกว้างขวาง

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกตีความอย่างกว้างขวางทำให้มีการดำเนินคดีหลายคดี ในปี 2559 ที่ผ่านมา ยังมีรายงานว่ามีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ และมีการรายงานเหตุทหารเกณฑ์เสียชีวิตระหว่างฝึกในค่ายทหาร 2 ราย มีการร้องเรียนว่าแรงงานข้ามชาติถูกซ้อม ระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจ ยังคงมีผู้แสวงหาที่พักพิง ที่ถูกกักตัวอย่างไม่มีกำหนด อยู่ในศูนย์ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เช่น กรณีของชาวโรฮิงญาถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่ปี 2558 และยังหาข้อสรุปไม่ได้ถึงแนวทางปฏิบัติ

ปิยนุชกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “รัฐไทยต้องให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคม”

 

อดีตนักโทษการเมืองพม่าเผยการสนับสนุนจากนานาชาติมีผลกดดันเปลี่ยนพม่า

ในช่วงเสวนาหัวข้อ “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ลิน เต็ด หน่ายก์อดีตนักโทษทางความคิดพม่า ที่ถูกดำเนินคดีและจับกุมเมื่อปี 2558 พร้อมเพื่อนนักศึกษา เนื่องจากเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาในพม่า โดยเขากล่าวว่าในสมัยก่อนสภาพในคุกพม่าไม่ดี รวมทั้งไม่สามารถติดต่อใครได้ ต่อมาหลังปี 2553 เจ้าหน้าที่กาชาดเข้าไปตรวจเยี่ยมเรือนจำ หลังจากนั้นคุณภาพเรือนจำได้รับการปรับปรุง ญาติสามารถมาเยี่ยมได้ สามารถนำอาหารจากข้างนอกมาเยี่ยมได้ ส่วนในปี 2558 หลังจากที่เขาถูกจับในการประท้วงของนักศึกษาล่าสุด เพราะรัฐบาลห่วงภาพพจน์ในเวทีระหว่างประเทศ มีจดหมายจากทั่วโลกส่งมาถึงนักศึกษาที่ถูกจับโดยเฉพาะตัวเขา ทั้งนี้เขาเห็นว่าการได้รับการสนับสนุนจากระหว่างประเทศ มีผลสำคัญสำหรับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า

 

ข้าหลวงสิทธิมยูเอ็น เรียกร้อง คสช. คืนสิทธิเสรีภาพ-จัดเลือกตั้งตามโรดแมป

ขณะที่ โลคอง เมย์ยองรักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เพื่อให้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่เคยกล่าวไว้

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ถามจัดงานได้เพราะ คสช. มั่นใจมากขึ้นหรือไม่

อนึ่งในช่วงตอบคำถาม ประวิตร โรจนพฤกษ์ผู้สื่อข่าวข่าวสดอิงลิช ถามว่าเหตุใดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงจัดงานแถลงข่าวในวันนี้ได้ ในขณะที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ห้ามจัดเสวนาเรื่องการซ้อมทรมานในเดือนกันยายนปี 2559 ที่จัดได้เป็นเพราะไม่ได้พูดเรื่องการทรมานในเชิงรายละเอียดหรือเปล่า หรือเพราะอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิมาร่วมเวทีด้วย พร้อมกล่าวติดตลกว่าผู้แทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งนี้ร่วมเวทีได้เพราะมีใบอนุญาตทำงานใช่หรือไม่ หรือเป็นการสะท้อนว่า คสช. เชื่อมั่นในอำนาจมากขึ้น และเห็นว่าเป็นเสียงนกเสียงกาใช่หรือไม่

 

แอมเนสตี้ชี้แจงจัดได้เพราะเตรียมตัวมาดี หวังให้ทุกฝ่ายรับทราบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

โดยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานปีนี้ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มารับฟังการแถลงรายงาน ที่ผ่านมาหลังถูกห้ามจัดงานแถลงข่าวในปี 2559 ก็มีการสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้น หลังจบงานก็มีการพูดคุยและหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และได้มีโอกาสนำเสนอรายงานต่อกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม และก่อนที่จะจัดงานในวันนี้ ทำให้เข้าใจวิธีการทำงานและหาทางทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ก่อนการแถลงข่าววันนี้มีการแจ้งหน่วยงานภาครัฐให้ทราบทั้งกระทรวงแรงงานและตำรวจสันติบาล ที่สำคัญการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559/2560 ก็ไม่ได้เป็นการแถลงรายงานเพื่อประณามใคร แต่แถลงรายงานเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบสถานการณ์ นำไปสู่การปรึกษาหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เชิญกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม มาเพื่อให้รับทราบและจะได้ทำงานร่วมกัน และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าฟังการแถลง และเชิญตัวแทนภาครัฐคือกระทรวงการต่างประเทศมารับข้อเสนอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน

 

ประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย ย้ำต้องการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งตกเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่ถูกกองทัพบกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการซ้อมทรมาน กล่าวยืนยันว่า สำหรับรายงานที่ทำให้ถูกดำเนินคดีนั้น ได้นำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้มีการแก้ไขแล้ว รายงานฉบับนี้รวบรวมมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะปี 2558 เท่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเขาและคณะรวม 3 คน อาจไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาส่วนภูมิภาค จึงขอเรียกร้องผู้บังคับบัญชาสูงขึ้นไป ขอให้เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคม ทั้งนี้หน้าที่ของรัฐและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคุ้มครองประชาชนร่วมกัน และเราต้องการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้กลไกทางศาลควรใช้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่กลับนำมาใช้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องประชาชนจริงๆ กลับต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้ง และกระบวนการยุติธรรมที่ควรใช้เอาผิดกับผู้กระทำความผิด แต่กลับต้องกลายเป็นพื้นที่ใช้ต่อสู้กันระหว่างบุคลากรที่ต้องการทำงานเพื่อประชาชน

 

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้แจงประกันตัว ‘ไผ่ ดาว’ เป็นดุลยพินิจฝ่ายตุลาการ

ต่อคำถามเรื่องสิทธิประกันตัวในคดี ม.112 กรณีแชร์ข่าวบีบีซีของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นั้น จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไรปิติกาญจน์ สิทธิเดชอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในเรื่องการประกันตัวที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิพยายามช่วยกับทุกสีทุกฝ่าย แต่การให้ประกันตัวเป็นอำนาจของตุลาการ ก้าวล่วงไม่ได้จริงๆ ที่ผ่านมาก็ประกันตัวได้บ้างไม่ได้บ้าง ในส่วนของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เอง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็เคยถามว่าฝ่ายบริหารทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องของประกันตัวเป็นอำนาจฝ่ายตุลาการอยู่แล้ว เราก้าวล่วงไม่ได้ ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิได้หารือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อให้ประสานงานจัดสอบให้กับ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ซึ่งทางเรือนจำไม่มีอะไรขัดข้อง ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวต้องการหรือไม

ทั้งนี้ในช่วงท้ายการแถลงข่าว ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมี ณัฐภาณุ นพคุณ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดมีดังนี้

 

000

ข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงรัฐบาลไทย

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รื้อคดีหายสาบสูญโดยถูกบังคับของทนายสมชาย นีละไพจิตร และดำเนินกระบวนการสอบสวนเป็นไปตามหลักสากล ตลอดจนบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อรับรองว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการบังคับให้สูญหายจะถูกลงโทษ

 

การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ

แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่นำไปสู่การควบคุมตัวโดยพลการ กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนเสรีภาพในการเดินทาง

ยุติการจับกุมหรือการควบคุมตัวโดยพลการ พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนจากคณะตุลาการที่เป็นอิสระโดยทันที ทั้งนี้ ต้องเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติที่ชอบด้วยกฎหมายด้านการพิจารณาคดีและควบคุมตัวบุคคล

ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยตัวจากการควบคุมตัว ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขโดยพลการเพื่อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม

ยกเลิกข้อกล่าวหาใดๆ ต่อบุคคลเพียงเพราะพวกเขาไม่มารายงานตัวเพื่อเข้ารับการควบคุมตัวโดยพลการตามอำนาจของกฎอัยการศึก หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และให้คืนสถานภาพของหนังสือเดินทางของบุคคลที่ถูกยกเลิกเพียงเพราะไม่มารายงานตัว

ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีของพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้นเพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการมั่วสุมหรือชุมนุม 'ทางการเมือง' ที่มีจำนวนห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป

รับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงทนายความ เจอกับครอบครัวได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่มที่และต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ ตลอดจนมีมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ และปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่

 

กฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ประกันให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ และไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม ซึ่งรวมถึงการกด 'ไลค์' และการแชร์ข้อมูลออนไลน์ด้วย

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีผลกระทบกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และ ประกันว่ากฎหมายที่จะออกใหม่ในอนาคต ต้องไม่จำกัดต่อสิทธิดังกล่าวของประชาชนโดยพลการ

แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่จำกัดหรือกำหนดโทษทางอาญากับการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ หรืออนุญาตให้มีการควบคุมตัวโดยพลการ ทั้งนี้เพื่อประกันให้กฎหมายและคำสั่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ซึ่งรวมทั้ง

-ข้อบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น การหมิ่นประมาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

-พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

-พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ประกันว่ากฎหมายที่จะออกใหม่ในอนาคต รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้กำกับดูแลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ต้องไม่จำกัดโดยพลการต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ

 

การปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ รวมถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที

ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)

สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ ในภาคประชาสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคาม และการฟ้องร้องดำเนินคดี

 

ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

เคารพต่อหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement principle) และรับรองว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนต้นทาง ซึ่งผู้ลี้ภัยหรือผู้โยกย้ายถิ่นฐานเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงหากเดินทางกลับ

เคารพต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่อนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงและสามารถติดต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ และรับรองว่าผู้แสวงหาที่พักพิงจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) และพิธีสารปี 1967 ของอนุสัญญาดังกล่าว

 

โทษประหารชีวิต

พักใช้การประหารชีวิตในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งแสดงเจตจำนงในการออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตในอนาคต

เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงต่อการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากล และไม่มีการใช้โทษประหารชีวิต

รับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ได้เจอกับครอบครัว และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ตลอดจนอนุญาตให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.ส.วัฒนธรรมศึกษา โยนโจทย์กลางวงถก 'E-Sport' เด็กไทยเป็นตัวอะไรถึงเล่นไม่ได้

0
0

วงถก 'E-Sports เกม กีฬา ธุรกิจ และเด็กไทย' นพ.ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ชู มาตรการ '3 ต้อง 3 ไม่' ลดการใช้สื่อทางลบ ผุดแนวการเติบโตและการป้องกันผลทางลบ ปธ. E-Sports จุฬาฯ ยัน สามารถสร้างสรรค์ได้ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษาถามเด็กไทยเป็นตัวอะไรถึงเล่นไม่ได้ 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา กรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดเสวนา “E-Sports เกม กีฬา ธุรกิจ และเด็กไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดที่หลากหลายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปัญหาเด็กติดเกม รวมถึง e-sport เหมาะสมกับเด็กไทยหรือไม่ พร้อมทั้งแนวทาง ลดการใช้สื่อทางลบ 3 ต้อง 3 ไม่ โดยผู้สื่อข่าวได้เรียบเรียงจาก THE MATTERสำนักข่าวไทยและวิดีโอคลิปจากเพจ วิวาทะ V2บางส่วนดังนี้

ยงยุทธ์  วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สังคมไทยมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเด็กกับเกมส์ออนไลน์มาเยอะมาก ซึ่งพวกนี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น เช่นเด็กช่วงประถมวัยส่งผลให้สมาธิสั้นลง การเรียนรู้เสีย การสังคมเสียต่อไปอีกด้วย ขึ้นมาขั้นเยาวชนก็อาจจะเสียสุขภาพ ติดความรุนแรง สำริดผลทางด้านการเรียน ส่งผลไปยังเรื่องเพศ ค่านิยมทางการบริโภค การล่อลวง ฉะนั้นปัญหาของการใช้ออนไลน์มีมากอยู่แล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ จะให้อย่างไรเพื่อยกระดับครอบครัวหรอสังคมไทยให้ใช้อินเตอร์เน็ตไปในทางที่เหมาะสม ควรจะใช้หลักการเรียนรู้เพื่อสร้างผลิตภาพ

3 ต้อง 3 ไม่

ยงยุทธ กล่าวต่อว่าเด็กและเยาวชนควรปฏิบัติตามหลักการ '3 ต้อง 3 ไม่' โดย 3 ต้องประกอบด้วย ต้องตกลงเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก ส่วน 3 ไม่ ประกอบด้วย ไม่เล่นก่อนนอน ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่เป็นตัวอย่างที่ผิด

“ถ้าการกีฬาประเทศไทยควรจะยอมรับ E-Sport ต้องเป็นหลักที่ทางโอลิมปิกสากลยอมรับก่อน” ยงยุทธ กล่าว

สำหรับเรื่อง E-Sport ยงยุทธมองว่า เป็นการใช้วาทกรรมของคำว่า Sport มาแทรก เป็นแค่คำพูดของทางอเมริกาที่มีธุรกิจสื่อบันเทิงเป็นหลักไม่ใช่สากลทั่วโลก และมีความเห็นส่วนตัวว่า E-Sport ยังไม่ใช่ Mental Sport และถ้าการกีฬาประเทศไทยควรจะยอมรับ E-Sport ต้องเป็นหลักที่ทางโอลิมปิกสากลยอมรับก่อน

การเติบโตและการป้องกันผลทางลบ

ต่อกรณีคำถาม ทำอย่างไรครอบครัวและ E-Sport สามารถเติบโตไปด้วยกันได้โดยให้เกิดทางลบให้น้อยที่สุด นั้น นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า นี่เป็นคำถามที่สำคัญ และเรียกร้อง ‘ความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ’ ที่ตอนนี้มีแต่ ‘ความไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ’ โดยอธิบายว่าเรื่องเกมนั้นมีบริษัทที่อยู่เบื้องหลังมากไม่ต่างกับปัญหามวยเด็ก นายแพทย์อดิศักดิ์เห็นว่าถ้าครอบครัวเข้มแข็งแบบผู้ฟังชี้แจงทั้งสองคนก็สามารถนำเกมมาปรับใช้กับชีวิตได้ แต่กับครอบครัวที่ ‘เปราะบาง’ อาจจะโดนสื่อต่างๆ ที่ไม่มีความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจทำให้ไขว้เขวและมีปัญหาได้ มิหนำซ้ำบริษัทธุรกิจใหญ่เบื้องหลังไม่ได้ออกนอกหน้า

ขณะที่ จิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์เด็ก พูดถึงข้อเสียของเกมที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเคยหนีไปเล่นเกมตามร้านเกมต่างๆ มาก่อน พร้อมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยมีเด็กที่อยู่ในการดูแลเข้าแข่งการแข่งขันเกม (แต่แพ้) แม้ว่าเด็กคนนั้นอาจจะยังไม่ได้ดีในการเรียนเท่าที่ควร แต่คุณจิราพรยังมองว่าเด็กได้ความมั่นใจมาจากตัวการแข่งเกม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและผู้ประกอบการที่ต้องช่วยกันดูแลเด็กในสังคมต่อไป
 
หมอแจน ตัวแทนสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ออกมาแสดงความเห็นชัดเจนว่าเด็กทุกคนมีสิทธิ์ติดเกม โดยเฉพาะเกมประเภทแข่งขัน ต่างๆ โดยให้ความเห็นว่า “อาจจะสร้างนักกีฬา E-Sport ได้ 1 คน แต่อาจจะสร้างเด็กติดเกมอีกหลายหมื่นคน’ ด้วยความที่คุณหมอกล่าวว่าตัวคุณหมอเองเจอเด็กที่ติดเกมหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงระดับที่หลงผิดจนทำงานใดๆ ไมได้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “เกมอาจจะสร้างรายได้ได้ในระยะสั้นๆ  แต่ในระยะยาวมันไม่แน่นอน สิ่งที่คุณเสียเวลาไปกับเกม ในขณะที่คนอื่นขวนขวายตั้งใจเรียน พยายาม มีวินัยและรับผิดชอบ ใครกันแน่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง”
 
นพ.อดิศักดิ์ ให้ความเห็นว่า E-Sport หรือเรื่องเทคโนโลยีมาถึงแน่นอน และการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นเรื่องที่สมควร ทั้งนี้เพราะธุรกิจฟากโลกออนไลน์ยังขาดการดูแลกันต่อไป ยังเห็นว่ามีเยาวชน มีพ่อแม่ มีหน่วยงานที่ไม่เข้าใจ หรือช่วยและเชียร์เยาวชนผิดๆ
 

E-Sports สามารถสร้างสรรค์ได้

ประธานของชมรม E-Sports ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กล่าวว่า E-Sports สามารถสร้างสรรค์ได้ อย่างตัวผู้ที่จะเข้าชมรมต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.2 ตัวชมรมมีการพัฒนาเกมจาก Engine ต่างๆ อย่าง Unity หรือ Unreal Engine และมีการจัดตารางการแข่งขันแบบจริงจัง ทั้งยังมีการศึกษาการเล่นของผู้เล่นต่างชาติ ตัวรุ่นพี่หรืออาจารย์ของชมรมก็เป็นโค้ชผู้แนะนำทั้งในเรื่องการเรียนและจัดการเวลา

อดีตหัวหน้าทีมเตรียมอุดมศึกษา E-Sport และเป็นสมาชิกของชมรม E-Sport ของทางจุฬาลงกรณ์ฯ ได้นำเอาประสบการณ์ที่เคยแข่งขันในประเทศอเมริกา ว่าการเป็นนักกีฬาสาย E-Sport ต้องมีการศึกษาเพิ่ม มีการซ้อมทั้งด้านร่างกายและความคิดไม่ต่างกับกีฬาทั่วไปที่สามารถฝึกฝนทักษะต่างๆ ได้ แต่มันอาจจะดูเข้าถึงง่ายกว่าสำหรับเด็กหลายๆ คน ชื่นชอบกีฬาแนวนี้ และมองว่าถ้ากีฬาทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกับ E-Sport ก็จะมีบุคลากรในกีฬาในประเภทอื่นๆ เช่นกัน

เด็กไทยเป็นตัวอะไรเล่นไม่ได้ 

ขณะที่ ประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า ฟังแล้วสุดท้ายกลายเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้าน จะอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ตนฟังยังแล้ว ไม่ค่อยเข้าใจตรรกะนักก็คือว่า เด็กติดเกมแล้วเขาก็คือเด็กติดเกม ถ้ามี E-Sport เข้าไปแล้วเด็กติดเกมจะเพิ่มขึ้น ตรรกะสองอันนี้มันเข้ากันไม่ได้หรอก การที่จะเกิด E-Sport แล้วเด็กติดเกมจะติดเกมมากขึ้น แต่ว่าเป็นไปได้ว่าเด็กติดเกมจะนำ E-Sport มาเป็นข้ออ้าง แต่มันไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้น หรือเด็กเล่นเกมบ้าคลั่งมากขึ้น เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่อง E-Sport นี้โอเค ตรรกะแบบนี้เอามาว่าถ้า E-Sport มาแล้วเด็กติดเกมจะมากขึ้นตนมองว่ามันไม่ใช่

"เราก็รู้อยู่ว่าเกมอยู่ในระบบออนไลน์ นั่นหมายความว่ามันเล่นกันได้ทั่วโลก เพราะมันสื่อสารกันหมดทั่วโลก เขาเล่นกันได้ทั่วโลก เด็กไทยเป็นตัวอะไรเล่นไม่ได้ ต่ำช้ามากนักหรือ เด็กไทยเนี่ย มันก็คงไม่ใช่ เขาเล่น E-Sport กันได้ทั่วโลกเด็กไทยเล่น E-Sport ไม่ได้ใช่ไหม ตอบคำถามนี้ไหม  แล้วสุดท้ายถ้า E-Sport มันเข้าไปสู่กีฬาสากลจริง เราตามไปทีหลังจะตามเขาทันไหม" ประดิษฐ์ กล่าว

ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร  คือการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ เกมก็ออนไลน์ เราจะตัดสิ่งนี้ออกอย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ที่เด็กติดเกม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ E-Sport ปัญหาก็คือเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับออนไลน์นี้ยังไง อย่าไปสนเลยว่าเด็กติดเกมเข้าร้านเกม ทุกวันนี้เด็กไม่เข้าร้านเกม เด็กมีมือถือติดตัวแล้วจะเข้าร้านเกมทำไม ดังนั้นเราจะทำยังไงให้เด็กได้เรียนรู้ สังคมเรียนรู้ ครอบครัวเรียนรู้ ที่จะอยู่กับสังคมออนไลน์

สำหรับ E-Sport นั้น ผู้ใช้ยูสเซอร์ AxisXyclopz อธิบายไว้ในเว็บไซต์ dek-d.comว่า คือ การแข่งขัน วิดีโอเกมส์คอมพิวเตอร์ เกมส์เหล่านี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นกีฬาชนิดใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยส่วนประกอบหลักๆของ E-Sports ไม่ได้แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นๆ กล่าวคือ ประกอบไปด้วย นักกีฬา อุปกรณ์กีฬา(เมาส์, คีย์บอร์ด, หูฟัง ETC.) ซึ่งก็คือ คอมพ์พิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ชนิดต่างๆที่สนับสนุนการเล่นเกมส์ แผนการเล่น รวมถึงทักษะและการฝึกซ้อมอย่างทุ่มเท่ของนักกีฬา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมสหรัฐแขวนป้าย 'ยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัย' ที่ฐานเทพีเสรีภาพ

0
0

นักกิจกรรมประท้วงนโยบายส่งกลับผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการแขวนป้าย "ยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัย" ที่ฐานใกล้กับจุดชมวิวของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ กลุ่มที่แขวนป้ายในครั้งนี้เรียกตัวเองว่า Alt Lady Liberty โดยนิยามตนว่าเป็นกลุ่มพลเมืองทั่วไปที่อยากพูดถึงประเด็นเรื่องผู้อพยพ

 

 

bem no dia que tu visita a estátua alguém tem a melhor ideia de faixa ❤

A post shared by Vitória Londero (@sheisvick) on

ที่มา: Instagram/Sheisvick

 

22 ก.พ. 2560 "คอมมอนดรีมส์" รายงานว่านักกิจกรรมในสหรัฐฯ พากันแขวนป้ายที่ฐานของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพด้วยข้อความว่า "ยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัย" (Refugee Welcome) ที่แถวจุดชมวิว ป้ายดังกล่าวมีความยาว 20 ฟุต เป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีแดง

ป้ายนี้ปรากฏอยู่กับเทพีเสรีภาพในช่วงเวลาราว 12.45 น. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ก.พ.) จนกระทั่งถูกหน่วยบริการอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ (National Park Service) ปลดออกเมื่อราวบ่าย 4 โมง

คนที่กระทำการดังกล่าวคือกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า Alt Lady Liberty หรือ "เทพีเสรีภาพทางเลือก" พวกเขาระบุว่ากลุ่มของพวกเขาเป็น "แค่พลเมืองทั่วไปที่รู้สึกว่าพวกเราต้องพูดอะไรบางอย่างออกมาเกี่ยวกับอเมริกาที่เราเชื่อมั่นศรัทธา"

มีผู้จัดการประท้วงด้วยการแขวนป้ายอีกรายหนึ่งเล่าเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวเขาแล้วปู่ย่าตายายเขาเจอกันที่ค่ายผู้ลี้ภัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และแม่ของเขาเองก็อพยพย้ายถิ่นฐานเช่นกัน ทำให้เรื่องนี้ (การกีดกันผู้อพยพ) เป็นเรื่องใกล้ตัวเขา นอกจากนี้ชาวอเมริกันแทบทุกคนต่างก็รู้จักผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย พวกเราต้องการเตือนใจให้รับรู้เกี่ยวกับอเมริกาในยุคสมัยที่ดีที่สุดคือยุคที่ประเทศยังเป็นแสงนำทางของเสรีภาพในโลกที่สร้างมาจากผู้อพยพ การสร้างกำแพงปิดกั้นประเทศต่างๆ หรือศาสนานั้นทั้งหมดเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณค่าของพวกเรา

การประท้วงในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนการจะเพิ่มการส่งตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารอนุญาตออกนอกประเทศมากขึ้นและออกคู่มือแนวทางการบังคับใช้นโยบายให้กับเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะ "อุกอาจอย่างมาก" นอกจากนี้ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่าเขากำลังวางแผนออกคำสั่งพิเศษฉบับใหม่เพื่อการสั่งห้ามคนจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้คำสั่งในรูปแบบดังกล่าวที่ออกมาเมื่อเดือน ม.ค. ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ระงับชั่วคราว หลังจากที่คำสั่งพิเศษของเขาทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักทั่วประเทศและทำให้เกิดการฟ้องร้องคดีความด้านสิทธิพลเมืองจากหลายรัฐ

กลุ่ม Alt Lady Liberty ระบุอีกว่า ชาวอเมริกันแทบทุกคนต่างก็มาจากที่อื่น ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้ยอดเยี่ยม การส่งตัวผู้ลี้ภัยอย่าง "แอนน์ แฟรงค์" (เด็กหญิงที่ต้องเผชิญกับเผด็จการนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกของเธอกลายเป็นหนังสือชื่อว่า "บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์") ออกไป ก็ไม่ทำให้พวกเขายอดเยี่ยม "พวกเรายินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยเข้ามาที่นี่ ต้อนรับชาวมุสลิมเข้ามาที่นี่ และพวกเราก็ยินดีต้องรับผู้อพยพเข้ามาที่นี่"

 

เรียบเรียงจาก

Activists Unfurl 'Refugees Welcome' Banner on Statue of Liberty, Common Dreams, 22-02-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นาซาพบดาวเคราะห์ 7 ดวงนอกระบบสุริยะ-ห่างจากโลกเพียง 40 ปีแสง

0
0
นาซาเผยข้อมูลดาวเคราะห์ 7 ดวงในระบบ TRAPPIST-1 ซึ่งอยู่นอกระบบสุริยะ ห่างจากโลก 40 ปีแสง โดยพบว่าระยะห่างของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ที่โคจรรอบดาวแคระ ใกล้กว่าระยะห่างดวงอาทิตย์กับดาวพุธ เมื่ออยู่บนดาวเคราะห์มองขึ้นไปบนฟ้า จะมองเห็นดาวเคราะห์อื่นๆ พร้อมกันเหมือนเห็นดวงจันทร์ทีละหลายๆ ดวง

นอกจากนี้ยังมีสภาพประหลาดดาวเคราะห์เหล่านี้หันด้านเดียวเข้าหาดาวแคระ ทำให้ดาวเคราะห์ด้านหนึ่งเป็นกลางวัน อีกด้านก็เป็นกลางคืนตลอด แต่เนื่องจากดาวแคระไม่ได้มีอุณหภูมิสูงเท่าดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์บริวารจึงอาจมีน้ำและก๊าซ โดยเชื่อว่ามีดาวเคราะห์ 3 ดวงที่มีสภาพเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต

ภาพวาดแสดงรูปร่างหน้าตาของดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 ที่มีดาวเคราะห์ 7 ดวง โดยเชื่อว่าดาวเคราะห์  TRAPPIST 1-e  TRAPPIST 1-f และ  TRAPPIST 1-g อยู่ในเขตที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด (ที่มา: NASA/JPL-Caltech)

ภาพจินตนาการแสดงทัศนีย์ภาพของดาวเคราะห์ TRAPPIST 1-e และมองเห็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านในขนาดเหมือนพระจันทร์ลดหลั่นกันไป อันเนื่องมาจากระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กันมาก (ที่มา: NASA-JPL/Caltech)

เปรียบเทียบวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 ซึ่งทั้ง 7 ดวงโคจรใกล้ดาวแคระศูนย์กลางมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบระยะห่างของวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ (ที่มา: Exoplanets/NASA)

ภาพจินตนาการ 360 องศาเมื่อมองจากดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 TRAPPIST 1-d จะเห็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเดียวกันปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าพร้อมกัน 6 ดวง และดวงที่อยู่ใกล้ก็มีขนาดใหญ่เหมือนกับที่เรามองเห็นดวงจันทร์จากบนโลก (ที่มา: YouTube/NASA Jet Propulsion Laboratory)

วิดีโอแสดงรายงานล่าสุดของ NASA ที่ศึกษาดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 (ที่มา: YouTube/NASA Jet Propulsion Laboratory)

เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย หรือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ได้แถลงข่าวการค้นพบดาวเคราะห์ 7 ดวงนอกระบบสุริยะ (exoplanets) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลก โดยอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) ห่างจากโลก 235 ล้านล้านไมล์ หรือ 40 ปีแสง ทั้งนี้ยังนับว่าไกลโข เพราะเมื่อเทียบกับระยะทางจากดวงอาทิตย์กับโลก แสงใช้เวลาเดินทาง 8.3 นาที และระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพลูโต แสงใช้เวลาเดินทาง 5.5 ชั่วโมง

อนึ่งจากข้อมูลของนาซาขณะนี้พบระบบสุริยะอื่นแล้ว 2,577 ระบบสุริยะ ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ยืนยันได้แล้ว 3,449 ดวง และพบดาวเคราะห์ที่มีสภาพเป็นของแข็งเหมือนโลก 348 ดวง

โดยระบบสุริยะที่ค้นพบนี้ถูกเรียกว่า "TRAPPIST-1" ตามชื่อกล้องโทรทรรศน์ TRAPPIST ซึ่งอยู่ที่หอสังเกตการณ์ซีกโลกใต้แห่งยุโรป (ESO) หอดูดาวลาซียา ในประเทศชิลี ทั้งนี้นักวิจัยดาราศาสตร์ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวค้นพบระบบสุริยะดังกล่าวรวมทั้งดาวเคราะห์ 3 ดวงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2016 และได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อีกหลายแห่งช่วยศึกษา รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitze) ซึ่งยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ 2 ดวง และค้นพบอีก 5 ดวง ทำให้ขณะนี้ทราบแล้วว่ามีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ "TRAPPIST-1" ทั้งสิ้น 7 ดวง

รายงานการค้นพบนี้มีการเผยแพร่ในวันพุธ (23 ก.พ.) ลงในวารสาร Nature และมีการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่นาซาที่วอชิงตัน ดีซีอีกด้วย

จากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ พบว่าดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 จำนวน 6 ดวงใกล้สุด น่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน และการสังเกตการณ์ในอนาคตจะไม่เพียงแต่ตรวจสอบว่าดาวเคราะห์เหล่านี้มีองค์ประกอบน้ำหรือไม่ แต่จะตรวจสอบว่ามีน้ำบนพื้นผิวหรือไม่อีกด้วย ทั้งนี้มวลของดาวเคราะห์  TRAPPIST 1-h ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเหมือนบอลหิมะ แต่อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์เพิ่มเติมยังคงมีความจำเป็น

ไมเคิล กิยง (Michael Gillon) หัวหน้าผู้สำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ TRAPPIST-1 แห่งมหาวิทยาลัยลีแย (Liege) ประเทศเบลเยียมกล่าวว่า กลุ่มดาวเคราะห์เหล่านี้นับเป็นเป้าหมายในการศึกษาลักษณะดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และมีชั้นบรรยากาศที่มีศักยภาพที่จะเอื้อให้มีชีวิต

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ ดาวศูนย์กลางของระบบที่ชื่อ TRAPPIST-1 จัดอยู่ในประเภทของดาวแคระห์อุณหภูมิต่ำ ด้วยเงื่อนไขนี้ จึงทำให้น้ำสามารถอยู่บนดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ แม้ว่าจะมีระยะห่างไม่ไกลจากดาวแคระ TRAPPIST-1 ทั้งนี้ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงของระบบสุริยะ TRAPPIST-1 มีระยะห่างจากดาวแคระ TRAPPIST-1 ใกล้กว่าดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์แต่ละดวงก็อยู่ใกล้กันมาก ทำให้เมื่อเราไปอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่งก็จะมองเห็นสภาพภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่สภาพภูมิอากาศของดวงดาวใกล้เคียงได้ ซึ่งในบางครั้งดาวเคราะห์เพื่อนบ้านก็จะปรากฏใหญ่กว่าที่เรามองเห็นดวงจันทร์เมื่อมองจากท้องฟ้าของโลกเสียอีก

นอกจากนี้ดาวเคราะห์ที่้ค้นพบนี้ยังอยู่ในสภาพที่อยู่ภายใต้ไทดัลล็อก เนื่องจากอยู่ใกล้กับดาวแคระมากทำให้ดาวเคราะห์ได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงจากดาวแคระสูง ดังนั้นเมื่อดาวเคราะห์เหล่านี้โคจรรอบดาวแคระ ใช้เวลาเท่ากับการหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้จึงเหมือนกับหันเพียงด้านเดียวเข้าหาดาวแคระ TRAPPIST-1 สภาพเช่นนี้ทำให้ด้านหนึ่งของดาวเคราะห์เป็นกลางวันตลอดกาล และอีกด้านหนึ่งเป็นกลางคืนตลอดกาล สภาพเช่นนี้อาจทำให้ลักษณะสภาพอากาศแตกต่างจากบนโลกโดยสิ้นเชิง เช่น อาจจะมีลมแรงจากดาวเคราะห์ฟากที่ได้รับแสง พัดไปหาส่วนที่ไม่ได้รับแสง หรือมีความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน

ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ เหมาะสำหรับศึกษาระบบสุริยะ TRAPPIST-1 เพราะใช้ช่วงคลื่นอินฟาเรดในการสังเกต และมองเห็นในช่วงกว้างกว่าที่สายตาสามารถมองเห็น ขณะที่ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้สังเกตการณ์ดาวเคราะห์ 2 ดวงที่อยู่ใกล้ดาวแคระ TRAPPIST-1 มากที่สุด และไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ ซึ่งไปหนุนสมมติฐานที่ว่าดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มักจะมีสภาพเป็นก้อนหิน

นิโคเล เลวิส (Nikole Lewis) หัวหน้าคณะร่วมของทีมศึกษาของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่สถาบันวิทยาศาสตร์โทรทรรศน์อวกาศที่บัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ระบบสุริยะ TRAPPIST-1 จะให้โอกาสที่ดีที่สุดในทศวรรษหน้า ที่จะศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลก นอกจากนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศของยานเคปเลอร์ (Kepler) ของนาซา ก็กำลังศึกษาระบบสุริยะ TRAPPIST-1 เช่นกัน ทำให้กล้องโทรทรรศน์ทั้ง 3 ตัว จะช่วยนักดาราศาสตร์วางแผนการศึกษาดวงดาวในอนาคต ที่จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb) ที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศในปีหน้าด้วย ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศชุดใหม่ที่มีความละเอียดสูงกว่าจะใช้เก็บหลักฐานทางเคมีพวกร่องรอยของน้ำ มีเทน ออกซิเจน โอโซน และองค์ประกอบอื่นในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จะใช้วิเคราะห์อุณหภูมิของดาวเคราะห์ และความดันที่พื้นผิว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นสามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้หรือไม่

และจากการค้นพบล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ หลังจากนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจะเริ่มต้นสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ 4 ดวงในระบบสุริยะ TRAPPIST-1 ซึ่งรวมทั้งดาวเคราะห์ 3 ดวงที่อยู่ในโซนที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต โดยจะศึกษาการมีอยู่ของชั้นบรรยากาศ ชั้นบรรยากาศมีไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลักหรือไม่ รวมทั้งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซแบบเนปจูนหรือไม่

 

แปลและเรียบเรียงจาก

NASA Telescope Reveals Largest Batch of Earth-Size, Habitable-Zone Planets Around Single Star, NASA, Feb 23, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุ กมธ.สนช. ถก สปสช. ห่วงงบกองทุนรักษาพยาบาล อปท. หลังพบปี 60 ให้งบฯไม่พอ

0
0
 
23 ก.พ. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น คนที่สี่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วยคณะ ได้ร่วมประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สปสช.ให้การต้อนรับ
 
ทั้งนี้นอกจากประเด็นความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท.แล้ว ในช่วงหนึ่งของการประชุมทาง อนุ กมธ.ฯ ได้ให้ความสนใจสอบถามถึงการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในปี 2560 ซึ่งปรากฎข่าวงบประมาณที่ให้มาไม่เพียงพอ โดยได้แสดงความเป็นห่วงข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นที่อาจมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
 
นพ.ชูชัย กล่าวชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.ว่า สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการแก้ไขปัญหา โดยในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ทาง สปสช.จะไปประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นได้รับแจ้งว่า ในปีงบประมาณปี 2561 นี้ กระทรวงมหาดไทยจะมีการเสนอของบประมาณตามจำนวนประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้จำนวนค่ารักษาพยาบาล อปท.ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2 ใน 3 ในช่วง 2 ปีนั้น เป็นอัตราการใช้บริการและเบิกจ่ายปกติ โดยที่ สปสช.ได้บริหารระบบอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากในปีแรกยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา รวมถึงยังเป็นช่วงการเริ่มระบบเบิกจ่ายตรง ทำให้การเบิกจ่ายยังอยู่ในอัตราไม่มาก แต่หลังจากที่ได้ดำเนินระบบต่อเนื่องและมีข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นร่วมเบิกจ่ายตรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการ์การเข้าถึงการรักษาดีขึ้น จึงทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มตาม
 
สำหรับในช่วงรอยต่องบประมาณปี 2560 ที่จะหมดลงในเดือนเมษายนนี้ อยู่ระหว่างการประสานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการของบกลางสนับสนุนเพิ่มเติม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาลดโทษ เหลือจำคุก 6 ปี คดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข

0
0


ภาพจาก Banrasdr Photo (ศาลาอาญา 23 ก.พ.2560)

23 ก.พ.2560 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี112 ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 10 ปีจากการกระทำผิด 2 กรรม (กรรมละ 5 ปี)

เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกลดลง เหลือเพียง 6 ปี (กรรมละ 3 ปี) เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรอีก 1 ปี รวมเป็น 7 ปี ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยาของสมยศได้เข้าไปกอดสมยศ และประชาชนผู้มาให้กำลังใจเขาจำนวนหนึ่งต่างแสดงความดีใจที่เขาได้รับการลดโทษ ทั้งนี้ วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) สถานทูตสวีเดน สถานทูตฝรั่งเศส สถานทูตสหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ศาลฎีการะบุเหตุผลว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติและทนายความจำเลยไม่ได้รับแจ้งการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในวันนี้จากศาล และจำเลยเองก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ตอนเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากเรือนจำ เมื่อครั้งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทนายและญาติก็ไม่ทราบเช่นกัน มีเพียงจำเลยที่ได้เข้าฟังคำพิพากษาในครั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าไม่ใช่ผู้เขียน เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุลอดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียาถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันถูกคุมขังมา 5 ปี 10 เดือนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ต้องหาไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี 112 สมยศจับกุมวันที่ 30 เม.ย.2554 หลังการรณรงค์ล่า 10,000 ชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เพียง 5 วัน เขายังเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ทำสถิติยื่นประกันตัวมากที่สุด ราว 15-16 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาท เขาถูกฟ้องว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นเขียนโดย “จิตร พลจันทร์” ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ ระหว่างสู้คดี เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ไม่ว่า นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนมิตรติดตามคดีและไปเยี่ยมเขาอย่างยากลำบาก เพราะต้องมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล

ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน



อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ http://prachatai.com/journal/2013/01/44842

อ่านเพิ่มที่ http://prachatai.com/journal/2016/04/65543

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระ 5 รูปยังอดอาหาร วอนยกเลิกใช้ ม.44 กับธรรมกาย

0
0

ประยุทธ์ ยันยึดกม.ขออย่าใช้กฏหมู่กดดันจนท. ด้านทนายวิญญัติ  แม้มี ม.44 ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาด้วย ชี้คำสั่งดังกล่าว มีอำนาจกว้างกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตราย ควบคุมยาก

23 ก.พ. 2560 จากกรณีวานนี้ (22 ก.พ.60) โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ฝั่งตรงข้ามทางเข้าประตู 5 และ 6 วัดพระธรรมกาย อัยน์ เพชรทอง ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย พร้อมด้วย พระอิสรภาพ อาจรสัมปันโน พระลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย แถลงข่าวว่า พระสงฆ์จะทำอารยะขัดขืน อดอาหารเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษตามมาตรา 44 โดยจะเริ่มต้น 7 รูป จากนั้นค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปจนกว่าจะหยุดใช้มาตรา ดังกล่าว

วันนี้ (23 ก.พ.60) เมื่อเวลา 13.30 น.  พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ใช้เฟซบุ๊ก 'Pornthip Morngyai' ถ่ายทอดสดบริเวณตลาดกลางคลองหลวงดังกล่าว ระบุว่า พระสงฆ์ 5 รูปยังคงอารยะขัดขืนด้วยการอดอาหาร โดยมีพระรูปอื่นๆ ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการใดๆ กับพระที่ดำเนินการอดอาหารดังกล่าว โดยบรรยากาศเริ่มตึงเครียดเนื่องจากนายอำเภอคลองหลวงและเจรจาให้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากเจ้าของพื้นที่แจ้งความว่ามีการบุกรุกพื้นที่และใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตามพระบริเวณดังกล่าวได้เปิดเผยกับทีมข่าววอยซ์ทีวีว่าได้เช่าพื้นที่ตรงนี้แล้ว ทำให้ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อ

พรทิพย์ รายงานด้วยว่า เบื้องต้นทางนายอำเภอระบุว่าหากไม่มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตรงนี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายขัดเด็ดขาด

เมื่อเวลา 9.50 น. ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ดีเอสไอ ทหาร ตำรวจ ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้น พื้นที่เป้าหมายในวัดพระธรรมกายหลายจุด เพื่อหาตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีสมคบฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้าน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 06.45 น. กำลังทหาร 50 นาย เข้ารื้อประตูฝั่งทางเข้าอาคารบุญรักษา(ฝั่งหน้าโบสถ์) ขณะนี้กลุ่มลูกศิษย์กำลังเข้าเจรจาอยู่ ยังไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น  ผู้สื่อข่าวรายงานสรุปตัวเลขจากจุดคัดกรอง ประตู 7 วัดธรรมกาย หลังยุติการเจรจาจน ถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา มีศิษย์และพนักงานภายในวัดลงทะเบียนออกจากวัดผ่านประตู 7 รวม 53 ราย

โดยเมื่อเวลา 10.00 น. เพจ สดจากวัด Live from Wat โพสต์ภาพพร้อมรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้ากระชับพื้นที่บริเวณประตู 4 วัดพระธรรมกาย โดยมีการตั้งแนวรั้วลวดหนาม ส่วนตรงอาคารบุญรักษา แต่ล่าสุดทหารทั้งหมดได้ถอยกำลังออกจากวัดไปแล้ว หลังพระสงฆ์และลูกศิษย์ ขอร้อง

ประยุทธ์ยึดกม.ขออย่าใช้กฏหมู่กดดันจนท.

13.00 น. สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการกับวัดพระธรรมกายมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ ทำหน้าที่อยู่แล้ว จึงขออย่าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง และไม่ว่าประชาชนหรือพระก็ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้กฎหมาย จึงไม่อยากให้ใช้กฎหมู่มากดดันเจ้าหน้าที่ เพราะจะทำให้การทำงานยากขึ้นและอาจเกิดการบาดเจ็บสูญเสีย ขณะเดียวกันขอสื่อลดการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้การสร้างแนวร่วมและมวลชนลดลง ซึ่งยืนยันว่าส่วนตัวรักชีวิตคนทุกคน แต่จะต้องรักษากฎหมายและกติกาของบ้านเมือง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้พิจารณาในการดำเนินการตามกฎหมายจากเบาไปหาหนัก โดยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมขอให้พิจารณากันต่อไปว่าสิ่งที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ไม่ใช่ต้องทำลายทิ้งทั้งหมด และเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องพิจารณาว่าจะให้เป็นสถานที่ทำบุญต่อไปอย่างไร

ทนายวิญญัติ  แม้มี ม.44 ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาด้วย

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า แม้การปฏิบัติจะมี มาตรา 44 รองรับ แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาด้วย อีกทั้ง คำสั่งดังกล่าว มีอำนาจกว้างกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตราย ควบคุมยาก เพราะหลายเรื่องเป็นดุลยพินิจโดยอาศัยฐานจากอำนาจตามมาตรา 44
 
วิญญัติ ยังมองว่า "หมายค้น" ปกติที่ออกโดยศาล ก็ให้อำนาจไว้มากอยู่แล้ว ที่สำคัญการใช้มาตรา 44 โดยเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ได้มุ่งหมายให้มีการออกคำสั่งเกินกว่าอำนาจศาล จึงเกิดคำถามว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการจับกุมผู้ต้องหาเพียงคนเดียว ในทางฎหมายไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษขนาดนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทพชัยเชื่อ คสช.อยากมีอำนาจต่อ ชี้กฎหมายสื่อควรออกในบรรยากาศประชาธิปไตย

0
0

เทพชัยยันต่อให้มีสื่อ 15 คนนั่งสภาวิชาชีพก็ไม่เอา เพราะยังมีอำนาจออกใบประกอบวิชาชีพสื่อ เชื่อรัฐบาลทหารอยากมีอำนาจต่อหลังเลือกตั้ง สุภิญญาชี้แนวโน้มคุมสื่อหนักขึ้น กสทช.เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้แทรกแซงสื่อ ขณะพิรงรองระบุ ร่างกฎหมายทำลายการปฏิรูปสื่อ

22 ก.พ. 2560 เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในการเสวนาเรื่องการกำกับดูแลสื่อในประเทศไทย กรณีร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จัดโดยสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ว่า กรณีที่ กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อมวลชน สปท.ปรับลดสัดส่วนของปลัดกระทรวงในโครงสร้างของสภาวิชาชีพลงจาก 4 เป็น 2 คน (อ่านข่าว) ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่กำหนดให้สภาวิชาชีพนี้สามารถออกและถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อได้ โดยจะถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการออกใบอนุญาตทำสื่อ เป็นการให้อำนาจซึ่งขัดกับหลักการเสรีภาพสื่อ

เขาย้ำว่า คนที่จะมานั่งในสภาวิชาชีพนี้จะเป็นใครไม่สำคัญเท่ากับอำนาจนี้ ต่อให้เป็นนักข่าวทั้ง 15 คนก็ยอมไม่ได้เช่นกัน ไม่ควรมีใครมีอำนาจในการควบคุมสื่อ

นอกจากนี้ เทพชัย กล่าวเสริมว่า ร่างกฎหมายนี้ให้งบประมาณสภาวิชาชีพสื่อถึง 100 ล้านบาทต่อปี ชวนคิดว่าเมื่อมีทั้งอำนาจและเม็ดเงินจำนวนมากเช่นนี้ สภาวิชาชีพนี้จะทำอะไรกับอุตสาหกรรมสื่อ 

เขามองว่า รัฐบาลทหารยังอยากมีอำนาจหลังการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้น คงไม่ออกกฎหมายแบบนี้

"กฎหมายนี้กว่าจะมีผลใช้ก็หลังเลือกตั้งแล้ว ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะออกกฎหมายให้นักการเมืองใช้ ประกอบการแนวคิดยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี ทำให้เชื่อว่า คสช. คงอยากจะอยู่ในอำนาจในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อยากมีอำนาจต่อไปคงอยากมีเครื่องมือควบคุมกำกับความเห็นของประชาชนผ่านการกำกับสื่อ" เทพชัยกล่าวและย้ำว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิของสื่อไม่ควรร่างในบรรยากาศที่มีอำนาจปกครองแบบนี้ ในบรรยากาศที่มีผู้นำประเทศที่มีทัศนคติต่อสื่อในเชิงลบแบบนี้ ควรร่างในบรรยากาศประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองว่า นี่เป็นยุค Empire Strikes Back เพราะนอกจากร่าง พ.ร.บ.นี้ พ.ร.บ.กสทช.ก็กำลังถูกแก้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะที่ กสทช.เองก็ไม่ใช่องค์กรกำกับสื่อที่ก้าวหน้าอีกต่อไป และหลายครั้งก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแทรกแซงสื่อ เช่น พักใช้หรือถอนใบอนุญาต กรณีวอยซ์ทีวี พีซทีวี เรียกสื่อเช่น เนชั่น มาสอบ ตักเตือน ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัว และจำกัดเสรีภาพสื่อ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

สุภิญญา ชี้ว่า ตอนนี้วาทกรรมที่รัฐบาลใช้อ้างเพื่อออกพ.ร.บ.การคุ้มครองสื่อฯ คือ ทุกวันนี้คนได้ข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย สื่อเองก็แข่งขันกัน โดยนำเรื่องในโซเชียลมีเดียมาเสนอซ้ำ บางครั้งไปไกลถึงขนาดบิดเบือน ทำร้ายความรู้สึกสังคม ละเมิดจริยธรรม ทำให้หลายคนรู้สึกว่าสื่อทำเกินไปแล้วและต้องควบคุมสื่อ ซึ่งเธอมองว่า ไม่ว่าจะเห็นว่าสื่อกำกับตัวเองไม่ดีพออย่างไรก็ไม่ควรเอาอำนาจไปให้รัฐอยู่ดี

พิรงรอง รามสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่สื่อวิทยุทีวีถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้มีการเรียกร้องสื่อเสรี ส่งผลให้มีการบรรจุเรื่องคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อ และมีการระบุในกฎหมายให้คลื่นความถี่อย่างน้อย 20% เป็นของภาคประชาชน ทำให้มีสื่อชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีองค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศขึ้น เป็น "อนาธิปไตยของคลื่นความถี่" ในช่วงที่มีเสื้อเหลืองเสื้อแดง สื่อถูกฉวยใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสปท. ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก็หยิบเรื่องนี้มาอ้างในการออกกฎหมายดังกล่าว ทั้งที่มีความเข้าใจเรื่องสื่ออย่างจำกัด

"สปท.ไม่เคยให้โอกาสกับการกำกับดูแลกันเองเช่นเดียวกับที่รัฐบาลทหารไม่ให้โอกาสประชาธิปไตย" พิรงรองกล่าว

พิรงรอง ชี้ว่า การออกกฎหมายเพื่อทำให้การควบคุมสื่อเป็นเรื่องถูกกฎหมายนี้ เป็นการมองข้ามความก้าวหน้าในเรื่องการปฏิรูปสื่อ เช่น การเกิดขึ้นของสภาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งถึงแม้ยังทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก แต่ก็ถือว่าเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างชัดเจน ทั้งนี้ เคยมีงานวิจัยชี้ว่าองค์กรวิชาชีพสื่อในประเทศไทย 200 แห่ง มีเพียง 5 แห่งที่มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน สภาการ นสพ. ก็มีแต่จากการสอบถาม มีเรื่องร้องเรียนตลอดปีเพียง 5 เรื่อง แสดงให้เห็นว่า องค์กรยังไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live